top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิวหนังสือ Play Work ทำงานให้สนุกเหมือนเล่น




รีวิวหนังสือ Play Work ทำงานให้สนุกเหมือนเล่น

.

.

ขอขอบคุณหนังสือจากสำนักพิมพ์ Shortcut นะครับ

.

หนังสือเล่มเล็กที่เขียนโดย CEO บริษัทที่ปรึกษา Pronoia Group ชาวโปแลนด์ที่เข้ามาทำงานในญี่ปุ่น ที่เขียนขึ้นเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของบริษัทตัวเอง ที่นำเอาหลักการ ‘Play Work’ หรือ การทำงานให้เหมือนเล่นสนุกมาใช้

.

หนังสือจึงให้กลิ่นอายของความเป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมความสนุก ความเป็นอิสระในแบบตะวันตก และความมุ่งมั่นตั้งใจ และเอาจริงเอาจังในแบบญี่ปุ่น ซึ่งผมก็รู้สึกว่าจากที่หนังสือเล่ามา บริษัทนี้ก็ผสมออกมาได้อย่างลงตัวนะครับ

.

หนังสือให้นิยามความหมายของคำว่า Play Work ว่า เป็นการทำงานที่มีเส้นแบ่งระหว่างการทำงานกับการเล่นสนุกไม่ชัดเจน ทำให้พนักงานไม่แน่ใจว่าตอนนี้กำลังทำงานหรือกำลังเล่นสนุกกันแน่ ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า ลักษณะการทำงานแบบนี้จะช่วยให้ พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์ ได้ทำงานอย่างอิสระ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของงาน รวมไปถึงการ ‘ได้บรรลุในสิ่งที่ตัวเองเป็นด้วย’

.

หนังสือจึงเล่าเทคนิคที่กลั่นออกมาเป็น 4 ขั้นตอนง่ายๆ ในการนำหลักการ Play Work ไปใช้ในองค์กรที่เราทำงานอยู่ เริ่มจาก

1) การตระหนักรู้ในตัวเอง (self-awareness)

2) การเปิดเผยตัวตน (self disclosure)

3) การแสดงความเป็นตัวเอง (self expression)

4) การได้บรรลุในสื่งที่ตัวเองเป็น (self realisation)

.

โดยหนังสือได้อธิบายและเล่า 4 ขั้นตอนดังกล่าวอย่างละเอียดผ่านประสบการณ์การทำงานจริงๆของผู้เขียนและเหล่าพนักงานในบริษัท Pronoia Group

.

โดยรวมแล้วผมรู้สึกได้ว่าหนังสือเป็นเหมือนบันทึก diary ของผู้เขียนซะมากกว่า และเป็นการเชื่อมโยงกับหลักการ 4 step ที่จะทำให้องค์กรมีความเป็น Play Work แต่ยอมรับว่าเล่าเรื่องราวออกมาได้สนุก มีการแนะนำตัวละครหลักในหนังสือ ซึ่งก็คือพนักงานที่ทำงานกับผู้เขียนคุณ ปิโอเตอร์ และมีรูปวาดประกอบ ให้จินตนาการถึงตัวละคนในเล่มได้ง่ายขึ้นด้วย

.

หนังสืออ่านง่าย เข้าใจง่าย แต่อาจจะเหมาะกับคนที่ทำงานในองค์กรญี่ปุ่น หรือองค์กรที่มีระเบียบแบบแผน และความจริงจังในการทำงานสูง การที่พนักงานใช้ชีวิตแบบเคร่งเครียดและจริงจังกับการทำงานมากเกินไปอาจกลายเป็นผลเสียต่อทั้งตัวเองและบริษัท การรู้ความต้องการของตัวเอง แสดงออกมาผ่านศักยภาพของตน และนำศักยภาพดังกล่าวมาใช้ในการทำงานที่ท้าทายอย่างมีประสิทธิภาพและสนุก อาจเป็นตัวช่วยสำคัญในการแก้ปัญหาที่กล่าวมานี้

.

แม้หนังสือแฝงความเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นจ๋าๆอยู่ระดับหนึ่ง แต่ส่วนตัวผมอ่านเพลินอยู่นะครับ

.



และอีกเช่นเคยครับ ผมขอยกสิ่งที่ผมชอบมากที่สุด 5 ข้อจากหนังสือมาเล่าให้ฟังนะครับ

.

.



1) สิ่งที่ชอบทำในเวลาส่วนตัว อาจกลายมาเป็นงานได้

.

.

ตัวอย่างที่หนังสือยกมา เช่น ถ้าในวันว่างๆชอบการเล่นละครเวที เพราะชอบที่จะแสดงต่อหน้าผู้คนมากๆ ก็อาจลองไปทำงานเป็นวิทยากร และพูดต่อหน้าคนจำนวนมากก็ได้

.

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งของบริษัทเองก็คือ ตัวละครหลักของเรื่องคุณเซระ ชอบที่จะคิดเรื่องเกี่ยวกับความหมายและคุณค่าของชีวิต ทางบริษัทเลยยกตำแหน่งใหม่ให้เธอเป็น CCO (Chief Culture Officer) หรือเป็นผู้ที่รับผิดชอบเรื่องวัฒนธรรมองค์กรไปเลย

.

ส่วนตัวผมคิดว่าเรื่องนี้อาจเป็นเรื่องที่ได้ยินกันบ่อยแล้ว แต่สิ่งที่หนังสือแนะนำ ก็คือการลองปรับจากสิ่งที่ชอบทำมาเป็นงานที่หาเงินได้ดู ไม่ว่าจะเป็นการเปิดธุรกิจเอง หรือทำงานบริษัท สิ่งที่เป็นงานอดิเรกอาจไม่สามารถสร้างรายได้แบบตรงไปตรงมาได้ แต่การพลิกแพลงเอาความชอบและทักษะในการทำงานอดิเรกนั้นมาสร้างรายได้ก็น่าจะพอมีช่องทางอยู่

.

.



2) ความสุขต้องออกมาจากภายในตัวเอง ว่า why ไม่ใช่ what หรือ how

.

เราต้องเข้าใจถึงเป้าประสงค์ หรือ คำว่าทำไม ทำไมเราถงึทำงานนี้ ทำไมเราถึงทำสิ่งนี้ ทำไมเราถึงมีชีวิตอยู่ และถ้าเราได้พบคำตอบแล้ว คำตอบนั้นอาจนำไปสู่ความสุขที่แท้จริง ซึ่งต่างจากการถามแค่ว่า เราต้องการอะไร หรือเราจะทำอย่างไรให้ได้มา

.

หนังสืออ้างถึงคำพูดอันโด่งดังของ คาร์ล จุง ที่กล่าวไว้ว่า สาเหตุที่สำคัญที่สุดของการไม่มีความสุข คือการตามหาความสุข

.

.



3) เปิดเผยตัวตน เพื่อแลกเปลี่ยนความคาดหวังกับคนรอบข้าง และปรับเข้าหาซึ่งกันและกัน

.

เรื่องนี้คงเด่นชัดมากในวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่น ซึ่งพนักงานหลายคนค่อนข้างสงวนท่าที และไม่ค่อยบอกความต้องการของตัวเองออกไปให้หัวหน้ารับรู้ ทำให้หลายๆครั้งเขาพลาดโอกาสสำคัญๆไป เพราะถ้าหัวหน้าไม่รับรู้ว่าเขาต้องการอะไร ก็คงจะคิดว่าเขาอยู่สุขสบายดี และไม่ได้แสวงหาโอกาสใหม่ๆ

.

ที่ผมชอบคือหนังสือเปรียบเทียบกับการเดทกับแฟน ซึ่งถ้าเราไม่บอกความต้องการกับอีกฝ่ายอีกฝ่ายก็คงจะคาดเดาไปต่างๆนาๆ และอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาได้ ถ้าสิ่งที่อีกฝ่ายคิดไม่ตรงกับที่ใจเราต้องการ

.

การบ่งบอกถงึสิ่งที่เราต้องการ นอกจากจะทำให้เราได้รับโอกาสใหม่ๆแล้ว ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้างอีกด้วย แม้เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่มันก็อาจช่วยหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และทำให้เราดำเนินชีวิตในแต่ละวันได้อย่างราบเรียบเพิ่มขึ้นด้วย

.

.



4) ลองทำกิจกรรม Life Journey

.

เหมือนเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้พนักงานได้ทบทวนตัวเอง ว่าตัวเองต้องผ่านร้อนผ่านหนาว ลงทุนลงแรงอะไรมาบ้างจนดันตัวเองมาได้ถึงที่เป็นอยู่แบบทุกวันนี้ และยังเป็นการช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานอีกด้วย

.

เพราะการบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองออกไป ทำให้เพื่อนร่วมงานของเรามีอารมณ์ร่วมกับตัวเรามากขึ้น เข้าใจเรามากขึ้นว่าทำไมเราถึงมีนิสัยแบบนี้ มีความชอบแบบนี้

.

นอกจากนี้แล้ว การเข้าใจถึงที่มาที่ไปของแต่ละคน ยังช่วยให้เรายอมรับความแตกต่างของเพื่อนร่วมงานได้มากขึ้นอีกด้วย

.

.

.


5) Let’s be uncomfortably excited

.

.

แน่นอนว่าในแต่ละครั้งที่เราต้องก้าวออกจากเซฟโซนไปลองเรื่องใหม่ เข้าไปยังโลกที่เราไม่รู้จัก เราก็คงจะกลัว แต่เป็นความกลัวที่ปนความตื่นเต้น

.

แต่ถ้าเราก้าวข้ามความกลัวดังกล่าวได้แล้ว เราก็จะได้ลงมือลองทำสิ่งใหม่สักที และการได้ลองทำสิ่งใหม่ๆนั้นอาจนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีกว่าที่เราคิด และยังเป็นการท้าทายตัวเอง ทำให้เราได้รู้จักกับตัวเองมากขึ้นอีกด้วย

.

.

.

.

………………………………………………………………………….

✍🏻ผู้เขียน: Piotr Feliks Grzywacz

✍🏻ผู้แปล:พนิดา กวยรักษา

🏠สำนักพิมพ์: Shortcut

📚แนวหนังสือ: พัฒนาตัวเอง

…………………………………………………………………………..

.

.

📚สนใจสั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

‪#‎หลังอ่าน ‪#‎รีวิวหนังสือ ‪#หนังสือ2020 #หนังสือ2563 #PlayWork #ทำงานให้สนุกเหมือนเล่น #PiotrFeliksGrzywacz #พนิดากวยรักษา #สำนักพิมพ์Shortcut #หนังสือพัฒนาตัวเอง

.

.



427 views0 comments

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page