รีวิว Untamed
อย่ายอม
.
‘อย่ายอม อยู่ในกรงขังที่คนอื่นสร้างขึ้นมา’
.
‘เสือชีตาร์’ ตัวหนึ่งชื่อ ทาบิธา เป็นสัตว์ทิ่วิ่งเร็วที่สุดในโลก มันสามารถวิ่งไล่ตะครุบ ชิ้นเนื้อที่ถูกผูกไว้กับรถจิ๊บที่กำลังแล่นออกไปอย่างรวดเร็ว... แต่นี่เป็นเพียงการแสดงโชว์สัตว์ในสวนสัตว์เท่านั้น และท่าวิ่งไล่ตะครุบเหยื่อยของทาบิธา ก็ถูกเลียนแบบมาจากหมาพันธุ์ลาบราดอร์ที่วิ่งตะครุบตุ๊กตาสีชมพูห้อยไว้กับรถจิ๊บ
.
เมื่อการแสดงจบ ทาบิธากลับเข้ากรงไป และใช้ชีวิตอยู่ในกรงขังในสวนสัตว์รอการแสดงครั้งต่อไป ที่น่าสงสัยคือ ในแววตาเสือชีตาร์ตัวนี้นั้น มันยังมีความโหยหาที่จะกลับไปวิ่งเล่นบนทุ่งหญ้าสะวันนามั้ย? มันยังอยากวิ่งไปไล่ตะครุบเหยื่อจริงๆในทุ่งหญ้าแห่งนั้นมั้ย? มันยังอยากนอนกลางวันแหงนหน้าดูท้องฟ้าสีครามจากต้นไม้เล็กในทุ่งหญ้าสะวันนามั้ย? มันยังมีความเป็นเสือชีตาร์จริงๆรึเปล่า?....
...หรือมันได้กลายไปเป็นหมาลาบราดอร์ที่ถูกฝึกให้เชื่องแล้ว
.
.
หลายคนน่าจะเคยรู้สึกถึงชีวิตที่ไม่ใช่ตัวเอง แต่เป็นชีวิตที่มีความถูกต้อง ควรจะเป็นตามแบบแผนที่สังคมตีกรอบไว้ เราอาจจะเคยถูกพ่อแม่สั่ง และครูในโรงเรียนสอนแต่เด็กว่า โตขึ้นมาต้องทำตัวแบบนี้ แต่งตัวแบบนี้เวลาเข้าสังคม หางานทำให้มั่นคง หาคู่ครองที่ไว้ใจได้ แต่ว่า...
... ถ้านั่นไม่ใช่สิ่งที่เราเป็นจริงๆละ
.
เราเองก็อาจจะไม่ต่างอะไรกับเสือชีตาร์ที่วิ่งไล่กวดตุ๊กตาสีชมพูบนรถจิ๊บนั่นโดยไม่รู้ตัว เราอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตุ๊กตาสีชมพูคืออะไร และเราจะวิ่งไปทำไม เพียงแต่คนอื่นบอกให้เราทำ สังคมบอกว่าสิ่งนี้ดี และให้เราวิ่งไป
.
มันถึงเวลารึยังที่เราจะรู้ตัวสักทีว่าเราติดกับอยู่ในกรงขังที่ค่านิยมทางสังคมสร้างขึ้นมา และมันถึงเวลารึยังที่เราจะ ‘ไม่ยอม’ อยู่ในกรงดังกล่าวอีกต่อไป...
.
หนังสือ Untamed ชวนเราตั้งคำถามกับชีวิตตัวเองว่าแท้จริงแล้ว เราได้ ‘เป็น’ ตัวเราในแบบที่เราเป็นรึเปล่า หรือว่าเราเพียงทำตามสิ่งที่คนอื่นบอกให้ทำ ถ้าเราคิดว่าเราเป็นในแบบของเราแล้วก็แล้วไป แต่ถ้าไม่ใช่ ก็อาจถึงเวลาที่เราจะต้องหาวิธีออกจากกรง
.
.
สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ ผู้เขียนหนังสือ Glennon Doyle (เกลนนอน ดอยส์)
.
เธอเป็นคุณแม่ลูก 2 ที่เพิ่งค้นพบตัวเองในวัย 40 ปีว่า ชอบผู้หญิงด้วยกัน และขอหย่ากับสามี พร้อมสร้างครอบครัวใหม่ของตัวเอง
.
อ่านดูครั้งแรกก็อาจไม่ได้คิดอะไร แต่เนื่องด้วยอายุของเกลนนอนที่มากพอควร ลูกติด 2 คน และความเชื่อทางศาสนาคริสต์ของเธอที่แรงกล้า การจะได้ใช้ชีวิตในแบบที่เธอต้องการจริงๆไม่ใช่เรื่องง่าย
.
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในตอนนั้นเธอเป็นนักเขียนชื่อดัง ที่แต่งหนังสือขายดีระดับ international มาแล้ว 2 เล่ม เธอเป็นคนมีชื่อเสียง และกำลังมีปัญหาครอบครัวอย่างรุนแรง ในตอนนั้นเธอจับได้ว่า สามีเธอเคยนอกใจเธอหลายครั้ง ส่วนตัวเธอเองก็เป็นเลสเบี้ยน ชอบผู้หญิงด้วยกัน ไม่ได้ชอบผู้ชาย แต่เธอดำเนินชีวิตแบบที่ผ่านมาเพราะเธอเชื่อว่าถูกต้องจากการปลูกฝังของสังคม
.
หนังสือ Untamed จึงเป็นเหมือนไดอารี่บันทึกเรื่องราวการก้าวผ่านความยากลำบากของเกลนนอนในการเปลี่ยนชีวิตจากในแบบที่เป็นอุดมคติของสังคม มีครอบครัว พ่อ 1 แม่ 1 และลูก 2 เป็นครอบครัวที่ มีคู่ภรรยา-ภรรยา ลูก 2 คนของเธอต้องไปมาระหว่าง 2 บ้าน
.
แน่นอนว่าช่วงเปลี่ยนผ่านล้วนมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการยอมรับจากคนรอบข้าง พ่อแม่เธอ ลูกๆของเธอ และเหล่าแฟนคลับหนังสือของเธอที่ติดตามเธอมาอย่างยาวนาน
.
หนังสือมีความเป็น howto เล็กๆเมื่อเกลนนอนกลั่นกรองขั้นตอนในการ ‘untamed’ หรือปลดปล่อยตัวเองออกจากกรงขัง เพื่อไปใช้ชีวิตในแบบที่เธอเป็นจริงๆ
.
กุญแจ 4 ดอกที่จะปลดปล่อยตัวเราออกจากกรงขัง
กุญแจดอกที่ 1: จงรู้สึกทุกๆอย่าง
ไม่ว่าความรู้สึกนั้นจะเป็น ความเจ็บปวด ความทรมาน การไม่ถูกยอมรับ ความโหยหา ความสุข หรืออะไรก็ตาม เราต้องเปิดรับความรู้สึกนั้นอย่างเต็มที่
.
โดยเฉพาะความเจ็บปวด เกลนนอนรู้ดีว่าความเจ็บปวดน่ากลัวแค่ไหน แต่ถ้าเรารู้จักอดทนแล้วผ่านพ้นมาได้ เราจะได้ใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเราเป็นจริงๆ
.
กุญแจดอกที่ 2: จงนิ่งและรู้
เมื่อก่อนเกลนนอนมักจะหวังคำตอบจากพระผู้เป็นเจ้า นักบวช ครูบาร์อาจารย์ พ่อ แม่ นักบำบัด ที่ปรึกษาหรือคนอื่นๆ แต่บางครั้งการจะรู้ได้ซึ่งตัวเราเองจริงๆนั้น เราอาจต้องสงบและนิ่ง
.
เกลนนอนใช้วิธีเข้าไปอยู่ในตู้เสื้อผ้าวันละ 10 นาที เพื่อให้ตัวเองสงบนิ่งและตื่นรู้
.
บางครั้งถ้าเราไม่นิ่ง มันจะเหมือนกับการว่ายวนอยู่บนผิวน้ำแห่งความยุ่งเหยิง มีเสียงต่างๆรอบตัวเราคอยสั่งนู่นบอกนี่อยู่ตลอด วิธีที่เราจะหนีให้พ้นจากเสียงเหล่านั้นคือนิ่ง ลองดำดิ่งลึกลงไปในจิตใจของตัวเอง ฟังเสียงของตัวเองจริงๆ
.
สื่อสารกับตัวตนของเรา แล้วเราจะได้คำตอบจากภายในตัวเราเอง ‘การรู้’จะคอยนำทางเราเองว่าเราควรทำอย่างไรต่อไป
.
กุญแจดอกที่ 3: กล้าจินตนาการ
จินตนาการเป็นสิ่งที่ได้ยากมากเมื่อเราโตขึ้นมา เพราะเราล้วนถูกปิดกั้นโดยความจริงทั้งหลายที่คนรอบตัวโหมกระหน่ำใส่เรา
.
แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรารู้แล้วว่าเราต้องการอะไร และจะเดินไปทางไหน ณ จุดนี้เราต้องใช้จินตนาการมาช่วย
.
เราต้องลองจินตนาการถึงภายชีวิตในแบบที่เราอยากเป็น ในกรณีของเกลนนอน เมื่อเธอรู้แล้วว่าเธอต้องการหย่า และสร้างชีวิตใหม่กับผู้หญิงที่ชื่อแอ๊บบี้ เธอลองจินตนาการถึงชีวิตคู่ที่เป็นไปได้ของเธอ
.
แม้ครอบครัวในอุดมคติของสังคมจะแหลกสลายไป แต่ทุกๆส่วนจะค่อยๆประกอบร่างขึ้นมาใหม่เป็นชีวิตในรูปแบบที่เธอต้องการ
.
ดังนั้นจงทำสิ่งที่มองไม่เห็นให้กลายเป็นสิ่งที่มองเห็น ทำความฝันของเราให้เป็นแผนการ
.
กุญแจดอกที่ 4: สร้างและปล่อยให้ไหม้
สร้างชีวิตในแบบที่เราจินตนาการขึ้นมา และเผาชีวิตที่ไม่ต้องการทิ้งไปซะ
.
ขั้นตอนสุดท้ายหลังจากเรามีภาพในจินตนาการชัดเจน ก็ลงมือเผาชีวิตเดิม กับกรอบเดิมๆของสังคมทิ้งไปซะ
.
เกลนอนนเผาใบอนุญาตจากสังคมไปหลายใบ ทั้งเรื่องความเป็นแม่ผู้เสียสละ ความเป็นผู้หญิงที่ไม่เห็นแก่ตัว เผาใบสั่งที่บอกว่าโครงสร้างของครอบครัวคือโครงสร้างที่ดีที่สุดและไม่สามารถสร้างใหม่ได้
.
.
ต้องยอมรับว่า เนื้อหาในหนังสือเหมือนเป็นการปลดปล่อยตัวเองของผู้เขียน แรงกดดันและแรงบีบบังคับจากสังคมรุนแรงมากในหลายวัฒนธรรม รวมทั้งบ้านเรา คนที่ไม่ได้ต้องการเป็นอย่างที่สังคมอยากให้เป็นก็มีอยู่มากมาย
.
และเขาเหล่านั้นต้องทน ‘เจ็บปวด’
.
หนังสือจึงเป็นกึ่งหนังสือเล่าประวัติส่วนตัวของผู้เขียนว่าเธอผ่านช่วงเปลี่ยนผ่านมาได้อย่างไร กึ่งๆหนังสือ howto เล่า 4 ขั้นตอนในการปลดปล่อยตัวเองออกจากกรงขัง และหนังสือปลุกใจสำหรับคนที่รู้ว่ากำลังใช้ชีวิตอยู่ตามความต้องการของคนอื่นไม่ใช่ของตัวเอง
.
หนังสือค่อนข้างยาว แม้จะแบ่งเป็นบทสั้นๆ แต่เนื้อหาวนเวียนอยู่กับ 2-3 ประเด็น ส่วนใหญ่จะเป็นการยอมรับและปลดปล่อยตัวเองเป็นเพศที่แตกต่างของเกลนนอน และเรื่องการเลี้ยงลูกในวันที่เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัว
.
ถามว่าดีมั้ย? ผมว่าประเด็นหลักน่าสนใจและเข้ากับยุคสมัยมาก หนังสือเข้าถึงอารมณ์ส่วนลึกมาก บางตอนอ่านเข้าใจยาก เพราะยากที่จะเข้าถึงอารมณ์ของผู้เขียนจริงๆ แต่ข้อเสียคือประเด็นค่อนข้างน้อย และมีการเขียนวนไปมามาก ถือว่าเป็นการอ่านเพื่อกระตุ้นให้เราออกจากกรงซะมากกว่า
.
สุดท้ายผมอยากจะนำ 5 ข้อคิดดีๆที่ชอบเป็นการส่วนตัว หลังอ่านหนังสือ Untamed มาฝากกันครับ
.
1) ทั้งผู้หญิง ผู้ชายต่างล้วนอยู่ในกรงขัง
.
สังคม และค่านิยมต่างๆรอบตัวเราต่างสร้างกรงขังครอบเราไว้โดยไม่รู้ตัว เรามักถูกปลูกฝังมาแต่เด็กว่า ผู้ใหญ่ในอุดมคติต้องทำตัวแบบ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า...
.
สำหรับผู้หญิง มันอาจเป็น การผอม การรักษาหุ่น การแต่งตัว การแต่งหน้า การเลือกทรงผม การเดิน กริยาท่าทาง การทำตัวน่ารัก ทำตัวอ่อนน้อม ความไม่มั่นใจตัวเอง ขี้อาย คอยช่วยเหลือผู้ชาย ทำตัวให้น่าทะนุถนอม
สำหรับผู้ชาย มันอาจเป็น ความสำเร็จ ความก้าวหน้าทางการงาน ความมั่นคง ความหนักแน่น ความไม่อ่อนแอ การห้ามร้องไห้ต่อหน้าผู้อื่น การแสดงความมั่นใจ การแสดงออกซึ่งอารมณ์ที่มั่นคง
.
แน่นอนว่าในชีวิตคู่ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำตามที่เราถูกปลูกฝังไว้แต่เด็ก เราก็อาจรู้สึกผิดหวังได้
.
แต่จงรู้ไว้ว่านี่คือกรงที่สังคมสร้างขึ้น ผู้หญิงก็แสดงความมั่นใจในตัวเองได้ถ้าเธอมั่นใจ ผู้หญิงไม่ต้องทำตัวน่าทะนุถนอมตลอดเวลา และผู้ชายเองก็ร้องไห้ได้ อ่อนแอได้
.
เราต่างเป็นมนุษย์ และไม่มีเหตุผลอะไรที่เราต้องเก็บความรู้สึกที่แท้จริงไว้ข้างใน
.
มันอาจถึงเวลาแล้วที่เราจะเอากรงที่ขังตัวเองออก แล้วเป็นในสิ่งที่เราเป็นจริงๆสักที
.
.
2) ทุกครั้งที่เลือกว่าจะทำให้คนอื่นหรือตัวเองผิดหวัง จนเลือกทำให้คนอื่นผิดหวัง
.
หลายๆครั้งในชีวิตที่เราตัดสินใจทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อไม่ให้คนอื่นผิดหวัง
.
แต่จริงๆแล้วการตัดสินใจเหล่านั้นอาจขัดกับใจของเราเอง
.
ตัวอย่างเช่น เกลนดาเคยโทรถามแม่ของเธอเรื่องการตัดผมหน้าม้า แม่ของเธอขอให้เธออย่าตัด เพราะไม่เข้ากับหน้าของเธอ เกลนดาจึงเชื่อแม่และไม่ตัด แต่นั่นคือการฝืนใจตัวเอง และทำให้ตัวเองผิดหวัง
.
ถ้าเจอเรื่องแบบนี้อีก แน่นอนว่าเกลนดาจะไม่ทำให้ตัวเองผิดหวังอีกต่อไป
.
เราเองก็ทำได้เช่นเธอ ถ้าการตัดสินใจครั้งไหนที่เรารู้ว่า เราอาจทำให้ตัวเองผิดหวัง จงเลือกที่จะทำให้ผู้อื่นผิดหวัง และเลือกทำในแบบที่ตัวเองอยากทำ ออกจากกรงขังของความคาดหวังของคนอื่นได้แล้ว
.
.
3) เพศเป็นเหมือนน้ำในแก้ว กรอบความคิดทางสังคมคือการเอาแก้วไปครอบน้ำไว้
.
เป็นเรื่องแปลกที่เรามักจะเอาแก้วมาครอบกับน้ำที่ไหลไปมาได้สารพัดรูปแบบ
.
‘น้ำ’ ดังกล่าวอาจเป็นได้ทั้ง ศาสนา หรือเพศ ในขณะที่ ‘แก้ว’ เป็นกรอบทางสังคมที่ชอบใส่ชื่อเข้าไปว่า น้ำรูปแบบนี้เรียกว่าแบบนี้ น้ำอีกรูปแบบหนึ่งตั้งชื่ออีกแบบหนึ่ง
.
ทั้งที่จริงๆแล้วศาสนาและเพศ เป็นไปได้มากมายหลายรูปแบบ ศาสนาอาจไม่ได้มีแค่ คริสต์นิกายคาทอลิก คริสต์นิกายโปรแตสแตนท์ พุทธ อิสลาม หรืออื่นๆ
.
เพศก็เช่นกัน อาจไม่ได้มีแค่เพศชายหรือหญิง แต่มีทั้ง LGBTAIQ+ คือีรูปแบบอีกมากมายหลากหลายที่ยากที่จะจำกัดความ
.
สิ่งที่เราควรทำคือเลิกเอาแก้วมาครอบน้ำที่มีหลากสภาวะแบบนี้ แล้วยอมรับน้ำเหล่านั้นในแบบที่มันเป็น
.
เลิกคาดหวัง เลิกใช้ใบอนุญาต เลิกตั้งกฎเกณฑ์ และปล่อยให้น้ำได้อยู่ในแบบที่เป็นตัวมันจริงๆ
.
.
4) เราอยากให้ลูกมองเราว่าเป็นแม่ที่เสียสละ หรือเป็นแม่ที่กล้าใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองเป็น
.
แม้ว่าเราจะถูกสั่งสอนมาแต่เด็กๆว่าการเป็นแม่ที่ดีคือ การยอมเสียสละทุกๆอย่างเพื่อเลี้ยงดูลูก ซึ่งหลายๆครั้งมันหมายถึงการริดรอนเอาความสุขของคนเป็นแม่ไปด้วย
.
ในกรณีของเกลนดา มันคือการที่เธอต้องรักษาโครงสร้างครอบครัวแบบเดิมไว้ เพื่อให้ลูกได้เติบโตขึ้นในแบบที่ควรจะเป็น และไม่เจอกับปัญหาต่างๆที่มักจะเกิดขึ้นกับเด็กคนอื่นๆที่พ่อแม่หย่ากัน
.
มันอาจเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง แต่ไม่ทำให้เกลนดามีความสุข เพราะเมื่อเธอได้รู้ตัวเองว่า ไม่ได้ชอบสามีของเธออีกต่อไป เอมีเซ็กส์แบบลวงๆ แกล้งทำเนถึงจุดสุดยอด จะได้ให้มันจบๆไปมาหลายปี เธอชอบผู้หญิง และเธอต้อวการหย่า
.
ในกรณีแบบนี้ เกลนดาต้องเลือกระหว่างความถูกต้องในแบบอุดมคติที่จะช่วงประคับประคองลูกๆของเธอไว้ หรือตัดสินใจทำเพื่อให้ตัวเองมีความสุขของตัวเอง
.
สุดท้ายแล้ว เกลนดาตัดสินใจใช้ชีวิตในแบบที่เธอต้องการ นั่นคือการหย่า และสร้างครอบครัวขึ้นมาใหม่โดยอยู่กับแอ๊บบี้ ภรรยาของเธอ
.
มันอาจฟังดูเห็นแก่ตัวสุดๆ แต่เธอได้ตัดสินใจแล้วว่า เธอจะไม่ทำตัวเป็นแบบอย่างของแม่ผู้เสียสละความสุขส่วนตนให้ลูกๆ เพราะลูกๆของเธอก็คงจะทำตามเมื่อโตขึ้น แต่เธอจะเป็นตัวอย่างที่ทำในแบบที่ตัวตนของเธอต้องการจริงๆ เพื่อให้ลูกๆได้เห็นเป็นแบบอย่างและทำตามเธอ ใช้ชีวิตของพวกเขาจริงๆ!
.
.
5) ยอมให้หัวใจแตกสลาย เพื่อเปิดประตูบานใหม่
.
เมื่อความแตกสลายมากดกริ่ง เราควรจะเปิดประตูต้อนรับมัน
.
อาจฟังดูแปลกแต่ถ้าเราไม่ยอมรับความผิดหวัง เราก็จะไม่สามารถก้าวข้ามผ่านมันไปเป็นคนใหม่ หลายๆช่วงที่ชีวิตเราเจออุปสรรค เจอความล้มเหลว เราท้อแท้ และเจ็บปวด ไม่มีใครอยากเป็นทุกข์ ไม่มีใครอยากเปิดประตูรับความแลกสลายของชีวิต
.
แต่ถ้าเราไม่เปิดรับความความแหลกสลาย เราก็จะไม่มีวันก้าวข้ามผ่านไปเป็นคนใหม่
.
การเปลี่ยนนั้นเกิดขึ้นเสมอ และเมื่อเราลืมตาขึ้นมา เราก็ต้องออกไปเจอชีวิตใหม่ด้วยดวงตาใหม่ เราจะต้องไม่ย้อนกลับไปหาชีวิตเก่าอีก แบบงูที่พยายามเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในคราบเก่า
.
เราต้องเป็นผีเสื้อ จงคิดและเชื่อไว้เสมอว่าหลายๆครั้งเราต้องเป็นดักแด้ที่รอวันที่จะออกมามีชีวิตใหม่ในแบบที่เราเป็น ไม่ว่าการแตกหลายของหัวใจจะเกิดจากการหย่าร้าง การถูกบอกเลิก การตกงาน หรืออะไรก็แล้วแต่ คนเรามีช่วงชีวิตที่เป็นดักแด้ได้ แต่เราต้องรู้ว่าวันหนึ่งเราจะออกมาเป็นผีเสื้อที่สวยงามอีกครั้ง
.
.
.
.
.
.
สั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.
.........................................................................................................
ผู้เขียน: Glennon Doyle
ผู้แปล: K.D.
จำนวนหน้า: 326 หน้า
สำนักพิมพ์: อมรินทร์ How To, สนพ.
เดือนปีที่พิมพ์: 4/2021
.........................................................................................................
.
.
.
Comments