top of page
  • Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว Input - Output สุดยอดทักษะของ "คนเก่งงาน"

Updated: Jun 19, 2022



สรุป 10 ทักษะสำคัญสำหรับ first jobber

Input - Output สุดยอดทักษะของ "คนเก่งงาน"

.

.

1) อ่านบทความด้วยมือ อย่าอ่านด้วยตาเพียงอย่างเดียว

และยิ่งขีดไฮไลท์ให้เลอะเทอะยิ่งดี

เพราะการขยับมือไล่ตามข้อความที่อ่าน จะทำให้เจอ keyword สำคัญของบทความได้มากขึ้น

และช่วยให้จดจำเนื้อหาได้ดีขึ้นด้วย

จำไว้ว่าสิ่งสำคัญของการอ่านบทความ คือ การสังเกตและรับรู้ว่า บทความนั้นต้องการถ่ายทอดอะไร

.

.

2) อ่านและคิดตามไปตลอดว่าผู้เขียนต้องการจะสื่ออะไร

เราต้องพยายามตั้งสมาธิ และจดจ่ออยู่กับการค้นหาสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะถ่ายทอด

สิ่งสำคัญของการอ่านบทความ คือเราเข้าใจ “สาระสำคัญ หรือข้อความ” ของผู้เขียน ก่อนจะแปรสภาพมาเป็นรูปประโยคในบทความ

.

.

3) เวลาประชุมหรือคุยงาน ให้จดบันทึกเฉพาะเรื่องสำคัญ ๆ

แต่ให้เราตั้งใจพูดคุยกับคู่สนทนา และตั้งสมาธิในการรับฟัง

เมื่อพูดคุยเสร็จแล้ว ค่อยหยิบกระดาษขึ้นมาจดก็ได้

และเราไม่ควรจดเนื้อหาทั้งหมดที่พูดคุย

เลือกเพียงแค่ คีย์เวิร์ด วันเวลา ชื่อเฉพาะ และตัวเลขต่าง ๆ ที่เราอาจต้องจำให้แม่น เพื่อเอาไปใช้ทำงานต่อ

.

.

4) เปลี่ยน Twitter ให้เป็นแพลตฟอร์มในการรับข่าวสารเพียงอย่างเดียว

หลายครั้งที่เราทำตัวเป็นผู้ส่งข่าวสาร และรับข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์มากมายใน Twitter

โดยเฉพาะเรื่องการนินทาให้ร้าย พูดคุยไร้สาระ ไม่เกิดประโยชน์ เสียเวลาเปล่า

แต่จริง ๆ แล้วการใช้ Twitter หรือแพลตฟอร์มอื่น ๆ ก็อาจมีประโยชน์ได้ ถ้าเรากดติดตามแต่ช่องที่มีสาระ หรือช่องที่เกี่ยวข้องกับงานที่เราทำดยตรง

ดังนั้น การใช้เวลาบนโลกโซเชียลมีเดีย อาจขึ้นอยู่กับช่องที่เราใช้รับข่าวสารด้วย

.

.

5) ฟูมฟัก “ทัศนคติการทำงาน” ในที่ทำงาน แต่บูรณาการ “ทัศนคติในการใช้ชีวิต” จากหลาย ๆ แหล่ง

ปัญหาหนึ่งที่เราอาจได้เจอเมื่อเข้าไปทำงานในบริษัท คือถูกรุ่นพี่ หัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมงาน แผ่อิทธิพลเรื่องการใช้ชีวิต และทัศนคติต่าง ๆ ที่อาจกินพื้นที่นอกเหนือไปจากแค่เรื่องงาน

เช่น เราควรใช้เวลาอย่างไรในวันหยุดเสาร์ อาทิตย์

.

ความจริงแล้ว การได้รับทัศนคติเหล่านั้นเป็นเรื่องดี ถ้าเป็นเรื่องงาน เพราะเมื่อทำงานในองค์กรเดียวกัน เราก็จะจูนกันติดมากขึ้น

แต่เรื่องชีวิตส่วนตัวนั้น เราควรรับมาแค่ส่วนหนึ่ง แล้วไปขัดเกลาเพิ่มเติมจากที่อื่น

เพราะทัศนคติในการใช้ชีวิตนอกเหนือจากเรื่องงานมีหลายรูปแบบมาก ขึ้นกับความนิยมชมชอบของแต่ละคน

.

.

6) การขัดเกลาแก้ไขประโยคในการเขียนบทความคือสิ่งสำคัญ

การเขียนกับการพูดต่างกันมากที่สุดตรง การเขียนสามารถปรับแก้ไขได้ครั้งแล้วครั้งเล่า

เมื่อเราต้องเขียนงาน ไม่ว่าจะเป็น อีเมล บทความ หรืองานเอกสารอื่น ๆ

ให้เราอ่านทวนหลาย ๆ รอบ แล้วลองมองจากมุมผู้อ่านดูว่า เขาจะเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะสื่อรึเปล่า

นอกจากนี้เราควรเขียนให้สั้น กระชับ และใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย พยายามเลี่ยงคำเฉพาะที่อาจทำให้คนอ่านงง

.

.

7) ไม่ต้องฝืนอ่านหนังสือธุรกิจทุกเล่ม แต่ควรเข้าใจแก่นหลักของหนังสือเหล่านั้นไว้

การเข้าใจแก่นหลักอาจเกิดจากการอ่านเอง หรือจะฟังสรุปจาก Youtube ก็ได้

หรือจะอ่านสรุปจากเพจหลังอ่าน หรือเพจอื่น ๆ ก็ยังได้

แต่สิ่งสำคัญคือ เราควรเข้าใจแก่นสำคัญของหนังสือแต่ละเล่มไว้ เพื่อใช้พูดคุย และทำให้การเข้าสังคมราบรื่นมากขึ้น

.

.

8) ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เราอาจต้องละทิ้งรสนิยมส่วนบุคคล

สิ่งที่ต่างกันของนักศึกษา กับคนทำงาน คือนักศึกษาอาจเป็นตัวของตัวเองได้เต็มที่

เราอาจเขียนวิจารณ์บริษัท หรืองานต่าง ๆ ได้อย่างเปิดกว้าง

แต่พอเข้ามาเป็นคนทำงาน เราต้องคิดถึงแนวคิดขององค์กร และปรับตัวให้กลมกลืนกับค่านิยมนั้น

เพราะเรากำลังปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งในองค์กรอยู่

นอกจากนี้ เราควรเคารพทุกคนในองค์กร หรือที่เรียกว่าการทำตัวแบบคนมีวุฒิภาวะ

แยกใจจริงออกจากการแสดงออกภายนอกให้ได้

.

.

9) คิดพิจารณาถึงชีวิตในระยะยาว

หลายคนอยากใช้ชีวิตวัยรุ่นให้เต็มที่ อยากมีความสุขอย่างสมบูรณ์ในทุกวัน

ทำให้ไม่อยากทุ่มเทให้กับการทำงานมากเกินไป

แต่ถ้าเราลองพิจารณาจากมุมมองระยะยาวแล้ว การใช้ชีวิตให้เต็มที่ โดยไม่คำนึงถึงงาน

อาจทำได้เพียงระยะสั้น ๆ ช่วงวัยรุ่นเท่านั้น

เมื่อเราอายุ 30 หรือ 40 ปี เราคงต้องเริ่มลงหลักปักฐาน มีครอบครัว ซื้อบ้าน ซื้อรถ ออมเงินเกษียณ

และสิ่งที่จะตอบโจทย์เรื่องเหล่านี้ได้ ก็คือการตั้งใจทำงาน ให้ก้าวหน้าตั้งแต่ยังหนุ่มสาว

.

ดังนั้นลองคิดถึงองค์ประกอบหลาย ๆ ด้าน

การลงทุนในงาน อาจให้ผลตอบแทนที่ดีมากในระยะยาวก็เป็นได้

.

.

10) ตั้งมาตรฐานคุณค่าของตัวเอง และให้คะแนนตัวเองในทุกวัน

เลิกเปรียบเทียบกับคนอื่น และลองหามาตรฐานมาวัดคุณค่าความสุขของตัวเอง

เพราะชีวิตเราซับซ้อนเกินกว่าจะเปรียบเทียบกันได้

ลองคิดดูว่า เราจะใช้กรอบอะไรมาเป็นเกณฑ์ในการวัดชีวิตเรากับคนอื่น

.

นอกจากนี้จงเลิกคิดถึงสิ่งที่ควบคุมไม่ได้

และพุ่งความสนใจไปเฉพาะสิ่งที่เราควบคุมได้ก็เพียงพอแล้ว

.

.

.

รีวิวหลังอ่านสั้น ๆ

เล่มนี้เป็นหนังสือแปลญี่ปุ่นที่เขียนโดยอาจารย์คณะนิติศาสตร์

โดยคอเนซ็ปต์หลักคือ การสร้าง “คู่มือการทำงานปีแรก”

ให้กับนักศึกษาผู้กำลังจะเปลี่ยนผ่านจากโลกในรั้วมหาลัย สู่โลกแห่งการทำงานจริง

.

ผู้เขียนพบว่า มีปัญหามากมายสำหรับอดีตลูกศิษย์ของเขา

เมื่อพวกเขาสำเร็จการศึกษา และเริ่มต้นชีวิตการทำงานในบริษัท

การทำงานจริงไม่มีคำตอบตายตัว เหมือนการเรียนในมหาลัย

การทำงานจริงไม่มีปิดเทอม ไม่มีช่วงที่ได้หยุดยาว ๆ หลายเดือน

และการทำงานจริงไม่มีเดดไลน์ที่ตายตัว เหมือนการทำวิทยานิพนธ์

เมื่อทำงานนึงเสร็จ งานต่อ ๆ มาก็จะไหลเข้ามาให้ทำต่ออยู่ดี

.

คู่มือการทำงานเบื้องต้น ที่อาจช่วยให้นักศึกษาปรับตัวได้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ซึ่งความจริงแล้ว คู่มือนี้ก็เขียนขึ้นมาจากการวบรวมปัญหาที่นักเรียนถามผู้เขียนเข้ามาบ่อย ๆ

.

หลังอ่านจบ รู้สึกว่า เล่มนี้ค่อนข้างเป็น howto จ๋า

และเป็นเล่มที่ใช้ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนมาก

จึงเป็นหลักการตามแบบของอาจารย์มหาลัยด้านกฎหมายท่านหนึ่ง

.

แต่ต้องยอมรับว่า หนังสือค่อนข้างน่าเบื่อ ถ้าอ่านยาว ๆ

เพราะไม่มีเรื่องเล่า ไม่ค่อยมีตัวอย่าง

ส่วนใหญ่จะเป็นการอธิบายตามเหตุผลส่วนตัวของผู้เขียนเฉย ๆ

.

แต่ถามว่ามีประโยชน์มั้ย

ก็ตามที่บอกว่า น่าจะเหมาะกับ first jobber หรือนักเรียนกำลังจะจบนี่แหละ

อ่านเพลิน ๆ เป็นอีกความเห็น เอาไว้ใช้กับโลกการทำงานได้

.

.

...............................................................................................................

ผู้เขียน: คิยามะ ฮิโรทสึงฺ

ผู้แปล: อนิษา เกมเผ่าพันธ์

จำนวหน้า: 214 หน้า

สำนักพิมพ์: อมรินทร์ How To, สนพ.

เดือนปีที่พิมพ์: 3/2022

...............................................................................................................

.

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 # INPUTOUTPUT #สุดยอดทักษะของคนเก่งงาน




329 views0 comments
Post: Blog2_Post
bottom of page