รีวิว Designing Your Life
คู่มือออกแบบชีวิตด้วย Design Thinking
.
‘เปลี่ยนความเชื่อผิด ๆ เราออกแบบชีวิตใหม่ได้ทุกเวลา’
. เป็นเรื่องน่าตกใจที่คนมากมายมีความเชื่อผิด ๆ มากมายเกี่ยวกับออกแบบเส้นทางเดินของชีวิต
.
ความเชื่อผิด ๆ ตัวอย่างที่ 1: ชีวิต 4 ปีในมหาลัยคือช่วงที่ดีที่สุดของชีวิต และเราจะต้องทำงานในสาขาที่เราเรียนไปตลอดชีวิต ไม่ว่างานนนั้นจะแสนหนักหนาสาหัส หรือน่าเบื่อแค่ไหนก็ตาม
นี่เป็นความเชื่อที่ผิดมหันต์โดยเฉพาะกับเด็กในวัยมหาลัย
ตามสถิติแล้ว 3 ใน 4 ของนักศึกษาที่เรียนจบมหาวิทยาลัยไม่ได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่ตัวเองเรียน
นอกจากนี้เราอาจลองเปลี่ยนอาชีพได้หลายครั้งจนกว่าจะเจออาชีพที่ให้ ไม่มีเหตุผลให้ต้องยึดติดอยู่แค่กับความรู้ 4 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย
.
ความเชื่อผิด ๆ ตัวอย่างที่ 2: ความสำเร็จนำมาซึ่งความสุข
ไม่จริงเสมอไปอีกเช่นกัน หลายคนมีความสำเร็จในหน้าที่การงานและชีวิตครอบครัวระดับนึง คนเหล่านี้ลงทุนในกองทุนและมีเงินเก็บที่เพียงพอ
พวกเขาตื่นนอน กินข้าว ออกไปทำงาน กลับบ้าน และเข้านอนอีกครั้งจนเป็นวัฏจักร
แต่พวกเขาก็มักจะถามตัวเองเสมอว่า ‘ฉันใช้ชีวิตแบบนี้ไปเพื่ออะไร’
คำถามสะท้อนได้ชัดเจนว่า คนเหล่านี้ไม่ได้มีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองทำเลย
ความสุขที่แท้จริงจึงอาจไม่ได้เกิดจากความสำเร็จ แต่เกิดจากการได้ออกแบบชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ
.
ความเชื่อผิด ๆ ตัวอย่างที่ 3: มันสายเกินกว่าจะเปลี่ยนแปลง
หลายคนชอบคิดว่าชีวิตตัวเองดำเนินมาไกลเกินกว่าจะกลับลำแล้ว
การลงทุนในสาขาอาชีพนั้นมากเกินกว่าที่จะถอนตัวออก
แต่ความจริงแล้ว ไม่มีอะไรสายเกินแก้ เราสามารถออกแบบชีวิตที่มีความสุขได้ในทุกเมื่อ
.
หนังสือ Designing Your Life จึงกลายมาเป็นหนังสือแห่งการออกแบบชีวิต ที่จะช่วยให้เราหลุดพ้นจากความเชื่อผิด ๆ เดิม ๆ ที่คอยฉุดรั้งไม่ให้เราได้ใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการสักที
คำว่าออกแบบ ก็เหมือนกับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน เหมือนการออกแบบการตกแต่งภายใน
ทั้งหมดทั้งมวลอาจเกิดจากปัญหาต่าง ๆ การออกแบบจึงต้องเข้ามามีบทบาทช่วยแก้ปัญหา
นักออกแบบโดยธรรมชาติก็ชื่นชอบการแก้ปัญหาอยู่แล้ว
.
และเนื้อหาต่อจากนี้ก็คือเครื่องมือต่าง ๆ ที่นักออกแบบชีวิตอยากนำเสนอ เพื่อช่วยให้คนอ่านได้ลองเอาไปประยุกต์ใช้ เพื่อจะได้ออกแบบชีวิตตัวเองในแบบที่ต้องการจริง ๆ
.
หนังสือเล่มนี้เขียนโดย บิล เบอร์เนตต์, เดฟ อีวานส์
ทั้งคู่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย Stanford โดยเป็นผู้อำนวยการหลักสูตรการออกแบบชีวิตโดยเฉพาะ
จึงมีความเชี่ยวชาญด้านนี้เป็นพิเศษ
และที่จริงแล้ว ทั้งคู่ยังออกหนังสือเกี่ยวกับการออกแบบชีวิตอีกหลายเล่ม มีทั้งเรื่องการทำงาน และชีวิตส่วนตัว
.
โดยรวมแล้ว เนื้อหาในหนังสือมีประโยชน์อย่างมากสำหรับคนที่อาจเคยตั้งคำถามกับตัวเองถึงเส้นทางชีวิตข้างหน้า
เด็กมหาลัยที่กำลังงุนงงอยู่กับการเลือกอาชีพ
หรือคนที่อยู่ตรงกึ่งกลางชีวิต และไม่รู้ว่าตัวเองจะไปทางไหนต่อดี
.
สิ่งสำคัญที่สุดอาจเป็นเรื่องการปรับ mindset ให้ถูกต้อง
การลบความเชื่อผิด ๆ เดิม ๆ ออกไปให้หมด แล้วเปิดรับโอกาสดี ๆ มากมายที่อาจเข้ามาหาเราได้ทุกเมื่อ
เครื่องมือต่าง ๆ ภายในเล่มก็พยายามจะทำหน้าที่เป็นตัวช่วยให้เราได้ใช้ออกแบบชีวิตตัวเองให้ตอบโจทย์ตัวเองได้ดีขึ้น
.
หนังสือมีเรื่องน่าสนใจอยู่ตลอดเล่มเลยครับ
และด้วยความเป็น Bookscape หนังสือจะมีความเป็นวิชาการผสมอยู่พอสมควร
แต่ก็ไม่มากเกินไปจนน่าเบื่อ ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องเล่าเคสตัวอย่างมากกว่าครับ
.
สุดท้ายผมขอเลือกเนื้อหาน่าสนใจมา 9 เรื่องจากหนังสือ Designing Your Life มาเล่าสู่กันฟังนะครับ
1) ทัศนคติสำคัญ 5 ประการที่ต้องมีในการออกแบบชีวิตแบบที่คุณรัก
ทัศนคติที่ 1: จงสงสัยใครรู้
ความสงสัยใคร่รู้ ทำให้ทุกเรื่องเป็นเรื่องใหม่ ทำให้เราอยากออกค้นหา ทำให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความสนุก
และทำให้เรากลายเป็นคนเก่งกาจเรื่องโชค
.
ทัศนคติที่ 2: ทดลองทำ
เราต้องมีความกระตือรือร้นที่จะลงมือทำ เพื่อที่พาชีวิตให้ก้าวไปข้างหน้า อย่าเอาแต่นั่งคิดเฉย ๆ ว่าจะทำอะไรดี
เราต้องลองสร้างต้นแบบ ลงมือทำ เรียนรู้จากความผิดพลาด และทดลองไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งค้นพบวิธีที่ได้ผล
.
ทัศนคติที่ 3: ปรับมุมมองปัญหา
เป็นการช่วยให้เราถอยหลังมามองปัญหาใหม่ และตัดอคติเดิม ๆ ของตนออกไป มีความเชื่อผิด ๆ หลายอย่างที่ถูกปลูกฝังมาต่อ ๆ กัน เราต้องลองปรับมุมมอง และลองค้นหาสิ่งสำคัญที่ทำให้เจอปัญหาและทางออกที่ถูกต้อง
.
ทัศนคติที่ 4: เข้าใจว่านี่คือกระบวนการ
รู้จักการปล่อยวางเป้าหมายปลายทาง และมุ่งเน้นไปที่ประบวนการ เราต้องเรียนรู้ความผิดพลาดต่าง ๆ และ สนุกไปกับการทดลองทำ
.
ทัศนคติที่ 5: ขอความช่วยเหลือ
การออกแบบชีวิตนั้น จะมีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่อเราได้ร่วมมือกันอย่างลึกซึ้ง
ดังนั้นแล้วเราจำเป็นต้องมีทีม และเราต้องกล้าถามทีม โดยเราต้องรู้ให้แน่ชัดว่าตัวเองต้องการอะไร จะได้ช่วยกันคิดกับทีมจนได้คำตอบที่ถูกต้องออกมา
.
.
2) เข้าใจปัญหาแรงโน้มถ่วง 2 ประเภท
ปัญหาแรงโน้มถ่วง คือเหล่าปัญหาที่ฉุดรั้งเราไว้ไม่ให้ไปข้างหน้า
ประเภทที่ 1: ปัญหาที่ไม่มีทางแก้ไขได้เลย เหมือนแรงโน้มถ่วงของโลกที่เราไปทำอะไรกับมันไม่ได้เลย
ประเภทที่ 2: ปัญหาที่แก้ได้ยากในทางปฏิบัติ เช่น เรื่องรายได้เฉลี่ยของอาชีพกวี
.
เราต้องเข้าใจความต่างของปัญหาทั้ง 2 ประเภทนี้
เรื่องบางอย่าง ต่อให้พยายามมากแค่ไหนก็ยังแก้ไขไม่ได้ เราก็ต้องทำใจ ยอมรับความจริง และปล่อยมันไป
แต่เรื่องบางอย่างมันอาจยากที่จะเป็นได้จริง แต่ก็ยังพอเป็นไปได้
เราก็ต้องลงอพิจารณาดูว่า มันคุ้มมั้ย ที่จะเลือกแก้ปัญหานั้น ๆ
.
.
3) ทำบันทึกความสุขแบบ AEIOU
ลองทำบันทึกความสุขในทุก ๆ วัน หรือจะเป็น 2-3 วันก็ได้ถ้าไม่สะดวก
โดยเราต้องบันทึก
- บันทึกกิจกรรม ที่ทำแล้วรู้สึกสนใจและรู้สึกมีพลัง
- บททบทวน เน้นสิ่งที่ได้ค้นพบหรือเรียนรู้
.
และเราอาจจะลองนำเทคนิค AEIOU มาใช้ในการบันทึกก็ยังได้
A – Activities (กิจกรรม) – ตอนนั้นเราทำอะไร เรามีบทบาทอะไรกิจกรรมนั้น กิจกรรมมีแบบแผนชัดเจนหรือไม่
E – Environment (สิ่งแวดล้อม) – สิ่งแวดล้อมส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึกของเราอย่างลึกซึ้ง ตอนที่ทำกิจกรรมดังกล่าว เราอยู่ที่ไหน มีสภาพแวดล้อมอย่างไร และสิ่งแวดล้อมนั้นทำให้เรารู้สึกอย่างไร
I – Interactions (ปฏิสัมพันธ์) – เรามีปฏิสัมพันธ์กับใครหรือไม่ เป็นปฏิสัมพันธ์ใหม่ หรือเราคุ้นเคยกับคนนั้นอยู่แล้ว
O – Objects (สิ่งของ) – เราได้ใช้สิ่งขอหรืออุปกรณ์อะไรในกิจกรรมนั้น เล่นสิ่งใดที่ส่งผลกระตุ้นวามสนใจของเรา
U – Users (ผู้คน) - มีใครเกี่ยวข้องด้วยบ้าง คนเหล่านั้นส่งผลต่อประสบการณ์ของเราในแง่บวกและแง่ลบอย่างไรบ้าง
.
.
4) ใช้แผนที่ความคิด (mind mapping) พาตัวเองออกจากกับดัก
แผนที่ความคิดช่วยเชื่อมโยงคำต่าง ๆ ไปมาอย่างเป็นอิสระ และอาจทำให้เราเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ จนเกิดเป็นไอเดียใหม่ ๆได้โดยอัตโนมัติ
.
หลายคนมักจะติดกับกัดเรื่องการที่คิดว่าตัวเองไม่มีทางเลือก ทั้งที่จริง ๆ แล้วเราคิดหาทางเลือกให้ตัวเองได้ตลอดเวลา
หรือบางคนอาจจะมีความเชื่อผิด ๆ ฝังหัวว่าเราต้องหาอาชีพที่ใช้ให้เจอ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว เราอาจต้องการหลาย ๆ แนวคิดเพื่อช่วยให้เราสำรวจความเป็นไปได้หลาย ๆ แบบ
.
การจะพาตัวเองออกจากกับดักและความเชื่อผิด ๆ เหล่านี้อาจเริ่มได้จากการใช้แผนที่ความคิด (mind mapping)
ซึ่งมีเทคนิคการเขียน 3 ขั้นตอนง่าย ๆ ได้แก่
1. เลือกหัวข้อ
2. เขียนแผนที่ความคิด (mind mapping)
3. เขียนความเชื่อมโยงลำดับรองลงมา และสรุปแนวคิด ที่ผสมและเชื่อมโยงไอเดียต่าง ๆ
.
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ เราอาจหากระดาษแผ่นใหญ่ ๆ ในการทำเรื่องเหล่านี้
หรือจะเป็นกระดานไวท์บอร์ดขนาดยักษ์
และอาจหาเพื่อน ๆ มาช่วยกันระดมสมอง
.
.
5) ผสมเทคนิคแผนที่ความคิดและบันทึกความสุข
ลองนำกิจกรรมที่จดไว้ในบันทึกความสุข ออกมาเขียนลงในแผนที่ความคิด 3 แบบ
แผนที่ความคิดที่ 1 - ความสนใจ
เลือกกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งที่อยู่ในบันทึกความสุข ซึ่งจะต้องเป็นกิจกรรมที่เราสนใจจดจ่อ
เขียนมันไว้ตรงกลางในแผนที่ความคิด แล้วลองคิดคำหรือวลีที่เชื่อมโยงจากสิ่งตรงกลางนี้
.
แผนที่ความคิดที่ 2 - พลังงาน
เลือกกิจกรรมจากบันทึกความสุขที่ทำให้เรารู้สึกมีพลังในการทำงานและการใช้ชีวิต
เขียนมันไว้ตรงกลางของแผนที่ความคิด และทำเหมือนเดิม
.
แผนที่ความคิดที่ 3 - ภาวะลื่นไหล
เลือกประสบการณ์จากบันทึกความสุข ที่ทำให้เรามีภาวะลื่นไหล เขียนมันไว้จรงกลาง และสร้างแผนที่ความคิด
.
หลังจากนั้น
1. ลองหาคำที่อยู่ชั้นนอกสุด ที่โดดเด่นเป็นพิเศษ 3 คำ
2. รวมคำเหล่านั้นเป็นคำบรรยายอาชีพที่เราสนใจ และรู้สึกว่าสนุก อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น
3. กำหนดบทบาทและลองร่างภาพคร่าว ๆ อย่างรวดเร็ว
.
.
6) วางแผนชีวิต 3 แบบด้วย แผนโอดีสซีย์ (Odyssey Plan)
ความเชื่อผิด ๆ อีกอย่างของคนหลายคนคือ เราต้องเสาะหาแผนการใช้ชีวิตที่ดีที่สุด แล้วทำตามแผนนั้น
แต่ชีวิตและแผนการที่ดีนั้น อาจไม่ได้มีแค่แผนเดียว และเราก็ยังเลือกได้ด้วยกว่าจะก้าวไปข้างหน้าด้วยแผนการอันไหน
.
เราต้องลองมาจินตนาการชีวิตที่เป็นไปได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้งหมด 3 แบบ
ชีวิตที่ 1: สิ่งที่เราทำอยู่
แผนแรกคือ จงตั้งใจทำสิ่งที่เรามีอยู่แล้วในใจ ไม่ว่าจะเป็นการขยายชีวิตปัจจุบันให้ไปถึงอนาคต
หรือการหยิบเอาแผนการสุดล้ำที่เก็บไว้ในใจมานาน
.
ชีวิตที่ 2: สิ่งที่เราจะทำหากชีวิตในข้อหนึ่งหายไป
มันเป็นไปได้เสมอว่าสิ่งที่เราทำนั้นอาจมาถึงจุดจบ งานอะไรก็ตามอาจไม่คงอยู่เสมอไป
นึกถึงการผลิตแส้รถม้า หรือเว็บเบราว์เซอร์
เราต้องลองจินตนาการถึง หากว่าอาชีพที่เราทำในข้อหนึ่งนั้นจบลงอย่างกะทันหัน เราไม่สามารถเลือกเส้นทางนี้ได้แล้ว
เราจะทำอะไรต่อ เราคงไม่อยากจะอยู่เฉย ๆ โดยไม่มีเงิน
เพราะฉะนั้นลองบังคับตัวเองให้คิด เพราะเมื่อเราบังคับตัวเองให้เชื่อว่า ทางเลือกเดิมที่เราทำอยู่นั้นเราทำไม่ได้แล้ว
ไอเดียดี ๆ ของทางเลือกอื่นก็อาจผุดขึ้นมาได้เสมอ
.
ชีวิตที่ 3: สิ่งที่เราอยากทำหรือเส้นทางชีวิตที่เราจะเลือก ถ้าไม่ต้องสนใจเรื่องเงินเทองและภาพลักษณ์อีกต่อไป
ถ้าเรามีเงินมากพอในการเลี้ยงชีพ และไม่มีใครมานั่งหัวเราเส้นทางที่เราเลือกเดิน เราจะทำอะไร
แม้มันอาจจะไม่ใช่อาชีพที่เราเลือกได้โดยตรง แต่การจินตนาการถึงชีวิตแบบนี้จะทำให้เราเห็นทางเลือกมากขึ้น และช่วยในการออกแบบชีวิตตัวเอง
.
เมื่อเขียนชีวิตทั้ง 3 เสร็จ ก็ลองกำหนดช่วงเวลา ใส่เหตุการณ์ส่วนตัวอื่น ๆ เช่น เรื่องการแต่งงาน เรื่องการลงเรียนในสิ่งที่อยากเรียน
รวมไปถึงเรื่องมาตรวัดต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องวัด ตั้งแต่เรื่องทรัพยากร (เงิน ทักษะ คนรู้จัก) ความชอบ ความมั่นใจ ความสอดคล้องเชื่อมโยง และปัจจัยอื่น ๆ
.
.
7) 4 เคล็ดลับในการเขียนเรซูเมให้ปัง
เคล็ดลับที่ 1: เขียนเรซูเมใหม่ โดยใช้คำแบบเดียวกับที่ระบุไว้ในประกาศรับสมัครงาน
เคล็ดลับที่ 2: หากคุณมีทักษะเฉพาะที่ระบุไว้ในประกาศรับสมัครงาน จงเขียนลงในเรซูเมด้วยคำเดียวกับที่ระบุไว้ในประกาศนั้น
เคล็ดลับที่ 3: เขียนเรซูเมให้ตรงกับคำอธิบายลักษณะงาน
เน้นบอกทักษะที่ตรงกับที่บริษัทต้องการ และบอกว่าทักษะดังกล่าวจะช่วยเสริมบริษัทยังไง และมุ่งเน้นว่าเราจะทำอะไรให้บริษัทนั้นได้บ้าง
เคล็ดลับที่ 4: นำเรซูเมที่พิมพ์ออกมาอย่างสวยงามติดตัวไปตอนสัมภาษณ์งานเสมอ
.
เคล็ดลับทั้ง 4 ข้อนี้สะท้อนความเชื่อผิด ๆ ในการหางานได้เป็นอย่างดี นั่นคือ
เราไม่ควรหางานโดยมุ่งเน้นไปที่ความต้องการของตัวเอง
แต่เราควรมุ่งเน้นไปที่ความต้องการของผู้จัดการฝ่ายสรรหาบุคลากร ซึ่งกำลังมองหาผู้สมัครที่เหมาะสม
.
.
8) ออกแบบงานในฝันของตัวเองด้วย 4 ขั้นตอน
หลายคนมีความเชื่อผิด ๆ ว่า มีงานในฝันรอเราอยู่ที่ใดสักแห่ง
แต่แท้จริงแล้วเราสามารถออกแบบงานในฝันของตัวเองได้ด้วยกระบวนการค้นหาและสร้างสรรค์อย่างตั้งใจ
.
เราต้องไม่มองหางานเฉย ๆ แต่เราต้องการข้อเสนอหลาย ๆ งาน
กระบวนการในการสรรหาและคัดเลือกงานที่ใช่ประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอน
1. รวบรวมและสร้างตัวเลือกต่าง ๆ
.
2. ตีกรอบให้แคบลงจนเหลือเฉพาะตัวเลือกที่สำคัญในอันดับต้น ๆ
ขั้นตอนนี้ ลองเลือกตัวเลือกไว้สัก 12 ตัว และตัดออก 7 ตัวจนเหลือเพียง 5 ตัว
เพราะว่าเราจะได้ใช้ประโยชน์จากปรากฎการณ์พิซซ่า-อาหารจีน (Pizza-Chinese Effect)
คือเราจะไม่รู้ว่าอยากกินอะไรมากกว่ากันจนกระทั่งมีคนตัดสินใจให้ว่ากินพิซซ่ากัน เราก็รู้ได้ทันทีว่าเราอยากกินอาหารจีนมากกว่า
ดังนั้นถ้าเรารู้สึกว่าเราลงเอยด้วยตัวเลือกที่ไม่ใช่ และตัดตัวเลือกที่ผิดไป เราจะได้รู้ทันทีว่าเราต้องการตัวเลือกไหนมากกว่า
.
3. ตัดสินใจเลือก
4. ปล่อยวาง แทนที่จะครุ่นคิดพิจารณา และก้าวต่อไป
การคุ่นคิดพิจารณาว่า ทางเลือกที่ตัดสินใจไปแล้วมันใช่มั้ย ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลย เพราะอย่างไรก็ตามเราไม่สามารถกลับไปแก้ไขตัวเลือกนั้นได้ใหม่อยู่แล้ว
วิธีที่ดีกว่าจึงเป็นการปล่อยวาง ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น และเดินหน้ากับสิ่งที่เลือกต่อไป
.
.
9) เข้าใจว่าชีวิตคือเกมที่ไม่มีที่สิ้นสุด
หลายคนเข้าใจผิดว่า ชีวิตคือเกมที่มีจุดสิ้นสุด พร้อมด้วยผู้ชนะและผู้แพ้
แต่ความจริงแล้ว ชีวิตคือเกมที่ไม่มีจุดสิ้นสุด ไม่มีผู้ชนะหรือผู้แพ้
.
ชีวิตของเราล้วนเต็มไปด้วยข้อผิดพลาดและความล้มเหลว
แต่สุดท้ายแล้ว เราก็ควรจะเรียนรู้จากความล้มเหลวเหล่านั้น
และก้าวไปเป็นตัวเราในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้นต่อไป
.
.
.
......................................................................................................
ผู้เขียน: บิล เบอร์เนตต์, เดฟ อีวานส์
ผู้แปล: เมษ์ ศรีพัฒนาสกุล
สำนักพิมพ์: Bookscape
จำนวนหน้า: 296 หน้า
เดือนปีที่พิมพ์: 8/2018
หมวดหมู่: จิตวิทยา พัฒนาตัวเอง
......................................................................................................
.
สั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.
#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #DesigningYourLife
댓글