top of page

รีวิว คิดใหญ่ ไม่คิดเล็ก

  • Writer: หลังอ่าน: รีวิวหนังสือ
    หลังอ่าน: รีวิวหนังสือ
  • Sep 22, 2021
  • 2 min read




รีวิว คิดใหญ่ ไม่คิดเล็ก

The Magic of Thinking Big

.

.

‘ความสำเร็จ ขึ้นกับขนาดความคิด คิดเล็กจะประสบความสำเร็จเล็ก คิดใหญ่จะประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่’

.

นี่เป็นหนังสือมหาอมตะนิรันดร์กาลที่ควรอ่านตั้งแต่เรียนมหาลัย เพื่อปรับหลักคิด และวางแผนชีวิตด้วยการคิดให้ใหญ่เข้าไว้

.

ตลอดเล่มหนังสือเล่าพลังของความเชื่อมั่นและวิธีการคิดใหญ่ที่เรียกว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่เราสามารถนำไปต่อยอด ตั้งเป้าหมาย และลงมือทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จ

.

แน่นอนว่าถ้าใครไม่เคยอ่านหนังสือแนวจิตวิทยา-พัฒนาตัวเองมาก่อน เล่มนี้นับว่าเป็นเล่มแรกๆที่ควรพิจรณา เพราะช่วยจัดระเบียบความคิดเราใหม่หมด ก่อนจะค้นหาเป้าหมายและมุ่งหน้าไป

.

หนังสือโดยรวมอ่านง่ายมาก ตัวอย่างแม้จะเก่าแต่ไม่เอ้าต์เลย เป็นตัวอย่างที่อ่านแล้วจำได้ เอาไปเล่าต่อได้ แต่ละบทยังกระชับได้ใจความ มีสรุปแนวทางการปรับความคิดสำหรับผู้อ่านเป็นข้อๆชัดเจน

.

ถ้าให้นึกถึงหนังสือจัดระเบียบความคิด เล่มนี้อาจเป็นเล่มแรกๆที่หลายคนนึกถึง

.

นอกจากนี้หนังสือยังทรงอิทธิพลมาก มีการนำไปอ้างอิงต่อมากมาย แม้แต่ quote บน facebook ที่เราเห็นกันอยู่เรื่อยๆ หลายอันก็เอามาจากเรื่องเล่าในหนังสือเล่มนี้เอง

.

อย่างที่บอกเลยครับ ส่วนตัวคิดว่าควรอ่านเล่มนี้ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย หรือช่วงก่อนทำงาน เพราะเป็นช่วงที่หลายคนเริ่มวางแผนชีวิต และกำลังหาเข็มทิศที่จะมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายที่ใฝ่ฝัน

.

หรือถ้าบางคนค้นพบตัวเองเร็ว รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร อยากมุ่งหน้าไปทางไหน ก็อาจจะเริ่มตั้งแต่ก่อนเข้ามหาลัยก็เป็นได้

.

ผมจะขอดึงเนื้อหาบางส่วนที่ชอบมากเป็นพิเศษมาสรุปให้ฟัง เป็นการป้ายยาให้ไปหามาอ่านเล่มเต็มกันต่อนะครับ สรุปออกมาเป็น 10 ข้อดังต่อไปนี้ครับ

.

1) ‘ขนาดความสำเร็จ’ ถูกกำหนดโดย ‘ขนาดความคิด’

.

คนที่คิดเล็ก ก็จะประสบความสำเร็จเล็กน้อย แต่คนที่คิดการใหญ่ก็จะประสบความสำเร็จที่ยิงใหญ่

.

สิ่งที่น่าสนใจคือ โดยปกติแล้วการคิดใหญ่และแผนการใหญ่มักจะลงมือทำได้ง่ายกว่าแผนการเล็กและการคิดเล็ก

.

ดังนั้นเราต้องเริ่มจากความเชื่อมั่นในตัวเองว่าเราทำได้ คิดอยู่เสมอว่าเราจะสำเร็จ และคิดแผนการใหญ่เข้าไว้ เพื่อหาลู่ทางไปสู่ความสำเร็จนั้น

.

.

2) กำจัดข้ออ้างยอดนิยม 4 ประการ

.

คนเรามักมีโรคแห่งความล้มเหลวอยู่ในตัวโดยไม่รู้ตัว นั่นก็คือ ‘โรคชอบแก้ตัว’ โดยใช้ข้ออ้างประการ

.

ข้ออ้างที่ 1: ข้ออ้างเรื่องสุขภาพ

หลายคนนิยมอ้างเรื่องความไม่พร้อมทั้งทางกาย และทางจิตใจในการไม่ลงมือทำสิ่งต่างๆ ไหนจะปวดแขน ไหนจะเป็นโรคนู้น โรคนี้

.

วิธีแก้ข้ออ้างประเภทนี้คือ ปฏิเสะที่จะยึดติดอยู่กับสุขภาพที่ไม่ดีของตัวเอง หยุดพูดถึงมันไปสักพัก อย่าพยายามเป็นทุกขืหรือหนักใจเรื่องสุขภาพให้มากกว่านี้ แล้วลองหันมาโฟกัสที่ส่วนที่ยังดีอยู่ จงภูมิใจในสุขภาพของตัวเองให้เท่าผู้อื่น และคิดว่า ‘สึกไปดีกว่าเป็นสนิม’

.

ข้ออ้างที่ 2: ข้ออ้างเรื่องความฉลาด

มีอยู่ 2 สาหุตที่ทำเป็นข้ออ้างในเรื่องนี้ คือ การประเมินหัวมองของตัวเองต่ำเกินไป และประเมินหัวสมองของคนอื่นสูงเกินไป

เป็นเรื่องน่าแปลกที่การะเมินลักษณะแบบนี้ฉุดรั้งเราไว้ไม่ให้เราลงมือทำ แม้เราจะมีความรู้สะสมไว้อย่างเหลือเฟือ

.

จริงๆแล้วมีผลการวิจัยจากหลายสำนักชี้ให้เห็นว่า คนที่มีไอคิวสูงไม่ได้เป็นคนที่ประสบความสำเร็จเสมอไป มันขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย เช่น การรู้จักใช้คน การรู้จักทำตัวเป็น ‘วิศวกรมนุษย์’ สร้างทีมขึ้นมาให้ทำงานร่วมกันจนสำเร็จ หรือการนำความรู้ที่มีมาสร้างเป็นความสามารถใหม่และใช้มันอย่างสร้างสรรค์

.

วิธีแก้ง่ายๆสำหรับคนที่ชอบแก้ตัวด้วยความฉลาดคือ เราต้องเข้าใจใหม่ว่าค่าไอคิวและปริมาณสมองไม่ได้สำคัญเท่ากับวิธีการจัดการกับสมอง และที่สำคัญ ‘ทัศนคติสำคัยกว่าความฉลาด’ เราต้องปรับทัศนคติให้ถูกต้อง โดยเฉพาะทัศนคติของผู้ชนะ และเราต้องจำไว้ดีๆว่า การจำข้อมูลได้มากๆไม่ได้ได้ผลดีเท่าการสร้างและพัฒนาความคิด

.

ข้ออ้างที่ 3: ข้ออ้างเรื่องอายุ

มีทั้งสองด้านคือ ‘เราแก่เกินไป’ และ ‘เรายังเด็กเกินไป’

แน่นอนว่าหลายๆครั้งเราอาจพบกับข้ออ้างเหล่านี้ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มธุรกิจใหม่เมื่อเราอายุเริ่มเยอะแล้ว หรือการต้องผู้จัดการตั้งแต่ยังหนุ่มสาว และมีลูกน้องเป็นคนอายุมากกว่า

.

วิธีในการจัดการข้ออ้างเรื่องอายุให้ราบคาบคือ การเปลี่ยนมุมคิด จากการโฟกัสว่าเราแก่เกิน ให้มองว่า ‘เรายังหนุ่มอยู่’ หรือถถ้าเราชอบอ้างว่าเด็กเกิน ก็ให้มองว่า ‘เราโตพอแล้ว’ จำไว้ว่าถึงเราจะอายุ 50 ก็ยังมีเวลาอีกตั้ง 40%ของชีวิตรอเราอยู่ ซึ่งนั่นอาจเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับเราก็เป็นได้

.

สิ่งสุดท้ายคืออย่าไปเสียใจกับอดีตที่ผ่านไปแล้ว ว่าเราไม่ได้ลงมือทำอะไรจริงจังเลย ให้เราเปลี่ยนมาคิดว่า ยังมีอนาคตอันสดใสรอเราอยู่ เราจะเริ่มทำมันเดี๋ยวนี้

.

ข้ออ้างที่ 4: ข้ออ้างเรื่องโชค

หลายคนชอบอ้างว่าคนอื่นโชคดี และตัวเองโชคไม่ดี แต่ถ้าคิดแบบนี้ก็อาจไม่ยุติธรรมกับคนที่เราอ้างถึง และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา

.

วิธีแก้คือ จงคิดใหม่ว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมีเหตุและผลของมัน แม้ว่าโชคจะเป็นส่วนหนึ่งแต่มีปัจจัยอีกหลายๆอย่าง ทั้งความทุ่มเท การทำงานหนัก และที่สำคัญการมีทัศนคติที่ถูกต้องที่จำทำให้สำเร็จ

.

.

3) บริหารธนาคารความจำด้วย 2 หลักการ

.

1. ฝากเฉพาะความคิดบวก

ทุกคืนก่อนเข้านอนให้คิดถึงเรื่องดีๆที่เกิดขึ้นในวันนั้น อาจเป็นเรื่องง่ายๆ แต่นี่เป็นการฝึกเติมความคิดบวกเข้าไปในธนาคารของเรา

.

นอกจากนี้อย่าเผลอเติมความคิดลบเข้าไปเป็นอันขาด เพราะความคิดลบจะเข้าไปบ่อนทำลาย กัดกร่อนจิตใจ และสร้างความวิตกกังวลให้เราโดยไม่รู้ตัว

.

2. ถอนเฉพาะความคิดบวกจากธนาคารความจำ

แน่นอนว่าหลายๆครั้ง มักมีเรื่องสะเทือนใจที่จำฝังใจของเราเป็นเวลานาน เรื่องเหล่านั้นคือความคิดลบอันเป็นปีศาจร้าย ที่ฉุดรั้งเราไว้ไม่ให้ก้าวไปไหน

.

วิธีแก้ง่ายนิดเดียว คือเราต้องปิดบัญชีความคิดลบไปให้หมด อย่าถอนอสูรกายความคิดลบให้มันมาบ่อนทำลายชีวิตเราได้อีก และโฟกัสไปที่การถอนแต่ความคิดที่เป็นบวก

.

.

4) 5 เทคนิคเสริมความมั่นใจกับตัวเราเอง

.

1. นั่งแถวหน้า

อย่ากลัวที่จะตกเป็นเป้าสายตา จงลองหาที่นั่งแถวหน้าๆเข้าไว้

.

2. ฝึกสบตา

เวลาพูดกับใครอย่าหลบสายตา ถือเป็นการสร้างความมั่นใจให้ทั้งผู้ฟังและผู้พูดด้วย

.

3. เดินให้เร็วขึ้น 25%

ยืดไหล่ เงยหน้า แล้วเดินให้เร็วขึ้น เป็นการเสริมสร้างความมั่นใจว่า เรากำลังจะไปที่สำคัญ ไปทำเรื่องที่สำคัญซึ่งจะนำมาซึ่งความสำเร็จ

.

4. ฝึกพูดแสดงความคิดเห็น

อย่าปฏิเสธการให้ความเห็นเพียงเพราะไม่มั่นใจ ให้หมั่นฝึกพูดออกไป เพราะการพูดเป็นทั้งวิตามินและการให้แรงบันดาลใจกับคนอื่นๆ

.

5. ยิ้มกว้าง

การยิ้มช่วยให้เราสลายความกังวลในตัวเอง และยังเป็นการปฏิเสธการขัดแย้งกับคนอื่นไปในตัว เรื่องเหล่านี้ล้วนช่วยสร้างความมั่นใจให้เรามากขึ้น

.

5) ฝึกเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งต่างๆ

.

เป็นการทบทวนความคิดของตัวเองให้เพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งต่างๆ เหมือนได้ทำแบบฝึกหัดอยู่เสมอๆ

.

1. ฝึกเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งของ

ลองถามตัวเองอยู่เสมอว่า เราจะเพิ่มมูลค่าอะไรให้กับ บ้านหลังนี้ หรือธุรกิจๆนี้ได้บ้าง

.

2. ฝึกเพิ่มมูลค่าให้กับผู้คน

ลองถามตัวเองดูว่าเราจะทำยังไงเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานของเราได้บ้าง

.

3. ฝึกเพิ่มมูลค่าให้กับตัวเอง

ถามตัวเองทุกๆวันว่า เราจะทำอะไรเพื่อทำให้ตัวเราเองมีค่ามากขึ้นในวันนี้

.

.

6) คนใหญ่ผูกขาดการฟัง คนเล็กผูกขาดการพูด

.

ผู้นำในทุกวงการใช้เวลาส่วนใหญ่ในการขอคำแนะนำมากกว่าการให้คำแนะนำ เพราะแน่นอนว่าผู้นำเหล่านี้ต้องตัดสินใจ แต่การจะตัดสินใจได้ดี ต้องอาศัยวัตถุดิบชั้นเลิศ

.

ซึ่งวัตถุดิบชั้นเลิศดังกล่าว ก็มาจากความคิดและคำแนะนำของคนอื่นๆนั่นเอง

.

งานขายเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมาก เพราะว่าเมื่อเราต้องการขายของให้คนๆหนึ่ง เราต้องฟังสิ่งที่คนๆนั้นต้องการอย่างแท้จริง ก่อนจะตัดสินใจเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการปิดการขาย

.

ดังนั้นแล้ว เทคนิค 3 ข้อที่ทำให้เราได้ข้อมูลดีๆมาพัฒนาความคิดสร้างสรรค์คือ

1. ส่งเสริมให้คนอื่นพูด

นอกจากเราจะได้วัตถุดิบดีๆในการสรรสร้างงานแล้ว อีกฝ่ายก็จะชอบเราอีกด้วย เพราะคนเราชอบคนที่พร้อมรับฟังความคิดเราเสมอ

.

2. ทดสอบความคิดของเราในรูปแบบคำถาม

นอกจากจะเป็นการแสดงความเคารพคนอื่นแล้ว ยังได้ไอเดียดีๆมาต่อยอดความคิดอีกด้วย

.

3. ตั้งใจฟังในสิ่งที่คนอื่นพูด

ไม่ใช่แค่แกล้งฟัง แต่ต้องฟังจริงๆ เพื่อให้สิ่งที่เขาพูดซึมเศร้าเข้าสู่จิตใจเรา

.

.

7) สิ่งที่เราคิดกำหนดสิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราทำกำหนดสิ่งที่คนอื่นจะมีปฏิกริยาต่อเรา

.

การที่เราจะได้รับความเคารพนับถือจากคนอื่นนั้น มันต้องเริ่มจากการที่เรานับถือตัวเองก่อน

.

‘การปรากฎกายของเรา’ ทั้งเสื้อผ้าหน้าผม บุคลิกท่าทางต่างๆมาจากความรู้สึกที่เรามีต่อตัวเอง หรือความเคารพนับถือที่มีต่อตัวเราเอง

.

เรื่องเล่าคลาสสิคที่หลายๆคนน่าจะเคยได้ยินคือ เรื่อง ‘ช่างก่ออิฐ 3 คน’

.

เมื่อเดินไปถาม 3 คนนี้ว่ากำลังทำอะไรอยู่

คนแรกตอบว่า ‘กำลังก่ออิฐ’

คนที่ 2 ตอบว่า ‘ทำงานแลกเงิน 7 บาท ต่อชั่วโมง’

คนที่ 3 ตอบว่า ‘กำลังสร้างโบสถ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก’

.

สิ่งที่ต่างกันของช่างก่ออิฐทั้ง 3 คือ การเคารพนับถือตัวเอง

.

ในเมื่อช่าง 2 คนแรกไม่นับถืองานของตัวเอง พวกเขาก็จะไม่เจอแรงผลักดันที่จะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ต่อไป จึงเป็นไปได้มากว่าคนอื่นก็จะมองไม่เห็นสิ่งเหล่านั้นเช่นกัน และไม่มีโอกาสอะไรจะมอบให้พวกเขา พวกเขาจึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องทำงานก่ออิฐไปเรื่อยๆ

.

ในทางตรงกันข้าม ช่างคนที่ 3 มองเห็นความสำคัญของงานตัวเอง เขานับถือตัวเอง และทำให้คนที่มาเห็นรู้สึกนับถือเขาด้วย คนที่มาเห็นจึงพร้อมมอบโอกาสอันดีกว่าให้กับเขา เขาจึงอาจกลายเป็นผู้รับเหมา หรือสถาปานิก เติบโตขึ้นไปในหน้าที่การงานอีกมาก

.

.

8) ทัศนคติ 3 ประการในการทำงานที่ควรปลูกฝัง

.

วิธีการสำคัญที่จะช่วยให้เรามีทัศนติแห่งความสำเร็จ และดึงคนรอบข้างมาเป็นพวกเดียวกับเรา

.

1. ปลูงฝังทัศนติที่ว่า ‘จงกระตือรือร้น’

ลองนึกถึงอาจารย์สอนหนังสือที่ไม่กระตือรือร้นในเนื้อหาที่จะสอน แน่นอนว่านักเรียนย่อมง่วงนอน และไม่สนใจสิ่งที่อาจารย์พูด

.

ในทางกลับกัน ถ้าอาจารย์แสดงความกระตือรือร้นดังกล่าวออกมา นักเรียนย่อมมีความอยากรู้อยากเห็นไปด้วย

.

ถ้าอยากให้คนอื่นกระตือรือร้น ตัวเราเองจึงต้องกระตือรือร้นให้ได้ก่อน

.

เทคนิคในการสร้างความกระตือรือร้น 3 ประการคือ

- การที่เราศึกษาสิ่งต่างๆให้ลึกลงไป เช่นถ้างานเราเกี่ยวกับเรื่องศิลปะ ก็ลองศึกษามุมเล็กๆของงานเราดู อาจมีเรื่องที่น่าสนใจให้เซอร์ไพร๊สก็เป็นได้

- สร้างมาความมีชีวิตชีวา เวลาเจอกันทักทาย

- ประกาศข่าวดี เพราะข่าวดีช่วยดึงดูดความสนใจจากผู้คนรอบข้างได้เสมอ

.

.

2. ปลูงฝังทัศนติที่ว่า ‘เราคือคนสำคัญ’

.

เริ่มจากการปลูกฝังกับตัวเองว่าเราคือคนสำคัญ เพราะโดยธรรมชาติแล้วทุกๆคนล้วนอยากเป็นคนสำคัญ เราล้วนอยากทำสิ่งที่มีควาหมาย

.

และหลังจากนั้นให้ปฏิบัติต่อผู้อื่นโดยทำให้เขารู้สึกเป็นคนสำคัญอยู่เสมอ

.

มันคุ้มมากที่จะทำให้คนตัวเล็ก รู้สึกเหมือนเป็นคนใหญ่

.

แนวทางปฏิบัติก็เช่น การขอบคุณในสิ่งต่างๆที่คนรอบข้างทำให้ จดจำชื่อของคนรอบตัวเรา แล้วเรียกชื่อให้ถูกต้องทุกครั้ง และเมื่อมีความดีความชอบเขามา อย่าเก็บไว้คนเดียว ให้เครดิตคนรอบตัวด้วย

.

3. ปลูงฝังทัศนติที่ว่า ‘บริการเป็นอันดับหนึ่ง’

.

จำไว้ว่าการจะทำธุรกิจให้สำเร็จนั้น เราต้องโฟกัสไปที่การบริการก่อน ถ้าบริการดีประทับใจลูกค้า เงินจะตามมาหาเราเอง

.

.

9) ไม่รอให้จิตใจผลักดัน แต่เป็นฝ่ายผลักดันจิตใจตัวเอง

.

ใจของเรามักจะกลัวงานที่ยาก หรืองานที่น่าเบื่อ ดังนั้นในกรณีเหล่านี้เราต้องทำตัวเป็นเครื่องยนต์อัตโนมัติที่ทำงานได้โดยไม่ต้องรอให้ใจมาสั่ง

.

เราควรสร้างระบบกลไกอัตโนมัติให้สร้างความคิด แก้ปัญหา จัดการงานที่น่าเบื่อทั้งหลาย โดยไม่รอให้จิตใจแห่งความกลัวเข้าครอบงำเสียก่อน

.

วิธีที่ได้ผลมากอีกวิธีหนึ่งคือการเขียนงานเหล่านี้ลงกระดาษ ด้วยปากกาหรือดินสอ เพราะเมื่อเราเขียนลงกระดาษแล้ว มันก็จะเหมือนการเขียนงานเหล่านั้นลงในจิตใจเราด้วย

.

เราจึงผลักดันจิตใจของเราให้เริ่มทำงานเหล่านั้นได้เร็วขึ้น โดยความกลัว ความกังวลยังเคลื่อนมาไม่ถึง

.

.

10) ความเพียรพยายาม ผสานกับการทดลองนั้นรับประกันความสำเร็จได้

.

การจะเปลี่ยนความพ่ายแพ้ให้เป็นชัยชนะได้นั้น แน่นอนว่าความพยายามเป็นส่วนประกอบสำคัญ

.

แต่ความพยายามอย่างเดียวอาจไม่พอ

.

ให้ลองนึกถึงเอดิสันว่ากว่าเขาจะประดิษฐ์หลอดไฟขึ้นมาได้ ต้องอาศัยการทดลองวิธีต่างๆที่ไม่ได้ผลมากกว่าพันครั้ง เพราะจเฉะนั้นแล้วการทดลองหาแนวทางใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน

.

ดังนั้นเราจึงควรยึดเป้าหมายไว้ให้มั่น แต่วิธีการไปถึงนั้นเปลี่ยนได้ ให้ลองทดลองวิธีการใหม่ๆไปเรื่อยๆ เชื่ออยู่เสมอว่าเรามีหนทาง และ ถ้าเหนื่อยก็หยุดพักบ้างก้ได้

.

.

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

.................................................................................................................................

ผู้เขียน: David J. Schwartz

ผู้แปล: ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

จำนวนหน้า: 312 หน้า

สำนักพิมพ์: ซีเอ็ดยูเคชั่น, บมจ.

เดือนปีที่พิมพ์: 1991

.................................................................................................................................

.

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #คิดใหญ่ไม่คิดเล็ก




Comments


Post: Blog2_Post

Subscribe Form

Thanks for submitting!

+66865274864

©2018 by Langarnbooksreview.com. Proudly created with Wix.com

bottom of page