top of page
  • Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว ลุกให้ไวในวันที่ใจล้ม



สรุป 15 ข้อคิดไม่ให้ชีวิตสู้กลับ

จากหนังสือ ลุกให้ไวในวันที่ใจล้ม

.

.

1 พลังฟื้นใจ (resilience) หมายถึงความสามารถที่ทำให้คนเราสามารถกลับคืนสู่สภาวะปกติได้ แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก

เช่น เมื่อต้องเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจจากการระบาดของ COVID-19 หรือภาวะสงคราม

.

พูดสั้น ๆ คือ พลังฟื้นใจ เป็นสิ่งที่ทำให้เราลุกขึ้นใหม่ได้ ทุกครั้งที่เราล้ม

.

.

2. พลังฟื้นใจเป็นสิ่งที่ฝึกกันได้

พลังฟื้นใจไม่ได้มีติดตัวมาแต่กำเนิด ไม่ว่าจะเกิดมาในฐานะใด ร่ำรวยเท่าไหร่

.

ทุกครั้งที่ชีวิตเจอสถานการณ์ที่ยากลำบาก และเราต้องเจอกับความล้มเหลว

นับเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้มาฝึกสั่งสมพลังฟื้นใจ

.

.

3. เมื่อชีวิตเรามีเพียง Option B สิ่งที่ทำได้อาจเหลือเพียงการพยายามสมานบาดแผลให้ตัวเอง และลุกขึ้นมาอีกครั้ง

ในเมื่อ Option A ที่เราเคยมี ชีวิตแบบเดิมที่เราเคยเป็น ไม่ได้เป็นตัวเลือกให้เราอีกต่อไป

เราก็ต้องทำใจยอมรับว่าตอนนี้เหลือแค่ Option B แล้ว

เราจะเศร้าโศกเสียใจนานแค่ไหนก็ได้ แต่สุดท้ายแล้ว เราก็ต้อสมานแผลใจให้ตัวเอง

และก้าวเดินต่อไปอีกครั้ง กับตัวเลือกที่มีอยู่ที่เหลือ

.

.

4. พลังฟื้นใจไม่สามารถถูกสร้างขึ้นมาได้ด้วยตัวคนเดียว

เราจำเป็นต้องมีคนให้พึ่งพาและคอยสนับสนุน ในการค่อย ๆ สร้างพลังฟื้นใจขึ้นมา

เพราะพลังฟื้นใจที่ดีมักมีพื้นฐานมาจากความสัมพันธ์ที่ดี

.

.

5. ระวังการคิดบวกจนเป็นพิษ (toxic positivity)

ในสังคมปัจจุบันสามารถพบเห็นการคิดบวกจนเป็นพิษได้ทั่วไปตามโซเชียมีเดีย

คนพวกนี้ปฏิเสธที่จะยอมรับและมองเห็นความล้มเหลว

และต้องการที่จะรับรู้เพียงแต่เรื่องดี ๆ เรื่องบวก

ซึ่งลักษณะแบบนี้จะสร้าง “หัวใจแก้ว” ที่เปราะบางขึ้นมา

.

หัวใจแก้วเหล่านี้ แตกหักง่าย เพราะไม่เคยถูกฝึกให้รู้จักความยืดหยุ่น

หัวใจที่มีพลังฟื้นใจสูง เกิดจากการการได้ลิ้มรสความล้มเหลว และรู้จักเรียนรู้และลุกขึ้นอีกครั้ง

กล้ามเนื้อหัวใจแบบนี้จะมีความแข็งแรง ยืดหยุ่น และไม่เปราะบาง

.

ดังนั้นแล้ว สิ่งแรกที่เราควรฝึกเพื่อเพิ่มพลังฟื้นใจคือ การมองเห็นและยอมรับในความล้มเหลว

.

.

6. จงเมตตาต่อตัวเอง

แนวคิดความเมตตาต่อตัวเอง (self-compassion) ของ Dr. Kristin Neff กล่าวเอาไว้ว่า

ความเมตตาต่อตัวเองประกอบไปด้วย

1) ใจดีต่อตัวเอง ปฏิบัติต่อตัวเองอย่างอ่อนโยน และบอกตัวเองอยู่เสมอว่า เรามีสิทธิล้มเหลวได้

2) เข้าใจว่า การมีความรู้สึกเจ็บปวดเป็นประสบการณ์ร่วมของมนุษย์ทุกคน

ทุกคนมีความทุกข์ มีความละอายใจ มีความผิดหวัง ไม่ได้มีแค่ตัวเราคนเดียวที่เป็นแบบนี้

3) มีสติ (mindfulness) รับรู้ว่ากำลังเกิดอารมณ์อะไรอยู่

เราควรทำตัวเป็นท้องฟ้ากว้างใหญ่ และปล่อยให้พายุอารมณ์ลอยผ่านไป

.

ดังนั้นแล้วสิ่งที่จะช่วยให้เรามีพลังฟื้นใจได้ คือการที่เรายอมรับทุกอารมณ์ที่ผ่านเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น ความเจ็บปวด ความทุกข์ ความผิดหวัง ต่าง ๆ

.

.

7. เมื่อมีใครสักคนกำลังโศกเศร้าอยู่ สิ่งที่เราควรทำคือเข้าไปยืนอยู่ข้าง ๆ เขา โดยไม่ต้องพูดหรือให้คำแนะนำอะไรทั้งสิ้น

ปล่อยให้เขาได้แสดงความโศกเศร้าในแบบของตัวเขาเอง

เราเพียงแค่เป็นพยานในความโศกเศร้านั้น และคอยอยู่ข้าง ๆ เขา

.

.

8. รับฟังเสียงแห่งความรู้สึกผิดในใจ ที่หลายครั้งอาจจะเกิดจากค่านิยมที่เราถูกปลูกฝังมาในวัยเด็ก

เผชิญกับความรู้สึกผิดเหล่านั้นอย่างตรงไปตรงมา และวิเคราะห์สาเหตุว่ามันเกิดจากอะไร

พร้อมทั้งยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบในตัวเรา

ทุกคนมีจุดบกพร่องและข้อจำกัด

แต่ก็ยังมีควรค่าแก่การเคารพรัก

.

สุดท้ายให้แปรเปลี่ยนความรู้สึกผิดให้เป็นความรู้สึกขอบคุณ ว่าเรายังทำอะไรได้อีกมาก

และลงมือทำ เพื่อก้าวต่อไป

.

.

9. กอดเด็กตัวเล็ก ๆ ในใจเราที่กลัวความล้มเหลวอย่างมาก

โอบกอดเด็กคนนั้นไว้แน่น ๆ

เด็กคนนั้นอาจกลัวที่ต้องล้มเหลวเมื่อพยายาม

เด็กคนนั้นอาจกลัวที่เมื่อพยายามเท่าไหร่ก็ไม่สำเร็จ

เด็กคนนั้นอาจกลัวที่เมื่อเห็นคนอื่นสำเร็จไปก่อน ตัวเองจะกดดันอย่างมาก

.

โอบกอดเขาไว้แน่น ๆ และกระซิบบอกเขาว่า ไม่เป็นไรนะ ไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว ตัวเธอนั้นมีค่าเสมอ !

.

.

10. เมื่อประสบกับความล้มเหลว ให้ลองวิเคราะห์ความล้มเหลวจาก 3 มุมต่อไปนี้

- ความล้มเหลวเกิดจากปัจจัยภายใน (ตัวเราเอง) หรือภายนอก

- ผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งถาวร หรือชั่วคราว

- ความล้มเหลวนั้นครอบคลุมทุกด้าน หรือแค่บางด้านของชีวิต

.

ถ้าเราได้วิเคราะห์ความล้มเหลวจาก 3 มิติดังกล่าวแล้ว เราอาจค้นพบว่า ความล้มเหลวก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

หลายครั้งความล้มเหลวอาจเกิดจากปัจจัยภายนอก เราก็ควรยอมรับมัน และหันมาเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้จะดีกว่า

และหลายครั้งความล้มเหลวก็เป็นเพียงสิ่งชั่วคราวที่กระทบต่อชีวิตเราเพียงด้านเดียว

เรายังมีชีวิตด้านอื่น ๆ อีกหลายด้านที่เราทำได้ดี และในไม่ช้าความล้มเหลวก็จะหมดไป

.

สุดท้ายแล้วถ้าเรามองว่าความล้มเหลวเป็นอุปสรรค ไม่ใช่ภัยคุกคาม เราก็จะเตรีวมตัวที่จะข้าม่านอุปสรรคนั้นไป ไม่ใช่พยายามหลีกหนีมัน

.

.

11. มองชีวิตให้เป็นเหมือนโครงเหล็กปีนป่าย ไม่ใช่บันได

ถ้าเราปีนบันได เราจะมีทางปีนแค่ทางเดียว และเมื่อคนข้างหน้าหยุดชะงัก เราก็จะปีนต่อไม่ได้

แต่ถ้าเรามองเป็นโครงเหล็กปีนป่าย เหมือนที่เด็กเล่นกันในสนามเด็กเล่น

เราก็จะพบว่า มีหลากหลายเส้นทางที่เราสามารถปีนขึ้นไปให้ถึงยอดได้

หรือก็อาจมีอีกหลายคนที่ไม่ได้อยากปีนถึงยอด เพียงแค่อยากลองปีน บางคนก็อาจเพียงอยากคุยกับคนอื่นระหว่างทาง

และถ้าเราเกิดเจออุปสรรค เราก็เพียงหักเลี้ยวและหันไปปีนทางอื่นต่อ

.

ถ้าชีวิตเราเป็นดั่งโครงเหล็กปีนป่าย เราจะมีเส้นทางปีนมากมายหลากหลาย

ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร ไม่จำเป็นต้องเทียบกับใคร

ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเป้าหมายเรา

และที่สำคัญที่สุด ถ้าเราเจออุปสรรค เราก็สามารถหักเลี้ยว และมองหาเส้นทางอื่นต่อไปได้

.

ดังนั้นลองเอาบันไดชีวิตออกไป และมองชีวิตเป็นความเป็นไปได้อันไม่จำกัดดู !

.

.

12. ความฉลาดทางมนุษย์สัมพันธ์ (relationship intelligence) เป็นสิ่งที่เราควรสร้างไว้

เพราะมันมีความสำคัญไม่แพ้ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) และเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยสร้างพลังฟื้นใจ

แต่โรงเรียนก็ไมเคยสอนเรา เราจึงต้องรู้จักที่จะฝึกฝนเรื่องนี้เอง

.

.

13. ยอมให้ตัวเองเปราะบางเพื่อความสัมพันธ์จะได้แน่นแฟ้นมากขึ้น

ความสัมพันธ์ที่ดีนั้นเกิดจากการที่ทั้ง 2 ฝ่ายแสดงความเปราะบางภายในจิตใจของตัวเองให้อีกฝ่ายหนึ่งเห็น

สมองเรามักคิดจินตนาการไปต่าง ๆ นา ๆ

หลายครั้งเราแต่งเรื่องขึ้นมาจากการกระทำและคำพูดของอีกฝ่าย

มนุษย์เราเปราะบางมาก แต่ถ้าเราไม่ได้แสดงความเปราะบางนี้ออกมาเลย อีกฝ่ายก็คงไม่รู้ว่าเราคิดอะไรอยู่

.

เราจึงควรเพิ่มความกล้าในการแสดงความคิดของเราออกมาอย่างตรงไปตรงมา

แม้จะไม่รู้ผลลัพธ์ แม้ว่าเราจะกลัวการถูกปฏิเสธ

แต่สุดท้ายแล้วมนุษย์ทุกคนล้วนเปราะบางทั้งนั้น

และความเปราะบางนี้เองที่เป็นตัวเขื่อมให้ความสัมพันธ์ของเราแน่นแฟ้นมากขึ้น

.

.

14. ความสัมพันธ์ที่ดีไม่ได้เกิดจากการช่วยเหลือกันในตอนล้มเหลวเท่านั้น แต่ตอนที่ฝ่ายหนึ่งสำเร็จ อีกฝ่ายก็ต้องร่วมยินดีไปด้วยจากใจจริง

มีปฏิกริยา (reaction) อยู่ 4 แบบ เมื่อคนใกล้ตัวเรามาบอกเรื่องราวดี ๆ

1) นักฆ่าบทสนทนา – ตัดบทด้วยอาหการเฉยชา และไม่สนใจสิ่งที่อีกฝ่ายเล่า เช่น บอกว่ายุ่งอยู่ ค่อยมาเล่าดีหลัง

2) หัวขโมยความสุข - สร้างความกดดัน และสงสัยในตัวอีกฝ่าย เช่น ถ้าอีกฝ่ายบอกว่าได้เลื่อนตำแหน่ง ก็อาจตอบไปว่า ถ้างั้นเธอก็คงมีเวลาให้ครอบครัวน้อยลง หรือสงสัยว่าเธอจะรับผิดชอบงานที่มากขึ้นไหวจริงเหรอ

3) โจรปล้นบทสนทนา – เปลี่ยนเรื่องคุย และโอ้อวดความสนใจของตัวเอง อาจเพียงเพราะอิจฉา หรือรู้สึกเปราะบางในใจ

4) ผู้เพิ่มพูนความสุข - ร่วมแสดงความยินดีไปกับอีกฝ่าย ตั้งใจฟังสิ่งที่อีกฝ่ายเล่า สัมผัสความสุขไปด้วยกัน และร่วมกันขยายความสุขให้ขยายตัวออกไป

.

ถ้าเรารู้ตัวว่ากำลังทำตัวเป็น นักฆ่าบทสนทนา หัวขโมยความสุข หรือโจรปล้นบทสนทนา ก็จงยอมรับและเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองได้แล้ว

.

.

15. พาตัวเองมาสู่ จุดกึ่งกลาง (in-between)

หลายครั้งเราอาจสูญเสียตัวตนเดิม จากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่นการเกิดขึ้นของ COVID-19

เปรียบเหมือนการที่เราพายเรือออกมาจากฝั่งที่เราคุ้นเคย และพายออกมาไกลมากพอที่จะไม่เห็นฝั่งนั้น และเรากลับไปยังจุดเดิมไม่ได้อีกแล้ว

แต่เราก็ยังไม่เห็นฝั่งที่เรากำลังจะไป

นี่คือจุดกึ่งกลาง ของ comfort zone ที่เราอยู่ กับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

.

สิ่งที่เราควรทำคือยอมจำนนต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ไม่ได้หมายถึงให้เรายอมแพ้

เราเพียงต้องโอบรับมัน และหาวิธีก้าวต่อไป

มองจุดกึ่งกลางให้เป็นพื้นที่ที่เราสามารถสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ ๆ มากมาย ไม่รู้จบ

ถ้าเราโอบรับความไม่แน่นอนนี้ได้ และค่อย ๆ ก้าวต่ไป สุดท้ายแล้วเราจะพาตัวเองไปยังฝั่งที่อยู่อีกด้านได้แน่นอน

.

.

รีวิวสั้น ๆ หลังอ่าน

เป็นหนังสือที่ดูเหมือนเป็นกลุ่มฮีลใจทั่วไป แต่เล่มนี้มีความลึกซึ้งกว่านั้น

น่าจะเรียกว่าเป็นหนังสือจิตวิทยามากกว่า เพราะหลักการและทฤษฎีมากมายถูกนำมาใช้อธิบายการทำความเข้าใจและเรียนรู้ที่จะสร้าง “พลังฟื้นใจ”

.

ลุกให้ไวในวันที่ใจล้ม เขียนโดย ดร. หลิวเพ่ยเซวียน นักจิตวิทยาชาวไต้หวัน ผู้ต้องการเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อเป็นกำลังใจให้คนที่กำลังล้มจากเหตุการณ์ COVID-19

โดยเธออยากนำหลักคิดเรื่องพลังฟื้นใจมาช่วยบรรเทาวิกฤตในใจนักอ่านหลายคน

.

ต้องบอกว่าหนังสือดีกว่าที่คิดมาก เพราะด้วยความที่คนเขียนเป็นนักวิชาการด้านจิตวิทยา จึงไม่ได้เขียนแค่แนวฮีลใจที่เป็นข้อความสั้น ๆ

แต่เป็นการตีความเชิงลึก ที่พยายามค้นเข้าไปถึงสาเหตุที่ทำให้คนเราล้มลงจากการเจอวิกฤต และวิธีรับมือ พร้อมให้ตัวเองเด้งกลับขึ้นมาผงาดได้อีกครั้ง

.

หลายบทมีความเข้าใจยากระดับหนึ่ง เพราะสไตล์การเขียนไม่ได้ตรงไปตรงมา

แต่มีการเล่าการทดลอง เล่าเหตุการณ์ เล่าทฤษฎีต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง

.

จัดเป็นหนังสือจิตวิทยากึ่งฮีลใจที่เหมาะกับคนที่ต้องการหนังสือที่ลึกไปกว่า ข้อความให้กำลังใจทั่วไป

แต่ส่วนตัวชอบเนื้อหา รู้สึกมีหลายส่วนที่จำง่ายและนำมาใชได้ได้จริง

ยังไงลองหาอ่านกันดูได้ครับ

.

.

พิกัดสั่งซื้อ: https://shope.ee/AK0ZwQLXSy

.

.

...............................................................................

ผู้เขียน:ดร. หลิวเพ่ยเซวียน

ผู้แปล: อัษฎา จันหยู

จำนวนหน้า: 320 หน้า

สำนักพิมพ์: Biblio

เดือนปีที่พิมพ์: --/2022

ชื่อเรื่องต้นฉบับ: Discovering Resilience

...............................................................................

.

.

#หลังอ่าน #ลุกให้ไวในวันที่ใจล้ม






82 views0 comments
Post: Blog2_Post
bottom of page