
10 เทคนิคจัดระเบียบความคิด เพื่อเพิ่มโอกาสสำเร็จให้ชีวิต
จากหนังสือ สมองแห่งความสำเร็จของนักจัดระเบียบความคิด
.
.
1. การจัดระเบียบทางความคิด เป็นเคล็ดลับเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ
มีตัวอย่างซีอีโอมากมายที่ทำงานได้อย่างฉับไวและมีประสิทธิภาพ เพียงเพราะจัดระเบียบความคิดในหัวเป็น
เมื่อซีอีโอเหล่านี้ฝึกจัดระเบียบความคิดในหัวอย่างเป็นประจำแล้ว
การตัดสินใจของเขาก็ทำได้รวดเร็ว เมื่อมีไอเดียใหม่ จึงคิดออกทันทีว่าต้องโทรหาใคร
.
นอกจากนี้แล้ว การจัดระเบียบความคิดยังเป็นขั้นแรกในการนำไปสู่การลงมือทำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
และถ้าลงมือทำอย่างต่อเนื่องแล้ว ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน
.
.
2. หลักการจัดระเบียบความคิด สามารถใช้หลัก “แจก-จำ-จัด” ได้เหมือนการจัดบ้าน
โดยเริ่มจาก การ “แจกแจง” สิ่งที่ต้องทำทั้งหมดออกมาก่อน
จากนั้นก็เริ่ม “จำแนก” ประเภทสิ่งที่ต้องทำ เช่นเรื่องงาน เรื่องเรียน เรื่องในบ้าน เรื่องครอบครัว
สุดท้ายจึงเริ่ม “จัดลำดับความสำคัญ” ให้กับสิ่งที่จำแนกไว้
ถ้าเรื่องไหนสำคัญและเร่งด่วนก็ทำก่อน แต่ความจริงแล้วถ้าเราจัดระเบียบชีวิตดี ๆ เราจะไม่เจอสำคัญที่เร่งด่วนเลย
.
.
3. เทคนิคการจัดระเบียบความคิด 3 ประเภทที่ควรใช้ควบคู่กันไป
1) เขียนบรรยาย - เพื่อให้เก็บรายละเอียดของข้อมูลให้ได้มากที่สุด
2) เขียนสรุปย่อ - เพื่อให้เข้าใจประเด็นสำคัญ และมองเห็นภาพรวม
3) เขียนเป็นภาพ - เพื่อให้เข้าใจเนื้อหาได้ชัดเจนมากขึ้น
.
นักจัดระเบียบความคิดที่ดี จะทำทั้งสามอย่างควบคู่กันไป เพราะแต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน
.
.
4. กลยุทธ์การเขียน mind map ด้วยการเชื่อมโยง 4 แบบ
แบบที่ 1: เชื่อมโยงแบบหลวม หรือแบบอ้อม
เช่น “หมาสีน้ำตาล น้ำตาลคือถุงกระดาษ ถุงกระดาษไว้ดื่มกาแฟ กาแฟทำให้สดชื่นตอนเช้า เช้าง่วงนอน....” ทำแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ
วิธีการเชื่อมโยงแบบหลวม ๆ แม้จะดูหาความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ยาก แต่บางครั้งก็อาจทำให้เราคิดเดียใหม่ ๆ ออก ด้วยการนำสิ่งไกล ๆ มารวมเข้าด้วยกัน
.
แบบที่ 2: เชื่อมโยงแบบแข็งแกร่ง
เป็นการคิดเชื่อมโยงสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน หมวดหมู่เดียวกัน โดยอาจเริ่มจากส่วนหลักที่กว้างก่อน แล้วค่อย ๆ ไล่ไปที่ส่วนย่อย
เช่น เริ่มที่อาหาร และต่อด้วย ราเมง ข้าวเหนียวไก่ย่าง ข้าวเหนียวหมูปิ้ง สำตำ น้ำตก พิซซ่า สปาเกตตี้ เป็นต้น
.
แบบที่ 3: เชื่อมโยงแบบคล้ายคลึง
เป็นการหาของสองสิ่งมาเชื่อมกันด้วยวิธีการอุปมา และอุปลักษณ์
อุปมา คือใช้คำแต่งเติมข้อความด้วย การบอกว่าสิ่งนั้น “เหมือน ราวกับ ดั่ง ประดุจ” เช่น สวยเหมือนนางฟ้า อร่อยเหมือนอดอาหารมาหลายวัน โกรธเหมือนโดนใครต่อยหน้ามา
ส่วนอุปลักษณ์ เป็นการเปรียบเทียบของสิ่งหนึ่ง กับอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งเน้นคุณสมบัติที่เหมือนกันภายในไม่ใช่ภายนอก
เช่น สมาร์ทโฟนเหมือนอวัยวะชิ้นที่ 33 อยู่กับแฟนตัวติดกันเหมือนปาท่องโก๋ เป็นคู่ดูโอ้กันมานานเหมือนวงลิปตา
.
แบบที่ 4: เชื่อมโยงแบบตรงกันข้าม
คือคิดในสิ่งที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง เช่น มีบนก็มีล่าง มีวิกฤตก็มีโอกาส มีเกิดขึ้นก็มีดับไป
.
.
5. บริหารเวลาแบบไครอส (Kairos) แทนแบบโครนอส (Chronos)
โครนอส (Chronos) เป็นการใช้เวลาเชิงปริมาณ เหมือนเวลาที่เราวัดว่าผ่านไปแล้วกี่นาที กี่ชั่วโมง
เช่น วันนี้ทำงาน 8 ชั่วโมง นอน 7 ชั่วโมง เป็นต้น
ไครอส (Kairos) เป็นการใช้เวลาเชิงคุณภาพ จะเกิดขึ้นเมื่อเรามีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งตรงหน้า
แล้วตั้งใจทำมันอย่างเต็มที่ เราจะดื่มด่ำกับสิ่งนั้นนานจนลืมเวลาบนหน้าปัด
ช่วงเวลาแบบนี้อาจเกิดขึ้นในตอนที่เราอยู่กับคนรัก ได้อ่านหนังสือเล่มโปรด หรือเล่นกีฬาแล้วเพลิน
เราอาจไม่รู้ว่าเวลาผ่านไปเท่าไหร่แล้ว แต่ความรู้สึกที่ได้จะอิ่มเอมมาก
.
ถ้าเราใช้เวลาแบบไครอสในแต่ละวัน เราจะพบว่าชีวิตเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่ละวันผ่านไปอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่แค่ผ่านไปตามหน่วยวัดเวลาเฉย ๆ
.
.
6. 5 จุดเช็คพ็อยต์ในการเขียน To Do List ที่ดี
1) จำแนกหมวดหมู่สิ่งที่ต้องทำ
2) จัดลำดับความสำคัญ
3) กำหนดเดดไลน์ให้ชัดเจน
4) ระบุผู้รับผิดชอบให้ชัดเจน
5) นำ To Do List ไปติดไว้ หรือวางไว้ในจุดที่ทุกคนมองเห็นได้ง่าย
.
.
7. แบ่งเวลาในที่ทำงานด้วยหลักการ 70:15:10:5
1) ทำงานหลัก 70% ด้วยใจจดจ่อ - เพื่อเพิ่มผลิตภาพ (productivity) และคุณภาพของผลงาน
2) ลงทุนไปกับงานเพื่อนอนาคต 15% - เพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับงานในอนาคต หมั่นพัฒนาความสามารถของตัวเองอยู่เสมอ
3) งานครั้งเดียว 10% ต้องควบคุม – เช่นงานประชุม ต้องทำให้มีประสิทธิภาพ ต้องไม่เสียเวลาในการประชุมไปเปล่า ๆ
4) งานเสริม 5% ที่ต้องลดทอน - เพราะเป็นงานที่ไม่ได้ช่วยสร้างคุณค่าใด ๆ แต่ต้องทำเพื่อส่งเสริมให้ทำงานหลักได้ งานประเภทนี้ต้องพยายามทำให้เป็นอัตโนมัติ หรือทำอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
.
.
8. จัดระเบียบเป้าหมายด้วยการคิดแบบย้อนกลับ (Backcasting)
การพยากรณ์ย้อนกลับ (Backcasting) ตรงกันข้ามกับการพยากรณ์ไปข้างหน้าแบบปกติ (forecasting)
ทั้งสองวิธีมีข้อดีข้อเสียที่ต่างกัน
โดยการพยากรณ์ไปข้างหน้า (forecasting) จะเน้นการใช้ข้อมูลในอดีต มาวิเคราะห์และทำนายผลลัพธ์ในอนาคต ซึ่งอาจทำให้เรายึดติดกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตและอาจไม่ได้เกิดไอเดียใหม่ ๆ
.
ในขณะที่การพยากรณ์ย้อนกลับ (Backcasting) จะเริ่มจากการตั้งเป้าหมายในอนาคตไกล ๆ ก่อน อาจเป็นหลัก 10 ปี แล้วค่อย ๆ มองกลับมาเป็นเป้าหมายระกลาง 3-5 ปี และคิดกลับมาเป็นเป้าหมายภายในปีนี้
การคิดแบบย้อนกลับมีข้อดีตรงที่เราไม่จำเป็นต้องยึดติดกับข้อมูลในอดีต และสามารถออกนอกกรอบความคิดแบบเดิม ๆ ได้ อาจเหมาะกับคนที่กำลังต้องการวิธีการใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา
แต่ก็มีข้อเสียคือการที่อาจไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง
.
.
9. หมั่นคิดทบทวนปัญหา 3 แบบอยู่เสมอ
แบบที่ 1: ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว
เป็นปัญหาที่มองเห็นได้ชัด เพราะความยุ่งยากได้เกิดขึ้นแล้ว เช่น สอบตก ยอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง ลูกน้องลาออก
ปัญหาประเภทนี้ต้องได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที และวิเคราะห์หาสาเหตุเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในครั้งถัดไป
.
แบบที่ 2: ปัญหาที่เกิดจากการสำรวจ
เป็นปัญหาที่ยังไม่เกิดขึ้น แต่มีแนวโน้มว่าจะเกิดถ้าเรายังไม่ตัดสินใจทำอะไร
ปัญหาประเภทนี้มักซ่อนอยู่ มองเห็นได้ไม่ชัด แต่ถ้าเราสำรวจดี ๆ ก็จะระบุมันออกมาได้
เช่น กระดูกสันหลังที่เริ่มคดงอจากการนั่งทำงานติดต่อกันนานเกินไป ยอดขายที่เริ่มลดลงเพราะลูกค้าเปลี่ยนแพลตฟอร์มการช็อปปิ้งของออนไลน์ รถยนต์ที่ใช้ที่อาจนั่งไม่พอถ้ามีลูกเพิ่ม
.
แบบที่ 3: ปัญหาที่กำหนดขึ้น
ปัญหาประเภทนี้เกิดจากการกำหนดเป้าหมายของตัวเองขึ้นมา แต่เป้าหมายเหล่านั้นจะกลายเป็นปัญหาถ้าเราไม่วางแผนที่จะทำให้ตัวเองบรรลุเป้าได้
เช่น การตั้งเป้าอยากมีคนตาม Youtube 1 ล้านคน อยากเก็บเงินให้ได้ 10 ล้านบาท อยากเพิ่มยอดขายให้บริษัท 20%
.
เราไม่ควรโฟกัสไปที่ปัญหาแบบที่ 1 เพียงอย่างเดียว
แต่ควรหมั่นสำรวจปัญหาแบบที่ 2 ที่มองเห็นได้ยาก และหมั่นให้ความสำคัญกับปัญหาแบบที่ 3 ที่เกิดจากเป้าหมายของเราเองด้วย
.
.
10. ออกจากหลุมพรางการคิดแก้ปัญหาแบบ How
เมื่อเจอปัญหา หลายคนมักเอาแต่คิดว่า “จะแก้ปัญหาอย่างไร”
ซึ่งหลายครั้งทำให้เราวิเคราะห์ปัญหาผิดพลาด และมองไม่เห็นแก่นแท้ของมัน
เช่น การที่เงินไม่พอใช้ ก็คิดจะแก้ด้วยวิธีประหยัดเพียงอย่างเดียว
แบบนี้อาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดี เพราะการที่เงินไม่พอ เราอาจใช้วิธีหาเงินเพิ่มได้ ด้วยการสร้างรายได้ทางอื่น หรือพัฒนาความสามารถของตัวเองให้เหมาะสมกับเงินเดือนที่มากขึ้น
.
ดังนั้นเมื่อเจอปัญหา ลองถอบมา 1 ก้าวแล้ววิเคราะห์ดี ๆ ก่อน
อย่าเพิ่งรีบคิดแต่ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรตั้งแต่แรก
.
.
รีวิวสั้น ๆ หลังอ่าน
เป็นหนังสือรวมเทคนิคจัดระเบียบความคิด ส่งตรงจากเกาหลี โดยนักเขียนเลื่องชื่อด้านจัดระเบียบความคิด พกจูฮวัน
ต้องบอกว่าหนังสือพกเครื่องมือและเทคนิคในการจัดระเบียบความคิดมาแบบจัดเต็มมาก
หลายเครื่องมือหนังสือบรรยายได้ละเอียด จนยากที่จะสรุปมาลงโพสต์ได้
.
ถ้าใครอยากรู้จักเครื่องมือช่วยให้เราเรียบเรียงความคิดตัวเองได้ดีขึ้น
คิดอย่างเป็นระบบ และลงมือทำอย่างมีแบบแผนมากขึ้น ยังไงก็ลองหยิบเล่มนี้มาอ่าน แล้วเลือกเครื่องมือที่ตัวเองสนใจไปใช้ดูครับ
.
.
.......................................................................................
ผู้เขียน: พกจูฮวัน
ผู้แปล: สุมาลี สูนจันทร์
จำนวนหน้า: 272 หน้า
สำนักพิมพ์ : อมรินทร์ How To
เดือนปีที่พิมพ์: 8/2022
ชื่อเรื่องต้นฉบับ: I Will Organize Your Thoughts
.......................................................................................
.
.
สั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.

Comments