รีวิวหนังสือ ทำน้อยให้ได้มาก The Power of Less .
. เป็นหนังสืออีกเล่มที่แอดมินชอบ concept ของหนังสือมาก หลังอ่านเสร็จ เพราะแนวคิดหลักจากหนังสือนั่นเรียบง่าย และนำมาประยุกต์ใช้ได้ในทันที นั่นก็คือ ‘การเลือกทำแต่สิ่งที่สำคัญๆ ที่จะส่งผลต่อชีวิตในระยะยาวเพียง 3 สิ่ง เพราะว่า คนเรามี resources ในด้าน เวลา, พลังงาน และสมาธิอย่างจำกัด’ หรือก็คือการอธิบายชื่อหนังสือที่บอกว่า ให้เราเลือกทำแค่ ‘ไม่กี่สิ่ง’ที่สำคัญจริงๆ เพื่อผลลัพธ์ต่อชีวิตที่ ‘มากกว่า’ หรือ ‘ดีกว่า’ การทำทุกอย่างที่อยากทำ .
. อ่านหนังสือเล่มนี้จบ ผมมานั่งเขียนเป้าหมายหลักในชีวิตทันที โดยใช้หลักการในหนังสือในการเลือกเป้าหมายที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของผมในระยะยาว มา 3 ข้อ แล้วพยายามโยงทุก actions ในชีวิตประจำวันของผมให้เข้ากับเป้าหมายเหล่านี้ ผมพบว่ามันได้ผลในระดับนึงเลยนะ มันทำให้ผมพบความก้าวหน้าในด้านเหล่านั้น และ ทำให้ความก้าวหน้าในชีวิตของผมโดยรวมดีกว่า การทำทุกอย่างที่อยากทำ (โดย nature ผมเป็นคนที่อยากทำสิ่งต่างๆเยอะมาก) .
. …. [เนื้อหาหลักในหนังสือ]….. หนังสือแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ ส่วนหลักการ และ ส่วนการนำไปใช้จริง หรือก็คือภาคทฤษฎี กับภาคประยุกต์นั่นแหละ
. ในส่วนของหลักการนั้น จัดเป็นหัวใจสำคัญในการ ‘ทำน้อยให้ได้มาก’ มีอยู่ 6 ข้อคือ 1) ‘สร้างข้อจำกัด’ – การใช้ชีวิตอย่างไม่มีข้อจำกัด อาจดูมีอิสระในช่วงแรก แต่เอาเข้าจริงแล้ว ชีวิตเราไม่ได้มีพื้นที่พอให้กับทุกสิ่ง เวลา, พลังงาน และความทุ่มเทเรามีอย่างจำกัด ถ้าเรานำมันไปใช้กับทุกอย่าง มันอาจนำมาซึ่งความเครียด และประสิทธิผลที่ต่ำ เราควรจะ ‘จดจ่อ’ หรือ ‘focus’ กับเรื่องเพียงไม่กี่เรื่อง ภายใต้ข้อจำกัดที่ตัวเองสร้างขึ้นมา .
. 2) ‘เลือกแต่สิ่งสำคัญ และทำให้เรียบง่ายขึ้น’ – ข้อนี้เกี่ยวข้องกับเป้าหมายในชีวิตของเรา สิ่งใดที่เราทำแล้วมันจะ ‘ส่งผลไปสู่เป้าหมายในระยะยาว’ เลือกมาแค่ 3 โครงการ (หรืออาจเพิ่มลดจำนวน ให้ fit กับตัวเรา) งานที่เหลือที่ไม่เกี่ยวข้องก็ให้กำจัดออกไปให้ได้มากสุด (โดยการมอบหมายให้เพื่อนร่วมงานช่วยทำ หรือ การเลื่อนการทำงานอื่นๆออกไปก่อน) เป็นวิธีการทำให้เรียบง่ายขึ้น ตัวอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น การเลือกสิ่งสำคัญทีจะทำในแต่ละวัน 3 สิ่ง และเริ่มลงมือทำจากสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อน .
. 3) ‘จดจ่อ’ – จดจ่ออยู่กับปัจจุบัน จดจ่ออยู่กับงานที่ทำอยู่ตรงหน้า การจดจ่ออาจเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะ มันจะนำมาสู่ ‘ภาวะลื่นไหล หรือ flow’ ที่เป็นภาวะที่เราจดจ่อกับงานที่ทำตรงหน้าจนลืมเวลา ภาวะลื่นไหลเป็นภาวะที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากที่สุด ในขณะเดียวกันการสับเปลี่ยนงานที่ทำไปมามักจะกร่อนประสิทธิภาพที่เกิดขึ้น เรื่องการจดจ่อนี้ สามารถนำไปใช้ได้กับการใช้ชีวิตประจำวันในทุกๆเรื่อง เช่น เวลากินอาหาร ก็จดจ่ออยู่กับการกินและอาหารที่กิน อย่าอ่านหนังสือ ดูทีวีหรือคิดถึงสิ่งอื่นๆ เวลาขับรถก็ให้จดจ่อกับการขับรถ การยึดหลักการทำแค่ทีละอย่างใน ณ เวลาหนึ่ง เป็นหลักสำคัญที่จะทำให้เราสามารถจดจ่ออยู่กับปัจจุบันได้ . 4) ‘สร้างนิสัยใหม่ด้วยการพิชิตคำท้า ภายใน 30 วัน’ – การสร้างนิสัยเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน ‘การพิชิตคำท้า’ เป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่จะนำไปสู่การสร้างนิสัยใหม่ วิธีในการนำเครื่องมือนี้มาใช้คือ
. 4.1) เลือกนิสัยที่สร้างผลกระทบต่อชิวิตมากที่สุดมา 1 ข้อ
. 4.2) เขียนแผนการในการสร้างนิสัยขึ้นมา ระบุเป้าหมายในแต่ละวันอย่างชัดเจน อะไรคือสิ่งกระตุ้นในการทำ
. 4.3) ประกาศเป้าหายให้คนอื่นรับรู้
. 4.4) รายงานความคืบหน้ารายวันให้กับคนเหล่านั้น (เลือกสิ่งทีวัดผลได้ง่าย)
. 4.5) ฉลองให้กับนิสัยใหม่ วิธีเหล่านี้จะทำให้เราเกิดความมุ่งมั่น ความรับผิดชอบ กำลังใจ และแรงบันดาลใจ ในการสร้างนิสัยให้สำเร็จ สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ‘การจดจ่อกับการสร้างนิสัยทีละอย่าง’ เพราะการจดจ่อกับนิสัยหลายมักจะนำไปสู่ความล้มเหลว 100% (ตามประสบการณ์ของผู้เขียน) เรื่องสุดท้ายคือ การเน้นความเสมอต้นเสมอปลาย เช่น ออกกำลังกายในเวลาเดิมในทุกวัน และคอยรายงานผลให้คนอื่นทราบในทุกวัน .
. 5) ‘เริ่มต้นทีละน้อย’ – การค่อยๆเริ่มทำไปทีละน้อยๆจะเพิ่มโอกาสในการทำสิ่งเหล่านั้นให้สำเร็จมากขึ้น การทำทีละน้อยยังช่วย ‘สร้าง motivation และ ความกระตือรือร้น’ ในการทำสิ่งนั้นต่อไป ถ้าถ้าไปเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงที่ยากๆ จนตัวเราเองไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง เราจะ ‘มีแนวโน้มสูงมาก’ ที่จะเลิกทำมัน พึงระลึกไว้ว่า ความสำเร็จเล็กๆในแต่ละครั้งจะรวมกันเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในที่สุด ตัวอย่างเรื่องการลดน้ำหนักนี่ชัดเจนมาก คือ ถ้าลดแบบฮวบเดียวไปเลย จะทำให้มีโอกาสสูงมาก ที่น้ำหนักจะกลับมาเท่าเดิมอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าค่อยๆลด มันจะเป็นการสร้างนิสัยในการกินและการออกกำลังกาย ทำให้ น้ำหนักจะลดลงไปแบบถาวร การนำเรื่องนี้มาใช้กับชีวิตประจำวันเช่น การตื่นนอนให้เร็วขึ้น 15 นาที แทนที่จะเป็นครึ่งชม., การจดจ่ออยู่กับงานตรงหน้าเพิ่มขึ้น 10 นาที, เช็คอีเมลเพียงวันละสองครั้ง, ออกกำลังกายทุกวันวันละ 5-10 นาที .
. ส่วนการนำไปใช้ จริงๆแล้วเนื้อหาเหมือนกับภาคทฤษฎีเป๊ะ แต่เป็นการเพิ่ม how to ในการนำหลักการในภาคทฤษฎีมาใช้เป็นข้อๆ
. ‘เป้าหมายและโครงการที่เรียบง่าย’ – ลองใช้ ‘ระบบเป้าหมายหนึ่งเดียว หรือ One Goal System’ คือ การจดจ่อกับเป้าหมายไปทีละอย่าง โดยการเลือกเป้าหมายที่เราอยากทำให้สำเร็จมากที่สุด ณ ขนาดนั้น มา 1 เป้าหมาย โดยหลักในการเลือกเป้าหมาย คือ เลือกเป้าหมายที่มีระยะเวลาในการจดจ่อ 6 เดือนถึง 1 ปี ถ้ามากไปก้อาจมีแนวโน้มที่จะทำไม่สำเร็จมากขึ้น ในขณะที่ระยะเวลาที่น้อยไปก็อาจไม่ใช่เป้าหมายที่ควรค่ากับความพยายาม ต่อมาให้แบ่งเป้าหมายใหญ่ออกมาเป็นเป้าหมายย่อยๆ ที่สามารถทำสำเร็จได้ภายใน 1-2 เดือน แล้วกำหนดเป้าหมายประจำสัปดาห์ ประจำวันที่จะไปสู้เป้าหมายย่อยๆใน 1-2 เดือน สุดท้ายคือลงมือทำสิ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมายในแต่ละวัน
. การเลือกโครงการ ก็เลือกจากการเขียนโครงการทั้งหมดที่มีลงกระดาษ แล้วเลือกมา 3 อันดับแรก โดยโครงการอื่นที่มีให้ pause ไว้ก่อน ให้จดจ่อกับแค่โครงการ 3 อันดับแรก ถ้าทำเสร็จหมดแล้วค่อยเลือกโครงการอีก 3 อันดับถัดไปมา คำแนะนำคือ โครงการใดโครงการหนึ่งควรจะเชื่อมโยงกับเป้าหมายหนึ่งเดียว ส่วนที่เหลือจะเป็นอะไรก็ได้ จะเป็นงานหรือเรื่องส่วนตัวก็ได้ . .
. …. ถือว่าเป็นอีกเล่มที่ผมแนะนำให้ลองอ่านแนวคิดหลัก และนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันดู การ focus ว่าเราจะทุ่มพลังงานและเวลาของเราไปให้กับเรื่องเพียงไม่กี่เรื่อง มันอาจจะทำให้เกิดประสิทธิผลมากกว่าการ กระจายพลังงานและเวลาไปให้กับทุกสิ่งอย่างที่อยากจะทำ หนังสือเล่มนี้ไม่ว่าใครก็อ่านได้ และควรลองอ่านดูครับ . .
. ผู้เขียน : Leo Babauta สำนักพิมพ์ : WeLearn แนวหนังสือ : การพัฒนาตัวเอง, จิตวิทยา . . . #หลังอ่าน #รีวิวหนังสือ #reviewหนังสือ #หนังสือจิตวิทยา #หนังสือพัฒนาตัวเอง #ทำน้อยให้ได้มาก #thepowerofless #LeoBabauta #WeLearn #สำนักพิมพ์welearn #หนังสือ2020
Comments