รีวิว วิธีพูดกับคน เพื่อรับมือหรือโต้กลับ ทุกสถานการณ์พูด และไม่ให้เสียเปรียบ หรือตกเป็นรองใคร
โดยใช้ศิลปะ "ทังก์ฟู"
.
‘ทังก์ฟู คือ ศิลปะการต่อสู้ภายในใจ เวลาที่ต้องรับมือกับสถานการณ์ที่ถูกทำร้ายด้วยคำพูด เพื่อลดอาการบาดเจ็บของทั้งตัวเรา และคู่สนทนา’
.
คำว่า ‘ทังก์ฟู’ เลียนแบบมาจากคำว่า ‘กังฟู’ ซึ่งแป็นศิลปะการต่อสู้ของประเทศจีน ที่เน้นการพัฒนาจากภายใน และมีจุดประสงค์เพื่อลดอาการบาดเจ็บจากการถูกจู่โจมด้วยคู่ต่อสู่
.
ทังก์ฟู (Tongue-fu) เป็นศิลปะการต่อสู้ที่เกิดภายในจิตใจเช่นกัน โดยพัฒนาขึ้นเพื่อปลดชนวนความขัดแย้ง ขจัดอารมณ์ขุ่นเคือง ลดแรงประทะ และหันเหความสนใจไปจากสิ่งที่ถูกโจมตีอยู่
.
ทังก์ฟูจึงเป็นเหมือนปรัชญาสำคัญในการดำเนินชีวิต เพราะเมื่อเรามีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ย่อมมีโอกาสที่จะได้เจอกับสถานการณ์ความขัดแย้ง
วิธีการสื่อสารของเราจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก
และอาจช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีกับทุกคนทั้งในเวลางานและนอกเวลางาน
นอกจากนี้ศิลปะทังก์ฟูยังอาจช่วยให้เกิดความร่วมมือ ลดความขัดแย้ง
ลดความโกรธภายในจิตใจ ทำให้เรารู้สึกมีเมตตาต่อผู้อื่น แม้จะถูกทำไม่ดีด้วยก็ตาม
สุดท้ายแล้วทังก์ฟูอาจเป็นศิลปะที่ช่วยให้เรามรีความสุขและสงบมากขึ้นจากปฏิสัมพันธ์อีกดีกับคนอื่น
.
หนังสือศิลปะทังก์ฟูเล่มนี้เขียนขึ้นโดย แซม ฮอร์น ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการพูด และเป็นคนที่เคยจัดอบรมให้กับองค์กรชั้นนำมากมาย
ตลอดทั้งเล่มรวบรวมเทคนิคดี ๆ ที่สะท้อนปรัชญาของทังก์ฟูอยู่ตลอดเล่ม
.
แม้หนังสือจะตีพิมพ์มานานมากแล้ว แต่เนื้อเรื่องยังทันสมัยอยู่
เพราะตราบใดที่เรายังต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่เจอสถานการณ์ที่รับมือได้ยาก
ทังก์ฟูจึงยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่เสมอ
.
ยิ่งในยุคที่ชีวิตคนเร่งรีบกันมากขึ้น หลายคนหัวร้อนง่าย
เจอคนพูดไม่ดีมา ก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ
ถ้าเราได้เรียนรู้วิธีพูดที่จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้ ก็อาจช่วยบรรเทาความหัวร้อนลงได้
.
จริง ๆ แล้วหลายเทคนิคของศิลปะทังก์ฟูก็เป็นเรื่องที่เรารู้ ๆ กันอยู่แล้ว
เพราะใต้จิตสำนึกของเรา ล้วนอยากให้เกิดความปรองดอง และสร้างสัมพันธ์อันดีกับคนอื่น
แต่หลายครั้งเราขาดสติ ทำทุกอย่างไปตามอารมณ์
หลายครั้ง คำพูดแย่ ๆ ที่เราปล่อยออกไปเลยทำให้สถานการณ์โดยรวมแย่ลงด้วย
และสุดท้ายคนที่โดนผลลัพธ์นั้นเต็ม ๆ ก็เป็นเราเอง เพราะพอมีเรื่องแย่ ๆ เกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ของเรากับใครอีกคน
เราเองนั่นแหละที่เป็นฝ่ายทุกข์ใจ
.
เพราะฉะนั้นแล้ว การได้อ่านหนังสือทังก์ฟูติดไว้ จึงเป็นเครื่องเตือนความจำชั้นดี
ว่าเราควรมีสติ และเลือกใช้คำพูดที่เหมาะสมในแต่ละสถานการณ์
เพื่อบรรเทาความแรงปะทะ และทำให้สถานการณ์ยาก ๆ ได้คลี่คลาย
.
หลังอ่านต้องยอมรับว่า หนังสือเขียนสนุกมาก
เป็นคู่มือ howto วิธีการพูดที่เล่าตัวอย่างได้น่าสนใจ
และมีบทสรุปเป็นคำแนะนำที่ใช้ได้จริง
ผมชอบที่หนังสือแบ่งออกเป็นบท ๆ อ่านเข้าใจง่าย
มีคำคมโดนใจแทรกอยู่ตลอดเล่ม
และมีการเปรียบเทียบการใช้คำพูดที่ต่างกันใน 2 สถานการณ์ให้เห็นชัดเจนว่า
การใช้คำพูดที่ต่างกันมันนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง
.
โดยรวมแล้วเป็นหนังสือคลาสสิคด้านเทคนิคการพูดที่เขียนได้เข้าใจง่าย และนำไปใช้ได้จริง
ส่วนตัวรู้สึกอ่านสนุกกว่า How to win friend and influence people มาก ทั้ง ๆ ที่เป็นหมวดหนังสือเดียวกัน
และมีเรื่องน่าสนใจมากกว่าหนังสือแปลญี่ปุ่นอีกหลายเล่ม
ยังไงต้องหาตำเก็บไว้นะครับเล่มนี้
.
สุดท้ายผมขอยก 10 เทคนิคของศิลปะทังก์ฟูที่ชอบในเล่มมาฝากกันนะครับ
.
1) เลือกจะเป็นคนที่เข้าอกเข้าใจผู้อื่น
ศิลปะทังก์ฟูมีพื้นฐานอยู่ที่ เรื่องของการฝึกตนให้เป็นผู้มีเมตตาและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
เพราะศิลปะทังก์ฟูเชื่อว่า
การเลือกที่ปฏิบัติต่อคนที่มีพฤติกรรมไม่ดีด้วยความเห็นอกเห็นใจแทนการตอบโต้ด้วยความขุ่นเคือง
จะช่วยเปลี่ยนศัตรูมาเป็นมิตร
และจะทำให้เกิดความรู้สึกดีกันทั้ง 2 ฝ่าย
.
.
2) คุยกับคนผ่านปัญหาของเขา
ลองนำวิธีการของนักบำบัดมาใช้ เพื่อช่วยให้คนที่กำลังทุกข์รู้สึกดีขึ้น
สิ่งแรกคือ นักบำบัดจะไม่บอกให้คนไข้เลิกคิดถึงสิ่ง ๆ นั้น หรือให้ความเห็นของเขาลงไปในเรื่องของคนไข้
แต่นักบำบัดจะพยายามถามคำถามคนไข้ ให้เล่าเรื่องออกมาให้ได้มากที่สุด
และพยายามสะท้อนคำพูดของคนไข้ในรูปแบบของเขาเองเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น
.
เช่น คนไข้พูดว่า ‘ผมไม่มีเพื่อนเลย’
นักบำบัดก็จะพูดว่า ‘คุณรู้สึกว่าตัวเองไม่มีเพื่อนเลย’
เขาจะไม่พูดว่า ‘ไม่หรอก คุณมีเพื่อนอยู่แล้วน่า’
.
สิ่งนี้คือเทคนิคการสะท้อน ซึ่งช่วยให้อีกฝ่ายได้ลองคิดไตร่ตรองและเข้าใจถึงสิ่งรบกวนจิตใจของตัวเอง
การใช้ความเห็นอกเห็นใจจะช่วยให้อีกฝ่ายสามารถปลดปล่อยความเครียดในจิตใจออกมา
อีกฝ่ายจะรู้สึกว่ามีคนเข้าใจตัวเอง
และจะค่อย ๆ หาทางคลี่คลายปัญหานั้นด้วยตัวเอง
.
.
3) ใช้เทคนิค AAA จัดการกับการร้องเรียน
เมื่อมีคนมาร้องเรียน หรือโวยวายกับสิ่งที่ตัวเองไม่พอใจ
เราอาจลองใช้เทคนิค AAA ดู เพื่อทำให้อีกฝ่ายสงบลงได้บ้าง
1. Agree - แสดงความเห็นด้วยว่าอีกฝ่ายพูดถูก
2. Apologise - ขอโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา
3. Act - ลงมือแก้ไข
.
สิ่งสำคัญคือ จงอย่าไปอธิบายว่าทำไมถึงเกิดความผิดพลาดขึ้น
เพราะนั่นจะยิ่งทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจเข้าไปใหญ่
เช่น ในกรณีที่มีคนไข้เดินมาโวยวายใส่เจ้าหน้าที่ที่หมอที่นัดไว้เหลด
1. Agree - เห็นด้วยว่าเขาพูดถูก เขาได้นัดหมอไว้ตอนบ่าย 3
2. Apologise - ขอโทษที่หมอมาช้า เพราะหมอติดเคสผ่าตัดอยู่
3. Act – ลงมือแก้ไขโดยการโทรไปสอบถามว่าหมอใกล้เสร็จรึยัง แล้วขอบคุณที่คนไข้อดทนรอ
.
.
4) หลีกเลี่ยงการพูดเกินจริง
คำพูดที่เกินจริง จะทำให้เกิดการตอบกลับแบบเกินจริงเช่นกัน
ตัวอย่างคำพูดที่เกินจริง เช่น ‘ทุกครั้ง’ ‘ทั้งหมด’ ‘ประจำ’ ‘ไม่มีใครเลย’
.
เรื่องนี้มักเกินขึ้นเวลาที่เราไม่พอใจการกระทำของอีกฝ่าย แล้วพยายามจะต่อว่า
แม่อาจบอกลูกว่า ‘ลูกลืมให้อาหารแมวเป็นประจำเลย ลูกอยากให้มันอดตายหรือไง’
.
การพูดลักษณะนี้เป็นการพูดที่เกินจริงไปมาก และอาจทำให้อีกฝ่ายโรกธและโต้กลับอย่างรุนแรงได้
เราจึงควรพูดให้เจาะจง และระบุให้ชัดเจน พร้อมทั้งถามหาสาเหตุ
เช่น ‘ลูกลืมให้อาหารแมวเป็นครั้งที่ 3 แล้ว พอบอกได้มั้ยว่าเกิดอะไรขึ้น’
นอกจากจะเป็นการป้องกันการโต้กลับอย่างรุนแรงจากอีกฝ่ายแล้ว ยังเป็นการถามหาสาเหตุของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอีกด้วย
.
หรือถ้ามีคนมาต่อว่าเราแรง ๆ แบบใช้คำเกินจริง เช่น ‘ทำไมเธอสกปรกอย่างนี้ เธอไม่เคยทำความสะอาดห้องเลยหรือไง’
เราก็อาจใช้วิธีตอบเป็นการทวนคำถามที่เกินจริงนั้นกลับไป เช่น ‘ฉันไม่เคยทำความสะอาดห้องเลยจริงหรือ’ แล้วเลิกคิ้วกลับ
อีกฝ่ายก็จะได้ตระหนักว่าตัวเองพูดกินจริงไป และมีการอธิบายกันด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงตามมา
.
.
5) สร้างความน่าสนใจด้วยเทคนิค LLL
เทคนิคนี้เป็นเทคนิคช่วยทำให้เรากลายเป็นผู้ฟังที่ดีมากยิ่งขึ้น
เราควรเพิ่มความสนใจในเรื่องที่ผู้พูดกำลังพูด
โดยเทคนิค LLL นี้ อาจช่วยกระตุ้นความสนใจของเราได้
1. Look - มองคู่สนทนา
อย่าทำอย่างอื่นไปด้วยในระหว่างที่ฟัง
.
2. Lift – เลิกคิ้ว
สบตาคู่สนทนา และแสดงสีหน้าที่บ่งบอกความสนใจ
เราอาจแสดงความสงสัยออกมา เพื่อบอกอีกฝ่ายให้รู้ว่ากำลังสนใจสิ่งที่อีกฝ่ายพุดอยู่
.
3. Lean – โน้มตัวไปข้างหน้า และแสดงท่าทางว่าเราอยู่ที่นี่เพื่อฟังอีกฝ่าย
.
.
6) กฎการประชุม 3 ข้อที่น่านำไปใช้
การประชุมจำนวนมากมักเสียเวลาเปล่า และไม่ได้อะไร
เพราะมีการพูดออกนอกเรื่อง หรือการโต้เถียงกันอย่างไม่จบไม่สิ้น
การกำหนดกฎการประชุมขึ้นมาอาจช่วยให้ทุกฝ่ายบรรลุจุดประสงค์ได้ง่ายขึ้น
1. พูดได้ทีละคน
ประธานที่ประชุมต้องพยายามไม่ปล่อยให้มีการพูดแทรก และโต้เถียงกัน
อาจจะใช้วิธี ผายมือไปที่คนที่กำลังพูด แล้วบอกให้หยุดรอจนกว่าทุกคนจะพร้อมฟังผู้พูด
.
2. ผู้เข้าประชุมสามารถพูดได้ 1 ครั้ง ต่อ1 วาระการประชุม
เป็นการป้องกันไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่งครอบงำการประชุม
และช่วยให้ได้ฟังความเห็นของคนอื่น ๆ ที่อาจขี้อาจไม่ค่อยกล้ายกมือ
.
3. พูดได้ครั้งละไม่เกิน 2 นาที
เพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันการพูดเยิ่นเย้อ นอกเรื่อง ไร้สาระ
.
.
7) ให้ทางเลือกและปล่อยให้เขาตัดสินใจ
ในสถานการณ์ที่เราต้องเจอกับความท้าทายในการตัดสินใจและเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น
จงหลีกเลี่ยงที่จะยื่นข้อเสนอเพียงด้านเพียงแบบเดียว และทำเหมือนว่าได้ตัดสินใจเลือกทางนั้นไปแล้ว
เพราะถ้าเรายื่นแค่ทางออกเดียว คนที่เกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบมักจะต่อต้านเราเสมอ
นั่นก็เพราะเขาไม่ได้เป็นคนตัดสินใจทางเลือกนั้นด้วยตัวเอง
.
วิธีที่ดีกว่าคือการนำเสนอทางเลือก 2 ทาง
พูดข้อดีข้อเสียของทั้ง 2 ทาง แล้วให้พวกเขาตัดสินใจเอง
.
ในที่ประชุมก็อย่ายื่นทางแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียว ให้เตรียมทางเลือกไว้ 2 ทาง
แล้วปล่อยให้คนในห้องประชุมเลือกกันต่อเอง
.
ถ้าเป็นตอนเสนอขายสินค้า ก็ให้ลูกค้าเลือกสัก 2 อัน แล้วถามว่าชอบอันไหนมากกว่ากัน
ถ้าจะเลื่อนวันนัด ก็อย่าเสนอไปแค่เวลาเดียว ให้เสนอไป 2 วันเวลา และให้อีกฝ่ายเป็นฝ่ายเลือกตัดสินใจ
ถ้าจะยกเลิกตั๋วคอนสิร์ต ก็ถามลูกค้าว่าสนใจรับคืนเป็นเงิน หรือจะเอาเป็นดูคอนเสิร์ตในรอบถัดไปแทน
เป็นต้น
.
โดยรวมแล้ววิธีนี้จะทำให้คนที่เกี่ยวข้องชอบมากกว่า เพราะพวกเขาเป็นคนตัดสินใจเอง
.
.
8) ใช้หลักการโน้มน้าว 5 ประการ
เวลาจะโน้มน้าวใครให้ทำตามที่เราต้องการ มีทริคอยู่ 5 ขั้นตอนง่าย ๆ ดังต่อไปนี้
1. เข้าสู่สถานการณ์นั้นด้วยความคาดหวังในทางบวก
เพราะการมองโลกในแง่ลบ ไม่เคยทำให้ใครชนะในสนามรบ
.
2. คาดการณ์และพูดถึงสิ่งที่เขาจะโต้แย้ง
คาดการณ์ไว้ก่อนว่าอีกฝ่ายอาจบอกปฏิเสธ และเตรียมข้อเสนอทางออกจากคำปฏิเสธนั้น
.
3. จงลำดับขั้นตอน และให้ตัวอย่างในแต่ละขั้นตอน
จะช่วยให้ผู้ฟัง เห็นภาพตามได้ง่าย และช่วยให้จดจำประเด็นข้อมูลได้ดีมากขึ้น
.
4. ทำให้เขาได้ความต้องการของเขา และใช้ภาษาเดียวกับเขา
หลีกเลี่ยงที่จะบอกว่า ‘ผม/ ฉันคิดว่า...’
แต่ให้เน้นไปที่ประโยชน์ที่อีกฝ่ายจะได้รับ ถ้าทำตามข้อแนะนำของเรา
.
5. โน้มน้าวพวกเขาให้ลองใช้ความคิดของคุณ
หลีกเลี่ยงการกดดัน หรือบับบังคับ เพราะไม่มีใครที่ชอบการบีบบังคับ
แต่ให้ใช้วิธีการบอกเล่า อธิบาย และตั้งคำถาม เพื่อให้อีกฝ่ายเห็นภาพเดียวกับเรา
ถ้าเขามองเห็นภาพเดียวกับเราเองโดยไม่ถูกบังคับ พวกเขาก็จะไม่ต่อต้าน และกระตือรือร้นที่จะทำตามภาพที่เห็น
.
.
9) เราพาใครกลับมานั่งร่วมโต๊ะทานข้าวด้วยรึเปล่า
ลองนึกถึงเรื่องของพยาบาลสาวคนหนึ่ง
วันหนึ่งเธอต้องเข้าห้องผ่าตัดร่วมกับหมอนิสัยแย่คนหนึ่ง
หมอคนนั้นตำหนิเธออย่างรุนแรงต่อหน้าเพื่อนร่วมงานหลายคน
และเยาะเย้ยเธอ ทั้ง ๆ ที่เธอเพียงแค่ส่งมีดให้หมอช้าไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
.
พยาบาลสาวคนนั้นเก็บเอาเรื่องนี้กลับไปที่บ้าน
เธอหัวเสียมากระหว่างนั่งรถกลับบ้าน และเมื่อถึงบ้านก็กระแทกประตูตู้เย็นอย่างรุนแรง
และก็ยังระบายเรื่องนี้ออกมาต่อหน้าสามีเธออีก
.
สามีจึงเรียกสติเธอกลับคืนมา
ว่าสรุปแล้ว ใครกันแน่ที่ทำให้เธอประสาทเสีย
หมอในห้องผ่าตัดเมื่อตอนเช้าวันนั้น หรือตัวเธอเอง?
.
แท้จริงแล้ว ตัวพยาบาลสาวเองอาจเป็นคนอนุญาตให้หมอนั่งรถกลับมาด้วย
อนุญาตให้หมอเข้าบ้าน และอนุญาตให้หมอมานั่งร่วมโต๊ะทานข้าวด้วยกัน
ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วหมออาจลืมเรื่องนี้ไปแล้วด้วยซ้ำ
.
ดังนั้นแล้ว หลายครั้งตัวเราเองนั่นแหละที่ยินยอมให้คนแย่ ๆ กลับมานั่งทานข้าวเย็นกับเรา
จงจำไว้ว่า ‘ไม่มีใครทำอะไรเราได้ ถ้าหากเราไม่ยินยอม’
อย่าพาคนที่ทำให้เราอารมณ์เสียกลับบ้านเลย
ทิ้งเขาไว้ที่ตรงนั้นซะ เหมือนที่ต่อมาพยาบาลสาวคนนั้นก็เลือกทิ้งหมอนิสัยแย่คนนั้นไว้ที่โรงพยาบาล
.
.
10) จงตื่นขึ้นมาเพื่อรับรู้ความน่าพิศวง
เราต้องรู้จักรักษาพลังบวกของเราเข้าไว้
เพราะมันส่งผลอย่างมากต่ออารมณ์ของเรา
และการรับมือสถานการณ์ยาก ๆ
.
มีหลายวิธีที่จะช่วยฝึกเราให้เป็นคนคิดบวก
เราอาจซื้อปฏิทินสวย ๆ มาติดไว้บนผนังครับ
เราอาจตื่นแต่เช้า แล้วออกไปเดินรับแสงแดด
เราอาจเขียนบันทึกเรื่องดี ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างมื้ออาหารเช้า มันอาจเป็นเรื่องขำขันเล็ก ๆ
แต่ก็ทำให้เรายิ้มได้เมื่อบันทึกมันลงสมุด
เราอาจเขียนบันทึกแรงบันดาลใจจากภาพยนต์ที่ดู
และอาจบันทึกอารมณ์ความรู้สึกดี ๆ ที่ได้รับแสงแดดอ่อน ๆ
.
จงหมั่นใช้เวลา 10 นาทีของทุกวัน จดเรื่องราวดี ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน
เราต้องหมั่นเพิ่มพลังบวก เพื่อชดเชยเรื่องราวไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นที่เราต้องแบกรับเอาไว้
.
.
……………………………………………………………………………………………
ผู้เขียน: แซม ฮอร์น
ผู้แปล: เสถียร เทศทอง, อมรวรรณ เทศทอง
จำนวนหน้า:304 หน้า
สำนักพิมพ์: บี มีเดีย, สนพ.
เดือนปีที่พิมพ์: 12/2019
ชื่อเรื่องต้นฉบับ: Tongue Fu! : How to Deflect, Disarm, and Defuse Any Verbal Conflict
……………………………………………………………………………………………
.
.
สั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.
Comentarios