top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว อ่านงบการเงินด้วยปากกา 3 สี





รีวิว อ่านงบการเงินด้วยปากกา 3 สี

.

‘เรียนรู้วิชาบัญชี 101 ด้วยปากกา 3 สี’

.

การอ่านงบการเงิน น่าจะเป็นเรื่องชวนปวดหัวของใครหลาย ๆ คน

แต่น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคนอยากเรียนรู้มานาน

เพราะการอ่านงบการเงินเป็น นับเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหลายอาชีพ

ตั้งแต่ ช่วยนักลงทุนวิเคราะห์ธุรกิจว่าน่าลงทุนหรือเปล่า

ช่วยผู้บริหารดูผลกำไรจากการดำเนินงาน และอัตรากำไรต่อการลงทุนในสินทรัพย์

หรือแม้แต่กับเราทุก ๆ คนที่ต้องลงทุนในหุ้น เพื่อต่อยอดเงินออมในบัญชี

.

การอ่านงบการเงิน ก็เหมือนการขี่จักรยาน

ตอนแรก ๆ จะรู้สึกยาก ทรงตัวไม่อยู่

แต่พอทำไปนาน ๆ เข้า ประสบการณ์ก็จะช่วยให้เราเก่งขึ้น

การอ่านงบการเงินเองก็เช่นกัน ช่วงแรกจะรู้สึกงุนงง สับสน

แต่พอจับจุดได้ ทุกอย่างก็จะง่ายขึ้นในพริบตา

และต่อไปก็คงอ่านงบการเงินได้คล่อง สบาย ๆ

.

หนังสือเล่มนี้ หยิบเรื่องการใช้ ‘สี 3 สี’

มาช่วยให้เราฝึกอ่านงบการเงินได้สะดวกขึ้น

โดยเล่มนี้นับว่าเป็นขั้นเบสิคมาก ๆ สำหรับคนทั่วไปที่เพิ่งเริ่มต้นทุกคน

น่าจะอารมณ์คล้าย ๆ การลงเรียนวิชาบัญชี 101 ในมหาลัย

.

หนังสือสอนวิธีอ่าน 3 งบการเงินสำคัญในบริษัท คือ

- งบดุล (Balance Sheet: BS)

- งบกำไรขาดทุน (Profit-Loss Statement: PL)

- งบกระแสเงินสด (Cash Flow Statement: CF)

.

ซึ่งงบทั้ง 3 มีความเกี่ยวโยงกันแบบแนบแน่น

และเราจำเป็นต้องอ่านเป็นทั้ง 3 งบ เพื่อให้เข้าใจพื้นฐานการดำเนินการของธุรกิจอย่างครบถ้วน

.

หลังอ่านบอกได้คำเดียวว่า หนังสือเขียนได้อ่านง่ายมาก

อธิบายละเอียดยิบ และเป็นขั้นเป็นตอน

ใครที่ไม่เคยเรียนบัญชีมา ก็เข้าใจได้ไม่ยาก

.

ชอบที่หนังสือใช้ตัวอย่างประกอบเป็น การเปิดร้านพิซซ่า 1 ร้าน

ที่จะต้องมีส่วนประกอบตั้งแต่ ค่าวัตถุดิบ ค่าจ้างเชฟ ค่าลงทุนซื้อเตาถ่าน เงินลงทุนในสินทรัพย์ส่วนอื่น ๆ เงินกู้ยืมจากธนาคาร เงินส่วนของนักลงทุน กำไรสะสมสุทธิ

.

หนังสืออธิบายออกมาได้ชัดเจนมาก

ส่วนประกอบต่าง ๆ ถูกนำไปจัดวางในงบการเงินทั้ง 3 อย่างลงตัว

การใช้สีช่วยให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้นมาก

นอกจากนี้ การจัดวางตำแหน่ง การใช้ตัวอักษร A B C

และภาพประกอบที่เรียงเป็นขั้นตอน ทำให้คนอ่าน อ่านตามได้ง่าย

.

สรุปสั้น ๆ คือเป็นหนังสือที่ทุกคนที่ไม่เคยเรียนบัญชีมาก่อนควรอ่าน

หรือแม้แต่คนที่เคยเรียนบัญชีมาแล้ว แต่ลืมไปหมดแล้ว

มาอ่านเล่มนี้ก็สามารถนำเทคนิคไปใช้ช่วยอ่านงบการเงินได้เหมือนกัน

.

ผู้เขียนเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และเป็นที่ปรึกษาบริษัทขนาดเล็กในญี่ปุ่น

หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรกที่ รวบรวมเทคนิคสำหรับคนอยากอ่านบัญชีเป็น

โดยการใช้ปากกา 3 สี เกิดจากการลองผิดลองถูกของตัวผู้เขียนเอง

.

สิ่งที่ส่วนตัวมองว่า เป็นข้อเสียของหนังสือคือ

ตัวอย่างที่หนังสือใช้ บริษัทที่ยกมาเป็นบริษัทในญี่ปุ่นทั้งหมด

พอการวิเคราะห์งบการเงินเกี่ยวข้องกับความเข้าใจในธุรกิจนั้น ๆ ขั้นพื้นฐาน

ถ้าคนที่ไม่รู้จักบริษัทญี่ปุ่นเหล่านั้น อ่านแล้วอาจงงได้ ทำความเข้าใจตามยากหน่อย

.

อีกอย่างคือเรื่องการใช้ทีมเบสบอลมาเป็นตัวอย่าง

ซึ่งน่าจะมาจากความชอบส่วนตัวของผู้เขียน

แต่เนื่องจากทีมเบสบอลไม่ได้เกี่ยวอะไรโดยตรงกับงบการเงินอยู่แล้ว

เลยเข้าใจยากขึ้นไปอีกขั้น

.

อย่างไรก็ตามนับเป็นหนังสือน่าสนใจสำหรับมือใหม่หัดอ่านงบการเงินทุก ๆ คนครับ

.

ส่วนสรุปค่อนข้างทำออกมาได้ยากมาก เพราะจำเป็นต้องใช้รูปภาพประกอบในการอธิบาย

สรุปส่วนนี้จึงเน้นที่หลักการสำคัญ 5 อย่าง ที่คนอ่านงบการเงินต้องเข้าใจคร่าว ๆ นะครับ

.

1) กฏเหล็ก 4 ข้อของงบดุล

งบดุลคือ งบที่แสดงให้เห็นถึง สินทรัพย์ เงินยืม และทุน ณ ช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง

โดย เราอาจแบ่งเป็น 3 ส่วน

ส่วน A อยู่ด้านซ้าย = สินทรัพย์

ส่วน B อยู่ด้านขวาบน = เงินยืม

ส่วน C อยู่ด้านขวาล่าง = ทุน

.

กฎข้อที่ 1 คือ A = B+C

สินทรัพย์ = เงินยืม + ทุน

ทั้งด้านซ้ายและขวาจะต้องสมดุลกันเสมอ

.

กฎข้อที่ 2 คือ สินทรัพย์ (A) คือ สิ่งที่ได้จากเงิน

หรือได้มาจาก ส่วน B + C นั่นหมายถึงสิ่งของรวมถึงเงินที่เหลืออยู่

.

กฎข้อที่ 3 คือ เงินยืม (B) คือ เงินที่ต้องคืน

ส่วนใหญ่คือ เงินกู้ธนาคารเพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ

.

กฎข้อที่ 4 คือ ทุน (C) คือ เงินที่ไม่ต้องคืน

รวมถึงเงินในการลงทุนก้อนแรก และกำไรสะสม

.

.

2) กฎ ของงบกำไร - ขาดทุน

กฎเพียงข้อเดียวของงบกำไร - ขาดทุน คือ

กำไร คือยอดที่เหลืออยู่จากการนำรายได้มาลบด้วยค่าใช้จ่าย

.

การคำนวณกำไรในงบกำไรขาดทุน อาจแบ่งออกเป็น 5 ขั้น

ตั้งแต่

ขั้นที่ 1: กำไรขั้นต้น

กำไรขั้นต้น หรือ กำไรหยาบ = รายได้/ยอดขาย - ค่าวัตถุดิบสินค้า

.

ขั้นที่ 2: กำไรจากการดำเนินงาน

กำไรจากการดำเนินงาน = กำไรขั้นต้น - ค่าใช้จ่ายในการขาย/บริหาร

.

ขั้นที่ 3: กำไรจากกิจกรรมตามปกติ

กำไรจากกิจกรรมตามปกติ = กำไรขั้นต้น + กำไรอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากธุรกิจหลัก

.

ซึ่งกำไรอื่น ๆ ที่นอกเหนือไปจากธุรกิจหลัก เช่น การที่บริษัทนำสินทรัพย์ไปลงทุนหุ้น และได้รับปันผล

หรือ การที่บริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้

.

ในทางทฤษฎี กำไรจากกิจกรรมตามปกติ อาจมากกว่า หรือน้อยกว่า กำไรจากการดำเนินงาน ได้

.

ขั้นที่ 4: กำไรก่อนหักภาษีเงินได้

กำไรก่อนหักภาษีเงินได้ = กำไรจากกิจกรรมตามปกติ + กำไร/ขาดทุนพิเศษ

.

กำไร/ขาดทุนพิเศษ เป็นเรื่องที่นาน ๆ จะเกิดสักครั้ง

เช่น การที่บริษัทนำที่ดินและอาคารที่ครอบครองไปขาย หรือการเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ

.

ขั้นที่ 5: กำไรสุทธิ

กำไรสุทธิ = กำไรก่อนหักภาษีเงินได้ - ภาษีเงินได้นิติบุคคล

หรือก็คือ

กำไรสุทธิ =กำไรที่เหลืออยู่หลังจากนำรายได้มาหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในบริษัทในรอบ 1 ปี

.

3) รู้จักค่าเสื่อมราคา

ค่าเสื่อมราคา คือ การลดราคาของสินทรัพย์ถาวร

เช่น เครื่องจักร อาคาร หรือ ม้าแข่งพันธุ์ดี

.

ข้อดีของค่าเสื่อมราคา คือการป้องกันความผันผวนของกำไร ที่จะทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจ

เช่น ถ้าม้าพันธุ์ดี สามารถนำมาแข่งได้ 4 ปี

ถ้าปีที่ 4 ต้องขายสินทรัพย์นี้ออกไป กำไรบริษัทก็จะลดฮวบฮาบ

นักลงทุนก็จะขาดความมั่นใจ

การคิดให้ม้าค่อย ๆ เสื่อมราคาในแต่ละปี จะช่วยให้กำไรไม่ผันผวนมากนัก

.

แต่ต้องเน้นย้ำว่า ค่าเสื่อมราคาเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชี ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง

.

4) รู้จักงบกระแสเงินสด 3 ประเภท

งบประแสเงินสดเป็นงบที่เอาไว้ช่ายดูสภาพคล่องทางการเงินของบริษัท

ช่วยให้ดูว่าบริษัทมีเงินสดพอที่ดำเนินธุรกิจต่อหรือเปล่า

และทำให้เห็นชัดเจนว่า ธุรกิจมีเงินไหลเข้าและไหลออกทางไหนและอย่างไรบ้าง

.

1. กระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน

เงินที่ได้มาจากการดำเนินธุรกิจหลัก และจ่ายออกไปเพื่อการดำเนินธุรกิจหลัก

.

มักจะอยู่ในรูป สินทรัพย์หมุนเวียนและหนี้สินหมุนเวียน

.

โดยทั่วไปควรจะเป็น บวก อยู่เสมอ

เพราะหมายถึงรายได้จากการขายสินค้า/บริการ มากกว่าต้นทุน และค่าใช้จ่าย

.

และถ้ากระแสเงินสดตัวนี้ติดลบติดต่อกันหลายปี

ก็จะค่อนข้างอันตราย

.

2. กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน

เงินที่ได้จากการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ตั้งแต่ เครื่องจักร ที่ดิน อาคาร

และเงินที่ได้จากการขายสิ่งเหล่านั้น

.

โดยทั่วไป อาจเป็นลบได้

เพราะบริษัทอาจนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ

.

3.กระแสเงินสดจากกิจกรรมการหาเงิน

เงินที่บริษัทได้มาตอนหาเงินทุน หรือเงินที่จ่ายไปตอนชำระหนี้

.

โดยทั่วไป อาจเป็นลบได้

เพราะนั่นหมายถึงบริษัทมีเงินในการชำระหนี้มากกว่าเงินที่กู้เข้ามา

.

.

5) 3 ประเด็นหลักในการวิเคราะห์งบการเงิน

.

ประเด็นที่ 1: วิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไร

เป็นตัวชี้วัดของนักลงทุน ที่จะบอกว่า ถ้าลงทุนกับบริษัทนี้ จะได้กำไรเท่าไหร่

.

โดยส่วนใหญ่จะดูจากค่า ROE (Return on Equity)

ซึ่งคือ กำไรสุทธิ หารด้วย เงินทุนส่วนของเจ้าของทุน

.

.

ประเด็นที่ 2: วิเคราะห์ความปลอดภัย

เป็นตัวชี้วัดของธนาคารหรือผู้ที่ต้องการปล่อยสินเชื่อ

เพื่อดูว่าบริษัทมีความสามารถในการชำระหนี้มากน้อยแค่ไหรน

.

ตัวชี้วัด คือ อัตราส่วนเงินทุนส่วนของเจ้าของ

ซึ่งเท่ากับ เงินทุนส่วนของเจ้าของทุน หารด้วย สินทรัพย์รวมทั้งหมด (เงินทุนส่วนของเจ้าของ + เงินที่ต้องคืน)

.

.

ประเด็นที่ 3: วิเคราะห์ประสิทธิภาพ

เป็นตัวชี้วัดที่ผู้บริหารมักดู เพื่อตัดสินว่า บริษัทนำสินทรัพย์ไปใช้อย่างให้เกิดประโยชน์และเพิ่มรายได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

.

ซึ่งดูจาก อัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม

ซึ่งเท่ากับ รายได้ หารด้วย สินทรัพย์รวม

.

.

กล่าวโดยสรุปหลักการอ่านงบการเงินยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก

ใครสนใจต้องลองไปซื้ออ่านกันดูอีกทีครับ

.

.

.........................................................................................................................

ผู้เขียน: คินจิ โยะชิดะ

ผู้แปล: ทินภาส พาหะนิชย์

จำนวนหน้า: 240 หน้า

สำนักพิมพ์: วีเลิร์น, สนพ.

.........................................................................................................................

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #อ่านงบการเงินด้วยปากกา 3 สี

.

.






1,581 views0 comments

Commentaires


Post: Blog2_Post
bottom of page