top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว ไม่ใช่ที่ของเรา




รีวิว ไม่ใช่ที่ของเรา

.

หนังสือบันทึกเรื่องราวของ แพท พาวเวอร์แพท ที่เคยต้องโทษคดียาเสพติด จนต้องเข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำมากว่า 16 ปี 8 เดือน

.

เกริ่นคร่าว ๆ คือ แพท พาวเวอร์แพท เป็นศิลปินดาวรุ่น อนาคตไกล อายุ 20 ต้น ๆ ได้ประสบความสำเร็จในการทำเพลง และเป็นศิลปินดัง ออกเล่นคอนเสิร์ตไปทั่วประเทศ จนกระทั่ง....

เขาเดินทางผิด แล้วหันมาเสพยาเสพติด พร้อมเป็นคนขายยาเสพติดให้คนอื่นด้วย

แพทเล่าว่า ช่วงนั้นเขาไม่ค่อยมีงาน เงินไม่ค่อยมี เลยหันมาพึ่งการค้ายา

สุดท้ายวันหนึ่ง ในขณะที่เขาพักอยู่ที่คอนโดแห่งหนึ่ง ตำรวจจึงดำเนินการจับกุมตัวเขา

และเมื่อดำเนินคดีเรียบร้อย ผลจากศาลฎีกาปรากฎว่า แพทต้องโทษจำคุกมากกว่า 50 ปี

.

ในตอนนั้นอนาคตของเขาแทบจะดับลงในทันที

จากศิลปินดัง กลายเป็นนักโทษ และต้องใช้ชีวิตในคุกที่ไร้แสงสว่างมากกว่า 10 ปี

.

หนังสือบอกเล่าเรื่องราวของแพท ตั้งแต่ตอนที่เขาถูกจับ และต้องใช้ชีวิตในคุกไปเรื่อย ๆ

เป็นเหมือนบันทึกที่แพทเขียนขึ้นมาเอง ระหว่างที่อยู่ในคุก

เพื่อบอกเล่าเรื่องราววันคืนที่แสนทรมาน และเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังไม่ดำเนินรอยตามเส้นทางที่ผิด

.

หลังอ่านจบ ส่วนตัวผมมีความรู้สึกหลายอย่างปนกัน

ทั้งอยากรู้บทต่อไป ทั้งสนุกไปกับเรื่องที่แพทเล่า ทั้งเศร้า หดหู่ สิ้นหวัง แต่ก็จบแบบแฮปปี้แอนดิ้ง

โดยรวมจัดว่าเป็นหนังสือที่ชอบมากอีกเล่มหนึ่ง

.

แต่สไตล์การเขียนของแพท จะเป็นความเรียงมากกว่า การเล่าเรื่อง ทำให้หลายตอนแอบมีความห้วน ๆ อยู่บ้าง

ความรู้สึกในแต่ละบทจึงอาจไปได้ไม่สุด ไม่เหมือนตอนอ่านนิยาย

.

แต่อย่างไรก็ตามนับว่า เป็นหนังสือที่อ่านสนุกมา ได้บทเรียนดี ๆ หลายอย่าง

หนังสือไม่หนา อ่านเพลินแน่นอน

สุดท้ายอยากจะเล่าเป็น 9 บทเรียนจากหนังสือ และ 9 ข้อคิดสั้น ๆ ที่ตกผลึกหลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบ

.

ส่วนแรก 9 บทเรียนจากหนังสือ ไม่ใช่ที่ของเรา

1. ได้รับรู้เรื่องราวของคนคุกมากขึ้นมาก

เรื่องแรกเลยคือ คำศัพท์ต่าง ๆ ที่อาจเป็นศัพท์เฉพาะภายในคุก

ส่วนตัวไม่เคยได้ยินคำว่า ‘แดน’ มาก่อน

อ่านเล่มนี้จบ คำนี้กลายเป็นคำที่คุ้นหูขึ้นมาทันที เพราะแพทใช้คำนี้บ่อยมาก

แดนคือ เขตแดนที่ใช้แบ่งเรือนจำต่าง ๆ ไม่ใช่หัวหน้าชื่อแดน

.

2. การจำกัดวงเงินที่คนคุกได้ใช้ในแต่ละวัน

เรื่องอื่น ๆ ที่เพิ่งได้รู้ก็เช่น เรื่องการใช้เงิน ที่โดยจำกัดให้ฝากเงินได้สูงสุดเพียงเดือนละ 9,000 บาท

นั่นหมายความว่าญาติผู้ต้องขังต้องเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการเงิน และผู้ต้องขังใช้เงินได้เพียงประมาณวันละ 300 บาท

.

แต่ทุกอย่างล้วนมีเหตุผลในตัวมันเอง

ที่มีการจำกัดวงเงินฝาก ก็เพื่อไม่ให้มีการใช้เงินสร้างอิทธิพลในเรือนจำ เช่น การใช้เงินซื้อลูกน้อง

และยังนับเป็นการสอนนักโทษให้รู้จักใช้เงินอย่างประหยัดอีกด้วย

.

3. กิจกรรมในคุกนอกจากรูทีนในแต่ละวันแล้ว คนคุกจะว่างมาก

นอกจากกิจกรรมหลักของนักโทษที่ต้องทำทุกวัน เช่นการตื่นเช้า เคารพธงชาติ การสวดมนต์ การทำประโยชน์ต่าง ๆ แล้ว

ดูแทบไม่มีอะไรให้คนคุกทำเลย

อย่างที่แพทเล่าว่า จะหากีตาร์มาเล่นสักตัวยังลำบาก ห้องซ้อมดนตรีสุดท้ายก็โดนทุบไป

จะนั่งอ่านหนังสือดี ๆ สักเล่ม ก็ต้องรอคนบริจาคหนังสือเข้ามา จะหาที่อ่านได้ ก็ต้องหาจังหวะที่ไม่มีเสียงประกาศจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งน้อยมาก เพราะเจ้าหน้าที่ประกาศนู่นนี่นั่นทั้งวัน

จนกระทั่งนักโทษบางคนว่างมาก ขนาดไปเลี้ยงจิ้งจกยังทำได้ เพราะไม่รู้จะทำอะไรจริง ๆ

.

4. เรือนจำเหมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

เหมือนที่แพท พาวเวอร์แพทเล่าไว้ในช่วงท้าย ๆ ก่อนออกจากเรือนจำว่า

เขาแทบไม่ได้รับรู้โลกภายนอกเรือนจำนั้นเลย

อย่างที่บอกว่า นักโทษต้องเข้าไปตัวเปล่า ไม่มีโทรศัพท์มือถืออย่างแน่นอน

ทีวีก็จะมีผู้คุมคอยเปิดให้ดูบ้าง แต่ก็ไม่ตลอด จะเลือกรายการดูก็ทำไม่ได้

ข้อมูลจากโลกภายนอกจึงถูกจำกัดมาก ๆ

เรียกได้ว่าคนที่เข้าไปในคุกเป็น 10 ปีอย่างแพท

ออกมาน่าจะแทบจำอะไรเกี่ยวกับโลกภายนอกรั้วเรือนจำได้เลย

.

ถึงขั้นที่ว่า แพทบอกว่าวิธีการได้ข้อมูลโลกภายนอกที่ดีที่สุดคือ การสอบถามจากนักโทษที่เพิ่งเข้ามาใหม่

โอ้โหห อ่านเรื่องนี้แล้วก็ทำให้อึ้งไปพักใหญ่ !

ชีวิตทุกวันของเราที่มีช่องทางมากมายในการรับข้อมูลข่าวสาร แทบจะนึกไม่ออกว่า ถ้าเราไม่รู้ข้อมูลเหล่านี้เพียงสัปดาห์เดียว หรือแม้แต่วันเดียว โลกในหัวของเราจะเป็นยังไง

.

5. การสื่อสารกับคนในโลกข้างนอกก็จำกัดมาก ๆ

แพทเล่าว่าเขาทำได้เพียงเขียนจดหมายส่งหา พ่อ แม่ พี่สาว ญาติ และคนสนิท สัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยเขาเขียนได้เพียง 15 บรรทัดต่อจดหมาย 1 ฉบับเท่านั้น

และที่สำคัญคือจดหมายทุกฉบับ ต้องผ่านตาเจ้าหน้าที่ เพื่อให้รู้ว่า ไม่มีคำหยาบ ไม่ได้เป็นการเขียนให้ร้ายใคร หรือไม่ได้เป็นการเขียนเพื่อไปสั่งใครให้ทำในสิ่งไม่ดี

ถ้าเกิดเจ้าหน้าที่ไม่ชอบใจ จดหมายก็อาจถูกปรับตก และเจ้าหนี่ก็อาจสั่งซ่อมนักโทษ โดยการให้ไปวิ่งรอบสนาม (ถ้าเป็นเมื่อก่อน อาจมีการทำร้ายร่างกายกันได้)

.

6. สิ่งที่ดูเหมือนจะทำได้มากที่สุดในเรือนจำคือ การเรียน

การเรียนรู้ไม่มีกำแพงกั้นไว้ เหมือนที่แพท ตั้งเป็นชื่อบทไว้บทหนึ่ง

กิจกรรมอื่นอาจถูกจำกัดมาก ๆ แต่การเรียนยังเป็นสิ่งหนึ่งที่ทุกคนทำได้แม้จะอยู่ในเรือนจำ

.

แพทลงเรียนตั้งแต่เริ่มเข้าไปในสถานบำบัดยาเสพติดใหม่ ๆ จนมาติดคุกที่เรือนจำกลางยาว ๆ

ในที่สุดแพทก็ได้ปริญญาตรีใบแรกให้ตัวเองเป็น มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช คณะศิลปศาตร์ เอกสารสนเทศน์ศาตร์

.

แพทเล่าเว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่คนคุกจะเรียนกัน ตั้งแต่คนไม่รู้หนังสือก็มีครูอาสามาสอน

ตั้งแต่พื้นฐาน ประถม มัธยม จนไปถึงระดับมหาลัย ที่มีการเปิดให้เรียนแบบ กศน. และมหาลัยเปิดต่าง ๆ

การส่งการบ้านหรืองานโปรเจคก็ทำได้โดยการส่งจดหมายออกไปเป็นระยะ ส่วนการจัดสอบก็มีการจัดสอบพิเศษในเรือนจำ

.

นอกจากนี้ก็ยังมีการสอนกันเองได้ เช่น ที่แพทเปิดสอนวิชาดนตรีให้ผู้ต้องขังคนอื่น ๆ มาลงเรียนกันอย่างต่อเนื่อง

.

7. คนคุกไม่ได้เลวร้ายเสมอไป

จากข่าวที่เราเห็นในสื่อต่าง ๆ มักจะมีข่าวประมาณว่านักโทษที่เพิ่งออกจากคุก ก่อคดีซ้ำ ไม่สำนึกผิด คนก็จะไปรุมด่าว่าไม่ควรปล่อยตัวออกมา

แต่แพทเล่าว่า ความเป็นจริงแล้ว ที่ออกข่าวอาจเป็นเพียงคนส่วนน้อย

นักโทษส่วนใหญ่ พอได้ออกจากคุก ก็กลับไปทำมาหากินอย่างสุจริต

ไม่ก่อความผิดซ้ำอีกครั้ง

เพราะทุกคนได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของตัวเอง และได้ปรับปรุงตัวระหว่างอยู่ในคุกแล้ว

.

แพทจึงอยากให้สังคมเปิดใจ และให้โอกาสคนที่เคยทำผิดครั้งหนึ่ง

ให้พวกเขาได้มีที่ยืนในสังคม และได้ตั้งตัวกับชีวิตตัวเองใหม่อีกครั้งเมื่อออกจากคุก

.

8) ชีวิตของผู้ต้องขัง พบเพื่อเพียงจากอยู่เสมอ

ผู้ต้องขังในคุกอาจได้สร้างสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ที่เข้ามา

แต่สุดท้ายทุกคนก็ต้องออกจากเรือนจำไป

.

แพทเองก็ได้เจอสายสัมพันธ์ที่ดีหลายคน จนได้สร้างวงดนตรีขึ้นมาเล่นด้วยกัน

แต่สุดท้ายวงที่เขารวมตัวได้นั้นก็มักอยู่ได้ไม่นาน เมื่อผู้ต้องขังถูกเคลื่อนย้ายไปยังแดนอื่น

หรือได้รับการปล่อยตัว

.

ไม่ต้องพูดถึงเรื่องแฟน แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีความรักในขณะที่ต้องอยู่ในเรือนจำ

หลายคนพอเข้ามาในคุก ก็มักถูกแฟนทิ้ง เพราะรอไม่ไหว

.

แม้แต่กับสัตว์เลี้ยง เช่นแมวจรจัด ที่แพทไปผูกสัมพันธ์ไว้ด้วย

วันหนึ่งก็มีการกำจัด ขนย้ายแมวจรเหล่านี้ไปที่อื่น

.

แทบไม่มีความสัมพันธ์ไหนอยู่ได้ยั่งยืนเลย

.

9) ความกลัวของคนในเรือนจำ

มีอยู่เพียง 2 อย่างคือ การกลัวตัวเองตาย และกลัวคนที่รักนอกเรือนจำตาย

เรื่องนี้เกิดกับคนที่ต้องติดคุกนาน ๆ

แพทเองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้เจอประสบการณ์นี้

.

.

ส่วน 9 ข้อคิดสุดท้ายที่ผมตกผลึกกับตัวเอง หลังอ่านหนังสือของแพท พาวเวอร์แพทจบ มีดังต่อไปนี้

1) อย่าประมาทกับชีวิต ชีวิตมีขึ้นได้ก็มีลงได้ จงวางแผนให้ดี และคิดให้รอบคอบถึงผลที่ตามมา ก่อนจะลงมือทำอะไรสักอย่าง

แพทได้เป็นทั้งดาวรุ่งและดาวตกในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะเขาประมาทกับชีวิตมากเกินไป ปล่อยให้ตัวเองไปอยู่กับยาเสพติด และเสียอนาคต

.

2) จงอย่าหมดหวัง แม้แสงสว่างจะริบหรี่เพียงใดก็ตาม พยายามคุยกับตัวเองและให้กำลังใจตัวเองให้ดีที่สุด

.

3) ถ้าใจเราสะอาด แม้จะอาบน้ำไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร

เป็นคำเปรียบเทียบว่าร่างกายและชีวิตของเรานั้นขึ้นกับความคิดและจิตใจ

.

4) ในวันที่ลำบากที่สุด เราจะรู้ว่ามีใครบ้างที่สำคัญจริง ๆ ในชีวิตเรา

เหมือนวันที่แพทตกต่ำที่สุด แพทก็ยังมีพ่อแม่ที่คอยให้กำลังใจ และเป็นความหวังในวันที่เขาท้อแท้

.

5) ไม่ต้องมีเงินมาก เราก็ยังใช้ชีวิตต่อไปได้

ชีวิตที่ใช้เงินได้เพียงวันละ 300 บาท ทำให้อดีตนักร้องดาวรุ่งได้รู้ว่า ไม่มีเงินก็ไม่เป็นไร

.

6) คนเราสร้างคุณค่าได้ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ตาม

แพทสามารถหาคุณค่าของตัวเองได้ ด้วยการเล่นดนตรี การสอนดนตรี และการสร้างงานศิลปะ แม้จะอยู่ในสภาพที่ทำได้ยากมากก็ตาม

.

7) ความเงียบเป็นสิ่งที่มีค่ามาก เพราะมันทำให้จิตใจเราสงบ คิดเรื่องต่าง ๆ ออก

ถ้าคนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่ความวุ่นวาย จะนึกถึงเรื่องนี้ไม่ออก

.

8) จงทำดีกับทุกคนเข้าไว้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เพราะเราไม่มีทางรู้ว่า การทำดีของเราจะส่งผลยังไงต่อชีวิตเราบ้าง

.

9) เรียนรู้ที่จะอยู่กับความผิดพลาดของตัวเอง ทำตัวเองให้ดีขึ้น และหมั่นเตือนตัวเองไว้ไม่หทำผิดซ้ำสอง

เหมือนที่แพททำกับตัวเองเป็นประจำ

.

.

................................................................................................

ผู้เขียน แพท พาวเวอร์แพท

จำนวนหน้า: 196 หน้า

สำนักพิมพ์: อมรินทร์, สนพ.

เดือนปีที่พิมพ์: 7/2021

................................................................................................

.

สนใจสั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #ไม่ใช่ที่ของเรา




32 views0 comments

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page