7 กระบวนท่าหาเงิน 100 ล้านเยนด้วยการพึ่งพาคนอื่น
จากหนังสือ ศาสตร์แห่งการพึ่งพาคนอื่น
.
.
1) ใช้สมองของคนอื่น แทนสมองของตัวเอง
การใช้สมองของตัวเอง เป็นการคิดต่อยอดจากสิ่งที่เดิมที่ตัวเองรู้
สิ่งที่ได้จึงอาจขาดความแปลกใหม่
ต่างจากการใช้สมองของคนอื่นให้เกิดไอเดียแปลกใหม่ ที่อาจช่วยแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้
.
การจะพึ่งสมองคนอื่นได้ เราต้องเริ่มจากการ ขัดเกลา ‘ทักษะการค้นหา’ และ ‘ทักษะการตั้งคำถาม’
เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ
.
แต่เราต้องไม่ลืมที่จะสร้างสัมพันธ์อันดีกับคนอื่น ซึ่งเริ่มจากให้ในสิ่งที่อีกฝ่ายอยากได้
และต้องค่อย ๆ สร้างชื่อเสียงของตัวเองขึ้นมาด้วย เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ
เช่น การลองสร้างสื่อของตัวเองขึ้นมา ถ้าไม่รู้จะเขียนอะไร ก็อาจเอาความเชี่ยวชาญของคนอื่นมากลองเรียบเรียงดู แต่ระวังอย่าขโมยผลงานโดยตรงเด็ดขาด
.
.
2) ใช้เวลาของคนอื่น แทนเวลาของตัวเอง
เวลาของคนเราเป็นสิ่งที่มีจำกัด เรามีเพียง 24 ชั่วโมงใน 1 วัน
ไม่ว่าจะทำยังไงก็ไม่อาจเพิ่มเวลาตรงนี้ได้
ยกเว้นว่าเราจะใช้เวลาของคนอื่น ซึ่งอาจจะช่วยให้เรามี 240 ชั่วโมง หรือ 2,400 ชั่วโมงใน 1 วันได้
.
วิธีที่ตรงไปตรงมาที่สุดคือ การเผยแพร่ความรู้ของตัวเองผ่านบล็อก ผ่าน Youtube และหนังสือ
เครื่องมือพวกนี้ทำให้เราเข้าถึงคนจำนวนมากได้ โดยใช้เวลาทำงานเพียงครั้งเดียว
.
ส่วนเวลาของเรา 24 ชั่วโมง เราก็ต้องวางแผนการใช้ดี ๆ
อาจเขียนกำหนดการที่ชัดเจนลงใน Google Calendar เพื่อให้รู้ว่าตัวเองมีงานอะไรสำคัญ ๆ ที่ต้องทำบ้าง
และพยายามเลือกใช้เวลาไปกับสิ่งที่ตัวเองถนัดที่สุด
สิ่งไหนที่ไม่ถนัดและให้คนอื่นทำได้ ก็พยายามโยนออกไป
.
.
3) ใช้เงินของคนอื่น แทนเงินของตัวเอง
สิ่งหนึ่งที่คนมักเข้าใจผิดคือ ต้องรอให้มีเงินก่อน ถึงจะลงมือทำตามความฝันได้
แต่ความจริงแล้ว เราต้องมีความฝันก่อน ตัวเราถึงจะดึงดูดเงินเข้ามา
เหตุผลสำคัญที่ซัพพอร์ตเรื่องนี้คือ ถ้าเราไม่มีฝัน ตัวเราเองก็จะไม่ได้รับแรงกระตุ้นที่มากพอในการออกไปหาเงิน
.
การจะใช้เงินของคนอื่นได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องไปยืมเงินของคนอื่นโดยตรง
แต่เราสามารถสร้างระบบ ‘แลกเปลี่ยนโนว์ฮาว’ ที่เหมือนการแลกเปลี่ยนการเป็นที่ปรึกษาซึ่งกันและกัน
.
นอกจากนี้ถ้าอยากระดมทุนจากคนอื่นจริง ๆ
เราต้องเน้นไปที่ ‘การสร้างความเชื่อใจ’ ให้อีกฝ่ายรู้ว่าเราเป็นคนพูดจริงทำจริง
.
.
4) ใช้มือเท้าของคนอื่น แทนมือเท้าของตัวเอง
จำไว้ว่า ‘คนรวยสร้างระบบ คนจนทำงานในระบบ’
เราต้องสร้างระบบขึ้นมา ให้เราไม่ต้องทำงาน active อยู่ตลอดเวลา
.
สิ่งสำคัญคือการเริ่มจากการโฟกัสไปที่สิ่งที่ ‘เราทำได้ดี และชอบทำ’
พยายามขัดเกลาให้เราทำได้ดียิ่งขึ้นไปอีก
ส่วนสิ่งที่เราไม่ชอบ หรือทำได้ไม่ดี ก็ต้องหาคนอื่นมาช่วยทำ
โดยต้องพยายามมองให้ออกว่า สิ่งที่คนอื่นชอบ และได้ผลประโยชน์ต่อตัวพวกเขาคืออะไร
.
.
5) ใช้พลังงานของคนอื่น แทนพลังงานของตัวเอง
จงจำไว้ว่า อัตราการบรรลุเป้าหมาย เพิ่มขึ้นตาม ‘ปริมาณรวมของพลังงานความมุ่งมั่น’
นั่นหมายความว่า ถ้าเรารวมพลังงานความมุ่งมั่นได้มากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะมีโอกาสในการบรรลุเป้าหมายใหญ่ได้มากขึ้น
ซึ่งพลังความมุ่งมั่นนั้นก็มาจากคนหลาย ๆ คนนั่นเอง
.
โดยเราต้องเริ่มจากการสร้างพลังงานในตัวเองก่อน
อาจลองหยิบยืมความมั่นใจของคนที่สำเร็จมาเพิ่มความมั่นใจของตัวเอง
กำหนดฝันของตัวเองให้ใหญ่เกินตัว และลองสัญญากับตัวเองในอนาคตดู
.
หลังจากจัดการกับตัวเองเรียบร้อย ก็ลองไปคบหากับคนที่มีจริตเหมือน ๆ กัน
และปล่อยแต่พลังงานด้านบวกเข้าหากัน เพื่อเสริมพลังรวมให้มากขึ้น
.
จำไว้ว่าระหว่างทาง เราต้องคอยรักษาพลังงานด้านบวกไว้ให้มั่น และป้องกันไม่ให้พลังงานด้านลบเข้าครอบงำ
การฉลองความสำเร็จเป็นระยะก็เป็นวิธีช่วยให้เราและคนรอบตัวดูดพลังงานบวกเข้าสู่ร่างกายได้
.
.
6) ใช้คอนเนคชั่นของคนอื่น แทนคอนเนคชั่นของตัวเอง
มองหาคอนเนคชั่นที่เราสามารถคบกันไปได้ยาว ๆ หลักเกิน 10 ปี
พยายามอย่าคิดว่าว่าจะเอาประโยชน์ในระยะสั้นจากคอนเนคชั่นของเรา
เราต้องมองให้ยาว และค่อย ๆ สั่งสมความเชื่อใจในความสัมพันธ์ไปเรื่อย ๆ
.
ส่วนวิธีการหาคอนเนคชั่นใหม่ ๆ ก็เริ่มจากการคิดก่อนว่า ‘เพื่อนของเพื่อน ก็คือเพื่อนของเรา’
และพยายามสร้างและรักษาความเชื่อใจในตัวเพื่อนทุกคนที่เรามีอยู่เสมอ
เพราะพอเจอคนใหม่ ๆ เพื่อนก็จะรู้สึกว่า เราเป็นคนที่น่าเชื่อใจ ควรค่าแก่การแนะนำ
.
7) ใช้สิ่งของของคนอื่น แทนสิ่งของของตัวเอง
เลิกคิดอยากครอบครองสิ่งของ !!
เติมเต็มความรู้สึกอยากแบ่งปันแทน และกล้าที่พูดว่า ‘ขอยืม’ จากเพื่อน
.
ยังมีอีกหลายวิธีในโลกยุคใหม่ ที่เราสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องอาศัยสิ่งของของตัวเอง
เช่น การทำงานใน co-working space หรือ virtual office เป็นต้น
.
.
รีวิวสั้น ๆ
เป็นหนังสือที่ตอกย้ำความคิดที่ว่า การทำอะไรคนเดียวตลอดนั้นยากที่จะสำเร็จได้
เราต้องรู้จัก ‘พึ่งพาคนอื่นบ้าง’
แต่ก็ไม่ใช่การเอาแต่พึ่งพาคนอื่น จนทำอะไรเองไม่เป็น
เราต้องทำทั้ง 2 อย่างควบคู่กันไป โดยอาศัย ‘จุดแข็ง’ ของตัวเองมาจับคู่ร่วมทำงานไปกับจุดแข็งของคนอื่น
.
หนังสือเขียนจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียน ซึ่งทำหน้าที่เป็นอาจารย์สอนธุรกิจควบคู่ไปกับงานบริหารสถาบันการศึกษาและอาชีพนักเขียน
ช่วงอายุ 20 ปลาย ๆ เขาหาลูกค้าแทบไม่ได้ ทำให้รายได้ที่มีต่ำมาก จนถึงขั้นว่าต้องไปทำงานพาร์ทไทม์ชั่วโมงละ 900 เยน
เขาจึงลองตรวจสอบตัวเองหาสาเหตุและค้นพบว่า ‘เขาพายามทำทุกอย่างด้วยตัวเอง’ มากเกินไป
.
พอเขาลองพึ่งพาคนอื่นให้มากขึ้น กระจายงานออกไป หาเทคนิคย่นระยะเวลาในการทำให้เกิดผลลัพธ์ปลายทาง
ในที่สุดตอนอายุไม่ถึง 35 ปี เขาก็หารายได้ได้มากกว่า 100 ล้านเยนต่อปี
และที่สำคัญกว่านั้นเขาใช้เวลากว่าครึ่งเดือนในทุก ๆ เดือนไปเที่ยวรอบโลกกับภรรยาของเขา
เรียกได้ว่าเขาสร้างระบบธุรกิจที่อยู่ตัว และสร้างช่องทางหารายได้ไว้หลายทางจนกระทั่งตัวเขาไม่ต้องอยู่ดูแลตลอดได้
.
โดยรวมเนื้อหาเรื่องการพึ่งพาคนอื่นก็น่าสนใจดี
แต่ก็ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่มาก
หนังสืออาจเหมาะกับคนพวกหนึ่งที่พึ่งพาตัวเองมากเกินไป
เหมือนทำงานอยู่คนเดียว จนร่างกายพัง สุขภาพเสีย
ใครสนใจลองมาหาอ่านเพลิน ๆ ได้ครับ
.
.
............................................................................................................
ผู้เขียน: โคบายาชิ มาซายะ
ผู้แปล: ปาวัน การสมใจ
จำนวนหน้า: 192 หน้า
สำนักพิมพ์ : วีเลิร์น, สนพ.
............................................................................................................
.
.
สั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.
Comments