top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว วิธีพาตัวเองออกจาก “กล่อง” ใบเล็ก







รีวิว วิธีพาตัวเองออกจาก “กล่อง” ใบเล็ก

(Leadership and self-deception getting out of the box)

.

‘คนที่อยู่ในกล่อง คือ คนที่เอาแต่มองทุกอย่างจากมุมตัวเอง’

.

.

ถ้าเราเอาแต่สนใจสิ่งที่ตัวเองต้องการ เราจะไม่มีวันเข้าใจคนอื่น และการทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ก็คงเกิดขึ้นได้ยาก

.

ทอม ผู้บริหารระดับสูง ที่เพิ่งได้รับการตอบรับเข้ามาทำงานที่บริษัทแซกกรัม หลังจากผ่านการสัมภาษณ์จากเหล่าผู้บริหารระดับสูงกว่า

หลังจากเขาเข้ามาทำงานได้ 1 เดือน ก็ได้เจอกับปัญหาหนักใจ นั่นก็คือ ‘การที่เขาไม่รู้ตัวมาเขามีปัญหาในการทำงานกับคนอื่น’

พูดอีกอย่างก็คือ ลูกน้องและคนอื่น ๆ รอบ ๆ ตัวเขาไม่ชอบทำงานกับเขาเลย เพราะเขาไม่เคยสนใจใครทั้งสิ้นนอกจากตัวเอง

.

วันหนึ่ง ทอมจึงถูกเรียกพบ โดย บัด และเคท รองผู้บริหารและผู้บริหารสูงสุดขององค์กรให้มา ‘ปรับทัศนคติใหม่’

การอบรมเกิดขึ้นอย่างยาวนานถึง 2 วัน จนกระทั่งทอมดูเหมือนจะเปลี่ยนเป็นคนละคน

และนี่ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนในที่ทำงานเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนพฤติกรรมของทอมกับครอบครัวของเขาด้วย

เนื้อความสำคัญของการอบรม ก็คือ ‘การเข้าใจว่าตัวเองอยู่ในกล่อง’ และ ‘การพาตัวเองออกมาจากกล่อง’

.

หนังสือวิธีพาตัวเองออกจาก “กล่อง” ใบเล็ก เป็นหนังสือ How to ที่เอาไว้ใช้จัดการปัญหาเรื่อง ‘คน’ โดยเฉพาะ

แต่เป็นการเล่าเรื่องผ่านตัวละครและฉากสมมุติในบริษัทแห่งหนึ่ง ที่ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จ เพราะบริหารปัญหาเรื่องคนได้ดี

.

เนื้อความในหนังสือหลัก ๆ จะว่าไปก็คือเรื่อง ‘การเอาใจเขามาใส่ใจเรา’ หรือ ‘การทำความเข้าใจคนอื่น’ จากการคิดในมุมคนอื่นบ้าง

ซึ่งหนังสือได้ขยายใจความเรื่องนี้อย่างเป็นเหตุเป็นผล พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของแนวคิดนี้ และ เล่าหลักการว่าองค์กรและเหล่าผู้บริหารจะแก้ปัญหานี้ได้ยังไงบ้าง

.

หลังอ่านจบก็พอจับใจความได้ถึง

- สาเหตุการเกิดปัญหาเรื่องคนและความสัมพันธ์

- ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากปัญหา

- แนวทางแก้ไข

ซึ่งหนังสือเล่าออกมาได้น่าสนใจและอ่านเพลินตลอดเล่ม

.

ส่วนตัว ผมเป็นคนชอบหนังสือแนวที่เป็นการเล่าเรื่องอยู่แล้ว ก็เลยรู้สึกอ่านหนังสือแบบนี้แล้วเพลิน อยากรู้เรื่องราวต่อไปจนจบ

ทั้งเล่มก็จะเป็นเรื่องราวที่ดำเนินไปผ่านตัวละครสมมุติที่เป็นผู้บริหารระดับสูง ผู้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่กลับล้มเหลวเรื่อง ‘คนและความสัมพันธ์’ ทั้งในที่ทำงานและครอบครัว จนถูกเจ้านาย (ผู้บริหารระดับสูงกว่า) จับเข้าห้องไป ‘ปรับทัศนคติ’

แล้วทั้งเล่มก็เป็นบทสนทนาระหว่าง คน 2-3 คนนี้ เพื่ออธิบาย ที่มาที่ไป ทางออกและวิธีแก้ไขปัญหา

.

ใครชอบอ่านหนังสือ howto ที่เล่าเป็นเรื่องราว มีบทสนทนาแบบเดียวกับ กล้าที่จะถูกเกลียด, คิดแบบยิวทำแบบญี่ปุ่น, และ who moved my cheese เล่มนี้ก็เป็นอีกเล่มที่พลาดไม่ได้ครับ

หนังสือไม่ยาวมาก อ่านไม่นานก็หมดแล้วครับ

เนื้อความไม่เยอะ แต่สำคัญ ๆ ทั้งนั้น

.

.

ส่วนสุดท้ายผมขอแชร์ สรุป 4 ขั้นตอนในการ ‘การออกจากล่อง’ ตามความเข้าใจของผมนะครับ

(แน่นอนว่าเนื้อหาอาจไม่ได้ครบถ้วน เพราะเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดมาก และแต่ละคนอาจหยิบขึ้นมาใช้ได้ไม่เหมือนกัน)

.

1) ยอมรับว่าตัวเองติดอยู่ใน ‘กล่อง’

การเกิดปัญหาเรื่อง ‘คน’ และ ‘ ความสัมพันธ์’ ที่แทบจะทุกองค์กร หรือหลาย ๆ ครอบครัวประสบ ล้วนมาจากสาเหตุเดียวกันคือ การที่ทุกคนเอาแต่ ‘ติดอยู่ในกล่อง’

.

‘กล่อง’ ในที่นี้ก็เป็นนิยามเฉพาะตัวของหนังสือให้คนอ่านมองเห็นภาพได้ง่าย แท้จริงแล้ว ‘คนที่เอากล่องมาครอบตัวเองไว้’ ก็คือ คนที่มองแต่มุมของตัวเอง หลอกตัวเอง เข้าข้างแต่ตัวเอง และสร้างกำแพงปิดกั้นผู้อื่น

ทำให้ ‘มองเห็นผู้อื่นเป็นเพียงสิ่งของ ไม่ได้เป็นคน’

การติด ‘อยู่ในกล่อง’ จึงเป็นการคิดแต่มุมตัวเอง คิดแต่เรื่องตัวเอง คิดเข้าข้างตัวเอง แต่ไม่ได้คิดในมุมคนอื่น หรือคิดถึงเหตุผลและความเป็นจริงของเรื่องราว

ซึ่งพอทุกคนมองผู้อื่นแบบนี้ ก็เลยแสดงพฤติกรรมที่ไม่ได้แคร์คนอื่นออกมา

.

ตัวอย่างเช่น บนเครื่องบินที่มีผู้โดยสารแน่น ที่นั่งข้าง ๆ เราว่าง และกำลังมีคนมองหาที่นั่งอยู่

ถ้าเรา ‘อยู่ในกล่อง’ เราอาจเอากระเป๋าเอกสารไปวางตรงที่นั่งข้าง ๆ นั่น แล้วอ้าแขนกว้าง ๆ กางหนังสือพิมพ์อ่าน เพื่อทำให้ที่นั่งดังกล่าวดูไม่น่านั่งมากที่สุด

นี่คือการที่เราคิดถึงแต่ตัวเอง สนใจแค่ความต้องการของตัวเอง

แต่ถ้าเรา ‘ออกจากกล่อง’ เราจะเข้าใจว่า ถ้าเราเป็นคนที่กำลังมองหาที่นั่งอยู่ เราก็คงรู้สึกกระวนกระวายใจ แล้วต้องการที่นั่งดี ๆ สักที่บนเครื่องบินแค่นั้นเอง

ถ้าคิดแบบนี้ เราก็คงยินดีที่จะให้คนที่กำลังชะเง้อมองหาที่นั่งมานั่งด้วยกัน และแสดงพฤติกรรมที่เชื้อเชิญอีกฝ่าย แทนที่จะเอากระเป๋าวาง แล้วยกแขนสูง ๆ แบบกีดกัน

.

เรื่องแบบนี้พูดง่ายแต่ทำยาก

เพราะทุกคนมีทิฐิ ต้องยอมลดทิฐิ และยอมรับความจริงก่อนว่าหลาย ๆ ครั้งเราอยู่ในกล่องจริงๆ

.

.

2) ทำความเข้าใจว่าทำไม เราถึง ‘ติดอยู่ในกล่อง’ และผลลัพธ์อันร้ายกาจของมัน

ปัญหาการ ‘ติดอยู่ในกล่อง’ เกิดจากสิ่งที่หนังสือเรียกว่า ‘การทรยศตัวเอง’

หรือการกระทำที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เรารู้สึกว่าควรทำเพื่อผู้อื่น

ตัวอย่างเช่น ลูกของบัดในตอนที่ยังเบบี๋อยู่ ร้องขึ้นมากลางดึกคืนหนึ่ง ขณะที่บัดและภรรยาแนนซี่กำลังนอนหลับอยู่

บัดรู้ดีว่าควรจะเดินไปโอ๋ลูก แต่เขาก็ ‘ทรยศตัวเอง’ ไม่ได้ทำ

แล้วโทษว่านี่เป็นหน้าที่ของแนนซี่

นอกจากนี้ยังคิดว่า ตัวเองมีเหตุผลที่ฟังขึ้นสำหรับการไม่ลุกไปดูลูก เช่น เขาเหนื่อยมาทั้งวันแล้ว เขาต้องตื่นไปทำงานสำคัญพรุ่งนี้เช้า เขาทำเยอะแล้ว มันควรเป็นคิวของภรรยาเขาบ้าง

.

หรืออีกตัวอย่างคือ ตอนที่ทอมรู้สึกว่าควรขอโทษลูกน้อง ที่ไปว่าเขาแรงเกินไป แต่สุดท้ายทอมก็ไม่ได้ทำ

.

เรื่องเหล่านี้สร้างผลกระทบโดยทำให้

เราเริ่มหาเหตุผลมารองรับการกระทำของเรา ที่ทำให้เรากลายเป็นฝ่ายถูก และทำให้คนอื่น/สิ่งอื่นเป็นฝ่ายผิด

เช่น เราหาเหตุผลว่าเราไม่ควรไปขอโทษเขาเพราะ เขาทำตัวแย่จริง ๆ สมควรแล้วที่โดนว่า คนทำตัวแบบนี้ทุกคนก็โดนว่าแบบนี้ บางที่นี่ว่ามากกว่านี้ด้วยซ้ำ และถ้าไปขอโทษเดี๋ยวมันก็เคยตัวกลับมาทำแบบนี้อีก คนแบบนี้ไม่มีวันทำตัวดี ๆ ได้หรอก

.

หรือในตัวอย่างของบัด ที่คิดว่าตัวเองทำเยอะแล้ว ไม่จำเป็นต้องตื่นมาดูลูกอีก เป็นหน้าที่ของภรรยาแนนซี่ต่างหาก ตัวเขาคือผู้ถูกกระทำชัด ๆ เพราะถ้าภรรยาไม่ตื่นมาดูลูก เขาก็จะไม่ได้นอน แล้วเขาก็จะไม่สดชื่นพอต้องตื่นไปทำงานวันรุ่งขึ้น

ภรรยาแนนซี่ทำตัวแย่มาก เป็นภรรยาที่ขี้เกียจ ไม่รับผิดชอบ ไม่เห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำให้

.

ซึ่งทั้งหมดนี้คือ ‘การมองโลกเข้าข้างตัวเอง’ ทำให้ตัวเรามองความจริงบิดเบือนไป

หรือจะเรียกว่า ‘การหลอกตัวเอง’ ก็ได้

.

.

สุดท้ายแล้ว เมื่อเราคิดเข้าข้างตัวเอง เราก็จะแสดงพฤติกรรมแย่ ๆ ออกไปใส่ คนที่เรามองว่าเป็นฝ่ายผิด

และ พอเราทำตัวแย่ใส่คนดังกล่าว ก็เป็นไปได้สูงที่เขาจะทำตัวแย่ใส่เรากลับ

มันจึงเหมือนการที่ต่างฝ่ายต่างผลักอีกคนเข้าไปอยู่ในกล่อง

และเมื่อต่างฝ่ายต่างมี ‘กล่อง’ ของตัวเอง ทั้งคู่จึงสร้างกำแพงปิดกั้นการรับฟังจากอีกฝ่ายหนึ่ง และเกิดปัญหาเรื่องความเข้าใจตามมา

.

.

3) ทำความเข้าใจวิธี ‘การออกจากกล่อง’

หลังจากที่เรายอมรับว่าตัวเองมีปัญหา และเข้าใจเรื่องราวของปัญหาแล้ว เราก็คงไม่อยากทำตัวเป็นคนมีปัญหากับคนอื่นไปตลอด

เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ตัวแล้ว เราก็มักจะ ‘ออกจากกล่อง’ ได้เองโดยอัตโนมัติ

.

แต่การจะทำได้นั่นหลักการคือ เราต้องรู้ตัวก่อนว่าเรากำลังอยู่ในกล่อง

เพราฉะนั้น ‘เราจึงควรมองหากล่องของตัวเอง’

และจงโฟกัสไปที่กล่องของตัวเอง ไม่ใช่กล่องของคนอื่น

.

การเลิกมองหากล่องของคนอื่นก็ทำได้ง่าย ๆ คือ

‘การเลิกกล่าวโทษคนอื่น’ ว่าพวกเขาทำตัวแย่ ๆ หรือติดอยู่ในกล่อง

.

ให้กล่าวโทษตัวเอง และเป็นคนออกจากกล่องก่อน

เมื่อทำได้แล้วจึงลองชวนคนอื่นค่อย ๆ ออกจากล่องมาด้วยกัน

.

อีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราออกจากกล่องได้ คือการมองเป้าหมายสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น

เช่น ในองค์กร เป้าหมายคือการทำงานให้ได้ประสิทธิภาพ

ในธุรกิจ เป้าหมายคือการทำกำไร

ในครอบครัว เป้าหมายคือความสุขที่ใช้เวลาร่วมกัน และความสัมพันธ์อันดีของทุก ๆ ฝ่าย

ถ้าเราโฟกัสไปที่เป้าหมายใหญ่เป็นสำคัญ

เราจะพยายามหาความร่วมมือจากคนอื่น ๆ เพื่อช่วยกันทำภารกิจของเราให้บรรลุเป้าหมายนั้น

ซึ่งการจะขอความร่วมมือได้ ก็ต้องเริ่มจากการออกจาก ‘กล่องใบเล็ก’ ที่ตัวเองสร้างขึ้นมาก่อนครับ

.

.

4) พยายาม ‘ออกจากกล่อง’ อย่างต่อเนื่อง

จริง ๆ คนเราทุกคนมีความตระหนักรู้ถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ ของผู้อื่นอยู่แล้ว

‘การมองในมุมผู้อื่น’หรือ ‘การเอาใจเขามาใส่ใจเรา’ จึงไม่ใช่เรื่องยากอะไร แค่ต้องฝึกทำให้เป็นนิสัยนั่นเอง

.

เมื่อเราเข้าใจแนวคิดเรื่องกล่องแล้ว ก็เหลือแค่นำแนวคิดเรื่องวิธีแก้ไขมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับตัวเอง

ว่าจะมีวิธีเตือนตัวเองอย่างไร ว่าตอนนี้ตัวเองกำลังอยู่ใน ‘กล่อง’

รวมถึงการฝึก ‘มองในมุมผู้อื่น’ จนเป็นนิสัย

.

ที่สำคัญคือ เราต้องไม่หยุดพยายามเมื่อรู้ตัวว่ายังติดอยู่ในกล่อง พยายามต่อไปเรื่อย ๆ จนออกจากกล่อง ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

.

.

สรุปแล้วเรื่องที่หนังสือเขียนเป็นเรื่องง่ายๆที่คนเรามักมองข้ามไป เพราะฉะนั้นคนที่กำลังมีปัญหาหรือชอบมีปัญหาเรื่องคนควรจะซื้อไปอ่านครับ หนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์มากๆ

.

.

...........................................................................................................

ผู้เขียน: The Arbinger Institute

ผู้แปล: ตวงทอง สรประเสริฐ

จำนวนหน้า: 232 หน้า

สำนักพิมพ์: Welearn

...........................................................................................................

.

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่:

.

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #วิธีพาตัวเองออกจากกล่องใบเล็ก #leadershipandselfdeception #Welearn




494 views0 comments

Opmerkingen


Post: Blog2_Post
bottom of page