9 ข้อสำคัญที่เรียนรู้ จากหนังสือ วิธีเอาตัวรอดจาก “คนเป็นพิษ”
Surrounded by psychopaths
.
.
1) “ไซโคพาธ” คือใคร
อาจใช้คำว่า “คนเป็นพิษ” ตามที่หนังสือแปลไว้
เพราะไซโคพาธ คือคนที่เป็นพิษเป็นภัยต่อคนที่เขามีความสัมพันธ์ด้วย ไม่ว่าจะอยู่ในความสัมพันธ์รูปแบบไหนก็ตาม
ตั้งแต่ คนรัก คู่ชีวิต ครอบครัว ญาติ กลุ่มเพื่อน เพื่อนที่ทำงาน หัวหน้างาน คนในสายอาชีพที่รู้จัก หรือคนรู้จักที่เราต้องปฏิสัมพันธ์ด้วย
.
นิยามของไซโคพาธ แบบเข้าใจง่ายคือ
- พวกคนที่ชอบตักตวงผลประโยชน์จากคนอื่น ด้วยวิธีการอันแยบยล
- เป็นพวกเจ้าเล่ห์ จอมหลอกใช้
- เป็นพวกไม่แคร์ความรู้สึกของคนอื่น สนใจเพียงความต้องการของตัวเอง
- เป็นพวกไม่มีความรับผิดชอบ ขาดจิตสำนึก
- เป็นพวกชอบโยนความผิดให้คนอื่น
- เป็นพวกหลงตัวเอง
- เป็นพวกขาดความยับยั้งชั่งใจ ควบคุมตัวเองได้น้อย
- เป็นพวกมักมากในทางเพศ
.
มีเช็คลิสต์ 20 ข้อว่าตัวเราเป็นไซโคพาธรึเปล่า โดยคำถามแต่ละข้อจะครอบคลุมถึงลักษณะเด่นของเหล่าไซโคพาธ
.
ตามสถิติแล้ว การจัดกลุ่มด้วยคน 4 สี หรือ DISC จะจัดคนได้เพียงแค่ 80% เท่านั้น
ส่วนที่เหลือ ระบบ DISC ยังใช้อธิบายไม่ได้
พวกไซโคพาธเป็นส่วนหนึ่งของเปอร์เซ็นของคนที่เหลือที่ไม่เข้าพวก DISC
.
.
2) ไซโคพาธมีจำนวนเยอะแค่ไหนในสังคม
ตามสถิติในหนังสือ ไซโคพาธมีประมาณ 2-4% ของประชากรทั้งหมด
ซึ่งมากกว่าคนกลุ่มสีแดงที่มีเพียง 0.5% ของประชากร
.
.
3) ไซโคพาธ เกิดขึ้นจากอะไร
ตามผลวิจัยในปัจจุบันยังไม่มีคำอธิบายแน่ชัด แต่ไซโคพาธเป็นความปกติทางจิตใจ
และมักมีติดตัวบุคคลมาแต่กำเนิด
.
.
4) ทำไมเราต้องสนใจรับมือไซโคพาธ
เพราะพิษของไซโคพาธรุนแรงมาก
ถ้าคู่ชีวิตเราเป็นไซโคพาธก็อาจดูดเงินเราออกไปเป็นจำนวนมาก
ถ้าเพื่อนร่วมงานเราเป็นไซโคพาธก็อาจทำลายชีวิตการทำงานของเราจนย่อยยับ
ถ้าหัวหน้างานเราเป็นไซโคพาธ เราก็อาจไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดกับงานที่ทำเลย
.
การเตรียมตัวรับมือจึงเป็นสิ่งจำเป็นเมื่อเราต้องเจอกับคนกลุ่มไซโคพาธอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
.
5) เกราะป้องกันไซโคพาธพื้นฐาน 3 ขั้นตอน
1. รู้จักตัวเองให้ดี เข้าใจว่าเราเป็นคนแบบไหนใน กลุ่ม DISC และที่สำคัญคือเรามีจุดอ่อนอะไรที่อาจโดนไซโคพาธนำมาใช้เล่นงานเราได้
2. รู้จักและเข้าใจพฤติกรรมของไซโคพาธ
3. รู้จักรักและเคารพตัวเอง เมื่อเราเจอไซโคพาธ เราต้องหาวิธีจัดการ อย่าปล่อยให้ชีวิตตัวเองพังทลายลงเพราะคนพวกนี้
.
.
6) จุดอ่อนของคน 4 สี
ขั้นตอนแรกในการป้องกันไซโคพาธคือการเข้าใจและยอมรับในจุดอ่อนของตัวเองก่อน
คนแต่ละสีมีจุดอ่อนที่แตกต่างกันออกไป
.
- คนสีแดง
ใจร้อน ขี้โมโห ขี้หงุดหงิด ไม่ค่อยแคร์ความสัมพันธ์กับคนอื่น ไม่รอบคอบ
คนสีแดงมักวิตกกังวลเมื่อรู้สึกว่าทุกอย่างมันเกินที่ตัวเขาจะควบคุมได้
.
- คนสีเหลือง
พูดมาก ไม่ค่อยฟังคนอื่น อยากเป็นจุดสนใจตลอดเวลา สะเพร่า มีโปรเจคเยอะแต่ทำอะไรไม่ค่อยเสร็จ ความคิดฟุ้งซ่าน
คนสีเหลืองมักกลัวเมื่อรู้สึกว่าไม่มีใครสนใจตัวเขา หรือรู้สึกว่าตัวเขาไม่เหลือใคร
.
- คนสีเขียว
กลัวความขัดแย้ง กลัวการทะเลาะ ใจอ่อน ขี้สงสาร กลัวความเปลี่ยนแปลง ไม่ค่อยลงมือทำ เฉื่อย
คนสีเขียวมักกลัวความขัดแย้ง กลัวการทะเลาะ กลัวทุกครั้งที่สิ่งที่ตัวเองกำลังจะพูดหรือทำจะนำมาซึ่งความขัดแย้งกับคนอื่น
.
- คนสีน้ำเงิน
ละเอียดรอบคอบจนเกินไป เจ้าระเบียบเกินไป ไม่มีมนุษย์สัมพันธ์ใด ๆ กับคนอื่น
คนสีนำเงินมักกลัวการถูกมองเป็นตัวตลก หรือการถูกมองว่าไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับงานที่ตัวเองทำ
.
.
7) ไซโคพาธเล่นงานคนแต่ละสีไปทำไม
จุดหลักเลยคือ การใช้ประโยชน์จาก “จุดแข็งของคนแต่ละสี”
.
- คนสีแดงเป็นพวกบ้างาน ไซโคพาธจึงสามารถใช้ประโยชน์ให้คนกลุ่มนี้ทำงานแทน ในขณะที่ตัวเองลอยตัวไปทำกิจกรรมยามว่างสบาย ๆ
.
- คนสีเหลืองเป็นพวกมนุษย์สัมพันธ์ดีมาก และทำให้คนอื่นหัวเราะอยู่ได้เรื่อย ๆ ไซโคพาธจึงอยากอยู่ใกล้คนเหล่านี้ และไม่อยากให้คนอื่นเข้ามายุ่งเกี่ยว
.
- คนสีเขียวเป็นพวกใจดี มักเข้าใจและเห็นใจคนอื่น ไซโคพาธจึงอาจหลอกขโมยเงินของคนกลุ่มนี้จนหมดตัว
.
- คนสีน้ำเงินเป็นคนที่ละเอียดรอบคอบ และมักเป็นที่ยอมรับในเรื่องความเป๊ะของงาน ไซโคพาธจึงอยากโค่นตำแหน่งของคนสีน้ำเงินที่ได้รับการยอมรับ เพื่อให้ตัวเองได้รับการยอมรับแทน
.
.
8) ไซโคพาธเล่นงานคนแต่ละสียังไง
วิธีการหลักที่ไซโคพาธใช้ คือการโจมตีไปที่ “จุดอ่อนของคนแต่ละสี”
- คนสีแดง
ไซโคพาธอาจอยากใช้งานคนสีแดงที่มุ่งมั่นตั้งใจทำงานอยู่แล้ว จึงต้องพยายามตีสนิทกับคนเหล่านี้ด้วยความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับคนเหล่านี้ก่อน ซึ่งคนสีแดงมักยอมรับในตัวคนที่เผยความกล้าออกมาชนกับพวกเขา
เมื่อได้เข้าใกล้และทำให้คนสีแดงยอมรับแล้ว เขาก็ใช้ประโยชน์ให้คนสีแดงทำงานให้ ในขณะที่ตัวเองไปนั่งเล่นกอล์ฟ และกินอาหารกลางวันที่จ่ายด้วยเงินบริษัท
ลองนึกเหตุการณ์ลูกน้องไซโคพาธที่เข้าหาหัวหน้าสีแดงจนได้รับการยอมรับ แล้วเริ่มผละงานทั้งหมดไปให้หัวหน้าทำ โดยตัวเอง “ลอยตัวอยู่เหนือปัญหาและความรับผิดชอบทั้งปวง”
.
- คนสีเหลือง
ไซโคพาธที่คลั่งไคล้คนสีเหลืองมาก ๆ อาจไม่อยากให้คนเหล่านี้ไปมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น คนเหล่านี้จึงต้องเริ่มจากการยกยอปอปั้นคนสีเหลือง เพื่อให้เข้ามาใกล้ชิดกับพวกเขา
แล้วค่อย ๆ ตัดคนสีเหลืองออกจากวงโคจรของคนอื่น ไปทีละคน สองคน เรื่อย ๆ จนอาจทำให้คนสีเหลืองไม่เหลือสังคมเลยนอกจากตัวเอง
ลองนึกเหตุการณ์ที่ไซโคพาธผู้หญิงตามเกาะผู้ชายสีเหลืองไว้แน่น ๆ แล้วไม่ยอมให้ผู้ชายสีเหลืองออกจากบ้านไปเจอใครคนอื่นเลย เพื่อให้เขาใช้ “เวลา” ทั้งหมดไปกับตัวเอง
.
- คนสีเขียว
ไซโคพาธอาจเข้าหาคนสีเขียวที่ใจอ่อน และมักชอบช่วยเหลือคนอื่นเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตัวเช่นเรื่อง “เงิน”
ลองนึกถึงไซโคพาธผู้ชายที่เข้ามาเกาะผู้หญิงสีเขียวที่ทำงานหาเงินได้จำนวนมาก ผู้ชายเหล่านี้มักแสดงความเป็นผู้นำเพื่อให้ผู้หญิงสีเขียวตกหลุมรัก และค่อย ๆ เข้ามาสร้างความเชื่อใจ จนผู้หญิงสีเขียวไว้ใจ ให้ยืมเงิน
ตอนแรกก็อาจจะยืมทีละเล็ก ทีละน้อย แต่พอเรื่อย ๆ ก็อาจทำให้ผู้หญิงสีเขียวล้มละลายได้เหมือนกัน
.
- คนสีน้ำเงิน
ไซโคพาธอาจทำลายคนสีน้ำเงินได้ยากที่สุด เพราะคนกลุ่มนี้มีป้อมปราการการป้องกันตัวเองที่ดี โค่นได้ค่อนข้างยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
ไซโคพาธ อาจต้องอาศัย “เบี้ย” ซึ่งหมายถึงพวกลูกไล่ไซโคพาธ ที่โดนไซโคพาธค่อย ๆ เปลี่ยนให้มาเป็นพวกตัวเองทีละคน สองคน เพราะคนสีน้ำเงินไม่สนใจเรื่องความสัมพันธ์อยู่แล้ว จึงมักไม่ทันสังเกตุสิ่งเหล่านี้
และเมื่อมีเบี้ยมากพอ ไซโคพาธก็จะค่อย ๆ ทำลายชื่อเสียงและการได้รับยอมรับของคนสีน้ำเงินจนแหลกเหลว
ลองนึกถึงเพื่อนร่วมงานไซโคพาธที่ต้องการโค่นตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญที่คนสีน้ำเงินได้รับการยอมรับจากเพื่อร่วมงานคนอื่น ๆ
เพื่อนร่วมงานไซโคพาธคนนี้อาจเริ่มจากการค่อย ๆ สร้างความผิดพลาดทีละเล็กละน้อยให้คนสีน้ำเงิน ซึ่งอาจเป็นจุดบอดเล็ก ๆ ที่ต้องอาศัยเบี้ยซึ่งก็คือเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ ช่วย
เมื่อคนสีน้ำเงินเริ่มผิดพลาดบ่อยมากขึ้น ความน่าเชื่อถือเริ่มลดน้อยลง
เพื่อนร่วมงานก็หันไปหาฝั่งไซโคพาธมากขึ้น สุดท้ายตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญของคนสีน้ำเงินก็อาจพังทลายลง และชีวิตการทำงานในบริษัทปัจจุบันก็เป็นอันต้องจบสิ้น
.
.
8) 8 เทคนิคการหลอกล่อขั้นพื้นฐานของไซโคพาธ
1. เดี๋ยวชม เดี๋ยวเฉย
ทำให้เหยื่อกระหายคำชม
แล้วเริ่มใช้ประโยชน์จากความกระหายของเหยื่อ
เช่น เจ้านายไซโคพาธที่ชมลูกน้องว่าทำงานดี แล้วก็เลิกชมไปสักพัก
เพื่อหวังให้ลูกน้องกระหายคำชม จนยอมรับผิดชอบงานชิ้นใหญ่ที่ตัวเองมอบให้
.
2. ประเคนความรัก แล้วหายไป
คล้ายกรณีคำชม แต่เป็นการให้ความรัก โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ด้านความรักของหนุ่มสาว
ที่ไซโคพาธมาประเคนความรักให้ระยะหนึ่งแล้วหายไป
เพื่อหวังให้เหยื่อกระหายความรัก และเริ่มใช้ประโยชน์จากความกระหายของเหยื่อ
.
3. ทำตัวแย่ใส่เรื่อย ๆ จนกว่าจะได้สิ่งที่ต้องการ
คล้ายกับวิธีแรก แต่เปลี่ยนจากการชม เป็นการทำตัวแย่ ๆ ใส่เหยื่อเรื่อย ๆ
จนเหยื่อต้องประพฤติตัวในแบบที่ไซโคพาธต้องการ ถึงจะเลิกทำตัวแย่ ๆ
การทำตัวแย่ ๆ หมายถึง การทำตัวหงุดหงิดตลอดเวลา หาเรื่องทะเลาะ อาละวาด ทำตัวเจ้าอารมณ์เป็นต้น
.
4. เปลี่ยนเรื่องเมื่อถูกชวนให้พูดคุยถึงปัญหา
แล้วหันไปโจมตีเรื่องอื่นของเหยื่อ
.
5. ใช้อารมณ์เหยื่อ โจมตีตัวเหยื่อเอง
เหมือนการตอกย้ำไปที่จุดอ่อน จี้ใจดำในเรื่องที่เหยื่ออาจรู้อยู่แล้วว่าทำได้ไม่ดี
.
6. เล่นละครรัก 3 เส้า
อาจเกิดขึ้นกับทั้งความสัมพันธ์ส่วนตัว และในที่ทำงาน
ไซโคพาธจะทำให้เหยื่อรู้สึกถึงแย่งความรัก จนต้องทำตามในสิ่งที่ไซโคพาธเรียกร้อง
.
7. หลอกเนียน ๆ ให้เหยื่อสับสนในความเป็นจริง
โดยเฉพาะในรายละเอียดเล็ก ๆ ที่เหยื่อมักจำไม่ได้
.
8. เงียบไม่พูดไม่จา
ทรมานเหยื่อด้วย death air
.
.
9) วิธีตอบโต้พวกไซโคพาธ 7 วิธี
1. ขอเวลาคิด ทบทวน แล้ววิเคราะห์สถานการณ์ก่อน อย่าเพิ่งรีบตอบโต้ในทันที ถ้าแน่ใจแล้วว่าอีกฝ่ายเป็นไซโคพาธแน่ ๆ ค่อยตอบโต้
2. มีจุดยืนของตัวเองให้ชัดเจน อย่าให้พวกไซโคพาธมาปั่นหัวได้
3. ปลดล็อคตัวเองออกจากความกลัว โดยเผชิญหน้ากับความกลัวแบบตรง ๆ
4. พูดกลลวงของไซโคพาธออกมาอย่างตรงไปตรงมา แล้วอธิบายถึงผลร้ายของมัน
5. จัดงานม้วนเดียวจบ อย่าให้ยืดเยื้อ
6. ให้เงื่อนไขต่อความสัมพันธ์ ถ้าเรายังอยากมีความสัมพันธ์กับคนเหล่านี้ต่อ
หลัก ๆ คือการให้โอกาสไซโคพาธในการแก้ตัว
.
.
. รีวิวสั้น ๆ
หนังสือภาคต่อของ วิธีเอาตัวรอดจากวงล้อมคนงี่เง่า (surrounded by idiots) หนังสือเล่มดังที่ออกมาเมื่อปีที่แล้ว
และครองใจนักอ่านหลายคน รวมทั้งตัวผมด้วย
เพราะอ่านแล้วสนุกมาก เรื่องราวลื่นไหลชวนคล้อยตาม
และเนื้อหาขับเน้นไปที่คน 4 สี สี่บุคลิก ตามหลัก DISC ได้ชัดเจนมาก
.
จริง ๆ แล้วจะบอกว่าหนังสือเล่มนี้เป็นภาคต่อ ก็อาจถูกแค่ครึ่งเดียว
เพราะทั้งเล่มเป็นเรื่องราวของ “ไซโคพาธ (psychopath)”
หรือกลุ่มคนที่เหมือนเป็นโรคจิต สนใจแต่ความต้องการของตัวเอง และใช้วิธีการอันแยบยลต่าง ๆ เพื่อควบคุม หลอกใช้ และเอาประโยชน์จากคนอื่น
หนังสือเหมือนการนำเรื่องราวของพวกไซโคพาธ มาปะติดปะต่อกับคน 4 สี
แล้วเน้นอธิบายไปที่วิธีทราไซโคพาธใช้ควบคุมคนแต่ละสี และวิธีการรับมือที่คนทั้ง 4 สีควรรู้ไว้
.
โดยรวมแล้ว เป็นหนังสือที่มีทฤษฎีเยอะกว่าเล่มแรก
เพราะคนเขียนต้องอธิบายนิยามของไซโคพาธ และเล่าทฤษฎีทางจิตวิทยาเบื้องหลังคนเหล่านี้สักพัก
ก่อนจะเข้าสู่เนื้อหาลัก ซึ่งเป็นความมันส์ของหนังสือ คือการหลอกใช้คนทั้ง 4 สีจนอยู่หมัด
คนอ่านจึงอาจเบื่อได้ในช่วงแรก ๆ
.
ยอมรับว่าสรุปเนื้อหาเล่มนี้ค่อนข้างยาก เพราะเนื้อหาเป็นเรื่องราวที่มีความสลับซับซ้อน
โดยเฉพาะพฤติกรรรมของคนที่ต้องเล่าบริบทประกอบ ถึงจะเห็นภาพและเข้าใจชัดเจนขึ้น
.
อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้ว ส่วนตัวยังชอบผลงานเขียนของ โธมัส เอริคสัน มาก ๆ
สำนวนการเขียนคือสนุกและชวนติดตามตลอดเล่ม แม้จะมีทฤษฎีแทรกเยอะก็ตาม
ต้องชมคนแปลด้วย แปลได้ไหลลื่น และภาษาไม่แข็งเหมือนบางเล่ม
ถ้าใครชอบอ่านหนังสือแนว ๆ พฤติกรรมคนอยู่แล้ว เล่มนี้ก็เป็นอีกเล่มที่พลาดไม่ได้จริง ๆ ครับ
.
.
.....................................................................................
ผู้เขียน: โธมัส เอริคสัน
ผู้แปล: ประเวศ หงส์จรรยา
จำนวนหน้า: 254 หน้า
สำนักพิมพ์: อมรินทร์ How To, สนพ.
เดือนปีที่พิมพ์: 2022
ชื่อเรื่องต้นฉบับ: Surrounded by Psychopaths
.....................................................................................
.
.
สั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.
Comments