top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิวหนังสือ: กฎ 20 ชั่วโมงแรก

Updated: Jun 17, 2020




รีวิวหนังสือ กฎ 20 ชั่วโมงแรก

The First 20 Hours

.

คนเราทุกคนมีทักษะต่างๆที่อยากฝึกกันมากมาย แต่ทำไมหาเวลาฝึกมันไม่ได้ซะที ไหนจะอยากเรียนทำอาหาร อยากเรียนดำน้ำ อยากไปปีนเขา อยากเรียนภาษาจีน อยากเรียนภาษาสเปน อยากไปวิ่งมาราธอน อยากวาดรูป อยากเล่นกีต้าร์ อยากเล่นเปียโน อยากเขียนโปรแกรม อยากเล่นโยคะ อยากเรียนร้องเพลง อยากไปเล่นสกี และอีกสารพัดอยาก

.

หนังสือเล่มนี้บอกว่า จริงๆแล้วสิ่งที่เราพลาดไปคือ เราชอบคิดกันไปเองว่า การฝึกทักษะเหล่านี้มันใช้เวลามากถึง 10,000 ชั่วโมง!!!! (เหมือนที่เขียนไว้ในหนังสือเล่มอื่น) ซึ่งถ้าเทียบเป็นเวลาการฝึกต่อวันแล้วก็จะตก 8 ชั่วโมงต่อวัน และต้องฝึกต่อเนื่องถึง 5 ปี ถ้านับตามเวลาในการทำงาน 260 วันต่อปี นับเป็นตัวเลขที่หนักหนาสาหัสเอาการ

.

เพียงแต่ว่าตัวเลขข้างบนนี้มันเป็นการฝึกเพื่อเป็น ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ เป็นการฝึกเพื่อลงแข่งขัน เช่นไทเกอร์ วู้ด ซึ่งต้องฝึกตีกอล์ฟอย่างเดิมซ้ำๆทุกวัน วันละกว่า 10 ชั่วโมง เพื่อไปแข่งกอล์ฟระดับมืออาชีพ แต่จริงๆแล้วเชื่อว่าการฝึกทักษะของเรานั้นแตกต่างออกไป เราเองเพียงต้องการ การฝึกทักษะในระดับที่ ‘ทำเป็น และสนุก’ ซึ่งผู้เขียนบอกว่าใช้เพียงแค่ 20 ชั่วโมงก็พอแล้ว

.

.

.

.

.

สรุปสิ่งที่ผมได้หลังอ่านหนังสือเล่มนี้ 5 ข้อนะครับ

.

.

1) ผู้เขียนเข้าใจเป็นอย่างดีว่า เราทุกคนก็มีภารกิจชีวิตมากมาย และยุ่งมากในแต่ละวัน การแบ่งเวลาได้วันละ 1 ถึง 1 ชั่วโมงครึ่งก็คงจะเกินพอแล้วสำหรับการฝึกทักษะใหม่ ซึ่งถ้าเราใช้เวลาทั้งหมด 20 ชั่วโมงนี้ ก็จะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน เพียงแต่ว่าเราต้องรู้จักวิธีและขั้นตอนในการฝึกอย่างเป็นระบบ

.

2) การฝึกทักษะใหม่ ต่างจากการเรียนรู้ในห้องเรียน ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคงหนีไม่พ้นการเรียนภาษาใหม่ ในห้องเรียนเราจะเน้นเรียนไปที่หลักไวยากรณ์ (grammar) โครงสร้างประโยค และการอ่าน นั่นนับว่าเป็นการเรียนรู้ แต่ถ้าการฝึกทักษะใหม่ คือเราต้องไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการใช้ภาษาจริงๆครับ อยากฝึกภาษาสเปนก็ไปอยู่ที่สเปนไปเลย ละก็อย่าไปพูดภาษาอังกฤษละครับ ไปอยู่แบบนี้สักเดือนนึงอาจจะได้ผลมากกว่าการเรียนในห้องเรียนกว่า 10 ปีด้วยซ้ำไป

.

เรื่องนี้ผมเห็นด้วยนะครับ ตอนเด็กๆที่เรียนภาษาอังกฤษกันยาวๆหลายปีในห้องเรียน ส่วนใหญ่ก็วนไปมากับ grammar และการอ่านบทความซ้ำไปซ้ำมา แต่พอไปอยู่ต่างประเทศจริง คนละเรื่องเลยครับ grammar โครงสร้างประโยคต่างๆเป็นส่วนเล็กน้อยมาก พอต้องไปฟังและพูดกับคนต่างชาติจริงๆนี่เหมือนไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันเลย และเรียกได้ว่าพัฒนาการทางภาษาผมเร็วกกว่ากันเยอะมากพอได้ไปอยู่ต่างประเทศ ยกตัวอย่างง่ายๆคุยกับคนขับ Uber แค่ไม่กี่ประโยคก็รู้ละครับ ว่าที่เรียนมาในห้องเรียนไม่ได้ช่วยอะไรเลย ผมไปครั้งแรกยังไม่รู้จะพูดอะไรกับคนขับเลยครับ นึกประโยคไม่ออกจริงๆ เรียงประโยคก็ไม่ถูก คลังศัพท์ที่ท่องไว้กว่าหมื่นคำ ดึงมาใช้ไม่ได้สักคำ เพราะฉะนั้นการฝึกทักษะใหม่ ถ้าได้ไปอยู่ในสภาพจริงจะฝึกได้เร็วขึ้นมากครับ

.

3) การฝึกทักษะใหม่แตกต่างจากการฝึกทักษะเดิมแบบซ้ำๆ เรื่องนี้ตัวอย่างเช่นการวิ่งมาราธอนครับ อันนั้นเป็นทักษะเดิมล้วนๆ เพียงแต่เราต้องเรียนรู้ หลักการหายใจในการวิ่งยาวๆ การเพิ่มลดจังหวะ pace ของตัวเอง แต่จริงๆแล้วเราวิ่งกันเป็นทุกคนอยู่แล้ว ไม่ได้ต้องฝึกอะไร เพียงแต่ต้องฝึกการวิ่งซ้ำๆให้เราหายใจได้ดีขึ้น ให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้ประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อให้เรารักษาการวิ่งในระยะยาวได้ครับ

.

4) หลักการ 10 ข้อในการฝึกทักษะใหม่อย่างรวดเร็วได้แก่

.

.

1. เลือกทำสิ่งที่สนใจ – เรื่องนี้น่าจะคุ้นๆกันอยู่แล้วครับ ทำตาม passion ทำตามสิ่งที่ตัวเองชอบ

.

2. ทุ่มเทฝึกไปทีละทักษะ – อย่าทำอะไรหลายอย่างพร้อมๆกันเพราะเรามีเวลา พลังงานและความจดจ่อที่จำกัดครับ ทักษะอื่นๆที่อยากฝึกก็เก็บไว้ก่อนได้ ค่อยมาฝึกทีหลังครับ

.

3. กำหนดระดับของทักษะที่ต้องการ – ตั้งเป้าให้ชัด และวางแผนไว้ว่าถ้าฝึกทักษะนี้ได้แล้วเราจะทำอะไรกับมันได้บ้าง

.

4. ย่อยทักษะ – ตัวอย่างเช่น การตีเทนนิส ก็อาจย่อยลงมาได้เป็น การจับไม้ การเหวี่ยงวงสวิง การเคลื่อนไหวของขา การทรงตัว การส่งถ่ายแรงจากลำตัว การดูจังหวะการกระทบบอล เป็นต้นครับ

.

5. หาเครื่องมือที่จำเป็น – อะไรที่จำเป็นต่อการฝึกทักษะก็ต้องลงทุนนะครับ

.

6. กำจัดอุปสรรคในการฝึก - ทุกวันนี้มีอุปสรรคเยอะมากครับ ทั้งมือถือ social media คนรอบข้าง รวมถึงความกลัวของตัวเอง การสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมและการมีสมาธิกับการฝึกนับเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง

.

7. กำหนดเวลาฝึกทักษะ – หนังสือแนะนำให้ฝึกต่อเนื่องวันละ 1 ถึง 1 ชั่วโมงครั้งครับ

.

8. สร้างผลตอบรับที่รวดเร็ว – เพื่อเป็น feedback กับตัวเองว่าเราฝึกไปถึงไหนแล้ว และทำให้เรารู้ว่าต้องปรับปรุงตรงไหนเพิ่มบ้างครับ

.

9. จับเวลาเป็นช่วงๆ - กำหนดเวลาให้ชัดเจนว่าตอนนี้เป็นช่วงเวลาของการฝึกทักษะใหม่

.

10. เน้นปริมาณและความเร็ว – ปริมาณและความเร็วสำคัญกว่าคุณภาพนะครับในช่วงการฝึกแรกๆ เพราะถ้ามัวแต่คิดถึงคุณภาพ เราจะมัวแต่สนใจความสมบูรณ์แบบ แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของการฝึกทักษะใหม่ครับ

.

5) หลักการอื่นๆที่ช่วยส่งเสริมการฝึกทักษะใหม่ๆ เช่น การหาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับทักษะนั้นๆ การลองลงมือทำในสิ่งที่ไม่เข้าใจ การหาผู้เชี่ยวชาญคอยชี้แนะการฝึก การพยายามมองหาภาพความคิดและนำมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเป็นภาพใหญ่ การทบทวนความจำเป็นระยะ และการหมั่นตรวจสอบตามขั้นตอนมาตรฐาน

.

จริงๆแล้วเนื้อหาหลักๆของหนังสือมีอยู่เพียงแค่ 3 บทแรกเท่านั้น เนื้อหาหลังๆเป็นตัวอย่างเล่าประสบการณ์ของผู้เขียนมากกว่า การฝึกโยคะ การเล่นอูกูเลเล และการเล่น windsurf

.

โดยรวมแล้ว สาระสำคัญแบบเน้นๆของหนังสือถือว่าน่าลองไปใช้มากนะครับ ส่วนตัวผมเองก็มีทักษะหลายอย่างที่ตั้งเป้าไว้ว่าอยากจะลองฝึกสักครั้งในชีวิต ถ้าได้ลองอะไรแล้ว เดี๋ยวไว้จะมาอับเดทนะครับ

.

ส่วนใครอ่านแล้วจะนำไปฝึกทักษะอะไรก็อย่าลืมนำมาแชร์กันนะครับ

.

.

.

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

………………………………………………………………………….

ผู้เขียน: Josh Kaufman

ผู้แปล: วิญญู กิ่งหิรัญวัฒนา

สำนักพิมพ์: WeLearn

แนวหนังสือ : พัฒนาตัวเอง

…………………………………………………………………………..

.

.

.

‪#‎หลังอ่าน ‪#‎รีวิวหนังสือ ‪#หนังสือ2020 #หนังสือ2563 #‎reviewหนังสือ #กฎ20ชั่วโมงแรก #TheFirst20Hours

#JoshKaufman #วิญญูกิ่งหิรัญวัฒนา #สำนักพิมพ์WeLearn #WeLearn #หนังสือพัฒนาตัวเอง






69 views0 comments

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page