top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว ภาวะสมองบอด (พร้อมวิธีรักษา)





รีวิว ภาวะสมองบอด (พร้อมวิธีรักษา)

Creative Blindness (and how to cure it)

.

‘หลายครั้ง ไอเดียแสนบรรเจิดก็อยู่รอบ ๆ ตัวเรา แต่เพราะเราสมองบอด เลยมองมันไม่เห็น’

.

ถ้าใครถามว่าหนังสือแปลจากฝั่งตะวันตกเล่มไหนอ่านง่ายและสนุก

คำตอบสั้น ๆ ของผมคงเป็นหนังสือของ ‘Dave Trott’

.

และเล่ม ภาวะสมองบอด เป็นตัวอย่างที่ดีมาก

เพราะหนังสือเต็มไปด้วยเรื่องราวชวนทึ่ง

ที่เราคงไม่ได้อ่านจากทีไหนอีก ถ้าไม่ใช่จากปลายปากกาของ Dave Trott คนนี้

.

Dave Trott เป็นนักโฆษณา และนักการตลาดระดับพระกาฬ

ที่มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์

ทุกเรื่องในหนังสือเป็นเรื่องสั้น ๆ 2-3 หน้า ก็จบ

แต่ให้ข้อคิดด้านไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่ดีมาก

.

อ่านจบแล้วจะรู้สึกว่า ‘โหห คิดได้ไงวะ’

สุดยอดดด

ไอเดียสร้างสรรค์มีอยู่รอบตัวจริง ๆ นะ

.

และที่ชอบอีกเรื่องคือ การตกผลึกเป็นข้อคิด จากเรื่องราวที่เขาเล่า

เขาไม่ได้เล่าเฉย ๆ แล้วให้เราไปคิดต่อเอง

แต่เขาเล่า และเขาตกผลึกมาให้เรียบร้อย

.

โดยแม้ส่วนใหญ่ Dave Trott จะโยงเรื่องเหล่านั้นเข้ากับวงการโฆษณาและการตลาด

แต่ผมคิดว่า เราเอาไปโยงต่อเข้ากับชีวิตเราได้ในทุก ๆ เรื่อง

เพราะไอเดียสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ก็คือไอเดียที่เอาไว้ใช้ปัญหาในชีวิตประจำวัน

ไม่ว่าปัญหานั้นจะเล็ก หรือใหญ่

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เราแก้ได้ด้วยตัวคนเดียว หรือปัญหาที่ต้องอาศัยคนหลาย ๆ คนช่วยกันแก้

หรือแม้แต่ปัญหาระดับชาติ

.

หนังสือยาว 300 กว่าหน้า มีความหนาพอสมควร

แต่อ่านแล้วไม่เบื่อเลย

เพราะแต่ละบทสั้น ๆ

และเป็นเรื่องที่แตกต่างกันตลอด

.

อยากแนะนำว่าเล่มนี้ควรอ่านกันทุกคน

โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้านการตลาด

หรืองานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์สูง

.

เล่มนี้อ่านง่ายกว่าพวกหนังสือ Grit Mindset เยอะพอสมควรครับ

เพราะกลุ่มนั้นเป็นหนังสือแนวงานวิจัย

เรื่องน่าสนใจเหมือนกัน แต่อ้างอิงจากงานวิจัยเสียส่วนใหญ่

แต่เล่มนี้เป็นเรื่องสั้นจากเรื่องจริง ที่ให้ข้อคิดปัง ๆ เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์

.

สุดท้ายขอย้ำว่า หนังสือ ภาวะสมองบอด

เป็นหนังสือธุรกิจที่อ่านสนุกสุด ๆ เล่มหนึ่งตั้งแต่ได้อ่านมาครับ

.

ขอเล่าสั้น ๆ 5 เรื่องที่ผมชอบมากที่สุดจากหนังสือ ภาวะสมองบอด (Creative Blindness) ในภาษาของผมเอง ซึ่งจะเข้าใจง่าย แต่อาจตัดรายละเอียดไปพอสมควร

เอาเป็นว่าให้พอหอมปากหอมคอกันนะครับ

.

1) สุนัขจรจัด และนักโทษ

ในอเมริกาทุก ๆ ปี จะพบสุนัขจรจัดกว่า 2 ล้านตัวที่ถูกส่งเข้าศูนย์พักพิง

แต่เมื่อไม่มีใครรับไปอุปการะ

สุดท้ายพวกมันก็จะถูกการุณยฆาต เพราะงบประมาณที่ไม่มากพอ

.

แต่ปัญหาคือ สุนัขจรจัด หาบ้านไม่ได้ง่าย ๆ

เพราะว่าพวกมันตัวเหม็น สกปรก และไม่เชื่อง

.

หน่วยงานรัฐของอเมริกาจึงพยายามแก้ปัญหานี้โดยการหาคนที่มีเวลามากพอมาทำความสะอาดตัวสุนัขจรจัด

และเลี้ยงให้พวกมันเชื่อง

คนที่มีเวลาเหลือเฟือก็คือ ผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำ

.

การจับคู่ระหว่างสุนัขจรจัด และผู้ต้องขังคือการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว

นั่นคือการแก้ปัญหาเรื่องสุนัขจรจัด

และแก้ปัญหาขัดเกลาให้ผู้ต้องขังกลับตัวกลับใจ

เรียนรู้ที่จะอดทน มีความรับผิดชอบ และมีความไว้เนื้อเชื่อใจ

ก่อนจะกลับไปใช้ชีวิตในโลกจริง ๆ

.

การที่มีคนอุปการะสุนัข ถึงขนาดว่ามีพิธีประกาศจบการศึกษาทีเดียว

.

.

2) ความกลัวของ สตีฟ จ็อบส์

ในปี 2006 ช่วงที่บริษัทแอปเปิ้ลกำลังรุ่งโรจน์จากการขายไอพอดอย่างถล่มทลาย

สตีฟ จ็อบส์ ก็ฝันร้าย

และตื่นขึ้นมากลางดึกคืนหนึ่ง

เขานอนไม่หลับทั้งคืน และเรียกประชุมทีมแอปเปิ้ลเป็นการใหญ่ในวันรุ่งขึ้นทันที

.

สิ่งที่สตีฟ จ็อบส์กลัวคือ

โทรศัพท์รุ่นใหม่ของโนเกียออกลูกเล่นใหม่

นั่นก็คือ การดาวน์โหลดเพลงลงเครื่องได้แล้ว 6 เพลง !!

.

แน่นอนว่า จ็อบส์ไม่ได้กลัวการดาวน์โหลดเพลง 6 เพลงลงมือถือ

แต่เขากลัวว่าถ้ามันกลายเป็น 60 เพลง หรือ 600 เพลง ต่างหาก

เมื่อนั้น ไอพอดคงถึงกาลอวสาน

.

จ็อบส์จึงตัดสินใจอย่างแน่แท้ว่าจะมุ่งสู่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือ

และไอโฟนก็โด่งดังเป็นพลุแตก มาจนถึงทุกวันนี้

.

ความกลัวของจ็อบส์ เป็นตัวช่วยสำคัญในการตัดสินใจครั้งนั้น

จริง ๆ แล้วความกลัวอยู่ในวิวัฒนาการของมนุษย์มานานแล้ว

.

สมมุติว่า โอกาสในการเจอก้อนหินกับหมี คือ 1:99

ถ้าเราเห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเป็น ก้อนหิน ทุกครั้ง

เราก็คงไม่ต้องวิ่งหนี และใช้ชีวิตแบบสบายใจไปเรื่อย ๆ

จนกระทั่งวันที่เจอหมีจริง ๆ

เราก็คงจะถูกขย้ำตายคาที่

.

กลับกันถ้าเราเห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเป็น หมี ทุกครั้ง

เราก็คงจะเหนื่อยจากการหนี 99 ครั้ง

และต่อให้เราคิดผิดกว่า 99 ครั้ง

แต่เราก็จะไม่ตายจาก 1 ครั้ง ที่เจอหมีเข้าจริง ๆ

.

ความกลัวจึงสร้างความได้เปรียบ

และทำให้เราเป็นคนระแวดระวังภัยได้

.

.

3) ปลอมตัวเป็น คู่เดท

เอมี เว็บบ์ ผู้หญิงคนหนึ่งเคยออกเดทจากการนัดบอดออนไลน์มาหลายครั้ง

แต่เธอไม่เคยประสบความสำเร็จเลยสักครั้ง

เพราะผู้ชายที่เข้าหาเธอ เธอก็ไม่ชอบ

แต่คนที่เธอชอบ ก็ไม่มีใครสนใจเธอสักที

.

วันหนึ่งเธอจึงคิดกลยุทธ์ใหม่ด้วยการปลอมตัว

เธอสร้างโปรไฟล์ปลอม เป็นผู้ชายแบบที่เธอชอบ

แล้วลองดูว่า จะมีผู้หญิงคนไหนเข้ามาหาตัวผู้ชายที่เธอสร้างขึ้นบ้าง

ผู้หญิงพวกนั้นคือ คู่แข่งของเธอ

.

ผลปรากฏว่า เธอได้ข้อมูลที่น่าสนใจมาก

ผู้หญิงที่สนใจผู้ชายพวกนี้ ใช้รูปถ่ายตัวเองที่ดูดี น่าดึงดูด

ในขณะที่เธอใช้รูปสบาย ๆ

และผู้หญิงเหล่านั้นเขียนข้อมูลสั้น ๆ

ในขณะที่เธอเขียนข้อมูลแบบยาวยืด

.

เมื่อเธอลองเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอตัวเอง

เธอก็ประสบความสำเร็จในการนัดเดทกับหนุ่มที่เธอใฝ่หา

.

นี่คือกระบวนการคิดแบบนักล่า

ไม่ใช่เหยื่อที่ถูกเลือก

เป็นการมองจากมุมคู่แข่ง

และทำตัวให้เหนือกว่าคู่แข่งเหล่านั้น

.

.

4) กลยุทธ์การโยนทิ้งของแมคโดนัลด์

เมื่อก่อนแมคโดนัลด์ขายอาหารกว่า 27 เมนู

เพราะแนวคิดที่ว่าขายเมนูอาหารมาก จะดึงดูดลูกค้าได้มาก

.

จนกระทั่งสองพี่น้องแมคโดนัลด์เข้ามาบริหาร

และค้นพบว่า รายได้ว่า 87% มาจากอาหารเพียง 3 เมนู

นั่นก็คือ แฮมเบอร์เกอร์ มันฝรั่งทอด และเครื่องดื่ม

.

พวกเขาจึงตัดเมนูอื่นทิ้งทั้งหมด และขายแค่ 3 เมนู

การมีเมนูน้อยทำให้กระบวนการทำงานเป็นไปได้เร็วขึ้น

มากไปกว่านั้น ทั้ง 3 เมนู ยังเป็นเมนูที่ทำง่าย มีการทำเตรียมรอไว้ได้ระดับหนึ่ง

ทำให้พนักงานทำงานง่ายขึ้น การบริการลูกค้าเป็นไปได้อย่างรวดเร็วขึ้น

.

สุดท้ายลูกค้าก็มากขึ้น

จนแมคโดนัลด์ประสบความสำเร็จ และขยายสาขาด้วยการขายแฟรนไชส์ได้

.

นี่เป็นการประยุกต์ใช้กฎพาเรโตพื้นฐาน

ใคร ๆ ก็คงเคยได้ยินกฎ 80/20

นั่นหมายถึง ผลลัพธ์ 80 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากสิ่งสำคัญเพียง 20 เปอร์เซ็นต์

แต่คนที่เข้าใจและประยุกต์ใช้มันอย่างถูกต้อง

.

หลายธุรกิจใช้วิธีเพิ่มเมนู เพิ่มตัวเลือก

แต่ความจริงแล้ว กลยุทธ์ที่สำคัญกว่าคือการเลือกเฉพาะตัวเลือกที่สำคัญจริง ๆ

และโยนตัวเลือกที่เหลือทิ้งไป

.

.

5) พลิกสนามรบของตัวเอง

ในสงครามระหว่างชาวโรมันกับคาร์เธจ

เกิดการต่อสู้ทางทะเลครั้งใหญ่ขึ้น

.

ในขณะที่ชาวโรมันเก่งการรบบนบก ชาวคาร์เธจเก่งการรบในทะเล

เมื่อกองกำลังทั้งสองมีจำนวนเรือรบและพลทหารพอ ๆ กัน มาสู้กันในสมรภูมิทะเล

ชาวคาร์เธจที่เชี่ยวชาญการสู้รบในทะเลมากกว่า จึงน่าจะเป็นฝ่ายชนะ

.

แต่ชาวโรมันรู้เรื่องนี้ดี

และชิงจังหวะรบไม่ให้ชาวคาร์เธจใช้ข้อได้เปรียบดังกล่าว

ด้วยวิธีการจอดเรือเทียบสองฝั่งไม่ให้ชาวโรมันใช้ปืนใหญ่อย่างที่ถนัด

และใช้สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่าสะพานไม้พับได้ ‘คอร์วัส’

มาติดไว้ตรงหน้าเรือ

.

ทันทีที่มีโอกาส พวกโรมันก็ปล่อยสะพานไม้นี้ลง

สะพานไม้ก็จะหล่นไปพาดเรือของศัตรู และถูกตะปูตรงหัวสะพานตอกเอาไว้กับเรือศัตรูอย่างแน่นหนา

ชาวโรมันจึงวิ่งขึ้นเรือศัตรู ไปสู้รบได้ทันที

และเมื่อนั้น จากสมรภูมิทางน้ำ ก็กลายเป็นสมรภูมิทางบก

.

ชาวโรมันจึงกลายเป็นผู้ได้เปรียบในการสู้รบครั้งนี้ทันที

และพวกเขาก็เอาชนะชาวคาร์เธจผู้เชี่ยวชาญการสู้รบทางทะเลได้

.

การเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามที่ตัวเองใช้จุดแข็งได้เต็มที่

คือบทเรียนสำคัญจากเรื่องนี้

เราต้องไม่เล่นไปตามเกมของคนอื่น แต่เล่นในเกมที่เรารู้แน่ ๆ ว่าจะชนะ

.

.

.

...................................................................................................

ผู้เขียน: Dave Trott

ผู้แปล: พราว อมาตยกุล

จำนวนหน้า: 328 หน้า

สำนักพิมพ์: วีเลิร์น, สนพ.

หมวดหมู่: บริหารธุรกิจ , การตลาด

...................................................................................................

.

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #ภาวะสมองบอด




442 views0 comments

Comentários


Post: Blog2_Post
bottom of page