รีวิวหนังสือ The Power of Bad ชนะพลังลบ
How the negativity effect rules us and how we can rule it
ข้อเท็จจริงของพลังลบและวิธีเอาตัวรอดจากการตกเป็นเหยื่อของมัน
.
ขอขอบคุณหนังสือใหม่ ส่งตรงจากสำนักพิมพ์ Cactus ของ B2S ด้วยนะครับ
.
สรุปหนังสือ
.
‘พลังลบ ชัดเจน ทรงประสิทธิภาพ และมีอิทธิพลต่อชีวิตของเรามากกว่าพลังบวก’
.
Key message หลักของหนังสือเล่มนี้คงหนีไม่พ้นการตระหนักถึงความทรงอิทธิพลของพลังด้านลบทั้งหลายในตัวเรา ซึ่งถูกแสดงออกมาผ่านสิ่งต่างๆ ทั้งพฤติกรรม การสื่อสาร การมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ จนถึงแบบแผนเครือข่ายสังคม และกระบวนการรับรู้ นอกจากนี้หนังสือยังชวนคุยถึงคำถามสำคัญที่ว่า เราจะรับมือกับพลังลบเหล่านั้นอย่างไรได้บ้าง รวมไปถึงการที่เราจะนำพลังด้านลบเหล่านี้ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ยังไงได้บ้าง
.
หนังสือ The Power of Bad เล่มนี้ เป็นหนังสือที่เขียนโดยนักจิตวิทยาที่ตีพิมพ์งานวิจัยระดับตำนานหลายงาน รวมถึงงานวิจัยที่ชื่อว่า “Bad is stronger than good” ที่ถูกอ้างถึง (cite) มากกว่า 8,000 ครั้ง
.
ตัวหนังสือเรียบเรื่องราวความทรงพลังรูปแบบต่างๆของเหล่าพลังลบ และอิทธิพลที่พลังด้านลบเหล่านี้แผ่เข้าไปยังสังคมที่เราอยู่ พร้อมด้วยงานวิจัยทางจิตวิทยาที่เข้ามาซับพอร์ตมากมาย โดยเนื้อหาเป็นเป็น 10 บท เป็นตีมหลักๆของพลังลบแต่ละรูปแบบ และลงท้ายด้วยวิธีในการรับมือกับพลังด้านลบเหล่านี้
.
คำถามแรกที่น่าสนใจคือ ‘พลังลบ’ ที่ว่านี้หมายถึงอะไรบ้าง คำนิยามที่ใช้ในเล่มนี้กว้างมาก ตั้งแต่ การคิดลบ การด่า การตำหนิ การดูถูกเหยียดหยาม การวิพากษ์วิจารณ์ ความโกรธ ความเศร้า ความหดหู่ ความขยะแขยง ความกลัว ความตื่นตระหนก อคติเชิงลบ การมองโลกในแง่ร้าย และอื่นๆอีกมากมาย
.
หนังสือบอกว่า จริงๆแล้วพวกคำที่มีความหมายในทางลบ มีมากกว่าคำที่มีความหมายในด้านบวกมาก ตัวอย่างเช่นเวลาให้เรานึกถึงคำในด้านลบ เรามักจะนึกได้มากกว่า เร็วกว่า คำในด้านบวก จนกระทั่งว่าคำในด้านลบบางคำไม่มีคำตรงกันข้ามในด้านบวกด้วยซ้ำไป ตัวอย่างเช่น คำว่า ฆาตรกร (murderer) หรือ ขยะแขยง (disgusting) รวมไปถึงคำในด้านลบอีกมากมายที่มีคำตรงกันข้าม แต่คนไม่ค่อยนึกถึง เช่นคำว่า อุบัติเหตุ (accident) และ ความเสี่ยง (risk) ที่มีคำตรงกันข้ามอย่าง ความโชคดีโดยบังเอิญแบบจับพลัดจับผลู (serendipity)
.
เนื่องจากหนังสือมีเนื้อหา 10 บทที่แตกต่างกัน ผมจึงอยากสรุปใจความสำคัญของแต่ละบทแบบคร่าวๆไว้ให้ลองอ่านกันดูนะครับ
.
บทที่ 1: กฎ 4 และการเข้าใจความทรงประสิทธิภาพของพลังลบ
.
บทนี้เริ่มต้นเล่าให้ผู้อ่านตระหนักถึงพลังอันมหาศาลของพลังด้านลบ โดยเฉพาะความจริงที่ว่าคนเรามักจะโฟกัสไปที่ความรู้สึกลบๆ และสิ่งต่างๆรอบตัวที่มีพลังลบ มากกว่าสิ่งที่มีพลังบวก แต่ความเป็นจริงแล้ว จากงานวิจัยต่างๆบอกเล่าชัดเจนว่า คนที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดีเยี่ยมจะมีความรู้สึกด้านบวกมากกว่ากว่าพลังด้านลบอยู่ถึง 4 กว่าๆต่อ 1
.
และนี่เป็นที่มาถึงกฎทองของหนังสือเล่มนี้ นั่นก็คือ ‘กฎ 4’ ที่ว่าด้วยการสร้างสมดุลพลังบวกและลบให้อยู่ในอัตราส่วนประมาณ 4 ต่อ 1
.
กล่าวโดยเข้าใจง่ายว่า
- เรื่องลบๆ 1 เรื่อง ต้องการเรื่องบวก 4 เรื่องมาช่วยบรรเทา
- วันที่ไม่ดี 1 วันต้องการวันดีๆอีก 4 วันมาทำให้อิทธิพลจากวันไม่ดีนั้นอ่อนกำลังลง
- การพูดจาไม่ดีต่อกัน 1 ครั้ง ต้องการการพูดเรื่องดีๆต่อกัน 4 เรื่องมาบรรเทาความรู้สึกแย่ๆของทั้ง 2 ฝ่าย
.
เราจึงควรเข้าใจถึงเรื่องความทรงอิทธิพลของพลังลบนี้ และพยายามหาเรื่องดีๆมาช่วยกลบๆมันลงบ้าง พูดง่ายก็คือการเปลี่ยนจุดโฟกัสจากเรื่องลบๆมาเป็นเรื่องดีๆบ้าง
.
หนังสือยังอธิบายถึงการประยุกต์ใช้เทคนิคนี้ โดยอาศัยการเปลี่ยนจุดโฟกัส มาใช้ในการกล้าลองเสี่ยงมากขึ้น และยกตัวอย่างจากกลยุทธ์ที่ใช้ในการเล่นอเมริกันฟุตบอล เราต้องไม่โฟกัสไปที่เกมที่พลาด แต่ต้องมองหาเกมที่ทำคะแนนได้ดี และกล้าเสี่ยงเล่นเกมบุกมากขึ้นเป็นต้น
.
.
บทที่ 2: กำจัดความคิดติดลบ และตัวอย่างปัญหาเรื่องความสัมพันธ์
.
บทนี้สานต่อ key point ของบทที่แล้ว ว่าด้วยเรื่องของการเปลี่ยนจุดโฟกัส และบรรเทาอิทธิพลของพลังลบ โดยใช้ตัวอย่างของคู่รัก และเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคน 2 คน
.
บทนี้แชร์เทคนิคดีๆมากมาย และเน้นไปที่การทำความเข้าใจความแตกต่างของผู้ชายและผู้หญิง เช่นที่บอกว่าโดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะแสดงออกอารมณ์ทางลบ เช่นความโกรธ ความเศร้า ความขุ่นเคืองที่มากกว่าผู้ชาย และยังสามารถตรวจจับอารมณ์เหล่านี้ได้เก่งกว่าผู้ชายอีกด้วย
.
ส่วนเทคนิคต่างๆที่หนังสือนำเสนอก็เช่น การลองเปลี่ยนมุมมองของตัวเองดู ลองจินตนาการว่ามีกรรมการเป็นบุคคลที่ 3 ที่มองถึงปัญหาของคนสองคนจากมุมมองที่เป็นกลาง หรือจะลองถามบุคคลที่ 3 ที่เป็นคนจริงๆดูเลยก็ได้
.
อีกเทคนิคคือ การเรียนรู้จากการทะเลาะกัน ลองมองหาถึงประโยชน์ และการเติบโตจากความขัดแย้ง
.
การสกัดกั้นการตอบสนองด้วยอารมณ์เชิงลบก็เป็นอีกวิธีที่ได้ผลอย่างสูง เพราะสุดท้ายแล้วในเมื่อเราเข้าใจว่าคนเรามักให้ความสำคัญกับอารมณ์เชิงลบมากกว่าเชิงบวก เราก็ควรเปลี่ยนจากการเน้นการทำสิ่งดีๆให้แก่กัน เป็นหลีกเลี่ยงการทำสิ่งที่ไม่ดีแก่กันจะดีกว่า
.
หนังสือจึงปิดท้ายบทว่า ‘สิ่งที่คุณทำดีๆให้คนอื่น ไม่ได้มีผลมากเท่ากับ สิ่งไม่ดีที่คุณไม่ได้ทำ’
.
.
บทที่ 3: กำจัดความกังวล และความกลัว
.
เป็นอีกบทที่หนังสือเล่าเรื่องราวผ่านตัวอย่างของนักกระโดดร่มชื่อดังของโลกที่ต้องต่อสู้กับความกลัวในใจของตัวเอง ในงานที่นาซ่าจ้างเขาไปกระโดดลงมาจากความสูงในอวกาศชั้นสตราโตสสเฟียร์
.
เนื้อเรื่องหลักคือ พลังของความกังวล และความกลัว ที่แทบจะเรียกว่าเป็นวิวัฒนาการติดตัวคนเรามาอย่างช้านาน โดยมีการสร้างกลไกในการสร้างความปลอดภัยเพื่อให้เราอยู่รอดในสภาวะที่มีอันตรายของโลกสมัยก่อน สังเกตว่าเราจะสัมผัสได้ถึงภัยอันตรายก่อนสิ่งที่ไม่มีพิษภัยเสมอ
.
สำหรับนักกระโดดร่ม ภัยของเขาก็คือเรื่องการที่ต้องใส่ชุดอวกาศที่ร้อนและอบอ้าวเป็นเวลาหลายชั่วโมงก่อนกระโดด ซึ่งแค่เขาคิดภาพล่วงหน้า เขาก็กลัวเกินกว่าจะยอมไปฝึกซ้อม
.
ซึ่งจริงๆแล้วมีหลายเทคนิคที่จะช่วยให้เราเอาชนะสัญชาตญาณแห่งความกลัวเหล่านี้ได้ โดยหนังสือได้อธิบายแบบเป็นขั้นเป็นตอนสำหรับวิธีดังกล่าวนี้
1) พูดถึงความกังวลในใจออกมาให้ชัดเจน โดยจะต้องมีคนที่เป็นนักฟังที่ดีมาช่วยฟังความกังวลนั้น โดยมีงานวิจัยที่เล่าชัดเจนว่าถ้าเราได้พูดความกังวลออกไป เราจะกังวลกับสิ่งๆนั้นน้อยลง
2) ทำแผนที่ควบคุมรถไฟที่เสียการควบคุม ลองจินตนาการแบบลงรายละเอียดดูว่า เราจะต้องเผชิญอะไรบ้างในแต่ละขั้นตอน ซึ่งมองมันตามความเป็นจริง อย่ามองสิ่งร้ายๆที่อาจเกิดขึ้น
3) เร่งรถไฟ รอจนใจของเราสงบลง แล้วเริ่มลงมือดำเนินการ
4) ท่องบทสวดที่ช่วยให้ใจสงบ อันนี้อาจเป็นบทสวดที่เราคิดขึ้นมาเอง เช่นไม่มีใครตายเพราะความตื่นตระหนกหรอก ท่องเรื่อยๆจนเราสามารถควบคุมใจเราเองให้ปลอดความกลัวได้
5) หายใจ มีสติอยู่กับการหายใจเข้าและออก และทำตัวให้ผ่อนคลาย ข้อนี้จะคล้ายกลของรูธในหนังสือ into the magic shop
.
ตัวอย่างของนักกระโดดร่มอวกาศก็จบลงด้วยดี เขาทำภารกิจได้สำเร็จ และสิ่งที่สำคัญกว่าการคือเขาเอาชนะความกังวลและความคิดลบๆในหัวตัวเองได้สำเร็จด้วย
.
.
.
บทที่ 4: การฝึกใช้คำวิพากษ์วิจารณ์ที่ให้ถูกวิธี
.
บทนี้เน้นไปที่การให้เราเข้าใจถึงพลังลบที่เกิดจากการวิพากษ์วิจารณ์ที่โดยปกติจะมีพลังที่สูงมาก และลดทอนประสิทธิภาพการทำงานของเราได้อย่างมีนัยสำคัญ การเรียนรู้ที่จะใช้การวิพากษ์วิจารณ์ต้นตอของพลังลบจึงมีความสำคัญมาก
.
หนังสือเล่าไปถึงเทคนิคแซนด์วิชที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในการวิจารณ์ผลงานของพนักงาน หรือนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งคือการพูดเกริ่นด้วยเรื่องบวก และแทรกคำวิจารณ์ซึ่งมักเป็นสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อสารจริงๆไว้ตรงกลาง ก่อนจะปิดท้ายด้วยคำชม ซึ่งหนังสือเล่าว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว คนเรามักจะจำได้แต่คำวิจารณ์เชิงลบเท่านั้น และทำให้คำพูดเชิงบวกอื่นๆดูด้อยค่าลงไปทันที
.
เพราะฉะนั้นแล้วเราจะต้องเรียนรู้เทคนิคที่ช่วยจำกัดพลังของคำวิจารณ์เชิงลบ และทำให้คำวิจารณ์เหล่านั้นเกิดประโยชน์จริงๆไม่ได้มีผลแค่ทำลายชีวิตของคนถูกวิจารณ์
.
หนึ่งในเทคนิคที่หนังสือนำเสนอคือ การลองถามผู้ฟังดูว่า เขาคิดยังไงบ้าง เหมือนกับการแจ้งข่าวร้ายของแพทย์ที่จะเริ่มจากการถามก่อนว่า คนไข้คิดว่าอาการของตัวเองเป็นยังไง ร้ายแรงแค่ไหน แล้วหมอก็เพียงยืนยันเหมือนเป็นพรรคพวกเดียวกับคนไข้ว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นถูกต้องแล้ว เรื่องนี้ช่วยลดทอนความรุนแรงของเรื่องร้ายๆลง เพราะเหมือนหมอได้ให้คนไข้ได้เตรียมใจไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องเจอเรื่องเลวร้าย
.
เรื่องนี้ยังใช้ได้กับการบอกกล่าวผลการประเมินพนักงานที่ไม่น่าพึงพอใจ โดยหัวหน้าจะต้องเน้นไปถึงวิธีในการพัฒนาต่อไปข้างหน้าว่า พนักงานจะมีจุดไหนที่นำไปทำให้ดีขึ้นได้บ้าง
.
อีกเรื่องคือการกล่าวคำชม มีผลวิจัยยืนยันชัดเจนว่า แม้คนฟังจะรู้ว่าคำชมเป็นคำชมจอมปลอม ไม่มีความจริงใจ แต่อย่างไรก็ตาม คำชมทำให้เกิดความรู้สึกเชิงบวกขึ้นได้เสมอ เราจึงต้องไม่สงวนคำชม สามารถปล่อยออกไปได้อย่างเต็มที่ แต่ก็อย่าลืมพยายามคิดคำชมที่ดูสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วย
.
.
บทที่ 5: การลงโทษช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ดีกว่า การให้รางวัล
.
บทนี้มีเนื้อหาที่น่าสนใจมาก เพราะหนังสือนำเสนอแนวคิดที่ขัดแย้งกับแนวคิดในหนังสือเล่มอื่นๆ โดยหนังสือเน้นไปถึงความสำคัญของการลงโทษที่ได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมมากกว่าการให้รางวัล
.
ไม่ว่าจะเป็นในบริบทของโรงเรียน หรือองค์กร การให้รางวัลนั้นให้ผลลัพธ์ที่น้อยกว่าการลงโทษอย่างมีนัยสำคัญ
.
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ถ้าหัวหน้าตั้งไว้ว่า ใครทำงานได้ตามเป้าจะได้รับโบนัสตอนท้ายปี (ให้รางวัล) เทียบกับทุกคนได้รับรางวัลแล้ว แต่จะถูกหักถ้าทำได้ไม่ถึงเป้า (ลงโทษ) วิธรการในแบบหลังดูจะได้ผลดีกว่ามาก และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน รวมถึงผลประกอบการของบริษัทดีกว่าแบบให้รางวัล
.
ทั้งหมดนี้เป็นเพราะว่าคนเรามักกลัวการลงโทษมากกว่าที่จะดีใจจากการได้รางวัล เป็นธรรมชาติที่ติดตัวมนุษย์มาอย่างยาวนาน
.
แต่ที่น่าสนใจคือ หลายๆครั้งโรงเรียน หรือองค์กรสมัยใหม่ทำในทางตรงกันข้าม คือเน้นไปที่การให้ความร่วมมือกันของสมาชิกในองค์กรและลดบทบาทการลงโทษลงอย่างมาก
.
ทั้งนี้ทั้งนั้นหนังสือก็ได้อธิบายถึงวิธีการในการลงโทษที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ใช่ว่าเป็นการจับผิดรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ แต่ต้องมีบทลงโทษที่ชัดเจนเพียงพอให้พนักงานตระหนักและเค้นตัวเอง โดยต้องไม่กดดันพนักงานมากจนเกินไป
.
บทที่ 6: ค้นหาและกำจัดแอปเปิ้ลเน่า
.
บทนี้เน้นไปที่พลังของคนที่ทำตัวเป็นแอปเปิ้ลเน่าคนเดียวในองค์กรที่อาจส่งผลต่อทั้งองค์กรได้ เหมือนกับแอปเปิ้ลเน่า 1 ลูกในตะกร้าที่ทำให้ทั้งตะกร้าดูเน่าเสียไปหมด
.
หนังสือแนะนำคน 3 ประเภทที่องค์กรควรมองหาและหาทางกำจัดแอปเปิ้ลเน่านี่เสีย
1) คนเบื๊อก – คนที่ชอบดูถูกดูหมิ่นคนอื่น เยาะเย้ย ถากถาง ล้อเล่นแบบหยาบคาย และแสดงท่าทีที่ตำตมต่ำคนอื่น
2) จอมเลี่ยง – คนไม่ยอมลงแรง พวกกินแรงคนอื่น
3) คนเศร้า – คนที่ไม่มีพลัง หดหู่ มีอารมณ์ติดลบ
.
แอปเปิ้ลเน่าทั้ง 3 ประเภทนี้สามารถส่งต่อความเน่าเฟะไปยังคนอื่น และบ่อนทำลายประสิทธิภาพของกลุ่ม หรือทั้งองค์กร
.
หนังสือยังอธิบายถึงพลังลบที่มีอยู่อย่างมหาศาลในตัวคนที่ถูกปฏิเสธจากสังคม เมื่อเทียบกับพลังบวกที่ได้รับการยอมรับให้เข้ากลุ่มแล้ว ถือว่าพลังบวกนั้นมีอยู่น้อยนิดมาก พลังลบจากการถูกปฏิเสธทางสังคมนั้นอาจรุนแรงเหมือนบาดแผลที่เกิดจากสงครามเลยด้วยซ้ำ
.
เพราะฉะนั้นแล้ว เราจึงต้องป้องกันตัวเองไม่ให้กลายเป็นแอปเปิ้ลเน่า และพยายามไม่ก่อให้เกิดเหตุการณ์การปฏิเสธทางสังคมกับคนใดคนหนึ่งในองค์กร รวมถึงหาวิธีในการกำจัดแอปเปิ้ลเน่า และจัดถังของเราซะใหม่
.
.
บทที่ 7: ความทรงอิทธิพลของคอมเมนต์ด้านลบ
.
เมื่อเราจะจองโรงแรม และกดเลือกดูโรงแรมที่มีในเว็ปอย่าง Booking หรือ Agoda เป็นเรื่องธรรมชาติมากที่เราจะมองหาคอมเมนต์ในด้านลบมากกว่าคอมเมนต์ในด้านบวก และเรามักจะตัดสินใจจากคอมเมนต์ในด้านลบที่เจอ
.
สิ่งนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันถึงพลังอันมหาศาลของพลังด้านลบ ที่มีมากกว่าพลังด้านบวกไม่รู้กี่เท่า
.
เพราะฉะนั้นแล้วในมุมมองของโรงแรม เราต้องพยายามป้องกันไม่ให้เกิดคอมเมนต์ในด้านลบ ซึ่งหนังสือยกตัวอย่างโรงแรมหนึ่งซึ่งทำเรื่องนี้ได้ดีมาก
.
เทคนิคก็คือการบริการที่ทำให้เกิดความประทับใจตั้งแต่แรกเข้า จนถึงตอนจากลา หรือเริ่มตั้งแต่การสร้างความประทับใจแรกที่ดี การมองหาสิ่งกวนใจเล็กน้อยที่อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ คอยเฝ้าสังเกตปฏิกิริยาของลูกค้า ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของลูกค้าด้วยความรวดเร็ว และพยายามจบให้สวย
.
.
บทที่ 8: พลังของความดีที่มีอยู่ในตัว หลักการแบบพอลลีแอนนา
.
พอลลี่แอนนาเป็นนางเอกนวนิยายคลาสสิค ซึ่งเป็นคนที่มองแง่บวกกับทุกๆสิ่ง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เธอก็ยังหามุมบวกของสิ่งๆนั้นได้เสมอ เช่นเธอต้องไปนอนในห้องใต้หลังคา แต่ก็ยังบอกว่า ห้องนี้มีหน้าต่างที่วิวสวยมากเลย
.
หนังสือเล่าว่า ความเป็นจริงแล้ว มนุษย์ทุกคนมีพลังบวกแบบพออลีแอนนาอยู่ติดตัวเรามาแต่เนิ่นนาน จากการศึกษาวิจัยทั้งจากงานวิจัย หนังสือและข้อความ tweet บน Twitter ปรากฏชัดว่ามีข้อความในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบอย่างน้อยๆในอัตาส่วน 2 ต่อ 1 (หรือในกรณีของ Twitter คือ 4 ต่อ 1)
.
นั่นหมายความว่าโดยทั่วไปแล้ว คนเรามีแนวโน้มที่จะแสดงออกพฤติกรรมในทางบวกมากกว่าทางลบ
.
คำอธิบายอาจเป็นเพราะว่า คนเรามักถูกชื่นชม และได้รับการยอมรับมากกว่าเมื่อแสดงออกในด้านบวก และการแสดงออกในด้านบวกยังทำให้คนที่เราสื่อสารด้วยรู้สึกดีขึ้นด้วย
.
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างของบทนี้คือ คนเรามักสนใจดูสิ่งที่เป็นเรื่องลบๆ เรื่องเลวร้ายต่างๆ แต่พอต้องแชร์สิ่งที่เราดูนั้น คนเรามักจะเลือกแชร์แต่ในสิ่งที่เป็นด้านบวก (จนถ้ามากเกินไปก็อาจทำให้เกิดอาการอิจฉาเหมือนการดู Facebook หรือ Instagram มากๆ)
.
หนังสือยังอธิบายถึงพลังด้านบวกของการโหยหาอดีต ที่จะทำให้เรารู้สึกมีคุณค่ากับสิ่งที่เราทำอยู่ในปัจจุบันมากขึ้น แต่ต้องเน้นว่าเราต้องไม่ปรียบเทียบปัจจุบันกับสิ่งที่โหยหา
.
โดยสรุปใจความสำคัญของบทนี้คือ พลังความดีที่เราทุกคนมีอยู่ในตัว จริงๆแล้วเราสามารถแสดงมันออกมาให้มากขึ้นเพื่อต่อสู้กับเรื่องราวลบๆทั้งหลาย แต่เราต้องให้ความสนใจกับพลังเหล่านี้ให้มากขึ้น
.
.
บทที่ 9: ความไม่ดีที่เฟื่องฟูอยู่เสมอ
ใจความสำคัญของบทนี้คือ การที่คนเรามักจะมองหาสิ่งไม่ดีอยู่เสมอๆ เหมือนมันอยู่ในสัญชาติญาณของเรา อยู่ในยีนส์ของเราที่ถูกวิวัฒนาการมาอย่างช้านาน โดยเฉพาะในสมัยก่อนที่มนุษย์เราต้องต่อสู่กับ ‘จตุรอาชา’ ว่าด้วย สงคราม ความตาย ความอดอยาก และโรคระบาด
.
ซึ่งตามสถิติแล้วโลกของเราดีขึ้นมากกว่าเดิมมากแล้ว ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ คนต่างๆบนโลกที่ประสบพบเจอปัญหาจาจตุรอาชาลดลงอย่างมีนัยสำคัญในโลกศตวรรษนี้ เรื่องนี้คล้ายกับสิ่งที่หนังสือ Factfulness นำเสนอ
.
แต่เรื่องที่เรารับรู้กลับยังมีแต่เรื่องแย่ๆ หรือสิ่งแย่ๆที่อาจเกิดขึ้นได้ นั่นก็อาจเป็นเพราะว่า คนเรามักมองหาแต่สิ่งเลวร้ายอยู่เสมอ
.
เมื่อสิ่งเลวร้ายสิ่งเดิมถูกกำจัดไป เราก็ยังหาสิ่งใหม่ขึ้นมาแทนที่ เหมือนผู้ทรงอิทธิพลรวมถึงสื่อต่างๆที่มักจะนำเสนอแต่สิ่งร้ายๆที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ และมักทำให้เกิดความเข้าใจผิดในคนหมู่มากว่าโลกมันเลวร้ายกว่าที่คิดมาก
.
บทนี้จึงเหมือนเป็นการตำหนิกลุ่มคนดังกล่าว พร้อมให้ข้อเสนอแนะที่จะทำให้เราสามารถเข้าใจโลกตามความเป็นจริงได้มากขึ้น ลดการจดจำข่าวอาชญกรรมลง และพยายามโฟกัสไปที่สิ่งดีๆต่างๆที่เกิดขึ้นรอบโลกให้มากขึ้น
.
.
.
บทที่ 10: บทส่งท้าย
เป็นบทสั้นๆที่ยืนยันถึงความสำคัญของพลังลบ และความรุนแรงที่พลังดังกล่าวส่งผลต่อชีวิตคนในสังคม
.
หนังสือปิดท้ายสั้นๆว่า ถึงแม้พลังลบจะมีอยู่มากและทรงพลังมากจนดูเหมือนความดีจะเอาชนะไม่ได้ แต่ผู้เขียนก็ยังเชื่อว่าถ้าเราเข้าใจแก่นแท้ของพลังลบ และควบคุมมันอย่างถูกวิธี สุดท้ายแล้วพลังแห่งความดีทั้งหลายจะยังเอาชนะพลังลบได้ในที่สุด
.
.
รีวิวหนังสือ
โดยรวมแล้วเป็นหนังสือที่เนื้อหาอัดแน่นไปด้วยสาระทางจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์แบบเน้นๆ แต่ละเรื่องที่หนังสือหยิบมาเล่าคือมีงานวิจัยรับรองหลายชิ้น แต่ถึงกระนั้น หนังสือก็อ่านสนุกมาก เนื้อหาอ่านเพลินๆ เพราะมีความแปลกใหม่ และมีการแทรกการทดลองทางจิตวิทยาที่น่าสนใจลงไปตลอดเล่ม
.
ถ้าเป็นในด้านความแปลกใหม่ ส่วนตัวคิดว่าหนังสือเล่มนี้สอบถาม โดยเฉพาะหลายๆเรื่องที่นำเสนอแนวคิดที่แตกต่างจากแนวคิดในหนังสือหลายๆเล่ม เช่น เรื่องที่ว่าด้วย ‘competition over cooperation’ คือการให้ทั้งหลักสูตรการเรียนในโรงเรียน และการประเมินพนักงานในองค์กรเพิ่มนโยบายที่ทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างนักเรียน และพนักงาน เพื่อจะได้นำมาซึ่งศักยภาพที่ดีกว่าทั้งต่อทั้งตัวผู้แข่งขันเอง และต่อองค์กรของผู้แข่งขัน
.
อย่างไรก็ตามแน่นอนว่าส่วนตัวผมไม่ได้เห็นด้วยทุกเรื่องกับสิ่งที่หนังสือนำเสนอ เพราะหนังสือเน้นแค่ในมุมของ productivity แต่ไม่ได้เน้นไปถึงความสุขจากการถูกลงโทษ หรือความพึงพอใจการทำงานเมื่อองค์กรออกนโยบายที่เน้นการแข่งขัน
.
หรือเรื่องของการมองหาความผิดปกติและสิ่งเลวร้ายที่อยู่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ทุกคน ซึ่งส่วนตัวมองว่าเข้ากับยุคสมัยของการแพร่ระบาดของโควิดอย่างมาก เพราะหนังสือได้อธิบายให้เห็นถึงประโยชน์ของการตื่นตระหนก แต่ในขณะเดียวกันหนังสือก็เน้นย้ำถึง ‘ความเกินจริง’ และความพยายามอย่างมากของทั้งผู้มีอำนาจและสื่อทั้งหลายที่จะคอยมุ่งหาแต่สิ่งชั่วร้าย และนำเสนอต่อประชาชนให้เกิดความกลัว
.
หลายๆตัวอย่างที่หนังสือยกมา อาจไม่ใช่เรื่องที่คุ้นเคยกันเท่าไหร่ เพราะเป็นหนังสือ หรือภาพยนตร์ที่ค่อนข้างเก่า และมีบริบทที่เป็นทางตะวันตกมากในระดับหนึ่ง แต่ข้อคิดและเนื้อหาหลายๆอย่างมีประโยชน์และนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้อย่างแน่นอนครับ
.
โดยเฉพาะที่ผมชอบเป็นพิเศษคือการพยายามปรับอัตราส่วนจอง เรื่องราวด้านบวก และเรื่องราวด้านลบ ให้อยู่ในระดับ 4 ต่อ 1 เพื่อจะได้รับมือกับพลังลบได้ ส่วนตัวผมคิดว่ากฎ 4 นี้เอาไปใช้ได้กับทุกๆอย่างในชีวิตเรา ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยประจำวันกับคนอื่น หรือการสร้างสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับคนรอบตัว
.
ถ้าถามว่าหนังสือเล่มนี้เหมาะกับใคร ผมคิดว่าเนื้อหาหลายๆเรื่องอ่านกันได้ทุกคน แต่อาจต้องเป็นคนที่ชอบเนื้อหาที่มีความลึกระดับหนึ่ง เพราะไม่ใช่หนังสือที่บอกสูตร howto กันตายตัว แต่เน้นอธิบายให้เข้าใจถึงปรากฎการณ์พลังด้านลบมากกว่า
.
สุดท้ายนี้ถ้าใครสนใจ ก็อย่าลืมลองหาซื้อกันดูนะครับ สำนักพิมพ์ Cactus ของ B2S
.
และถ้าใครสนใจรีวิวหนังสือที่ตัวเองอ่านก็อย่าลืมเข้าไปเขียนรีวิวกันได้ที่แพลตฟอร์มของ B2S ตามลิงค์ด้านล่างนี้เลยนะครับ
.
สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ https://bit.ly/2S0nkD1
เข้าไปรีวิวหนังสือได้ที่ https://bit.ly/3ce8hMU
.
.
............................................................................................................................................
ผู้เขียน: John Tierney & Roy F. Baumeister
ผู้แปล: ไอริสา ชั้นศิริ
สำนักพิมพ์: Cactus Publishing by B2S
หมวดหมู่: จิตวิทยา, พัฒนาตัวเอง
............................................................................................................................................
.
.
สั่งซื้อหนังสือได้ที่
https://www.b2s.co.th/9786164992283.html
.
.
.
#หลังอ่านxB2S #หลังอ่าน #B2S #รีวิวหนังสือ #ThePowerofBad #ชนะพลังลบ #JohnTierney #RoyBaumeister #ไอริสาชั้นศิริ #CactusPublishing #หนังสือจิตวิทยา #หนังสือพัฒนาตัวเอง
Comments