สรุป 5 ข้อคิดที่ช่วยให้เรา ‘เริ่มลงมือทำ’ ได้ตามเป้าสักที
จากหนังสือ เริ่มให้ได้ แล้วมันจะง่ายกว่าที่คิด
.
.
1) ตามหา “แพชชั่น” และกำหนด “มิชชั่น” ให้ชัดเจน
แพชชั่น และมิชชั่น คือ 2 ขุมพลังที่ไร้ขีดจำกัดในการขับเคลื่อนชีวิต
โดยปกติแล้ว คนที่สำเร็จเกือบทุกคนจะมีลักษณะที่เหมือนกันอยู่ 2 ประการคือ
1. กำหนดผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้อย่างชัดเจน
2. มั่นใจว่าจะบรรลุเป้าหมายได้
.
หรือสรุปสั้น ๆ คือ การมีเป้าหมายที่ชัดเจน และการมีความมั่นใจพร้อมลงมือทำด้วยแพชชั่นอย่างต่อเนื่อง จะเป็นตัวช่วยสำคัญให้เราไปถึงเป้าหมายได้
.
.
2) หลักการ 4 ข้อที่ช่วยขจัดความรู้สึกว่า การลงมือทำนั้นยุ่งยาก
1. ลดสิ่งที่ต้องทำ – ทำเฉพาะสิ่งที่สำคัญจริง ๆ
2. เปลี่ยนคำว่า ‘ต้องทำ’ เป็น ‘อยากทำ’ – เพื่อช่วยขจัดความรู้สึกแย่ ๆ ออกไป
3. อย่าไปคิดอะไรให้มากนัก – เพราะส่วนใหญ่แล้ว เราลงมือทำไม่ได้เสียทีเพราะมัวแต่คิดฟุ้งซ่าน
4. ลงมือทำไปก่อน – หาวิธีที่ลงมือได้ง่าย ๆ แล้วทำไปก่อนเลย
.
.
3) ความคิดที่ต้องกำจัด 5 ประการ ถ้าอยากเริ่มลงมือทำ
1. คิดเรื่อยเปื่อย และคิดแต่เรื่องลบ
คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ลงมือทำ เพราะเอาแต่คิดไปเรื่อยเปื่อย คิดล่วงหน้ามากเกินไป และชอบเป็นความคิดอคติในเชิงลบ
วิธีแก้คือ การเดิน ‘naming walk’ คือการเดินไปตั้งชื่อให้กับสิ่งต่าง ๆ ที่เห็นตรงหน้า เพื่อคุมตัวเองให้อยู่กับสิ่งตรงหน้า และหยุดคิดเสียที!!
.
2. อยากทำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลมาก ๆ ก่อน จึงไม่ได้ลงมือทำเสียที
วิธีแก้คือ ให้เน้นไปที่ “ความต่อเนื่องมากกว่าประสิทธิภาพ” ทำไปเรื่อย ๆ เริ่มจากง่าย ๆ ก่อน เดี๋ยวพอเรามีทักษะเพิ่มขึ้น เราก็จะทำงานได้ดีขึ้นเอง
.
3. อยากทำให้ได้คุณภาพดีตั้งแต่แรก
สุดท้ายแล้วเราจะกดดันตัวเองจนไม่อยากเริ่มทำ ดังนั้นแล้วให้ตั้งเป้าไปก่อนว่าจะล้มเหลว และเน้นให้ได้เริ่มทำก่อน
ช่วงแรก ๆ ให้เน้นที่ความเร็วมากกว่าคุณภาพ
.
4. มีทางเลือกมากเกินไป ซึ่งจะทำให้เราสับสนและตัดสินใจไม่ได้
การเลือกเฉพาะข้อมูลที่สำคัญและตัวเลือกที่จำเป็น จะช่วยให้เริ่มทำได้ง่ายขึ้น
.
5. กลัวว่าพอทำไม่ได้จะโทษตัวเองว่ายังตั้งใจไม่มากพอ
เราต้องลดการตำหนิตัวเองลง และพยายามทำความเข้าใจว่า ในช่วงแรกน้อยคนนักที่จะสำเร็จ แต่การกล้าก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซนนับเป็นก้าวสำคัญยิ่ง
.
.
4) พาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ได้เป็นคนส่วนใหญ่
ปัญหาหนึ่งที่เรามักเข้าใจผิดคือ เรามักต้องฝืนตัวเอง เพื่อให้รู้สึกว่าเข้ากับคนอื่นได้
แต่ความเป็นจริงแล้ว สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นเพราะ เราอยู่ผิดสภาพแวดล้อม
และกลายเป็นคนกลุ่มน้อย
.
โดยกฎที่เรายึดถือกับกฎของคนส่วนใหญ่ที่นั่น อาจแตกต่างกัน เราจึงรู้สึกอึดอัด
วิธีแก้คือ การหาสภาพแวดล้อมที่ ‘เราเป็นตัวของตัวเองได้’ ไม่ต้องเสแสร้ง
ลองออกตาหากลุ่มแบบนี้ดู หรือไม่ก็ลองสร้างกลุ่มในแบบที่ต้องการขึ้นมาเองเลย
.
.
5) หัดตามใจตัวเองบ้าง
หลายคนมีปัญหากับคนอื่นก็เพราะกรอบความคิดที่เราสร้างขึ้นมา
เราเป็นทุกข์ก็เพราะมีบางคนมา ‘ทำลายกฎเกณฑ์’ ที่เรายึดถือ
ซึ่งหมายถึงความทุกข์ที่ว่าก็เกิดขึ้นจากตัวเราเอง
.
ถ้าเราลอง ‘ปล่อยวางกฎเกณฑ์’ เหล่านั้น แล้วลองใช้ชีวิตไปตามใจตัวเองโดยไม่ต้องเข้มงวดดูบ้าง
สุดท้ายแล้วการเข้มงวดกับชีวิตตัวเองมากเกินไป อาจทำให้เราเป็นคนอารมณ์เสียง่าย มองโลกในแง่ร้าย
และทำงานได้ประสิทธิภาพไม่ดี
.
ดังนั้นต่อจากนี้ ให้ลองตามใจตัวเองแบบสุด ๆ ดูบ้าง
หยุด ‘ตำหนิตัวเอง’ สักพัก แล้วลองใช้ชีวิตแบบสบายใจดู
เราอาจมีปัญหากับตัวเองน้อยลง มีปัญหากับคนอื่นน้อยลง และมีความสุขมากขึ้นก็เป็นได้
.
.
รีวิวสั้น ๆ
หนังสือเล่มใหม่จากผู้เขียน ‘เลิกนิสัยทำอะไรไม่เสร็จสักอย่าง’ ที่ขายดีเป็นปรากฎการณ์
เล่มนี้เนื้อหาใกล้เคียงเดิม แต่เน้นไปที่เทคนิคช่วยลด ‘ความรู้สึกยุ่งยาก’ ในการเริ่มทำ
ไม่ว่าจะเป็น ‘ความยุ่งยากในการเริ่มลงมือทำ’ ‘ความยุ่งยากเพราะความสัมพันธ์กับผู้คน’ หรือ ‘ความยุ่งยากเพราะมันยุุ่งยาก’ ก็ตาม
.
หนังสือเขียนค่อนข้างเรียบง่าย มีเทคนิคที่หยิบจับไปใช้จริงได้
เนื้อหาวน ๆ อยู่กับตัวช่วยต่าง ๆ ในการเริ่มลงมือทำ รวมไปถึงการทำให้ได้อย่างต่อเนื่อง
มีความคล้ายพวกหนังสือสร้างนิสัยใหม่อยู่พอสมควร
.
แต่ถ้าใครอ่าน howto มาสักระยะแล้ว
จะพบว่าเล่มนี้ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่มาก
เหมือนเป็นการทบทวนในสิ่งที่เคยอ่านเจอมาแล้วมากกว่า
.
โดยรวมแล้ว ส่วนตัวผมยังชอบเล่ม ‘เลิกนิสัยทำอะไรไม่เสร็จสักอย่าง’ มากกว่าอยู่
แต่เล่มนี้ก็อ่านเพลิน ๆ ในเวลาว่างได้ ด้วยความหนา ชั่วโมงกว่า ๆ ก็น่าจะปิดเล่มได้แล้วครับ
.
.
…………………………………………………………………………………
ผู้เขียน: โทโยคาซึ สึรุตะ
ผู้แปล: ณิชยา รักเกียรติงาม
จำนวนหน้า: 172 หน้า
สำนักพิมพ์: อมรินทร์ How To, สนพ.
เดือนปีที่พิมพ์: 2/2022
…………………………………………………………………………………
.
.
สั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.
Comments