รีวิว น่าจะรู้อย่างนี้ตั้งแต่ตอนอายุ 20
What I Wish I Knew When I Was 20
.
‘ในวัย 20 ปี เราอาจกังวลเมื่อมองไปข้างหน้า ไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นในหัวโค้งถัดไป
แต่จงเชื่อเถอะว่า เราต้องเลิกกลัวและโอบกอดความไม่แน่นอนนั้น
ชีวิตจะพาเราไปยังโลกรอบตัวที่เต็มไปด้วยโอกาส และความเป็นไปได้เหลือคณานับ’
.
ข้างต้นคือใจความสุดท้ายที่ Tina Seelig เขียนทิ้งไว้ในหนังสือ น่าจะรู้อย่างนี้ตั้งแต่ตอนอายุ 20
เธอเล่าให้ฟังว่า ในวัย 20 ปี เธอเองก็มีความวิตกกังวลกับอนาคตอันไม่แน่นอนของเธอ
เธอได้แต่คิดว่าในวัยนั้น น่าจะมีใครสักคน ที่อาจเคยผ่านชีวิตมาก่อนเธอ
ได้เล่าและกระซิบบอกเธอให้เลิกหวาดหวั่น และจงมุ่งไปข้างหน้า โอบรับความไม่แน่นอนนั้น
เธอจึงตัดสินใจเขียนหนังสือที่จะเป็นแทนทำสิ่งนั้นขึ้นมา
.
และหลังอ่านจบต้องบอกว่า หนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่ดังกล่าวได้ดีมาก
ไม่ใช่เฉพาะกับคนวัย 20
แต่ไม่ว่าคนอ่านจะอายุ 30, 40, หรือแม้แต่ 50 ปีก็ยังอ่านได้
เพียงแต่ว่าวัยที่เราหวาดหวั่นกับชีวิตมักเกิดขึ้นตอนที่เรากำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่
และมองเห็นแต่ความไม่แน่นอน
.
หนังสือ น่าจะรู้อย่างนี้ตั้งแต่ตอนอายุ 20 ครอบคลุมเนื้อหาหลายส่วนที่กลั่นกรองจากประสบการณ์ตรงของ Tina Seelig ผู้เป็นอาจารย์ประจำวิชานวัตกรรมและการเป็นผู้ประกอบการ ที่มหาวิทยาลัย Stanford
พร้อมกับดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการหลักสูตรการลงทุนทางเทคโนโลยีที่คณะวิศวกรรมประจำ Stanford อีกด้วย
.
วิธีการสอนของเธอนับว่ามีการคิดนอกกรอบ และเน้นการลงมือปฏิบัติ
แน่นอนว่ามันช่างแตกต่างจากที่เราคนไทยเคยเรียน ๆ กันมาในมหาลัยแบบคาดไม่ถึง
ซึ่งทั้งหมดก็ล้วนมาจากประสบการณ์จริงของเธอ ก่อนที่จะก้าวเข้ามาเป็นอาจารย์
.
เรื่องเล่าจากกิจกรรมการสอนในคลาสวิชาผู้ประกอบการ และประสบการณ์ตรงของ Tina Seelig ที่ได้ทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทต่าง ๆ ล้วนประกอบไปด้วยไอเดียสร้างสรรค์มากมาย
ที่เหมาะมากสำหรับคนอยากเริ่มทำธุรกิจ และผู้ประกอบการหน้าใหม่ทุก ๆ คน
.
แต่ส่วนตัวคิดว่า หนังสือไปไกลมากกว่าเป็นคู่มือสร้างแรงบันดาลใจสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่
เนื้อหาให้บทเรียนที่ดีมากสำหรับคนที่ยังไม่เคยทำงาน หรือมีประสบการณ์น้อย
เพราะโลกการทำงานล้วนแตกต่างจากโลกการเรียนในมหาลัยแบบลิบลับ
.
สำหรับคนที่กำลังจะจบมหาลัย ก็อาจจะค่อย ๆ ได้เรียนรู้เรื่องเหล่านั้นจากประสบการณ์ตรง
เมื่อค่อย ๆ ก้าวเข้าไปทำงานไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างในบริษัท หรือทำธุรกิจของตัวเองก็ตาม
.
แต่เหมือนที่เกริ่นไว้ข้างต้น แม้เราจะเรียนรู้เรื่องราวในโลกการทำงานได้ด้วยตัวเอง
แต่มันจะดีกว่ามั้ย ถ้ามีใครสักคนคอยชี้แนะ
เล่าให้ฟังถึงโลกใบนั้นตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนเราจะก้าวเข้าไปผจญภัยจริง ๆ
.
มันจะดีกว่ามั้ย ถ้ามีคนคอยให้คำแนะนำ พร้อมส่งกำลังใจ
เป็นกำลังใจที่แท้จริง จากคนที่เคยผ่านโลกนั้นมาก่อน
.
บทเรียนสำคัญจากโลกธุรกิจ พร้อมกำลังใจให้เราก้าวเดินไปข้างหน้า และโอบรับความไม่นอนของโลกการทำงานนั้น
อาจสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ของนักศึกษาจบใหม่ในยุคนี้
โลกปัจจุบันที่มีการแข่งขันที่สูงมากก
และหลาย ๆ คนยังคงเดินงงอยู่กับความไม่แน่นอนที่กำลังจะเกิดขึ้นกับตัวเอง
วิชาที่สอนกันในมหาลัยทั่วไปอาจไม่เพียงพอจะปลอบประโลมหัวใจอันว้าวุ่นของคนที่กำลังจะก้าวผ่านรั้วมหาลัยสู่โลกการทำงานอีกต่อไป
หนังสือเล่มนี้จึงเป็นตัวช่วยหนึ่งที่จะทำให้เหล่าผู้ว้าวุ่นใจสามารถก้าวผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากเหล่านี้ได้
.
หลังอ่าน ยอมรับว่าแม้จะไม่ค่อยชอบสไตล์การเขียนหนังสือแนวนี้ ที่เป็นพารากราฟยาว ๆ เขียนติด ๆ กัน เว้นวรรคน้อย เป็นเรื่องเล่าที่แทรกบทเรียนสำคัญระหว่างเรื่อง ซึ่งผู้อ่านอาจต้องควานหาให้เจอเอง
แต่ข้อคิดที่ได้จากหนังสือมีประโยชน์จริง
หลายเรื่องเล่าชวนว้าวมาก
หลายเรื่องเล่าก็อาจไม่อิน
.
ผมอ่านครั้งแรก เฉย ๆ กับเล่มนี้มาก เพราะไม่อิน และไม่ชอบสไตล์การเขียน
แต่อ่านรอบถัดมา ได้ค้นพบข้อคิดดี ๆ ที่แทรกอยู่ระหว่างบรรทัด
แล้วรู้สึกได้เลยว่า หนังสือเล่มนี้ดีมากจริง ๆ
ดีกว่าอีกหลาย ๆ เล่มที่ให้บทเรียนตรงไปตรงมา แต่ไม่ลึกซึ้ง
.
เพราะฉะนั้นแล้ว ขอแนะนำว่า น่าจะรู้อย่างนี้ตั้งแต่ตอนอายุ 20 เป็นหนังสือที่น่าอ่านเป็นอันดับต้น ๆ สำหรับคนวัย 20-30 ปีครับ
.
ส่วนสรุปหนังสือ ผมขอหยิบข้อคิดที่แฝงตัวอยู่ระหว่างบรรทัดมาเล่าให้ฟัง 7 เรื่องนะครับ
.
1) โลกแห่งความเป็นจริงนั้น แตกต่างจากห้องเรียนทั่วไป
โลกในห้องเรียนนั้น นักเรียนมักจะต้องทำข้อสอบแบบปรนัย
ซึ่งจะมีคำตอบที่ถูกต้องตายตัวเพียงคำตอบเดียว
.
แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสถานการณ์ในโลกภายนอก
ที่คำตอบมักจะเป็นไปได้หลากหลาย และแต่ละคำตอบก็มักจะถูกต้องในทางใดทางหนึ่งเสมอ
.
และการไม่ได้เลือกคำตอบที่ถูกต้องตั้งแต่ตอนแรกก็ไม่ได้ทำให้สอบตกเหมือนในห้องเรียน
ความล้มเหลวเป็นเรื่องที่ยอมรับได้
และเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ในชีวิต
ชีวิตเต็มไปด้วยก้าวย่างที่ผิดพลาด อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และคนที่จะสำเร็จได้คือ คนที่กลั่นกรองบทเรียนจากความผิดพลาดนั้น ๆ และก้าวต่อไปโดยอาศัยสิ่งที่เรียนรู้ใหม่
.
การเลือกเส้นทางชีวิตนั้นก็ไม่ต่างอะไรกัน
เราไม่จำเป็นต้องเลือกเส้นทางชีวิตที่ถูกสำหรับเราตั้งแต่ครั้งแรก
เพราะชีวิตจะมองโอกาสอันหลากหลายให้เราได้ทดลอง
และผสานทักษะและความหลงใหลเข้าด้วยกัน ในแบบที่นึกไม่ถึงมาก่อน
.
และที่ต้องรู้ไว้อีกอย่างคือ
ทุกคนต้องเจอสถานการณ์เดียวกัน เราไม่ได้เลือกเส้นทางที่ผิดอยู่คนเดียว
ดังนั้นจงอย่ากลัวกับคำตอบที่ผิด หรือความไม่แน่นอนของชีวิต
จงเปิดรับอย่างมั่นใจที่จะออกค้นหาและสร้างเส้นทางของตัวเองไปเรื่อยๆ
.
.
2) ไม่มีแนวคิดที่แย่ แนวคิดที่มีคุณค่า คือแนวคิดที่เป็นไปได้เท่านั้น
แบบฝึกหัดของ Tina Seelig ในคลาสเรียนวิชาผู้ประกอบการ มหาลัย Stanford
คือ การให้นักเรียนแต่ละกลุ่มเขียนไอเดียในการแก้ปัญหาตามโจทย์ทีได้รับ
แล้วให้แบ่งไอเดีย เป็นแนวคิดที่แย่ที่สุด และแนวคิดที่ดีที่สุด
จากนั้นเธอก็นำแนวคิดที่แย่ที่สุดของแต่ละกลุ่มไปให้กลุ่มอื่น
เพื่อให้กลุ่มอื่นเอาแนวคิดเหล่านั้นไปต่อยอด
.
หลายครั้งที่นักเรียนในคลาสของเธอได้ค้นพบว่า แนวคิดที่ว่าแย่นั้น
ความจริงมันไม่ได้แย่ขนาดนั้น
มันมีทางเป็นไปได้
แค่ต้องได้รับการปรับแต่งนิดหน่อย
และหลายครั้งแนวคิดที่ดูยังใช้ไม่ได้ในทันที ถ้าได้รับการขัดเกลา มันก็อาจเป็นแนวคิดที่ยอดเยี่ยมในการใช้แก้ปัญหาได้
. และทั้งหมดก็เกิดจาก ‘การระดมสมอง’
คือการต่อยอดไอเดียซึ่งกันและกัน
ซึ่งอาจเปลี่ยนแนวคิดแย่ ๆ ของใครคนหนึ่ง เป็นแนวคิดที่ยอดเยี่ยมในการนำไปแก้ปัญหาจริงได้
.
.
3) โลกของคนเรามีอยู่ 2 แบบ
แบบแรก คือคนที่ต้องรอคนอื่นอนุญาตก่อน ถึงจะลงมือทำ
แบบที่ 2 คือคนที่ลงมือทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ โดยไม่รอให้คนอื่นอนุญาต
.
คนแบบแรกอาจต้องรอให้คนอื่นบอกก่อน ถึงจะค่อยทำ
เช่น ต้องคอยคนบอกว่ามีศักยภาพเพียงพอที่จะเขียนหนังสือได้ ถึงจะเริ่มเขียน
ต้องรอให้คนอื่นเรียกว่าประธานบริษัท ถึงจะยอมรับตำแหน่งนี้
เหมือนรอให้มีแรงกระตุ้นจากภายนอกแล้วจึงค่อยทำ
.
แต่คนแบบที่ 2 มองหาแรงจูงใจภายใน และเริ่มลงมือทำเลย
คนประเภทนี้จะคอยมองหาโอกาสด้วยตัวเอง
มองให้ไกลไปกว่าโต๊ะทำงาน มองออกไปภายนอกอาคาร มองออกไปที่หัวมุมถนน
โอกาสมีอยู่เกลื่อนกลาดมากมาย
.
คนประเภทที่ 2 จะมีเรื่องให้คุยมากกว่าคนประเภทแรกที่รอให้คนหยิบยื่นโอกาสให้
.
.
4) ลองทำหลาย ๆ อย่าง และล้มเลิกอย่างสง่างาม
หลักสำคัญในการพาตัวเองไปสู่ความสำเร็จ คือ
การที่เราทดลองทำสิ่งต่าง ๆ มากมาย และเชื่อมั่นว่าต้องมีสักอย่างที่จะพาเราไปสู่ความสำเร็จ
ความลับของผู้ชายคนหนึ่งที่มีโชคเรื่องสาว ๆ อยู่เสมอ
ทั้งที่หน้าตาไม่หล่อ ไม่ได้ฉลาด และไม่ได้มีอารมณ์ขันสักเท่าไหร่
คือ เขาขอนัดเดทกับหญิงสาวทุกคนที่เขาเจอ และยอมรับการถูกปฏิเสธหลายต่อหลายครั้ง
.
แต่คำถามสำคัญจริง ๆ คือถ้าเราทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปแล้ว
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เมื่อไหร่ที่เราควรล้มเลิก และเปลี่ยนไปทำสิ่งใหม่
.
บางสิ่งบางอย่าง อาจไม่มีวันสำเร็จไม่ว่าเราจะพยายามทุ่มเวลา เงินทอง และหยาดเหงื่อไปมากเท่าไหร่ก็ตาม
วิธีง่าย ๆ ที่เราจะใช้ตัดสินว่าควรล้มเลิกโครงการนั้นแล้วหรือยัง คือการฟังสัญชตญาณตัวเอง
และพูดคุยกับตัวเองแบบตรงไปตรงมาถึงทางเลือกที่เป็นไปได้อื่น ๆ
.
และอีกสิ่งที่สำคัญคือ เมื่อเราล้มเลิก
เราต้องล้มเลิกอย่างสง่างาม และไม่ทิ้งหลุมขนาดใหญ่ไว้เบื้องหลัง
เมื่อล้มเลิก เราต้องทำอย่างรอบคอบ และทำให้เกิดผลกระทบต่อคนรอบข้างน้อยที่สุด
.
ลองนึกถึง คนที่ลาออก 1 สัปดาห์สุดท้ายในการทำโปรเจคสำคัญดู
คนแบบนี้ได้สร้างผลกระทบให้กับเพื่อนร่วมโปรเจคที่เหลือ และทิ้งรอยบาดหมางไว้เบื้องหลัง
.
ถ้าวันหนึ่งคน ๆ นี้โคจรมาพบกับเพื่อนร่วมโปรเจคนั้นอีกครั้ง
ไม่ต้องคิดเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น
.
และจงระลึกไว้เสมอว่า โลกกลมมาก เรามีโอกาสจริง ๆ ที่จะได้เจอกับคนในอดีตที่เราเคยสร้างผลกระทบไว้
.
.
5) การยึดติดกับเส้นทางใดก็ตามเร็วเกินไป อาจทำให้เราเดินไปผิดทางได้
หลายคนตั้งเป้าอนาคตตัวเองไว้แน่นเกินไป
เหมือนจรวดนำวิถีที่พุ่งตรงไปยังเป้าหมาย
.
แต่ชีวิตจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น
คนส่วนใหญ่ต้องเปลี่ยนเส้นทางอยู่หลายครั้ง จนค้นพบเส้นทางที่เหมาะกับทักษะและความสนใจของตัวเอง
ไม่ต่างอะไรกับการออกผลิตภัณฑ์หรือซอฟต์แวร์ตัวใหม่
.
ถ้าเปรียบเทียบกับการเดินทางท่องเที่ยว
หลายครั้งที่ประสบการณ์ที่ดีที่สุดเกิดขึ้นกับสิ่งที่เราไม่ได้วางแผนไว้
แน่นอนว่าเราต้องวางแผนเที่ยวไว้ก่อนเดินทาง แต่อย่ายึดติดกับมันมากเกินไป
.
พอออกเดินทางแล้ว เราอาจพบกับเพื่อนใหม่ที่พาเราไปยังสถานที่ที่ไม่ได้อยู่ในคู่มือท่องเที่ยว
หรือเราอาจพลาดตกรถไฟ จนได้ออกสำรวจเมืองเล็ก ๆ นั้นทั้งวัน
.
ชีวิตจริงก็ไม่ต่างอะไรกัน
เรามักต้องพบเจอกับสิ่งไม่คาดฝันที่จะเข้ามาสร้างความประหลาดใจให้เราได้ตลอดการเดินทาง
.
เพราะฉะนั้นแล้วอย่ายึดติดกับเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งมากจนเกินไป
จงเปิดรับโอกาสใหม่ ๆ ที่เข้ามา
และจงเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในองค์กร และสภาพแวดล้อมที่เปี่ยมไปด้วยโอกาส
.
.
6) คุณลักษณะ 4 แบบของคนโชคดี
ตามงานวิจัยของริชาร์ด ไวส์แมน
คนที่โชคดีมักจะแชร์คุณลักษณะร่วมกันบางประการ
.
ประการที่ 1: คนโชคดีจะใช้ประโยชน์จากเหตุบังเอิญที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เป็นคนช่างสังเกต
คนอื่น ๆ มักมองข้ามเหตุการณ์เหล่านี้ไป แต่คนโชคดีจะพยายามดึงคุณค่าของสิ่งที่เกิดขึ้นออกมา
.
ประการที่ 2: คนโชคดีจะเปิดใจรับประสบการณ์ใหม่ ๆ และลองทำในสิ่งต่าง ๆ ที่ตัวเองไม่คุ้นเคย
เดินทางไปในที่ที่ตัวเองไม่รู้จัก คบหาคนที่ตัวเองไม่คุ้นเคย
.
ประการที่ 3: คนโชคดีจะเป็นคนชอบเข้าสังคม เป็นมิตรกับผู้คน
สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้คน และได้รับโอกาสที่ดีกลับมามากกว่าคนอื่น
.
ประการที่ 4: คนโชคดีจะมองโลกในแง่ดี และคาดหวังถึงสิ่งดี ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับตัว
เขาจะมีทัศนคติที่ดีกับคนรอบข้าง และเปลี่ยนสถานการณ์แย่ ๆ ให้กลายเป็นประสบการณ์ที่ดี
.
สรุปแล้ว นอกจากการทุ่มเททำงานหนัก ความโชคดียังเกิดจากการที่เราเปิดรับโอกาสต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ตักตวงผลประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้น ใส่ใจกับโลกรอบตัวอย่างเต็มที่ ปฎิสัมพันธ์กับคนให้มากที่สุด และพยายามสร้างความสัมพันธ์ในเชิงบวก
.
.
7) ความสัมพันธ์ของคนเรา เหมือนการค่อย ๆ หยดน้ำลงในสระ
โดยปกติแล้ว ชื่อเสียงเป็นทรัพย์สินที่มีค่ามากที่สุดในตัวเรา
จงรักษามันเอาไว้ให้ดี
แต่ถ้าในอดีตเราเคยทำผิดพลาดมาบ้าง ก็ต้องรอเวลาที่จะค่อย ๆ เยียวยาชื่อเสียงอันด่างพร้อย
.
การปฏิสัมพันธ์ของคนเราเหมือนการหยดน้ำลงในสระ
ยิ่งเรามีปฏิสัมพันธ์มาก ปริมาณน้ำก็จะยิ่งมาก สระก็จะยิ่งลึก
การปฏิสัมพันธ์ในแง่บวก คือการเติมหยดน้ำใสลงในสระ
ในขณะที่ การปฏิสัมพันธ์ในแง่ลบ คือการเติมหนดน้ำสีแดงลงในสระ
.
ดังนั้นแล้ว ถ้าเราจะเจือจางหยดน้ำสีแดง เราก็ต้องใช้หยดน้ำใส ปริมาณมหาศาล
แต่ก็ขึ้นกับคนแต่ละคนด้วย
คนใจดีอาจต้องการหยดน้ำใสเพียงเล็กน้อย
แต่คนใจแคบต้องการหยดน้ำใสปริมาณมาก
.
และสระน้ำแห่งความสัมพันธ์ก็ค่อย ๆ แห้งเหือดลงอย่างช้า ๆ
คนเรามักจะสนใจกับประสบการณ์ที่ได้รับล่าสุด มากกว่าประสบการณ์ที่ผ่านไปนานแล้ว
.
สิ่งที่ดีคือเราสามารถค่อย ๆ เติมหยดน้ำใสลงในบ่อน้ำสีแดงได้
แต่ถ้าหยดน้ำสีแดงมีปริมาณมากเกินไป ไม่ว่าจะเติมเท่าไหร่ ก็คงจะไม่สามารถเจือจางได้
และนั่นก็คงเป็นสัญญาณให้เราหยุดความสัมพัน์นั้นไว้เพียงเท่านั้น
.
ดังนั้นแล้วเราจึงควรตระหนักถึงผลกระทบของหยดน้ำสีแดงที่จะหยดลงในสระแห่งความสัมพันธ์
ก่อนที่จะสร้างประสบการณ์แย่ ๆ กับใคร
.
วิธีหนึ่งที่เรียบง่าย เมื่อเราเจอสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกคือ
การที่เราคิดว่า จะเล่าเรื่องราวนั้นอย่างไรในอนาคต ถ้ามีคนมาถาม
จงหาวิธีที่จะเราจะเล่าได้อย่างภาคภูมิใจในภายหลัง
.
.
.
.
.
.
.
..............................................................................................
ผู้เขียน: Tina Seelig
ผู้แปล: ธัญลักษณ์ เศวตศิลา, พรเลิศ อิฐฐ์
จำนวนหน้า:200 หน้า
สำนักพิมพ์: วีเลิร์น, สนพ.
..............................................................................................
.
.
สั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.
留言