รีวิวหนังสือ เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด
.
.
‘ถ้าให้ย้อนกลับไปได้ จะบอกอะไรกับตัวเองตอนวัยรุ่น..... วัยรุ่น คือความเจ็บปวด จงเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน’
.
เป็นหนังสือที่ผมชอบมากที่สุด และทรงอิทธิพลที่สุดเล่มหนึ่งสมัยที่ผมได้อ่านครั้งแรกช่วงกำลังจะจบมหาลัย และมาได้อ่านอีกครั้งเพราะตาม Podcast ของคุณ รวิศ หาญอุตสาหะ ที่หยิบหนังสือเล่มนี้มาเล่าให้ฟังกันแบบเต็มๆ
.
หนังสือ เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด เขียนโดยอาจารย์คิมรันโด อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยที่ประเทศเกาหลี ที่เล่าเรื่องราวชีวิตวัยรุ่นของตัวเองตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรีด้านกฎหมาย เรียนปริญญาโทด้านบริหาร และปริญญาเอกที่อเมริกา จนกระทั่งกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยโซล ที่ประเทศเกาหลี
.
อาชีพอาจารย์ของผู้เขียน ทำให้เขาได้พบเจอกับวัยรุ่นในช่วงเปลี่ยนถ่ายจากการเป็นเด็กเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อยู่เรื่อยๆ นอกเหนือจากเรื่องราวของตัวเองแล้ว อาจารย์จึงได้พบเจอวัยรุ่นมากมายที่มีปัญหา และพยายามดิ้นรนต่อสู้เพื่อเอาชนะปัญหาเหล่านั้น
.
สำหรับหนังสือเล่มนี้อาจารย์คิมรันโด ก็ได้เรียบเรียงเนื้อหาสำคัญของบทเรียนชีวิตการเป็นวัยรุ่น การก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบาก การรับมือกับความคาดหวังของพ่อแม่ การประคองชีวิตให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ล้มเหลว การให้กำลังใจตัวเอง และการรับผิดชอบชีวิตของตัวเองเป็นครั้งแรก
.
เรียกได้ว่า เป็นวัยที่ยากลำบากที่สุดวัยหนึ่งเลยก็ว่าได้ และความจริงอันโหดร้ายคือ ทุกคนต้องเคยผ่านวัยดังกล่าว ต้องอยู่กับคืนวันที่เจ็บปวด ต้องโอบกอดมัน เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน และใช้มันเป็นแรงขับเคลื่อนไปสู่ชีวิตในวัยผู้ใหญ่ต่อไปให้ได้
.
หนังสือแบ่งออกเป็นบทย่อยๆ กว่า 40 บท โดยเป็นบทความสั้นๆจบในตอน อ่านแล้วเหมือนเป็นได้ทั้งกำลังใจและคำเตือนจากผู้ใหญ่ ผู้เคยอาบน้ำร้อนในวัยรุ่นมาก่อน หลายๆบทที่ผมอ่านก็รู้สึกว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นวัยรุ่น ก็นำบทเรียนไปใช้ต่อได้ หนังสือจึงอ่านได้ทุกเพศทุกวัย และเหมือนที่คุณรวิศบอกไว้ว่า หยิบมาอ่านแต่ละครั้งก็อาจได้ความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไป
.
แม้หนังสือจะเขียนมาเป็น 10 ปีแล้ว แต่ผมรู้สึกได้ว่า ความเจ็บปวดหลายๆอย่างที่วัยรุ่นต้องเผชิญนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย การสอบเข้าที่ยากลำบาก การรับมือกับความคาดหวังจากคนรอบข้าง ความรู้สึกเคว้งคว้างเมื่อหาตัวเองไม่เจอ ยังเป็นสิ่งที่วัยรุ่นทุกคนต่างพบเจออยู่ หนังสือจึงเหมือนยังใหม่อยู่เสมอ
.
ทั้งนี้ ผมจะขอดึงบทเด่นๆ ที่ผมชอบเป็นการส่วนตัว ออกมาเขียนเป็น 6 ข้อที่ได้หลังอ่านหนังสือ เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวดนะครับ
.
.
1) นาฬิกาของเรากี่โมงแล้ว
.
.
น่าจะเป็นเรื่องที่คลาสสิคที่สุดแล้วสำหรับหนังสือเล่มนี้ เพราะว่าวัยรุ่นหลายๆคนที่เพิ่งเริ่มต้นชีวิตทำงาน มักจะคิดกันอยู่เสมอว่าตัวเองผ่านชีวิตมาเยอะแล้ว แต่ถ้าคิดตามหลักนาฬิกาชีวิตของอาจารย์คิมที่เปรียบเทียบอายุ 80 ปีของชีวิตคนๆหนึ่ง กับเวลาในหนึ่งวันที่มี 24 ชั่วโมงนั้น
.
เข็มนาฬิกาของคนที่อายุ 24 ปี ซึ่งเป็นวัยรุ่นที่เพิ่งเรียบจบจากมหาลัย หรือวันเริ่มต้นทำงานก็เพิ่งชี้ที่เวลา 7 โมง 12 นาที ซึ่งเป็นเวลาเช้าตรู่ เป็นเวลาที่ในหนึ่งวันคนเรากำลังออกไปทำงาน ซึ่งเปรียบได้กับวัยรุ่นที่เพิ่งเรียนจบมหาลัย ก็กำลังก้าวเท้าเข้าสู่โลกของการทำงานในวัย 24 ปีนี้
.
พวกเขาจึงมีเวลาเหลืออยู่อีกมากที่จะได้เผชิญโลก ที่จะได้ทำงาน สร้างคุณค่าให้กับสังคม เปรียบเหมือนเข็มนาฬิกาชีวิตของเขาเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้นเอง
.
ในขณะเดียวกัน สำหรับคนที่อายุ 50 ปี เข็มนาฬิกาชิวิตก็เพิ่งอยู่ที่ประมาณบ่ายสามโมงเท่านั้น ยังมีเวลาเพียงพอที่จะได้ทำในสิ่งที่อยากทำอีกมากก่อนพระอาทิตย์จะตกดิน
.
ข้อคิดที่ได้จากเรื่องเข็มนาฬิกาชีวิตนี้คือ ไม่มีอะไรสายเกินแก้ ไม่มีอะไรมาเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป คนเรายังมีเวลาเหลืออีกมากที่จะได้ลงมือทำ ยังมีเวลาเหลืออีกมากที่จะได้ออกไปใช้ชีวิต
.
.
2) เราต่างผลิบานในเวลาที่แตกต่างกัน
.
.
เรื่องการรีบใช้ชีวิต รีบประสบความสำเร็จ นับเป็นค่านิยมที่ครอบงำสังคมสมัยใหม่และหมู่วัยรุ่นจำนวนมากมายาวนาน จนเกิดเป็นความกดดัน ความเครียด โดยเฉพาะคนที่ยังรู้สึกว่าตัวเองไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนๆในวัยเดียวกัน
.
อาจารย์คิมเปรียบเทียบชีวิตในเรื่องช่วงอายุในการประสบความสำเร็จกับดอกไม้ที่ผลิบานในแต่ละฤดู
.
คนที่ประสบความสำเร็จเร็ว ก็คือดอกไม้ที่ผลิบานในฤดูใบไม้ผลิ อาจเป็นดอกไม้ที่ผลิบานก่อน แต่นั่นก็ไม่ได้ความว่าดอกไม้ที่ผลิบานตมมาที่หลังในฤดูอื่นๆ จะงดงามน้อยไปกว่าดอกไม้ฤดูใบไม้ผลิ
.
ดอกไม้ที่ผลิบานในฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง หรือฤดูหนาว ต่างมีความงดงามเป็นของตัวเอง และคงจะเป็นการยากที่จะบอกว่าดอกไม้ชนิดไหนงดงสามที่สุด
.
ชีวิตคนเราก็คงไม่ต่างกัน คนเราต่างผลิบานในช่วงเวลาที่ต่างกัน บางคนอาจประสบความสำเร็จเร็ว ในขณะที่บางคนอาจต้องรอจังหวะและโอกาส ในการเปล่งประกายความสำเร็จที่ตามมาทีหลัง คนที่ต้องรอความสำเร็จเป็นเวลานานๆอาจรู้สึกท้อ หรืออิจฉาเหล่าบรรดาคนที่ประสบความเร็วเร็ว แต่ถ้าเราเข้าใจว่าทุกคนต่างมีเวลาที่ผลิบานเป็นของตัวเองแล้วนั้น เราคงจะไม่ท้อ และมุ่งหน้าไปตามความปราถนาของเราได้ดีขึ้น
.
สิ่งสำคัญที่อาจารย์คิมฝากไว้คือ สุดท้ายแล้วชีวิตวัดกันที่งานที่ทำกันเป็นงานสุดท้าย ไม่ใช่งานแรก ความสำเร็จของชีวิตวัดกันที่การทำความฝันให้เป็นจริงในที่สุด ไม่ได้วัดกันที่ใครทำความฝันให้เป็นจริงเร็วกว่าใคร มีหลายคนที่ต้องรอถึงอายุ 50-60 กว่าจะทำความฝันได้สำเร็จ เพราะฉะนั้นจงอย่าท้อ มุ่งหน้าทำตามความราถนาของเราต่อไป และเตรียมพร้อมรอวันที่เราจะผลิบาน
.
.
3) เราเป็นลูกธนู หรือเรือกระดาษ
.
.
อาจารย์คิมแบ่งนักศึกษาที่เข้ามาพบอาจารย์อยู่บ่อยๆออกเป็นสองกลุ่ม คือกลุ่มลูกธนูกับเรือกระดาษ ในขณะที่กลุ่มแรกมักจะมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีแผนการที่เป็นขั้นตอน และใช้ชีวิตด้วยการลงมือทำเพื่อพาตัวเองไปสู่เป้าหมายอยู่เสมอๆ เหมือนกับลูกธนูที่พุ่งทะยานตรงไปที่เป้า
.
กลุ่มที่สองกลับตรงกันข้าม กลุ่มเรือกระดาษเป็นกลุ่มลูกศิษย์ที่ไม่มีความแน่นอนกับชีวิต ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน สามารถโคลงเคลงไปมาตามคำแนะนำของคนรอบข้าง เหมือนกับเรือกระดาษที่ล่องลอยไปตามกระแสน้ำ
.
ในขณะที่ลูกศิษย์กลุ่มแรกอาจเป็นคนที่ขยันทำงาน และลงมือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ คำแนะนำที่อาจารย์มักจะเตือนลูกศิษย์เหล่านี้ไว้คือ ให้ลอง ‘แง้มประตูหัวใจไว้เล็กน้อย สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น’
.
เพราะถึงเราจะมีแผนการที่ชัดเจน มีแนวทางการลงมือทำที่ดียังไงก็ตาม แต่สุดท้ายชีวิตมักจะพาเราไปยังจุดที่เราไม่ได้คาดคิดไว้เสมอ เหตุการณ์ต่างๆมากมายที่เราต้องเผชิญระหว่างเส้นทางในการเดินทางอกตามหาความฝัน มักจะนำความเปลี่ยนแปลงมาสั่นคลอนความคิดและความฝันเล็กๆของเรา เราจึงต้องรู้จักปรับตัวและ เรียนรู้ที่จะเปิดรับโอกาสใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา อย่าเพิ่งปิดประตูหัวใจเพียงเพราะว่าเรามีเป้าหมายและแผนการที่ชัดเจนแล้ว
.
ในทางกลับกัน ลูกศิษย์กลุ่มเรือกระดาษ มักมีความโลเล ความไม่มั่นใจในความคิดของตัวเอง ทั้งที่จริงๆแล้วลูกศิษย์กลุ่มนี้อาจมีความคิดมากมายอยู่ในหัว พวกเขาอาจคิดเยอะมากจนไม่อาจตัดสินใจเลือกเดินทางไปในทางใดทางหนึ่งได้ อาจารย์คิมจึงให้คำปรึกษาด้วยการรับฟังเสียงในใจของพวกเขา และทำให้เขาค่อยๆ รู้คำตอบในสิ่งที่พวกเขาต้องการด้วยตัวเอง สิ่งที่อาจารย์แนะนำจึงเป็นเหมือนการเปิดโอกาสให้ลูกศิษย์กลุ่มนี้ค่อยๆทบทวนตัวเอง จนเข้าใจได้ว่าพวกเขาต้องการอะไรจริงๆ
.
แม้ลูกศิษย์กลุ่มหลังอาจเคลื่อนที่ช้า เมื่อเทียบกับกลุ่มลูกธนู แต่การลงมือทำไปทีละน้อย แล้วค่อยๆรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นก็คงจะช่วยพาให้พวกเขาไปถึงฝั่งฝันได้เหมือนกัน
.
.
.
4) พื้นไม่ได้ลึกอย่างที่คิด
.
.
ว่าด้วยเรื่องของการยอมละทิ้งบางอย่างที่คนเรามักยึดติดไว้นาน อาจารย์คิมเปรียบเทียบสถานการณ์นี้กับ การที่เรากำลังเกาะเชือกเส้นหนึ่งไว้ แล้วเมื่อมองลงไปข้างล่างก็ไม่เห็นพื้น เราจึงมักจินตาการว่าพื้นข้างล่างมันลึกมาก
.
แต่ในความเป็นจริงแล้ว พื้นอาจไม่ได้ลึกอย่างที่คิด การปล่อยมือลงมาจากเชือกอาจทำให้เราเจ็บเล็กน้อย ไม่ถึงกับตาย ไม่ถึงกับพิการ ความมืดที่เรามองไม่เห็นตอนเกาะเชือกก็เปรียบเหมือนความกลัวในใจเรา ที่คิดว่าถ้าเราไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการนั้น ชีวิตจะต้อพังพินาศไป แต่หลายๆครั้งการยอมล้อเลิก การปล่อยมือลงมาแล้วมองหาหนทางใหม่ก็อาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
.
ตัวอย่างที่อาจารย์คิมยกมาให้ฟังคือ การสอบเนติบัณฑิตที่ประเทศเกาหลี ซึ่งเป็นการสอบที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดมาก รุ่นพี่บางคนที่เรียนจบกฎหมายมาตอนป.ตรี ต่างพยายามใช้เวลาในการสอบเนติบัณฑิตปีแล้วปีเล่า จนผ่านไปเป็น 10 ปีก็ยังสอบไม่สำเร็จ หันไปอีกทีน้องที่สอบอยู่ข้างๆก็เกิดในปีนักษัตรเดียวกันแต่คนละรอบแล้ว
.
รุ่นพี่ที่เอาแต่สอบเนติบัณฑิตอย่างเอาเป็นเอาตายเป็นทศวรรษนี้อาจนำมาซึ่งผลเสียหลายประการ คือ อายุที่มากขึ้นอาจททำให้พวกเขาเข้าไปทำงานในบริษัทได้ยากขึ้น และทำให้มีความจำเป็นต้องออกไปเปิดธุรกิจส่วนตัวแทน ซึ่งเป็นตัวเลือกที่มีความเสี่ยงสูงกว่ามาก
.
เมื่อเทียบกับรุ่นพี่บางคนที่ยอมปล่อยมา ตกลงมาเจ็บเล็กน้อย แล้วมองหาเส้นทางอื่นที่เหมาะกับตัวเรามากกว่าอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า ตอนตกลงมาเราคงเจ็บ แต่ด้วยความเป็นวัยรุ่น อายุยังน้อย เจ็บไม่นาน เดี๋ยวก็หาย และพร้อมสยายปีกบินขึ้นไปใหม่
.
.
.
5) แม้วันนี้ลำบากจนอยากตาย แต่อาจมีใครหลายคนปราถนาอยากเป็นเรา แม้เพียงวันเดียว
.
.
หลายคนที่เจอมรสุมชีวิตอาจรู้สึกท้อ จนบางครั้งอาจไม่อยากมีชีวิตอยู่ แต่อาจารย์คิมอยากให้ลองมองออกไปในท้องถนนแห่งผู้คน แล้วคิดซะว่า อาจมีอีกหลายชีวิตที่อยากจะมาเป็นเรา แม้จะทำได้เพียงแค่วันเดียวก็ตาม
.
อาจมีอีกหลายชีวิตบนท้องถนนที่มีชีวิตที่ลำบากกว่าเรามาก อาจมีคนที่เจออุปสรรคที่ต้องต่อสู้ฝ่าฟัน จนอิจฉาในสิ่งที่ตัวเรามี และปราถนาอย่างแรงกล้าที่อยากจะมาเป็นตัวเรา แค่เพียงวันเดียวก็ยังดี
.
เรื่องนี้ให้บทเรียนว่า ในวันที่รู้สึกท้อ รู้สึกหดหู่ ให้ก้มลงมองคนที่ลำบากกว่า แล้วจงซาบซึ้งกับชีวิตตัวเองที่ได้เกิดมาแบบนี้ แต่ถ้าวันไหนเราอยากได้ดี ให้เงยหน้ามองคนที่อยู่สูงกว่า และอย่าทะนงตนจนเกินไป
.
.
6) มหาวิทยาลัย คือเส้นชัย หรือจุดออกตัว
.
.
หลายๆคนชอบเข้าใจผิดว่า ถ้าเข้ามหาลัยดีๆได้ คือได้กำชัยชนะของเกมชีวิตไปเรียบร้อบแล้ว แต่สำหรับอาจารย์คิมนั้น มหาลัยเป็นเพียงแค่จุดออกตัวเท่านั้น เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นสู่การต่อสู้ครั้งใหม่
.
คนที่เรียนจบจากมหาลัยดีๆ ไม่ได้จำเป็นต้องประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่จบมหาลัยไม่ดีมา เพียงแค่ได้เปรียบเรื่องจุดออกตัวเล็กน้อย ถ้าพูดให้ชัดขึ้นคือ ชื่อเสียงของมหาลัยอาจมีความสำคัญตอนสมัครงานเข้าทำงานใหม่ แต่หลังจากนั้นคือวัดกันที่ผลงานที่ทำได้ ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอีกต่อไป
.
ผู้บริหาร นักธุรกิจ หรือคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตมากมาย ไม่ได้จบจากมหาลัยที่มีชื่อเสียง แต่เป็นเพราะคนกลุ่มนี้กล้าเสี่ยงกับชีวิตแบบเต็มตัว จึงได้มาซึ่งโอกาส และประสบการณ์อันล้ำค่า
.
มหาวิทยาลัยจึงเป็นเหมือนสถานที่เตรียมความพร้อมให้ออกไปเผชิญโลกครั้งใหม่ เป็นสถานที่ที่เราจะได้ปลดปล่อยศักยภาพของเราและเตรียมมันให้พร้อมที่จะต่อสู้กับโลกความเป็นจริง
.
.
.
………………………………………………………………………….
✍🏻ผู้เขียน: คิมรันโด
✍🏻ผู้แปล: วิทิยา จันทร์พันธ์
🏠สำนักพิมพ์: springbooks
📚แนวหนังสือ: พัฒนาตัวเอง, จิตวิทยา
…………………………………………………………………………..
.
.
📚สนใจสั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.
.
#หลังอ่าน #รีวิวหนังสือ #หนังสือ2020 #หนังสือ2563 #reviewหนังสือ #เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด #คิมรันโด #วิทิยาจันทร์พันธ์ #สำนักพิมพ์ springbooks #springbooks #หนังสือพัฒนาตัวเอง #หนังสือจิตวิทยา
Comments