top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว คนที่ประสบความสำเร็จที่สุดทำอะไรก่อนมื้อเช้า






รีวิว คนที่ประสบความสำเร็จที่สุดทำอะไรก่อนมื้อเช้า

.

.

‘พลังใจเรามีจำกัด การเลือกสิ่งที่ทำก่อนมื้อเช้าจึงมีความสำคัญมาก’

.

หนังสือ คนที่ประสบความสำเร็จที่สุดทำอะไรก่อนมื้อเช้า ไม่ใช่หนังสือที่จะมาชี้ชวนให้ผู้อ่านตื่นให้เช้าขึ้น แต่เป็นหนังสือที่แนะนำกิจกรรมที่ควรทำเป็นอย่างแรกหลังตื่นนอน

.

แน่นอนว่ายามเช้า เป็นช่วงที่สงบ หลายๆคนที่มีลูก เวลาเช้าคือเวลาที่จะได้ทำเรื่องส่วนตัวก่อนลูกตื่น หรือหลายๆคนที่ต้องรีบแจ้นออกไปทำงานทุกเช้า ช่วงหลังตื่นก็อาจเป็นช่วงที่ได้มีเวลาให้ตัวเองก่อน

.

ข้อดีที่สุดของยามเช้าคือ การที่เรามี ‘พลังใจ’ เต็มเปี่ยมหลังจากได้นอนหลับเต็มอิ่มมาทั้งคืน และยังไม่ได้เจอเรื่องหนักๆตลอดวัน เราจึงควรเลือกทำในสิ่งที่สำคัญและเกิดประสิทธิภาพที่สุดแก่ชีวิตเรา

.

แต่หนังสือไม่ได้หยุดอยู่แค่ช่วงเวลาตอนเช้า หนังสือยังมีเล่าเคล็ดลับการบริหารเวลาในช่วงสุดสัปดาห์ และระหว่างที่ทำงานอีกด้วย

.

จริงๆแล้วข้อแนะนำเกี่ยวกับสิ่งที่จะทำยามเช้าเป็นแค่ช่วงแรกของหนังสือ แค่เพียงประมาณ 1 ใน 3 เท่านั้น

.

โดยหนังสือแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก

1) คนที่ประสบความสำเร็จที่สุดทำอะไรก่อนมื้อเช้า

2) คนที่ประสบความสำเร็จที่สุดทำอะไรในวันสุดสัปดาห์

3) คนที่ประสบความสำเร็จที่สุดทำอะไรในที่ทำงาน

.

หนังสือเล่มนี้เปรียบเหมือนคู่มือแนะนำการบริหารเวลาในแต่ละวันมากกว่า โดยมีตัวอย่างประกอบที่ชัดเจนว่า ก่อนและหลังการปรับเปลี่ยนแผนการแบ่งเวลาทำสิ่งต่างๆในแต่ละวัน ส่งผลยังไงต่อชีวิตแต่ละคน

.

ตัวผู้เขียนเอง Laura Vanderkam เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารเวลา เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับการบริหารเวลามาแล้วหลายเล่ม ซึ่งเธอจะอ้างอิงอยู่หลายครั้งในหนังสือ เช่นเรื่อง 168 Hours นอกจากนี้เธอยังเคยขึ้นไปพูดเวที Ted Talks และเคยให้สัมภาษณ์ลงนิตสารชื่อดังของโลกรวมถึง The New York Times อยู่หลายครั้ง

.

.

คอนเซ๊ปต์หนังสือค่อนข้างเรียบง่าย ว่าด้วยเรื่องของการบริหารพลังใจ และการจัดลำดับความสำคัญ รวมไปถึงการวางแผนการใช้เวลาให้ทำตามเป้าหมาย และการทำทุกอย่างให้เป็นกิจวัตร

.

อาจไม่ได้มีความใหม่มากมาย แต่เรื่องที่หนังสือเล่า มีความสำคัญมาก ยังไงการบริหารเวลาก็เป็นสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ในชีวิตเรา โดยเฉพาะคนที่มีนิสัยไม่ค่อยวางแผน

.

โดยรวมแล้วหนังสือเล่าสนุกมาก มีตัวอย่างที่ชัดเจนมากมายตลอดเล่ม ภาษาบ้านๆ อ่านง่าย ไม่เป็นวิชาการ เหมือนอ่านบันทึกของผู้เขียนมากกว่า

.

สิ่งที่ส่วนตัวแอดมินติดอยู่ในใจเล็กน้อย คือความที่ผู้เขียนมีควมเคร่งศาสนาคริสต์พอควร หลายๆ ตัวอย่างที่ยกมาเลยมีความเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางศาสนาอยู่บ้าง เช่น การเข้าโบสถ์ทุกวันอาทิตย์ การตื่นมาทำกิจกรรมทางศาสนาตั้งแต่เช้า หรือตัวอย่างตารางเวลาท้ายเล่มก็มีของคนที่ทำอาชีพเป็นศาสนจารย์ประจำโบสถ์ ถ้าไม่ใช่ชาวคริสต์ก็คงไม่อินเท่าไหร่ ต้องอ่านข้ามๆไป

.

.

สุดท้ายขอสรุปเป็นข้อคิดดีๆที่ได้หลังอ่านหนังสือ 6 ข้อนะครับ

.

1) เปลี่ยน ‘พลังใจ’ ให้เป็น ‘กิจวัตร’

.

หลังจากตื่นนอนมาตอนเช้า ถ้าเราได้นอนหลับเต็มอิ่ม เราก็จะมีพลังใจที่เปี่ยมล้น เราจึงควรทำสิ่งสำคัญในช่วงนี้

.

เพราะถ้าตอนเย็น เราออกไปทำงาน เจอเรื่องต่างๆมากมาย หัวเราก็คงจะเกลื่อนไปด้วยความคิดต่างๆที่พรั่งพรูเข้ามาระหว่างวัน ไม่ง่ายเลยที่จะมีพลังใจล้นเหลือในตอนเย็นได้แบบตอนเช้า

.

อย่างไรก็ดี ถ้าเราไม่นำพลังใจที่มีมาใช้ตั้งแต่เช้า มันก็คงจะจางหายไปอย่างรวดเร็วได้เช่นกัน หรือในบางครั้งพลังใจก็อาจไม่ได้เกิดขึ้นแบบเดิมทุกวัน โดยเฉพาะวันที่เรานอนไม่เต็มอิ่ม หรือรู้สึกไม่สดชื่นตอนเช้า

.

วิธีที่ดีจึงเป็นการฝึกใช้พลังใจให้เหมือนการฝึก ‘กล้ามเนื้อ’ เวลาออกกำลังกาย

.

คนที่ประสบความสำเร็จจะฝึกใช้พลังใจแบบเดียวกับที่เราฝึกกล้ามเนื้อ ซึ่งหมายถึงการฝึกเป็นประจำ และเปลี่ยนพลังใจให้เป็นกิจวัตร

.

นานๆเข้าไป แม้บางวันพลังใจเราจะไม่มี แต่สิ่งที่เราทำได้กลายเป็นกิจวัตรไปแล้ว เราก็จะสามารถทำมันต่อไปได้ทุกเช้า แม้ในวันนั้นพลังใจจะมีไม่มากก็ตาม

.

.

2) ทำสิ่งสำคัญที่ไม่เร่งด่วนตอนเช้า

.

คำถามต่อมาคือ แล้วอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่ควรทำตอนเช้า

.

หนังสือแนะนำง่ายๆคือ ‘สิ่งที่เราอยากทำจริงๆในระยะยาว แต่ไม่เร่งด่วน’ หรือคือเป้าหมายระยะยาวที่เราต้องค่อยๆก้าวเดินไปนั่นเอง

.

กิจกรรมที่จะพาเราไปสู่เป้าหมายระยะยาวอาจเป็นไปได้ในหลายแง่มุม โดยหนังสือแบ่งออกเป็น 3 เรื่องแบบคร่าวๆได้แก่

1. เอาใจใส่การงาน เช่น การวางกลยุทธ์ คิดโปรเจคใหม่ ใช้สมาธิในการตีโจทย์งานจากลูกค้า

2. เอาใจใส่ความสัมพันธ์ เช่น การใช้เวลากับคนรัก การทำสิ่งที่ดีที่สุดกับเพื่อนฝูง หรือแม้แต่การมีเซ็กส์กันในช่วงเช้า

3. เอาใจใส่ตัวเอง เช่น การหันมาออกกำลังกายเป็นประจำ การวิ่งจ๊อกกิ้ง การทำกิจกรรมทางศาสนา การฝึกจิตใจ และการฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์

.

.

3) 5 ขั้นตอนปรับปรุงยามเช้าให้สมบูรณ์

.

หลังจากที่ผู้เขียนได้ทำวิจัยกิจกรรมในตอนเช้าของผู้คนมาพอสมควร ก้ตกผลึกออกมาเป็น 5 ขั้นตอนที่จะช่วยให้เราเก็บเกี่ยวประโยชน์จากช่วงเช้าได้มากที่สุดดังต่อไปนี้

.

1. ทำบันทึกการใช้เวลา - เป็นไปได้ลองทำบันทึกการใช้เวลาของเราทั้ง 168 ชั่วโมง หรือตลอดสัปดาห์ดู จะได้รู้ว่าเราเสียเวลาไปกับกิจกรรมใดบ้าง และกิจกรรมไหนที่เราใช้เวลามากเกินไปหรือน้อยเกินไป

.

2. จินตนาการถึงยามเช้าอันสมบูรณ์ – วาดภาพตอนเช้าอันสมบูรณ์แบบที่เราอยากมี กิจกรรมล้านแปดที่เราอยากทำ อาจเป็นอะไรก็ได้ ตั้งแต่การจิบกาแฟสงบๆกับคนรัก การออกกำลังกาย การทำโปรเจคพิเศษ หรือการนั่งสมาธิจรรโลงจิตใจ

.

3. ใครครวญเรื่องการจัดการ – พอได้ภาพในฝันแล้ว ก็ตั้งไว้เป็นเป้าหมาย แล้วลองคิดวิธีการดูว่า เราต้องทำยังไงบ้าง ถึงจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้ เราอาจต้องจ้างพี่เลี้ยงมาเลี้ยงลูกของเราในตอนเช้า ถ้าเราอยากออกไปออกกำลังกายข้างนอก เป็นต้น

.

4. สร้างกิจวัตร – เปลี่ยนพลังใจที่มีในช่วงแรกให้กลายมาเป็นกิจวัตร ฝึกให้เกิดนิสัยใหม่ ซึ่งต้องอาศัยเวลาระยะหนึ่งไม่ใช่เพียงแค่ 2-3 วัน

.

5. ปรับเปลี่ยนตามความจำเป็น - ในบางวันเราอาจทำตามกิจวัตรที่เราตั้งใจไว้ไม่ได้ 100% ก็พยายามปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม เช่นถ้าวันไหนลูกเล็กตื่นขึ้นมาเร็ว โวยวายอยากให้ป้อนนม ก็อาจต้องงดออกกำลังกายยามเช้าในวันนั้น

.

.

4) สร้างนัดหมายวันพักผ่อนให้เหมือนวันที่ไม่ได้พักผ่อน

.

เป็นเรื่องที่ดูย้อนแย้งในตัวอย่างมาก เพราะหลายๆคนคงจะชินกับการใช้วันหยุดโดยไม่ต้องวางแผน

.

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชีวิตคนเรามักจะมิสิ่งที่อยากทำค้างไว้มากมาย โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้พุ่งเป้าไปที่หน้าที่การงานอย่างเดียว และเบื่อการมาถึงของเช้าวันจันทร์มาก

.

การวางแผนในวันหยุดเพื่อให้เรามุ่งไปสู่เป้าหมายได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ

.

นัดหมายไว้ให้ดีว่า วันเสาร์-อาทิตย์ที่กำลังจะมาถึงเราจะทำอะไรบ้าง วางเป็นโครงร่างคร่าวๆก็พอ ไม่ต้องลงรายละเอียดมาก ไม่ต้องกำหนดเวลาแบบเป๊ะๆ

.

แต่การมีแผนการในหัวจะช่วยให้เราเกิดความหวัง ซึ่งจะนำมาซึ่งพลังบวกอย่างมาก เมื่อเราตั้งหน้าตั้งตารอให้ถึงวันหยุด

.

แผนการนี้อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ อย่างการไปดินเนอร์กับคนรัก การทำสวนที่บ้าน หรือโครงการออกไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงสุดสัปดาห์ก็ได้

.

ลองลิสต์สิ่งที่อยากทำมาสัก 100 ข้อ แล้วเปลี่ยนเป็นแผนการที่แตกต่างกันไปในแต่ละสัปดาห์

.

.

5) อย่าประหยัดพลังงาน

.

อีกเรื่องที่คนชอบกลัวกันมากก็คือการต้องใช้พลังงานอย่างมากในการทำกิจกรรมในวันหยุด

.

ต้องบอกเลยว่า กิจกรรมหลายๆอย่างมีเวลาของมัน นั่นหมายถึงเรามีโอกาสจะทำกิจกรรมนั้นได้เพียงไม่กี่ครั้ง เช่นตอนลูกยังเล็ก เราก็อยากจะใช้เวลากับเขาให้มากที่สุด ทำตัวเป็นพ่อแม่ที่ดีที่สุด เพราะพอลูกโตขึ้นมา ต่างคนก็ต่างแยกตัวห่างจากเราไป

.

แม้แต่การปั้นตุ๊กตาหิมะในวันหยุดเทศกาล ไม่มีอะไรมารับประกันได้ว่า เราจะมีโอกาสปั้นมันอีกหลายครั้ง มันมีความเป็นไปได้ว่า สุดสัปดาห์นี้อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายของเราที่จะได้ปั้นตุ๊กตาหิมะ เมื่อได้รับโอกาสมาแล้วเราจึงไม่ควรขี้เกียจและเปล่อยให้วันหยุดผ่านไปเฉยๆ

.

เพราะฉะนั้นเราไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องประหยัดพลังงาน ทุ่มเต็มที่ในวันหยุดให้เหมือนวันทำงาน อย่าไปกลัวว่าพลังของเราจะหมดเสียก่อน

.

.

6) กฎ 6 ข้อที่ช่วยให้เราบริหารเวลาในที่ทำงานได้ดีขึ้น

.

ในที่ทำงานเองก็เช่นกัน การบริหารเวลาในแต่ละวันเป็นสิ่งสำคัญ หนังสือจึงได้เสนอกฎ 6 ข้อที่อาจช่วยให้เราบริหารเวลานที่ทำงานได้ดีขึ้น

.

กฏข้อที่ 1: สังเกตการใช้เวลา

สังเกตและใช้วิธีการบันทึกว่าในแต่ละวันเราใช้เวลากับอะไรมากเกินไป หรือน้อยเกินไปรึเปล่า กิจกรรมที่เราทำมีความสมเหตุสมผลหรือไม่

.

ถ้าไม่ ก็คงจะถึงเวลาที่เราต้องแก้ไข และปรับเปลี่ยนกิจกรรมของเราแล้ว

.

กฏข้อที่ 2: วางแผน

.

เมื่อรู้แล้วว่าเราอยากปรับเปลี่ยนอะไร ก็ลองหาวิธีการในการปรับเปลี่ยนดู

.

ไม่มีสูตรตายตัวสำหรับวิธีการบริหารเวลาการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะงานแต่ละอย่างมีความแตกต่างกันออกไป แต่เราสามารถค้นหาวิธีที่ ‘เวิร์ค’ สำหรับเราได้

.

กฏข้อที่ 3: ทำให้ความสำเร็จเป็นไปได้

.

ความเป็นไปได้ของความสำเร็จขึ้นอยู่กับ 2 สิ่ง

1) การเป็นคนช่างเลือกว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่เราควรทำจริงๆ

2) การพัฒนาระบบความรับผิดชอบที่จะทำสิ่งๆนั้นได้อย่างต่อเนื่อง

.

การสร้างระบบควมรับผิดชอบนั้นอาจหาตัวช่วยอื่นๆได้มากมายตั้งแต่แอบพลิเคชันต่างๆ เว็บไซต์ การวางเงินเป็นเดิมพัน หรือแม้แต่การขอให้เจ้านายช่วยกระตุ้นก็เป็นได้ทั้งนั้น

.

กฏข้อที่ 4: รู้ว่าอะไรคืองาน

.

การนั่งทำงานหน้าคอมต่อเนื่องวันละ 12 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์อาจไม่ใช่ ‘งาน’ ถ้ามันไม่ได้ตอบโจทย์ และช่วยสร้างความก้าวหน้าให้องค์กรที่เราอยู่

.

ในทางกลับกัน การนั่งดูคลิปวิดิโอแมวเหมียวน่ารัก การเดินเข้าร้านสตาร์บัคนั่งคุยกับคนแปลกหน้า หรือการเดินชมงานศิลปะอาจเรียกว่า ‘งาน’ ก็ได้ ถ้ามันช่วยให้เราได้พักและช่วยกระตุ้นไอเดียดีๆที่ตอบโจทย์เป้าหมายองค์กร

.

อย่าจำกัดตัวเองว่างานคือสิ่งที่ต้องทำในออฟฟิศ หรือหน้าจอคอมเท่านั้น แต่พยายามหาวิธีที่ทำให้ตัวเองทำในสิ่งที่ตอบโจทย์กับเป้าหมายของงานที่ได้รับมอบหมาย หรือวัตถุประสงค์ขององค์กรให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าสิ่งนั้นอาจจะเป็นการนั่งพักบ้าง คลายเครียดบ้าง อ่านหนังสือบ้าง ก็ตาม

.

กฏข้อที่ 5: ฝึกฝน

.

หมั่นฝึกฝนตัวเองให้ทำงานได้ดีขึ้น ใช้เวลาที่มีบริหรงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

.

จงฝึกฝน ฝึกฝน และฝึกฝน พร้อมถาม feedback จากคนรอบข้างอยู่เสมอๆ

.

กฏข้อที่ 6: สะสมต้นทุนทางอาชีพ

.

หาโอกาสในการสะสมต้นทุนต่างๆทางการงานของตน เช่นลองเขียนหนังสือ ลองหางานที่ได้มีโอกาสไปพูด ไปพรีเซ้นต์ เพื่อเปิดรับโอกาสใหม่ๆเข้ามา

.

แน่นอนว่างานเขียนอาจเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญว่าเรามีความสามารำในอาชีพนั้นๆมากแค่ไหน

.

ต้นทุนอาชีพจริงๆแล้วอาจเป็นการไปนั่งกินมื้อกลางวันกับเพื่อนที่มีปัญหา เพื่อกระชับความสัมพัน์และขยายคอนเนคชั่นก็เป็นได้

.

กฏข้อที่ 7: ตามหาความสุข

.

ความสุขในการทำงาน เกิดจากการมีความก้าวหน้าในเป้าหมายของตัวเอง

.

ถ้าเราทำงานแล้วรู้สึกว่าเราได้ก้าวหน้าไปตามเป้าหมายที่ต้องการ เมื่อนั้นเราเองอาจได้พบเจอความสุขในการทำงาน

.

.

.....................................................................................................

ผู้เขียน: Laura Vanderkam

ผู้แปล: ดร. ธนวรรณ นภาศรี

จำนวนหน้า: 264 หน้า

สำนักพิมพ์: วีเลิร์น, สนพ.

ชื่อเรื่องต้นฉบับ: What the Most Successful People Do Before Breakfast

.....................................................................................................

.

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อนอายุ30 #คนที่ประสบความสำเร็จที่สุดทำอะไรก่อนมื้อเช้า




336 views0 comments

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page