รีวิวหนังสือ Someday is not a day in the week
เปลี่ยน ‘สักวัน’ ให้เป็นวันนี้
.
.
ขอขอบคุณหนังสือจากสำนักพิมพ์ B2S นะครับ
.
เคยรู้สึกมั้ยว่า เราชอบผัดวันประกันพุ่งอยู่เรื่อยๆ มีแผนอยากจะลงมือทำสิ่งต่างๆมากมาย แต่สุดท้ายก็เลื่อนไปวันพรุ่งนี้ทุกที หนังสือเล่มนี้จะนำเคล็ดลับดีๆมาฝาก เพื่อให้เรารู้ว่า วันที่ดีที่สุดในการลงมือทำคือ ‘วันนี้’ นี่เอง
.
ผู้เขียน Sam Horn เป็นเจ้าของผลงานเขียนระดกับ Best Seller หลายเล่ม เรื่องราวที่เธอเขียนคือ หนังสือบอกเล่าประสบการณ์และข้อคิดดีๆในการใช้ชีวิตจากการผจญภัยของเธอ หรือที่เธอเรียกมันว่า ‘เคล็ดลับชีวิตทั้ง 10 ข้อ’
.
สำหรับเล่มเปลี่ยน ‘สักวัน’ ให้เป็นวันนี้ Sam เขียนบันทึกเรื่องราวการออกเดินทาง ‘ตามสายน้ำ’ ที่เธอขับรถไปในรัฐต่างๆในสหรัฐอเมริกา เพื่อเยี่ยมชมแหล่งน้ำ ลำธาร ทะเลสาบ น้ำตก มหาสมุทรทั่วประเทศ เป็นเวลา 1 ปีเต็ม เพื่อใช้เวลาในการพักผ่อน พบเพื่อนฝูงตามที่ต่างๆ และคิดไต่ตรอง ทบทวนชีวิตตัวเอง
.
แน่นอนว่าเหมือนที่หลายๆคนคงจะคุ้นๆ กับคำกล่าวที่ว่า ‘การเดินทางคือการเรียนรู้ การเดินทางทำให้เราได้รู้จักตัวแอง การเดินทางทำให้เราได้พบเจอผู้คน การเดินทางให้คุณค่าหลายๆอย่างกับชีวิตเรา’
.
ในเล่มนี้ก็คงเป็นบันทึกการเดินทาง พ่วงด้วยเรื่องราวของผู้คนต่างๆที่ Sam พบเจอจากการออกเดินทาง จนกลั่นกรองออกมาเป็นบทเรียนในการใช้ชีวิตดีๆทั้ง 10 ข้อ
.
.
เคล็ดลับ 1: เริ่มด้วยการประเมินความสุขของตัวเองในอดีต นึกถึงเรื่องราวความสุขของเราในอดีต แล้วใช้ตารางสี่ช่องสำคัญในการคิดพิจารณาว่าอะไรคือสิ่งที่เราควรจะลงมือทำในวันนี้
ตารางทั้ง 4 ได้แก่
ช่อง 1 ‘สิ่งที่เราทำอยู่ แล้วมีความสุข’
ช่อง 2 ‘สิ่งที่เราทำอยู่ แล้วไม่มีความสุข’,
ช่อง 3 ‘สิ่งที่เราไม่ได้ทำอยู่ แล้วมีความสุข’,
ช่อง 4 ‘สิ่งที่เราไม่ได้ทำ แล้วไม่มีความสุข’
ให้เราน้นไปที่ช่องที่ 2 และ 3 แล้วลองใช้เทคนิคการคิดแบบ SEE (Significant Emotional Event) หรือกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรู้สึกเร่งด่วน ดั่งว่าเราจะมีเวลาบนโลกอีกเพียงแค่สัปดาห์เดียว เราจะเลือกลงมือทำอะไร วิธีนี้จะช่วยให้เรามั่นใจในสิ่งที่เราจะเลือกทำ
.
.
เคล็ดลับ 2: หลังจากเรารู้แล้วว่าความสุขของเราคืออะไร ก็ให้กำหนดวันในปฎิทินเพื่อทำมันซะเลย โดยเราควรจะกำหนดอย่างละเอียดเพียงพอ เพราะว่ามันจะเพิ่มความเป็นไปได้ในการเกิดขึ้นของเหตุการณ์นั้นๆ เช่น ถ้าอยากจะไปเที่ยวรอบโลก เราก็ควรกำหนดไปเลยว่า จะไปที่ไหน ไปทำอะไร ไปเมื่อไหร่ ถามไปเรื่อยๆจนเกิดภาพในหัวชัดเจน
.
.
เคล็ดลับ 3: ละทิ้งสิ่งต่างๆที่คอยฉุดรั้งเราไม่ให้ทำสิ่งที่เราต้องการ แน่นอนว่าทุกคนคงเคยเจอกับพวกคิดลบ พวกชอบดูถูก หรือบอกปัดว่าแผนของเรานั้นไร้สาระ หรือเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เราควรทำนั้นก้ง่ายมาก แค่ปฎิเสธคนพวกนี้ หรือความคิดพวกนี้ทิ้งไป วิธีเชิงปฏิบัติก็ให้เราพยายามออกห่างจากคนเหล่านี้ ใช้เวลาอยู่ด้วยให้น้อยลง
.
นอกจากนี้แล้ว เรายังควร ‘ทิ้ง’ สิ่งของที่ไม่จำเป็น ไม่ได้ใช้ หรือเก็บไว้เพียงเพราะว่าเราหวังว่าวันนึงอาจจะได้ใช้มัน เรื่องนี้จะคล้ายกับข้อแนะนำจากหนังสือการจัดบ้านของ มาริเอะ คอนโดะ และหนังสือ stuffocation ที่ผมเพิ่งทำรีวิวไป คือเป็นข้อแนะนำให้เราเป็นนักสะสม ‘ประสบการณ์’ ที่พบเจอมากกว่าสิ่งของ
.
.
.
เคล็ดลับ 4: เริ่มต้นลงมือทำ เป็นคำแนะนำที่คล้ายหนังสือทุกเล่ม นั่นคือการเริ่มทำจริงจังสักที ไม่ต้องรอให้เราพร้อมไปทุกอย่าง เพราะวันนั้นไม่เคยมาถึง
.
การฟังสัญชาติญาณของตัวเอง เคารพความรู้สึกและลางสังหรณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่สำคัญแบบเหลือเชื่อ นอกจากนี้เรายังควรเปิดรับและเชื่อมโยงโอกาสต่างๆ เพราะหลายๆครั้งผลลัพธ์ที่เราต้องการก็มาจากสิ่งเหลือเชื่อเหล่านี้
.
นอกจากนี้แล้ว เราควรคิดถึงตัวเองบ้าง ใส่เรื่องราว ใส่ความต้องการของเราเข้าไปในชีวิตของเรา ไม่ใช่การเห็นแก่ตัว แต่มันเป็นการ balance ระหว่างการให้ความสำคัญกับตัวเองและผู้อื่น
.
.
เคล็ดลับ 5: เฉลิมฉลองให้กับตัวเองในทุกๆวัน เราควรเฉลิมฉอลงให้เรื่องดีงามที่เกิดขึ้นกับเราในทุกวัน ใช้วิธีเขียนบันทึก เขียน blog หรือแชร์เรื่องราวดีๆนี้ใน social media การทำบันทึกเป็นเหมือนการออกกำลังกายที่จะต้องทำเป็นประจำ มันจะช่วยให้เราดืทบทวนสิ่งดีๆต่างๆที่เกิดขึ้นกับเรา ทำให้เรานอนหลับเต็มตา และมีประกายที่แววตาในทุกๆเช้า เช่นเดียวกับการแบ่งเวลาว่างไว้ให้เราทำเรื่องสนุกๆให้ตัวเอง ให้ได้ผ่อนคลายและเฉลิมฉลองให้กับชีวิตอย่างเต็มที่
.
การนั่งสมาธิเองก็เป็นอีกเคล็ดลับหนึ่งที่ช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีสติ อยู่กับปัจจุบัน และรักตัวเองมากขึ้น การเพ่งมองไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นคน สิ่งของ หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว ก็เป็นเทคนิคที่ช่วยให้เราหลุดออกจากความคิดที่วนเวียนและกลับมาอยู่กับตัวเองในช่วงเวลานั้นๆ
.
อีกเรื่องที่ผมชอบคือเรื่องเงิน Sam นำเสนอว่าเงินซื้อความสุขให้เราได้จริง แต่จำนวนเงินที่ว่านั้นต้องไม่มากจนเกินไป คนที่หาเงินได้มากเกินไปมักจะมีความสุขลดลง เพราะการมีเงินมากๆนั้น บางครั้งมันเป็นเพียงสิ่งภายนอกและทำให้เราต้องไล่ตามเป้าหมายที่ถูกตั้งสูงขึ้นไปเรื่อยๆอย่างไม่จบไม่สิ้น
.
.
เคล็ดลับ 6: รวมกลุ่มกับคนที่สนับสนุนการเดินทางผจญภัยของเรา เพิ่มพลังให้กับชีวิตด้วยคนที่มีความฝันและกล้าลงมือทำเหมือนๆกับเรา
.
แต่ทั้งนี้บางครั้งเราก็ต้องอยู่คนเดียวให้เป็น อยู่กับความสงบ อยู่กับตัวเอง ที่ผมชอบมากคือ คนทุกคนอาจมีทั้งบุคลิกแบบ ‘introvert’ และ ‘extrovert’ อยู่ในตัว นั่นหมายถึงเราอาจเป็น extrovert ผู้ได้รับพลังจากการเข้าสังคม เมื่อเราไปปาร์ตี้ สังสรรค์กับเพื่อนๆ แต่เราก็เป็น introvert ผู้ได้รับพลังมาจากการใช้เวลากับตัวเองได้เช่นกัน Sam เรียกคนลักษณะนี้ว่า ‘ambivert’ เป็นทั้งสองอย่างในคนเดียวกัน
.
.
เคล็ดลับ 7: ผสมผสานระหว่างงานที่ทำกับสิ่งที่ชอบ เรื่องนี้คือการนำงานอดิเรกมาสร้างเงิน เช่นการเขียนหนังสือของ Sam ในระหว่างการเดินทางไปตามสายน้ำ ทำเงินได้และสนุก
.
Sam แนะนำเทคนิคในการสร้างอาชีพในฝันของเราด้วยใช้เข็มทิศ 4I อันได้แก่ การตรวจสอบสัญชาตญาณ (Instinct), ความสนใจ (Interest), จรรยาบรรณ (Integrity) และการริเริ่ม (Initiative) โดยเข็มทิศดังกล่าวนี้เป็นเหมือน framework หรือกรอบแนวคิดให้เราทบทวนพิจารณาอาชีพในฝันของเราที่เราอยากทำ
.
เราอาจใช้กรอบนี้คิดทบทวนต่อไปอีกก็ได้ เช่นในวัยเด็กเราเคยมีงานอดิเรกอะไร ใครเป็นไอดอลของเรา และเงินที่คิดว่าจะได้จากอาชีพดังกล่าวนั้นเพียงพอกับชีวิตที่เราต้องการมั้ย
.
.
เคล็ดลับ 8: รู้จักการเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการมา บางครั้งเราต้องไม่นิ่งเฉย เราต้องกล้าที่จะพูด กล้าที่จะเป็นฝ่ายถามก่อน เช่นประสบการณ์ของ Sam ที่ทำงานหนักแต่ไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือน จนต้องเป็นฝ่ายเอ่ยปากขอ และคำตอบที่เธอได้ฟังจากเจ้านายคือ เจ้านายรอเธอไปขอขึ้นเงินเดือนอยู่ แต่ถ้าเธอไม่ขอ คำตอบก็คือ ‘ไม่’
.
.
เคล็ดลับ 9: เปลี่ยนรูปแบบการเริ่มต้นใหม่ บทนี้อธิบายเคล็ดลับหลากหลายวิธีที่ช่วยกำจัดสถานการ์ที่ทำให้เราเริ่มต้นใหม่ไม่ได้ เคล็ดลับข้อที่ผมอ่านแล้วชอบมากคือ การสร้าง ‘พื้นที่ที่ 3’ กล่าวคือ พื้นที่ที่ 1 ของเราคือบ้านที่เราอยู่ พื้นที่ที่ 2 คือ ที่ทำงาน ส่วนพื้นที่ที่ 3 คือพื้นที่ที่เราสามารถทำงานส่วนตัวที่เราใฝ่ฝันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากสิ่งรบกวน ตัวอย่างพื้นที่ที่สาม เช่น ร้านกาแฟ café ห้องสมุด ร้านหนังสือ หรือแม้กระทั่งห้องส่วนตัวในบ้านที่ไม่ใช่ห้องที่เราอยู่ประจำ
.
ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ผมชอบทำมาตลอด การมานั่งร้าน starbuck หรือ ห้องสมุดมหาลัย ช่วยให้ผมทำงานส่วนตัวได้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจริงๆ
.
.
เคล็ดลับ 10: โยกย้ายไปสู่ที่ใหม่ ว่าด้วยเรื่องของการย้ายที่อยู่ ย้ายบ้าน ย้ายประเทศ ถ้าเรารู้สึกว่าที่ที่เราอยู่มันไม่ตอบโจทย์ชีวิตของเรา ก็คงจะถึงเวลาที่จะเดินหน้าต่อ
.
แต่คงต้องดูด้วยว่าเราเป็นคนประเภทไหน เป็นพวกชอบอยู่กับที่ หรือพวกที่ชอบออกเดินทาง เพราะคนส่วนใหญ่แล้วจะชอบความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยมากกว่าเมื่อได้อยู่กับสถานที่หรือในสภาพแวดล้อมที่เราเติบโตมา
.
.
เรื่องสุดท้ายที่ผมอ่านละชอบมาก คือนิยามคำว่า ‘บ้าน’ จริงๆแล้วบ้านตามที่ Sam ได้พูดคุยกับคนหลายคนนั้นอาจหมายถึงสภาวะทางจิตใจ ไม่ใช่สถานที่ บ้านคือที่ที่เราก้าวเดินออกไปข้างนอก แต่ทิ้งหัวใจไว้ หลายๆครั้งที่เราไม่มีความสุขเพราะเรารู้สึกไม่เชื่อมต่อ ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง แต่ตราบใดที่ใจเรายังให้ความสนใจสิ่งรอบข้าง เชื่อมต่อกับผู้คนรอบตัว และไม่ลืมว่าเรามีเครื่องมือเชื่อมต่อกับคนอื่นไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลกมากมาย อย่าง Line, Facebook ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็คงจะเป็นบ้านของเราได้
.
.
.
โดยรวมแล้ว ผมตอบได้อย่างเต็มคำว่าเรื่องราวของ Sam สร้างกำลังใจให้ผมพอควร การประเมินความสุขของตัวเอง โดยเฉพาะ ‘สิ่งที่เรากำลังทำอยู่และ ไม่อยากทำ’ และ ‘สิ่งที่เราไมได้ทำอยู่ แต่อยากทำ’ สำคัญมากๆ
.
นอกจากนี้ การกำหนดวันในปฏิทินในสิ่งที่จะลงมือทำ การเลือกละทิ้งสิ่งที่ควรละทิ้ง และการใช้เทคนิคต่างๆเริ่มลงมือทำเป็นสิ่งที่ทุกคนน่าจะลองคุยกับตัวเองดีๆสักครั้ง
.
เวลาจริงในชีวิตเราสั้นนัก การผัดวันไปเรื่อยๆ ก็อาจทำให้เรามาถึงวันสุดท้ายของชีวิตก่อนที่จะตั้งตัวได้ เพราะฉะนั้นแล้ว วันนี้จึงเป็นวันที่ดีที่สุดที่จะคุยกับตัวเอง ตั้งคำถามกับตัวเอง และเริ่มออกเดินทางผจญภัยเหมือนที่ Sam ทำครับ
.
ใครอ่านแล้วชอบตรงไหน ยังไงก็อย่าลืมมาแชร์กันนะครับ
.
.
.
.
………………………………………………………………………….
ผู้เขียน: Sam Horn
ผู้แปล: ณิชา ชิวะสุจินต์
สำนักพิมพ์: B2S
แนวหนังสือ : พัฒนาตัวเอง
…………………………………………………………………………..
.
.
.
#หลังอ่าน #รีวิวหนังสือ #หนังสือ2020 #หนังสือ2563 #reviewหนังสือ # Somedayisnotadayintheweek #เปลี่ยนสักวันให้เป็นวันนี้ #SamHorn #ณิชาชิวะสุจินต์ #B2S #สำนักพิมพ์B2S #หนังสือพัฒนาตัวเอง
Comments