top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว เทคนิคการอ่านให้เอามาใช้งานได้เลย




รีวิว เทคนิคการอ่านให้เอามาใช้งานได้เลย

.

‘เทคนิคการอ่านแบบครบวงจร จากหนอนหนังสือผู้อ่านได้มากกว่าวันละ 20 เล่ม’

.

รีวิวสั้น ๆ

ชื่อของ Mentalist DaiGo น่าจะคุ้นหูใครหลายคนไปบ้างแล้ว เพราะเขาออกหนังสือมาแล้วหลายเล่ม

แต่การจะมีข้อมูลมาก ๆ จนเขียนหนังสือได้หลายเล่ม ส่วนหนึ่งก็เพราะ เขาอ่านเยอะนั่นเอง

ดูจากที่เขาเขียนไว้ครั้งแรกก็รู้สึกถึงความโม้นิด ๆ ที่บอกว่า อ่านได้มากกว่าวันละ 20 เล่ม

ย้ำว่า วันละ ! ไม่ใช่สัปดาห์ละ หรือเดือนละ

นับว่าสถิติการอ่านโหดมาก

ไม่รู้สมองและสายตาทำด้วยอะไร

แต่ที่รู้คือคนเขียนต้องขยันแบบโคตร ๆ แน่ ๆ

.

พออ่านจบ ก็พอเข้าใจมากขึ้นว่า เพราะวิธีแบบนี้นี่เองเขาเลยอ่านได้กว่าวันละ 20 เล่ม

เทคนิคพวกตั้งเป้าหมายก่อนอ่าน หรือการอ่านแบบสกิมมิ่ง ก็คงมีผลให้อ่านเร็วขึ้นจริง ๆ

แต่ถ้าวันละ 20 เล่ม ก็คงใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่ดี

ต้องใจรักหนังสือ และต้องมีเวลาว่างมาก ๆ ด้วย (ฮา)

.

เล่มนี้เป็นหนังสือนำเสนอเทคนิคการอ่านแบบครบวงจรจากประสบการณ์ตรงของ Mentalist DaiGo

ครบวงจรหมายถึง เริ่มตั้งแต่ เตรียมตัวก่อนอ่าน ระหว่างอ่าน และการนำความรู้หลังอ่านมาใช้

ความรู้สึกหลังอ่าน ก็ชอบอยู่ระดับนึงนะ

มีหลายเทคนิคที่น่าลองนำมาปรับใช้จริงดู

ด้วยความที่ตอนนี้สนใจเรื่องพวกเทคนิคการอ่านอยู่แล้ว เนื้อหาในเล่มนี้ก็ดูดึงดูดมากขึ้นอีก

.

ถามว่าเหมาะกับใครคงตอบว่า สำหรับคนที่มีปัญหากับการอ่านหนังสือ

อยากอ่านให้เร็วขึ้น อยากอ่านให้เข้าใจมากขึ้น อยากเอาเนื้อหาไปใช้ได้จริง

แต่ถ้าอ่านเพื่อผ่อนคลายเฉย ๆ ข้ามผ่านเล่มนี้ไปเลย

.

ความหนาก็กลาง ๆ ไม่มากเกินไป

เทคนิคไหนรู้แล้ว ก็อ่านสกิมมิ่ง แบบที่หนังสือแนะนำ

แปป ๆ ก็จบแล้ว

.

ส่วนสรุป

ขอเลือก 4 ประเด็นสำคัญที่จากหนังสือ เทคนิคการอ่านให้เอามาใช้งานได้เลย มาเล่าให้ฟังครับ

1) ความเข้าใจผิด 3 ประการที่มีต่อการอ่าน และวิธีแก้

ประการที่ 1: ยิ่งอ่านเร็ว ก็จะอ่านหนังสือได้เพิ่มขึ้น

การอ่านเร็วอาจทำให้เรา ‘รู้สึกว่าได้อ่าน’

แต่ความเข้าใจที่ได้อ่านแปรผกผันไปตามความเร็วที่อ่าน

.

คนที่อ่านเร็วได้ เพราะเขามียีนอ่านเร็วมาแต่กำเนิด

ดังนั้นนอกจากการฝึกอ่านเร็วจะทำได้ยากแล้ว (เปลี่ยนยีนไม่ได้ !)

ยังไม่ได้ผลอีกต่างหาก

.

เทคนิคที่เราควรใช้คือ ‘การอ่านแบบสกิมมิ่ง (skimming)’

ซึ่งมีขั้นตอนง่าย ๆ คือ ตั้งเป้าว่าเราอยากได้อะไรจากหนังสือเล่มนี้

อ่านหน้าปกเพราะเป็นเหมือนสรุปใจความสำคัญ

อ่านสารบัญ และพุ่งตรงไปยังเรื่องที่เรายังไม่รู้ และอยากอ่าน

และลองเลือกอ่านบทใดบทหนึ่งในเล่มที่เราสนใจ อาจเลือกเปิดจากบทที่อยู่ตรงกลางเล่มเอา

.

นอกจากนี้แล้วการเลือกหนังสืออ่านยังมีส่วนสำคัญ ทำให้เราอ่านได้เร็วขึ้นด้วย

จากงานวิจัย เราควรอ่านหนังสือที่เราอ่านได้ลื่นไหล 80% และอ่านแล้วติดขัด 20%

เพราะเป็นหนังสือที่มีระดับความยากเหมาสมและยังพอให้เรารักษาแรงจูงใจเอาไว้ได้

.

ส่วนถ้าเล่มไหนยากเกินไป หรือง่ายเกินไป เราก็ต้องกล้าที่จะโยนทิ้งไป

การเลือกหนังสือที่มีความยากในระดับเหมาะสมยังช่วยให้ปู ‘ความรู้พื้นฐาน’

ที่จะทำให้อ่านหนังสือแนวนั้นในเล่มที่ยากขึ้นได้เข้าใจดีขึ้นด้วย

.

ประการที่ 2: อ่านเยอะ ได้ข้อมูลเยอะ

การอ่านเยอะเกินไป แต่ไม่รู้จะเอาข้อมูลไปใช้ทำอะไรก็อาจไม่เกิดประโยชน์

ในทางกลับกันการอ่านข้อมูลจำนวนไม่มาก แต่เป็นเรื่องที่เราอยากใช้จริง ๆ

อาจมีประโยชน์มากกว่า

.

ดังนั้นการเตรียมตัวก่อนอ่านจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

เราไม่จำเป็นต้องตั้งเป้าว่าจะอ่านให้ได้เยอะ ๆ

แต่ให้ตั้งเป้าว่าเราจะอ่านไปเพื่ออะไร

.

แล้วสุดท้ายข้อมูลที่ได้อาจเป็นประโยชน์กับเรา

หรือเป็นข้อมูลสำคัญที่เอาไว้เชื่อมโยงกับข้อมูลชุดอื่น ๆ ในสมองเราได้

โดยเฉพาะข้อมูลที่มาจากหนังสือหลากหลายประเภท

.

ประการที่ 3: เลือกอ่านแต่หนังสือดี ๆ ที่มีคนแนะนำ

คุณค่าของหนังสือแต่ละเล่มขึ้นกับว่าแต่ละคนจะให้คุณค่านั้นยังไง

และนำความรู้ที่ได้ไปใช้ยังไงต่อ

ซึ่งส่วนใหญ่ทั้งความชอบและการนำข้อมูลไปใช้ของแต่ละคน มันแตกต่างกันอยู่แล้ว

การขอคำแนะนำเพื่ออ่านแต่หนังสือที่คนอื่นบอกว่าดี จึงอาจไม่ใช่คำตอบ

.

นอกจากนี้แล้ว การอ่านหนังสือที่ไม่ได้เรื่องก็อาจมีข้อดีได้เช่นกัน

เพราะเราอาจนำข้อมูลจากหนังสือที่ไม่ได้เรื่องมาต่อยอดได้

.

เช่น ถ้าเป็นหนังสือ howto ที่ไม่มีผลวิจัยรองรับ

เราก็อาจลองเขียนคำวิจารณ์หนังสือเล่มนั้น และถกกับเพื่อนดูว่า วิธีที่ผู้เขียนนำสเนอ เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหร

หรือเราต้องไปอ่านข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสือเล่มมาเพื่อเติมเต็มสิ่งที่ขาดไปในหนังสือเล่มนั้น

.

2) 3 วิธีเตรียมตัวก่อนอ่านที่ช่วยให้อ่านได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

วิธีที่ 1: ใช้แผนที่ความคิด (mind map)

ลองเขียนเหตุผล ประโยชน์ที่จะได้รับ และความคาดหวังจากหนังสือ 1 เล่มมาอย่างละ 3 ข้อ แล้วโยงกันเป็น mind map

เพื่อตั้งเป็นเป้าหมายและรักษาแรงจูงใจให้อ่านให้จบ

วันไหนท้อ หรือขี้เกียจอ่าน ก็ให้กลับมาดู mind map ที่ว่านี้

.

3 คำถามง่าย ๆ ที่อาจช่วยกระตุ้นแรงจูงใจในการอ่าน

1. ทำไมถึงอยากอ่านหนังสือเล่มนี้

2. อยากได้อะไรจากหนังสือเล่มนี้

3. อ่านจบแล้วคาดหวังว่าตัวเองจะเป็นยังไง

.

.

วิธีที่ 2: ช่องว่างของความอยากรู้อยากเห็น (curiosity gap)

หากระดาษมา 1 แผ่น ลองเขียนสิ่งที่ตัวเองรู้ไว้ด้านซ้าย

และเขียนสิ่งที่ตัวเองยังไม่รู้และกำลังอยากรู้ไว้ด้วยขวา

แล้วลองจับคู่เข้าด้วยกัน เราจะเจอช่องว่างของความอยากรู้อยากเห็น

ซึ่งจะช่วยให้เราอยากอ่านหนังสือเล่มนั้นมากขึ้น เพื่อหาคำตอบ

.

ลองจินตนาการดูว่า เรากำลังสนทนากับผู้เขียนหนังสือเล่มนั้น

และเราถามคำถามที่เราอยากรู้ให้ผู้เขียนเป็นคนตอบ

.

เทคนิคการจินตนาการจะกระตุ้นความรู้สึก และทำให้เราจดจำเนื้อหาได้ดีขึ้นด้วย

.

วิธีที่ 3: ทดสอบตัวเอง (self-test)

หาปัญหากับตัวเองว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เราอ่านหนังสือไม่จบ

อาจเป็นเพราะ เรามีแรงจูงใจไม่พอ มีเวลาไม่พอ อ่านคำศัพท์ไม่รู้เรื่อง โฟกัสไม่ถูกจุด

ถ้าเราได้ลองวิเคราะห์ปัญหาแล้ว เราก็คงจะหาวิธีแก้ปัญหาได้ถูกจุดมากขึ้น

.

3) 5 เคล็ดลับการอ่านที่ช่วยให้เข้าใจมากขึ้น

เคล็ดลับที่ 1: อ่านแบบคาดคะแน

เริ่มจากตั้งเป้าหมาย และลองคาดคะแนดูว่ามีเรื่องอะไรที่ผู้เขียนจะนำเสนอ

ไม่ต้องอ่านเรียงจากต้นจนจบ แต่ให้เลือกอ่านจากบทที่ตัวเองสนใจ

.

เคล็ดลับที่ 2: อ่านแบบเห็นภาพ

เปลี่ยนตัวหนังสือให้เป็นภาพ เพื่อช่วยให้เราเข้าใจและจดจำเนื้อหาได้ดีขึ้น

พยายามแต่งเรื่องเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

อาจลองใช้เทคนิค mind map มาช่วย

หรือลองทำในสิ่งที่ชอบ 5-10 นาทีก่อนเริ่มอ่าน จะช่วยให้จดจ่อได้ดีขึ้น

.

เคล็ดลับที่ 3: อ่านแบบเชื่อมโยง

ลองเอาเนื้อหาที่อ่านมาเชื่อมโยงกับเนื้อหาจากเล่มอื่น ๆ ที่เคยอ่านมาก่อน เชื่อมโยงกับประสบการณ์ตัวเอง และเชื่อมโยงกับโลกรอบ ๆ ตัว

จะเป็นการช่วยเพิ่มทั้งความจำและความเข้าใจในเนื้อหาที่อ่าน

.

เคล็ดลับที่ 4: อ่านแบบจับประเด็น

โดยการสรุปเนื้อหาที่อ่านเป็นบท ๆ ไม่จำเป็นต้องอ่านครั้งเดียวหมด

แล้วลองตีวงเนื้อหาให้แคบลงด้วยการใช้คำพูดของตัวเอง

จะช่วยเชื่อมโยงเนื้อหาที่เราอ่านกับเนื้อหาที่เป็นความรู้และประสบการณ์ของเรา จนเข้าใจเนื้อหาได้มากขึ้น

.

เคล็ดลับที่ 5: อ่านแบบตั้งคำถาม

ระหว่างอ่าน ให้ตั้งคำถามไปเรื่อย ๆ จะช่วยให้เราเข้าใจเนื้อหาได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

และยังทำให้เราตั้งใจหาคำตอบจากหนังสืออีกด้วย

.

4) 3 เทคนิคที่ทำให้ความรู้อยู่ติดตัว

เป็น 3 เทคนิคที่จะช่วยให้เราได้เอาข้อมูลที่อ่านไปใช้ และทำให้ข้อมูลติดตัวเราไปนาน ๆ

.

เทคนิคที่ 1: จับใจคนฟังด้วยศัพท์เทคนิค

ลองหาศัพท์สวย ๆ มากระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของผู้ฟัง

และอธิบายในภาษาของเรา ให้เขาเข้าใจ

เป็นการถ่ายทอดข้อมูลให้คนอื่น แต่ก็ช่วยให้เราจดจำเนื้อหาได้ดีขึ้นด้วย

.

เทคนิคที่ 2: ใช้เทคนิค SPICE เพิ่มทักษะการอธิบาย

ทำให้ง่าย - Simplified (S)

ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าได้ประโยชน์ - Perceived self-interest (P)

สร้างความประหลาดใจ - Incongruity (I)

ความมั่นใจ - Confidence ( C)

ความรู้สึกร่วม – Empathy ( E)

.

ดึงสิ่งที่เราได้จากการอ่าน เอามาผสมกับเทคนิค SPICE เพื่อให้เราโน้มน้าวใจผู้ฟังได้มากขึ้น

.

เทคนิคที่ 3: อ่านหนังสือที่ให้ข้อคิด กลุ่มหนังสือคลาสสิค และหนังสือวิทยาศาสตร์

ถ้าใครอ่านหนังสือพวก howto พัฒนาตัวเอง มาระดับหนึ่งแล้วจะค้นพบความซ้ำซากจำเจ

เพราะหนังสือหลายเล่มเอาเนื้อหาจากหนังสือคลาสสิคเช่น นโปเลียน ฮิลล์ หรือ เดล คาร์เนกี

มาสกัด ย่อย และเอามาผสมกับเล่มอื่น ๆ แล้วสุดท้ายหาร 3 จนออกมาเป็น howto เล่มใหม่

.

ดังนั้นแนะนำว่า ให้เราลองอ่านหนังสือคลาสสิคที่เป็นต้นตำหรับความคิดเหล่านั้นเลย

แล้วอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ที่เป็นข้อมูลงานวิจัยใหม่ ๆ เข้าไปสนับสนุนจะดีกว่า

.

......................................................................................................

ผู้เขียน: Mentalist DaiGo

ผู้แปล: ธาลินี โพธิ์อุบล

จำนวนหน้า: 180 หน้า

สำนักพิมพ์: อมรินทร์ How To, สนพ.

เดือนปีที่พิมพ์: 1/2022

แนวหนังสือ: พัฒนาตัวเอง

......................................................................................................

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #เทคนิคการอ่านให้เอามาใช้งานได้เลย




509 views0 comments

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page