top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว ชีวิตติดปีก ด้วยศิลปะแห่งการ "ช่างแม่ง"

Updated: Oct 19, 2021






รีวิว ชีวิตติดปีก ด้วยศิลปะแห่งการ "ช่างแม่ง"

The Subtle Art of Not Giving A F*ck

.

‘หาค่านิยมของตัวเองให้เจอ เลิกแคร์คนอื่น และช่างแม่งกับบรรดาสิ่งห่วยๆซะ’

.

เป็นหนังสือที่ฉีกกฎหนังสือพัฒนาตัวเองเดิมๆ ที่มุ่งหวังให้เราหมั่นพัฒนาตัวเอง และก้าวไปสู่เป้าหมายที่ใฝ่ฝัน หนังสือเล่มนี้บอกให้ช่างแม่งเรื่องพวกนั้นทั้งหมด แล้วหันกลับมาคิดดีๆว่าเราจะเติมเต็มชีวิตยังไงก่อนจะตายจากโลกนี้ไป

.

สิ่งสำคัญคือหนังสือไม่ได้เน้นย้ำไปที่เรื่องการหันกลับมามองโลกในแง่ดี แผ่พลังบวก เชื่อในแบบที่ตัวเองอยากเป็นแล้วจะได้ผล หรือพวกเทคนิคที่หนังสือพัฒนาตัวเองเล่มอื่นๆชอบพูดกัน เล่มนี้แทบจะคิดตรงข้ามทั้งหมด และบอกถึงผลเสียของเทคนิคเหล่านั้น

.

เชื่อได้เลยว่าหลังอ่านจบ จะมีคนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. คนที่ชอบในความแหวกแนวของเนื้อหา สะใจไปกับเรื่องเล่าของผู้เขียน และถูกสะกิดแบบแรงๆให้ช่างแม่งค่านิยมที่ยึดถือมานานซะ

2. คนที่รู้สึกไม่ได้อะไรเลย นอกจากพลังลบ และความไม่พอใจของผู้เขียนต่อโลกใบนี้

.

หนังสือ ชีวิตติดปีก ด้วยศิลปะแห่งการ "ช่างแม่ง" เขียนโดย มาร์ค แมนสัน นักเขียนผู้ผันตัวจากการทำงานประจำมาทำอาชีพบล็อกเกอร์แบบเต็มตัว

.

ถ้าอ่านหนังสือในเล่มอาจไม่แปลกใจมากว่าทำไมมาร์ค ถึงเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา และเล่าเรื่องต่างๆออกมาในเชิงลบ พร้อมความช่างแม่งทั้งหลายเหล่านี้

- ในวัยเด็กเขาเป็นเด็กไม่เอาถ่าน ติดยาเสพติด และเคยถูกครูจับได้ พร้อมไล่ออกจากโรงเรียน

- ในช่วงวัยรุ่น หลังจากพ่อแม่หย่ากัน เขากลายเป็นคนรักสนุกมาก ใช้ชีวิตไปวันๆ ติดเซ็กส์ และเป็นเสือผู้หญิง

- เขาไม่ยอมทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือน และอยากหาธุรกิจออนไลน์ของตัวเองทำ แต่ก็ต้องต่อสู้กับความขี้เกียจมากมาย กว่าจะบังคับตัวเองได้

- เพื่อนซี้คนนหนึ่งของเขาตายไปในงานปาร์ตี้ริมหน้าผา โดยที่เขาได้คุยกับเพื่อนเป็นคนสุดท้าย แต่ตอนตายกลับไม่รู้เรื่องอะไรเลย

- เขาเคยออกเดินทางท่องเที่ยวไปมากกว่า 50 ประเทศ ใช้เวลานานหลายปี แต่กลับไม่รู้สึกเป็นอิสระ และมีความหมาย จนกระทั่งเริ่มมาลงหลักปักฐาน ถึงจะได้ค้นพบความหมายที่ขาดหายไปดังกล่าว

.

โดยรวมแล้วแทบจะเรียกว่า ชีวิตของ มาร์ค ล้มลุกคลุกคลาน ขึ้นรถไฟเหาะตีลังกาไปมาหลายรอบ ก่อนจะกลั่นกรองบทเรียนชีวิตตัวเองออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ แล้วขายหนังสือได้ทั่วโลก

.

อย่างไรก็ตาม จะบอกว่าหนังสือเล่มนี้ แผ่ออกมาแต่พลังลบก็คงไม่ใช่ หนังสือมีการแฝงแง่คิดดีอยู่ตลอดเล่ม เพียงแต่ว่ามันเป็นการพูดแบบตรงไปตรงมา ไม่มีอ้อมค้อม เช่น ‘จงยอมรับความเจ็บปวดนั้น ชีวิตคือความทุกข์’ หรือ ‘คุณไม่ใช่คนทำผิด แต่คุณก็ต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ดี’ เรื่องพวกนี้แก้ไขอะไรไม่ได้ นอกจากยอมรับมัน หาวิธีอยู่กับมันให้ได้

.

เรื่องพวกนี้อ่านแล้วอาจทำให้โมโหได้ เพราะมีแต่เรื่องน่าอมทุกข์ทั้งนั้น ไม่ใช่แรงบันดาลใจมาผลักดันให้ชีวิตไปข้างหน้าเลย แต่ถ้าใครที่เคยผ่านชีวิตแทนเจ็บปวดมาแบบมาร์ค ก็อาจจะมีแนวคิดแบบเดียวกันก็เป็นได้

.

สังคมทุกวันนี้ไม่ได้มีพื้นที่ให้ปล่อยพลังลบออกมามากนัก หนังสือพัฒนาตัวเองเล่มต่างๆมีแต่จะพูดสร้างแรงบันดาลใจให้ลงมือทำ ให้ตั้งเป้าหมายสูงๆ หรือไม่ก็ปลอบประโลมใจ ให้หยุดพกในวันที่เหนื่อย

.

แต่เล่มนี้ไม่ใช่ทั้ง 2 แบบ เล่มนี้บอกแค่ให้ยอมรับในชีวิตแย่ๆที่ต้องเจอ แล้วช่างแม่งให้หมดซะ

.

ข้อดีหนักๆของหนังสืออีก 2 ข้อคือ หนังสืออ่านสนุกมาก ภาษามีความมันส์ มีอรรถรส อ่านแล้วไม่ง่วงเหงาหาวนอนแบบหนังสือจิตวิทยา และตัวอย่างประกอบก็แปลกดี ไม่ได้มีข้อสรุปที่เด่นชัด แต่ทำให้คนอ่านจำเรื่องได้แม่น เพราะคนเขียนเล่าสนุก

.

ยังไงถ้าใครอยากอ่านหนังสือที่แหก mainstream ของหนังสือพัฒนาตัวเองและปลดปล่อยเรื่องดาร์คๆออกมาเต็มที่ ลองอ่านเล่มนี้ดูก็ไม่เสียหายครับ

.

หนังสือ 200 กว่าหน้า อ่านเพลินมาก เพราะเหมือนอ่านเรื่องเล่าของคนเขียนตลอดเล่ม ภาษามีความจิกกัด มีอารมณ์ตลก น่าหัวเราะ น่าสงสัย คอยให้ติดตาม และช่วงมีสาระผลัดไปผลัดมาอยู่ตลอดเล่ม ยังไงลองซื้อมาอ่านกันดูครับ

.

สุดท้าย ผมขอเลือกแนวคิดแบบช่างแม่งของมาร์ค แมนสัน มาเล่าให้ฟัง 10 ข้อครับ

.

.

1) อย่าพยายาม เพราะนั่นแปลว่าเรายังพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่

.

อาจฟังดูย้อนแย้งมาก แต่ ‘การโหยหาความคิดเชิงบวกนั้น แท้จริงแล้วเป็นความคิดเชิงลบ แต่การยอมรับความคิดเชิงลบของตัวเองนั้นคือความคิดเชิงบวก’

.

มาร์ค แมนสัน ผู้เขียนเรียกสิ่งนี้ว่า ‘กฎแห่งการย้อนกลับ’

.

เมื่อเราปรารถนาอยากได้สิ่งไหน นั่นมักจะแปลว่า เรายังขาดสิ่งนั้นอยู่ และเราไม่พอใจที่เราเป็นแบบนั้น

.

เช่น ถ้าเราอยากรวยมาก นั่นก็แปลว่าเรายังไม่พอใจกับเงินที่เรามี ไม่ว่าเราจะหาเงินได้เท่าไหร่ก็ตาม

หรือถ้าเราอยากสวยมาก นั่นก็แปลว่าเรายังไม่พอใจกับหน้าตาและรูปร่างของตัวเอง ไม่ว่าตัวเราจะเป็นยังไงก็ตาม

.

ในโลกทุนนิยมที่แทบทุกอย่างเป็นธุรกิจไปหมด เราสามารถพบเจอโฆษณาชวนเชื่อตามโซเชียลมีเดียได้แทบทุกวัน

.

โฆษณาพวกนี้ชอบหลอกให้เราเชื่อว่า ตัวเองอยากได้สิ่งนู้น อยากเป็นสิ่งนี้ ยิ่งประกอบเข้ากับพลังของโซเชียลมีเดียที่มีคนแชร์ชีวิตดีย์ๆ อยู่วันละ 100 โพสต์แล้ว หลายๆครั้งเราก็กลายเป็นคนที่อยากเป็นในแบบที่คนอื่นอยากให้เป็น แต่ตัวเองไม่ต้องการ

.

เพราะฉะนั้นแล้ว จงอย่าพยายาม และแคร์ให้น้อยลงซะ

.

.

2) แคร์เฉพาะเรื่องที่ควรแคร์ ที่เหลือช่างแม่งให้หมด

.

จริงอยู่ที่ว่าชีวิตเราต้องเลือกแคร์อะไรสักอย่าง แต่เราควรตระหนักรู้ไว้ว่า สิ่งนั้นคือสิ่งที่ตัวเราแคร์จริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่มาจากโลกรอบตัว

.

ตอนเด็กๆ เราอาจมีเรื่องที่แคร์มากเต็มไปหมด แต่พอโตขึ้นมา เรื่องพวกนี้ก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ และเราก็เลือกเป็นในแบบที่ตัวเราเป็นจริงๆได้มากขึ้น

.

แต่หลายๆครั้งเราก็มักเจอกับอุปสรรคจากโลกรอบตัว โดยเฉพาะจากพิษโซเชียลมีเดีย สิ่งที่ทำให้เราเชื่อว่าเราแคร์ว่าคนอื่นสนใจว่าเราจะเป็นยังไง ทำตัวยังไง

.

วิธีแก้คือ หาสิ่งที่เราแคร์จริงๆให้เจอ ซึ่งสิ่งนี้มักจะเป็นค่านิยมในตัวเราจริงๆ เอาสิ่งนี้ยึดเป็นเป้าไว้ต่อสู้กับอุปสรรค

.

และช่างแม่งเรื่องอื่นๆที่เราเคยแคร์ แต่ไม่สำคัญ การเมินเฉยคือการยอมรับว่าเราแตกต่างจากคนอื่น และเรามีสิ่งที่เราแคร์จริงๆอยู่

.

.

3) ความสุขที่แท้จริง เกิดจากการได้แก้ปัญหา

.

นึกถึงเรื่องราวของเจ้าชายสิทธัตถะ ที่เคยใช้ชีวิตเสวยสุขเป็นเจ้าชายอยู่ในวัง จนกระทั่งเบื่อหน่ายและสละสมบัติทุกอย่างออกมาเผชิญความทุกข์ยากอยู่ข้างนอกวัง ก่อนจะค้นพบทางสายกลาง และตรัสรู้กลายเป็นพระพุทธเจ้า

.

ชีวิตที่มีแต่ความสุขของเจ้าชายสิทธัตถะ ไม่ได้ทำให้เจ้าชายค้นพบความสุขที่แท้จริง นั่นก็เพราะไม่ได้มีปัญหาอะไรให้เจ้าชาย และเจ้าชายไม่ได้ใช้ความสามารถแก้ปัญหาอะไรสักอย่าง

.

ความสุขที่แท้จริงจึงอาจจะเกิดขึ้นได้ตอนที่เราสนุกไปกับปัญหาที่เผชิญ และใช้ศักยภาพของเราในการแก้ปัญหานั้นๆ

.

‘ปัญหา’ ที่ว่านี้อาจเป็น ปัญหาเล็กๆ แก้ง่ายๆเช่น การหาของอร่อยกินสักมื้อแก้หิว การเล่นเกมออนไลน์กับเพื่อนแก้เบื่อ จนไปถึงปัญหาที่ซับซ้อน จับต้องไม่ได้ และต้องอาศัยความพยายามอย่างมากในการแก้ เช่น การเลือกอาชีพที่ชอบ การหาเงินให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ หรือการรักษาความสัมพันธ์กับลูกๆให้แนบแน่น

.

ปัญหามีให้แก้อยู่เรื่อยๆในชีวิตเรา ความสุขที่เราได้จากการแก้ปัญหาจึงไม่มีวันจบสิ้น ความสุขที่เราได้จากการแก้ปัญหาในวันนี้อาจเป็นบ่อเกิดของปัญหาในวันพรุ่งนี้ก็เป็นได้

.

ปัญหาและความสุขจริงเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ใช่ภาพปาฏิหาริย์ที่เรามีเงินร้อยล้านอยู่ในมือ หรือภาพเรากำลังเที่ยวรอบโลกอยู่

.

.

4) เลือกความยากลำบากที่เราพร้อมเผชิญ

.

สิ่งที่ต่างกันชัดเจนของคนที่ประสบความสำเร็จกับคนที่ล้มเหลว ไม่ใช่เป้าหมายที่วาดไว้ ไม่ใช่การลงมือทำ แต่คือการทนอยู่กับความทุกข์จากความยากลำบากที่ต้องเผชิญ

.

ระหว่างทางไปสู่ความสำเร็จ ไม่มีพรมแดงปูให้เดิน มีแต่ขวากหนามทิ่มแทง และความทรมานที่เราต้องทนอยู่กับสิ่งเดิมๆนานเป็นหลักปี

.

คนส่วนใหญ่ล้วนอยากมีเงินเดือนสูงๆ ห้องทำงานดีๆ แต่น้อยคนที่จะทนกับการทำงาน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ การต้องทนรถติดทุกวันตอนเดินทาง การจมอยู่กับกองเอกสารมหึมา และการค่อยๆไต่เต้าไปทีละขั้นเพื่อเลื่อนต่ำแหน่ง

.

เช่นเดียวกับตัวผู้เขียนเองที่อยากเป็นร๊อคสตาร์ แต่เขาเพียงแค่เห็นภาพตัวเองยืนอยู่บนเวที มีคนดูนับหมื่นตะโกนร้องชื่อเขา และมีแสงไฟสาดส่องมาที่ตัวเขาในค่ำคืนแห่งเสียงเพลง เขาไม่เคยคิดภาพตัวเองฝึกซ้อม จับคอร์ดกีตาร์ และฝึกดีดกีตาร์เพลงเดิมๆนานแรมปี

.

คำถามที่เราควรถามตัวเองเมื่อออกแบบชีวิตในฝันของเราจึงไม่ใช่ เราอยากได้ชีวิตแบบไหน แต่เป็น ‘เราพร้อมจะเผชิญกับความยากลำบากอะไรบ้าง?’ ‘เราต้องการความเจ็บปวดอะไรบ้าง?’

.

.

5) จงระวังค่านิยมห่วยๆ

.

ค่านิยม เป็นสิ่งที่อยู่ลึกลงไปกว่าอารมณ์และการแสดงออกของเรา มันถูกซ่อนไว้ในส่วนลึกของใจ และเป็นตัวควบคุมการตัดสินใจต่างๆของเรา

.

แน่นอนว่าค่านิยมบางประการก็เป็นสิ่งที่ควรเก็บไว้ แต่บางอย่างก็ควรทิ้งไป

.

ตัวอย่างของค่านิยมห่วยๆที่ไม่ควรเก็บไว้เช่น

ทหารญี่ปุ่นชื่อ ฮิโระ โอโนดะ ที่อุทิศตัวให้กับจักรวรรดิญี่ปุ่นแบบลืมหูลืมตา เข้าไปอาศัยอยู่ในป่าดงดิบประเทศฟิลิปินส์ถึง 30 ปีเพื่อปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาเข้าไปอยู่แบบนั้นนานหลายสิบปีแม้สงครามโลกจะจบไปแล้ว เขาทำแบบนั้นเพียงเพราะว่าค่านิยมเดียวที่เขายึดถือคืออุทิศชีวิตให้กับจักรวรรดิญี่ปุ่น

.

แน่นอนว่าค่านิยมห่วยๆของเขาทำให้เขาต้องนอนในป่าดิบชื้นคนเดียวกว่า 30 ปี ประทังชีวิตด้วยหนอนและแมลงสาบ และฆ่าฟันชาวบ้านหลายคนเพียงเพื่อแย่งเสบียงอาหาร

.

อีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงค่านิยมห่วยๆอย่างชัดเจนคือ

.

เดฟ มัสเทน นักกีตาร์ที่โดนเพื่อนร่วมวงไล่ออกจากวง จนกระทั่งเขามาตั้งวงใหม่ของเขาและมีชื่อเสียงโด่งดังในระดับประเทศ เพียงแต่ว่าเขาไม่เคยคิดว่าตัวเขาประสบความสำเร็จ เพียงเพราะว่าเพื่อนรวมวงเก่าของเขาดังกว่าเขา ขายเทปได้มากกว่า แม้เขาจะประสบความสำเร็จในการเล่นดนตรีเท่าไหร่ แต่เมื่อเขายังไม่เหนือกว่าเพื่อนวงเก่าที่ไล่เขาออกเมื่อ 20 ปีก่อน เขาก็ยังคิดว่าตัวเองล้มเหลว

.

นอกจากนี้แล้ว หนังสือยังแนะนำประเภทค่านิยมห่วยๆอีก 4 แบบได้แก่

- รักสนุก

- ความสำเร็จทางวัตถุ

- ต้องถูกเสมอ

- คิดบวกตลอดเวลา

.

.

6) จงรับผิดชอบกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต

.

สิ่งที่เราควรตระหนักไว้ก็คือ ‘ชีวิตของเราคือการเลือกอยู่เสมอ’ ไม่ว่าจะเป็น การเลือกค่านิยมต่างๆของตัวเอง รวมถึงเลือกการตอบสนองต่อสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น

.

เวลาเกิดเรื่องแย่ๆขึ้น หลายคนโยนความผิดให้สิ่งรอบข้าง ไม่ใช่ตัวเอง ซึ่งแม้ว่ามันจะจริงแค่ไหน สุดท้ายมันก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรที่จะทำแบบนั้น

.

สุดท้ายแล้วก็ตัวเรานี่แหละที่ต้องรับผิดชอบ

.

เพราะฉะนั้นจงคิดว่า ความผิดคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นอดีต แต่ความรับผิดชอบคือสิ่งที่เราต้องทำในปัจจุบัน

.

ลองนึกถึงตัวอย่างคนที่เป็นโรค OCD หรือโรคย้ำคิดย้ำทำ

หนังสือเล่าถึง เด็ก 3 คนที่ประสบกับภาวะจากโรคนี้ในลักษณะต่างกันเช่น คนนึงต้องทำทุกอย่างด้วยมือ 2 ข้างเสมอ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน อีกคนต้องเคาะทุกอย่างที่เดินผ่านไม่งั้นจะนึกถึงเรื่องร้ายๆกับครอบครัว อีกคนกลัวเชื้อโรคจนต้องใส่ถุงมือตลอด กินได้แค่น้ำต้มร้อนและอาหารที่ปรุงเอง

.

เด็ก 3 คนนี้อาจโทษกรรมพันธุ์ที่ทำให้ชีวิตตัวเองแย่ปานนี้ แต่นั่นไม่ทำให้อะไรดีขึ้นมา สิ่งที่พวกเขาควรทำคือการหาวิธีแก้ไข ค่อยๆปรับแก้พฤติกรรม เลือกการตอบสนองที่ถูกต้อง ซึ่งสุดท้ายแล้วการบำบัดก้ได้ผล

.

แต่สิ่งสำคัญคือ เด็กทั้ง 3 เลือกที่จะรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าด้วยตัวเอง และค่อยๆแก้ไขมันไป

.

.

7) ยอมรับเรื่องความไม่แน่นอน และตั้งคำถามกับความเชื่อของตัวเอง

.

หลายคนมั่นใจกับสิ่งที่ตัวเองเชื่อมากจนเกินไป และไม่เคยตั้งคำถามเลยว่าทำไมตัวเองถึงคิดแบบนั้น

.

ตัวอย่างเช่น พี่ชายที่คัดค้านการแต่งงานของน้องสาวแบบหัวชนฝา แต่ไม่เคยตั้งถามว่าทำไมตัวเองถึงคิดแบบนั้น

.

จริงๆแล้วเขาอาจคิดแบบนั้นเพราะ เขาอิจฉาน้องสาว เขากลัวว่าจะสูญเสียน้องสาวไป เขามีอีโก้ของตัวเองที่สูงมากและต้องการให้น้องสาวเชื่อฟัง เขาเชื่อในสัญชาตญาณของตัวเองที่บอกว่าคู่หมั้นของน้องสาวห่วยแตก

.

สิ่งเหล่านี้คือความไม่แน่นอนในความเชื่อของเรา เราจึงควรหมั่นตั้งคำถามกับความเชื่อเหล่านี้ แล้วตอบตัวเองให้ได้

.

เพราะหลายๆครั้งนั้น คำตอบที่ถูกต้องที่สุดอาจไม่มีอยู่จริง ‘เราจึงไม่ควรหาคำตอบที่ถูกต้องตลอดเวลา แต่ควรหาวิธีทำผิดพลาดน้อยลงต่างหาก’

.

.

.

8) สร้างปฏิกิริยาลูกโซ่ของแรงจูงใจ

.

สิ่งที่คนทั่วไปคิดคือ แรงบันดาลใจ นำมาซึ่ง... แรงจูงใจ ซึ่งนำมาซึ่ง... การลงมือทำ

.

แต่ความจริงแล้วหลายๆครั้งมันยากที่เราจะค้นหาแรงจูงใจหรือแรงบันดาลใจที่จะลุกจากโซฟา แล้วลงมือทำสิ่งที่วางแผนไว้

.

วิธีที่ง่ายกว่าจึงเป็นการลงมือทำก่อน ...แล้วเดี๋ยวเราจะค่อยๆสร้างแรงบันดาลใจในการทำ แล้วมันจะกลายมาเป็นแรงจูงใจเอง

.

วัฏจักรนี้จะได้ดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด ลงมือทำ... แรงบันดาลใจ... แรงจูงใจ... ลงมือทำ... แรงบันดาลใจ... แรงจูงใจ... ลงมือทำ... แรงบันดาลใจ... แรงจูงใจ...

.

.

9) รู้จักปฏิเสธทางเลือกอื่นๆบ้าง

.

อิสระช่วยเปดิโอกาสให้เราได้ทำสิ่งที่มีความหมายให้กับชีวิตมากขึ้น แต่อิสระด้วยตัวมันเองแล้วกลับไม่ได้มีความหมายอะไร

.

สิ่งสำคัญกว่าอิสระคือ การตีกรอบให้กับอิสระ

.

หลายๆครั้งเราต้องลองผูกมัดตัวเองกับสถานที่เดียว ทักษะเดียว ความเชื่อเดียว หรือคนๆเดียวบ้าง เราจะได้ใช้เวลาอยู่กับสิ่งๆนั้นจนเข้าใจมันอย่างลึกซึ้ง

.

และการเข้าใจอย่างลึกซึ้งนี่เองที่จะนำมาซึ่งความหมายของการทำสิ่งต่างๆในชีวิต

.

เมื่อยังเด็ก มันอาจดีกว่าที่เราออกไปสำรวจหาสิ่งต่างๆรอบตัว ลองทำหลายๆอย่าง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว เราต้องเลือกที่จะทำแค่บางอย่าง และปฏิเสธสิ่งอื่นๆที่ดูจะใช่น้อยกว่า

.

ด้วยวิธีนี้เราจึงสามารถจมตัวเองอยู่กับสิ่งที่เราเลือกเป็นเวลานานพอในการเกิดความลึกซึ้งและความหมายในการทำสิ่งนั้น

.

ค่านิยมเองก็เช่นกัน เราจำเป็นต้องเลือกสิ่งที่คิดว่าใช่กับตัวเองมากที่สุด และปฏิเสธค่านิยมอื่นๆที่ใช่น้อยกว่าไป

.

.

10) ใคร่ครวญถึงความตายของตัวเอง

.

เพราะเรารู้ถึงความตายที่กำลังจะมาถึง เราเลยรู้ถึงความหมายของการมีชีวิตอยู่

.

เมื่อเรารู้ว่าวันหนึ่งเราจะต้องตาย เราจึงควรเลือกค่านิยมที่เรามีที่จะตอบโจทย์ชีวิตเราได้อย่างถูกต้อง ถ้าไม่มีความตาย เราคงจะใช้ชีวิตไปอย่างสะเปะสะปะ

.

ความตายจึงเป็นเหมือนเข็มทิศนำทางชีวิตเรา เราจึงควรใคร่ครวญถึงมันบ้างในบางเวลา

.

.

.............................................................................

ผู้เขียน: มาร์ค แมนสัน (Mark Manson)

ผู้แปล: ยอดเถา ยอดยิ่ง

จำนวนหน้า: 242 หน้า

สำนักพิมพ์: บิงโก, สนพ.

ชื่อเรื่องต้นฉบับ: The Subtle Art of Not Giving A F*ck

.............................................................................

.

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่:

.

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #ชีวิตติดปีกด้วยศิลปะแห่งการช่างแม่ง #TheSubtleArtofNotGivingAFuck




636 views0 comments

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page