รีวิวหนังสือ เศรษฐกิจโลก 1000 ปี
.
.
เป็นหนังสือที่เล่าประวัติศาสตร์พัฒนาการทางเศรษฐกิจของโลก ย้อนหลังไป 1,000 ปี เริ่มตั้งแต่ช่วงยุคกลาง โดยการพัฒนาของโลกในยุคนั้นจะยังอยู่ในฝั่งยุโรปซะเป็นส่วนใหญ่ แล้วค่อยๆแผ่กระจายความเจริญไปยังส่วนอื่นๆของโลก
.
ซี่งหนังสือจะเล่าในลักษณะเรียงตามลำดับเวลา โดยแต่ละช่วงเวลาประเทศต่างๆทั่วทุกมุมโลกมีการพัฒนาการอะไรบ้าง ซึ่งทำให้ผู้อ่านเปรียบเทียบได้ง่ายว่า ณ จุดเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ พัฒนาการของแต่ละประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว อยู่ในระดับไหน
.
เป็นหนังสือที่ย่อยส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์โลกในเชิงเศรษฐกิจได้เข้าใจง่ายมาก โดยจะเห็นชัดเจนว่า ช่วงแรกๆนั้นพัฒนาการทางเศรษฐกิจ คือเรื่องการใช้ระบบเงินตราที่เริ่มถูกทำให้เป็นสากล การค้าขายกันระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งของและทรัพยากรที่ในประเทศนั้นๆขาดแคลน และยังเพื่อการขยายอำนาจ การได้มาซึ่งแรงงานทาส การยึดครองดินแดนและการล่าอาณานิคม จนไปถึงการแข่งขันกันในเชิงวิทยาศาสตร์ การทำอุตสาหกรรม และเทคโนโลยี
.
คือหลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว ผมสามารถบอกได้เลยว่า การพัฒนาการทางเศรษฐกิจนั้นมีความเชื่อมโยงกับการวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์แง่อื่นๆ ทั้งการเมือง การปกครอง สังคมวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และการสงคราม แบบแยกออกจากกันไม่ได้
.
ตัวอย่างเช่น การแย่งชิงกันซึ่งอำนาจ และความยิ่งใหญ่ของชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงจักรวรรดินิยม นำไปสู่การค้นพบดินแดนใหม่ๆ นำไปสู่การค้นพบแร่ธาตุและทรัพยากรทางธรรมชาติที่กลายมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการใช้งานของมนุษย์ นำไปสู่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นการสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต่อยอดขึ้นมาเรื่อยๆจนมากลายมาเป็นโลกที่ทันสมัยแบบในยุคปัจจุบัน
.
แต่เส้นทางสู่การแย่งชิงความยิ่งใหญ่นั้น ก็นำไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อโรคไปในที่ต่าง ๆทั่วโลก นำไปสู่การค้าทาส การทำลายล้างทางอารยธรรม การล่มสลายของระบอบการปกครอง ระบอบเศรษฐกิจ และการสงคราม
.
สิ่งที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้ถูกสอดแทรกอยู่ในหนังสือเล่มนี้ทั้งสิ้น เพราะต้องเรียกได้ว่า ใน 1000 ปีที่ผ่านมานี้ สังคมมุนษย์วิวัฒนาการมาไกลมากจริงๆ ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบไปในแต่ละศตวรรษแล้ว โลกถูกพัฒนาขึ้นในอัตราเร็วที่มากกว่าเดิมมาก และประชากรในโลกมนุษย์ก็เติบโตแบบก้าวกระโดดเช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มาพร้อมกับการวัดมูลค่าการผลิต โดยเฉพาะดัชนีชี้วัดที่บ่งชี้มูลค่าการผลิตมวลรวมในประเทศอย่าง GDP ที่หนังสือชี้ให้เห็นมาตลอดเล่มว่ามีการเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในศตวรรษหลังๆมานี้
.
อ่านแล้วได้ความรู้ดีๆ เยอะมาก และได้มองประวัติศาสตร์ผ่านมุมมองการพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมเชื่อว่า หลายๆคนรวมถึงตัวผมด้วย ไม่เคยเรียนมาก่อนในวิชาสังคมในโรงเรียน เพราะแต่ละวิชาก็เน้นไปที่ศาสตร์ที่แต่ละแขนง เช่น ระบอบการปกครอง การสงคราม หรือพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ แต่ไม่มีวิชาไหนที่เน้นไปที่การพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ซี่งแท้จริงแล้วอาจเรียกได้ว่า ในมุมหนึ่งเศรษฐกิจคือผู้อยู่เบื้องหลัง และเป็นต้นตอของการพัฒนาการในด้านอื่นๆของสังคมมนุษย์ด้วยเช่นกัน
.
ถ้าจะให้ติด ก็คงจะเป็นเรื่องว่า หนังสือเล่าเนื้อหาที่เยอะมาก ครอบคุลมหลายเรื่องมาก จนอาจขาดความลึกในแต่ละเรื่องราว เหมือนแค่เกริ่นนำคร่าวๆเฉย ถ้าใครอยากศึกษาเรื่องไหนเพิ่มเติม ก็ต้องไปหาอ่านเพิ่มกันเอาเอง
.
สุดท้ายหนังสือไม่ยาว ถ้าไม่ได้อ่านลงลึก เจาะทุกเหตุการณ์ ชั่วโมงกว่าๆก็จบแล้วครับ และเป็นหนังสือที่อ่านเพลินมาก ยิ่งถ้าใครชอบเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ พัฒนาการของมุนาย์ ยิ่งพลาดไม่ได้ อ่านแล้วจะติดจนอยากรู้ตอนต่อไป และวางไม่ลงแน่นอนครับ
.
และอีกเช่นเคยครับ ผมขอสรุปสิ่งที่ผมได้หลักๆ จากหนังสือเล่มนี้ 3 ข้อ นะครับ
.
.
1) เศรษฐกิจคือผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนาการของสังคมมนุษย์ในหลายๆแง่
.
.
ขอเน้นย้ำอีกรอบครับว่า การพัฒนาการของสังคมมนุษย์ขาดมุมมองในเรื่องเศรษฐกิจไปไม่ได้เลย เงินทุนที่ต้องนำไปใช้ในการพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ นำไปใช้ในการทหาร นำไปใช้ในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ ล้วนมาจากการทำมาค้าขายกันทั้งสิ้น
.
การศึกษาและทำความเข้าใจกับวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของสังคมมนุษย์ จึงสมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะรวมมุมองในเชิงเศรษฐศาสตร์เข้าไปด้วยครับ
.
.
2) ประเทศต่างๆทั่วโลก ต่างมีช่วงเวลาเป็นของตัวเอง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า มันจะคงอยู่อย่างนั้นเสมอไป
.
.
เรื่องนี้เหมือนเป็นคติเตือนใจว่า แม้จะเคยยิ่งใหญ่แต่เพียงไหน ก็ไม่มีอะไรรับรองว่าความยิ่งใหญ่นั้นจะอยู่ตลอดไป
.
ตลอดเล่มของหนังสือ คือมีช่วงเวลาที่ประเทศต่างๆได้ขึ้นมาเรืองอำนาจ ทั้งในด้านการยึดครองดินแดน แสงยานุภาพทางการทหาร รวมไปถึงการเป็นผู้นำในด้านการผลิตในอุตสาหกรรม และการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ แต่ช่วงเวลาที่ว่านั้นก็อาจไม่ได้ยืนยาว อาจเป็นเพียงแค่ศตวรรษหนึ่ง หรืออาจเป็นเพียงแค่ทศวรรษเดียว
.
ตัวอย่างเรื่องญี่ปุ่น ก็เห็นภาพได้ขัดเหมือนกันครับ เมื่อช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ที่ญี่ปุ่นได้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้นำทางเทคโนโลยีด้านการผลิต สามารถผลิตสินค้าได้ราคาที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ และมีคุณภาพในระดับที่ได้มาตรฐานสากล มีบริษัทใหญ่ๆเกิดขึ้นมากมาย แต่เพียงแค่ทศวรรษเดียวเท่านั้น เศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็ต้องพังลงเพราะวิกฤตฟองสบู่ และปัญหาในด้านอื่นๆที่ค่อยๆสะสมจนระเบิดออกมาพร้อมกัน
.
การทำความเข้าใจและปรับตัวต่อสภาพความเปลี่ยนแปลงจึงดูเหมือนจำเป็น และแทบจะขาดไม่ได้เลย สำหรับทุกๆประเทศที่อยากอยู่รอดในระยะยาว
.
.
3) เราสามารถเข้าใจระบบต่างๆบนโลกได้มากขึ้น ผ่านการศึกษาประวัติศาสตร์
.
.
นี่เป็นข้อสรุปส่วนตัวของผมเอง ที่รู้สึกว่า ตัวเองมองโลกด้วยมุมมองที่ชัดเจน ครอบคลุม และหลากหลายมากขึ้น หลังจากอ่านหนังสือเชิงประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐกิจเล่มนี้
.
เราจะพอนึกออกว่า ระบบทุน การพัฒนาการขององค์ความรู้ การพัฒนาการด้านการเมืองการปกครองที่เปลี่ยนผ่านจากยุคสู่ยุค แนวคิดด้านทุนนิยม และสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ การคานอำนาจกันของมหาอำนาจ และเรื่องต่างๆอีกมากมาย
.
ซึ่งนอกจากจะเข้าใจกลไกลกาทำงานของระบบต่างๆบนโลกแล้ว ยังทำให้ตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ว่า แท้จริงแล้ว มนุษย์นั่นช่าง ดิบ เถื่อน แต่ก็มีความเห็นอกเห็นใจ (empathy) ต่อเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆด้วย ในเวลาเดียวกัน
.
.
.
.
.
.
.
………………………………………………………………………….
ผู้เขียน: ลงทุนแมน
สำนักพิมพ์: แอลทีแมน, บจก.
แนวหนังสือ: เศรษศาสตร์, ประวัติศาสตร์
…………………………………………………………………………..
.
.
สนใจสั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.
#หลังอ่าน #รีวิวหนังสือ #หนังสือ2020 #หนังสือ2563 #reviewหนังสือ #เศรษฐกิจโลก1000ปี #ลงทุนแมน #สำนักพิมพ์แอลทีแมน #หนังสือเศรษศาสตร์ #หนังสือประวัติศาสตร์
Comments