top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว The Lost Skills: ทักษะที่หายไปในศตวรรษที่ 21


รีวิว The Lost Skills: ทักษะที่หายไปในศตวรรษที่ 21

.

‘ทักษะที่หายไปในศตวรรษนี้คือ ทักษะในการเรียนรู้’

.

หนังสือเล่มล่าสุดจากปลายปากกาของอาจารย์นภดล ร่มโพธิ์ เจ้าของเพจ และ Podcast Nopadol’s Story

ซึ่งเคยตีพิมพ์ผลงานมาแล้วกว่า 10 เล่ม ที่พีค ๆ หน่อยก็จะมี Future Mindset และ Personal OKRs

.

เล่ม The Lost Skills ก็เป็นอีกเล่มที่รวมบทความที่อาจารย์นภดลเคยเขียนไว้ในเพจของตัวเอง

เล่มนี้มีทั้งหมด 33 บทความ ซึ่งล้วนมีความเกี่ยวข้องกับธีม ทักษะที่หายไปในศตวรรษนี้ทั้งสิ้น

.

ความรู้สึกหลังอ่าน ยังคงชอบผลงานของอ. นภดล เหมือนเดิม

โดยเฉพาะบทหลัง ๆ ที่เกี่ยวกับ Disruption ในวงการการศึกษา และการปรับตัวของมหาวิทยาลัย

ที่อาจารย์ได้ใส่ความเห็นตัวเองเข้ามาได้อย่างน่าสนใจ

เพราะคนที่ไม่ได้ทำงานในวงการนี้ก็คงจะอยากรู้กันพอสมควรว่า คนที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเขาคิดยังไงกับการศึกษาในศตวรรษใหม่

.

ส่วนตัวชอบเล่มนี้มากกว่า เล่ม Future Mindset เพราะเนื้อหามีความแปลกใหม่ และมีไอเดียดี ๆ หลายไอเดียที่เพิ่งเคยอ่านเป็นครั้งแรก

โดยภาษายังคงอ่านง่ายสไตล์อาจารย์นภดลเหมือนเดิม มีการเรียบเรียงที่เข้าใจง่าย

หนึ่งบทสั้น ๆ 3-6 หน้า แต่ใจความสำคัญจัดมาเต็ม ๆ

หนังสือไม่ยาวเกือบ ๆ 200 หน้า อ่านเพลิน ๆ รอบเดียวจบเลยครับ

ยังไงแนะนำให้ลองหาอ่านกันดูครับ

.

ต่อไปเป็นส่วนสรุป

10 บทเรียนสำคัญจากหนังสือ The Lost Skills

1) ทักษะที่หายไปในศตวรรษที่ 21

หลายคนอาจจะคิดว่าทักษะจำเป็นจริง ๆ ในศตวรรษนี้คงหนีไม่พ้นทักษะการเขียนโปรแกรม ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล Big Data หรือทักษะการขุดบิทคอยน์

แต่ความจริงแล้ว ในสมัยนี้ความรู้มีวงจรชีวิตที่สั้นมาก

สิ่งที่เรารู้วันนี้ อีก 3 เดือนก็อาจล้าสมัยแล้ว

.

ทักษะที่ดูจะจำเป็นมากกว่า จึงน่าจะเป็น ‘ทักษะในการเรียนรู้’ มากกว่า

เพราะหลายคนอาจลืมไปแล้วว่าเราจะฝึกทักษะในการเรียนรู้เพื่อให้เกิดทักษะใหม่ยังไง

เหมือนตอนที่อาจารย์นภดลเรียนปริญญาเอก ทักษะจริง ๆ ที่อาจารย์ได้ติดตัวมาก็คือ ‘Learn how to learn’

ไม่ใช่สิ่งที่ทำวิทยานิพนธ์

.

2) ฝึกทักษะในการเรียนรู้ด้วย 3 ทักษะต่อไปนี้

1. ทักษะการอ่าน - คนไทยอาจไม่ได้อ่านน้อย เพียงแต่ไม่ได้อ่านหนังสือเป็นเล่มกัน

แต่อาจารย์ก็ยังแนะนำให้ลองหยิบหนังสือเล่มมาอ่านกันดู

เพราะสิ่งที่เขียนไว้ในหนังสือเล่ม ก็คือปัญหาที่คนอื่นเคยเจอมา และมาเขียนเล่าเป็นประสบการณ์ให้ฟัง

.

2. ทักษะการเขียน - การจะเขียนออกมาได้ เราต้องทบทวนความคิดตัวเองจนตกผลึกก่อน

เมื่อเราเขียนออกมามาก เราจึงเข้าใจสิ่งที่อยู่ในหัวตัวเองมากขึ้น

และเรายังได้สื่อสารความคิดของเราออกไปให้คนอื่นได้รับรู้มากขึ้นด้วย

.

3. ทักษะในการขวนขวายหาความรู้ – ปัจจุบันนี้มีช่องทางการเรียนรู้ที่เราเข้าไปเรียนเองได้มากมาย

ทั้ง Youtube คอร์สออนไลน์ต่าง ๆ หรือข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก็ทำให้เรารู้เรื่องใหม่ ๆ ได้มากเช่นกัน

สิ่งสำคัญจึงเป็นการเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ และการหมั่นขวนขวายหาความรู้ใหม่ ๆ ไม่ให้ตัวเองหยุดนิ่ง

.

3) หันมาแชร์ความล้มเหลวกันบ้าง

ในโซเชียลมีเดีย ทุกคนมักจะโชว์กันแต่ด้านดี ๆ ได้ไปเที่ยว ได้งานดี ๆ เก็บเงินได้หลายล้าน ได้มีเวลากับคนรัก และความสำเร็จอื่น ๆ

แต่เราไม่เคยแชร์ความล้มเหลวกันเลย

.

ลองเปลี่ยนมาเขียนแชร์ความล้มเหลวของตัวเองบ้างก็ได้ เพื่อคนอื่นจะได้ไม่เข้าใจชีวิตผิด ว่าทุกอย่างจะต้องสำเร็จไปหมด

และยังเป็นการให้กำลังใจซึ่งกันและกันอีกด้วย

.

4) 10 เทคนิคอ่านหนังสือให้ได้เยอะ ๆ

เทคนิคส่วนตัวของอาจารย์นภดล ที่อ่านหนังสือได้เยอะมาก

ดูได้จาก Podcast ที่อาจารย์หยิบหนังสือมารีวิวก็รู้

.

1. อ่านในสิ่งที่ชอบและสนใจ

2. หาเวลาที่สงบในการอ่าน เช่น ช่วงเช้าหลังตื่นนอน และก่อนเข้านอน

3. เตรียมหนังสือไว้ทุกที่ – ทั้งในห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น ห้องนอน ห้องทำงาน หรือพกติดตัวไปด้วยก็ยิ่งดี

4. อ่านหนังสือหลาย ๆ เล่มสลับกัน – อ่านไปพร้อม ๆ กัน จะได้ไม่เบื่อ

5. ลองอ่าน E-book ในมือถือหรือแท็บเล็ต - เพราะอ่านได้สะดวก

6. ฟังหนังสือเสียงเมื่อขับรถ หรือออกกำลังกาย

7. คบค้าสมาคมกับหนอนหนังสือคนอื่น

8. ตั้งเป้าหมายในการอ่าน ว่าอ่านไปเพื่ออะไร

9. ยิ่งงานยุ่งยิ่งต้องอ่าน เพราะเวลาเรามีจำกัด เราต้องใช้เวลาที่กำหนดไว้ อ่านให้ได้ตามเป้า

10. เลือกหนังสือที่จะอ่าน – เนื่องจากเวลาเราจำกัด อ่านไม่ได้ทุกเล่ม

.

5) 7 เทคนิคการเลือกหนังสือ เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่จบ

เนื่องจากเป็นเพจรีวิวหนังสือเลยอยากหยิบเรื่องเกี่ยวกับหนังสือมาสรุปเยอะหน่อยนะครับ

.

1. เลือกหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องที่เราชอบ

2. เลือกหนังสือที่เรานำประโยชน์ไปใช้ได้ทันที

3. เลือกหนังสือที่ติดอันดับ Bestsellers เพราะมีคนอื่นการันตีให้แล้วว่าดีจริง

4. เลือกหนังสือจากนักเขียนที่เราชื่นชอบ

5. เลือกหนังสือตามไอดอลของเรา

6. เลือกหนังสือที่อ่านง่าย – พยายามเลี่ยงอ่านหนังสือที่เกินความสามารถตัวเองเกินไป แต่ก็ไม่อ่านเล่มที่รู้เรื่องหมดอยู่แล้ว

7. เลือกหนังสือปกแข็ง หรือหนังสือที่มีตัวอักษรใหญ่ ๆ – สำหรับคนที่เริ่มมีอายุ และเป็นวิธีอ่านแบบถนอมสายตาด้วย

.

6) 9 เทคนิคทลายกองดอง

สำหรับคนที่ชอบซื้อแต่ไม่ชอบอ่าน อาจลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปใช้ดู

.

1. ลดการซื้อหนังสือใหม่ ๆ – อาจตั้งกฎกับตัวเองก่อนว่า ถ้าอ่านเล่มเก่าจบ ถึงจะซื้อเล่มใหม่ได้

2. เล่มไหนไม่ สปาร์คจอย! ก็ทิ้งไปซะ - เดินไปดูในกองดอง และจัดการหนังสือที่ไม่อยากอ่านแล้ว

อาจลองนำไปให้เพื่อน หรือบริจาคก็ได้

.

3. เลือกอ่านเล่มที่อยากอ่านมากสุดก่อน เพื่อให้เกิดความสนุกในการอ่าน

หรืออาจเลือกอ่านจากเล่มบางสุดก่อน เพื่อให้เกิดโมเมนตั้มการอ่าน

4. กำหนดเวลาอ่านให้ชัดเจน สร้างนิสัยรักการอ่านขึ้นมา

5. เชื่อมโยงการอ่านหนังสือกับกิจกรรมอื่น เพื่อทำให้การอ่านหนังสือน่าดึงดูดมากขึ้น

6. ทำให้การอ่านเป็นเรื่องง่าย เช่นวางหนังสือไว้ทุกที่ หรือตั้งเป้าว่าจะอ่านแค่วันละ 30 นาที

7. คำนวณเวลาเฉลี่ยในการอ่านหนังสือ เพื่อให้รู้ว่าเล่มนึงต้องใช้เวลาเท่าไหร่ถึงจะอ่านจบ

8. พยายามคิดว่าจะเอาสิ่งที่อ่านไปใช้ประโยชน์อย่างไรตอนอ่าน

9. หาคนมาอ่านด้วยกัน

.

7) อาจารย์มหาวิทยาลัยในอนาคต

ตามความเห็นของอาจารย์นภดล ในอนาคต จะยังมีอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่

แต่จะเปลี่ยนบทบาทจาก Teacher ไปเป็น Facilitator

.

นั่นคืออาจารย์มหาลัย จะไม่ใช่คนคอยป้อนข้อมูลความรู้ให้ เพราะนักเรียนสามารถหาข้อมูลเหล่านี้ได้ตามอินเตอร์เน็ต

แต่อาจารย์จะบอกวิธีการที่ดีที่สุดในการเรียนรู้ หรือบอกแหล่งข้อมูลที่นักเรียนต้องไปค้นคว้าเพิ่มเอง

.

รุปแบบคล้ายโค้ชกีฬา ที่คอยวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของนักกีฬา และชี้แนะว่านักกีฬาต้องทำยังไงบ้าง ถึงจะเก่งขึ้น

.

8) เรียนจากทฤษฎี vs จากประสบการณ์

ถ้าให้เลือกเราจะเลือกอย่างไหน ?

เชื่อว่าหลายคนคงตอบว่าอยากเรียนจากประสบการณ์ตรงของคนสำเร็จ

.

แต่คำถามที่สำคัญกว่าคือ ทำไมเราไม่เรียนทั้ง 2 แบบไปพร้อม ๆ กัน

1. การเรียนจากประสบการณ์ตรง

มีข้อดัคือ เขาพิสูจน์มาแล้วว่าเขาทำได้จริง วิธีการของเขาเวิร์ค

แต่ต้องระวังว่า ประสบการณ์ของเขามีบริบทประกอบอยู่มาก

.

เช่น คนที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการทำธุรกิจเสื้อยืดคนหนึ่ง ก็อาจประสบความสำเร็จได้เพราะปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ

ทั้งจากขนาดกระเป๋าเงินที่เป็นทุนตั้งต้นของเขา คอนเนคชั่นที่เขามี ความสามารถในการขายของเขา สภาพเศรษฐกิจ ณ ขนาดนั้น คู่แข่งของเขาในตลาดที่เขาขาย และโอกาสพิเศษที่เขาได้รับ

หลายคนที่ทำแบบเดียวกับนักธุรกิจเสื้อยืดคนนี้ก็อาจล้มเหลวไม่เป็นท่าได้ เพราะปัจจัยแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย

.

2. การเรียนจากทฤษฎี

คำถามสำคัญคือ ทฤษฎีคืออะไร

ทฤษฎีก็เกิดจากการทำการวิจัย ซึ่งเริ่มจากการสังเกตปรากฏการณ์ (Phenomenon) การเก็บข้อมูลด้วยการทดลอง ทำ case study ทำแบบสอบถาม ซึ่งล้วนมาจากประสบการณ์จริงของคนหลาย ๆ คน

แล้วค่อยเอามาตกผลึกเป็นทฤษฎี หรือแนวคิดที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ความสำเร็จของคนเหล่านั้น

.

ซึ่งโดยปกติทฤษฎีจะมีความสามารถในการนำไปประยุกต์ใช้กับบริบทต่าง ๆ ได้มากกว่า เพราะตัวมันเองล้วนถูกสร้างมาจากเหตุการณ์ในหลายบริบท และถูกพิสูจน์มาแล้วในหลายบริบทเช่นเดียวกัน

.

สิ่งสำคัญจึงเป็นการพยายามเรียนรู้จากทั้งประสบการณ์ตรง และทฤษฎี

แล้วพยายามนำไปปรับใช้กับชีวิตตัวเอง

.

อย่าลืมว่าทฤษฎีก็สำคัญไม่แพ้ประสบการณ์

‘There is nothing so practical as a good theory’ (Kurt Lewin)

.

9) GPA สะท้อนระดับความชอบมากกว่า ระดับความรู้

หลายคนมักจะติดใจกับเกรด หรือ GPA ของตัวเองในอดีต

เช่น ถ้าเด็ก ๆ เราเรียนวิชาภาษาอังกฤษไม่เก่ง เราก็อาจคิดอยู่ตลอดว่า เราคงจะโง่ภาษาอังกฤษไปทั้งชาติ

.

แต่ความจริงแล้วในมุมมองอาจารย์ นภดล

GPA เป็นตัววัดความรู้ในขณะที่ทดสอบ ไม่ใช่ตัววัดความรู้ตลอดเวลา

การที่เรามี GPA สูงในอดีต ก็ไม่ได้แปลว่า ในปัจจุบัน เราจะยังเก่งเรื่องนั้นอยู่

จึงดูเป็นการแปลกที่องค์กรหลายแห่งยังคงใช้เกรดเฉลี่ยตอนป.ตรี ในการรับเข้าทำงาน

.

จริง ๆ แล้ว GPA อาจเป็นตัววัดระดับความชอบ มากกว่าระดับความรู้

เพราะถ้าเราชอบวิชาไหน เราก็จะตั้งใจเรียนวิชานั้นเป็นพิเศษ

เช่น ถ้าเราชอบเลข เราก็คงจะตั้งใจเรีนรเลข และทำเกรดได้ดี

แต่ถ้าเราไม่ชอบเล่นกีฬา เราก็คงจะเกลียดวิชาพละ และสอบวิชานี้ได้คะแนนต่ำ

.

10) ไอเดีย transcript แบบใหม่

Transcript คือ ใบแจ้งผลการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งมักจะมีผลตอนเราสมัครเข้าทำงานในองค์กรต่าง ๆ

อาจารย์นภดลแนะนำว่า ในอนาคต อาจลองเปลี่ยนจากการต้องโชว์ transcript ของทุกวิชา

เป็นการแสดงเฉพาะวิชาที่เกี่ยวข้องกับงานที่สมัคร

.

เช่น ถ้าเราสมัครตำแหน่ง programming ก็โชว์ให้นายจ้างเห็นเฉพาะวิชาที่เกี่ยวข้องกับทักษะการเขียนโปรแกรม

วิชาอื่น ๆ เช่น วิชาบัญชี หรือการตลาด ที่เราไม่สนใจแต่ต้องเรียนเป็นพื้นฐานไว้ ก็ไม่ต้องใส่ใน transcript

.

หรืออีกแบบคือเราจะโชว์เฉพาะวิชาที่เราทำได้ดีใน transcript ก็ได้

เพื่อให้เราไม่สามารถลงเรียนได้หลากหลายวิชา

โดยไม่ต้องห่วงว่าเราจะทำเกรดออกมาได้ไม่ดี

.

เพราะการลงเรียนแต่วิชาง่าย ๆ เพื่อปั้มเกรดใน transcript นับเป็นปัญหาหนึ่งที่ควรได้รับการแก้ไข

.

.

.......................................................................................................

ผู้เขียน: ศ.ดร. นภดล ร่มโพธิ์

จำนวนหน้า: 208 หน้า

สำนักพิมพ์: Welearn

......................................................................................................

.

สนใจสั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #thelostskills



84 views0 comments

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page