top of page

รีวิว Miracle Morning ทุกสิ่งในชีวิตจะดีขึ้น เมื่อตื่นเช้า

  • Writer: หลังอ่าน: รีวิวหนังสือ
    หลังอ่าน: รีวิวหนังสือ
  • Sep 25, 2021
  • 2 min read




รีวิว Miracle Morning ทุกสิ่งในชีวิตจะดีขึ้น เมื่อตื่นเช้า

.

.

‘ ตื่นเช้ามาพัฒนาตัวเองเพียงวันละ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ชีวิตเราจะเปลี่ยนไปตลอดกาล’

.

หนังสือว่าด้วยเรื่องของการตื่นเช้ามาใช้เวลาส่วนสำคัญของวันไปกับการพัฒนาตัวเอง คำว่าเช้าที่ว่าจะเป็นกี่โมงก็ได้ แต่ถ้าให้ดีต้องก่อน 8 โมงเช้า

.

เหตุผลที่เราควรตื่นเช้าก็เพราะเป็นช่วงที่เรามีพลังงานมากที่สุด ยังไม่เหนื่อย และใจยังไม่ว้าวุ่นไปกับเรื่องต่างที่เกิดขึ้นระหว่างวัน

.

สิ่งน่าสนใจอย่างแรกของหนังสือเล่มนี้คือตัวผู้เขียน ฮาล เอลรอด (Hal Elrod) ชายหนุ่มอายุน้อยที่ผ่านประสบการณ์ความตายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ โดยในเชิงการแพทย์นั้น เขาตายไปแล้ว 6 นาที ก่อนจะถูกชุบชีวิตขึ้นมาใหม่

.

ฮาลก็เหมือนเด็กหนุ่มวัยมหาลัยทั่วไปที่ลงเรียนในหลายหน่วยกิต และทำงานในบริษัทควบคู่กันไป โดยเขาทำงานเป็นเซลล์แมนดาวรุ่ง ที่ทำยอดขายติดอันดับต้นๆของบริษัทต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี

.

เขามีแฟนสาวสุดสวย และใช้ชีวิตแบบสุดโต่งกับการสนุกสนาน เฮฮาปาร์ตี้กับเพื่อน แต่เมื่อวันหนึ่งในตอนกลางคืนเขาก็ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์อย่างรุนแรง กระดูกหักไปทั่วตัว และแพทย์วินิจฉัยว่าเขาตายไปแล้ว แต่โชคยังดีที่หลังจากนอนโคม่าอยู่หลายวัน ฮาลก็เริ่มกลับมีสติ เริ่มค่อยๆเคลื่อนไหวร่างกายได้ทีละส่วน และกลับมาใช้ชีวิตปกติได้

.

เมื่อได้สัมผัสถึงความตาย เขาก็เริ่มใช้ชีวิตระวังมากขึ้น และเริ่มมองเห็นคุณค่าของเวลาที่มีอยู่มากขึ้น เขาจึงพยายามหาช่วงเวลาในการพัฒนาตัวเองให้ไปสู่เป้าหมายที่เขาต้องการ

.

ฮาลได้ทดลองเวลาเย็นหลังเลิกงาน แต่ก็ไม่เวิร์คเพราะเขาเหนื่อยเกินไป เวลาบ่ายๆ เขาก็ไม่เคยว่างเสียที สุดท้ายก็เหลือแต่เวลาตอนเช้าก่อนที่วันของเขาจะเริ่มต้นขึ้น เขากำหนดเวลาหลังตื่นนอนเป็นช่วงเวลาพิเศษที่จะได้โฟกัสกับการพัฒนาตัวเองไปสู่เป้าหมาย

.

ชีวิตของฮาลเหมือนการเล่นโรลเลอร์โคสเตอร์ หลังประสบอุบัติเหตุเขากลับมาตั้งใจทำงาน และทำได้ดีมากจนประสบความสำเร็จอย่างมาก ติดอันดับ ท็อปเทนนักขายยอดเยี่ยมของบริษัทนานติดต่อกันหลายสมัย แต่เมื่อเจอวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ชีวิตและการงานของเขาก็ดิ่งฮวบลงในทันที เขาต้องอาศัยแรงกายแรงใจอย่างมากในการฮึดสู้กลับมาเดินตามเป้าหมายอีกครั้ง

.

การสู้ครั้งหลัง ส่วนตัวฮาลบอกว่ายากกว่าครั้งแรกด้วยซ้ำ เพราะในครั้งแรกตอนประสบอุบัติเหตุเขายังเด็ก มีคนคอยซัพพอร์ตมากมาย ทั้งพ่อแมและครอบครัวของเขา แต่พอวิกฤตการเงิน เขามีภาระต้องผ่อนบ้าน และกำลังวางแผนจะมีลูกกับภรรยาคนปัจจุบัน เขาเลยมีภาระท่วมตัว บางวันก็คิดไม่ออกจนอยากฆ่าตัวตาย

.

แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ผ่านมันมาได้ และเขายังได้ทำอาชีพในฝันอาชีพใหม่คือการเป็น Life coach เป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจให้คนจำนวนมาก และเป็นนักเขียนนักสือชื่อดังหลายเล่ม

.

หนังสือ the miracle morning จึงเป็นการถ่ายทอดเคล็ดลับการใช้เวลาพัฒนาตัวเองในช่วงเช้าหลังตื่นนอนสูตรเฉพาะของฮาล ที่ช่วยให้เขาก้าวพ้นช่วงวิกฤต และกลายมาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จมากมายได้

.

ผมขอแบ่งสรุปออกเป็น 5 คำถามสำคัญสำหรับการตื่นมาสร้างปาฏิหารย์ในตอนเช้านะครับ

.

(1)

คำถามสำคัญข้อแรกคือ อะไรคือสาเหตุหลักที่ทำให้เราต้องสนใจมาพัฒนาตัวเองขนาดที่ว่า ต้องยอมตื่นเช้าทุกวันเพื่อทำสิ่งนี้เป็นอย่างแรก?

.

คำตอบน่าจะมาจากสถิติที่หนังสือนำเสนอไว้อย่างน่าสนใจว่า คนกว่า 95% ของประชากรทั้งหมดไม่ได้มีชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ เนื่องจากไม่สามารถหาเงินได้มากพอที่จะใช้ไลฟ์สไตล์ที่ตัวเองวาดฝันไว้

.

หลายคนมีภาระหนี้สิน และอีกหลายคนมีรายได้ที่ไม่พอกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แทบจะมีเพียงแค่ 1% ที่ร่ำรวย และอีก 4% ที่มีเงินมากพอจะเกษียณตัวเองได้

.

การพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆเพื่อให้ก้าวขึ้นไปมีชีวิตในแบบที่ต้องการจึงมีความสำคัญมาก

.

ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะต่างๆ การอ่านหนังสือเพื่อรับเอาไอเดียใหม่ๆ รวมถึงการฝึกสมาธิและการออกกำลังกายเพื่อลดความเครียด และยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงนั้นล้วนส่งผลต่อความก้าวหน้าทั้งทางการงาน การเงิน และชีวิตในระยะยาว

.

.

(2)

คำถามถัดมาคือ อะไรคือสาเหตุหลักที่ทำให้คนทั่วไปล้มเหลวในการพัฒนาตัวเองไปสู่เป้าหมาย?

.

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่หนังสือเล่าถึงก็คือ การที่เรายึดติดกับชีวิตในอดีต หรือที่เรียกว่าโรคกระจกมองหลัง (Rearview Mirror Syndrome)

.

คนที่เป็นโรคนี้คือคนที่เอาแต่มองไปที่กระจกหลัง ซึ่งก็คืออดีตของตัวเอง และเชื่อว่าพวกเขาต้องใช้ชีวิตแบบที่ผ่านมาเหมือนในอดีต พวกเขากลัวที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ๆ เพราะนั่นจะทำให้เขาต้องถอดตัวเองออกจากอดีตที่ยึดเหนี่ยว

.

ในเมื่ออดีตส่วนใหญ่ของคนเหล่านี้คือความล้มเหลว พวกเขาจึงไม่สามารถก้าวพ้นความล้มเหลวได้สักที

.

วิธีแก้เมื่อเราเข้าใจเรื่องนี้ ก็คือการเชื่อว่าเราเปลี่ยนแปลงได้ เราสามารถก้าวข้ามเรื่องราวในอดีตและมีชีวิตในแบบที่เราต้องการได้

.

.

อีกสาเหตุหนึ่งคือการที่คนจำนวนมากแยกเหตุการณ์ต่างๆออกจากกัน และไม่คำนึงถึงความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันในภาพรวม (Isolating Incident) เช่น เราตัดสินใจว่าวันนี้จะไม่ออกกำลังกาย เพราะคิดว่ายังไงวันพรุ่งนี้ก็ยังออกได้อยู่

.

แต่แน่นอนว่าวันพรุ่งนี้เราก็จะยังคิดแบบเดิมอยู่ และการออกกำลังกายก็ไม่เคยเกิดขึ้นสักที

.

เพราะความจริงแล้วทุกการตัดสินใจของเราเชื่อมโยงกันในภาพรวม และล้วนส่งผลกับชีวิตเราทั้งนั้น

.

เราจึงควรหยุดอ้างว่าเราไม่ทำในวันนี้เพราะเราจะทำในวันอื่น และตั้งใจให้สิ่งที่ดีที่สุดกับตัวเราในทุกการตัดสินใจ

.

.

(3)

เมื่อเราเข้าใจความสำคัญของการพัฒนาตัวเอง และรู้สาเหตุว่าทำไมเราถึงติดกับดักการหยุดอยู่กับที่นั่น คำถามถัดมาคือ ทำยังไงเราถึงจะตื่นเช้าเพื่อมาพัฒนาตัวเองตามเป้าที่เราตั้งไว้ได้?

.

ผู้เขียนแบ่งออกเป็น 5 วิธีง่ายๆในการหยุดกดปุ่ม snooze และตื่นขึ้นมาตามแผนสักที

.

วิธีที่ 1: ตั้งเป้าให้ชัดเจนก่อนนอน

‘สิ่งที่เราคิดอย่างแรกตอนตื่นนอน เป็นสิ่งเดียวกับสิ่งสุดท้ายที่เราคิดก่อนนอน’

.

เราจึงควรวางแผนให้ชัดว่า พรุ่งนี้เราจะตื่นมาทำอะไรบ้าง ความชัดเจนทำให้เราลุกจากเตียงได้ง่ายในวันรุ่งขึ้น

.

วิธีที่ 2: วางนาฬิกาปลุกไว้ที่อีกฟากนึงของห้อง

เพื่อให้เราต้องออกแรงในการเดินไปกดปุ่มหยุดนาฬิกาปลุก และอย่างน้อยๆก็เอาตัวออกห่างจากเตียง

.

วิธีที่ 3: แปรงฟัน

เพื่อเพิ่มความสดชื่น และเป็นการบอกตัวเองว่าเราออกจากกิจกรรมการนอนแล้ว

.

วิธีที่ 4: ดื่มน้ำ 1 แก้ว

เพราะตอนนอนเต็มๆ 6-8 ชั่วโมง ร่างกายไม่ได้รับน้ำเลย การดื่นน้ำจึงช่วยสร้างความสดชื่นให้ร่างกาย

.

วิธีที่ 5: อาบน้ำหรือเปลี่ยนเสื้อผ้า

เพื่อเป็นการบอกร่างกายว่าเรากำลังจะเริ่มวันแล้ว

.

.

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ เรามักจะไม่ลุกจากที่นอนเพราะเราหมั่นบอกตัวเองว่า ‘เรายังนอนไม่พอ’ เพราะเรารู้ว่าเรานอนกี่ชั่วโมง

.

ในคืนที่เรานอนแค่ 6 ชั่วโมง เราก็เลยอาจบอกตัวเองว่า เราต้องการนอนเพิ่ม แต่ความจริงแล้วร่างกายของเราอาจพักผ่อนเพียงพอแล้วก็ได้

.

เพราฉะนั้นจงหยุดบอกร่างกายว่าเราต้องการนอนเพิ่ม และสั่งให้ร่างกายลุกออกจาเตียงโดยเร็ว!

.


.

(4)

คำถามสุดท้ายคือ เราควรทำอะไรบ้างเพื่อพัฒนาตัวเองหลังตื่นนอน?

.

ผู้เขียนให้จำง่ายๆว่า ให้ทำ 6 ข้อต่อไปนี้ภายในเวลา 30 นาที – 1 ชั่วโมง ก่อนจะเข้าไปทำกิจกรมจำเป็นในแต่ละวัน โดยให้ชื่อว่า The Life S.A.V.E.R.S โดยอักษรแต่ละตัวสะท้อน 6 สิ่งที่ควรทำ

.

.

S — Silence - อยู่กับความสงบนิ่ง

เริ่มจากการนั่งสมาธิ ฝึกจิตใจให้สงบ หายใจเข้าออก ลึกๆ ช้าๆ โฟกัสอยู่กับการหายใจ และสวดมนต์

วิธีนี้เป็นการช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี

.

A — Affirmation - กล่าวคำปฏิญญาณ

กล่าวคำปฏิญญาณถึงเป้าหมายของเรา และสิ่งที่เราจะทำเพื่อไปสู่เป้าหมาย ท่องไว้ให้ช้าชัดๆ เป็นการสัญญากับตัวเอง

อารมณ์เหมือนหนังสือ ถอดรหัสลับสมองเงินล้าน และ the secret

.

V — Visualisation - สร้างจินตภาพ

จินตนาการชีวิตในแบบที่เราอยากเป็น เราต้องจินตนาการให้ละเอียด

เรื่องนี้จะช่วยเพิ่มพลังใจให้เรา และสร้างพลังบวกสะสมไวภายในใจ

.

E — Exercise – ออกกำลังกาย

ออกกำลังกายอย่างน้อย 20 นาที เราจะทำอะไรก็ได้ไม่ว่าจะออกไปวิ่ง หรือเล่นโยคะ เพื่อให้ร่างกายเรากระปรี้กระเป่า ทำให้สมองเราโปร่ง ช่วยให้เรามีไอเดียใหม่ๆ และเป็นลดความเครียดที่สั่งสมไว้อีกด้วย

.

R — Reading - อ่านหนังสือ

อ่านหนังสือทุกเช้า เก็บข้อมูลใหม่ๆเข้าสมอง เมื่อเราสั่งสมข้อมูลไว้เยอะๆ เดี๋ยวเราก็จะได้พบเจอกับจังหวะและโอกาสในการนำข้อมูลออกมาใช้

ระหว่างอ่าน อาจทำการพับหัวกระดาษ เขียนไฮไลท์และเขียนวงกลม ซึ่งช่วยให้เราวึมซับข้อมูลได้ดีขึ้น

.

S — Scribing การเขียนบันทึก

จดบันทึกสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับชีวิตเรา การจดบันทึกช่วยให้ความจำเราดีขึ้น และเมื่อย้อนกลับมาอ่านเรายังได้เห็นพัฒนาการของตัวเอง และการเติบโตของชีวิต ทำให้เราภูมิใจและซาบซึ้งไปกับชีวิตของตัวเองมากขึ้นด้วย

.

.

(5)

เราควรตื่นเช้ามาพัฒนาตัวเองนานแค่ไหนถึงจะเริ่มเห็นผลการเปลี่ยนแปลง?

.

หลังจากรู้แล้วว่า เราควรทำอะไรบ้างเพื่อให้ตัวเองได้พัฒนา คำถามที่หลายคนสงสัยคือ เราต้องทำต่อเนื่องนานแค่ไหน ผลของการตื่นเช้าถึงจะเริ่มออกฤทธิ์

.

ผู้เขียนใช้กฎการเปลี่ยนนิสัยง่ายๆมาอธิบายว่า มันคือการสร้างกิจวัตรใหม่ สร้างนิสัยใหม่ เราจึงควรทำให้ได้อย่างน้อย 21-30 วัน

.

โดยผู้เขียนแบ่งออกเป็น 3 ช่วงดังต่อไปนี้

1. ช่วงวันที่ 1-10

เป็นช่วงที่เหนื่อยใจมาก เราจะทุกข์ทรมานจากการฝืนใจที่ต้องเปลี่ยนจากนิสัยเก่า ถ้าเราชอบนอนตื่นสาย แล้วต้องมาบังคับให้ตัวเองตื่นเช้าต่อเนื่องกันนานๆ เราจะรู้สึกอึดอัด

.

แต่ขอให้ทน และพยายามมองเป้าในระยาวเข้าไว้

.

2. ช่วงวันที่ 11-20

เป็นช่วงที่นิสัยใหม่เริ่มเกิดแล้ว แต่ยังมีนิสัยเก่าปนอยู่บ้าง เราจึงมีความรู้สึกปนๆกันทั้งอารมณ์ดีที่ได้ลุกขึ้นมาทำสิ่งใหม่เช่น ตื่นเช้า แต่ก็ยังมีวันที่ขี้เกียจและทรมานอยู่บ้าง

.

ให้เราโฟกัสที่อารมณ์เชิงบวกของวันที่เราตื่นเช้าได้เข้าไว้

.

3. ช่วงวันที่ 21-30

เป็นช่วงที่หยุดไม่ได้แล้ว.. นิสัยใหม่ของเราก่อตัวแล้ว เรากลายเป็นคนตื่นเช้าไปแล้ว ช่วงนี้เราจะตื่นเช้าเองโดยอัตโนมัติ และไม่อยากกลับไปตื่นสายอีกแล้ว ถ้าเราตื่นสายเราจะหงุดหงิดมาก

.

ซึ่งถ้าใครผ่านมาถึงช่วงนี้ได้ ถือว่าสำเร็จลุล่วงกับนิสัยใหม่แห่งการตื่นเช้า!!!

.

.

โดยรวมแล้ว หนังสือไม่ได้มีคอนเซ็ปต์ใหม่อะไรมาก เหมือนเป็นหนังสือเล่มเล็กๆที่ย้ำความสำคัญของการตื่นเช้าอีกสักรอบ

.

สไตล์การเขียนมีความเป็นไลฟ์ โค้ชอยู่พอสมควร น้ำค่อนข้างเยอะ อ่านผ่านได้ๆ

.

แต่เทคนิคที่หนังสือให้ได้ ก็ไม่ได้แย่อะไร ยังไงลองไปซื้ออ่านกันดูครับ

.

.

................................................................................

ผู้เขียน: Hal Elrod (ฮัล เอลรอด)

ผู้แปล: เสรี อู่ธาราสวัสดิ์

จำนวนหน้า: 224 หน้า

สำนักพิมพ์: BeeMedia

................................................................................

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #MiracleMorning





Comments


Post: Blog2_Post

Subscribe Form

Thanks for submitting!

+66865274864

©2018 by Langarnbooksreview.com. Proudly created with Wix.com

bottom of page