top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว วิชาธุรกิจที่ชีวิตจริงเป็นคนสอน 2




9 บทเรียนของโลกธุรกิจ ที่ชีวิตจริงเท่านั้น ถึงจะสอนเราได้

จากหนังสือ วิชาธุรกิจที่ชีวิตจริงเป็นคนสอน 2

The Little Book of Business 2

.

.

รีวิวสั้น ๆ

สุดยอดคัมภีร์ธุรกิจขนาดกะทัดรัดเล่มที่ 2

ส่งตรงจากพี่ปิ๊ก ธรรศภาคย์ เลิศเศวตพงศ์ เจ้าของเพจ Trick of the Trade และหนึ่งในผู้จัดพอดแคสต์ Mission to the Moon

.

ต้องบอกว่า เนื้อหาเล่มนี้อัดแน่นมาก

อาจจะมากกว่าเล่มที่ 1 ด้วยซ้ำ

เพราะมีการใช้การยกตัวอย่างเปรียบเทียบมากมาย มาช่วยอธิบายหลักแนวคิดในการทำธุรกิจ

ซึ่งต้องบอกเลยว่า ‘มีเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน เพียบ!!!’

.

ยิ่งสำหรับคนที่ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน หรือมีประสบการณ์การทำธุรกิจไม่มาก จะยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า

เล่มนี้ช่วยได้เยอะมาก เพราะเนื้อหาสอนให้เราเข้าใจพื้นฐานเรื่องธุรกิจ และการบริหารงานภายใน

ในแบบที่ไม่ต้องมีหลักวิชาการอะไรมากมาย

แต่ทุกตัวอักษรถูกกลั่นกรองมาจากประสบการณ์จริงของผู้เขียน รวมถึงเรื่องราวในโลกธุรกิจที่ผู้เขียนได้ประสบพบเจอมา

.

วิชาธุรกิจที่ชีวิตจริงเป็นคนสอน 2 เป็นหนังสือรวมบทความเล่มที่ 2 จกาพี่ปิ๊ก

ซึ่งพี่ปิ๊กเขียนขึ้นในช่วงปลายปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการระบาดของโควิดระลอกใหม่ แต่ก็อยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านที่ธุรกิจในหลายอุตสาหกรรมต้องปรับตัวกันมาก

ทำให้เนื้อหาที่ตกผลึกออกมามีความเข้ากับยุคสมัย

บทเรียนที่พี่ปิ๊กฝากไว้ จึงสามารถหยิบจับนำไปใช้ได้ทันที

.

เนื้อหาแบ่งออกเป็น 4 หมวด ตามหัวข้อใหญ่ ๆ ที่ควรรู้ในการทำธุรกิจ

ได้แก่ Mindset, Skill sets, Strategy และ Action

.

ขนาดเล่มก็กำลังดี พกพาง่าย ความยาวเกือบ ๆ

300 หน้าก็ไม่หนาเกินไป และที่สำคัญอ่านเพลินมาก

ชอบภาษาสไตล์พี่ปิ๊กมาก คือตรงไปตรงมา ห้วน ๆ แต่ได้ใจความ

อ่านแล้วจะอยากอ่านบทต่อไปเรื่อย ๆ บางทีก็วางไม่ลง

ตัวผมเองอ่านไปลืมมองเวลา ผ่านไปอีกทีก็เกินครึ่งเล่มละ

.

ยังไงเล่มนี้แนะนำให้ทุกคนที่สนใจธุรกิจลองหาอ่านกันดูนะครับ

.

สรุปสั้น ๆ 9 บทเรียนบทโลกธุรกิจ ที่ต้องให้ชีวิตจริงเท่านั้นมาเป็นผู้สอน

1) 7 เหตุผลต้องห้ามในการเริ่มทำธุรกิจ

ถ้าใครอยากเริ่มต้นทำธุรกิจด้วยเหตุผล 7 ข้อต่อไปนี้ บอกได้เลยครับว่าไม่น่ารอด

.

เหตุผลที่ 1: อยากรวย อยากได้เงินเยอะ ๆ ไว ๆ

จริงอยู่ที่ธุรกิจอาจทำเงินให้ได้ปริมาณมหาศาล

แต่ธุรกิจก็อาจทำให้เราขาดทุนได้มหาศาลเช่นกัน

.

แต่ประเด็นคือการโฟกัสกับกำไรมากเกินไป อาจทำให้เราเลือกกลยุทธ์ที่ส่งผลเสียกับตัวสินค้าและบริษัทของเราในระยะยาว

เช่น การเพิ่มราคาสินค้าแบบไม่ลืมหูลืมตา หรือการลดคุณภาพของสินค้าลง เพียงเพื่อรักษากำไรไว้

สุดท้ายแนวคิดแบบนี้ทำให้ลูกค้าขาดความเชื่อถือ และอาจนำมาซึ่งความบรรลัยของธุรกิจได้

.

เหตุผลที่ 2: แค่ชอบและสนใจในธุรกิจนั้น

จริงอยู่ที่ ความชอบ และความสนใจจะสร้างความได้เปรียบในการธุรกิจได้มากมาย

แต่อย่าลืมว่า เราต้องมีทักษะอื่นมาประกอบด้วย

เช่น ทักษะการบริหารเงิน ทักษะการบริหารคน ทักษะการเจรจาต่อรอง

ถ้าขาดทักษะพวกนี้ ธุรกิจเราก็ไปไม่รอดเหมือนกัน

.

เหตุผลที่ 3: แค่ชำนาญในเรื่องที่ทำอยู่ จึงอยากเปลี่ยนมาเป็นธุรกิจ

ความเก่ง ความชำนาญในเรื่อง ๆ หนึ่ง ก็อาจไม่เพียงพอให้เราทำธุรกิจให้สำเร็จได้ ถ้ายังขาดความชำนาญในเรื่องอื่น ๆ อยู่

.

เหตุผลที่ 4: เริ่มทำเพราะเชื่อว่า ‘คนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้’

ประโยคนี้แม้จะเหมาะกับการสร้างแรงบันดาลใจในการลงมือทำและการพัฒนาตัวเอง

แต่ถ้าจะเริ่มธุรกิจด้วยคำพูดนี้ เราก็อาจไปไม่รอด

เพราะคำว่าคนอื่นทำได้ มีปัจจัยอีกมากมายหลายอย่างที่เราอาจไม่รู้ซ่อนอยู่เบื้องหลัง

เช่น เขาอาจดวงดี เขาอาจมีคอนเนคชั่นเยอะ เขาอาจมีฐานลูกค้าตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ เขาอาจมีทีมงานที่ดีคอยซัพพอร์ตในด้านการตลาดและการบริหารงานอื่น ๆ

.

ถ้าเราขาดปัจจัยพวกนี้ไป เราก็คงสำเร็จได้ไม่เท่าเขา

.

เหตุผลที่ 5: อยากเอาชนะคำดูถูก

ในบางครั้งคนที่มาดูถูก หรือห้ามเราไว้ไม่ให้เริ่มทำธุรกิจ อาจมองเห็นอะไรบางอย่างที่เราไม่เห็นก็ได้

เช่น เราอาจไม่เหมาะกับธุรกิจนี้จริง ๆ หรือ ธุรกิจที่จะทำมีแนวโน้มที่จะตายสูงอยู่แล้ว

.

เหตุผลที่ 6: ตามกระแส

บางทีเทรนด์การบริโภคของตลาดก็มีขาขึ้นขาลง ถ้าเราเข้ามาทันตอนตลาดยังเป็นขาขึ้นก็คงยังพอทำกำไรได้

แต่หลาย ๆ คนเข้ามาช้าเกินไป ตอน ‘ตลาดกำลังจะวาย’ ซึ่งมีแต่ผู้ขายไม่มีผู้ซื้อ เพราะเทรนด์การบริโภคเปลี่ยนไปแล้ว

ถ้าเป็นแบบนี้ธุรกิจเราก็คงไปไม่รอดแน่นอน

.

เหตุผลที่ 7: อยากมีอำนาจ อยากกุมบังเหียนงานทุกอย่างด้วยตัวเอง

หลายคนอาจไม่พอใจงานประจำ เพราะรู้สึกบริษัทไม่ถูกกับสไตล์ของตัวเอง หรือรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถจะดำเนินการเรื่องทั้งหมดได้ โดยไม่ต้องพึ่งคนอื่น

.

ประเด็นคือ ตอนเราทำงานบริษัท งานที่รับผิดชอบอาจจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ส่วน

แต่พอทำธุรกิจ เรามีงานที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นมาก

งานที่เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าต้องทำตอนทำงานบริษัท เราก็ต้องทำเองด้วยตอนทำธุรกิจ เช่น งานบัญชี งานโลจิสติกส์ การวางบิลเก็บเงิน การขออนุญาตราชการ การจัดการเรื่องภาษี

ถ้าเราทำหมดนี้ไม่ไหว ก็คงต้องเปลี่ยนใจไม่ลาออกมาอาจจะดีกว่า

.

.

2) เหตุผลดี ๆ ที่สนับสนุนว่าทำไมเราถึงควรเริ่มทำธุรกิจ

แบ่งเป็นด้าน ความคิด และความสามารถ

ด้านความคิด

1. อยากใช้ชีวิตที่มีความหมาย อยากตอบโจทย์ว่าตัวเองเกิดมาทำไม

2. อยากทดสอบความรู้ตัวเอง

3. อยากพิสูจน์ความเชื่อของตัวเอง

4. อยากเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ

5. อยากมีอิสรภาพในการใช้ชีวิต อยากมีเวลาเป็นของตัวเอง (แต่ต้องมีวินัยด้วยนะ)

6. อยากมีรายได้ตามความสามารถ เพราะเชื่อว่าตัวเองมีความสามารถมากกว่างานบริษัทที่รับผิดชอบอยู่

7. อยากเป็นผู้มอบสิ่งดี ๆ ให้สังคม

8. อยากมีความรู้สึกตื่นเต้น และท้าทาย

9. อยากเอาตัวเองออกจากสถานการณ์เครียดและกดดันในที่ทำงาน

10. อยากสร้างโอกาสด้วยตัวเอง

.

.

ด้านความสามารถ

1. มีความสุขกับการใช้เวลากับสิ่งที่ทำ

2. เข้าใจว่าหัวใจของธุรกิจที่ช่วยทำเงินอยู่ตรงไหน

เช่นจะทำธุรกิตอาหารก็ต้องทำอาหารให้ อร่อย สะอาด คุณภาพดี คงเส้นคงวา

3. คิดสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น หรือต่างจากเดิมได้

4. เห็นโอกาสเอาธุรกิจจากต่างประเทศมาลองทำในไทย

5. ทำแบบลองผิดลองถูกได้โดยไม่เบื่อ เพราะธุรกิจต้องมีการปรับตัวอยู่เรื่อย ๆ

6. มีเงินสำรองเพียงพอ ที่ไม่กระทบต่อสภาพคล่องของเงินในการใช้ชีวิตปกติ

7. ยังสามารถทำงานประจำ หรือมีรายได้ด้านอื่นอยู่

.

.

3) ทำธุรกิจให้เหมือนการขับรถ

เปรียบเทียบการทำธุรกิจเป็นการขับรถ เราจะเข้าใจได้ว่า

.

1. มีป้าหมายชัดเจน รู้แน่ชัดว่าจะขับไปไหน

2. เลือกรถให้เหมาะสมกับเส้นทางที่จะไป ถ้ามีเงินทุนน้อย ซื้อรถมือ 2 ก็พอ

ถ้าทางที่จะไปแคบ หารถคันเล็กที่ขับเข้าซอยได้ เป็นต้น

3. ออกตัวด้วยเกียร์ต่ำ แต่ทำกำไรด้วยเกียร์สูง

ธุรกิจต้องค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีใครทำกำไรสูง ๆ ได้ตั้่งแต่วันแรกที่เริ่มทำ

เราต้องค่อย ๆ ออกตัวด้วยเกียร์ 1 ก่อน แล้วอดทนรอวันที่ธุรกิจออกดอกออกผล จนเติบโตไปเป็นเกียร์ 5 และสร้างกำไรให้เราได้

.

4. รู้จักเร่งและผ่อน ให้ถูกจังหวะ โดยพยายามติดตามดูสถาการณ์รอบ ๆ ของตลาด

5. เติมน้ำมัน และดูแลรักษาเครื่องยนต์ อย่าลืมเติมข้อมูลความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับธุรกิจที่ทำอยู่เสมอ

และอย่าลืมสอดส่องดูแลทีมงาน และเครื่องมือต่าง ๆ เป็นระยะ ให้พร้อมใช้งานอยู่ตลอด

.

6. หมั่นวัดผลทั้งเชิงรุก และเชิงรับ

เชิงรุกคือการวัดประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ การทำความเร็ว อัตราการกินน้ำมัน

และเชิงรับคือ การเช็คดูปัญหาต่าง ๆ ไฟหม้อน้ำ ไฟเบรก สัญญาณเตือนบนหน้าปัด และหมั่นเอารถเข้าศูนย์อยู่บ่อย ๆ

.

7. ดูป้ายบอกทาง และสัญญานเตือน หมั่นคอยเช็คข่าวเศรษฐกิจ เทรนด์ผู้บริโภค ความเปลี่ยนแปลงของโลก

8. ไปไหนไม่ถูกลองถามคนแถวนั้น

อย่านั่งแต่ในออฟฟิศ และมโนว่าสิ่งที่คิดถูก เราต้องลงไปหน้างาน ถามจริงจากคนที่ทำงาน ถามจากลูกค้า เพื่อให้เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น จะได้เลือกทิศทางไปต่อให้ถูกต้อง

.

9. มองหน้า มองข้าง และมองหลัง

มองหน้า เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจของเราไปข้างหน้า วิสัยทัศน์ของเราก็เหมือนกระจกบานใหญ่

มองข้าง เพื่อดูคู่แข่ง ถ้าเราไม่เห็นคู่แข่งคือ เราทิ้งห่างคู่แข่งมากแล้ว หรือคู่แข่งมาอยู่ในจุด blind spot ซึ่งแปลว่าเขาไล่เรามาทันแล้ว

มองหลัง เพื่อทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นมาในอดีต

.

10. ต่างคน ต่างขับ

ถ้ามัวแต่ไปสู้กับรถคันอื่น สุดท้ายก็จะไม่ได้ไปไหนทั้งคู่

ถ้าสู้กับคู่แข่งธุรกิจ สุดท้ายก็จะตายกันทั้งคู่

ทางที่ดีคือ ต่างคนต่างขับ แล้วลองหาช่องว่างในการขับ เหมือนช่องว่างในตลาด แล้วไปเจาะตลาดกลุ่มนั้น ง่ายและสะดวกกว่ามาก

.

.

4) ทฤษฎีฝาชี

ว่าด้วยเรื่องของการมอบหมายงาน

หลายคนที่ไม่ยอมวางมือจากการกุมบังเหียนงานทุกอย่างด้วยตัวเอง

อาจเพราะไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อมือคนอื่น สุดท้าย workload ของตัวเองเลยล้น

และกลายเป็นว่า งานย่อยหลายชิ้นก็ทำไม่ได้ดี

.

เปรียบเทียบเหมือน การที่เรามีอาหารอยู่บนโต๊ะหลายจาน แล้วพยายามปัดแมลงวันที่มาก่อกวนทั้งหมดด้วยตัวคนเดียว

แน่นอนว่าเราอาจทำได้ แต่เหนื่อย และอาจป้องกันแมลงได้ไม่หมด

.

วิธีที่ีดีกว่า จึงเป็นการเอาฝาชีหลายอันมาครอบอาหารแต่ละอย่างไว้

เปรียบเหมือนการมอบหมายงานให้ลูกน้องแต่ละทีมไปทำ

.

และเรามีหน้าที่สนับสนุน อำนวยความสะดวก และมองภาพรวมของธุรกิจ

เหมือนการาที่เรามองความเป็นไปของอาหารทุกจานบนโต๊ะ โดยไม่ต้องลงมือปัดแมลงวันเองทั้งหมด

.

.

5) 5 เหตุผลที่เราควรทำงานหลายอย่าง

1. งานแต่ละอย่างให้เราได้ไม่เหมือนกัน

บางงานให้เงินเลี้ยงชีพ บางงานให้ความสุข บางงานให้ประสบการณ์เอาไปต่อยอด บางงานให้คอนเนคชัน บางงานให้ทักษะ บางงานให้การยอมรับจากสังคม

.

2. ทำงานหลายอย่างไม่ได้ต้องกระทบกับเวลาในชีวิตทังหมด ถ้าเรารู้จักบริหารเวลาดีๆ

.

3. ทำงานหลายอย่างที่เชื่อมโยงถึงกัน และเอามาต่อยอดซึ่งกันและกันได้

เช่น พี่ปิ๊กผู้เขียน ทำงานหลายอย่าง แต่มีแกนหลักแค่ 2 แกนคือ งานทำคอนเทนต์ (เขียนเพจ, podcast, ทำรายการข่าว) กับงานบริหารธุรกิจ (ที่ปรึกษา, งานบรรยาย, งานจัดสัมมนา คอร์สออนไลน์)

ซึ่งสุดท้ายแล้ว งานทั้ง 2แกนซับพอร์ตซึ่งกันและกัน

ถ้าใครทำงานที่ไม่ซับพอร์ตกันเลย ระวังจะยืนระยะไม่ได้นาน

.

4. งานหลายอย่างช่วยลดความเสี่ยงให้เราได้ โดยเฉพาะเรื่องการมีรายได้มาจากช่องทางเดียว

5. งานหลายอย่าง ทำให้เราเก่งทักษะหลายด้าน สร้างโอกาสต่อยอดได้ในอนาคต

.

.

6) ความต่างของกลยุทธ์ (Strategy) และวิธีการ (Tactic)

กลยุทธ์คือแนวทางใหญ่ ๆ ในการดำเนินธุรกิจ

ส่วนวิธีการคือ สารพัดวิธีที่จะช่วยให้เราบรรลุแนวทางนั้น ๆ

.

ตัวอย่างเช่น การเทน้ำออกจากแก้ว

สมมุติว่า เป้าหมายของเราคือ การเทน้ำออกจากแก้ว

กลยุทธ์มีอยู่ 5 วิธี คือ

1. เทน้ำออก

วิธีการมากมายเช่น เอียง คว่ำแก้ว เอาไม้เขี่ย เตะโต๊ะ

วิธีนี้สะดวกรวดเร็วแต่อาจสร้างความเสียหายให้ธุรกิจได้

.

2. ดูดน้ำออก

วิธีการเช่น ใช้หลอดฉีดยา เอาทิชชูมาซับน้ำออก

วิธีนี้คู่แข่งมาก แข่งกันดุเดือด เพราะทำง่าย และไม่ต้องไปกระทบกับตัวแก้วใส่น้ำ

ใครมีอุปกรณ์ดูดที่ดีกว่า มีประสิทธิกว่า ก็จะกลายเป็นผู้ชนะไป

.

3. แทนที่น้ำ

วิธีการ คือเอาของที่ตันมาใส่ลงไปในแก้ว แทนน้ำที่อยู่ข้างใน

ในโลกธุรกิจ กลยุทธ์แบบนี้คือ การเปลี่ยนผ่านธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น หรือการ transform องค์กรให้มีความทันสมัย

.

4. ปล่อยให้ระเหย

วิธีการคือ เอาแก้วไปตากแดด แล้วปล่อยให้น้ำระเหยออกไปเอง

เป็นกลยุทธ์ของคนใจเย็น เหมาะกับธุรกิจขาลง หรือธุรกิจที่เติบโตไม่ได้แล้ว จึงไม่ควรลงแรงทำอะไรมาก


5. ทำให้น้ำแข็งตัวแล้วดึงออก

วิธีการคือ การเอาไนโตรเจนเหลว มาทำให้น้ำแข็งตัว

เปรียบเหมือนกลยุทธ์ในโลกธุรกิจที่ต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อให้องค์กรก้าวกระโดดได้

แต่ต้องลงทุนเงินมหาศาล และต้องต่อสู้กับแรงต้านจากทั่วสารทิศของคนในองค์กร

.

อย่าลืมว่า ไม่มีวิธีการหรือกลยุทธ์ไหนดีกว่าอีกอันหนึ่งเสมอ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์และความเหมาะสม

.

.

7) โลกของการแข่งขัน 3 แบบ

.

การแข่งขันแบบที่ 1: แข่งแบบประจันหน้า

เปรียบเหมือนการแข่งชกมวย เทควันโด ซึ่งเราต้องพยายามสร้างความเสียหายให้ฝ่ายตรงข้ามมากที่สุด

การแข่งประเภทนี้ ถ้าเราเลือกสนามแข่งดี ๆ เจอคู่แข่งไม่โหด เราก็สามารถลงสนามให้ชนะได้

แต่สุดท้ายแล้ว อาจกลายเป็นว่า เราล้มกันทั้งคู่ เจ็บกันทั้งคู่ และอาจไม่รู้ว่าคนชนะจะยืนระยะไปได้นานแค่ไหน

.

การแข่งขันแบบที่ 2: แข่งทำสิ่งที่เหนือกว่า

เปรียบเหมือนการวิ่งแข่ง ให้เร็วกว่าเดิม หรือว่ายน้ำเข้าเส้นชัยให้เร็วกว่าเดิม

ในโลกธุรกิจก็คือ การทำสินค้าให้คุณภาพดีที่สุด การส่งของให้รวดเร็วที่สุด การจ่ายเงินให้ง่ายที่สุด

ข้อดีของการแข่งแบบนี้คือ ไม่ได้สร้างความเสียหายให้คู่แข่งมาก

แต่ความยากคือ เราต้องเหนือกว่าคู่แข่งคนอื่น ๆ จริง ๆ และจะมีแต่ผู้ชนะเท่านั้นที่จะอยู่รอด

.

การแข่งขันแบบที่ 3: แข่งกับตัวเอง

เปรียบเหมือน ยิมนาสติก กระโดดน้ำ ที่ให้กรรมการคอยให้คะแนน

การแข่งแบบนี้ เราโฟกัสแค่ธุรกิจของเราเอง ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใคร แล้วให้ลูกค้าเป็นคนตัดสิน

โดยอาจต้องสร้าง Ecosystem ขึ้นมาเองแบบ Apple หรือเซเว่น

ซึ่งทำได้ยาก แต่ก็ช่วยกั้นกำแพงไม่ให้คนอื่นเข้ามาแข่งกับเราได้ง่ายเช่นกัน

.

สุดท้ายแล้วธุรกิจในโลกทุกวันนี้ แข่งกันด้วย

- ความเร็วในการเข้าถึงตัวลูกค้า ใครถึงก่อนมีโอกาสก่อน

- ความสนใจของลูกค้า ที่มีข้อมูลมากมายพร้อมแย่งความสนใจ

- เงินในกระเป๋า ใครแย่งเงินในกระเป๋าของลูกค้าได้มากกว่ากัน

- ความเชื่อมั่น สร้างความน่าเชื่อถือในสินค้าหรือบริการของเรา

.

.

8) สร้างแลนด์มาร์คของธุรกิจตัวเอง

ตามเมืองต่าง ๆ จะมีสถานที่ที่เป็นแลนด์มาร์คให้นักท่องเที่ยวทุกคนที่ไปถึง ไปถ่ายรูปกัน

ในธุรกิจก็ไม่ต่างกัน เราต้องมองหาว่าอะไรจะเป็น แลนด์มาร์ค ของธุรกิจเราได้

โดยแลนด์มาร์ค ต้องเป็นสินค้าหรือบริการประเภทที่ว่า ถ้านึกถึงสินค้า/บริการตระกูลนี้ ต้องนึกถึงร้านเราเป็นอันดับแรก

เช่น ถ้านึกถึงฮันนี่โทสต์ นึกถึง After You หรือนึกถึงชาบู นึงถึง Momo paradise เป็นต้น

.

สิ่งสำคัญคือ แลนด์มาร์คในธุรกิจเราต้องเป็นของระดับตำนาน ขึ้นหิ้ง เป็นของที่มีคุณภาพเยี่ยม

เราทำแล้วจึงไม่ควรเบื่อ เหมือนนักร้องที่มีเพลงดัง และไม่ว่าจะไปเล่นคอนเสิร์ตที่ไหนก็จะร้องแต่เพลงขึ้นหิ้งที่ว่าซ้ำไปซ้ำมา ไม่มีเบื่อ

.

ดังนั้นแล้ว ลองเจียดเงินส่วนหนึ่งของธุรกิจมาสร้างแลนด์มาร์คกัน แล้วเราจะเติบโตแบบก้าวกระโดดมาก

.

9) ปั้นตุ๊กตาหิมะแห่งธุรกิจกัน

ลองมาจัดพอร์ตสินค้าในธุรกิจของเราด้วยวิธีคิดแบบตุ๊กตาหิมะ

ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ส่วนคือ

1. เท้า - เปรียบเหมือนสินค้าลดราคา พวก flash sale ที่ทำหน้าที่เรียกแขกเข้าบ้าน

เราอาจลองดูสินค้าตกเกรด หรือสินค้าตกรุ่น มาทดลองลดราคาดูเพื่อให้มีลูกค้ามาสนใจร้านเราเพิ่ม

เราควรมีสินค้าประเภทนี้ประมาณ 15-20%

.

2. ตัว – เปรียบเหมือนสินค้าส่วนใหญ่ของพอร์ตสินค้า

เป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ตลาดกลุ่มใหญ่ สเปคอาจกลาง ๆ แต่เป็นสินค้าจำเป็น ยังไงเราก็ต้องมีโชว์ ขาดตลาดไม่ได้

เช่น พวกมาม่า บุหรี่ น้ำดื่มในร้านโชว์ห่วย หรือ เสื้อเชิ้ตสีขาว สีดำ ในร้านเสื้อผ้า

เราอาจลดราคาได้บ้าง แต่ไม่ต้องมาก เพราะลูกค้าต้องกลับมาซื้ออยู่แล้ว

เราควรจัดสินค้าประเภทนี้ไว้ 40% ของสินค้าทั้งหมด

.

3. หัว - สินค้าทำกำไร

เป็นสินค้าที่สร้างความแตกต่างของร้านเรากับร้านอื่น ช่วยสร้างตัวตนให้คนจดจำร้านเราได้

โดยอาจทำกำไรได้มากกว่าสินค้าอื่น แต่ยอดขายอาจไม่มากเท่า

เราควรมีสินค้าประเภทนี้ไว้ 30% ของพอร์ตสินค้าทั้งหมด

.

4. ของตกแต่ง – สินค้าสร้างความน่าสนใจ

เอาไว้เรียกลูกค้าให้สนใจร้านเรา ซึ่งหลายครั้งอาจเน้นไปที่การตามกระแสหรือเทรนด์ในปัจจุบัน

อาจเป็นสินค้าแปลก ๆ ที่ขายไม่ได้เลย แต่ก็ช่วยให้คนหันมามองสินค้าอื่นในร้านเรา

เราควรจัดไว้ประมาณ 5-10% ของพอร์ตสินค้า

.

.

.........................................................................................

ผู้เขียน: ธรรศภาคย์ เลิศเศวตพงศ์

จำนวนหน้า: 288 หน้า

สำนักพิมพ์: อะไรเอ่ย, สนพ.

เดือนปีที่พิมพ์: 12/2021

แนวหนังสือ: บริหารธุรกิจ

.........................................................................................

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #วิชาธุรกิจที่ชีวิตจริงเป็นคนสอน2




313 views0 comments

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page