top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว ทิ้ง1ให้ได้100ทิ้งน้อยให้ได้มาก


6 บทเรียนในการเลือกทิ้ง และการกล้าที่จะใช้ชีวิต

จากหนังสือ ทิ้ง 1 ให้ได้ 100 ทิ้งน้อยให้ได้มาก

.

1) การเติบโตคือ ความกล้าหาญที่จะทิ้งตัวตนเดิมของเรา

หลายครั้งเราอาจพบว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่เลือก ‘บันได’ ผิด

นั่นหมายถึงการเลือกไต่เต้าขึ้นไปในเส้นทางอาชีพที่ไม่ใช่ตัวเรา

.

ในกรณีแบบนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด

คือ ความกล้าที่จะกระโดดลงมาจากบันไดที่ไม่ใช่ตัวเราอย่างไม่ลังเล

และเตรียมใจให้พร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

.

เพราะถ้าเรามัวแต่สเสียดาย และไม่ปล่อยมือจากบันไดอันเดิม

เราก็คงจะไม่ได้เริ่มใหม่เสียที

.

2) เลิกคิดว่า เราได้เงินนั้นมายังไง แต่ให้คิดว่าเราจะใช้เงินที่มีอยู่อย่างไร

ความคิดหนึ่งที่เราควรทิ้งไป โดยเฉพาะคนที่เป็นประธานบริษัทคือ การยึดตัดกับ ‘ที่มาของเงิน’

หลายคนไม่กล้าใช้เงินเพราะ เป็นเงินที่ได้มาจากการเก็บหอมรอมริบกว่า 10 ปี

แต่จริง ๆ แล้วไม่ว่าเงินจำนวนนั้นจะได้มายากเย็นแค่ไหนก็ตาม

มันก็ยังเป็นเงินจำนวนเท่าเดิมอยู่ดี

.

สิ่งสำคัญจึงขึ้นอยู่กับการบริหารเงินที่มีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

.

3) อย่าคิดว่าบริษัทเป็นของฉันคนเดียว

ประธานบริษัทหลายคนที่สร้างบริษัทมากับมือมักจะยึดติดกับความคิดที่ว่า

บริษัทเป็นของตัวเองคนเดียว และมักคิดว่า ‘เงินในบริษัท’ เป็นของตัวเองคนเดียว

ความคิดอาจใช้ได้ในช่วงที่บริษัทเริ่มตั้งไข่

แต่พออยู่ตัวระดับหนึ่งแล้ว ประธานบริษัทควรเอาความคิดแบบนี้ออกไปเสีย

.

เพราะมันจะทำให้ประธานอยากเก็บเงินไว้กับตัวคนเดียว

และไม่ยอมใช้เงินไปกับการพัฒนาบุคลากรในบริษัท

.

แท้จริงแล้ว เมื่อบริษัทเติบโตมาได้ระดับหนึ่ง บริษัทก็จะกลายเป็นของพนักงานทุก ๆ คน

ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง

การใช้เงิน รวมถึงการตัดสินใจต่าง ๆ จึงไม่ควรขึ้นกับใครเพียงคนเดียว

.

4) จงกู้เงินในตอนที่บริษัทยังมีเงิน

เหตุผลง่าย ๆ เพราะถ้าตอนที่บริษัทขาดทุน คงไม่มีธนาคารไหนอยากปล่อยกู้

แต่ถ้าบริษัทแสดงความสามารถในการทำกำไรได้ ก็มีโอกาสที่ธนาคารจะยอมปล่อยกู้ เพื่อให้บริษัทมาต่อยอดธุรกิจเดิม

.

ส่วนคำถามที่ว่า จะกู้เงินมาทำอะไร

ผู้เขียนแนะนำสั้น ๆ ว่า กู้เงินมาลงใน ‘คน’, ‘ข้อมูล’, และ ‘แบรนด์’

เพราะเป็น 3 สิ่งที่จะทำให้บริษัทได้ผลตอบแทนเป็น 10 เท่าหรือ 100 เท่าจากเงินลงทุน

.

5) ตัวเลขในบัญชีเงินฝาก คือสิทธิที่เปิดทางให้เราทำอะไรสักอย่างได้

หลายคนมักติดกับดักการทำตัวเป็นนักเก็บเงิน หมายถึงทั้งชีวิตเอาแต่หาเงิน

และไม่เคยใช้เงิน เพราะไม่อยากใช้ คิดว่าเงินนั้นหามายาก

.

แต่ในมุมมองของผู้เขียนแล้ว คนที่ใช้ชีวิตได้อย่างรื่นรมย์ ‘พรั่งพร้อมบริบูรณ์จริง ๆ’

ไม่ใช่คนที่มีเงินในบัญชีเงินฝากสูง ๆ

แต่เป็นคนที่มีกระแสเงินหมุนเวียน และได้ใช้เงินเพื่อเติบเต็มความสนุกในชีวิตตัวเอง

.

เงินเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่อาจสำคัญกว่าคือ ความสามารถในการหาเงินเมื่อเราต้องการมัน

.

6) เวลาเป็น ‘เครื่องมือ’ ในการสร้างคุณค่า

หลายคนกลัวการใช้เวลาไปกับสิ่งต่าง ๆ

โดยเฉพาะเมื่ออายุยังน้อย หลายคนเอาแต่ทำงานเก็บเงิน และเสียดายเวลาที่จะเอาไปใช้กับครอบครัว เพื่อนฝูง หรือคนรัก

.

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยิ่งอายุน้อยเท่าไหร่ โดยเฉพาะคนอายุ 20-30 ปี

เรายิ่งควรใช้เวลาไปกับการสร้างการเติบโตให้ชีวิต

ซึ่งหมายความว่า เราควรมองมันเป็นเครื่องมือที่จะพาเราไปสู่ชีวิตในแบบที่เราต้องการ

.

สิ่งสำคัญจึงเป็นการใช้เวลาไปกับการลงทุนในความรู้ ในทักษะ ในความสัมพันธ์ ในการสร้างคอนเนคชั่น

ซึ่งสุดท้ายแล้ว สิ่งเหล่านี้จะออกดอกออกผลมากเกินกว่าที่เราลงทุนไปมาก

เพียงแต่เราต้องรอหน่อยเท่านั้นเอง

.

.

รีวิวหนังสือสั้น ๆ

ทิ้ง 1 ให้ได้ 100 ทิ้งน้อยให้ได้มาก เป็นหนังสือรวบรวมบทเรียนสั้น ๆ กว่า 35 ข้อที่มีเนื้อหาเกี่ยวโยงกับการทำงาน การทำธุรกิจ รวมไปถึงการใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จและมีความรื่นรมย์ไปพร้อม ๆ กัน

ส่วนใหญ่แล้วเนื้อหามาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนที่เริ่มเปิดบริษัทของตัวเองตั้งแต่อายุ 25 ปี

และล้มลุกคลุกคลานมาพอสมควร

แต่สุดท้ายก็ประสบความสำเร็จทั้งในแง่การทำธุรกิจ แง่การใช้ชีวิต และแง่การถ่ายทอดเรื่องราวผ่านการเขียนหนังสืออีกด้วย

.

คอนเซ็ปต์หนึ่งที่หนังสือพยายามสื่อ คือเรื่องของ ‘การเลือกทิ้ง’ และการ ‘กล้าที่จะใช้’

สองสิ่งนี้ดูเผิน ๆ ไม่น่าจะมีอะไรมาก แต่ความจริงแล้ว ปัญหาของหลายคนมักจะวนเวียนอยู่กับเรื่องเหล่านี้

กล่าวคือ ไม่ ‘กล้าที่จะทิ้ง’ ของที่ตัวเองมีอยู่บางอย่างไป เช่น ลูกค้าบางส่วนของบริษัท

หรือไม่ ‘กล้าที่จะใช้’ ของที่ตัวเองมีอยู่ไปกับสิ่งที่ควรใช้ เช่น เงินในการลงทุนกับกลยุทธ์ใหม่ หรือเวลาในการลงทุนพัฒนาตัวเอง

.

หลังอ่านจบแล้ว เนื้อหาค่อนข้างกระชับมาก

บทแต่บทค่อนข้างสั้น

บางบทก็ชวนคิดประเด็นน่าสนใจ บางบทก็ยังงง ๆ อยากได้คำขยายต่อ เพราะแอบสั้นเกินไป

สิ่งที่ส่วนตัวคิดว่าเป็นข้อด้อยคือ

เนื้อหาค่อนข้างปะปนกันไปมาระหว่าง เรื่องธุรกิจ เรื่องชีวิตการทำงาน และชีวิตส่วนตัว

เข้าใจว่าหลักการที่หนังสือต้องการจะสื่อ มันใช้ข้ามมาได้

แต่ถ้าข้ามไปมาบ่อยเกินไป คนอ่านก็อาจเกิดความสับสนว่า ทำไมอยู่ ๆ เปลี่ยนเรื่องที่โฟกัสเร็วจังเลย

ทั้ง ๆ ที่ยังอยู่ในบทเดียวกัน

.

อย่างไรก็ตามถ้าใครมีเวลา ลองหยิบอ่านแก้เบื่อกันดูครับ เนื้อหาสั้น ๆ ได้อะไรติดตัวกลับไปแน่นอน

.

.

..........................................................................................................

ผู้เขียน: โยะชิโอะ ยะซุดะ

ผู้แปล: โฆษิต ทิพย์เทียมพงษ์

จำนวนหน้า: 168 หน้า

สำนักพิมพ์: วีเลิร์น, สนพ.

..........................................................................................................

.

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #ทิ้ง1ให้ได้100ทิ้งน้อยให้ได้มาก




75 views0 comments

Comentarios


Post: Blog2_Post
bottom of page