รีวิว 24 ชั่วโมงที่ดีเริ่มตั้งแต่นาทีแรกที่คุณตื่น
The art of being brilliant
.
‘จงเป็นชาว 2% ที่คิดบวก และแผ่พลังบวกออกไปให้คนรอบข้าง’
.
“จิมมี่ ชายชราคนหนึ่งเดินไปยังห้องใต้หลังคาที่ไม่ได้มาเหยียบหลายปีแล้ว
เขามาค้นรูปภรรยาใบเก่า ๆ แต่กลับเจอบันทึกลูกชายในวัยเด็ก ที่มีหยากไย่เกาะตรึม
เขาเปิดอ่านบันทึก แล้วก็แปลกใจว่ามีเรื่องที่ไม่ตรงกันกับความทรงจำของเขาอยู่
เขาหยิบบันทึกของตัวเองสมัยหนุ่มที่ทำงานหนัก เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวมาเทียบ
วันอังคารที่ 4 กรกรฎาคม
ในบันทึกของเขา: เสียเวลานั่งตกปลากับลูกชายทั้งวัน ไม่ได้ปลาสักตัว และไม่ได้งานอะไรเลย
ในบันทึกของลูกชาย: ได้ตกปลากับพ่อทั้งวัน เป็นวันที่สนุกที่สุดเลย!”
.
เรื่องข้างต้นคือบทนำของหนังสือ 24 ชั่วโมงที่ดีเริ่มตั้งแต่นาทีแรกที่คุณตื่น (The art of being brilliant)
ที่เขียนโดย Andy Cope และ Andy Whittaker
คนแรกดีกรีป.เอกด้านจิตวิทยา ตีพิมพ์งานวิจัยด้านจิตวิทยาเชิงบวกมาหลาย paper เป็นโค้ช เป็นวิทยากร และเป็นคนเขียนหนังสือเด็ก!!
.
หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องหลักจิตวิทยาเชิงบวก การคิดบวก และการมีพลังบวกในชีวิตแต่ละวัน
รวมไปถึงเทคนิคที่จะทำให้เรากลายเป็นคนคิดบวกได้
.
เป็นอีกเล่มที่ส่วนตัวชอบสไตล์การเขียน ที่มีมุกตลกแบบจิดกัดสอดแทรกอยู่ตลอดเล่ม
อ่านสนุก ชอบตัวอย่างที่หนังสือเล่า เห็นภาพตามคอนเซ็ปต์มาก แม้หลายเรื่องจะงง ๆ ว่าได้อะไรกลับมาก็ตาม (ฮา)
แต่โดยรวมแล้วนับว่าเป็นหนังสืออีก 1 เล่มที่สอนให้เราลองปรับมุมมองให้ตัวเองคิดบวกบ้าง
.
ลองกลับมาดูตัวอย่างในบทนำ
จะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า จิมมี่เป็นคนคิดลบมาก เมื่อเจอกับวันที่ต้องเสียเวลากับลูกชายทั้งวัน ก็หงุดหงิด รู้สึกว่าไม่ได้งานอะไร
เพราะกำลังอยู่ในวัยสร้างตัว ต้องเร่งทำงานให้ได้มาก ๆ
ในขณะที่ลูกชายวัยเด็กรู้สึกดีใจมากที่ได้ใช้เวลากับพ่อทั้งวัน
แน่นอนว่า ถ้าจิมมี่คิดอีกแบบ ว่าเป็นอีกวันที่ดีในชีวิตที่ได้ใช้เวลากับลูกชายทั้งวัน
เขาก็จะมองชีวิตตัวเองแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง
.
หนังสือเล่าว่า ตามงานวิจัยของผู้เขียนแล้ว โดยเฉลี่ยมีเพียง 2% ของคนทั้งหมดที่มีพลังบวก และรู้สึกยอดเยี่ยมสุด ๆ กับชีวิตในทุก ๆ วัน
คนส่วนใหญ่จะถูกเหล่า ‘มนุษย์ดูดอารมณ์’ สร้างความหงุดหงิด ทำให้คิดลบ เบื่อโลก และรู้สึกแย่สุด ๆ กับชีวิตตัวเอง
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ไม่ว่าใครก็คงอยากจะเปลี่ยนตัวเองจากคนคิดลบ ให้กลายเป็นคนที่มีพลังบวกแผ่ไปให้คนรอบข้างบ้าง
.
แล้วเราจะทำยังไงถึงจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้
หนังสือนำเสนอหลักการ 6 ข้อที่ใช้เป็นตัวช่วยได้
.
โดยรวมแล้วหนังสือมีคอนเซ็ปต์ที่เบาบาง และเยิ่นเย้อไปสักหน่อย
เรื่องเล่ามีมาก บางเรื่องเหมือนเป็นส่วนประกอบที่ไม่ได้ตรงประเด็นเท่าไหร่
แต่เรื่องเล่าสนุก ฝีมือคนเขียนหนังสือให้เด็กมีความแพรวพราว และมีรูปประกอบดี ๆ ตลอดเล่ม
ความยาวปานกลาง มีแบบฝึกหัดให้พักหายใจเป็นระยะ
ถ้าใครสนใจหนังสือคิดบวก ต้องหาอ่านให้ได้ครับเล่มนี้
.
สุดท้าย ขอสรุป 6 หลักการในการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนคิดบวก ดังนี้ครับ
1) เลือกที่จะคิดบวก
เราควรใช้ชีวิตโดยยึดหลักการคิดบวกให้มากที่สุดในแต่ละวัน
เพราะเราต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ไม่มีอะไรอยู่กับเราตลอดไป
ช่วงเวลาดี ๆ ที่เราจะใช้กับลูก ๆ ของเราได้ก็เช่นกัน
ทุกอย่างมีเวลาจำกัด
.
แทนที่เราจะปฏิเสธลูกไม่ยอมไปทำกิจกรรมร่วมกัน และนั่งขี้เกียจบนโซฟาอ่านข่าวกีฬาของเราต่อไป
เราแค่ยอมไปกับลูก ไปทำกิจกรรมที่ลูกอยากทำ
และวันนั้นอาจเป็นวันที่ดีที่สุดในชีวิตเรา !
.
เมื่อเข้าใจตรงนี้แล้ว ผู้เขียนแนะนำให้ใช้ “กฎ 4 นาที” ในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
นั่นคือ ทุกครั้งที่เจอหน้าลูก ๆ สามี ภรรยา คนในครอบครัว เพื่อนฝูง หรือใครก็แล้วแต่
ให้เราใช้พลังบวกของเราอย่างเต็มที่ใน 4 นาทีแรกที่เจอ
เพราะส่วนใหญ่หลังจาก 4 นาทีนั้น คนเหล่านั้นก็หันไปสนใจอย่างอื่นหมดแล้ว
เราจึงสามารถใช้ 4 นาทีเพื่อสร้างพลังบวกดี ๆ ถ่ายทอดออกไปให้คนที่เราเจอได้
.
2) ทำความเข้าใจผลกระทบของตัวเอง
คนเรามักจะคิดถึงแต่ผลกระทบของคนอื่นต่อตัวเรา
แต่มักลืมว่าตัวเราเองก็สร้างผลกระทบต่อคนอื่นได้เหมือนกัน
.
เช่นเดียวกัน คนเราถูกรายล้อมด้วยกระตุ้นต่าง ๆ มากมาย
แต่เราเองก็ทำตัวเป็นตัวกระตุ้นได้เช่นกัน
.
ตัวกระตุ้นก็คือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เราเจอ อาจมีทั้งดี และไม่ดี และก่อให้เกิดอารมณ์หลากหลายรูปแบบ ทั้งสุข เศร้า โกรธ ฟิน
.
ลองจินตนาการดูว่า ถ้าเราเจอค่าทางด่วนขึ้นราคา!! เราจะโมโหแค่ไหน
ตอนจ่ายเงินคงจะหน้าบูด และอารมณ์เสียใส่คนเก็บค่าผ่านทาง
.
แต่ถ้าเปลี่ยนใหม่ เป็นเราจ่ายให้คนข้างหลังด้วยละ!
แม้คนเก็บค่าผ่านทางจะงง ลังเลว่าทำอย่างไรดี และคนข้างหลังบีบแตรด่า
แต่ถ้าสุดท้ายเขายอมรับไป และบอกคนข้างหลังว่าคนข้างหน้าจ่ายมาให้แล้ว จะเกิดอะไรขึ้น
จริงอยู่ว่า คนเก็บค่าผ่านทางอาจเก็บเงินนั้นไว้เอง และเรียกเก็บค่าผ่านทางจากคนข้างหลังต่อ
แต่ถ้าเราคิดอีกแบบ คนเก็บค่าผ่านทางเล่าอย่างยินดีว่า คนข้างหน้าได้จ่ายเงินให้แล้ว และรถคันถัดไปก็ทำแบบเดียวกัน คือจ่ายเงินให้คนข้างหลังอีกเรื่อย ๆ
การกระตุ้นของเราครั้งเดียว คงจะทำให้เกิดปฏิกริยาลูกโซ่แห่งพลังบวกไปอีกไกล
.
.
3) แสดงความรับผิดชอบต่อตัวเอง
จงจำไว้ว่า
10% ของชีวิตมาจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา
แต่ 90% ของชีวิตขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกตัดสินใจที่จะตอบสนองต่อ 10% นั้นอย่างไร
.
10% แรกเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น โดนขับรถปาดหน้า รถติดไปทำงานสาย เครื่องซักผ้าที่บ้านเสีย เพื่อนร่วมงานก่อปัญหา
แต่เราสามารถเลือกตอบสนองต่อเหตุการณ์เหล่านี้ได้
เราเลือกที่จะคิดบวก และลงมือแก้ไขปัญหาในเชิงบวก
มากกว่าที่จะหงุดหงิด แสดงพฤติกรรมแย่ ๆ และทำลายความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
.
ตัวอย่างเช่น ในตอนเช้า ลูกเราเผลอทำกาแฟหกใส่เสื้อเรา - นี่คือเหตุการณ์ 10%
การตอบสนองแบบ A: เราโมโห ตวาดลูก และบอกภรรยาให้คุมลุกดี ๆ หน่อย ขึ้นไปเปลี่ยนเสื้อโดยกำลังหงุดหงิด ทำให้ลืมหยิบกระเป๋าเอกสารไปทำงาน
ลูกหน้ามุ่ยใส่เราตอนไปโรงเรียน ไม่พูดกับเราสักคำ เราไปถึงที่ทำงานสาย หน้าตาบึ้งตึง เผลอไปพูดจาแย่ ๆ กับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน แถมโดนหัวหน้าด่าเรื่องลืมกระเป๋าเอกสาร
กลับมาบ้านเจอภรรยาและลูกหน้าเซ็ง ๆ บรรยากาศมาคุไปทั้งบ้าน
วันทั้งวันของเราพัง โดยทั้งหมดเกิดจากกาแฟแค่แก้วเดียว
.
การตอบสนองแบบ B: เราบอกลูกว่าไม่เป็นไร รีบขึ้นไปเปลี่ยนเสื้อ ส่งยิ้มให้ลูกตอนส่งเธอไปโรงเรียน ไปถึงที่ทำงานเร็ว หยิบกระเป๋าเอกสารมาด้วย พูดคุยสนุกสนานกับเพื่อนที่ทำงาน ได้รับคำชมจากหัวหน้า กลับมาบ้านดินเนอร์กับครอบครัวอย่างอบอุ่น
.
เหตุการณ์เดียวกัน ตอบสนองต่างกัน ก็ทำให้เกิดผลลัพธ์ต่างกันมหาศาล
.
.
4) มีความสามารถในการก้าวข้ามปัญหา
หลายครั้งที่สถานการณ์ในชีวิตก็ทำให้เราคิดบวกไม่ออกเลยจริงๆ
เช่นในตอนที่ เราต้องเผชิญกับการตกงาน การหย่าร้าง การสูญเสียคนรัก
.
สิ่งสำคัญที่จะทำให้เรากลายเป็นขาว 2 % ได้คือ การเลือกที่จะคิดบวก
ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นจะไม่คงอยู่ตลอดไป
แทนที่จะจมอยู่กับปัญหาและความคิดเชิงลบ เราต้องโฟกัสไปที่การแก้ปัญหา
ไม่ว่าปัญหานั้นจะใหญ่สักแค่ไหนก็ตาม
.
.
5) ตั้งเป้าหมายทิ่ยิ่งใหญ่
ตั้งเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ไว้บนยอด แต่ซอยเป้าหมายย่อยลงมาเป็นพีระมิดที่ประกอบด้วยอิฐหลาย ๆ บล็อค
โดยแต่ละบล็อค คือเป้าหมายย่อย ๆ ที่ต้องทำให้สำเร็จไปเรื่อย ๆ
.
เพราะถ้าเรามองแต่เป้าหมายใหญ่ แล้วใส่ความพยายามลงไป แต่ไม่เห็นผล เราก็คงรู้สึกเหนื่อยล้า พลังบวกและความกระตือรือร้นก็คงจะค่อย ๆ ลดลงอย่างรวดเร็ว
.
ตัวอย่างเช่น ตอนเหตุการณ์ตึกเวิร์ลเทรดถล่ม 11 กันยา มีการพาสุนัขตำรวจไปทำภารกิจค้นหาผู้รอดชีวิต โดยใช้จมูกดมกลิ่น
สุนัขตำรวจเหล่านี้ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แม้เท้าจะพอง และมีเลือดออกแต่ก็ยังค้นหาต่อไป
แต่ปรากฎว่า ค้นหาไปเรื่อย ๆ กับไม่พบผู้รอดชีวิตเลย แม้จะเจอร่าง แต่ส่วนใหญ่ก็เสียชีวิตหมดแล้ว
สุนัขเริ่มหมดกำลังใจและอยากเลิกภารกิจ
จึงต้องมีคนปลอมตัวเป็นผู้รอดชีวิตไปนอนอยู่ใต้ซากตึก ให้สุนัขดมหาเจอ
เพื่อช่วยหล่อเลี้ยงกำลังใจของสุนัข
.
คนเราก็เหมือนกัน ถ้าเราทำภารกิจอะไรสักอย่าง แล้วไม่เห็นผลลัพธ์อะไรเลย
เราก็คงหมดกำลังใจ การหารางวัลมาหล่อเลี้ยงกำลังใจจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
.
.
6) หยิบจุดแข็งของตัวเองออกมาใช้
ลองนึกถึงโรงเรียนแห่งสัตว์ ที่มีสัตว์มากมายหลายประเภทมาเรียนรวมกัน
มีหลายวิชาที่ต้องลงทะเบียนทั้ง วิ่ง ปีนต้นไม้ บิน ว่ายน้ำ
ปลาว่ายน้ำเก่ง แต่สอบตกทั้งวิชาปีน บิน และวิ่ง
นกอินทรี บินเก่งมาก โกงวิชาปีนต้นไม้ โดยไม่ต้องปีน แต่บินไปบนยอดเลย แต่ตกว่ายน้ำ
กระรอก ปีนต้นไม้เก่งมาก บินกับวิ่งก็พอได้ แต่ว่ายน้ำก็เกรด C
สุนัขขัดขืนไม่ยอมเรียนวิชา บินกับปีน เกือบจะกัดอาจารย์แล้ว!!
.
ข้อคิดคือสัตว์แต่ละตัวย่อมมีจุดแข็งเป็นของตัวเอง
คนเราก็ไม่ต่างอะไรกัน
เราอาจไม่ต้องปิดจุดอ่อนทั้งหมดก็ได้ เอาเวลาไปพัฒนาจุดแข็ง และต่อยอดให้โดดเด่นจะดีกว่า
หลายคนที่เอาเวลาไปไล่พัฒนาทักษะอื่นที่ไม่เก่ง แค่ให้พอเทียบเท่ากับคนอื่นได้ อาจเสียเวลาไป โดยไม่ทำให้ตัวเองมีอะไรเด่นขึ้นมาเลย
.
.
....................................................................................................................
ผู้เขียน: Andy Cope, Andy Whittaker
ผู้แปล: ปฏิพล ตั้งจักรวรานนท์
สำนักพิมพ์: วีเลิร์น (WeLearn)
จำนวนหน้า: 256 หน้า
หมวดหมู่: จิตวิทยา การพัฒนาตัวเอง , การพัฒนาตัวเอง how to
....................................................................................................................
.
.
สั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.
#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #24ชั่วโมงที่ดีเริ่มตั้งแต่นาทีแรกที่คุณตื่น #Theartofbeingbrilliant
Comments