top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว การลาออกครั้งสุดท้าย





รีวิว การลาออกครั้งสุดท้าย

The Last Resignment

.

‘อิสระภาพที่ท้จริง คือการถูกกักขังในกรงที่เรารัก’

.

เบื่อจังง พรุ่งนี้ก็วันจันทร์อีกละ ขี้เกียจทำงานจัง หัวหน้าก็ดุ เพื่อนร่วมงานก็toxic รถก็ติด เดินทางไปกลับก็เสียเวลาหลายชั่วโมง เงินเดือนก็น้อย ไม่เคยพอจ่ายค่าประทังชีวิตเลย อยากลาออกโว้ยยย....

.

ความรู้สึกมันช่างต่างจากวันแรกๆที่เข้ามาทำงาน ในตอนนั้นอะไรๆก็ดูตื่นเต้นไปหมด ไหนจะบัตรห้อยคอสุดเท่ที่เอาไว้ตี้ดเข้าประตู ไหนจะออฟฟิศแอร์เย็นๆ ไหนจะชุดทำงานที่ดูprofessional น่าเดินไปอวดใครต่อใคร... แต่ทำไมตอนนี้มีแต่คำว่า อยากลาออก

.

คิดว่าหลายๆคนน่าจะเคยประสบกับสภาวะข้างต้น เมื่อทำงานบริษัทมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ไฟในการทำงานกำลังมอดดับ เกิดคำถามต่างๆภายในใจมากมายว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ นี่คือสิ่งที่เราอยากทำในชีวิตจริงๆเหรอ?

.

หลายๆครั้ง คำตอบบที่เกิดขึ้นภายในใจคือคำว่า ‘ไม่’

.

เราแค่ต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีวิตเพียงเท่านั้น เราไม่ได้อยากทำ เราอยากมีอิสระภาพ เราอยากทำอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะไปหมด

.

แล้วเราจะทำยังไงเราถึงจะหลุดออกจากวงจรนี้ละ คำตอบง่ายๆก็คือ ‘การลาออก’.. แต่ความจริงการลาออกทำไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะชีวิตเรายังมีค่าใช้จ่ายอีกมาก แค่ค่าครองชีพขั้นต่ำในเมืองหลวงนั้นก็ไม่ใช่เล่นๆแล้ว ไหนจะค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ใครพ่อแม่แก่เฒ่าก็ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ ใครเริ่มเป็นพ่อเป็นแม่คนแล้วก็มีค่าใช้จ่ายอันมากโขในการเลี้ยงลูก

.

ลาออก ไม่ใช่เรื่องเล่นๆเลย การจะมีอิสรภาพจากการทำงานประจำอันแสนน่าเบื่อนั้น ต้องวางแผนมาเป็นอย่างดี

.

ผู้เขียนหนังสือ การลาออกครั้งสุดท้าย คุณใบพัด ภาณุมาศ ทองธนากุล ทราบเรื่องนี้เป็นอย่างดี เขาคิดอยากลาออกเป็นคนว่างงานตั้งแต่ปีแรกที่เข้าทำงาน แต่แน่นอนว่าเขาทำไม่ได้ ตลอดเวลาระยะเวลากว่า 5 ปีที่เขาเป็นมนุษย์เงินเดือนนั้น เขาจึงพยายามคิดหาวิธีในการลาออกมาเป็นคนว่างงานให้ได้ โดยมีเงินใช้เพียงพอ และไม่ต้องทำตัวเป็นภาระคนรอบข้าง

.

ในครึ่งเล่มแรกของหนังสือเล่มนี้จะบอกเล่า เทคนิคที่คุณใบพัดสะสมมากว่า 5 ปีตลอดการใช้ชีวิตเป็นมนุษย์เงินเดือน เพื่อให้วันที่เขายื่นใบลาออกจากบริษัทเป็น...การลาออกครั้งสุดท้ายของเขา

.

เทคนิคที่ว่านี้แน่นอนว่าหนีไม่พ้น เรื่องการ ‘เลี้ยงเงิน’ ให้พอใช้กับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เริ่มตั้งแต่การสร้างนิสัยประหยัด การออมเงิน การลงทุน การเล่นหุ้น การเขียนหนังสือเพื่อหาค่าลิขสิทธิ์ และอื่นๆ

.

แต่สิ่งเหล่านี้เป็นใจความสำคัญเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะครึ่งหลังของหนังสือได้บอกเล่าชีวิตหลังการลาออกครั้งสุดท้ายของคุณใบพัดไว้อย่างละเอียด ส่วนตัวบอกเลยว่า ครึ่งหลังของเล่มน่าสนใจกว่า และเป็นจุดพีคของหนังสือเล่มนี้

.

สิ่งที่คุณใบพัดค้นพบนช่วงที่เป็น ‘คนว่างงาน’ แบบเต็มตัว คือสิ่งที่ยากจะคาดเดา หากไม่เคยลาออกมาอยู่บ้านเฉยๆเป็นเวลานานพอ โดยเฉพาะกับคนวัยหนุ่มสาว อายุยังไม่ถึง 30 ที่มักเป็นวัยที่กำลังค้นหาความฝัน และมีแรงกายแรงใจเต็มเปี่ยม

.

ข้อคิดที่หนังสือให้ไว้ในครึ่งหลังคือกินใจ และควรค่าแก่การอ่านมากๆ มันคือชีวิตอีกด้านของคนว่างงานที่ไม่ได้สวยหรูเหมือนที่หลายๆคนคิดไว้

.

มันมีอุปสรรคในแบบของมัน มันมีราคาหลายอย่างที่คนว่างงานต้องจ่าย นอกเหนือไปจากเรื่องเงินเดือน และความมั่นคง

.

รวม 2 พาร์ทเข้าด้วยกัน หนังสือเล่มนี้จึงครบถ้วนสมบูรณ์แบบสำหรับมือใหม่วัยทำงานที่ กำลังเบื่ออ กับงานประจำที่ทำอยู่ และคิดอยากจะลาออกมาอยู่บ้านเฉยๆมาก

.

หนังสือบอกวิธีวางแผนการลาออกครั้งสุดท้ายอย่างมีชั้นเชิง และบอกเล่าราคาของมันหลังจากการลาออกสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

.

ความรู้สึกหลังอ่านต้องบอกว่า เล่มนี้เต็ม 10 ในเรื่องของความสนุก ไม่รู้จะเขียนให้สนุกกว่านี้ยังไง เพราะภาษาที่ใช้ทำให้ผู้อ่านอยากติดตามตอนต่อไปอยู่ตลอดเวลา มันน่าสนใจ ตลก และสะเทือนอารมณ์ได้ในบางบท

.

มีข้อคิดดีๆสรุปออกมาเป็น howto สั้นๆ2-3 หน้าแทรกอยู่ตลอด แต่จริงๆแล้วผู้อ่านก็น่าจะสรุปบทเรียนสำคัญๆในแต่ละบทได้เองหลังอ่านจบ เพราะบทสรุปชัดเจนในตัวมันเองอยู่แล้ว

.

หนังสือแบ่งเป็นบทสั้นๆ เหมือนอ่านบันทึกของผู้เขียน โดยทั้งเรื่องคือการเดินทางสู่เป้าหมาย ‘การลาออก’ และชีวิตของผู้เขียนหลังบรรลุเป้าหมายนั้น

.

สีสันเล่มนี้คือดีย์งามตามสไตล์ a book รูปประกอบชวนบิ้วอารมณ์ผู้อ่านไปตามเรื่องเล่า และความที่หนังสือเขียนโดยคนไทยเอง เรื่องต่างๆจึงใกล้ตัวอย่างมาก รู้สึกถึงความ relate กับตัวเองและอินไปกับเรื่องที่ผู้เขียนเล่า

.

โดยสรุปแล้ว หนังสือเล่มนี้คือ บันทึกการเดินทางสู่อิสรภาพและการก้าวเข้าสู่โลกของคนว่างงานของคุณใบพัด ที่อยากนำบันทึกทั้งหมดมามอบให้กับเหล่ามนุษย์เงินเดือนที่กำลังติดอยู่ในโลกของการเป็นลูกจ้าง

.

จัดเป็นหนังสือคลาสสิคสำหรับคนวัยก่อน 30 ที่ควรอ่านสักครั้งนึง เมื่อก้าวเข้าสู่ชีวิตวัยทำงาน

.

.

ส่วนตัวผมเองขอสรุปเป็น 10 ข้อคิดดีๆ จากหนังสือการลาออกครั้งสุดท้าย ของคุณใบพัด

.

1) โตแล้วไม่มีปิดเทอม

.

เมื่อเราเริ่มเข้าสู่การใช้ชีวิตจริงๆ เราจะโดนบังคับให้ลงทะเบียนเรียนวิชามากมาย เช่น

- วิชาทำมาหากิน

- วิชาสุขภาพดี

- วิชาทำให้พ่อแม่มีความสุข

- วิชาทำให้ครอบครัวรักกัน

- วิชาเพื่อนที่ดี

- วิชาความเข้าใจโลก

- วิชาผจญภัย

- วิชาสงบสุข

- วิชาทำเพื่อส่วนรวม

.

แน่นอนว่าเราไม่จำเป็นต้องทำวิชาพวกนี้ให้ได้เกียรตินิยม แต่คงไม่มีใครอยากติด F ในวิชาใดๆเลยก็ตาม

.

เราจึงตระหนักรู้เรื่องพวกนี้ และจัดสรรเวลาในการเรียนรู้วิชาต่างๆเหล่านี้อย่างเหมาะสม เราถึงจะสอบผ่าน

.

.

2) ลองคิดเสมอว่าสิ่งที่เราทำอยู่ในปัจจุบันจะนำไปใช้ต่อในอนาคตได้หรือไม่

.

นึกถึงเรื่องราวของเด็กโบกธง จริงอยู่ว่าในโรงเรียน ตำแหน่งเด็กโบกธงอาจมีหน้าที่ให้รับผิดชอบ และเป็นหนึ่งในงานที่น่าสนใจเมื่อมีการจัดกีฬาสี หรือกีฬาโรงเรียน แต่พอจบมาแล้ว คนที่ทำหน้าที่โบกธงจะเอาทักษะที่มีไปทำอะไรต่อ?

.

ทักษะ และความสามารถที่เรามีในปัจจุบันก็เป็นสิ่งที่น่าคิดว่าในอนาคตเราจะใช้อะไรจากพวกมันได้บ้าง

.

บางครั้งเราต้องหมั่นเรียนรู้ทักษะใหม่ๆอยู่เสมอๆ ให้ก้าวทันโลก

.

และแน่นอนว่าบางครั้งเราต้องหมั่นเลือกทักษะที่ใช่ และไม่เลือกทักษะที่ดูไม่น่าจะก่อประโยชน์ในระยะยาว

.

ทักษะ 3 แบบที่ผู้เขียนแนะนำว่าเราควรฝึก

1. สร้างทักษะที่เราทำได้เป็นคนแรก

2. ฝึกทักษะที่มีอยู่ แต่เราทำได้เก่งที่สุด

3. สร้างทักษะที่แตกต่าง

.

จงนึกถึงเด็กโบกธงเข้าไว้

.

.

3) จงประหยัด แต่อย่าเกินไปจนชีวิตต่ำกว่ามตรฐาน

.

แน่นอนว่าความประหยัดเป็นบันไดขั้นที่ 2 ไปสู่อิสรภาพ แต่มันต้องถูกนำมาใช้ด้วยหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง

.

ซึ่งหมายถึงว่าเราต้องไม่ประหยัดจนเกินพอดี ส่วนตัวผู้เขียนเล่าถึงขั้นว่า เขาประหยัดในทุกๆเรื่อง แม้แต่การไปกินหมูกระทะกับเพื่อน การไปงานแต่งงานเพื่อน การใส่ซองผ้าป่า

.

เรื่องเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดผลเสียในเวลาต่อมา และทำให้เรากลายเป็นคนนิสัยไม่ดี

.

‘ความประหยัดที่ดี คือ การสร้างความพึงพอใจในชีวิตโดยมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุด’

.

นั่นหมายถึง การกินแต่พอดี อยู่แต่พอดี ใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า มีความสุขเต็ม 100 กับไลฟ์สไตล์ที่เลือก ไม่ใช้ชีวิตติดลบจนเกินไป ไปจนถึงการตามหาคนในตำนานตั้งแต่ช่างซ่อมรถ ช่างซ่อมบ้าน จนหมอคู่ใจที่ไว้ใจได้ และช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย

.

และที่สำคัญที่สุดคือ การหาเพื่อนคู่ใจที่มีเป้าหมายอยากประหยัดเหมือนกัน

.

.

4) บันได้ 10 ขั้นสู่การมีอิสรภาพ

.

Step 1: มีหลักคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับการสร้างคุณค่าในตัวเอง

.

Step 2: มีหลักคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับความประหยัด

.

Step 3: เข้าใจกฎแห่งการเข้า-ออกของเงิน

เงินเข้ามีหลายช่องทางเช่น รายได้ประจำ ทรัพย์สิน ลิขสิทธิ์

เงินออก ต้องถามตัวเองดีๆว่า เงินออกไปกับสิ่งที่จำเป็นจริงๆรึเปล่า และเงินที่ออกไปจะทำให้เรามีเงินมากขึ้นในอนาคต หรือทำให้เราจนลง

.

Step 4: หาทรัพย์สินที่เราชอบ และให้ทรัพย์สินทำรายได้แทนเรา

.

Step 5: รู้จังหวะเวลาในการลงทุน

สำหรับการออมเงิน ยิ่งเริ่มออมเร็วยิ่งดี

แต่ถ้าการลงทุน ต้องเข้าใจวัฎจักรของเศรษฐกิจ ต้องรู้ว่าเศรษฐกิจมีช่วงขึ้นและลง หาจังหวะเข้าไปลงทุนให้ถูก

.

Step 6: เลือกเกมที่รู้ว่าเล่นยังไงถึงจะชนะ

เราต้องเล่นในเกมที่เป็นของเรา ต้องเข้าใจกฎกติกา โดยเฉพาะในเกมการเงิน

.

Step 7: สำรวจการใช้เวลาให้เหมือนกับการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย

.

Step 8: ชีวิตที่ดีนั้นตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์

เลิกเปรียบเทียบกับคนอื่น เพราะชีวิตของเรามีเป้าหมายของตัวเราเอง ไม่จำเป็นต้องไปแข่งกับใคร

แข่งกับตัวเองให้ถึงตามเป้าที่ตั้งไว้ก็พอแล้ว

.

Step 9: รู้จักชื่นชมกับสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต

.

Step 10: ประคับประคองชีวิตในทุกๆด้านไปพร้อมๆกัน

รวมถึงด้านการเงิน การใช้เวลา ด้านทัศนคติ ด้านการสร้างความรู้ ด้านสุขภาพ ด้านครอบครัวและคนใกล้ชิด

.

.

5) อย่าคิดว่าเรากำลังเล่นหุ้น ให้คิดว่ากำลังซื้อธุรกิจ

.

เราต้องทำการบ้านดีๆในการเลือกหุ้น อย่าผิดพลาดเหมือนคนส่วนใหญ่ที่แห่เข้าไปซื้อหุ้นกันโดยไม่ศึกษาให้ดีเสียก่อน

.

เรายังต้องเข้าใจด้วยว่าบางจังหวะเวลามีคนที่โลภเกินเหตุ เราต้องระวัง

.

และเราต้องรู้ว่าในบางจังหวะที่คนกำลังกลัวเกินเหตุ เราต้องโลภบ้าง

.

.

6) ว่างงานมันดียังไง?

.

มีหลายข้อที่น่าสนใจตั้งแต่

- การไม่ต้องเสียภาษี เพราะรายได้ไม่ถึงเกณฑ์

- ไม่ต้องโดนเพื่อนร่วมงานนินทา

- ไม่ต้องโดนหัวหน้าตำหนิ เพราะไล่หัวหน้าออกไปจากชีวิตแล้ว

- ไม่ต้องรีบตื่นแต่เช้า

- ไม่ต้องใช้ชีวิตแบบแก่งแย่งกับคนอื่น แย่งกันใช้รถสาธารณะ แย่งกันหาร้านอาหาร ไม่มีชั่วโมงเร่งด่วนอีกต่อไป

- ไม่ต้องใส่เครื่องแบบ ไม่ต้องสวมเสื้อผ้ายังได้

- มีเวลาเหลือเฟือ ไปเดินห้างตอนบ่าย ไปดูหนังตอนกลางวัน ขับรถไปเที่ยวทะเลวันธรรมดาได้

.

7) ข้อเสียของการว่างงาน

.

แน่นอนว่าไม่ใช่มีแต่ข้อดีเท่านั้น เหรียญมี 2 ด้านเสมอ

.

- เมื่อไม่มีงานทำ วันหยุดยาวก็จะดูไม่น่าตื่นเต้นอีกต่อไป ไม่มีวันหยุดให้โหยหา

.

- ทุกวันกลายเป็นวันปกติ ชีวิตดำเนินไปเรื่อยๆ จนเกิดแต่ความเบื่อ

.

- พอมีเวลามากมายเหลือเฟือ สิ่งต่างๆที่ตั้งใจจะทำ ก็ดูไม่ต้องเร่งรีบ ไม่น่าดึงดูดให้ทำอีกต่อไป กองหนังสือที่อยากอ่าน เมื่อรู้ว่าอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะว่างอยู่แล้ว ก็ไม่รู้จะรีบอ่านไปทำไม ทักษะที่อยากพัฒนา ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม เมือเป้าหมายไม่ชัดเจน

.

- ไม่รู้จะคุยกับใคร เพราะทุกคนยุ่งกับการทำงานกันหมด

.

- คนรอบๆตัวไม่เข้าใจ เดินไปเจอคนในหมู่บ้านก็อาจโดนถามได้ว่า วันนี้ไม่ไปทำงานเหรอ? ทำไมตกงานละ?

.

- พอเบื่อๆมากๆเข้าก็กลายเป็นคนขี้เหงุดหงิด จนอาจถึงขั้นซึมเศร้าได้

.

- อาจทำให้มองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง เหมือนที่คนแก่หลังเกษียณอายุชอบเป็นกัน

.

.

8) ช่วงเวลาในชีวิตที่เปรียบเหมือน 4 ควอเตอร์ของเกมอเมริกันฟุตบอล

.

ควอเตอร์แรก คือตั้งแต่เกิด จนอายุก่อน 30

ใช้เป็นช่วงฟูมฟักชีวิตของตัวเอง เลือกเส้นทางที่จะเติบโตต่อไปในการทำงาน

.

ควอเตอร์ที่ 2 คือวัย 30 ถึง 45 ปี

เป็นช่วงที่ต่อยอดสิ่งที่ลงหลักปักฐานในช่วงแรก เพื่อสร้างความมั่นค

ในอนาคต

.

ควอเตอร์ที่ 3 คือวัย 45 ถึง 60 ปี

เป็นช่วงที่เติบโตเต็มที่จากสิ่งที่สั่งสมมา เปรียบดั่งกระจันทร์เต็มดวง

.

ควอเตอร์ที่ 4 คือวัยหลังเกษียณอายุ

เป็นช่วงที่ค่อยๆเว้าลงอย่างนุ่มนวลจนจบที่ข้างแรม คือเดือนมืดอันงดงาม

.

หลายๆคนนำหน้ามาตั้งแต่ควอเตอร์แรก แต่มาพลาดพลั้งในควอเตอร์สุดท้าย

กลับกันบางคนออกตัวช้าแต่ใช้ความมุ่งมั่นพลิกกลับมาชนะที่ควอเตอร์สุดท้ายได้

.

.

9) จงพักให้เป็นจังหวะหนึ่งในการทำงาน


.


เวลาเล่นดนตรี เมื่อสังเกตดูที่ตัวโน้ตดีๆ เราอาจค้นพบได้ว่า มีตัวหยุดพักจังหวะซ่อนอยู่ แต่ปกติเราไม่ค่อยรู้เจ้าตัวหยุดพักดังกล่าว เพราะมันกลืนไปกับจังหวะการเล่นของเรา


.


ชีวิตการทำงานก็ไม่ต่างอะไรกัน เราต้องรู้จักหยุดพักให้เป็น รวมการหยุดพักเข้าไปกับการบรรเลงชีวิต เพื่อทำให้ดนตรีชีวิตของเราไพเราะและสร้างสรรค์

.

.

10) ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนคนอื่น แต่เอาตัวเองให้รอดให้ได้

.

คุณใบพัดเล่าว่าพ่อของเขาว่ายน้ำไม่เป็นท่า ไม่ใช่ฟรีสไตล์ ไม่ใช่กบ กรรเชียงกับผีเสื้อก็ไม่ใกล้เคียง แต่พ่อก็ว่ายอย่างนี้มาทั้งชีวิต และไม่เคยหยุดว่าย

.

บางทีการจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ เราเองก็ต้องไม่หยุดว่าย แม้ท่วงทำนองของเราอาจไม่เหมือนคนอื่น แต่ความอึดและความทรหดนั้นอาจสำคัญกว่า

.

.

11) อิสระภาพที่แท้จริงก็คือตอนที่เราถูกขังอยู่ในกรงที่เรารัก

.

พ่อของผู้เขียนแม้จะทำงานเป็นลูกจ้างมาทั้งชีวิต มีเงินพอใช้เลี้ยงดูครอบครัวได้ แต่ก็ไม่เคยหยุดทำงาน

.

เขาคิดเสมอว่า เขาคือเถ้าแก่เจ้าของธุรกิจผู้รับผิดชอบในส่วนงานที่ได้รับมอบหมาย เขาทุ่มเทให้กับการทำงานเสมอ

.

แม่ของผู้เขียน เป็นแม่บ้านที่คอยดูแลงานบ้านทุกอย่าง แม่คือผู้เสียสละที่ทำให้คนอื่นๆในครอบครัวได้เดินทางไปสู่ฝันของตัวเอง

.

ตัวคุณใบพัดผู้เขียน ได้ค้นพบว่า การว่างงานไม่ใช่อิสระในแบบที่ตัวเองคิดเมื่อครั้งเป็นมนุษย์เงินเดือน มันมีความอึดอัดคับใจในแบบของมัน แต่มันก็ทำให้เขาค้นพบว่า เขาชอบงานเขียน และนั่นคือกรงที่เขายินดีจะอยู่กับมันต่อไป

.

.

…………………………………………………………………………………

ผู้เขียน: ภาณุมาศ ทองธนากุล (ใบพัด)

จำนวนหน้า: 304 หน้า

สำนักพิมพ์: a book, สนพ.

เดือนปีที่พิมพ์: 2010

…………………………………………………………………………………

.

.


สั่งซื้อหนังสือได้ที่:

.

.




177 views0 comments

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page