5 หลักสำคัญในการเป็นคนมีกรอบความคิดแบบมองออก
จากหนังสือ The Outward Mindset
เพราะมองออกนอก คุณถึงเห็นข้างใน
.
1) Mindset และอิทธิพลของมัน
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า Mindset เป็นกรอบความคิดของเราที่ส่งผลต่อพฤติกรรม และการลงมือทำ
เมื่อความคิดส่งผลต่อ >> พฤติกรรม
พฤติกรรมของเราจึงส่งผลต่อ >> การปฏิบัติตัวกับคนอื่น
และ การปฏิบัติตัวของเรากับคนอื่น ก็ส่งผลกลับมาเป็น >> วิธีที่คนอื่นปฏิบัติตัวกับเรา
ดังนั้นแล้วการที่จะเปลี่ยนแปลง ‘วิธีที่คนอื่นปฏิบัติตัวกับเรา’ ต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงจาก Mindset ของตัวเราก่อน
.
2) เข้าใจความแตกต่างของ Inward Mindset (กรอบความคิดแบบมองเข้า) และ Outward Mindset (กรอบความคิดแบบมองออก)
หนังสือเล่มนี้แบ่ง Mindset 2 แบบ
1. Inward Mindset (กรอบความคิดแบบมองเข้า)
คือ การคิดโดยยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง
ทุก ๆ อย่างที่จะทำต้องคำนึงถึงความต้องการและผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก
ไม่ได้สนใจความต้องการ และสิ่งที่คนอื่นจะได้รับ
หลายครั้งจึงอาจเหมือนการมองคนอื่นเป็นเพียง ‘สิ่งของ’
.
2. Outward Mindset (กรอบความคิดแบบมองออก)
คือ การคิดโดยคำนึงถึงเป้าหมายและผลลัพธ์ของคนอื่นควบคู่ไปกับของตัวเอง
มองความต้องการและปัญหาของคนอื่น มองว่าคนอื่นจะได้รับผลกระทบอะไรจากตัวเราบ้าง
และพยายามหาวิธีที่จะช่วยให้ทั้งตัวเราและคนอื่นบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้
การมองคนอื่นแบบนี้ จึงเป็นการมองคนอื่นเป็น ‘มนุษย์’ เหมือนกับตัวเรา
.
3) แบบแผนของคนมี Outward Mindset (กรอบความคิดแบบมองออก)
หนังสือแนะนำหลักสำคัญ 3 ขั้นตอนสำคัญในการเปลี่ยนตัวเองเป็นคนมี Outward Mindset
โดยใช้ตัวย่อขั้นตอนทั้ง 3 นี้ว่า SAM
1. มองเห็นคนอื่นเป็นคน (S: See others)
เริ่มจากการมองเห็นความต้องการคนอื่นก่อน
ลองพิจารณาว่ามีใครบ้างที่ได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมและการทำงานของเรา
มองหา ‘ความต้องการ จุดมุ่งหมาย และปัญหา’ ของพวกเขา
มีสิ่งไหนบ้างที่เราพอจะช่วยเหลือเขาได้ หรือมีสิ่งไหนที่เรายังทำกับเขาไม่ดี และควรปรับปรุงแก้ไขใหม่
.
2.ปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของตัวเรา (A: Adjust efforts)
โดยให้วิธีการทำงานของเราช่วยเหลือคนอื่นได้มากขึ้น
.
3. ประเมินและรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เราสร้างขึ้น (M: Measure impacts)
ประเมินดูว่าการทำงานของเราที่ได้ปรับเปลี่ยน ไปกระทบต่อคนอื่นมากน้อยแค่ไหน
เราต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เราสร้าง และพยายามหาวิธีในการปรับปรุงให้มันดีขึ้นอยู่เสมอ ๆ
4) ก้าวที่สำคัญที่สุด คือการ ‘ไม่เอาแต่รอ’
เป็นไปได้ว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอาจมองเห็นปัญหาของความสัมพันธ์ที่กำลังเผชิญอยู่
แต่ถ้าทุกคนเอาแต่รอ และไม่ลงมือทำอะไร
การเปลี่ยนแปลงก็คงจะไม่เกิดขึ้น
.
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เราเป็นฝ่ายเริ่มเปลี่ยนแปลงก่อน
เมื่อรู้หลักการแล้ว ก็เริ่มลงมือเลย
เข้าใจปัญหาของคนอื่น
ปรับเปลี่ยนการทำงาน
และร่วมกันประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
.
5) ขยายผลในวงกว้าง
การจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กรที่ทุกคนสนใจแต่เรื่องของตัวเองได้
ต้องเริ่มจากตัวเราเองก่อน แล้วค่อย ๆ ขยายผลออกไปในวงกล้างมากขึ้นเรื่อย ๆ
โดยเรามี Outward Mindset กับคนรอบตัวในทุกด้าน
- หัวหน้าของเรา
- ลูกน้องเรา
- เพื่อนร่วมงาน
- ลูกค้า
- ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ
โดยเมื่อเริ่มขยายผลแล้ว เราอาจจัดตั้งทีมในองค์กร เพื่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างขึ้นต่อไป
.
ขอเล่าตัวอย่างที่น่าสนใจตัวอย่างหนึ่งนะครับ
บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ เคยประสบปัญหาขาดทุนหนัก เมื่อประมาณปี 2006
ก่อนจะได้ผู้บริการมือดีอย่าง อลัน มูลัลลี่ มาปรับแก้สถานการณ์
กล่าวคือ ในตอนนั้นทุกฝ่ายในบริษัทไม่กล้าพูดถึงปัญหาในส่วนของตน
พอเวลามาประชุมกัน ก็เอาแต่โชว์ ‘สีเขียว’ ซึ่งหมายถึงงานส่วนของทีมตนไม่มีปัญหาอะไร
จนกระทั่ง อลัน มูลัลลี่ เริ่มโชว์ ‘สีแดง’ ในงานส่วนของเขาให้คนอื่นเห็น
เขากล้าที่จะพูดว่า งานที่เขาทำนั้นมีปัญหา และขอความร่วมมือจากฝ่ายอื่น ๆ มาช่วยกันแก้ปัญหา
การประชุมครั้งต่อ ๆ มา ทีมอื่น ๆ จึงเริ่มเอาปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรมขึ้นมาโชว์บ้าง และเริ่มโชวฺ์ ‘สีแดง’ มากขึ้น
จนในที่สุดปัญหาต่าง ๆ ก็ถูกเปิดเผยออกมา ทำให้บริษัทสามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ ก่อนจะส่งมอบสินค้าออกไปให้ลูกค้า
เหตุการณ์นี้ช่วยให้สถานการณ์ของฟอร์ดดีขึ้นในที่สุด และยังทำให้ผู้บริหารทุกทีม มี outward mindset
เข้าใจกันและกันมากขึ้น และทำงานร่วมกันได้ดีขึ้นอีกด้วย
.
.
รีวิวสั้น ๆ
The Outward Mindset เหมือนเป็นหนังสือภาคต่อของ ‘วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก (Leadership and Self Deception)’
และเน้นย้ำแนวคิดเรื่อง ‘empathy’ หรือ การทำความเข้าอกเข้าใจคนอื่น
จากคนเขียนคนเดิมคือ The Arbinger Institute
.
เล่มนี้แตกต่างจาก วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก ตรงที่เล่มนี้เป็นการยกตัวอย่างจากเรื่องจริง
บริษัทลูกค้าหลายบริษัท ที่ประสบปัญหาเรื่องคนจริง ๆ และทาง The Arbinger Institute ได้เข้าไปช่วยแก้ไข
เป็นการเล่าแบบเรียงความ ปัญหา วิธีแก้ไข และผลลัพธ์
.
ในขณะที่เล่ม วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก เป็นเรื่องแต่ง เรื่องเดียวที่ดำเนินไปตั้งแต่ต้นจนจบ ใช้ลักษณะการเล่าแบบนิยายผ่านมุมมองของตัวละครหลัก
.
โดยรวมแล้ว ยอมรับว่าอ่านเล่มก่อนที่เป็นเรื่องแต่งแล้วสนุกกว่า
และมีเนื้อหาที่ชัดเจน จับประเด็นได้มากกว่า
เล่ม The Outward Mindset เนื้อหาเพิ่มเติมจากเดิมนิดหน่อย
พวก framework หรือรูปที่ใช้อธิบายต่าง ๆ ในเล่ม มีความคล้ายเล่มก่อน
ส่วนที่เพิ่มมาใหม่มีไม่เยอะมาก
และเนื้อหาที่เป็นเรื่องจริง ก็ดูจะน่าสนใจน้อยกว่า เพราะเป็นลักษณะการเขียนแบบเรียงความ
.
อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่ไม่เคยอ่าน วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก แล้วมาอ่านเล่มนี้เลย
ก็ไม่ได้ติดขัดอะไร ยังสามารถทำความเข้าใจเนื้อหาได้ครบถ้วน
และน่าจะได้เข้าใจหลักการเปิดใจกับคนอื่นมากขึ้น
หนังสือค่อนข้างยาวนิด ๆ เมื่อเทียบกับใจความสำคัญ
แต่ส่วนตัวก็ยังชอบคนเขียนคนนี้อยู่ครับ ทั้งสำนวนการใช้ภาษา และคีย์เมสเสจที่เขาอยากจะสื่อ
.
.
...............................................................................................
ผู้เขียน: The Arbinger Institute
ผู้แปล: กานต์สิริ โรจนสุวรรณ
จำนวนหน้า: 224 หน้า
สำนักพิมพ์: วีเลิร์น, สนพ.
แนวหนังสือ: พัฒนาตัวเอง, บริหารธุรกิจ
...............................................................................................
.
.
สั่งซื้อหนังสือได้ที่
https://bit.ly/35eGlIk
.
.
#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #OutwardMindset
Comentarios