top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิวหนังสือ Unicorn Tears: สตาร์ทอัพแบบไหนที่ไม่ได้ไปต่อ

Updated: Apr 26, 2020



รีวิวหนังสือ Unicorn Tears

สตาร์ทอัพแบบไหนที่ไม่ได้ไปต่อ

.

.

ขอขอบคุณ สำนักพิมพ์ Amarin Howto สำหรับหนังสือดีๆอีกเล่มนะครับ

.

ชายหนุ่มสองคนนั่งจ้องหน้าจอโน้ตบุ้ค 2 เครื่องอยู่ในโรงรถ คนนึงกำลังง่วนอยู่กับการเขียนโค้ด กับอีกคนกำลังออกแบบกราฟฟิคดีๆไซน์ให้แอปพลิเคชันที่ตัวเองกำลังจะไปเอาไปขอเงินทุน

.

ใช่แล้วครับ ชายหนุ่มสองคนที่มีแนวคิดที่อยากเปลี่ยนโลก เพิ่งลาออกจากงานประจำในบริษัทมาได้ไม่กี่เดือนและเปิดบริษัทสตาร์ตอัพของตัวเอง กำลังจะละเลงไอเดียลงบนแอปพลิเคชันที่พวกเขาหวังว่าจะให้ติด top chart ในอีกไม่นาน

.

นี่คือภาพความเชื่อของบริษัทสตาร์ตอัพในจินตนาการของใครหลายๆคน (รวมถึงตัวผมเองด้วย) แต่ความเป็นจริงแล้ว ความเชื่อหลายๆอย่างของการทำสตาร์ตอัพก็ไม่ได้ถูกเสมอไป ยังมีอะไรหลายอย่างที่คนที่อยู่ในวงการสตาร์ตอัพจริงๆเท่านั้นถึงจะรู้ ถึงจะเข้าใจ

.

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ Jamie Pride เป็นหนึ่งในนั้น เขาเป็นชาวออสซี่ผู้เคยก่อตั้งบริษัทสตาร์ตอัพมาแล้วหลายบริษัท บางบริษัทก็ประสบความสำเร็จ (เช่น แพลตฟอร์มซื้อขายและปล่อยเช่าบ้านในออสเตรเลีย realestate.com.au) จนปัจจุบันเขากลายมาเป็นนักลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพ และเป็นผู้สร้างและช่วยเกื้อหนุนระบบนิเวศน์ของสตาร์ตอัพให้เติบโตต่อไปเรื่อยๆ

.

Jamie Pride ได้มากลั่นกรองประสบการณ์ทั้งจากการทำสตาร์ตอัพของตัวเอง และจากการเป็นนักลงทุนที่มีบริษัทสตาร์ตอัพมากมายเข้ามา pitch เพื่อขอเงินลงทุน (seed funding) ออกมาเป็นเคล็ดลับต่างๆในหนังสือ โดยเฉพาะกับเรื่องที่ว่า ‘ทำไมสตาร์ตอัพมากมายกว่า 92% จึงล้มเหลว (ส่วนมากตั้งแต่ 2-3 ปีแรก มีเพียงแค่ 8% เท่านั้นที่สามารถไปต่อได้ และประสบความสำเร็จ)

.

คำว่า Unicorn ตามความหมายของวงการสตาร์ตอัพแล้ว หมายถึง บริษัทสตาร์ตอัพที่อยู่รอด และมีมูลค่าการตลาดมากกว่า 1,000 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ซึ่งในปัจจุบัน ไทยเราก็ยังไม่มีนะครับ555)

.

คำว่า Unicorn Tears ตามชื่อหนังสือก็คงจะหมายถึง การล้มลุกคลุกคลานของสตาร์ตอัพที่กว่าจะได้เติบโตไปเป็น Unicorn นั้น ต้องแลกมาด้วยหลายสิ่งหลายอย่าง แต่ส่วนตัวผมรู้สึกว่าเนื้อหาในหนังสือจะออกมาเป็นเชิงข้อแนะนำและข้อเตือนใจสำหรับสตาร์ตอัพที่ไม่ได้ไปต่อมากกว่า เพราะฉะนั้นพวกสตาร์ตอัพที่ตายไปก็คงจะไม่ได้เติบโตเป็น Unicorn หรอกครับ

.

ก่อนจะเข้าเนื้อหา ผมอยากจะแนะนำทริคสั้นๆระหว่างอ่านนิดนึงครับ เนื่องจากผมเองไม่เคยทำสตาร์ตอัพ และไม่มีแพลนที่จะทำเร็วๆนี้ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำสตาร์ตอัพจึงมีอยู่อย่างจำกัด สิ่งท่ำทำให้ผมเข้าใจสตาร์ตอัพได้มากสุดน่าจะเป็นตอนที่ดูหนังเรื่อง App War (หนังไทยเมื่อไม่กี่ปีมานี้) หนังที่มีเนื้อเรื่องหลักคือการแข่งกันทำแอปพลิเคชันของสองบริษัทสตาร์ตอัพที่พระเอกและนางเอกตั้งขึ้นมา คือระหว่างอ่านไป ผมก็นึกถึงหนังเรื่องนี้ไปด้วย มันช่วยให้ผมเห็นภาพและเข้าใจเรื่องราวที่หนังสือต้องการจะสื่อดีขึ้นมากเหมือนกันครับ

.

.

สรุปเนื้อหาในหนังสือคร่าวๆ

1) สิ่งที่ทำให้สตาร์ตอัพล้มเหลวหลักๆมีอยู่ 10 ประการ โดยแบ่งออกเป็น 3 สาเหตุหลัก นั่นคือ ความล้มเหลวที่เกิดจากผู้ก่อตั้ง เกิดจากโมเดลธุรกิจ และเกิดจากจากการเข้าถึงเงินทุน

.

2) สำหรับสาเหตุจากผู้ก่อตั้งนั้น อาจจะเกิดจาก

- ผู้ก่อตั้งขาดสมรรถภาพ (capacity) -- หรือความพร้อมทั้งทางกาย จิตใจและอารมณ์ในการนำพาสตาร์ตอัพสู่จุดหมาย .

- ผู้ก่อตั้งขาดความสามารถ (capability) -- หรือทักษะสำคัญต่างๆที่จำเป็นในดำเนินธุรกิจสตาร์ตอัพ

- ความไม่ลงรอยกันของผู้ก่อตั้ง -- อันนี้เห็นชัดเจนจากในหนัง App War ว่าถ้าก่อตั้งกันมาก 2 คน แล้ววันหนึ่งแนวทางในการดำเนินธุรกิจไม่เหมือนกัน สุดท้ายก็อาจต้องแยกทางกัน ต้องเป็นอันปิดบริษัทสตาร์ตอัพไป เพราะการก่อตั้งสตาร์ตอัพก็เหมือนการแต่งงานที่ต้องเลือกคู่ครองที่สามารถเข้ากันได้ดี ทั้งแนวคิด ไลฟ์สไตล์ ทักษะต่างๆ และการทำงานไปด้วยกันได้

- หนังสือแนะนำว่าสำหรับส่วนผสมที่ลงตัวสำหรับกลุ่มผู้ก่อตั้ง ควรจะเป็น การรวมตัวกันของ ‘นักดีดลูกคิด’หรือ ผู้วางกลยุทธ์ทางการขายและการตลาด ‘นักจินตนาการ’ หรือผู้ดูแลออกแบบผลิตภัณฑ์ และ ‘นักสรรค์สร้างด้านไอที’ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนโค้ด จริงๆก็คือเหมือนผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ตอัพทีมพระเอกในหนัง App War เป๊ะๆครับ555

.

3) สาเหตุความล้มเหลวจากโมเดลธุรกิจ

- แก้ปัญหาไม่ถูกจุด (ความถูกใจของผู้ใช้) -- นี่เป็นเรื่องที่หนังสือเน้นยำมากที่สุดเรื่องหนึ่ง คือความเชื่อผิดๆที่ว่าสิ่งสำคัญที่สุดของสตาร์ตอัพคือ ‘แนวคิด’ หนังสือกล่าวว่าแนวคิดดีๆมีเยอะแยะไป แต่ผู้ที่จะนำแนวคิดนั้นมาแปลงให้เป็นโมเดลธุรกิจที่ทำกำไรได้จริงนั้นมีน้อยมาก เพราะฉะนั้นแนวคิดสตาร์ตอัพจึงไม่ใช่ทุกอย่าง ความเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร และแนวคิดในสิ่งที่เรานำเสนอเข้าไปนั้นจะช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้นั้นสำคัญกว่ามาก

- โมเดลธุรกิจไร้ประสิทธิภาพ (ความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ) -- โมเดลธุรกิจที่ดีจะต้องทำกำไรให้ได้และยังต้องสามารถขยายตัวได้ด้วย เพราะความสามารถในการทำกำไร และการขยายตัวก็เป็นนิยามของสตาร์ตอัพซะด้วยซ้ำ นอกจากมีวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกจุดแล้ว โมเดลธุรกิจที่นำเสนอก็ต้องมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ลูกค้าผู้ใช้งาน และนักลงทุน ตัวช่วยสำคัญสำหรับการส้รางโมเดลธุรกิจก็คงหนีไม่พ้น Business Canvas

- การนำไปปฎิบัติแบบผิดๆ (ความเป็นไปได้ในทางเทคนิค) -- เรื่องนี้เป็นเรื่องความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากร โดยเฉพาสะทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่ามากที่สุดในการทำสตาร์ตอัพ

- การคุกคามจากการแข่งขัน หรือจากปัจจัยภายนอก (ความสามารถในการปรับตัว) -- เป็นปัจจัยที่ดูจะควบคุมได้ยากที่สุด แต่ในสถานการณ์วิกฤตเช่นปัจจุบันนี้ เรื่องนี้ทุกองค์กร ทุกบริษัท รวมถึงสตาร์ตอัพก็ควรที่จะเตรียมแผนรับมือ และคอยติดตามสถานการณ์การภายนอกอย่างใกล้ชิดด้วย

.

4) สาเหตุความล้มเหลวที่เกิดจากเงินทุน

- ขาดกระแสเงินสด -- เรียกได้ว่าเงินสดคือพระเจ้าเลยในธุรกิจสตาร์ตอัพ เพราะถ้าขาดเงินสดไป ก็เหมือนขาดออกซิเจน ไม่มีเงินมาจ้างพนักงาน ไม่มีเงินมาจ่ายค่าน้ำค่าไฟของออฟฟิศ เมื่อสตาร์ตอัพได้เงินทุนมาจากนักลงทุนแล้ว การบริหารสภาพคล่องของเงินสดจึงมีความจำเป็นอย่างมาก การใช้จ่ายที่สุรุ่ยสุร่ายเช่นการฉลองอย่างใหญ่โตที่ชนะเงินสดมาก หรือการซื้อของประดับตกแต่งออฟฟิศราคาแพงเป็นสาเหตุนำไปสู่ความล้มเหลว

- เงินลงทุนมากเกินไป – ข้อนี้ดูจะขัดหูขัดตาเราไปนิด แต่ความจริงก็คือสตาร์ตอัพที่ได้รับเงินมากมากเกินไปจะชะล่าใจและผู้ก่อตั้งอาจไม่ทุ่มเทให้กับการทำงานพอสมควรได้

- ความไม่ลงรอยกันของผู้ก่อตั้งกับนักลงทุน – คล้ายกับความไม่ลงรอยกันระหว่างผู้ก่อตั้ง เพราะความจริงแล้วนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนนสตาร์ตอัพก็อาจจะเข้ามามีบทบาทนั่งเป็นคณะกรรมการบอร์ดบริหาร (board of director) ซึ่งมักจะมีอำนาจในการชี้ทิศทางของสตาร์ตอัพว่าจะไปทางไหน การศึกษาให้ดีว่านักลงทุนที่ให้เงินสตาร์ตอัพนั้นเป็นคนยังไง มีสไตล์การลงทุนยังไง มีความคาดหวังจากการลงทุนยังไงเป็นเรื่องที่จำเป็นที่สตาร์ตอัพต้องทำก่อนที่จะไป pitch ของเงิน

.

5) การเปรียบเทียบแนวคิดการทำสตาร์ตอัพ กับการสร้างหนัง Hollywood

ด้วยความที่อัตราการประสบความสำเร็จของหนัง Hollywood (อ้างอิงตามหนังสือ) นั้นแตกต่างจากการทำสตาร์ตอัพอย่างลิบลับ ประมาณ ร้อยละ 50-60 ต่อร้อยละ 8 ผู้เขียนจึงพยายามกลั่นกรองว่าในการสร้างหนังหนึ่งเรื่องนั้นเขาใช้กระบวนการอะไรกันบ้าง เพื่อจะปรับเอามาใช้กับสตาร์ตอัพได้บ้าง จะได้ลดโอกาสที่จะล้มเหลว

- การปลุกปั้น ในทาง Hollywood คือการเขียนบท หาแรงบันดาลใจว่าจะสร้างหนังเรื่องราวยังไงออกมา ซึ่งก็เหมือนกับสตาร์ตอัพที่ต้องไปตามหาว่า pain point ของลูกค้าคืออะไร เราจะเข้าไปแก้ปัญหาอะไรให้เขาได้บ้าง คุณค่า (value proposition) ของบริษัทเราคืออะไร

- การเตรียมการถ่ายทำ ในการสร้างหนัง Hollywood ก็คือการหานักแสดง หาผู้กำกับ หาสถานที่ถ่ายทำ หาคนมาตัดต่อแสงสีเสียง ส่วนในสตาร์ตอัพก็คือการหาโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์ทั้งกับลูกค้าและตอบโจททย์ทางด้านการเงิน การตามหานักลงทุน ว่าจะเอาแหล่งเงินทุนจากไหน รวมถึงการสร้างแบบจำลองออกมาเพื่อทดสอบดูความต้องการของลูกค้าว่า ถ้าเราสร้างผลิตภัณฑ์ หรือแอปพลิเคชันลักษณะนี้ออกมา ลูกค้าจะใช้มั้ย จะยอมจ่ายเงินเพื่อแลกมากับสินค้าเรารึเปล่า หรือมีอะไรที่เราควรเอากลับไปปรับปรุงบ้าง

- การถ่ายทำ ใน Hollywood ถือว่าเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากและราคาแพงที่สุด ในทางสตาร์ตอัพก็ไม่ต่างกัน ควรจะทำออกมาให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อการควบคุมต้นทุนไม่ให้สูงจนเกินไป

- หลังการถ่ายทำ เป็นการเก็บเกี่ยวรายละเอียดที่เหลืออยู๋ ปิดงานให้เรียบร้อย ทางสตาร์ตอัพก็คือการคิดต่อไปว่าจะขยายโมเดลธุรกิจนี้ยังไงได้บ้าง

.

.

.

โดยรวมแล้วผมว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นคนในวงการสตาร์ตอัพเท่านั้นนะครับที่อ่านได้ ใครๆก็อ่านเป็นความรู้ประดับไว้ได้ครับ โดยเฉพาะยิ่งคนนอกที่มีความเชื่อผิดๆกับสตาร์ตอัพ ติดภาพเพียงแค่สตาร์ตอัพที่ประสบความสำเร็จระดับโลกไม่กี่เจ้าอย่าง Apple sหรือ Uber หรือไปติดภาพผู้ก่อตั้งที่เป็นยอดมนุษย์อย่าง Steve Jobs หรือ Elon Musk ผมว่าหนังสือเล่มนี้จะเปิดมมุมมองใหม่ๆที่น่าสนใจให้เราดี้เดียวครับ เพราะโลกความเป็นจริง บริษัทและผู้ก่อตั้งเหล่านั้นคือกรณีที่พิเศษมากๆ ไม่ใช่ว่าใครที่ไหนก็เป็นได้

.

ที่จะลืมไม่ได้เลยอีกอย่างคือ สีและดีไซน์หน้าปกที่ทำออกมาได้ดี น่าดึงดูดให้เข้าไปอ่านมากๆครับ ผมชอบโทนสีพาสเทลแบบยูนิคอร์นแท้ๆ และการละลายของสีในด้านบนปกหน้าที่เหมือนกับน้ำตาของยูนิคอร์นจริงๆ สำนักพิมพ์ Amarin How-to ทำออกมาได้สวยดีจริงครับ

.

ใครชอบเรื่องสตาร์ตอัพ เรื่องเทคโนโลยี เรื่องธุรกิจ ห้ามพลาดเด็ดขาดเลยนะครับ

.

.

.

………………………………………………………………………….

ผู้เขียน: Jamie Pride

ผู้แปล: ประเวศ หงส์จรรยา

สำนักพิมพ์: Amarin Howto

แนวหนังสือ : บริหารธุรกิจ

…………………………………………………………………………..

.

.

.

‪#‎หลังอ่าน ‪#‎รีวิวหนังสือ ‪#หนังสือ2020 #หนังสือ2563 #‎reviewหนังสือ #UnicornTears #สตาร์ทอัพแบบไหนที่ไม่ได้ไปต่อ #JamiePride #ประเวศหงส์จรรยา #AmarinHowto #สำนักพิมพ์AmarinHowto #หนังสือบริหารธุรกิจ



47 views0 comments

Comments

Couldn’t Load Comments
It looks like there was a technical problem. Try reconnecting or refreshing the page.
Post: Blog2_Post
bottom of page