top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว GRIT





รีวิว GRIT : The Power of Passion and Perseverance

สิ่งที่ต้องมี...เมื่อคุณไม่มีแต้มต่อในชีวิต

.

‘ความทรหดนั้น สำคัญเป็น 2 เท่าของพรสวรรค์’

.

- อะไรทำให้มีนักเรียนทหารเวสต์พอยต์ในโครงการบีสต์สุดโหดเพียงบางคนอยู่รอดตลอดฝั่ง ในขณะที่อีกหลายๆคนลาออกไปกลางคัน

ตามผลการวิจัยแล้ว สิ่งนั้นไม่ใช่ คะแนนสอบ SAT, ไม่ใช่ความสามารถด้านกีฬา, ไม่ใช่ภาวะความเป็นผู้นำ

แต่เป็น ‘ความทรหด’

.

- อะไรทำให้พนักงานขายทนการปฎิเสธกว่า 100 ครั้งและก้าวขึ้นสู่สุดยอดนักขาย

ตามผลการวิจัยแล้ว สิ่งนั้นอาจจะเป็น ทักษะการเข้าสังคม ความมั่นคงทางอารมณ์ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี

แต่ปัจจัยเหล่านั้นก็ยังมีผลน้อยกว่า ‘ความทรหด’ อยู่ดี

.

ไม่ว่าจะอยู่ในแวดวงไหน ผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูงจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจปรากฎออกมาใน 2 รูปแบบ ได้แก่

1) ทำงานหนักและฟื้นตัวเร็วจากความล้มเหลว

2) รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร

หรือสั้นๆง่ายๆว่า คนสำเร็จจะมุ่งมั่นตั้งใจ และมีทิศทางในการก้าวเดินไปข้างหน้า

นี่เองคือสิ่งที่เรียกว่า ‘ความทรหด หรือ Grit’ นั่นเอง

.

.

แต่เรื่องน่าแปลกคือ คนเรามักมี ‘อคติเอนเอียง’ ที่เชื่อว่าพรสวรรค์ส่งผลต่อความสำเร็จมากกว่าความทรหด เราถูกปลูกฝังความคิดให้เชื่อว่าหลายๆคนมีอัจฉริยภาพติดตัวมาแต่กำเนิด และประสบความสำเร็จได้ เพราะเขาเกิดมาเพื่อสิ่งนั้นจริงๆ ว่าจะเป็นอัจฉริยภาพทางดนตรี ทางกีฬา หรือการเป็นนักธุรกิจ

.

เราชื่นชมพรสวรรค์เวลาเห็นความสำเร็จของคนๆหนึ่งและมักละเลย ความมุมานะอุตสาหะที่คนๆนั้นต้องทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างหนักกว่าจะได้มันมา

.

ไม่ผิดที่พรสวรรค์มีส่วนสำคัญต่อความสำเร็จ แต่ความยายามนั้นส่งผลต่อความสำเร็จเป็น 2 เท่า!

เพราะ ศักยภาพของเราเป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนการนำศักยภาพไปใช้งานเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

.

การโฟกัสที่พรสวรรค์มากเกินไปทำเราไขว้เขวและละเลยปัจจัยอันสำคัญยิ่งอย่างความทรหด

.

.

หนังสือเล่มนี้พาเราไปเปลี่ยนความเชื่อที่ว่ากันว่า คนสำเร็จได้ต้องมีพรสวรรค์เหนือสิ่งอื่นใด และพาเรากลับมาให้ความสำคัญกับความมุมานะอุตสาหะ และความทรหดในการลงมือทำสิ่งๆหนึ่งให้ประสบความสำเร็จ

.

หนังสือยังบอกถึงปัจจัยต่างๆทั้งภายในและภายนอกที่ช่วยทำให้เราเพิ่มความทรหด และไขว้คว้าโอกาสแห่งความสำเร็จได้มากขึ้น

.

หนังสือ Grit เขียนขึ้นโดย Angela Duckworth อาจารย์ประจำคณะจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ผู้เคยทำงานเป็นที่ปรึกษาให้องค์กรชั้นนำจากทั่วโลกรวมถึง บุคลการในทำเนียบขาว ธนาคารโลก ทีมบาส NBA และบริษัทใน Fortune500 หลายบริษัท

.

ถ้าใครจำได้ Angela Duckworth โด่งดังจาก Ted Talk อันเลื่องชื่อที่สั่นสะเทือนวงการจิตวิทยาด้านพรสวรรค์และความพยายาม และเป็นผู้ทำให้แนวคิดเรื่อง ‘ความทรหด (Grit)’ โด่งดังจากการนำเสนอผลงานวิจัยเชิงวิชาการมากมาย

.

แนวคิดนี้ยังถูกนำมาพูดถึงอีกมากในโลกยุคใหม่ ที่ใครๆก็อยากประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย โดยมักถูกพูดว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การยืนระยะในการทำสิ่งๆหนึ่งนานๆจนสำเร็จได้ คู่กับอีกปัจจัยสำคัญคือ Growth Mindset (ซึ่งแท้จริงแล้วมีความเชื่อมโยงกันอยู่)

.

หนังสือ Grit เล่มนี้เหมือนเป็นเล่มรวมผลงานวิจัยของ Angela Duckworth และรวมความรู้ทั้งหมดที่ผู้เขียนมีเกี่ยวกับเรื่อง ความทรหด (Grit)

.

อ่านจบแล้วจึงรู้สึกได้ถึงความเป็นวิชาการที่มีงานวิจัยรองรับอยู่เป็นจำนวนมากในแต่ละบท แต่เนื้อหาเข้าใจง่าย และมีความแปลกใหม่น่าสนใจอยู่

.

ช่วงหลังๆที่เป็นปัจจัยต่างๆในการเพิ่มความทรหดก็มีเนื้อหาที่ค่อนข้างยาว อย่างไรก็ตามเรื่องราวในหนังสืออ่านสนุก มีเรื่องใหม่ๆน่าสนใจอยู่มาก อ่านแล้วก็ได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆไปเรื่อย

.

แน่นอนว่าการประยุกต์ใช้แนวคิด Grit อาจไม่ได้มีใส่ไว้เยอะ แต่การเข้าใจคอนเซ็ปต์และตกผลึกเป็นความเชื่อใหม่ก็ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเราได้

.

ส่วนตัวแนะนำว่า Grit เป็นหนังสือกลุ่มเดียวกับ Mindset อ่านต่อกันเลยได้ยิ่งดี อาจมีความน่าเบื่อของความเป็นวิชาการบ้าง แต่มีประโยชน์และควรอ่านก่อนอายุ 30 เป็นที่สุดครับ

.

ต่อจากส่วนนี้คือสรุปเนื้อหาสำคัญบางส่วนจากหนังสือ Grit นะครับ

.

1) ความพยายามให้ผลเป็น 2 เท่าของพรสวรรค์

.

แม้คนจำนวนมากจะเชื่อในเรื่องน่าพิศวงว่า นักว่ายน้ำเจ้าเหรียญทองอย่าง ไมเคิล เฟลป์ส หรือ มาร์ก สปิตซ์ เป็นฉลามบกผู้พกพาพรสวรรค์ติดตัวมาแต่กำเนิด เพราะคนพวกนี้ชอบเรื่องน่าพิศวงมากกว่าเรื่องธรรมดา

.

แต่แท้จริงแล้วแม้นักว่ายน้ำทั้ง 2 คนจะมีสรีระร่างกายที่ได้เปรียบ แต่ความสำเร็จก็เกิดจากการฝึกซ้อมชั่วโมงแล้ว ชั่วโมงเล่า เพียงแต่ไม่มีใครได้มีโอกาสเห็นตอนที่เขาเหล่านั้นฝึกซ้อม

.

โดยรวมแล้วงานวิจัยของ Angela Duckworth ได้สรุปสมการความเกี่ยวข้องของ ‘พรสวรรค์’ กับ ‘ความสำเร็จ’ ว่า

.

พรสวรรค์ x ความพยายาม = ทักษะ

ทักษะ x ความพยายาม = ความสำเร็จ

.

พรสวรรค์คือ ความรวดเร็วในการพัฒนาทักษะต่างๆ

ความสำเร็จเกิดขึ้นเมื่อ เรานำทักษะต่างๆที่สั่งสมไว้มาใช้

ความพยายามสร้างทักษะขึ้นมา และทำให้ทักษะผลิดอกออกผล

ดังนั้นความพยายามจึงมีความสำคัญเป็น 2 เท่าของพรสวรรค์

.

แม้คนที่มีพรสวรรค์มากกว่าอีกคน 2 เท่า แต่ขยันน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง จะสามารถสร้างทักษะได้มากพอๆกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปจะสร้างผลงานออกมาได้น้อยกว่ามาก เนื่องจากคนที่มีความมุมานะไม่เพียงพัฒนาทักษะใหม่ขึ้นมา แต่ยังเอาทักษะไปสร้างผลงานด้วย ไม่ว่าผลงานนั้นจะเป็น การปั้นหม้อ การเขียนนิยาย การแสดงคนเสิร์ต หรือการเจรจาธุรกิจ

.

ดังนั้นแล้วจากทฤษฎีดังกล่าว ในระยะยาวผู้ที่มีความพยายามจะมีโอกาสสำเร็จมากกว่าผู้ที่มีแต่พรสวรรค์

.

อย่างไรก็ตามทฤษฎีของ Angela Duckworth ไม่ได้ครอบคลุมถึงปัจจัยภายนอกอย่าง การมีโค้ชที่ดี หรือโชคชะตา

.

2) ความทรหดคือการยึดมั่นเป้าหมายเดียวเป็นเวลานาน

.

คนที่มีความทรหดสูงๆคือ คนที่ยึดในเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งไว้เป็นเวลานานพอที่เขาจะไปสู่เป้าหมายนั้นได้

.

แต่แน่นอนว่า บางครั้ง เป้าหมายอันใดอันหนึ่งนั้นก็อาจเป็นเป้าหมายสูงสุด เป็นนามธรรม และต้องการเป้าหมายย่อยๆมารองรับ

.

โดย Angela Duckworth ได้แบ่งขั้นของเป้าหมายเป็น 3 ขั้น คือเป้าหมายสูงสุด เป้าหมายระดับกลาง และเป้าหมายระดับล่าง โดยการจะไต่ไปถึงเป้าหมายระดับสูงสุดนั้น เราต้องค่อยๆทำเป้าหมายระดับล่างให้เสร็จไปทีละอันก่อน

.

สิ่งสำคัญคือ เป้าหมายทั้ง 3 ระดับต้องสอดคล้องกัน ไม่งั้นการทำเป้าหมายระดับล่างหรือกลางให้เสร็จก็อาจไม่ตอบโจทย์เป้าหมายระดับสูง

.

หลายคนที่ไม่มีความทรหดเพราะ คนเหล่านั้นมีแต่เป้าหมายระดับสูง แต่ไม่มีเป้าหมายระดับกลางและระดับล่างมารองรับ ทำให้อยู่กับภาพนามธรรมมาจนเกินไป

.

นอกจากนี้แล้ว คนที่มีความทรหดสามารถแสดงออกมาให้เห็น การที่เขาหาเป้าหมายระดับล่างอันใหม่ขึ้นมาทดแทน เมื่อเป้าหมายระดับล่างอันหนึ่งไม่สำเร็จและถูกปฏิเสธไป

.

จำไว้ว่า คนมีความทรหดจะมีเป้าหมายระดับล่างหลายๆเป้าหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมายสูงสุดเพียง 1 เดียวเสมอ

.

.

3) สร้างความทรหดด้วย ‘ความสนใจ’

.

‘จงทำสิ่งที่ตัวเองรัก’

คำง่ายๆที่ทรงพลังมาก และเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างความทรหดเพราะ ความหลงใหลเป็นส่วนประกอบสำคัญของควาทรหด

.

มีแต่คนบอกให้เราหาสิ่งที่ตัวเองรักทำ เพราะการทำสิ่งที่รักนั้นจะช่วยให้เรา

- พึงพอใจกับงานที่ทำ

- สร้างผลงานจากงานนั้นได้ดีขึ้น

.

อย่างไรก็ตามคำถามสำคัญคือ เราจะหาความหลงใหลของเราได้ยังไง

.

จงตระหนักไว้ว่าความหลงใหลฉากแรก หรือเมื่อแรกพบ อาจไม่ใช่ความหลงใหลของเราจริงๆ

เราต้องลองทำสิ่งนั้นอย่างนต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาความหลงใหล

.

เพราะในวัยเด็กที่เราอาจเร็วเกินไปที่เราจะเจอความหลงใหล

ความหลงใหลเกิดจากการปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก

ความหลงใหลเกิดจากทำเชิงรุกต่อเรื่อง

และความหลงใหลเกิดจากแรงสนับสนุนของคนรอบข้าง

.

.

4) สร้างความทรหดด้วย ‘การฝึกฝน’

.



คนที่มีความทรหดคือคนที่สามารถ ‘ใช้เวลามากกว่ากับภารกิจที่ต้องทำ’

.

นั่นหมายความว่าคนเหล่านี้สามารถทนฝึกฝนได้มากกว่า จนมีงานวิจัยที่บอกว่าถ้าเราฝึกจนถึง 10,000 ชั่วโมง เราจะมีความเชี่ยวชาญในระดับโลก

.

แต่การฝึกดังกล่าวจต้อง

1. เป็นการฝึกฝนอย่างจดจ่อ (deliberate practice)

ซึ่งหมายถึงเราต้องตั้งเป้าหมายของการฝึก เช่นวันนี้วิ่ง 100 เมตร ได้15.5 วินาที พรุ่งนี้ตั้งเป้าไว้ว่าจะวิ่งให้ได้ 15.4 วินาที

.

นอกจากนี้เราควรหาโค้ชมาช่วยฝึกซ้อม เพื่อป้อนฟีดแบ็ค และหาจุดบกพร่องอย่างทันท่วงที

.

เวลาให้เราฝึกอย่างจดจ่อเต็มที่ และฝึกซ้ำไปเรื่อยเพื่อขัดเกลา

.

2. ทำให้เราเข้าสู่ภาวะลื่นไหล (flow)

ข้อแตกต่างของการฝึกแบบจดจ่อกับสภาวะลื่นไหลคือ อย่างแรกเป็นพฤติกรรม อย่างที่สองเป็นประสบการณ์เชิงอารมณ์

.

เหมือนในหนัง soul ถ้าเราเข้าสู่สภาวะลื่นไหล เรามักฝึกฝนสิ่งนั้นได้ดีจนก้าวเข้าสู่ระดับผู้เชี่ยวชาญได้

.

.

5) สร้างความทรหดด้วย ‘จุดมุ่งหมาย’

.

จุดมุ่งหมายคือ ความตั้งใจที่จะช่วยผู้อื่นให้อยู่ดีมีสุขเช่นกัน

ความทรหดเพิ่มขึ้นได้เมื่อเรารู้สึกว่ากำลังทำสิ่งที่มีความหมายเพื่อผู้อื่น

.

ลองนึกถึงนิทานของช่างก่ออิฐ 3 คน ที่เมื่อถูกถามว่าทำอะไรอยู่

คนแรกตอบว่า ก่ออิฐ

คนที่ 2 ตอบว่า สร้างโบสถ์

คนที่ 3 ตอบว่า สร้างบ้านให้พระเจ้า

.

คนแรกมองงานที่ทำเป็นแค่ ‘งาน (job)’

คนที่ 2 มองว่างานที่ทำเป็น ‘อาชีพ (career)’ ที่จะต่อยอดไปสู่สิ่งอื่น

คนที่ 3 มองว่างานที่ทำเป็น ‘สิ่งที่ใจเรียกร้อง (calling)’ ว่าฉันกิดมาเพื่อสิ่งนี้

.

ถ้าเราสามารถหา สิ่งที่ใจเรียกร้อง (calling) ของตัวเองได้ เราจะรู้สึกถึงความหมายของสิ่งที่เราทำ

เราไม่ได้ทรหดเพื่อแค่กับตัวเอง แต่กับผู้อื่นด้วย

.

วิธีที่จะตามหา calling ของตัวเองเช่น

- ลองถามตัวเองว่าสิ่งที่ทำอยู่มีประโยชน์ต่อสังคมอย่างไร

- ลองถามตัวเองว่าจะปรับสิ่งที่ทำอยู่อย่างไรให้ตอบค่านิยมหลักของตัวเอง

- ลองมองหาบุคคลตัวอย่างที่มีจุดมุ่งหมายระดับ calling ในการทำงาน

.

.

6) สร้างความทรหดด้วย ‘ความหวัง’

.

ปรัชญาเรื่องความหวังคือการเชื่อว่า พรุ่งนี้จะต้องดีกว่าวันนี้

ถ้าล้ม 7 ครั้ง ให้ลุกขึ้น 8 ครั้ง

.

เรื่องนี้เชื่อมต่อกับเรื่อง Growth Mindset จากหนังสือ Mindset คือการเชื่อว่าศักยภาพของคนเราพัฒนาได้ ไม่ได้ติดอยู่กับสิ่งที่มีมาแต่กำเนิด

.

ส่วนวิธีในการใช้ Growth Mindset มาสร้างความทรหดคือ

1. การเชื่อว่าตัวเองพัฒนาได้ เชื่อว่าเราทำได้ เชื่อในศักยภาพ ความฉลาดและความสามารถของตัวเอง

2. มองโลกในแง่ดี พูดคุยกับตัวเองในแง่บวก

3. ใช้ความอุตสาหะเอาชนะอุปสรรค

.

และที่สำคัญคืออย่าลืมขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

.

.

7) เลี้ยงดูลูกให้มีความทรหด

.

ตามงานวิจัยของ Angela Duckworth ที่กำลังดำเนินอยู่แล้ว ‘การเลี้ยงลูกแบบชาญฉลาด’ ซึ่งคือการผสมระหว่างการเลี้ยงลูกแบบส่งเสริม และแบบเคี่ยวเข็ญ สามารถสร้างความทรหดให้ลูกได้

.

การเลี้ยงลูกแบบนี้ คือการที่พ่อแม่ประเมินจิตวิทยาของเด็กอย่างแม่นยำ กำหนดขอบเขตพอประมาณ แต่ให้อิสระกับลูกอย่างเต็มที่ในการปลดปล่อยศักยภาพออกมา อำนาจที่พ่อแม่ใช้ในการเลี้ยงลูกแบบนี้เกิดจากความรู้และปัญญามากกว่าอิทธิพล

.

สุดท้ายแล้วเรื่องนี้เกิดจากการทำความเข้าใจลูก ใส่ใจในสิ่งต่างๆที่ลูกแสดงออกมา และส่งเสริมพัฒนาอย่างเต็มที่ ด้วยการให้อิสระ การกำหนดขอบเขต และการใช้อำนาจเมื่อจำเป็น

.

.

8) สร้างสนามแห่งความทรหด

.

การฝึกให้ลูกต้องลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จนับว่าเป็นอีกวิธีที่พ่อแม่ ครู หรือโค้ชใช้สร้างความทรหดในตัวเด็กได้

.

ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมใดๆก็ตาม ทั้งเล่นกีฬา ดนตรี ความสามารถทางวิชาการ ต้องให้ลูกทำไปสักพัก จนก้าวหน้า และสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ไม่ล้มเลิกไปกลางคัน

.

Angela Duckworth ยังแนะนำถึง ‘กฎเรื่องยาก’

ซึ่งมีเนื้อความว่า ให้สมาชิกครอบครัวทุกคนทำกฎนี้ด้วยกัน

กฎนี้มีอยู่ 3 ข้อคือ

1. ทุกวัน สมาชิกทุกๆคนต้องทำกิจกรรมเรื่องยากที่เลือกไว้อย่างจดจ่อในระยะเวลาหนึ่ง เช่น ตัว Angela เองทำงานวิจัยด้านจิตวิทยา แต่ก็ต้องมาฝึกโยคะ หรือสามีของ Angela ที่ทำงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องหันมาสนใจการวิ่งของตัวเองด้วย

.

2. ต้องไม่หยุดกิจกรรมนั้นกลางคัน ยกเว้นว่าหมดฤดูกาล หรือถึงจุดที่หยุดได้ตามธรรมชาติ

.

3. ทุกคนเป็นคนเลือกเรื่องยากที่ว่าด้วยตัวเอง จะได้เป็นสิ่งที่ตัวเองสนใจ เพราะถ้าไม่สนใจก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา

.

.

9) สร้างวัฒนธรรมแห่งความทรหด

.

วิธีสุดท้ายที่ตรงไปตรงมา คือการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมที่มีความทรหด แต่ถ้าเราเป็นผู้นำองค์กรก็ลองสร้างองค์กรที่มีวัฒนธรรมแห่งความทรหดขึ้นมาเอง

.

ปล. หนังสือมีแบบทดสอบวัดความทรหดของตัวผู้อ่านอยู่ด้วยนะครับ

.

.

.............................................................................................................

ผู้เขียน: Angela Duckworth

ผู้แปล: จารุจรรย์ คงมีสุข

จำนวนหน้า: 368 หน้า

สำนักพิมพ์: วีเลิร์น, สนพ.

.............................................................................................................

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #GRIT #ThePowerofPassionandPerseverance



180 views0 comments

Comentários


Post: Blog2_Post
bottom of page