รีวิวหนังสือ แค่เปลี่ยนเรื่องนี้ความผิดพลาดก็ลดลงอย่างเหลือเชื่อ .
. ….. วันหนึ่งผมขับรถออกจากบ้านไปที่ทำงาน เดินไปซื้อกาแฟพร้อมกับตาที่ยังสะลึมสะลือ เอามือล้วงเข้าไปในกางเกงเพื่อหยิบกระเป๋าสตางค์ รู้สึกถึงความโล่งแปลกๆ แล้วผมก็เพิ่งรู้สึกตัวว่า วันนี้ลืมหยิบกระเป๋าตังค์มานี่หว่า!! ทำให้การใช้ชีวิตในวันนั้นของผมมีความยุ่งยากเพิ่มขึ้นมาก ตั้งแต่พยายามหาซื้อของที่ใช้การโอนจ่ายผ่านมือถือได้ (โชคดีว่าเป็นยุคของ cashless society) จนกระทั่งต้องบกาหน้าไปยืมเงินเพื่อนในฝ่ายมาสักนิดหน่อยเพื่อซื้อข้าวจากร้านข้างทางที่ไม่มีระบบนับเงินโอนจากบัญชีในมือถือ นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างของเรื่องความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆในชีวิตคนเรา เป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะเป็นปกติธรรมดา แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็อาจทำให้เรารู้สึกหงุดหงิด อารมณ์เสียขึ้นมาได้ มาซายุกิ นากาโอะ อาจารย์ประจำคณะวิศวะ ภาคเครื่องกล มหาวิทยาลัย Todai (ชื่อย่อของ The University of Tokyo) เลยพยายามรวบรวมคิดหาวิธีที่จะทำให้เราสามารถลดความผิดพลาดต่าง ๆในการดำเนินชีวิตเหล่านี้ได้ .
. ……จริง ๆแล้ว การเกิดความผิดพลาดต่าง ๆเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก ๆ ตั้งแต่การเรื่องของการลืมหยิบกระเป๋าตังค์จากโต๊ะกินข้าวที่บ้าน การมาสาย การส่งอีเมลแล้วลืมแนบไฟล์ จนกระทั่งการทำงานต่าง ๆที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อองค์กรหรือบริษัทที่เราทำงาน หรือหน้าที่การงานของเราเอง การมีหนังสือ howto สัก1เล่มที่คอยเตือนใจและพยายามช่วยเราแก้ไขข้อผิดพลาดต่าง ๆเหล่านี้จึงเป็นอะไรที่น่าสนใจไม่น้อย .
. ...... อาจารย์มาซายุกิ เป็นอาจารย์คณะวิศวะที่สนใจมาศึกษาเรื่องศาสตร์แห่งความผิดพลาด อาจารย์แกเขียนบอกว่า จริง ๆแล้วอาจารย์แกก็เป็นเหมือนคนญี่ปุ่นอีกหลายๆคนที่ชอบมาศึกษาศาสตร์แปลกๆ ที่ไม่ค่อยมีที่ใดในโลกศึกษากันสักเท่าไหร่ แต่สำหรับแกแล้วการได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องราวเกี่ยวกับความผิดพลาด รวมไปถึงการได้นำเรื่องการป้องกันความผิดพลาดเข้าไปสอนในคลาสเรียนนับเป็นความสนใจเฉพาะตัว ที่แกทำแล้วรู้สึกสนุก แกจึงลงมือรวบรวมอ่านงานวิจัยและเขียนบทความเกี่ยวกับความผิดพลาดมาหลายปีแล้ว .
. ….. สำหรับในหนังสือ อาจารย์แกแบ่งออกเป็น 5 บทหลักๆ เริ่มตั้งแต่การเข้าใจก่อนว่าความผิดพลาดนั้นคืออะไร แล้วพัฒนาต่อมาอธิบายว่าคนที่ไม่ค่อยทิดพลาดนั้น เขามีหลักคิดยังไงบ้าง ส่วนเรื่องราวที่เหลือในหนังสือก็คือวิธีในการหยุดความผิดพลาดไม่ให้ใหญ่ขึ้น และวิธีในการลดความผิดพลาดให้น้อยลง .
. .... จริง ๆแล้วสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับความผิดพลาดก็คือว่า โดยปกติแล้วความผิดพลาดมักจะเป็นคนเราเองนี่แหละที่ล้วนแล้วแต่ทำผิดพลาดซ้ำไปซ้ำมา ความผิดพลาดทั้งหมดจึงล้วนแล้วแต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถหารูปแบบของความผิดพลาดนั้น ๆ เราก็จะสามารถหาวิธีในการป้องกันได้ .
. …. อีกเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการเกิดความผิดพลาดคือ คนเราควรที่จะผิดพลาด ถ้าความผิดพลาดนั้นคือการที่เราลองทำอะไรบางอย่าง เพื่อที่จะไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้กับการทำสิ่งๆนั้น เช่นการลองคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆให้บริษัท ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้สูงมากที่จะเกิดความผิดพลาด และบริษัทนั้นล้มเหลวในการขายสินค้านั้น ๆ แต่ความผิดพลาดบางอย่างก็เป็นความผิดพลาดที่ไม่ควรจะให้เกิดขึ้น เช่น การตื่นสาย ความผิดพลาดพวกนี้มักจะมีรูปแบบที่ซ้ำ ๆกัน .
. ….ส่วนว่ากันด้วยเรื่องของวิธีในการจัดการป้องกันการเกิดความผิดพลาดนั้น ในหนังสือจะค่อนข้างอิงกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นซะเยอะ คือเรื่องพวกนั้นเกี่ยวข้องการดำเนินชีวิตประจำวัน วัฒนธรรมจึงถูกแทรกซึมเข้ามาในการดำเนินชีวิตของคนญี่ปุ่น และการที่จะป้องกันความผิดพลาดในแบบญี่ปุ่น ก็ต้องเข้าใจวัฒนธรรมและธรรมเนียมแบบญี่ปุ่นซะก่อน ตัวอย่างเช่น การห้ามไม่ให้แก้ไขขั้นตอนต่าง ๆด้วยตัวเอง ถ้ามีการให้ instruction เรียบร้อยแล้ว เพราะว่าเขาเชื่อว่ามันจะทำให้การหาสาเหตุของความผิดพลาดเป็นไปได้ยากขึ้น หรือนิสัยการจดโน้ตที่คนญี่ปุ่นมักจะจดโน้ตกันแบบละเอียดยิบเวลาที่ได้เข้าฟังบรรยายเรื่องอะไรก็ตาม (น่าจะแตกต่างจากคนไทย) วิธีป้องกันความผิดพลาดไม่ให้เกิดจึงเป็นการจดโน้ตแต่สาระสำคัญๆ หรือให้ทำการสรุปทุกครั้งหลังจากจดโน้ตเสร็จ จะได้ไม่พลาดละเลยเนื้อหาสำคัญของการบรรยายในครั้งนั้นไป .
. ….. อีกเรื่องที่ผมชอบจนอยากเอามาแชร์คือ เรื่องของการทำ ‘Double Check’ หรือการผ่าน QC สองรอบ คือให้นาย A ตรวจทานงานก่อน 1 ครั้ง ก่อนส่งต่อให้นาย B ตรวจทานต่ออีก 1 ครั้ง ซึ่งความจริงแล้วคนญี่ปุ่นพบว่าวิธีนี้ทำให้เกิดความผิดพลาดได้เยอะมาก เพราะนาย A จะคิดว่าเดี๋ยวก็มีการตรวจทานอีกรอบหนึ่ง ตัวนาย A เองไม่ต้องตรวจละเอียดก็ได้ ในขณะที่นาย B ก็จะคิดว่านาย A ได้ตรวจมาละเอียดแล้ว นาย B ไม่ต้องตรวจละเอียดก็ได้ ทำให้ทั้งสองคนทำงานแบบไม่รอบคอบ หนังสือเล่มนี้จึงเสนอวิธีแก้ไขที่เรียกว่า ‘Dual Check’ หรือ การให้นาย A และนาย B ตรวจทานพร้อม ๆกัน และถ้าจะให้ดีคือ ไม่ต้องให้ทั้งคู่รู้ว่ามีการนำงานไปให้อีกคนหนึ่งตรวจด้วย เขาทั้งสองจะได้ตรวจงานแบบเต็มความสามารถ จัดว่าเป็นวิธีที่ค่อนข้างน่าสนใจทีเดียว .
. ….. จัดว่าเป็นหนังสือ howto ที่อ่านง่ายและมีประโยชน์อีกเล่มหนึ่ง อย่างที่หลายๆคนคงคิดว่า วิธีการลดความผิดพลาดต่าง ๆที่หนังสือเสนอมา อาจดูเป็นเรื่องที่รู้ๆกันอยู่แล้ว หรือเป็นเรื่องที่ใช้ sense ได้ แต่จริง ๆแล้วเชื่อเถอะครับว่า เรานึกกันได้ไม่หมดหรอก มีวิธีอีกร้อยแปดพันเก้าบนโลกที่มนุษย์พยายามคิดค้นขึ้นเพื่อลด error ต่าง ๆในการทำงานและการใช้ชีวิต การอ่านเล่มนี้จึงเป็นเหมือนทางลัดที่ช่วยให้เราได้รู้ในสิ่งที่นึกไม่ถึงมาก่อน หรือทำให้ไม่ต้องมานั่งเสียเวลาคิดวิธีพวกนี้ขึ้นมาเองนั่นเองครับ . . . …………………………………………………………………………. ผู้เขียน: Masayuki Nakao (มาซายุกิ นากาโอะ) ผู้แปล: อาคิรา รัตนาภิรัต สำนักพิมพ์ : Amarin Howto แนวหนังสือ : การพัฒนาตัวเอง, จิตวิทยา ………………………………………………………………………….. . . . #หลังอ่าน #รีวิวหนังสือ #หนังสือ2019 #หนังสือ2562 #reviewหนังสือ #แค่เปลี่ยนเรื่องนี้ความผิดพลาดก็ลดลงอย่างเหลือเชื่อ #AmarinHowto #MasayukiNakao #มาซายุกินากาโอะ #อาคิรารัตนาภิรัต #หนังสือการพัฒนาตัวเอง #หนังสือจิตวิทยา #ความผิดพลาด
Comments