top of page

รีวิว คิดแบบยิว ทำแบบญี่ปุ่น 2

  • Writer: หลังอ่าน: รีวิวหนังสือ
    หลังอ่าน: รีวิวหนังสือ
  • Nov 12, 2021
  • 2 min read


รีวิว คิดแบบยิว ทำแบบญี่ปุ่น 2

Book 2: บริหารเงินสไตล์นายธนาคารยิว

.

‘เราควรจะใช้ชีวิตโดยเป็นอิสระจากการเป็นทาสของเงิน’

.

คิดแบบยิว ทำแบบญี่ปุ่น 2 เป็นหนังสือที่อธิบายเกี่ยวกับแนวคิดเกี่ยวกับเงินของเศรษฐี

เรียกว่าเป็นหนังสือที่สอนว่าถ้าเราอยากจะเป็นเศรษฐี เราควรจะเข้าใจอะไรเกี่ยวกับเงินบ้าง และเราควรจะมีมุมมองต่อเงินอย่างไร

กล่าวให้เข้าใจง่ายคือ ‘เป็นหนังสือช่วยปรับมุมมองเกี่ยวกับเงิน’ นั่นเอง

.

เพราะฉะนั้นเล่มนี้เน้นไปที่เรื่อง ‘เงิน’ เพียงอย่างเดียว

จะต่างจากคิดแบบยิว ทำแบบญี่ปุ่น เล่มแรกที่เป็นการอธิบายหลักการใช้ชีวิตโดยรวม มี

.

โดยรวม เล่มนี้ไม่เชิงเป็นหนังสือ howto เท่าไหร่ เพราะมันมีบ้างที่อธิบายเป็นข้อๆว่าเราควรจะมองเงินอย่างไร แต่โดยรวมเน้นไปที่การทำความเข้าใจกับ ‘ธรรมชาติของเงิน’ และ ‘ธรรมชาติของเศรษฐี’ ผู้มีเงินอย่างมั่งคั่งมากกว่า

.

สำหรับวิธีการเล่าเรื่อง จะเป็นการสอนวิธีการใช้เงิน ผ่านบมทสนทนาของตัวละครเอก 2 ตัวเช่นเคย

โดยเป็นเหตุการณ์ต่อจากเล่มที่แล้ว ที่ชายหนุ่มตัวเอกได้สำเร็จวิชาจากอาจารย์ชาวยิวช่วงที่ไปฝึกงานอยู่อเมริกา

หลังจากนั้นเขาได้เดินทางกลับไปใช้ชีวิตนักศึกษาต่อที่ญี่ปุ่นไปอีกสักพัก

ตอนแรกๆที่กลับมา เด็กหนุ่มคนนี้ก็มีไฟลุกโชน เขาตั้งใจใช้ชีวิตให้สุดเพื่อมุ่งหน้าสู่อนาคตที่ตัวเองคาดหวังเอาไว้ และจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตให้ได้อย่างเศรษฐีชาวยิว

แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ เขาก็เฉื่อยลง

และสุดท้ายกลายเป็นเด็กหนุ่มอีกคนหนึ่งในรั้วมหาวิทยาลัยที่ใช้ชีวิตอย่างเรื่อยเปื่อย สนุกกับเพื่อนไปวัน ๆ ตื่นสาย เข้าคลาสเรียนไปนั่งเฉย ๆ ให้หมดวัน แล้วตอนเย็นก็ไปกินเหล้ากับเพื่อนต่อ

ชีวิตของชายหนุ่มกลายมาเป็นแบบนี้ไปสักระยะ จนกระทั่งเขาได้รับจดหมายจากอาจารย์ชาวยิวของเขา

.

เรียกได้ว่ามันเป็นจุดเปลี่ยน และเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้

คือตอนที่เศรษฐีชาวยิวเขียนจดหมายเพื่อแนะนำให้ชายหนุ่มบินไปประเทศสวิสเซอร์แลนด์

เพื่อจะได้พบกับอาจารย์คนใหม่ที่สามารถสอนเขาในเรื่องการเงินได้

อาจารย์คนนี้เป็นเพื่อนของเศรษฐีชาวยิวนั่นเอง แต่เป็นคนสวิส

ด้วยวัฒนธรรมที่ต่างกัน ทำให้อาจารย์สวิสมีแนวคิดบางอย่างที่แตกต่างจากเศรษฐีชาวยิว

.

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมีฉากหลังและบรรยากาศการดำเนินเรื่องในเมือง Geneva

สิ่งที่แตกต่างจากเล่มที่อีกอย่างก็คือ นิสัยของอาจารย์ คนนี้ไม่ได้ขี้แกล้งเหมือนเศรษฐีชาวยิว

และมีสาวสวยตาคมสไตล์ยุโรป เข้ามามีบทบาทสำคัญในเล่ม

คือเป็นคนที่ชายหนุ่มตกหลุมรักนั่นเอง

เรียกว่าช่วยสร้างสีสันให้หนังสืออ่านแล้วไม่น่าเบื่อ

.

ต้องบอกว่า พออ่านเนื้อเรื่องไปสักครึ่งเล่ม ก็จะเกิดความสงสัยว่า เนื้อหามันไม่มีอะไรเกี่ยวกับยิวเลยนี่หว่า

แต่เข้าใจว่า สำนักพิมพ์คงเลือกตั้งชื่อหนังสือให้เหมือนกับภาคแรกไว้ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่าหนังสือเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกัน

ใครที่อ่านภาษาญี่ปุ่นออก ก็รบกวนช่วยแปลให้ฟังทีนะครับ ว่าชื่อหนังสือภาษาญี่ปุ่นแปลเหมือนหรือแตกต่างอย่างไรกับหนังสือเล่มที่แล้ว

.

หลังอ่านจบเรียกว่าเป็นหนังสือที่ผมประทับใจมากเล่มนึง

เพราะว่าด้วยความที่มันมีเรื่องราว อ่านแล้วไม่น่าเบื่อ

ตลอดเล่มมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดกับชายหนุ่มมาคั่นระหว่างบทเรียนแต่ละบท

ทำให้มีเวลาในการย่อยเนื้อหาได้

ทั้งยังทำให้เกิดความอยากรู้เพิ่มมากขึ้นด้วยว่า เหตุการณ์ชีวิตของชายหนุ่มจะเป็นยังไงในตอนต่อไป ถ้าใครมีเวลาก็แนะนำให้หยิบมาอ่านตอนว่าง ๆ ได้เลยครับ

.

.

ส่วนสรุปเนื้อหา ผมขอแบ่งออกมาเป็น 11 เรื่องสำคัญที่อาจารย์ชาวสวิส ได้สอนชายหนุ่มนะครับ

.

1) ‘เราควรที่จะใช้ชีวิตโดยเป็นอิสระจากการเป็นทาสของเงิน’

เราไม่ควรถูกเงินบังคับว่าต้องทำอย่างนู้นอย่างนี้ เราควรเลือกใช้ชีวิตจากความสุข ไม่ใช่จากเงิน

.

อธิบายง่าย ๆ โดยเปรียบเทียบกับเหตุการณ์การประกาศเลิกทาสของประธานนาธิบดีลินคอร์น ในสหรัฐอเมริกา

หลังจากประกาศเลิกทาสแล้วก็ยังมีคนที่ใช้ชีวิตแบบเดิม คือยังทำตัวเป็นทาสรับใช้อยู่

คนพวกนี้ลืมคิดไปว่า เขามีอิสรภาพในการเลือกงานและเลือกใช้ชีวิตได้

.

ไม่ต่างอะไรกับหลายคนที่ยังคงตกเป็นทาสของเงินอยู่

หลายคนเลือกซื้อของจากราคาเพียงอย่างเดียว

.

เราควรตระหนักและคิดใหม่ว่า เรามีอิสรภาพในชีวิต และไม่ใช่ทาสของเงิน !

.

.

2) ‘มนุษย์เรามีทัศนคติต่อเงินที่แตกต่างกัน’

โดยโลกที่อาศัยอยู่ก็มีผลทำให้เราคิดกับเงินต่างกัน

เช่น เมื่อเปรียบเทียบเงินกับน้ำ คนที่อยู่ในโลกที่หนาวเย็นจะมองน้ำเป็นน้ำแข็งและหยิบมันมากอดไว้อย่างแน่นจนบางครั้งถูกน้ำแข็งกัด

ส่วนคนที่อยู่บนโลกที่อุ่นขึ้นมาหน่อยก็จะพยายามตักน้ำเข้ามาหาตัวเองไว้ให้ได้มากที่สุด เหมือนกับการสร้างบ่อน้ำไว้ข้าง ๆ แม่น้ำที่ไหลผ่านมาอยู่เรื่อย ๆ

.

ส่วนคนที่อยู่ในที่อบอุ่นนั้น จะทำเหมือนเศรษฐีคือ มองเงินเป็นเหมือนไอน้ำหรืออากาศ

ไม่มีใครที่มานั่งสูดอากาศไปให้ได้มากที่สุด

เขาเพียงแค่เพลิดเพลินไปกับสิ่งที่ทำอยู่เท่านั้น

.

เรื่องทัศนคติต่อเงินนั้น ยังทำให้เห็นได้ว่า คนเรามองเงินได้หลายแบบมาก

โดยมีทั้งในด้านบวกและลบ

ในด้านลบก็เช่น

เงิน= อำนาจ

เงิน= อิสรภาพ

เงิน= ความอุ่นใจ ความมั่นคง

เงิน = คุณค่าของตัวเอง

เงิน= สิ่งสกปรก สิ่งชั่วร้าย

เงิน= มิตรภาพ

.

ส่วนในด้านบวกก็เช่น

เงิน= การสนับสนุน


เงิน=ความรัก

เงิน= ความรู้สึกขอบคุณ

.

จะเห็นได้ชัดว่าการมองเงินในด้านบวกจะส่งผลดีต่อเราอย่างมหาศาล

.

นอกจากนี้มนุษย์ยังมีเหตุผลอันหลากหลายในความต้องการที่จะครอบครองเงิน

ได้แก่ เพื่อให้ดำเนินชีวิตไปได้ เพื่อให้รู้สึกอุ่นใจ เพื่ออำนาจ เพื่อมิตรภาพ ความรัก สังคม เพื่ออิสรภาพ เพื่อแก้แค้นสังคม และเพื่อแสดงความรัก มิตรภาพและคำขอบคุณ

.

เมื่อเรามองเงินในด้านบวกแล้ว เราก็ควรที่จะอยากได้เงินมาเพื่อเอาไว้แสดงความรัก มิตรภาพและคำขอบคุณต่อคนรอบ ๆ ตัวเรา

.

.

3) จงเยียวยาแผลใจตอนเด็ก

สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการปรับทัศนคติที่คนเรามีต่อเงินคือ การเยียวยาแผลใจที่มีไว้ตอนเด็ก

เราอาจต้องการเงินเยอะ ๆ ต้องการเป็นเศรษฐีเพียงเพื่อต้องการลบปมที่เห็นพ่อแม่ทะเลาะกันเพราะเรื่องเงินในตอนเด็ก

พ่อแม่อาจไม่ได้มีเงินให้เรามากอย่างที่เราต้องการ

หรือท่านทั้งสองต้องทำงานหนักเพื่อที่จะได้เงินมา

บางครั้งเราจึงเกิดปมขึ้นในใจว่า โตขึ้นจะต้องหาเงินให้ได้มากๆเพื่อช่วยพ่อแม่ หรือเพื่อไม่ให้ลูก ๆของตัวเองต้องเผชิญเหตุการณ์แบบเดียวกับที่เราเผชิญมา

.

เราต้องเข้าใจว่า เราเปลี่ยนแปลงได้

จงกอดเด็กคนนั้นไว้ให้แน่น แล้วบอกว่า ไม่เป็นไรนะ ไม่ต้องกลัว

.

วิธีนี้คือการบำบัดทางจิตวิทยาที่ใช้บำบัดคนที่มีปมในอดีต

.

.

4) รู้จักคน 9 ประเภทที่ปฏิบัติต่อเงินต่างกัน

ประเภทที่ 1: ‘คนมือเติบ’

มีเงินไว้ใช้เพื่อความบันเทิง พวกผีช็อปปิ้ง ชอบซื้อเข้าบ้านเยอะ ๆ

แต่ซื้อเสร็จก็ไม่เคยใช้เลย

พวกนี้เก็บเงินแทบไม่อยู่

.

ประเภทที่ 2: ‘คนขี้เหนียว’

พวกนี้จะพิจารณาถึงเงินเป็นเรื่องแรก ๆ เมื่อต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง

ถ้าต้องใช้เงินก็จะเลือกไม่ทำกิจกรรมนั้น ๆ

วันหยุดมักนอนอยู่บ้านเฉย ๆ

ถ้าเด็กคนไหนเจอพ่อแม่แบบนี้ ก็มักจะมีชีวิตวัยเด็กที่โหดร้ายเหลือทน

.

ประเภทที่ 3: ‘คนฟุ่มเฟือยที่ขี้เหนียว’

คนกลุ่มนี้ปกติจะมีพฤติกรรมเหมือนคนขี้เหนียว แต่อยู่ก็ควักเงินก้อนโตมาใช้ดื้อ ๆ

ทำให้ไม่ค่อยมีเงินเก็บเท่าไหร่

.

ประเภทที่ 4: ‘คนชอบออมเงิน’

เป็นกลุ่มคนที่ถูกพ่อแม่สอนมาตั้งแต่เด็กให้รู้จักเก็บออมเงินใหได้เยอะ ๆ

แต่ไม่เคยเอาเงินไปลงทุนทำอะไรสักอย่าง

.

ประเภทที่ 5: ‘คนขี้กังวล’

คนพวกนี้จะกังวลอยู่ตลอดเวลาว่าในอนาคตจะมีเงินใช้มั้ย

มื้อนี้เพื่อนจะเลี้ยงรึเปล่า

ถึงจะเป็นเศรษฐีแล้ว แต่เขาก็ยังกลัวอยู่ว่าวันหนึ่งเงินจะหมดไป

.

ประเภทที่ 6: ‘คนไม่สนเงิน’

คนพวกนี้สนใจแต่งานที่ตัวเองชอบหรือทำแต่สิ่งที่เองรัก

เขาไม่ได้สนว่ามันทำเงินให้กับเขาเท่าไหร่

จริงๆแล้วคนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มที่มีความสุขและความสงบในใจมาก

.

ประเภทที่ 7: ‘คนสมถะ’

คนพวกนี้มักเชื่อว่าเงินเป็นสิ่งสกปรก ไม่ว่าจะเพราะจากศาสนาหรืออะไรก็ตาม

เขาพยายามทำตัวเองออกห่างจากเงิน เพราะคิดว่าเงินเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจต่ำลง

ซ้ำร้ายพวกเขายังไม่ชอบใช้เงินด้วย เพราะคิดว่ามันคือการแสดงออกถึง ความโลภ

.

ประเภทที่ 8: ‘คนเสพติดการหาเงิน’

คนกลุ่มนี้ชอบหาเงินเป็นอย่างมาก ไม่ได้สนใจว่าจะได้เงินก้อนใหญ่เสมอไป

แต่จะเพลินมากเมื่อทำงานที่ได้เงิน

และมักจะเป็นคนที่ไม่สนใจเรื่องการใช้เงินด้วย

.

ประเภทที่ 9: ‘คนที่เป็นเศรษฐีที่มีความสุข’

เป็นกลุ่มคนที่มีเงินใช้มากมาย ขนาดที่ว่าใช้ยังไงก็ไม่หมด

และพร้อมกันนั้นเขายังช่วยให้คนรอบข้างมีเงินและมีความสุขไปด้วย

ชีวิตของคนกลุ่มนี้จึงเต็มไปด้วยความสุข และหมดความกังวลเรื่องเงิน

นอกจากนี้เขายังได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบอีกด้วย

.

.

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในครอบครัวเดียวกัน มักจะมีคนที่มีวิธีปฏิบัติต่อเงินที่แตกต่างกันอยู่

เช่น ถ้าพ่อแม่เป็นคนประหยัด ทำงานหนักเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว

และได้ถ่ายทอดนิสัยประหยัดมัธยัสถ์ให้พี่คนโตแล้ว

ส่วนมากน้องคนเล็กจะหลายเป็นคนใช้เงินเก่ง เป็นพวกมือเติบ

.

เรื่องนี้อธิบายได้ด้วย เรื่องของ ‘สมดุลในครอบครัว’ คือจะมีคนหนึ่งจะเป็นคนที่ทำตาพ่อแม่ให้พ่อแม่สบายใจ ในขณะที่อีกคนจะต่อต้านและทำตรงข้ามกับพ่อแม่

.

.

5) จงหาเงินอย่างสง่างาม

หลักสุนทรียศาสตร์ของการเป็นเศรษฐี ก็เป็นอีกเรื่องที่คนทุกคนควรตระหนักไว้

โดย ‘เราควรหาเงินอย่างสง่างาม ด้วยการทำให้คนจำนวนมากมีความสุขและมั่งคั่ง’

ไม่ใช่คิดแต่วิธีที่จะหาเงินได้จำนวนมาก ๆ อย่างเดียว

.

นี่เป็นวิธีการหาเงินที่ทำให้เรามีสิทธิที่จะภาคภูมิใจ

คนจำนวนมากก็ยกย่องนับถือ และพร้อมมอบเงินเหล่านั้นให้เราด้วยความเต็มใจอีกด้วย

.

.

6) เข้าใจทักษะการหาเงิน

แบ่งเป็นขั้นตอนย่อย 8 ข้อ ตั้งแต่

- ทำความเข้าใจลักษณะเฉพาะของเงิน

- รู้จักวิธีการหาเงิน

- เพิ่มช่องทางการหารายได้

- เพิ่มรายได้

- สร้างระบบ

- ทำให้ผู้คนมีความมั่งคั่ง

- อ่านกระแสของยุคสมัยให้ออก

- และศึกษาเรื่องการจัดเก็บภาษีและกฎหมาย

.

7) รู้จักมีไหวพริบเรื่องเงิน

นอกจากจะเก่งด้านการหาเงินแล้ว เราควรจะเรียนรู้เรื่องการปฏิบัติที่ถูกต้องกับเงินอีกด้วย

เริ่มจาก

- เรียนรู้ที่จะรับเงิน

- เพลิดเพลินไปกับเงิน

- รู้สึกขอบคุณเงิน

- ใช้เงินเพื่อทำให้คนอื่นรู้สึกยินดี

- ปล่อยตัวเองไปตามกระแสเวลาที่เหมาะสม

- ไว้วางใจความมั่งคั่งของตัวเองและคนรอบข้าง

- แบ่งบันเงิน

- และใช้เงินบำบัดจิตใจผู้อื่น

.

.

8) บัญชีธนาคาร 5 ประเภทของเศรษฐี

1. บัญชีเศรษฐี – เป็นบัญชีที่ห้ามถอนเงินออกมาเด็ดขาดตลอดชีวิต มีแต่ให้นำเงินฝากเข้าไปเรื่อยๆ เป็นบัญชีที่ทำหน้าที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดความมั่งคั่ง

.

2. บัญชีประจำวัน – เป็นบัญชีเพื่อการดำรงชีวิตในแต่ละวัน

.

3. บัญชีเพื่อการลงทุนเพื่อตัวเอง – เอาไว้เข้าร่วมงานสัมมนา และซื้อหนังสือ

.

4. บัญชีของขวัญ – เป็นบัญชีที่มีไว้เพื่อมอบของขวัญให้คนอื่น การให้ของขวัญคนอื่นจะทำให้คนอื่นรู้สักประทำใจ จึงจัดเป็นการเพิ่มความมั่งคั่งไปในตัวด้วย

.

5. บัญชีการลงทุน - เอาไว้ใช้ลงทุนโดยเฉพาะ

.

หนังสือยังแนะนำให้รู้จักกับ Private bank ซึ่งเป็นธนาคารที่พบได้ในประเทศแถบยุโรป

โดยเป็นธนาคาร ‘สำหรับเศรษฐี’ จากทั่วทุกมุมโลก

ธนาคารจะทำหน้าที่ปกป้องและช่วยบริหารทรัพย์สิน รวมไปถึงเสนอบริการต่างๆที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเศรษฐี

โดยรวมแล้วเป็นธนาคารที่คนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้จักกันเพราะธนาคารนี้จะรับแต่ลูกค้าที่มีความน่าเชื่อถือในสังคมและมีทรัพย์สินหลายร้อยล้านบาทขึ้นไป

.

.

9) กฎ 6 ข้อในการทำธุรกิจ

1. ทำให้คนอื่นดีใจ

2. ทำให้คนจำนวนมากมีส่วนร่วม

3. เป็นธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดได้

4. เป็นธุรกิจที่ทำให้ทุกคนที่มีส่วนร่วมมีความสุข

5. ทำให้ลูกค้าอยากกลับมาอุดหนุนซ้ำ

6. และสร้างความประทับใจ ตลอดจนความรู้สึกขอบคุณและการเยียวยาทางจิตใจ

.

.

10) ชีวิตคู่กับเงิน

หนังสือแนะนำว่า การมีชีวิตคู้ที่มีความสุขจะช่วยดึงดูดเงินจำนวนมากเข้ามาได้ เพราะว่า

1. ถ้าเราสามารถทำให้คู่ของเราไว้วางใจเราได้ เราก็จะสามารถทำให้ลูกค้าคนอื่นๆไว้วางใจเราได้เช่นกัน

.

2. ชีวิตคู่ทำให้เราตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่าเราจะหาเงินมาเพื่ออะไร เพื่อทำให้คู่ของเราดีใจนั่นเอง

.

3. ไม่มีรายจ่ายที่สิ้นเปลือง ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าถ้าเรามีความพึงพอใจกับชีวิตคู่ เราก็ไม่จำเป็นต้องเอาเงินไปซื้อของไม่จำเป็นเพื่อเติมเต็มความว่างเปล่าของเรา

.

4. ดึงดูดโอกาสเข้าหาตัวมากขึ้น เพราะว่าความรู้สึกมั่นคงที่เรามี

.

.

11) ปลดปล่อยเงินให้เป็นอิสระ

บทเรียนสุดท้ายของอาจารย์ชาวสวิสในเล่มนี้คือเรื่อง ‘การปลดปล่อยเงินให้เป็นอิสระ’

อันหมายถึงการปลดปล่อยความรู้สึกต่าง ๆ ทั้ง โกรธ เกลียดชัง อิจฉาและยินดี จากเงิน

หรืออธิบายได้ว่าเมื่อคิดถึงเงิน ก็อย่าไปมีความรู้สึกเหล่านี้ เพราะความรู้สึกเหล่านี้มักทำให้คนเรามีอคติกับเงิน และกลายเป็นทาสเงินได้ในที่สุด

.

จริง ๆ แล้วมีเนื้อหาปลีกย่อยอีกเยอะมาก ยังไงลองไปหาซื้อหนังสือเล่มเต็มมาอ่านกันดูนะครับ

.

.

………………………………………………………………………….

ผู้เขียน : ฮอนดะ เคน

ผู้แปล : โยซุเกะ

จำนวนหน้า: 272 หน้า

สำนักพิมพ์ : Welearn

แนวหนังสือ : พัฒนาตัวเอง, การเงินการลงทุน

…………………………………………………………………………..

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

‪#‎หลังอ่าน‪#‎หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #คิดแบบยิวทำแบบญี่ปุ่น2




 
 
 

Comments


Post: Blog2_Post

Subscribe Form

Thanks for submitting!

+66865274864

©2018 by Langarnbooksreview.com. Proudly created with Wix.com

bottom of page