รีวิว คนรวย ทำงานเร็ว
- หลังอ่าน: รีวิวหนังสือ
- Nov 11, 2021
- 1 min read


รีวิว คนรวย ทำงานเร็ว
.
‘สิ่งที่คนรวยทำงานเร็ว มีเหมือนกันคือ การมุ่งเน้นผลลัพธ์เป็นสำคัญ และ ความพร้อมที่จะรับผิดชอบ’
.
หนังสือแปลญี่ปุ่นเบา ๆ อ่านสบาย ๆ ชื่อดึงดูดอีกเล่ม ที่เห็นปุ๊ปก็อยากหยิบมาอ่านทันที
จะบอกว่าเป็นหนังสือกึ่งธุรกิจ กึ่งพัฒนาตัวเองก็ว่าได้
เพราะคนเขียนเล่าเทคนิคเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
แต่ก็มีความเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต และการพักผ่อนอยู่เนือง ๆ
.
ผู้เขียน คุณ โกะโด โทคิโอะ มีประสบการณ์การทำงานที่หลากหลาย ทั้งเป็นผู้สอบบัญชี ทำงานฝ่ายการตลาดในบริษัทขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ และทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ให้บริษัทข้ามชาติหลายแห่ง
จากประสบการณ์อันโชคโชน เล่มนี้จึงเป็นการรวมเคล็ดลับการบริการเวลา ที่ทำให้คุณโกะโด ทำงานไว ทำงานดี มีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จมาโดยตลอด
.
หนังสือมีทั้งหมด 55 เคล็ดลับ แบ่งออกเป็นตอน ๆ สั้น ๆ
คุณโกะโดอธิบายแต่ละกลยุทธ์อาศัยประสบการณ์ตัวเองเป็นหลัก
แต่ไม่ค่อยมีรายละเอียดของเรื่องราวมากนัก เป็นตัวอย่างสั้น ๆ ประกอบคำอธิบายเฉย ๆ
.
อ่านจบแล้ว มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
หลายครั้งตัวอย่างที่หนังสือยกมาก็สั้นเกินไป ทำให้ไม่ค่อยซื้อไอเดียเท่าไหร่
หลายเทคนิคก็เคยอ่านเจอมาก่อนแล้ว ไม่แปลกใหม่อะไร
.
และที่ติดที่สุดคือ คำว่า ‘คนรวย’ กับ ‘คนจน’
คือ คำอธิบายในหนังสือค่อนเล่มจะวนอยู่ที่ คนทำงานเร็ว กับคนทำงานช้า
แต่พอเป็นชื่อบทใหญ่ มีคำว่า ‘คนรวยที่ทำงานเร็ว’ กับ ‘คนจนที่ทำงานช้า’
ในมุมมองผู้อ่าน เลยเกิดความสงสัยว่า ทำไมถึงมีการเอาคนรวย กับ คนจนมาเกี่ยวด้วย
ทั้ง ๆ ที่เป็นหนังสือเน้นประสิทธิภาพในการทำงานแท้ ๆ
เข้าใจได้ว่า คนทำงานเร็วก็ทำงานได้มากกว่า สร้างผลงานได้มาก ก็มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพมากกว่า ได้เงินมากกว่า
แต่มันก็ไม่ได้สอดคล้องกันโดยตรงขนาดนั้น
.
อย่างไรก็ตาม เป็นหนังสืออีกเล่มที่เอาไว้อ่านแก้เบื่อ ยามง่วง ๆ ได้ครับ
.
สุดท้ายขอยก 5 ข้อที่ชอบที่สุดจากหนังสือคนรวยทำงานเร็ว มาเล่าให้ฟังครับ
.
1) คนทำงานเร็ว ลองทำงานที่อยากทำ
คนทำงานช้า มัวแต่ทำสิ่งที่ควรทำ
.
หลายคนใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับงานประเภท ส่งเอกสาร ตอบอีเมล ชำระค่าบริการโทรศัพท์มือถือ
แต่งานเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่ไม่ได้ผลักชีวิตให้มุ่งไปข้างหน้า
หนำซ้ำหลายคนทำงานเหล่านี้เพียงเพื่อทำตามความปราถนาของคนอื่น หรือถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งให้คนอื่นบรรลุเป้าหมายเท่านั้น
.
กลับกันน้อยคนนักจะลงมือทำ ‘งานที่ไม่ทำก็ไม่เดือดร้อน’ หรือ ‘งานที่ไม่ทำก็ไม่มีใครว่า’
เช่น การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ การพัฒนาตัวเอง
งานพวกนี้ไม่ทำก็ไม่เป็นไร ไม่ได้มีใครมาสั่ง
.
แต่คนที่ควบคุมตัวเองได้ และลงมือทำงานเหล่านี้ จะมุ่งหน้าไปยังเป้าหมายที่ต้องการได้
.
สิ่งสำคัญคือ ต้องลดพื้นที่ทำ ‘สิ่งที่ต้องทำ’ หรือทำให้เสร็จเร็วขึ้น และชดเชยด้วยการทำสิ่งที่อยากทำ
เทคนิคหนึ่งคือลองคิดว่า เราต้องชีวิตแบบไหนในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
แล้วลองหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งอนาคตไว้ในทุก ๆ วัน เพื่อไปถึงชีวิตที่ใฝ่ฝัน
.
.
2) คนทำงานเร็ว สนใจโอกาส
คนทำงานช้า สนใจสิทธิ
.
หลายคนไม่พอใจกับสภาพการณ์ของตัวเอง โดยเฉพาะการทำงานใน ‘บริษัทมืด’ ที่ต้องทำงานหนัก และทุ่มเทให้งานอย่างต่อเนื่อง
คนพวกนี้จะพุ่งความสนใจไปที่สิทธิต่าง ๆ ที่บริษัทมีให้
เช่น จะต้องลาหยุดให้ครบตามสิทธิที่ได้รับ
จะไม่ทำงานล่วงเวลามากจนน่าประหลาด
จะต้องได้รับเงินเดือนที่ถูกต้องตามกฎหมายแรงงาน
.
ในทางกลับกัย คนอีกประเภทจะมองว่า บริษัทคือที่แห่งโอกาส
บริษัทเปรียบเหมือนคลังมหาสมบัติที่มอบอะไรหลายอย่างนอกจากเงินเดือน
ทั้งทักษะ การเรียนรู้ ความสามารถด้านการขาย บัญชี กฎหมายต่าง ๆ
.
สิ่งที่ได้จากการการทำงานหนักในบริษัทนั้น หลายครั้งก็จะไปออกดอกออกผลในอนาคต
เช่น ในหนังสือเล่าตัวอย่างคนที่ออกมาทำธุรกิจของตัวเองแล้วประสบความสำเร็จ โดยใช้ทักษะที่เรียนรู้จากช่วงทำงานในบริษัทมืดแบบหนัก ๆ (หนักขนาดว่า ไม่ได้ใช้เงินเดือนที่ได้เลย)
.
เพราะฉะนั้นแล้ว จงใส่ใจกับงานที่อยู่ตรงหน้า
มองหาโอกาสในการพัฒนาตัวเอง อย่าเอาแต่บ่นถึงข้อเสีย หรือเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ที่จะได้รับ
และอย่าทำงานเพื่อเงินเดือนเพียงอย่างเดียว
.
.
3) คนทำงานเร็ว ขอฟังก่อน
คนทำงานช้า ขอพูดก่อน
.
หลายคนชอบพูด มากกว่าชอบฟัง
ขอแค่พูดในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ก็พอใจ
แต่การพูดอย่างเดียว ไม่สามารถดึงสิ่งที่ปราถนาออกจากคนที่เราคุยด้วยได้
.
การตั้งใจฟังและตั้งคำถามที่ตรงจุดต่างหากที่เป็นตัวช่วยสำคัญ
นอกจากจะสร้างความประทับใจให้อีกฝ่ายแล้ว ยังสามารถเสนอสินค้า หรือคำตอบที่ตรงจุดกับผู้ฟังอีกด้วย
.
ตัวอย่างเช่น นักขายที่ดีต้องฟังก่อนว่าลูกค้าต้องการอะไร ถึงจะเสนอขายสินค้า
แพทย์เองก็ต้องฟังคนไข้ดี ๆ ก่อนว่าอาการเป็นอย่างไร ถึงจะเริ่มวินิจฉัย แล้วเสนอวิธีการรักษา
.
การฟังและการตั้งคำถามเพื่อแก้ปัญหาจึงเป็นทักษะที่สำคัญมาก
นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว ยังเปลี่ยนทิศทางการคุย และสร้างสัมพัน์ที่ดีกับคู่สนทนาได้ด้วย
.
.
4) คนทำงานเร็ว ซื้อสิ่งที่ให้เวลา
คนทำงานช้า ซื้อสิ่งที่ฆ่าเวลา
.
หลายคนใช้เงินฟุ่มเฟือยไปกับสิ่งที่ฆ่าเวลาทั้งหลาย เช่น ไถมือถือ เล่นเกมส์ อ่านการ์ตูน ดู TV
สิ่งบันเทิงเหล่านี้ล้วน ‘บั่นทอง’ เวลาของเราไปทั้งสิ้น
การฆ่าเวลาด้วยสิ่งเหล่านี้แท้จริงแล้ว แสดงให้เห็นว่า ชีวิตเราไร้เป้าหมาย ไม่มีแผนการว่าเราอยากทำอะไร อยากเดินไปทางไหน
และหลายครั้งอาจเป็นการถูกการตลาดของบริษัทหลอกให้เสียทั้งเวลาและเงินทอง
.
ในทางกลับกัน คนอีกกลุ่มใช้เงินเพื่อสร้างเวลา
เช่น ลงทุนซื้อหุ่นยนต์ทำความสะอาดบ้าน
หรือ ลงทุนจ่ายค่าแท็กซี่เวลาเดินทางไปทำงานที่บริษัทเพื่อประหยัดเวลา
.
แม้สิ่งพวกนี้จะใช้เงินเหมือนกัน แต่มันสร้างเวลาให้เราได้มีโอกาสไปทำสิ่งสำคัญกว่าได้
เช่น การไม่ต้องเสียเวลาไปทำความสะอาดบ้านเอง หรือการต้องทนเหนื่อยกับบริการรถสาธารณะ
.
แม้ในระยะสั้นอาจไม่เห็นผลอะไร แต่ต่อไปในระยะยาว การซื้อเวลากับเรื่องเหล่านี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนชีวิตไปสู่เป้าหมายได้
เพราะคนรวยนั้นไม่มีเวลาไม่ฆ่าเวลา
.
.
5) คนทำงานเร็ว ให้ข้อมูลอย่างเต็มอกเต็มใจ
คนทำงานช้า พยายามปิดบังข้อมูล
.
เป็นสิ่งสำคัญที่ควรตระหนักว่า ‘ยิ่งเราให้ข้อมูลมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งได้รับข้อมูลกลับมามากขึ้นเรื่อย’
เป็นวงก้นหอยที่ค่อย ๆ ต่อยอดขึ้นไป
.
การที่เราให้ข้อมูลออกไป แสดงให้เห็นว่า เราเก็บข้อมูลไว้มาก
ซึ่งแปลว่าเราต้องมีความสนใจใครรู้ และคอยรวบรวมประเด็นต่าง ๆ ไว้โดยไม่ตั้งใจ
.
แต่ถ้าเราไม่เปิดเผยข้อมูลอะไรเลย
มันก็เหมือนการที่เราไม่มี output ออกไป
แม้เราจะมีข้อมูลมาก มีไอเดียดี ๆ หรือ มีความฝันต่าง ๆ มากมาย
ถ้าคนอื่นไม่อาจรับรู้ได้ ก็คงไม่มีใครสนใจเข้าหา
และเราก็คงจะพลาดโอกาสสำคัญไปนับไม่ถ้วน
.
.
.......................................................................................
ผู้เขียน: โทคิโอะ โกะโด
ผู้แปล: กิษรา รัตนาภิรัต คุโด
จำนวนหน้า: 180 หน้า
สำนักพิมพ์: อมรินทร์ How To, สนพ.
เดือนปีที่พิมพ์: 9/2018
.......................................................................................
.
สั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.
#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #คนรวยทำงานเร็ว

Comments