top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว ฝึกตัวเองให้เป็นคนทิ้งเป็น



12 ข้อคิดให้ไม่ยึดติดกับสิ่งเดิม ๆ

จากหนังสือ ฝึกตัวเองให้เป็นคนทิ้งเป็น

.

.

1) จง “ทิ้ง” สิ่งที่เคยทำมาในอดีต แม้มันจะเคยได้ผลก็ตาม

เพราะไม่มีอะไรมาการันตีได้ว่า สิ่งที่พาเรามาถึงจุดนี้ จะยังพาเราไปยังจุดหมายข้างหน้าได้

กับดักที่คนเรามักจะพลาดคือการยึดติดตัวเองกับอดีต และไม่กล้าเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น ลองถามตัวเองให้ดีว่า มันอาจถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องรู้จัก “ทิ้ง” แล้วเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นคนใหม่

.

2) อย่ายึดติดกับ “สิ่งที่เคยพูดในอดีต” มากจนเกินไป

เพราะตัวเราล้วนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ในอดีตเราอาจเคยพูดว่า “เราเกลียดการกินผัก” แล้วพูดออกไปให้คนอื่นฟัง

ถ้าเรายังยึดติดอยู่กับคำพูดนี้ เราก็อาจไม่กล้าพูดออกไปว่า ตอนนี้เราเปลี่ยนไปแล้ว เราชอบกินผักแล้ว

เช่นเดียวกันกับเรื่องสำคัญอื่น ๆ เมื่อก่อนมันอาจสำคัญ แต่ตอนนี้เรื่องนั้นอาจไม่สำคัญแล้วก็เป็นได้

ดังนั้น ลองพิจารณาว่าเราเป็นยังไงในปัจจุบัน แล้วปล่อยคำพูดในอดีตทิ้งไปซะ

.

3) ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงได้ ต้องออกจากสภาพแวดล้อมแบบเดิม ๆ

มีสถิติที่บ่งชี้ว่า 90% ของคนที่อยากเปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนตัวเองไม่ได้สักที คือคนที่อยู่กับพ่อแม่

เพราะเราล้วนเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมบ้านเดียวกับพ่อแม่ตั้งแต่ยังเด็ก

เราอาจติดนิสัยรักสบาย ขี้เกียจ

แม้จะออกไปทำงานข้างนอก แต่พอกลับมาบ้านพ่อแม่ ก็อาจกลับมาอยู่ใน “โหมดบ้านเกิด”

ดังนั้นถ้าเราอยากเปลี่ยนตัวเองได้ เราอาจต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อม พยายามออกมาให้ไกลจากจุด ๆ เดิมให้มากที่สุด

.

4) วิธีที่รับประกันได้เลยว่าจะล้มเหลว คือ การทำทุกอย่างให้ “สมบูรณ์แบบ”

ความสมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริง เช่น การที่จะทำให้ทุกคนรัก มักเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้

คนที่จะตั้งใจจะทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบ จึงมักพบกับความล้มเหลว

ดังนั้นแล้ว เราจึงควรเลิกใส่ใจความสมบูรณ์แบบ แล้วหันมาสนใจสิ่งที่เป็นไปได้จะดีกว่า

.

5) เป้าหมายของเราต้องไม่ใช่ “การไม่เป็น....” แต่ต้องเขียนออกมาให้ชัดเจน

การที่เราแค่รู้ว่าเราไม่ชอบอะไร หรือไม่อยากเป็นอะไร ไม่นับว่าเป็นเป้าหมายที่แท้จริง

เราต้องทำเป้าหมายของตัวเองให้ชัดก่อน

แล้วเรายังคอยหมั่นตรวจดูว่า สิ่งที่ทำอยู่นั้นเป็นประตูที่จะนำไปสู่สิ่งที่เราต้องการจริง ๆ รึเปล่า

.

6) คนที่เราควรจะทำให้มีความสุขที่สุดคือ “ตัวเราเอง”

ไม่ใช่คู่ชีวิตของเรา ไม่ใช่พ่อแม่ ไม่ใช่ลูก

เพราะมีแต่ตัวเราที่มีความสุขเท่านั้น ที่จะส่งผ่านความสุขนี้ไปหาคนรอบข้างได้

ดังนั้นแล้ว เราควร “เลิกรู้สึกผิด” เวลาที่เรากำลังทำอะไรบางอย่างเพื่อตัวเอง

.

7) ถ้าเรากำลังไขว่คว้าหาความสำเร็จให้คิดว่า “จะทำอะไร” แต่ถ้ากำลังไขว้คว้าหาความสุข หรือตัวตนของตัวเองให้คิดว่า “จะไม่ทำอะไร”

เพราะหลายครั้งเราต้องเลือกโฟกัสให้ถูกจุด และต้องเลือกทำซ้ำในสิ่งที่เป็นตัวเอง

การที่เรารู้จักตัดตัวเลือกอื่นที่อาจเข้ามา และมุ่งโฟกัสไปที่ตัวเอง อาจเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในสิ่งที่ตัวเองทำ

ดังนั้นแล้ว จงเลือกสนามแข่งของตัวเองที่เราจะโฟกัสได้ แล้วอย่าแหย่เท้าเข้าไปในสนามแข่งที่ไม่ใช่ของเรา

.

8) การพัฒนาความสามารถนั้นสำคัญ แต่ถ้าอยากขึ้นไปยืนบนจุดสูงสุด เราต้องใส่ “ความเป็นตัวเอง” เข้าไปด้วย

คนที่มีทักษะสูง ทำงานเก่ง อาจไม่ได้หารายได้เท่าคนที่ขายความเป็นตัวเองได้มาก

เช่น นักกีตาร์ที่เล่นโชว์ในทีวี อาจเล่นกีตาร์ไม่ได้เท่าลุงเซียนกีตาร์ที่เปิดร้านขายเครื่องดนตรี

แต่นักกีตาร์ที่ออกทีวี หาเงินได้มากกว่าลุงร้านเครื่องดนตรีมาก เพราะเขามี “จุดขาย” และใส่ “ความเป็นตัวเอง” เข้าไปในการแสดงแต่ละครั้ง

ดังนั้นแล้ว จงอย่าหนีความเป็นตัวเอง ลองหาวิธีผสานมันเข้าไปร่วมกับการพัฒนาทักษะต่าง ๆ

.

9) ยอมจำนนกับความเป็นตัวเอง

หลายคนอยากหนีความเป็นตัวของตัวเอง เพราะเคยมีตัวตนที่ไม่เอาไหนมากก่อน

แต่แท้จริงแล้ว การหนีจากตัวเองนั้นอาจทำไม่ได้จริง และอาจไม่ทำให้เราได้ค้นพบตัวตนที่ใช่

ทางที่ดีกว่าจึงเป็นการ “ยอมจำนน” หรือ “โอบรับ” ความเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่

ใหอภัยตัวเองและยอมให้ค่ากับส่วนที่ไม่ดี พร้อมมุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีกว่าเดิม

.

10) บทถัดไปของชีวิตเราอาจอยู่ “นอก comfort zone”

หลายครั้งเราไม่กล้าลองทำอะไรสักอย่างที่เราอยากทำ ไม่ใช่เเพราะไม่อยาก แต่เพราะ “กลัว”

กลัวว่าจะทำสิ่งนั้นไม่ได้ดี

ถ้าเราเอาแต่กลัว สุดท้ายก็คงไม่ได้เริ่มลงมือทำสิ่งใหม่สักที

ดังนั้นวิธีที่ดีคือ การรวบรวมความกล้าแม้จะน้อยนิด เอาชนะความกลัวนั้นให้ได้ แล้วลงมือทำ !

.

11) ศักยภาพของเรามักซ่อนอยู่ในหัวใจของ “เด็กน้อย” ลึก ๆ ในตัวเรา

ทุกคนมีความเป็นเด็กอยู่ในตัว แต่หลายคนเลือกที่จะปิดกั้นมันไว้

และยอมใช้ชีวิตตามมาตรฐานสังคมน่าเบื่อ ๆ แบบผู้ใหญ่

แต่แท้จริงแล้ว เสน่ห์ของตัวเรานั้นมักอยู่ในตัวตนเด็กน้อยของเรา

ดังนั้น เราควรปลดปล่อยตัวตนนี้ออกมาอย่างตรงไปตรงมา

รู้จักสนุกสนานกับสิ่งที่ทำบ้าง อย่าเอาแต่ทำตัวแข็งทื่อตามแบบผู้ใหญ่อย่างเดียว

.

12) เราทำได้เพียงสัญญากับตัวเองว่าจะพาตัวเองไปยังจุด ๆ นั้น ที่เหลือให้เป็นหน้าที่ของ “พลังภายนอก”

หลายครั้งเราต้องรู้จักไหลลื่นไปตาม “กระแสของชีวิต” และ “ความสัมพันธ์ของผู้คน”

ซึ่งสุดท้ายอาจพาเราไปอยู่ในจุดที่เหมาะสมกับตัวเราเองในที่สุด

.

.

รีวิวสั้น ๆ หลังอ่าน

เป็นหนังสือแปลญี่ปุ่น แนว howto ที่ฉีกแนวคิดเดิม ๆ หลายอย่าง

โดยเฉพาะเรื่องการรู้จักทิ้งตัวตนในอดีต

ซึ่งแม้เราจะเคยสำเร็จมาแค่ไหน แต่ถ้าถึงจุดหนึ่ง เราก็อาจต้องเปลี่ยนแปลง

คนเขียนกลั่นกรองประสบการณ์ชีวิตตัวเองออกมาได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะเรื่องที่เขาเรียนจบแค่ม.3

และกลายมาเป็นเซียนปาจิงโกะ นั่งเล่นแต่เกมปาจิงโกะทั้งวัน

แต่ก็ยังหาช่องทางมาเปิดธุรกิจตัวเอง จนประสบความสำเร็จใหญ่โตได้

.

ด้วยประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร

แนวคิดการใช้ชีวิตที่ถ่ายทอดผ่านหนังสือเล่มนี้ จึงแตกต่างจากหนังสือแปลญี่ปุ่นเล่มอื่น ๆ

ถ้าใครอยากได้แนวคิด howto ที่แตกต่างจากเดิม เล่มนี้ก็พอตอบโจทย์ได้ครับ

.

.

.......................................................................................................................

ผู้เขียน: ชิฮาระ ทากาชิ

สำนักพิมพ์: Be(ing)

จำนวนหน้า: 208 หน้า

.......................................................................................................................

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #ฝึกตัวเองให้เป็นคนทิ้งเป็น




178 views0 comments

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page