รีวิว เทคนิคจำแบบไม่ต้องจำ ที่จิตแพทย์อยากบอกคุณ
- หลังอ่าน: รีวิวหนังสือ
- Oct 1, 2021
- 2 min read


รีวิว เทคนิคจำแบบไม่ต้องจำที่จิตแพทย์อยากบอกคุณ
.
.
‘เทคนิคจำนอกห้องเรียนที่ใช้ได้กับชีวิตจริง’
.
หลายคนคงจะคุ้นเคยกับการท่องจำสมัยเรียนในโรงเรียน เพราะข้อสอบล้วนวัดความจำของนักเรียนเป็นหลัก แต่หลังจากเรียนจบแล้วการท่องจำในลักษณะนั้นก็ค่อยๆลดน้อยลงเรื่อยๆ ยกเว้นว่าเราจะไปบังเอิญสอบใบประกอบวิชาชีพ หรือสอบเข้ารับราชการ
.
นับเป็นเรื่องโชคดีมากที่เราไม่จำเป็นต้องนั่งท่องจำเนื้อหาอันน่าเบื่อในโรงเรียนอีกต่อไป เพราะตอยทำงาน ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะเจอปัญหามากกว่าว่า ให้ไปเตรียมตัวมาให้ดีกว่านี้ เวลานำเสนองานก็ขอข้อมูลแม่นๆ ไม่ใช่จำมาพูดอย่างเดียว
.
หนังสือเล่มนี้เขียนโดย ชิอง คะบะซะวะ นักเขียนหนังสือขายดี Output ผู้ประกอบอาชีพจิตแพทย์ และเป็นเจ้าของblogger ชื่อดังผู้มีผู้ติดตามมากมายหลักแสนคน
.
หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นก่อนเล่ม Output แต่มีใจความสำคัญทับซ้อนกันบางประการ เพราะความจริงแล้ว เทคนิคหลักๆเลยที่จะทำให้เราจำข้อมูลได้แม่นก็คือ การเปลี่ยนมันออกเป็น output นั่นเอง
.
สิ่งที่น่าสนใจคือ หนังสือเล่มนี้ไม่เหมือนหนังสือญี่ปุ่นเล่มอื่นๆที่มักจะเน้นไปที่การแชร์ประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งกลั่นกรองออกมาเป็นข้อย่อยๆ แต่เล่มนี้เหมือนผสมเอาหลักจิตวิทยาแบบเน้น พร้อมกับประสบการณ์จริงจากจิตแพทย์ ผู้ต้องพบเจอกับผู้ป่วยทางจิตเวชมากมาย หนังสือเลยมีงานวิจัยรับรองเทคนิคเพิ่มความจำที่เรียบเรียงเป็นข้อๆแบบน่าสนใจและน่าเชื่อถือ
.
ต้องเรียกว่าอาจารย์ คะบะซะวะ ผู้เขียนเป็นผู้มีความจำเป็นเลิศมาก ตัวอย่างเช่น ตอนแกไปสอบความรู้ด้านการชิมไวน์ แกใช้เวลาเตรียมตัวเพียงไม่กี่วัน ก็สามารถสอบผ่าน ทำคะแนนได้สูงมาก เมื่อเทียบกับอีกหลายคนที่ต้องเตรียมตัวกันมาหลายเดือนกว่าจะสอบผ่าน
.
เล่มนี้จึงเหมือนเป็นการถอดเคล็ดลับการเป็นคนความจำเยี่ยมของอาจารย์ คะบะซะวะด้วย โดยอาจารย์แกเรียกสั้นๆว่า ‘เทคนิคการจำแบบไม่ต้องจำง
.
แน่นอนว่าหนังสือแบ่งออกเป็นบทๆสั้นๆ ตามเคล็ดลับการจำแต่ละข้อ ซึ่งมีเยอะมาก แต่เทคนิคแต่ละข้อล้วนจับกันเป็นธีมหลัก ช่วยให้อ่านเข้าใจง่าย บางเทคนิค ตอนเด็กๆหลายคนอาจเคยใช้มาก่อนแล้ว แต่บางเทคนิคก็นับว่าเซอร์ไพร๊สพอสมควร
.
ส่วนใหญ่ที่เซอร์ไพร๊สจะเป็นเทคนิคที่มีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมอื่นๆในแต่ละวัน ที่ล้วนส่งผลต่อความจำ เช่น การนอนและการออกกำลังกาย และความเกี่ยวข้องเหล่านี้ล้วนมีงานวิจัยรองรับอยู่เสมอ
.
ยังไงถ้าใครชอบเล่ม Output เล่มนี้ก็เป็นอีกเล่มที่ไม่ควรพลาดครับ หนังสืออ่านง่าย อ่านสนุก ภาษาตรงไปตรงมาเข้าใจง่าย มีตัวอย่างประกอบตลอดเล่ม ไม่ยืดเยื้อเหมือนหนังสือแปลตะวันตก
.
ยังไงลองไปหาอ่านดูนะครับ
.
ในส่วนสรุป ผมขอเลือกเนื้อหาส่วนที่ผมชอบมาเล่าให้ฟังทั้งหมด 8 ประเด็นนะครับ
.
1) 3 เหตุผลที่เราควรเรียนรู้ ‘เทคนิคจำแบบไม่ต้องจำ’
.
ก่อนจะไปเรียนรู้เทคนิค เราต้องเข้าใจกันก่อนนะครับว่าทำไมเราถึงควรลองอ่านเทคนิคในหนังสือเล่มนี้
.
เหตุผลที่ 1: ป้องกันโรคสมองเสื่อมและช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความเชื่อที่ว่า อายุมากขึ้น = ความจำแย่ลง ไม่ถูกต้อง เพราะปัจจุบันได้งานวิจัยมารับรองแล้วว่าเซลล์สมองนั้นเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ แม้อายุจะเพิ่มขึ้น
.
แต่ประสิทธิภาพการทำงานของสมองนั้นขึ้นการเชื่อมต่อของไซแนปส์ในเซลล์สมองต่างๆ ซึ่งเป็นส่วนทำให้เกิดความจำดีด้วย
.
ดังนั้น แม้จะอายุมากขึ้น แต่ถ้าหมั่นฝึกใช้สมองอยู่เสมอ ก็อาจยังคงจำเรื่องราวต่างๆได้แม่นยำอยู่ครับ
.
กลยุทธ์ที่ผู้เขียนแนะนำสำหรับผู้ใหญ่คือ การฝึกมองภาพใหญ่ มองการเชื่อมต่อของข้อมูลต่างๆ ซึ่งโดยปกติแล้วพอเรามีประสบการณ์มากขึ้น ทักษะตรงนี้ก็จะสูงขึ้นตาม
.
เหตุผลที่ 2: ผลการเรียนดีขึ้น
คนส่วนใหญ่ชอบโทษว่าเพราะตัวเองหัวไม่ดี เลยทำให้จำเนื้อหาไม่ได้ และสอบได้คะแนนไม่ดี ซึ่งแท้จริงแล้วไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อย
.
แท้จริงแล้วการก่อตัวของความทรงจำ มี 4 ขั้นตอนได้แก่ ‘ทำความเข้าใจ’, ‘จัดระเบียบ’, ‘จำ’, และ ‘ทบทวน’
.
คนทั่วไปโฟกัสแต่ขั้นตอนที่ 3 คือ การท่องจำ แต่ละเลย 2 ขั้นตอนแรก คือการทำความเข้าใจและจัดระเบียบ
.
คนที่เรียนเก่งกว่าคนอื่น เป็นเพราะเขาทำความเข้าใจและจัดระเบียบข้อมูลได้ดีกว่าคนอื่น ไม่ใช่จำได้มากกว่า ถ้าเราเข้าใจเรื่องนี้ เราสามารถจดจำข้อมูลใหม่ๆ ได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามเลย
.
เทคนิคเพิ่มความจำให้เรียนเก่งขึ้น ก็คือการมีสมาธิจดจ่ออยู่กับข้อมูลใหม่ และการจัดระเบียบข้อมูล รวมไปถึงการเลิกใช้เทคนิคการจำที่ไม่ได้ผลอย่างเรื่อง ‘การอ่านโต้รุ่ง’ และ ‘การนอนไม่พอ’
.
เหตุผลที่ 3: เอาข้อมูลที่รับเข้ามา มาพัฒนาตัวเองได้จริง
เหตุผลหนึ่งที่คนอ่านหนังสือแล้วบอกว่าไม่ช่วยอะไร เพราะโดยปกติแล้วข้อมูลมากกว่า 99% ที่ไม่ได้ใช้ จะถูกลืมไปจนหมดสิ้น
.
สมองมนุษย์เราจะกรองข้อมูลโดยอัตโนมัติว่าข้อมูลไหนเป็นข้อมูลสำคัญ และไม่สำคัญ โดยปกติแล้วใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ที่ข้อมูลที่เรารับเข้าใหม่จะถูกเก็บอยู่ใน ‘ที่เก็บชั่วคราว’ ชื่อว่าฮิปโปแคมปัส
.
ถ้าเราไม่มีการเรียกใช้ภายใน 2 สัปดาห์นี้ ข้อมูลก็จะถูกลบทิ้งไป แต่ถ้ามีการเรียกใช้ ข้อมูลดังกล่าวก็จะถูกย้ายไปอยู่ในสมองกลีบขมับ ที่เป็นที่เก็บ ‘ความทรงจำระยะยาว’
.
เมื่อเข้าใจพื้นฐานเรื่องนี้แล้ว เทคนิคที่จะใช้ในการทำให้จำเก่งขึ้นก็มีมากมายตั้งแต่ การ ‘ส่งออก’ ข้อมูล ทั้งทางการพูด การเขียน การสอน การคุยกับคนอื่น จงจำไว้ว่าอย่า ‘รับเข้า’ ข้อมูลเพียงอย่างเดียว
.
นอกจากนี้เราอาจใช้เทคนิคง่ายๆอย่าง ‘การจด’ และ ‘การใช้โซเชียลเน็ทเวิร์ค’ ที่ช่วยส่งออกข้อมูลได้ดีขึ้นด้วย
.
.
2) ส่งออกข้อมูลด้วยการเขียน และการสร้างดัชนีความจำ
.
การเขียนและการจดบันทึกเป็นการส่งออกข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมาก
.
ตัวอย่างเช่น เวลาทำข้อสอบ ถ้าเราเอาแต่ท่องเนื้อหาอย่างเดียว แปปเดียวเราก็คงจะลืม แต่ถ้าเราฝึกแก้โจทย์ปัญหาเขียนลงกระดาษ เราก็จะจดจำเนื้อหาได้ดีขึ้น
.
เหตุผลที่ทำให้การเขียนและการจดบันทึกช่วยให้เราจำได้เก่งขึ้นเพราะว่า
1. การจดคือการได้ทบทวน 1 ครั้ง
2. การจดคือการกระตุ้นระบบสั่งการประสาท
3. เป็นการสร้างดัชนีความจำรูปแบบหนึ่ง
.
การสร้างดัชนีความจำขึ้นมาหมายถึง การนำ ‘ความจำอาศัยความหมาย’ มาเชื่อมโยงกับ ‘ความจำอาศัยเหตุการณ์’ เพื่อให้เราเรียบเรียงความจำได้ดีมากขึ้น
.
‘ความจำอาศัยความหมาย’ คือ ข้อมูลเนื้อหาโดดๆ เช่น ชื่อคน ชื่อสถานที่
ความจำประเภทนี้ ‘จำยาก ลืมง่าย’
.
‘ความจำอาศัยเหตุการณ์’ คือ ข้อมูลที่ได้จากการพบปะพูดคุยกับคนอื่น โดยอาจเป็นเหตุการณ์พิเศษที่คนที่เราคุยด้วยเล่าให้ฟัง
ความจำประเภทนี้ ‘จำง่าย ลืมยาก’
.
เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจำชื่อคน หรือชื่อสถานที่ได้ดีขึ้น เราต้องนำความจำอาศัยความหมาย มาเชื่อมโยงกับความจำอาศัยเหตุการณ์
เช่น นาย สุทิน ชอบกินก๊วยเตี๋ยวเนื้อวัวไม่ผัก เป็นคนติดดิน พูดน้อย
นางสาวอมร ชอบกินก๊วยเตี๋ยวผักไม่ใส่เนื้อ เป็นคนไม่คิดมากเรื่องเงิน คุยเก่ง
.
แล้วลองนำ ทั้งนายสุทิน และนางสาวอมร มาใส่ไว้ใน ‘ดัชนีความจำ’ ที่เลียนแบบดัชนีท้ายเล่มหนังสือ เราก็จะเรียบเรียงเรื่องราวของแต่ละคน และจดจำคนที่เราพบเจอได้ง่ายขึ้น
.
.
นอกจากนี้เรายังอาจใช้เครื่องมืออื่นๆช่วย เช่นสมุดโน้ต และใช้การอ่านออกเสียง (หรืออ่านอำพราง) เพื่อใช้ประสาทสัมผัสอื่นๆมาช่วยให้จำได้มากขึ้น
.
.
3) เทคนิคจำด้วยการแต่งเรื่อง
.
ต่อยอดจากเรื่องความจำอาศัยความหมายและความจำอาศัยประสบการณ์ ถ้าเราท่องจำอะไรแบบโดดๆ ก็จะยากที่จะจำได้เป็นเวลานาน
.
แต่ถ้าเราเพิ่มเรื่องแต่งลงไป โดยใช้การอธิบายเหตุผล หรือการเชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิมของเรา เราก็จะจดจำเรื่องนั้นๆได้ดียิ่งขึ้น
.
เทคนิคการแต่งเรื่องนั้นอาจลองใช้เทคนิค 5W1H คือ เรื่องนี้เป็นเรื่องอะไร เกิดขึ้นกับใคร เกิดที่ไหน เกิดเมื่อไหร่ เกิดอย่างไร
เช่น เมื่อวานเราเดินไปกินก๊วยเตี๋ยวที่ซอยสุขุมวิท 28 แล้วเจอสาวสวยมานั่งทานคนเดียวอยู่โต๊ะข้างๆ อยากเข้าไปชวนคุย แต่เหลือบมองเวลาก็เกือบบ่ายโมงแล้ว เดี๋ยวจะคุยเพลินจนกลับไปทำงานไม่ทัน คิดแล้วก็เศร้า เสียดายโอกาสจัง : (
.
เทคนิคอื่นๆที่จะช่วยให้เรามีโอกาสแต่งเรื่องได้มากขึ้น ก็คือ การคุยกับคนอื่น การสอน หรือการร่วมวง discuss กับเพื่อนๆในหัวข้องาน
.
เพราะยิ่งเราส่งออกข้อมูลไปเท่าไหร่ เรื่องนั้นๆก็จะกลายมาเป็นประสบการณ์ส่วนตัวของเรา ความรู้สึกต่างๆของเราก็จะกลายเป็นถ้อยคำ ซึ่งช่วยให้เราจดจำมันแบบความจำอาศัยเหตุการณ์ได้มากขึ้น
.
.
4) เทคนิคจำด้วยการนอน
.
แม้จะดูไม่เกี่ยวข้องกัน แต่แท้จริงแล้ว การนอนส่งผลต่อความจำอย่างมาก เพราะการฝันระหว่างที่เรานอนคือเวลาที่ช่วยจัดระเบียบข้อมูล ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการจดจำข้อมูลใหม่
.
เพราะฉะนั้นแล้ว ถ้าเป็นนักเรียน การอ่านโต้รุ่งก็อาจไม่ช่วยอะไรเลย เพราะไม่มีเวลาให้สมองได้จัดระเบียบข้อมูลที่ยัดเข้าไป
.
นอกจากนี้ การนอนไม่พอเองก็เป็นเรื่องที่ควรเลี่ยง มีงานวิจัยว่า คนนอนไม่ถึง 6 ชั่วโมงติดต่อกัน 10 วัน มีประสิทธิภาพการทำงานของสมองลดลงเทียบเท่ากับคนที่ไม่ได้นอนเป็นเวลา 24 ชั่วโมง
.
นอกจากนี้แล้ว การนอนชดเชยตอนสุดสัปดาห์ก็อาจไม่ช่วยอะไรเลย
.
ถ้ากลางคืนนอนมาไม่พอให้ใช้เทคนิคการงีบหลับจะเกิดประโยชน์มากกว่า เพราะการนอนเป็นการกระตุ้นให้สมองได้จัดระเบียบข้อมูล แม้จะเป็นการงีบหลับแค่ 40 นาทีก็ยังมีประโยชน์มหาศาล
.
นอกจากนี้แล้วช่วงเวลาที่เราควรยัดข้อมูลใหม่ใส่สมอง และทบทวนข้อมูลเดิมคือ ‘ช่วงก่อนนอน’ เพื่อให้สมองได้จัดระเบียบข้อมูลที่มี
ส่วนช่วงเช้าเป็นเวลาที่เราควรใช้กับข้อมูลมที่ต้องทำความเข้าใจและจัดระเบียบ
.
.
5) เทคนิคการจำด้วยการทบทวน
.
อย่างที่ผู้เขียนกล่าวไว้ว่า ข้อมูลกว่า 99% ที่ไม่ได้ใช้จะถูกสมองจัดว่าเป็นข้อมูลไม่สำคัญ และถูกลบเลือนหายไป
.
การทบทวนข้อมูลที่มีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สมองเราคิดว่าข้อมูลนั้นคือข้อมูลสำคัญ
.
เทคนิคที่ผู้เขียนแนะนำคือ ‘การทบทวนแบบ 1, 3, 7’
โดยภายใน 1สัปดาห์ เราควรทบทวนข้อมูลเมื่อผ่านไป 1 วัน 3 วัน และ 7 วัน เพื่อให้สมองเราจำข้อมูลนั้นได้เกือบ 100% และหลังจากนั้นอีก 30 วันค่อยมาทบทวนกันอีกที
.
เพราะข้อมูลที่ถูกใช้งานตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปจะนับว่าเป็นข้อมูลสำคัญและถูกย้ายไปเก็บไว้ที่ส่วนเก็บความทรงจำระยะยาว
.
.
6) เทคนิคจำด้วยความเครียดอ่อนๆ
.
ตามกฎของเยอร์-ด๊อคสันแล้ว สมองจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อได้รับการกระตุ้นในระดับที่เหมาะสม และจะทำงานได้ลดลงเมื่อได้รับการกระตุ้นมากเกินไปหรือน้อยเกินไป
.
การกระตุ้นสมองอาจใช้ความเครียดในการกระตุ้น หรือความสนุกในการกระตุ้นก็ได้เหมือนกัน
.
ลองนึกภาพว่าเราต้องทำงานที่ใกล้จะถึงเดดไลน์แล้ว เราก็จะรู้สึกเครียดระดับหนึ่ง และสมองก็จะทำงานมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ยังห่างจากเดดไลน์
.
เพราะฉะนั้นแล้ว การสร้างความเครียดและความกดดันตัวเองระดับอ่อนๆด้วยการจำกัดเวลา ก็อาจมีประโยชน์ต่อ ประสิทธิภาพสมองและความจำ เราจึงควรพาตัวเองลงสนามซ้อม หรือลงซ้อมในสถานการณ์ตึงเครียดอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้เราจำข้อมูลได้ดีขึ้น
.
แต่แน่นอนว่าเราต้องระวังไม่ให้ระกับความเครียดมีสูงเกินไป จนบั่นทอนประสิทธิภาพการจำ
.
.
ในทางตรงกันข้ามกับความเครียด เราอาจมองหาเรื่องราวใหม่ๆ หรือเรื่องราวสนุกๆ ที่ช่วยกระตุ้นให้สมองทำงานมากขึ้น
.
การออกไปหาเรื่องใหม่ๆจะช่วยกระตุ้นการทำงานของฮิปโปแคมปัส ที่มี ‘เซลล์ประสาทสถานที่’ ทำหน้าที่ปล่อยคลื่นทีตาเพิ่มประสิทธิภาพในการจำได้
.
เราจึงควรมองหาที่ใหม่ๆในการนั่งทำงาน เพื่อกระตุ้นให้ฮิปโปแคมปัสสร้างเซลล์ประสาทสถานที่ให้มากขึ้น เวลาเราเห็นเด็กนักเรียนที่มานั่งในร้านกาแฟเปลี่ยนบรรยากาศ จึงอาจคิดได้ว่าเด็กเหล่านั้นทำเพื่อให้จำเนื้อหาการเรียนได้ดียิ่งขึ้น
.
นอกจากนี้แล้วความสนุกก็ส่งผลบวกต่อการจำ เช่น การท่องศัพท์ด้วยความสนุกช่วยให้เราจำได้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับการท่องศัพท์แบบน่าเบื่อ
.
.
7) เทคนิคการจำนอกสมอง
.
เมื่อการจำได้ = การนึกออก เราก็อาจไม่จำเป็นต้องจดจำเรื่องราวทุกอย่างในสมองอีกต่อไป แต่เราสามารถดึงข้อมูลเหล่านั้นไว้นอกสมอง และเรียกใช้ข้อมูลเหล่านั้นเมื่อต้องการ
.
เหมือนกับการทำงานในโลกของผู้ใหญ่ ที่เราต้องเรียกหาข้อมูลมากมายใน Google และโลกอินเตอร์เน็ท เราไม่จำเป็นต้องจดจำข้อมูลเหล่านั้น แต่เราสามารถเข้าถึงได้ทุกเมื่อ
.
แต่เราเองสามารถสร้างสมุดโน้ตส่วนตัว หรือใช้พื้นที่โซเชียลมีเดียในการดึงข้อมูลมาเก็บไว้ก็ได้
.
หลายๆครั้งที่เราลืมข้อมูลต่างๆไปแล้ว แต่เพียงเราได้แวปไปเห็นข้อมูลนั้นอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ วิดิโอ หรือตัวอักษร เรื่องราวของข้อมูลนั้นก็จะหลั่งไหลกลับเข้าสมองเรา หรือเรียกง่ายๆว่า เรานึกออกนั่นเอง!
.
เพราะฉะนั้นแล้ว ในยุคปัจจุบันที่มีเครื่องมือต่างๆมากมาย ตั้งแต่สมาร์ตโฟน แอปจดบันทึกต่างๆ เวลาเราอยากจำข้อมูลอะไรได้ดึขึ้นเราจึงควรใช้ประโยชน์จากเครื่องมือหล่านี้
.
เช่นจดบันทึกลงในแอปจดโน้ต จดสิ่งที่นึกออกลงในสมาร์ตโฟนเพื่อเตือนความจำ โพสต์เรื่องราวของตัวเองลงโซเชียลมีเดีย ข้อดีอย่างนึงของโซเชียลมีเดียคือ มันมีคนเห็นและมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้
.
เราจึงอาจใช้โซเชียลมีเดียเป็นแรงกระตุ้นในการจดบันทึกเรื่องราวของเรา เพื่อจะได้มีคนเห็น ได้ยอดไลค์ และได้คอมเมนต์พูดคุยกับคนอื่นๆ
.
.
8) เทคนิคการเพิ่มเมมโมรีสมอง
.
เมมโมรีสมองนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ความจำปฏิบัติการ’ เปรียบเหมือนหน่วยความจำคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่จำกัด เมื่อเวลาประมวลผลก็จะประมวลผลได้ทีละไม่กี่เรื่อง
.
ตามงานวิจัยแล้ว โดยปกติความจำปฏิบัติการ สามารถประมวลผลข้อมูลได้พร้อมกันมากที่สุด 3 ข้อมูล ถ้ามากกว่านี้ก็จะประมวลผลได้ช้าลง หรืออาจหยุดไปเลย
.
ดังนั้นแล้วถ้าเราเพิ่มความจำปฏิบัติการ ด้วยเทคนิคต่างๆดังต่อไปนี้ได้ เราก็อาจจะประมวลผลข้อมูลได้มากกว่าที่ควร
เทคนิคที่ 1: หลีกเลี่ยงการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน
ทุ่มเทแบบ 100% เพื่อให้งานเสร็จไปทีละอย่าง และอาจฟังเพลงเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจำและทำความเข้าใจ
.
เทคนิคที่ 2: เขียนสิ่งที่ค้างคาใจออกมาให้หมด
โอนข้อมูลที่อยู่ในเมมโมรีสมองออกมาข้างนอก เพื่อเคลียร์พื้นที่สมองให้โล่งขึ้น
.
เทคนิคที่ 3: ทำงานที่ยังไม่เสร็จให้เสร็จสมบูรณ์
ใช้ประโยชน์จาก ‘ซีการ์นิค เอฟเฟกต์’ ที่หมายถึงปรากฎการณ์ที่มนุษย์มักจะมีจิตใจจดจ่อกับงานจนกว่าจะถูกขัดจังหวะ หรือทำงานนั้นได้เสร็จสมบูรณ์
.
เทคนิคที่ 4: ลงมือทำงานที่ทำได้เสร็จภายใน 2 นาทีทันที
เช่น งานตอบอีเมลล์ ถ้าเราไม่ตอบทันที เราก็ต้องกลับมาอ่านอีเมลล์นั้นอีกรอบ เสีบเวลามากขึ้นไปอีก
.
เทคนิคที่ 5: ตัดสินใจโดยใช้กฎ 30 วินาที
ประหยัดเวลาและเมมโมรีสมอง
.
เทคนิคที่ 6: จัดโต๊ะทำงานให้เป็นระเบียบ
.
เทคนิคที่ 7: หยุดเช็คโทรศัพท์ตลอดเวลา
ลองหาช่วงปิดสมาร์ตโฟนบ้าง
.
.
.
………………………………………………………………………………..
ผู้เขียน: ชิอง คะบะซะวะ
ผู้แปล: ปาวัน การสมใจ
จำนวนหน้า: 312 หน้า
สำนักพิมพ์: วีเลิร์น, สนพ.
………………………………………………………………………………..
.
.
สั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.
#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #เทคนิคจำแบบไม่ต้องจำที่จิตแพทย์อยากบอกคุณ

Comments