
สรุป 9 ข้อคิดสำคัญในการทำงานด้วยศาสตร์และศิลป์
จากหนังสือ เก่งด้วยศาสตร์ ชนะขาดด้วยศิลป์
.
.
1) เข้าใจความต่างของ “ศาสตร์” “ศิลป์” และ “คราฟต์”
“ศาสตร์” คือ การคิดวิเคราะห์และประเมินอย่างเป็นระบบ ใช้ตรรกะแหละเหตุผล
“ศิลป์” คือ การจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้สัญชาตญาณ และความรู้สึก
“คราฟต์” คือ การทำงานด้วยความเชี่ยวชาญ ซึ่งเกิดจากประสบการณ์และความรู้
.
ถ้าเราใช้ “ศาสตร์” ทำงานเพียงอย่างเดียว เราจะสนใจแต่ตัวเลข และปฏิเสธสิ่งอื่นที่พิสูจน์ไม่ได้
ถ้าเราใช้ “ศิลป์” ทำงานเพียงอย่างเดียว เราจะอยู่ในโลกของความเพ้อฝัน
ถ้าเราใช้ “คราฟต์” ทำงานเพียงอย่างเดียว เราจะใช้แต่ประสบการณ์เดิม ๆ จนไม่สามารถคิดสิ่งใหม่ได้
.
ดังนั้นแล้ว เราจึงต้องใช้ทั้งสามอย่างให้ผสมผสานกันอย่างลงตัว และสมดุล
.
.
2) การตัดสินใจที่ดีที่สุดอาจมาจาก “ศิลป์” แล้วใช้ “ศาสตร์” กับ “คราฟต์” สนับสนุน
“ศาสตร์” คือ การตัดสินใจตามการวิเคราะห์ชข้อมูลต่าง ๆ
“คราฟต์” คือ การตัดสินใจจากประสบการณ์ และความล้มเหลวในอดีต
“ศิลป์” คือการตัดสินใจตามความรู้สึก และสัญชาตญาณ
.
ตามตัวอย่างในโลกธุรกิจ เราอาจเห็นว่าผู้นำสูงสุดใช้การตัดสินใจที่นำด้วย “ศิลป์”
หรือตัดสินใจโดยใช้ความรู้สึกของตัวเองนำ และอาจอธิบายออกมาให้เป็นเหตุผลยาก
.
เพราะการตัดสินใจสูงสุดด้วยศิลป์ มักจะก่อให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ซึ่งจะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังต้องการศาสตร์และศิลป์เป็นปีกซ้ายขวาคอยสนับสนุน
เพื่อคอยวางแผนและตรวจสอบให้ไอเดียที่เสนอไป เกิดขึ้นได้จริง
.
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สองพี่น้องที่ก่อตั้ง วอลต์ ดิสนีย์
คนหนึ่งคิดค้นการ์ตูนและเรื่องเล่าสนุก ๆ อีกคนคอยซัพพอร์ตเรื่องการเงินและกฎหมาย
หรือ สตีฟ จ๊อปส์ และจอห์น สกัลลีย์ ที่คนนึงคอยครีเอทไอเดียใหม่ ๆ ในขณะที่อีกคนช่วยเรื่องการบริหารองค์กรให้เติบโต
.
.
3) ถึงจะไม่ได้มีคนศิลป์เป็นผู้นำสูงสุด แต่ก็ควรมอบอำนาจให้เหล่าครีเอทีฟ ได้ทำงานอย่างเต็มที่
ในหลายองค์กร ครีเอทีฟฝั่งศิลป์ถูกกดทับ และถูกดูแคลนจากฝ่ายอื่น ๆ
สิ่งนี้อาจส่งผลกระทบต่อทั้งบริษัท เพราะบริษัทจะไม่มีงานสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ออกมาเลย
.
การบริหารรวมถึงการวางโครงสร้างองค์กรที่ดีจึงต้องมีการมอบอำนาจโดยตรงให้คนสายศิลป์ ให้ไปครีเอทงานใหม่ ๆ
และป้องกันไม่ให้ฝ่ายศิลป์ถูกดูแคลนจากฝ่ายศาสตร์ และคราฟต์ได้
.
.
4) ใช้ “เซ้นส์” ของเราในการตัดสินใจ
จากการเล่นหมากรุกของนักเล่นระดับโลก สิ่งที่่ต่างกันของแชมป์หมากรุก กับนักเล่นมือใหม่ คือการใช้สัญชาตญาณ หรือ “เซ้นส์” ตัดสินการเดินหมากในแต่ละตา
.
จริง ๆ แล้วสุดท้ายเราอาจใช้เซ้นส์ในการตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ มากกว่าที่เราคิด
เช่น ตัดสินใจว่า ชอบหรือไม่ สนุกหรือไม่ ดีหรือไม่ หลังจากได้ลองทำสิ่งต่าง ๆ
สิ่งนี้เองที่เราเรียกว่า “เซ้นส์” หรือการใช้ศิลป์
ซึ่งอาจช่วยให้เราตัดสินใจได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพสูงสุด
.
.
5) เพราะทุกคนอยากเป็นตัวของตัวเอง ศิลป์จึงสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในโลกที่หมุนเร็ว สังคมกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุคที่การบริโภคแสดงถึงตัวตนของแต่ละคน
สินค้าและบริการจึงควรทำมาให้ตอบโจทย์รสนิยมส่วนบุคคลด้วยเชนกัน
.
การตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้จึงต้องอาศัยการเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของลูกค้า
ซึ่งเป็นงานฝั่งศิลป์ เช่น ทำไงให้คนรู้สึกชอบสินค้าชิ้นนี้ ใช้แล้วอยากบอกต่อ หรืออยากซื้อสินค้าชิ้นนี้ไปอวดเพื่อน
ดังนั้นบริษัทไหนที่ยังยึดอยู่แต่การตัดสินใจด้วยศาสตร์ หรือเหตุและผล
ก็อาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้
.
.
6) มองให้ทะลุกฎเกณฑ์ของบริษัท และใช้เซ้นส์ของตัวเองให้มากขึ้น เพราะหลายครั้งที่กฎเกณฑ์ในบริษัทก็เปลี่ยนตามโลกไม่ทัน
แน่นอนว่าการทำงานในบริษัท ยังไงเราก็ต้องอยู่ภายใต้กฎที่ยอมรับร่วมกัน
แต่เราต้องป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกกฎบริษัทบีบบังคับให้ทำอะไรหุนหันพลันแล่น
เราต้องเข้าใจมันให้ดีพอจนไม่ทำผิด
.
แต่เราอาจต้องใช้เซ้นส์ของเราเพิ่มเติมในสถานการณ์ที่มีความซับซ้อน
เพราะหลายครั้งกฎบริษัท หรือแม้แต่กฎหมายก็ไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นไกด์ไลน์ในการแนะนำให้เราตัดสินใจอย่างเหมาะสม
.
.
7) อย่าตีค่าตัวเองด้วยมุมมองแบบศาสตร์เท่านั้น แต่ให้นำอารมณ์ศิลป์เข้าไปในเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตด้วย
เด็กเรียนเก่งหลายคนมักจะตกม้าตายตอนทำงาน เพราะคิดว่าโลกชีวิตจริง ก็เป็นเหมือนเกมที่ต้องชนะไปทีละด่าน
เช่นเดียวกับตอนเรียนในโรงเรียน ที่ต้องสอบให้ได้คะแนนดี ๆ เพื่อได้เกรดดี ๆ เอาไปยื่นเข้ามหาลัย และทำเกรดดี ๆ ต่อไป เพื่อเข้าทำงานในบริษัทใหญ่ .
การทำแบบนั้นไม่ได้สะท้อนความเป็นจริง เพราะการทำงานและชีวิตของเราเองซับซ้อนกว่านั้นมาก
คำแนะนำง่าย ๆ สำหรับเรื่องนี้คือการใช้ชีวิตอย่างมีศิลปะให้มากขึ้น
อย่ามองชีวิตในมิติเดียว แบบการใช้เพียงศาสตร์
ลองมองหาเรื่องสนุกต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ที่ช่วยให้ชีวิตมีสีสัน
.
.
8) นำเซ้นส์ความดีงามมาใช้บ้าง อย่าทำตามคำสั่งโดยไร้ความรู้สึก
เรื่องนี้มีตัวอย่างมากมายในประวัติศาสตร์ที่คนจำนวนหนึ่งทำเรื่องชั่วช้าและเหี้ยมโหด เพียงเพราะทำตามคำสั่ง
พวกเขาปิดกั้นเซ้นความดีงามของตัวเอง และใช้ชีวิตอย่างไม่มีหลักการ
.
เราจึงต้องตระหนักเรื่องนี้ไว้ให้ดี การเป็นส่วนหนึ่งของระบบเป็นสิ่งสำคัญ
แต่เราก็ไม่ควรไหลไปตามระบบทุกอย่าง เราควรใช้ชีวิตอย่างหลักการและยึดมั่นในหลักการของตัวเองอย่างแนบแน่น
.
.
9) 3 วิธีขัดเกลาการใช้เซ้นส์ และศิลป์
1. ดูภาพวาด ดูงานศิลปะ เพื่อฝึกทักษะการสังเกต
ลองนึกถึงแพทย์ที่สามารถสังเกตรายละเอียดเล็ก ๆ จากการพูดคุยกับคนไข้ ทำให้เลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม
เรื่องนี้แม้แต่ AI ก็ยังทำได้ไม่แม่นยำนัก
.
2. อ่านปรัชญา ทำความเข้าใจกับเนื้อหา ขั้นตอนการคิดของนักปรัชญาแต่ละคน และท่าทีของพวกเขา
3. อ่านวรรณกรรม และบทกวี เสริมสร้างจินตนาการ
.
.
.
รีวิวหลังอ่านสั้น ๆ
เป็นหนังสือที่ตอกย้ำความสำคัญของ“ศิลป์” ในการทำงานและการบริหารจัดการได้ดีมาก
โดยเฉพาะในสังคมญี่ปุ่นที่คนส่วนใหญ่ใช้หลักเหตุผลเป็นส่วนประกอบหลักในการตัดสินใจ
รวมถึงให้คำความสำคัญกับความรู้ความเชี่ยวชาญจนอาจมากเกินไป
.
หนังสือเล่มนี้ แบ่งวิธีทำงานและตัดสินใจเป็น 3 แบบหลักคือ ศาสตร์ศิลป์และคราฟต์ตามที่สรุปไว้
และเน้นย้ำความสำคัญถึงการที่คนญี่ปุ่นใช้ศิลป์น้อยเกินไปเมื่อเทียบกับศาสตร์และคราฟต์
.
เดี๋ยวนี้เราอาจเห็นหนังสือแนวนี้เขียนโดยคนญี่ปุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะกระแสเรื่อง AI เข้ามาทดแทนแรงงานและวิธีการทำงานที่เปลี่ยนไปจากการระบาดของCOVID-19
ซึ่งส่วนตัวคิดว่า เหมาะมากกับบริบทสังคมการทำงานของญี่ปุ่น
.
โลกสมัยใหม่ มีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆที่เราจะต้องคิดนอกกรอบและเลิกยึดติดกับวิธีคิดแบบเดิมๆ
เข้าใจว่าการรักษามาตรฐานและการรักษาระเบียบเป็นสิ่งสำคัญ
แต่ในโลกยุคนี้ สิ่งเหล่านี้อาจไม่เพียงพอให้ประเทศแข่งขันได้ถ้าขาดความคิดสร้างสรรค์
.
คอนเซ็ปต์หนังสือเข้าใจง่ายอ่านเพลินๆสนุกๆ
มีตัวอย่างประกอบตลอดเล่ม
ใครสนใจแนวคิดเรื่องความคิดสร้างสรรค์จากคนญี่ปุ่นเล่มนี้เหมาะที่สุดเล่มหนึ่งเลยครับ
.
.
............................................................................................
ผู้เขียน: ยามางูจิ ชู
ผู้แปล: ฉัตรขวัญ อดิศัย
จำนวหน้า: 208 หน้า
สำนักพิมพ์: บิงโก, สนพ.
เดือนปีที่พิมพ์: 2022
............................................................................................
.
.
สั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.

Comments