สรุป 15 ข้อคิด จากหนังสือ อวยตัวเองยังไงไม่ให้ดูน่าเกลียด (Brag Better)
.
.
1. รู้จักกลุ่มเงียบแต่ไม่ง่อย
คนกลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่มีความสามารถ เพียงแต่อาจรู้สึกไม่สบายใจที่จะพูดเรื่องตัวเอง
และหลายครั้งจะสงวนท่าทีในการพูดออกไปเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ
.
กลุ่มนี้อยู่ตรงกันข้ามกับพวกพูดโอ้อวดที่ไม่ได้อยู่บนฐานความจริง
โดยมีข้อด้อยหลักคือ การไม่พูดคือการปิดโอกาสดี ๆ สำหรับตัวเองในหลาย ๆ ครั้ง
.
.
2. การอวดให้เก่งขึ้น คือ...
- การใช้ข้อเท็จจริงในการเล่าเรื่องตัวเราและงานของเราที่ได้ทำสำเร็จลุล่วง
- การเพิ่มความมั่นใจในตัวเอง และลดความกังวล
- การพูดเพื่อประโยชน์คนรอบตัว และการทำให้เสียงคนรอบตัวดังขึ้น
- การฝึกคิดอย่างสร้างสรรค์ในการบรรยายตัวเราเอง เพื่อให้เป็นที่จดจำได้
- การรู้ตัวเอง และรู้ว่าเราต้องการโอ้อวดไปเพื่ออะไร หรือเราอยากให้คนอื่นมองเรายังไงหลังจากที่เราโอ้อวดเรื่องตัวเอง
- การขอความช่วยเหลือจากคนอื่นให้สนับสนุนเรา ด้วยความตั้งใจและความรู้สึกขอบคุณ
.
.
3. การอวดให้เก่งขึ้น ไม่ใช่...
- การโกหก หรือพูดเกินจริง
- การส่งเสียงดัง โดยไม่มีเป้าหมายและไม่มีกลยุทธ์ใด ๆ
- การเอาแต่ขอให้คนอื่นช่วย โดยไม่ตอบแทน
- การอิจฉาคนอื่น และใช้คำพูดดึงคนอื่นให้ต่ำลงมา
- การคิดในแง่ลบ และดูถูกตัวเอง
.
.
4. เสาหลักแห่งการอวดให้เก่งขึ้น 1: จงภูมิใจ
เริ่มจากรู้สึกตื่นเต้นไปกับงานและความสำเร็จของตัวเอง
จงภูมิใจในตัวเอง และกระตือรือร้นที่จะเล่ามันออกไปตามข้อเท็จจริง
เพราะถ้าตัวเราไม่ตื่นเต้น ก็คงยากที่คนอื่นจะมาตื่นเต้นไปกับเรา
.
.
5. เสาหลักแห่งการอวดให้เก่งขึ้น 2: จงเสียงดัง
ไม่ใช่เพิ่มเสียงให้ดังขึ้น
แต่หมายถึงการหมั่นแบ่งปันเรื่องราวของตัวเองให้คนอื่นฟังอยู่เสมอ
การงานของเรา แผนการของเรา ความสำเร็จของเรา
ถ้าเราไม่เล่าเรื่องพวกนี้ผ่านคำพูด คนรอบตัวเรา ครอบครัว หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือคนอื่น ๆ ก็จะไม่มีทางรับรู้เรื่องพวกนี้ได้เลย
เราต้องคิดว่าสิ่งที่เราทำนั้นสำคัญ และจะช่วยพวกเขาได้
มันจึงจำเป็นที่จะต้องป่าวประกาศเรื่องของเราออกไป
.
.
6. เสาหลักแห่งการอวดให้เก่งขึ้น 3: จงแยบยล
การพูดโอ้อวดแต่ละครั้งควรทำอย่างมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจน
เพราะถ้าแค่โอ้อวดไปโดยไม่รู้เป้าหมาย ก็ไม่รู้จะทำเพื่ออะไร
ดังนั้นเราต้องรู้จุดประสงค์การพูดโอ้อวดของเราให้ชัดก่อน แล้วคิดกลยุทธ์ที่สอดรับกับเป้าหมายของเรา
เช่น เราอาจต้องพูดเพื่อให้เจ้านายขึ้นเงินเดือน เราอาจต้องพูดเพื่อให้อีกฝ่ายปรับพฤติกรรม เราอาจต้องพูดบนเวทีในงานสำคัญ เป็นต้น
.
.
7. จงอย่าตัดอำนาจด้วยวาจาของตัวเอง
เราควรรู้ว่ามีหลายเรื่องที่ไม่ควรพูด โดยเฉพาะความคิดลบเกี่ยวกับตัวเอง
หรือการพูดเย้าแหย่ตัวเองไปในทางที่ไม่ดี
ที่พอพูดออกไป มักจะทำให้คนถอยห่าง และเป็นการทำลายตัวเองไปในตัว
.
.
8. จงฝึกพูดแบบตรงไปตรงมา
หลีกเลี่ยงการพูดแบบอ้อมค้อม เลี่ยงไปเลี่ยงมา
อย่ากลัวว่าจะถูกมองไม่ดี อย่ากลัวว่าจะเกิดความขัดแย้ง
เพราะการพูดตรงประเด็น ตามความจริงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่า ในสิ่งที่เราต้องการ
.
.
9. ฝึกโอ้อวดในออฟฟิศทุก ๆ วัน
เพื่อเพิ่มความมั่นใจและสร้างความคุ้นชินกับการโอ้อวดตัวเอง เช่น
- ตอนขึ้นลิฟต์แล้วเจอเพื่อนร่วมงาน ก็ให้ลองเล่าสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ หรือปัญหาในการทำงานที่ตัวเองเพิ่งแก้ไป
- ตอนประชุม ลองพูดสิ่งที่ตัวเองสนใจ และแสดงให้เห็นว่าทำไมสิ่งนั้นถึงเป็นสิ่งสำคัญ
- ในอีเมล อาจลองเล่าเรื่องที่เรารู้สึกตื่นเต้นสั้น ๆ สักสามประโยค
- ตอนคุยกับหัวหน้า ก็ให้เล่าสิ่งที่เราทำสำเร็จไปตามตรง
.
.
10. ปรับแต่งสถานการณ์การโอ้อวดให้เหมาะสมกับผู้ฟัง
เพราะเป้าประสงค์ในการโอ้อวดของเราให้แต่ละคนฟังย่อมแตกต่างกัน
และรู้จักปรับปรุงพัฒนาทักษะการพูดและการสื่อสารของตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
.
.
11. บอกตรง ๆ ไปเลยว่า “ฉันอยากถูกจองตัว”
ฉันอยากได้งานนี้ เราต้องหัดแสดงออกมาตรง ๆ ผ่านการพูด หรือผ่านเว็บไซต์ส่วนตัวต่าง ๆ
.
.
12. ฝึกโอ้อวดผ่านช่องทางออนไลน์ไปเรื่อย ๆ
ถ้าอยากเป็นที่รู้จัก อยากให้คนหันสายตามามอง
เราต้องค่อย ๆ สถาปนาตัวเองขึ้นมาให้คนสนใจในจุดนั้นของเรา
โดยใช้ช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์ส่วนตัวหรือโซเชียลมีเดีย
คีย์สำคัญคือความสม่ำเสมอ ในการโพสต์
ให้โพสต์โอ้อวดเรื่องตัวเอง และความสำเร็จตัวเองไปเรื่อย ๆ
เพราะคนไม่มีทางหันมาสนใจตัวเราภายในโพสต์เดียว
.
.
13. อย่าหวั่นไหวไปกับคำวิจารณ์จากผู้ชมปลายแถว
ทุกคนที่เห็นสิ่งที่เราโอ้อวด มีสิทธิในการตัดสินและให้ความเห็นอยู่แล้ว
เราไม่มีอำนาจในการควบคุมเรื่องพวกนี้ได้เลย
แต่ที่สำคัญคือ ถ้าเขาไม่ใช่เป้าหมายในการโอ้อวดของเรา
เราก็ไม่จำเป็นต้องแคร์คนพวกนี้
เราควรสนใจเฉพาะเสียงตอบรับของกลุ่มเป้าหมายที่เราจงใจโอ้อวดงานหรือเรื่องตัวเองให้ฟัง
.
.
14. จงเก็บคำวิจารณ์เมื่อ...
- มาจากแหล่งที่เราเชื่อถือ
- มาจากคนที่เราเคารพและชื่นชม
- มาจากสายอาชีพที่เรากำลังจะตามรอย
- เป็นคำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์และรอบคอบ
.
แต่จงเมินคำวิจารณ์เมื่อ...
- ไม่ได้มาจากคนที่เรารัก มาจากพวกผู้ชมปลายแถว
- ไม่สร้างสรรค์ แค่คำวิจารณ์ที่เกิดจากความเกลียดในตัวเรา
- คนที่เรารักบอกให้เมินคำวิจารณ์พวกนี้ไปซะ
.
.
15. ฉลองให้กับการโอ้อวดของตัวเอง
ชวนคนรอบข้างมาฉลองความสำเร็จไปด้วยกัน
มีบัดดี้ที่ผลัดกันโอ้อวดให้เป็นกิจวัตร
และฝึกฝนการยอมรับคำชมจากคนอื่น
เรื่องพวกนี้จะทำให้เรากลายเป็นคนกล้าโอ้อวดจนเป็นนิสัย
.
.
รีวิวสั้น ๆ หลังอ่าน
โดยรวมแล้ว Brag Better เป็นหนังสือที่เหมาะกับคนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง
ไม่กล้าโอ้อวดความสามารถตัวเองออกมาตรง ๆ
บางครั้งก็พูดอ้อมค้อมเพียงเพื่อจะตอบปากรับคำว่า งานนี้เรามั่นใจว่าเราทำได้
.
อาจไม่น่าแปลกใจมากนักถ้าจะบอกว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่า
เพราะบรรดาผู้ชายนั้นต่างขี้โม้กันอยู่แล้ว
เรื่องการแสดงออกให้เห็นความมั่นใจจึงไม่ใช่อุปสรรคอะไร
ส่วนใหญ่จะมีแต่มากไปด้วยซ้ำ
แต่สำหรับผู้หญิง หลายคนอาจกลัวการต้องโอ้อวดความสามารถของตัวเอง
เพราะอาจถูกมองไม่ดี
หนังสือเล่มนี้ก็เลยมาแนะนำว่าทำยังไง เราถึงจะมั่นใจมากขึ้น และสามารถโอ้อวดตัวเองได้ในวิธีที่ไม่น่าเกลียด
.
โดยรวมหนังสือน้ำเยอะมาก
เนื้อนิดเดียว
ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล่ายาว ๆ สไตล์หนังสือแปลฝรั่งที่ย่อหน้ายาว สรุปใจความยาก
ยังดีว่าเล่มนี้มีตัวช่วยท้ายบทนิดหน่อย
ด้วยบริบทที่เป็นของฝรั่ง บางคำพูดอาจไม่อิน บางสถานการณ์ก็อาจไม่เก็ท
ส่วนเทคนิคที่แนะนำส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่
ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก
.
อาจด้วยตัวหนังสือไม่ได้ตรงจริตตัวผมเท่าไหร่
จำนวน 300 กว่าหน้าจึงหนาไปมากเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้
แต่ถ้าใครรู้สึกไม่มั่นใจตัวเอง อยากจะกล้าพูดโอ้อวดออกมาบ้าง
และไม่กลัวหนังสือแปลฝรั่งหนา ๆ ก็ลองหาอ่านกันดูครับ
.
.
พิกัดการสั่งซื้อ: https://shope.ee/5AIlNN0zRq
.
.
………………………………………………………………………………………………………..
ผู้เขียน: Meredith Fineman (เมเรดิท ไฟน์แมน)
ผู้แปล: ณัชชา บัวกลิ่น
จำนวนหน้า: 320 หน้า
สำนักพิมพ์: นานมีบุ๊คส์, บจก.
เดือนปีที่พิมพ์: 7/2022
………………………………………………………………………………………………………..
.
.
#หลังอ่าน #BragBetter #อวยตัวเองยังไงไม่ให้ดูน่าเกลียด
Commenti