top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิวหนังสือ: ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย

Updated: May 23, 2020




รีวิวหนังสือ ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย The Asshole Survival Guide .

. …..... หนังสือยอดฮิตในช่วง1-2 เดือนทีผ่านมา ส่วนตัวก็ยังงงกับการที่หนังสือเล่มนี้เป็นกระแสดังในเมืองไทยได้ขนาดนี้ ดังขนาดที่พนักงานขายหนังสือบอกว่า หนังสือหมด stock ในร้านหนังสือ และต้องจองคิวรอกันเลยทีเดียว เพราะว่า ปกติหนังสือประเภท howto ก็มีออกมาเรื่อยๆอยู่แล้ว แต่เท่าที่ถามๆคนที่เคยอ่านๆมาก็พอได้ความว่า หนังสือดังจากที่มีดาราคนนึงเอาเล่มนี้ไปอ่านแล้วมาโพสต์ลง IG (ลืมไปละ ว่าเป็นดาราคนไหน) และ คำว่า ‘เฮงซวย’ ที่ดังมาจากซีรีย์เลือดข้นคนจาง หรือจริงๆแล้วในสังคมของเรามีคน ‘เฮงซวย’ อยู่เป็นจำนวนมาก จนคนไทยต้องไปหาซื้อหนังสือมาอ่านเพื่อหาวิธีรับมือกับคนเฮงซวยเหล่านี้ก็เป็นไปได้ สุดท้ายด้วยความอยากรู้ ผมก็เลยไปซื้อเล่มนี้มาในงานหนังสือ แล้วในที่สุดก็อ่านจบ .

. …. สรุปความรู้สึกหลังอ่านจบก็คือ เป็นหนังสือ howto จ๋าๆ อีกเล่มที่นำเสนอวิธีรับมือกับพวกเหล่าคนเฮงซวย หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘asshole’ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต โดยเฉพาะใน ‘ที่ทำงาน’ ที่ ‘ผู้ถูกกระทำ’ อาจหลบเลี่ยงสถานการณ์เหล่านี้ได้ยาก คนเฮงซวยเหล่านี้อาจจะเป็น หัวหน้างาน ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน CEO คณะกรรมการ ลูกค้า Supplier Partner หรือแม้แต่แม่บ้าน คือพูดง่ายๆว่า ใครๆก็สามารถทำตัวเป็นคนเฮงซวยได้ .

. ….. ส่วนคำว่า ‘เฮงซวย’ นี้ ก็แปลความได้ตั้งแต่ พวกที่ชอบจิกกัด ด่า ว่า คุกคาม กดขี่ข่มเหง ทำตัวน่ารำคาญ ทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด ทำให้อีกฝ่ายคับแค้นใจ ไปจนถึงอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้อีกคนรู้สึกว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อ ความหมายของคำนี้จึงค่อนข้างกว้างมาก .

.



.

. … [ สรุปเนื้อหาสำคัญในหนังสือ]… .

. …. หนังสือแบ่งออกเป็น 7 บท ส่วนใจความของเนื้อหามีอยู่ประมาณ 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ การประเมินระดับสถานการณ์ความเฮงซวย วิธีในการหลบเลี่ยงและเปลี่ยนความคิด และอันสุดท้ายคือวิธีในการตอบโต้ .

. ..ตลอดเล่มหนังสือยกตัวอย่างประกอบไว้เยอะมาก แต่ส่วนใหญ่คือเคสของคนที่เจอคนเฮงซวยในที่ทำงาน แล้วก็ใช้วิธีต่างๆในการพยายามรับมือกับคนเฮงซวยเหล่านั้น แต่คงเอามาเขียนไม่ไหว เพราะรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละเคสค่อนข้างเยอะ

. [ ประเมินความเฮงซวย ดูว่าระดับความเฮงซวยมันแย่แค่ไหน ]

. 1) สิ่งที่ต้องประเมินเริ่มจากความรู้สึกของตัวเองว่า ตัวเองกำลังโนผู้ต้องสงสัยว่าเฮงซวยกำลังทำกับคุณอย่างไร้ค่าน่าชิงชังรึเปล่า

. 2) ความเฮงซวยนี้มันเกิดขึ้นแบบชั่วคราว สั้นๆ หรือมันเกิดต่อเนื่องมานานแล้ว เพราะถ้าป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆก็คงจะไม่ต้องใส่ใจมาก แต่ถ้ามันเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน คนที่ถูกกระทำก็คงต้องเตรียมแผนรับมือ

. 3) ข้อนี้สำคัญมาก นั่นคือ ผู้ต้องสงสัยว่าเฮงซวย เป็นคนเฮงซวยตัวจริง หรือเป็นแค่คนเฮงซวยชั่วคราว เพราะบางครั้งบางคราวเราทุกคนก็ทำตัวเฮงซวยกันได้ทั้งนั้นถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยกับความเฮงซวย เช่น ทำงานอยู่ในแผนกที่มีแต่คนเฮงซวย เราเองก็อาจเปลี่ยนกลายเป็นคนเฮงซวยไปด้วย ดังที่เขาอธิบายว่า ความเฮงซวยสามารถเป็นโรคติดต่อได้ เพื่อทำให้เรามีชีวิตอยู่รอดได้ในที่ทำงาน

. 4) ปัญหาอยู่ที่คนหรือระบบ เป็นความเฮงซวยที่เกิดจากคนๆเดียว หรือเป็นกันทั้งองค์กร เหมือนมีอารยธรรมแห่งความเฮงซวย วิธีในการรับมือก็จะแตกต่างกันไป

. 5) ประเมินว่าตัวคุณที่ถูกคนเฮงซวยกระทำมีอำนาจเหนือคนเฮงซวยแค่ไหน ถ้ามีอำนาจมากกว่าเยอะ ตัวเลือกวิธีการในการรับมือก็หลายหลาย แต่ถ้าเป็นคนด้อยอำนาจกว่า ก็คงจะต้องวางแผนรับมือให้แยบยลขึ้น

. 6) จริงๆแล้วตัวคุณที่ถูกคนเฮงซวยกระทำนั้นทุกข์แค่ไหน เพราะว่าการกระทำแต่ละอย่างอาจส่งผลต่อแต่ละคนต่างกัน บางคนอาจจะคลุ้มคลั่งกับการกระทำของคนเฮงซวยคนหนึ่ง แต่อีกคนกลับไม่รู้สึกอะไรเลยกับคนเฮงซวยคนนี้ก็เป็นได้ .

. [วิธีการในการรับมือกับความเฮงซวย] .

. 1) วิธีตรงไปตรงมาและทำได้ง่ายมาก นั่นคือ ‘การหนี’ ออกจากคนเฮงซวยให้เร็วที่สุด คือพอประเมินแล้วว่าคนนี้เป็นคนเฮงซวยจริงๆ (ไม่ใช่แค่เฮงซวยเป็นครั้งคราว) ถ้าตรวจสอบให้แน่ใจแล้วก็ควรหนีออกมาตั้งแต่เนิ่นๆเลย อย่าไปใช้คำโกหกหลอกตัวเองว่า ‘มันไม่ได้แย่ขนาดนั้น’ ‘ฉันได้เรียนรู้อะไรจากที่นี่มากมาย การถูกเหยียบย้ำนั้นคุ้มค่า’ หรือ ‘ฉันคือผู้กอบกู้ มันเป้นพันธกิจของฉันในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ความเฮงซวยนี้’ เพราะว่าบางครั้งเรื่องพวกนี้มันก็ไม่ค่อย realistic เท่าไหร่ การหนีในที่นี้ก็คือ การย้ายที่ทำงานไปเลย

.

. 2) วิธี ‘การหลบเลี่ยง’ การพบเจอคนเฮงซวย: ซึ่งมีด้วยกันหลากหลายวิธี เช่นเพิ่มระยะห่างระหว่างคุณกับคนเฮงซวย เช่นไปนั่งที่โต๊ะทำงานตัวอื่น หรือย้ายชั้นทำงานไปเลย หรือไม่ก็เลือกในตำแหน่งการนั่งที่ไม่ต้องสบตากัน ถ้าตอนกลับบ้านก็อย่ากลับพร้อมกัน งานประชุมก็ลองพิจารณาว่าจำเป็นต้องเข้าพร้อมกับคนเฮงซวยเหล่านั้นมั้ย หรือจะลองทำตัวล่องหนไปเลยได้มั้ย เช่น พูดให้น้อย ทำตัวให้น่าเบื่อ คนเฮงซวยเหล่านั้นจะได้ไม่สนใจคุณ มีคนที่คอยมา support หรือ แบ่งรับความเฮงซวยของคุณมั้ย ลองสร้างพื้นที่ปลอดภัยหรือที่เรียกว่าหลังเวที ซึ่งเป็นที่ชั่วคราวในการพักฟื้นจิตใจ หรือจะคุยกับเพื่อนร่วมงานเพื่อทำการเปิดระบบแจ้งเตือนล่วงหน้า ว่าคนเฮงซวยกำลังจะมาถึง

.

. 3) วิธี ‘เปลี่ยนกรอบความคิดของตัวเอง’ จัดเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการรับมือกับความเฮงซวย คือแค่คุณต้องเปลี่ยนกรอบความคิดของตัวเองเสียใหม่ มองสถานการณ์ใหม่ มองคนเฮงซวยเหล่านี้ใหม่ เช่น มองว่าคุณไม่ได้โดดเดี่ยว มีคนโดนกระทำแบบเดียวกับคุณอีกหลายคน มองว่าคนเฮงซวยเหล่านั้นก็ยังมีสิ่งดีๆในตัวพวกเขาอยู่นะ (แม้มันจะน้อยมากก็ตาม) มองว่าคุณอยู่เหนือมัน คุณจะไม่ลดตัวไปทำตัวต่ำตมแบบคนพวกนั้น มองเรื่องความเฮงซวยให้เป็นเรื่องตลก หรือวิธีที่ตัวแอดมินเองชอบมากสุดคือ ‘การมองย้อนกลับมาจากอนาคต’ เหมือนที่เรามักจะมองย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์เรื่องแย่ๆ เรื่องเลวร้ายในวัยเรียน และมักพบว่ามันเป็นเรื่องขบขันในวงเหล้าไปแล้ว ก็คือพยายามคิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เดี๋ยวมันก็ผ่านไป อีกสิบปีมองย้อนกลับมา มันก็กลายเป็นเรื่องตลกเรื่องหนึ่งที่คุณเอาไว้เล่าให้เพื่อนฟังแค่นั้นเอง หรืออีกวิธีที่แอดมินอ่านละตลกดี คือการคิดว่าตัวเองเป็นแพทย์ ละกำลังวินิจฉัยอาหารคลุ้มคลั่งของคนเฮงซวยเหล่านี้อยู่ ทำให้พฤติกรรมเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องน่าสนใจ

.

. 4) วิธี ‘ตอบโต้’ เป็นวิธีสุดท้ายที่อาจส่งผลรุนแรงได้ทั้งทางด้านบวกและด้านลบ คนที่จะใช้วิธีนี้จึงควรคิดพิจารณาดีๆก่อนจะตัดสินใจเลือกวิธีตอบโต้กลับไปหาพวกคนเฮงซวยเหล่านั้น หนังสือเน้นย้ำอย่างชัดเจนให้คนที่อยากจะเลือกวิธีในการตอบโต้สำรวจทรัพยากรของตัวเองที่มีก่อน ทรัพยากรสำคัญมีอยู่สามอย่างได้แก่ อำนาจ ข้อมูล และความร่วมมือจากพวกพ้อง ถ้าอยากให้การตอบโต้สำเร็จ ทรัพยากรสามอย่างนี้ต้องมีพร้อมเพื่อเป็นการสนับสนุน และเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการตอบโต้ได้ หนังสือยังได้เตือนถึงวิธีการตอบโต้ที่จะนำไปสู่ความล้มเหลวอย่างเลี่ยงไม่ได้ เช่น การเผชิญหน้าแบบตรงไปตรงมา การเรียกคนเฮงซวยว่าคนเฮงซวย การแก้แค้นแบบไม่ประสงค์ออกนาม หรือการยอมติดโรคเพื่อเอาใจพวกคนเฮงซวย .

. …บทสุดท้ายหนังสือได้อธิบายว่า เราควรจจจะทำหน้าที่มีส่วนร่วมในการแก้ไข ไม่ใช่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา โดยอาจเริ่มทำได้ตั้งแต่สร้างองค์กรที่ปลอดคนเฮงซวย ช่วยกันปกป้องคนอื่นจากคนเฮงซวย ไม่ใช่แค่ปกป้องตัวเองเฉยๆ พยายามเปลี่ยนคนเฮงซวยให้กลายเป็นมิตรด้วยการพยายามเอาชนะใจคนๆนั้น อาจเริ่มจากการขอความช่วยเหลืออย่างอ่อนโยนจากคนๆนั้นในเรื่องเล็กๆน้อยๆ และก็ระวังอย่าเอาตัวเองไปมีส่วนร่วมกับพวกคนเฮงซวยหรือเป็นคนที่มีส่วนสนับสนุนให้คนเฮงซวยอยู่รอดต่อไปได้ และถ้าคุณเผลอทำตัวเฮงซวยใส่ใครก็รีบขอโวทษแบบจริงใจออกมาซะ เรื่องสุดท้ายหนังสือเขียนไว้ว่าให้ลองใช้ ‘กลวิธีท่องเวลา’ คือมองย้อนกลับมาหาตัวเองจากอนาคตในอีก 10 ปีข้างหน้า แล้วลองนึกเล่นๆว่าตัวเองอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร ณ ปัจจุบัน มันอาจช่วยให้เรามีสติ เลือกทำแต่ส่งดีๆกับคนอื่น และเป็นการทำให้ตัวเองรู้สึกดีอีกด้วย วิธีนี้คือการช่วยป้องกันไม่ให้ตัวเองกลายไปเป็นคนเฮงซวยนั่นเอง .

.

. … ผู้เขียน Robert I. Sutton เคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับการรับมือกับคนเฮงซวยมาก่อนแล้ว 1 เล่ม คือ The No Asshole Rule ซึ่งก็เป็นหนังสือขายดีในอดีตเช่นเดียวกัน เรียกว่าผู้เขียนเป็นคนที่คร่ำหวอดในวงการการเตรียมการรับมือกับคนเฮงซวยมาตลอด หนังสือเล่ม ศิลปะการรับมือกับคนเฮงซวยก็เป็นการรวบรวมข้อมูลจากหลากหลายที่ คือประสบการณ์ตรงของผู้เขียน ผู้คนต่างๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของผู้เขียนแล้วเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคนเฮงซวยให้ผู้เขียนฟัง รวมไปถึงผู้อ่านทางบ้านที่ส่งเรื่องราวเกี่ยวกับคนเฮงซวยในที่ทำงานให้ผู้เขียนได้อ่านทางอีเมล .

. ……. สิ่งที่ได้รับหลังจากอ่านเล่มนี้จบอีกอย่างคือ เราทุกคนสามารถ ‘เป็นคนเฮงซวยได้เอง’ แต่มักจะไม่รู้ตัว เพราะเรามักจะมองตัวเองในแง่ดีเกินไปเสมอ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องหมั่นสำรวจตัวเอง และอาจคอยประเมินความเฮงซวยของตัวเองจากการถามคนรอบข้าง .

. …. โดยสรุปแล้ว เรื่อง howto รับมือกับคนเฮงซวยนั้น จริงๆก็ดูหมือนเป็นวิธีที่เรารู้ๆกันอยู่แล้ว หรือเราอาจจะใช้รับมือกับสถานการณ์ในชีวิตจริงของเราเองอยู่แล้วด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าหนังสือเล่มนี้ได้นำวิธีต่างมารวบรวมและสรุปข้อดีข้อเสีย และผลกระทบของแต่ละวิธีให้อ่านและทำความเข้าใจได้ง่าย รวมถึงเป็นการเตือนใจให้คนอ่านเลือกวิธีการรับมือกับคนเฮงซวยอย่างระมัดระวัง และป้องกันไม่ให้ตัวเองทำตัวเป็นคนเฮงซวยซะเองอีกด้วย .

. ….. ถ้าใครรู้สึกสนใจในการทำความเข้าใจวิธีการรับมือความเฮงซวยเหล่านี้อย่างละเอียด ผมก็แนะนำให้ลองหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านดูครับ . . . . . ผู้เขียน : Robert I. Sutton ผู้แปล: ไอริสา ชั้นศิริ ราคาหลังปก: 245 บาท สำนักพิมพ์ : Amarin Howto แนวหนังสือ : จิตวิทยา, พัฒนาตัวเอง . .

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

. . ‪#‎หลังอ่าน‬‬‬‬ ‪#‎รีวิวหนังสือ‬‬‬‬ ‪#‎reviewหนังสือ‬‬‬‬ #‎ศิลปะการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวย #TheAssholeSurvivalGuide‬‬‬ #หนังสือจิตวิทยา #หนังสือพัฒนาตัวเอง #หนังสือยอดฮิต2561 #หนังสือยอดฮิต2018 #AmarinHowto #RobertI.Sutton #ไอริสาชั้นศิริ


4,949 views0 comments

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page