top of page
  • Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว PDPA ฉบับเข้าใจง่าย



สรุป 10 ข้อสำคัญที่ทุกคนต้องรู้ในกฎหมายPDPA

จากหนังสือ PDPA ฉบับเข้าใจง่าย

.

1. กฎหมาย PDPA คืออะไร

PDPA ย่อมาจากPersonal Data Protection Act

ชื่อภาษาไทยคือ พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลพ.ศ. 2562

ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จึงเกี่ยวข้องกับทุกคนที่มีหรือใช้“ข้อมูลส่วนบุคคล”

วัตุประสงค์ที่ต้องมีกฎหมายฉบับนี้ก็เพื่อ กำหนดกรอบการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเท่าที่จำเป็น และไม่ให้กระทบสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

.

.

2. ใครต้องรู้กฎหมายPDPA บ้าง

1) เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data subject)

ต้องเข้าใจสิทธิของตัวเองในการควบคุมการที่บุคคลอื่นจะใช้ข้อมูลของเรา

.

2) องค์รธุรกิจ

เข้าใจหน้าที่และความรับผิดชอบในการนำข้อมูลส่วนบุคคลของคนอื่นมาใช้

.

3) พนักงานบริษัท

โดยเฉพาะฝ่าย HR/ sales/ marketing/ IT ที่ต้องเข้าใจบทบาทและความรับผิดชอบในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของคนอื่น

.

4) บุคคลทั่วไปที่ทำธุรกิจ

รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ฟรีแลนซ์ที่มีการเก็บและใช้มูลของคนอื่นจะได้ทำได้อย่างถูกต้อง

.

.

3. ทำไมต้องมีกฎหมายPDPA

ประเด็นหลักคือการช่วยให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลได้รับความคุ้มครองปกป้องสิทธิของตัวเองได้มากขึ้นรวมถึงสามารถควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลของตนได้มากขึ้น

ในขณะที่องค์กรธุรกิจหรือแม่ค้าออนไลน์ก็ต้องใช้ข้อมูลส่วนบุคคลอย่างระมัดระวังมากขึ้นและมีขั้นตอนการดำเนินการที่มากขึ้นด้วย

.

เพราะทุกวันนี้มีการนำข้อมูลส่วนบุคคลออกมาใช้กันมากมายจนหลายครั้งสร้างผลกระทบให้เจ้าของข้อมูล

เช่น การที่อยู่ๆมีคนโทรมาเสนอขายประกันหรือส่งอีเมลspam ต่างๆมาโดยไม่รู้ว่าเขาได้ข้อมูลเรามาได้อย่างไรและเราต้องดำเนินการยังไงบ้าง

.

4. หลักการสำคัญ 2 ประการของกฎหมาย PDPA

1) ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น (Necessity)

2) ต้องมีการแจ้งเจ้าของข้อมูลให้ทราบล่วงหน้าว่าข้อมูลส่วนบุคคลนั้นได้รับมาจากไหน และจะถูกนำไปใช้อย่างไร (No surprise)

.

.

5. ข้อมูลส่วนบุคคลคืออะไร

ข้อมูลส่วนบุคคล ภาษาอังกฤษเรียกว่า Personal Identifiable Information (PII)

เป็นข้อมูลที่ทำให้สามารถเชื่อมโยงระบุตัวตนของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้

ดังนั้นพวกข้อมูลนิติบุคคล หรือข้อมูลบริษัทจึงไม่นับเป็นข้อมูลส่วนบุคคล

.

ข้อมูลส่วนบุคคลรวมถึง ชื่อ-นามสกุล บัตรประชาชน รูปถ่าย เบอร์โทรศัพท์ บัญชีธนาคาร นามบัตร Line ID Facebook account

หรือแม้กระทั่งเลขรหัสที่บริษัทใช้ระบุตัวลูกค้า ก็นับเป็นข้อมูลส่วนบุคคล เพราะสามารถเชื่อมโยงถึงตัวบุคคลได้

.

.

6. ข้อมูลส่วนบุคคลอ่อนไหว คืออะไร

ข้อมูลบุคคลอ่อนไหว (Sensitive PII) คือ ข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน และมีความสุ่มเสี่ยงต่อการใช้ในการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

- ข้อมูลพันธุกรรม

- ข้อมูลชีวภาพ เช่น ลายนิ้วมือ หรือรูม่านตา ที่ใช้แสกนเข้าโทรศัพท์

- ข้อมูลสุขภาพ

- เชื่อชาติ เผ่าพันธุ์

- ความคิดเห็นทางการเมือง

- พฤติกรรมทางเพศ

- ประวัติอาชญากรรม

- ข้อมูลสหภาพแรงงาน

- ข้อมูลอื่น ๆ ที่คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอาจประกาศเพิ่มเติม

.

ถามว่าข้อมูลบุคคลอ่อนไหว ต่างจากข้อมูลส่วนบุคคลยังไง

ด้วยความอ่อนไหวของข้อมูล การนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้องจึงมีโทษปรับที่รุนแรงกว่า และการจะนำข้อมูลไปใช้ได้ ก็ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อนทุกครั้ง

.

.

7. รู้จักผู้ที่อาจเกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล

แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1) Data controller (DC) หรือ ผู้ควบคุมข้อมูล ทำหน้าที่ตัดสินใจเก็บ และใช้ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น บริษัทและแม่ค้าขายของ

2) Data processor (DP) หรือ ผู้ประมวลผลข้อมูล ส่วนใหญ่จะทำตามคำสั่งของ DC เช่น บริษัทส่งของ บริษัทจัดหางาน

.

ดังนั้นแล้ว ทั้งบริษัท แม่ค้า เมสเซนเจอร์ส่งของ รวมถึงบริษัทตรวจสอบบัญชีและ Marketign agency ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย PDPA ทั้งสิ้น ถ้าไม่ทำตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนอย่างถูกต้อง ก็อาจเข้าข่ายมีความผิด และอาจถูกลงโทษได้

.

.

8. PDPA คุ้มครองตั้งแต่ตอนเริ่มเก็บข้อมูล ต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่ข้อมูลยังอยู่ในครอบครอง

ตั้งแต่เริ่มไปเก็บข้อมูล ใช้งาน รักษา และส่งต่อ

ดังนั้นแม้จะเป็นข้อมูลพนักงานเก่ากว่า 10 ปีที่แล้ว ก็ยังถือว่าอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ PDPA อยู่

.

.

9. หน้าที่หลัก 4 ประการของ Data controller (DC)

1) ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลเท่าที่จำเป็น เพราะยิ่งประมวลผลมาก ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมาก และควรมีการบันทึกการประมวลผลไว้อย่างชัดเจน

เรื่องความจำเป็นมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน เช่น ตามฐานกฎหมาย ฐานการทำประโยชน์ต่อสาธารณะรัฐ ฐานการทำวิจัย ฐานการระงับอันตรายเป็นต้น

.

2) แจ้งการประมวลผลข้อมูล แจ้ง Privacy notice กับเจ้าของข้อมูล และขอความยินยอมในกรณีที่จำเป็น

เรื่องการขอความยินยอมก็มีรายละเอียดปลีกย่อย เช่นการขอถอนความยินยอมต้องทำได้ง่าย เช่นเดียวกับตอนที่ขอ

.

3) ต้องจัดให้มีการรักษามาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลอย่างเหมาะสม ระบบในบริษัทต้องมีการรักษาความปลอดภัยที่ดี ถ้าเกิดเหตุข้อมูลรั่วไหล ต้องมีมาตรการในการจัดการได้ รวมถึงแจ้งคณะกรรมการควบคุมดูแลข้อมูลส่วนบุคคลภายใน 72 ชั่วโมง

อาจต้องเข้าใจว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เพียง security อย่างเดียว

เพราะ Privacy ≠ Security

เปรียบเหมือนการที่เราปิดกรงในบ้าน แต่ก็ยังมีช่องให้คนอื่นมองเห็นในบ้านเราอยู่ดี ข้อมูลจึงรั่วไหลได้

เราจึงควรปิดกรง พร้อมปิดผ้าม่านด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อมูลรั่วไหลเช่น กระดาษรีไซเคิลที่ดันทำมาจากสำเนาบัตรประชาชนของพนักงาน หรือพนักงานในบริษัทแอบเอาข้อมูลไปใช้ในเรื่องส่วนตัว

.

4) อาจแต่งตั้ง Data Protection officer (DPO) ในกรณีที่มีการประมวลข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวสม่ำเสมอ และในกรณีของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ และราชการ

ถ้าไม่แต่งตั้ง DPO อาจถูกโทษปรับจำนวนมหาศาล

.

.

10. กรณีศึกษาการปรับใช้ PDPA ในสถานการณ์ต่าง ๆ

1) แม่ค้าออนไลน์ – ถ้ามีการเก็บข้อมูลลูกค้า ต้องส่ง Privacy notice แจ้งลูกค้าอย่างชัดเจน

2) การทำการตลาด – ถ้าทำแบบ broadcast กว้าง ๆ ใน Line offificial หรือตาม social media ถือว่าไม่ได้เข้าข่ายการใช้ PII

แต่ถ้าทำการตลาดแบบเจาะจงบุคคล เช่น ส่ง message ไปเฉพาะกลุ่มลูกค้า หรือยิง Ads ใส่ลูกค้ากลุ่มเฉพาะ ต้องมีการขอความยินอยมให้นำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในการทำการตลาด

.

3) การแชร์รีวิวจากลูกค้า ต้องขอความยินยอมจาก เจ้าของข้อมูลก่อน

4) การทำวิจัยการตลาด ถ้าไม่ได้เก็บแบบเจาะจงระบุตัวบุคคล ก็ไม่ต้องขอความยินยอม

5) Web cookies ถ้าไม่ใช่ Cookies ที่มีความจำเป็นที่จะทำให้เว็ปไซต์ใช้งานได้ ต้องขอความยินยอมต่อผู้ใช้งานในทุกกรณี

6) การเก็บข้อมูลอ่อนไหว เช่น ลายนิ้วมือ รูม่านตา ต้องขอความยินยอม แต่สามารถระบุเป็นเงื่อนไขในการทำงานตำแหน่งนั้น ๆ ได้

7) การขอดูกล้องวงจรปิด ทำไม่ได้เพราะจะมีภาพคนอื่นอยู่ด้วย ยกเว้นบางกรณีเช่น ตำรวจต้องดูเพื่อสืบหาคนร้าย

8) รูปถ่าย ถ้าถ่ายเซลฟี่แล้วติดคนอื่น ไม่เข้าข่าย PDPA เพราะไม่ได้นำไปใช้ในเชิงธุรกิจ แต่ถ้ามีการมาเก็บภาพงาน event เพื่อนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ต้องมีการแจ้ง Privacy notice

.

.

รีวิวหลังอ่านสั้น ๆ

กฎหมาย PDPA เริ่มใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา

การทำความเข้าใจกฎหมายไว้แต่เนิ่นๆจึงมีความสำคัญมาก

โดยเฉพาะสำหรับบริษัทและคนขายของออนไลน์

ส่วนด้านผู้บริโภคเองก็มีความสำคัญพอสมควรเพราะการเข้าใจสิทธิของตัวเองก็ช่วยให้เราป้องกันสิทธิพื้นฐานและเรียกร้องต่อผู้ตรวจสอบเมื่อเกิดกรณีที่เข้าข่ายการทำผิดได้

.

ต้องยอมรับว่าหนังสือกฎหมายอ่านยากโดยธรรมชาติของมันเองอยู่แล้ว

แต่การทำเป็นฉบับการ์ตูนคือช่วยลดความยากไปได้ระดับหนึ่ง

และถึงจะไม่เข้าใจหมดแต่อย่างน้อยๆก็จะพอคุ้นๆกับหลักการพื้นฐานอยู่บ้าง

หรือถ้าตรงไหน จำไม่ได้ก็ยังเปิดกลับมาอ่านดูใหม่ได้

.

อย่างตัวผมเองไม่เคยเรียนกฎหมายมาก่อนเลยแม้แต่น้อย

การอ่านก็เรียกว่าไปแบบช้าๆ

แต่ก็พอจับคอนเซ็ปต์หลักของกฎหมายฉบับนี้ได้แม้จะยังไม่เข้าใจรายละเอียดทั้งหมดก็ตาม

เพราะฉะนั้น ไม่ค้องมีพื้นฐานทางกฎหมายมาก่อนก็น่าจะอ่านได้สบายครับ

.

หนังสือ PDPA ฉบับเข้าใจง่ายจัดทำโดยบริษัทEasy company group บริษัทที่รับงานที่ปรึกษาและการสร้างนวัตกรรมทางกฎหมายร่วมกับทีมงานขายหัวเราะ

การ์ตูนจึงดูสนุก น่าติดตามและเข้าใจง่าย

ยังไงใครสนใจอยากเข้าใจกฎหมายPDPA ฉบับพื้นฐานลองหาอ่านกันดูนะครับ

.

.

.

--------------------------------------------------------------

สั่งซื้อหนังสือ PDPA ฉบับเข้าใจง่ายได้ที่

m.me/iamthebestofficial

--------------------------------------------------------------

.

.

..........................................................................

ผู้เขียน: รับขวัญ ชลดำรงค์กุล (ขวัญ) และอมรเชษฐ์ จินดาภิรักษ์ (ทาโร่)

สำนักพิมพ์: EasyPDPA ในเครืออีซี คอมพานีกรุ๊ป

..........................................................................

.

.

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #PDPAฉบับเข้าใจง่าย




59 views0 comments
Post: Blog2_Post
bottom of page