top of page
  • Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว หนังสือ Failosophy


หลักสำคัญของความล้มเหลว 7 ประการ

จากหนังสือ Failosophy

เฟลศาสตร์: เปลี่ยนความผิดพลาดเป็นชัยชนะ

.

1) มองความล้มเหลวอย่างเป็นกลาง

เมื่อล้มเหลว อย่าใส่อารมณ์กับมันมากจนเกินไป

อย่าตัดสินตัวเอง และอย่ากลัว

แต่ให้ลองไตร่ตรองถึงความเป็นจริง คิดวิเคราะห์ และมองอย่างนักสังเกตการณ์

เพื่อหาบทเรียนให้เราก้าวผ่านมันไปให้ได้

.

การที่เราประดังประเดอารมณ์ต่าง ๆ เข้าหาตัวเอง มีแต่จะทำให้ตัวเองเป็นทุกข์

เศร้าโศก ผิดหวัง และไม่รู้ว่าทำยังไงต่อไป

ลองหาร่างแยกของตัวเอง สังเกตการณ์ความล้มเหลว และหาทางทำอะไรต่อไป

.

2) อย่าคิดจากมุมที่แย่ที่สุด

แน่นอนว่า ความสุขของเราเกิดจากมุมมองของเราต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ลบด้วยความคาดหวังในสิ่งที่อยากให้เป็น

หลายครั้งเราผิดหวัง เราจึงมักไม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น

.

แต่ความคิดเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้

มุมมองที่เกิดจากความคิดของเราก็ปรับเปลี่ยนได้เช่นกัน

.

ลองเอาความคิดลบออกไปจากหัว และให้พื้นที่ความคิดใหม่ ๆ บ้าง

ตัวอย่างเช่น

แทนที่จะบอกว่า “สิ่งนี้จบลงแล้ว”

ก็ลองบอกกับตัวเองว่า “สิ่งนี้เคยมีอยู่” หรือ “สิ่งนี้เคยเกิดขึ้น”

.

3) เกือบทุกคนรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวในวัย 20

สาเหตุหลักมาจากประสบการณ์จริงที่ไม่ตรงกับสิ่งที่เราคาดหวัง

หลายคนอาจคาดหวังกับชีวิตในวัย 20 ของตัวเองให้สนุกสุดเหวี่ยง ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่

ออกไปปาร์ตี้กับเพื่อนทุกคืน เอนจอยไลฟ์ ใช้ชีวิตโดยไร้ข้อผูกมัด

และในอีกด้านหนึ่งก็เริ่มมองหาอาชีพที่ใช่ ลงหลักปักฐาน ก่อร่างสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาว และเริ่มเก็บออมเงิน พร้อมลงทุนเพื่อชีวิตวัยเกษียณ

.

บางทีเรื่องพวกนี้มันก็มากเกินไป จนเรารู้สึกเหนื่อย

ความกดดันทั้งจากคนรอบข้าง จากโซเชียลมีเดีย และจากตัวเราเอง ทำให้เราผิดหวังกับชีวิตวัยนี้

.

หลายคนอาจได้ค้นพบว่า ความสำเร็จที่สุดในช่วงวัย 20 ปี คือพวกเขาสามารถก้าวข้ามผ่านมันมาได้

และหลายคนมีวัย 30 หรือ 40 ที่ดีกว่าวัย 20 มาก

เพราะพวกเขารู้จักตัวเองดีขึ้น และใช้ชีวิตได้ฉลาดมากขึ้น

.

4) การเลิกราไม่ใช่โศกนาฏกรรม

แม้การเลิกรา การหย่าร้าง มันจะเป็นสิ่งที่แย่

แต่มันเป็นเหมือนบทเรียนฉบับเร่งรัดให้เรารู้ว่า แท้จริงแล้วเราเป็นใคร และมีส่วนตรงไหนทำให้ความสัมพันธ์ต้องถึงจุดจบ

ถ้าเรามองมันเป็นบทเรียนดี ๆ เราอาจได้พบว่าความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่มี “คุณค่า” มากก็เป็นได้

.

5) มองความล้มเหลวให้เหมือนการเก็บข้อมูล

เปรียบเทียบกับนักวิทยาศาสตร์ที่ทำวิจัยค้นคว้าหาวิธีรักษาโรคร้าย

พวกเขาอาจต้องลองใช้กลยุทธ์มากมายคิดค้นวิธีต่าง ๆ ออกมา

แต่ถ้าวิธีที่เขาลองใช้ไม่ได้ผล เหล่านักวิทยาศาสตร์เหล่านี้จะไม่ได้มองว่าพวกเขาล้มเหลว

แต่เขาจะคิดว่า เขาได้รู้เพิ่มเติมว่า แนวคิดที่เขาทดลองนั้นใช้ไม่ได้

และพวกเขาก็กำลังเข้าใกล้แนวคิดที่ได้ผลมากขึ้นไปอีกก้าวหนึ่ง

.

นั่นหมายความว่า ถ้าเรามองชีวิตเป็นการทำวิจัยเก็บข้อมูล เพื่อให้เราได้เข้าใกล้สิ่งที่เราวาดฝันไว้

ความล้มเหลวก็คือวิธีการที่ไม่ได้ผล และช่วยให้เรากำจัดวิธีที่ไม่ถูกต้องออกไปอีก 1 วิธี

จนเหลือแต่วิธีที่ถูกต้องที่รอเราอยู่ข้างหน้า

.

ความล้มเหลวจึงไม่ใช่สิ่งที่กำหนดตัวเรา แต่เป็นเพียงความรู้ที่ขาดหายไป

ซึ่งถ้าเราเจอสิ่งที่หายไปนั่นแล้ว เราก็จะต่อจิ๊กซอว์ได้ครบ และรู้ชัดเจนว่าตัวเราคือใครกันแน่

.

6) อย่าวาดฝันถึงชีวิตในอนาคตมากเกินไป

เพราะคนส่วนใหญ่มักจะมีภาพอนาคตของตัวเองที่ไม่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง

เช่น อาจคิดว่าตัวเองจะกลายเป็นมหาเศรษฐีได้ตอนเกษียณ

และอีกอย่าง ชีวิตของเรามักพาเราไปอยู่ในจุดที่เราคาดเดาไม่ได้มาก่อน

.

การใช้ชีวิตที่ไม่ต้องถูกอนาคตกำหนดอย่างตายตัว ทำให้เราได้ทำตามสัญชาตญาณและความสนใจของตัวเองในปัจจุบันมากขึ้น

เราจะรู้สึกเป็นอิสระขึ้น และอาจได้ค้นพบตัวเองในทางเลือกที่แตกต่างออกไปจากเดิม

.

ข้อเท็จจริงที่สำคัญที่สุดสำหรับเรื่องอนาคตคือ มันเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นกับเรา

.

7) กล้าเปิดเผยจุดอ่อน เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง

หลายคนมักปกปิดจุดอ่อน หรือความล้มเหลวต่าง ๆ ของตัวเอง

และแสดงออกเพียงด้านที่แข็งแกร่งเท่านั้น

.

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราลองกล้าที่จะแชร์เรื่องราวที่เราล้มเหลวให้คนอื่นรู็

มันอาจเป็นการแสดงความเห็นอกเห็นใจที่ทำให้คนอื่นรู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง

และพร้อมแบ่งปันเรื่องราวความล้มเหลวของพวกเขากลับมาเช่นเดียวกัน

.

แท้จริงแล้ว ความล้มเหลวอาจเป็นตัวเชื่อมมิตรภาพ และความสัมพันธ์ดี ๆ ของเราและคนรอบข้างเอาไว้ก็เป็นได้

.

.

รีวิวสั้น ๆ

หนังสือที่คอนเซ็ปต์ดีมาก ว่าด้วยเรื่องของการแบ่งปันความล้มเหลว

เพราะทุกวันนี้ ในโซเชียลมีเดีย ในข่าว หรือเวลาคุยกับใครก็ตาม

.

เรามักพูดกันแต่เรื่องความสำเร็จ

ให้ต่างฝ่าย ต่างออกมาพูดถึงความสำเร็จของตัวเอง

เพื่อให้บทเรียน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ หรือเพื่ออะไรก็แล้วแต่

แต่หลายครั้ง เราละเลยไปว่า เบื้องหลังความสำเร็จเหล่านั้น มีความล้มเหลวอยู่นับไม่ถ้วน

หรือแม้กระทั่งการที่เราไม่สำเร็จ แต่ต้องอยู่กับความล้มเหลวนั้น ก็อาจนับเป็นงานที่ไม่ง่าย

เพียงแต่ไม่ค่อยมีคนออกมาพูดกันเท่าไหร่

.

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ คุณเอลิซาเบธ เดย์ จึงเกิดไอเดียในการจัดพอดแคสต์ที่จะเชิญแขกมาแบ่งปันความล้มเหลวในชีวิต

ตั้งชื่อรายการตามชื่อตัวเองว่า How to Fail with Elizabeth Day

พอดแคสต์รายการนี้ได้โด่งดังจนกระทั่งมีแขกรับเชิญที่มีชื่อเสียงจากหลายวงการมาร่วมรายการ

เช่น แอนดรูว์ สกอตต์ (ดารา), มัลคอล์ม แกลดเวลล์ (นักเขียนหนังสือชื่อดังหลายเล่ม), เคลลี่ โฮล์มส์ (นักกีฬาโอลิมปิก) และเจมี เลง (เจ้าของรายการทีวี)

หนังสือ Failosophy เป็นหนังสือสรุปบทเรียนการจัดการกับความล้มเหลวที่ เอลิซาเบธ เดย์ ได้ตกผลึกจากการจัดรายการ และพูดคุยกับแขกรับเชิญมาตลอด

.

ความรู้สึกหลังอ่าน รู้สึกหนังสือสั้นไปนิด เนื้อหาไม่ค่อยเยอะ

แต่มีใจความสำคัญบางอย่างที่น่าสนใจ

แต่ส่วนตัวที่ชอบที่สุดคงหนีไม่พ้นคอนเซ็ปต์หนังสือ ที่ว่าด้วยเรื่องความล้มเหลวแบบจัง ๆ

ไม่ใช่ความล้มเหลวเบื้องหลังความสำเร็จ

.

เพราะตัวผมเองก็เชื่อว่า เราไม่รู้ว่าเราจะสำเร็จตามที่เราต้องการรึเปล่า

แต่ชีวิตของเราต้องเจอความล้มเหลวแน่นอน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับบาดแผล และก้าวผ่านมันให้ได้

.

ยังไงถ้าพอมีเวลา ลองหาอ่านกันดูครับ หนังสือเล่มบาง ๆ อ่าน 1-2 ชั่วโมงก็จบแล้ว

.

.

……………………………………………………………………………………….

ผู้เขียน: เอลิซาเบธ เดย์

ผู้แปล: นัทธมน เปรมสำราญ

จำนวนหน้า: 138 หน้า

สำนักพิมพ์: อมรินทร์ How To, สนพ.

เดือนปีที่พิมพ์: 1/2022

ชื่อเรื่องต้นฉบับ: Failosophy

……………………………………………………………………………………….

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #Failosophy



35 views0 comments
Post: Blog2_Post
bottom of page