top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว ทำที่บ้าน





รีวิว ทำที่บ้าน

How to Work in a Family Business

.

‘ยากกว่าทำธุรกิจ คือการทำธุรกิจครอบครัว’

.

มีคำกล่าวกันอย่างหนาหูสำหรับการทำธุรกิจที่บ้านว่า

‘รุ่น 1 สร้าง

รุ่น 2 สาน

รุ่น 3 ทำลาย’

.

คำกล่าวนี้ดูจะได้รับการยืนยันจากการสำรวจของ Pwc ที่บอกว่า

มีธุรกิจเพียง 40% ที่ส่งต่อถึงรุ่นที่ 2

และมีธุรกิจเพียง 12 ที่ส่งต่อถึงรุ่นที่ 3

และมีธุรกิจเพียง 1 ที่อยู่ได้จนถึงรุ่นที่ 5

.

นี่เป็นการยืนยันถึงปัญหาของการทำที่บ้าน ที่ปกติมักถูกละเลย และไม่ค่อยมีคนเขียนถึงมาก่อน

หนังสือเล่มนี้อาจเป็นเล่มแรกที่หยิบสารพัดปัญหาการสานต่อธุรกิจของเหล่าทายาทมาพูดกันแบบเปิดอก ตรงไปตรงมา

พร้อมเสนอทางออกสำหรับปัญหาเหล่านั้น

.

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย กวาง เสสินัน ทายาทธุรกิจปั๊มน้ำมัน ที่ได้ตัดสินใจกลับไปสานต่อธุรกิจครอบครัว

หลังจากเรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ ตอนป.ตรี ในตอนแรกได้ช่วยพ่อแม่ดูแลธุรกิจหลัก จนทำไปเรื่อย ๆ ก็ออกมาเปิดปั๊มน้ำมันสาขาของตัวเอง

.

เป็นเวลากว่า 5-6 ปี ที่กวางกลับมานั่งอยู่ที่ ‘บ้าน’ ซึ่งได้กลายเป็นสถานที่ทำงานไปในตัว

กวางได้เจอกับปัญหาสารพัดในการทำงาน และเริ่มคิดว่า ทำไมไม่มีคู่มือดี ๆ ที่แนะนำหลักการทำงานกับที่บ้านมาก่อน

เลยตัดสินใจรวบรวมข้อมูลจากประสบการณ์ของตัวเอง และการพูดคุยกับเหล่าทายาทคนอื่น ๆ จนกลั่นกรองออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้

.

หนังสือเล่มนี้อาจดูจะเจาะตลาดกลุ่มเฉพาะสำหรับเหล่าทายาทผู้มารับหน้าที่สานต่อธุรกิจครอบครัว

แต่ถ้าเราดูตัวเลขตามสถิติแล้วจะพบว่ากว่า 80% ของ SMEs ในไทยล้วนเป็นธุรกิจครอบครัว

และกว่า 80% ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็ล้วนเริ่มมาจากธุรกิจครอบครัวทั้งสิ้น

ดังนั้นแล้วปัญหาการสานต่อธุรกิจครอบครัวอาจเป็นปัญหาขนาดใหญ่ ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมานานกว่าที่คิด

.

สำหรับคนที่เป็นทายาท เล่มนี้จะทำตัวเป็นคู่มือเวลาเจอปัญหาหนักใจ

และอาจทำตัวเป็นเพื่อนที่เข้าใจ ในวันที่รู้สึกโดดเดี่ยวอยู่ที่บ้านของตัวเอง

.

สำหรับคนนอก (รวมถึงตัวผมด้วย) แล้ว อ่านเล่มนี้จบก็ทำให้เข้าใจความรู้สึกของเหล่าทายาทธุรกิจรุ่น 2 มากขึ้น

ยอมรับว่าภาพความสบาย คุณหนู คุณชาย ก็จาง ๆ ลงบ้าง

แต่ที่สำคัญคือเข้าใจว่า ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไรก็ต้องเจอปัญหาด้วยกันทั้งนั้น

ทำงานประจำ ก็มีปัญหาแบบหนึ่ง

ทำงานฟรีแลนซ์ ก็เจอปัญหาอีกแบบหนึ่ง

ทำธุรกิจเองก็ ก็มีปัญหาของตัวเอง

และทำธุรกิจที่บ้าน ก็เจอปัญหาที่ซับซ้อนในแบบของมัน

.

ถ้าใครอยากรู้จักวงการการทำธุรกิจที่บ้าน ก็ลองซื้อมาหาอ่านได้เลยครับ

.

.

สุดท้ายขอยก 10 บทเรียนสำคัญสำหรับทายาทที่อยากกลับไปทำที่บ้าน มาฝากกันครับ

.

1) เหตุผลของการกลับไปทำที่บ้าน

เป็นเรื่องน่าแปลกใจอย่างยิ่งที่เหตุผลหลักกว่า 70% คือการกลับไปเพราะความกตัญญู

ต้องการตอบแทนคุณพ่อแม่ และไม่อยากทิ้งสิ่งที่คนรุ่นก่อนสร้างมากับมือ

.

ในขณะที่อีก 30% ที่เหลือคืออยากสานต่อธุรกิจ และทำให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป

.

การที่คนกลับไปทำที่บ้านกว่า 70% มองเรื่องความกตัญญูและความรับผิดชอบมากกว่า ความอยากทำของตัวเอง

ทำให้เกิดปัญหามากมายระหว่างทำ

การทะเลาะเบาะแว้ง การโต้เถียง การไม่เข้าใจกัน

และหลายครั้งธุรกิจก็เป็นอันต้องจบสิ้นไป

.

.

2) ข้อดี และข้อเสียของการกลับมาทำที่บ้าน

สำหรับคนที่ตัดสินใจจะกลับมาทำที่บ้านอาจได้พบข้อดีดังต่อไปนี้

1. มีเวลามากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง

2. มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ได้ดูแลผู้ใหญ่มากขึ้น

3. ไม่ต้องเริ่มทุกอย่างจากศูนย์ มียอดขาย มีฐานลูกค้าเก่า ไม่ต้องเสี่ยงเริ่มใหม่หมด

.

ส่วนราคาที่ต้องจ่ายมาในการกลับมาทำที่บ้านก็เช่น

1. มีเวลาให้เพื่อนลดลง สังสรรค์ได้ลดลง ยิ่งถ้าธุรกิจที่บ้านอยู่ต่างจังหวัด แต่มาเรียนในกรุงเทพ และเพื่อนส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในเมืองหลวง

2. การไม่ต้องเริ่มศูนย์อาจเป็นข้อดี แต่ในบางครั้งการนับเลขต่อก็ยากไม่แพ้กัน

3. การทะเลาะกับครอบครัวเพราะเรื่องงาน อาจกระทบความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย

4. ความสบายก็อาจลดลง เพราะต้องอยู่ในสายตาผู้ใหญ่ตลอดเวลา เช่น ตื่นสายในวันหยุด ก็อาจโดนคนรุ่นก่อนมองว่าขี้เกียจ

.

.

3) การแบกรับแรงกดดันมหาศาล

ตามมุมมองของผู้เขียนแล้ว ทายาทอาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่แบกรับแรงกดดันไว้มากที่สุด

และการเป็นทายาทก็ไม่ได้สบายเหมือนที่คนนอกชอบจินตนาการกัน

.

แรงกดดันก็มาจากหลายแหล่ง

เช่น

- แรงกดดันที่ต้องเป็นเงาของผู้ใหญ่อยู่ตลอดเวลา

- แรงกดดันที่ทำดีเท่าไหร่ ก็ถูกมองว่าเสมอตัว

- แรงกดดันที่ต้องสานต่อธุรกิจให้ได้ หลายครั้ง การสร้างขึ้นมาว่ายากแล้ว การรักษาไว้อาจยากกว่า

- แรงกดดันที่ต้องสร้างการยอมรับจากลูกน้องที่อาจทำงานมาก่อนเรา

- แรงกดดันในการดีลงานกับคู่ค้า

.

ดังนั้นแล้วทายาทต้องรู้จักฝึกวิชาอดทนรับแรงกดดันเหล่านี้ไว้ให้ดี

.

.

4) เหงาเท่าอวกาศ

ความสัมพันธ์เองก็เป็นราคาอีกอย่างที่ทายาทต้องจ่ายเมื่อกลับไปทำงานกับที่บ้าน

และหลาย ๆ ครั้งผู้ใหญ่ที่บ้านก็อาจไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้

เพราะฉะนั้นคนที่ตัดสินใจจะกลับมาทำที่บ้าน ต้องทำใจว่า

1. ต้องกินข้าวคนเดียว หลายครั้งอาจต้องกินข้าวบนโต๊ะทำงาน

ไม่มีเพื่อนออกไปกินข้าวกลางวันด้วยกันเหมือนการทำงานบริษัท

เพื่อนที่ดีที่สุดอาจเป็น Youtube และ Netflix

.

2. ไม่มีเพื่อนร่วมงานที่แท้จริง

คนที่ทำงานด้วยส่วนใหญ่ก็คือผู้ใหญ่ ซึ่งก็คือคนในครอบครัวและเป็นหัวหน้าเราโดยตรง

ส่วนลูกน้องคนอื่น ๆ เมื่อเราสวมหมวกทายาท ก็คงพูดไม่ได้เต็มปากว่าจะคุยกับพวกเขาได้ตรง ๆ

โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับผู้ใหญ่

.

3. ไม่มีเวลาให้เพื่อน

นัดเพื่อนยาก อาจมีวันหยุดไม่ตรงกัน

และอาจถูกมองไม่ดีในสายตาผู้ใหญ่

.

4. ไม่มีใครเข้าใจ

บริบทของงานที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะกับเพื่อน ๆ ที่เป็นมนุษย์เงินเดือนคนอื่น ๆ

หรือจะคุยกับผู้ใหญ่ทีเป็นคนละเจนกัน ก็คงคุยได้ไม่ทุกเรื่อง

.

วิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ที่ผู้เขียนนำเสนอคือ

1. ตั้งใจทำงาน พิสูจน์ผลงานให้ผู้ใหญ่เห็น จะได้ไม่มีใครว่าตอนที่เราแบ่งเวลาไปสร้างสมัมพันธ์กับคนอื่น ๆ

2. คุยกันให้ชัดเจนว่าเราแบ่งเวลางาน เวลาสร้างความสัมพันธ์ยังไง

.

.

5) เปลี่ยนวิธีการ อย่าเปลี่ยนความเชื่อ

สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาของคนต่างเจนกันคือ เรื่องความเชื่อ

ซึ่งก็มักจะเกิดจากอิทธิพลของสภาพสังคมในยุคที่แต่ละเจนเติบโตขึ้นมา

.

เรื่องหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความอดทน

คนกลุ่ม baby boomer จะเป็นคนที่อดทนมาก

ทุ่มเทกับการทำงานหนัก เคร่งครัดกับจารีตประเพณี เพราะยุคของเขาคือยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

เศรษฐกิจต่าง ๆ เพิ่งเริ่มฟื้นตัว

ในขณะที่ คน Gen X และ Gen Y เริ่มมีความอดทนลดหลั่นลงมา

พอคน Gen Y มารับช่วงต่อธุรกิจ จึงมีปัญหาความขัดแย้งเรื่องความเชื่อเกิดขึ้น

.

แต่เรื่องความเชื่อล้วนเป็นสิ่งที่หล่อหลอมกันมานานนับสิบปี

ใช่ว่าจะเปลี่ยนกันง่าย ๆ

โดยเฉพาะคนรุ่นก่อน ๆ

.

สิ่งที่เปลี่ยนกันง่ายกว่าจึงเป็น เรื่อง ‘วิธีการ’

โดยยังให้ตอบความเชื่อเดิมของคนทั้ง 2 รุ่น

เช่น คนเจน Baby Boomer ชอบการตื่นมาทำงานแต่เช้า

ในขณะที่คน Gen Y ชอบการทำงานที่เป็นระบบ

พอรุ่นผู้ใหญ่ตื่นขึ้นมาเปิดประตูม้วนโรงงานทุกวันตอนตีห้า คน Gen Y ก็คงจะอยากเปลี่ยน

แต่จะให้เปลี่ยนด้วยการเปลี่ยนความเชื่อก็คงไม่ได้

คงจะได้นั่งเถียงกันทั้งวัน เหมือนเรื่องการเมืองหรือศาสนา

ดังนั้นสิ่งที่ทายาท Gen Y ควรทำคือเปลี่ยนที่วิธีการ

ประตูโรงงานจะยังถูกเปิดตอนตีห้า

แต่ถูกเปิดโดยระบบอัตโนมัติ ที่ทำงานโดยระบบสวิตชิ่ง

และก็แค่นำรีโมทไปให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย

.

เท่านี่ก็เกิดการทำงานที่เป็นระบบ โดยผู้ใหญ่ก็ไม่ต้องลำบากไปเปิดประตูโรงงานทุกวันแล้ว

.

.

6) แก้ปัญหาคลาสสิคของระบบกงสี

กงสีคือ ระบบที่ลูกหลานมาแบ่งส่วนงานในธุรกิจทำ และได้ผลตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ

บางคนอาจได้เป็นเงินปันผล บางคนได้เป็นค่าจ้าง

แต่ส่วนใหญ่ชอบเกิดปัญหา พอถึงตอนคนรุ่นก่อน ส่งมอบกิจการให้คนรุ่นถัดไป

.

ปัญหาส่วนใหญ่ก็จะมาจากการที่ผลตอบแทนไม่เท่ากับแรงที่ลงไป

คนทำไม่ได้ คนได้ไม่ทำ ลูกชายคนโตรับหมด

.

วิธีแก้ปัญหาแบบนี้ ต้องจัดทำธุรกิจกงสีให้เป็นระบบ เช่น

1. ผลตอบแทนต้องชัดเจน

ใครเป็นผู้ถือหุ้นก็ได้แต่ปันผล ใครเป็นคนทำงานก็ได้ค่าตอบแทนไป

.

2. เงินเดือนต้องเหมาะสมกับความสามารถ

ให้คิดซะว่า เหมือนเราไปทำงานในบริษัทอื่น

.

3. เงินธุรกิจ ไม่เท่ากับ เงินครอบครัว

แยกออกจากกันให้ชัดเจน

เงินธุรกิจมีไว้เพื่อใช้ดำเนินธุรกิจเท่านั้น

.

4. กระจายอำนาจ ลดบทบาทตัวเอง

ลองเปิดโอกาสให้ลูกหลานได้แสดงความเห็น ได้ลองใช้ไอเดียตัวเองบ้าง

อย่ายึดอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางเพียงแห่งเดียว

.

5. หาคนนอกเข้ามาช่วยงาน

เพื่อมองหาไอเดียใหม่ ๆ และอย่าเข้าข้างคนในครอบครัวตัวเอง

พยายามบริหารงานแบบมืออาชีพ

.

.

7) ธุรกิจแบบเถ้าแก่ ต้องคิดถึงระบบ

เข้าใจว่า ถ้าเป็นร้าน ๆ เดียว ยังใช้ระบบแบบเถ้าแก่

ซึ่งหมายถึง ผลลัพธ์ของการบริหารงานคือ ผลลัพธ์ของแนวคิดผู้บริหาร

.

ถ้าธุรกิจเริ่มมีร้านสาขา ก็อาจจะหา ‘ร่างทรง’ ซึ่งก็มักจะเป็นเหล่าทายาทมาบริหารร้านสาขาต่อ

แต่ถ้าธุรกิจเติบโต และมีเป็น 100 สาขา

อาจจะถึงเวลาที่ต้องวางระบบแบบจริงจังแล้ว

เช่น การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ ไม่ว่าจะเป็น ERP POS หรือการ outsource กิจกรรมธุรกิจบางอย่าง

เพื่อให้ผู้บริหารโฟกัสกับงานสำคัญได้มากขึ้น

.

.

8) พิสูจน์ตัวเอง เอาชนะใจผู้ใหญ่

สิ่งแรกที่ทายาททุกคนควรทำคือ การเอาชนะใจผู้ใหญ่

และพิสูจน์ให้พวกเขาเห็นว่า เรามีความสามารถมากพอในการรับช่วงต่อธุรกิจ

.

เพราะธุรกิจครอบครัวแตกต่างจากธุรกิจทั่วไปตรงที่ว่า

ความมั่นคงของธุรกิจ อาจหมายถึงความมั่นคงของครอบครัวด้วย

ผู้ใหญ่ซึ่งรู้ดีกับธุรกิจมากที่สุด จึงต้องไว้ใจทายาทในระดับหนึ่ง ก่อนจะปล่อยมือให้มาบริหารแบบเต็มตัว

.

ทายาทหลายคนอยากสร้างระบบ อยากรีแบรนด์ อยากทำให้ธุรกิจเติบโต

แต่สิ่งแรกที่ควรทำจริง ๆ คือการพิสูจน์มือตัวเองกับผู้ใหญ่ซึ่งอยู่ในธุรกิจมาก่อน

.

.

9) ตอดงาน ดื้อ และสร้างความสำเร็จเล็ก ๆ

มีหลายวิธีที่ช่วยให้เราพิสูจน์ตัวเองได้

เช่น การลองตอดงาน หรือการของานผู้ใหญ่มาทำ

เราจะนั่งรอให้งานมาหาเราเองไม่ได้

เราต้องเป็นคนออกไปหางาน

.

หรือเราจะลองดื้อบ้างเป็นครั้งคราว

การดื้อ คือการทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วย

เช่น ผู้ใหญ่อาจไม่อยากได้คนมาช่วยขาย

แต่เราอยาก เพราะจะช่วยแบ่งเบาภาระลงได้

ก็ให้ลองทำดูบ้าง

ถ้าไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร

ถ้าสำเร็จ ก็อย่าเอาไปคุยโวต่อหน้าผู้ใหญ่ละ

.

และอีกเรื่องคือการค่อย ๆ สะสมความสำเร็จไปทีละน้อย

เปรียบเหมือนการวิ่งมาราธอน

หลักกิโลเมตรที่ 1 คือการเปลี่ยนระบบหลังบ้าน

หลักกิโลเมตรที่ 2 คือการสื่อสารกับคนในองค์กร

หลักกิโลเมตรที่ 3 คือการเข้าใจแบรนด์

เมื่อเราทำสำเร็จกับเรื่องเล็ก ๆ ไปเรื่อย

ผู้ใหญ่จะเริ่มเชื่อใจเรามากขึ้น

เหมือนการค่อย ๆ พิสูจน์ตัวเองนั่นเอง

.

.

10) อย่าลืมบริหารความสัมพันธ์

แม้จะได้ยินคำแนะนำที่ให้แยกงานกับเรื่องส่วนตัวออกจากกันอยู่บ่อย ๆ

แต่สำหรับธุรกิจครอบครัวนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย

ถ้าความสัมพันธ์ดี งานก็ดูน่าจะออกมาดีไปด้วย

.

ดังนั้นแล้วสิ่งที่ต้องทำไปพร้อม ๆ กับการพิสูจน์ตัวเอง คือการบริหารความสัมพันธ์กับครอบครัว

ลองใช้เวลาด้วยกันดู กินข้าว ออกไปเที่ยว

แต่อย่าให้มันดูน่าเกลียดจนกลายเป็นการเลียแข้งเลียขา เพื่อรอรับมรดก

.

.

…………………………………………………………………………………………………

ผู้เขียน: เสสินัน นิ่มสุวรรณ์

จำนวนหน้า: 248 หน้า

สำนักพิมพ์: เสสินัน นิ่มสุวรรณ์

เดือนปีที่พิมพ์: 9/2020

…………………………………………………………………………………………………

.

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #ทำที่บ้าน





281 views0 comments

コメント


Post: Blog2_Post
bottom of page