top of page

รีวิว หลักคิดที่คนญี่ปุ่นพกไปทำงานทุกวัน

  • Writer: หลังอ่าน: รีวิวหนังสือ
    หลังอ่าน: รีวิวหนังสือ
  • Aug 3, 2020
  • 1 min read

Updated: Oct 5, 2021


รีวิวหนังสือ หลักคิดที่คนญี่ปุ่นพกไปทำงานทุกวัน

.

.

‘ทุ่มสุดตัวทำเรื่องธรรมดาให้ดีที่สุด’

.

หนังสือที่มาเล่าเคล็ดลับการประสบความสำเร็จของผู้เขียน คาสุโยชิ โคมิยะ ตั้งแต่ที่เขาเริ่มทำงานในแบงก์ที่ญี่ปุ่น ได้ทุนของธนาคารไปเรียนต่อ mba ที่อเมริกา กลับมาทำงานในบริษัทที่ปรึกษา และบริษัทจัดหาบริการดูแลคนป่วยและผู้สูงอายุ จนกระทั่งกลับมาเปิดบริษัทที่ปรึกษาของตัวเอง จนดังและได้รับการยอมรับอย่างมากในญี่ปุ่น

.

คุณคาสุโยชิเล่าเคล็ดลับความสำเร็จไว้อย่างเรียบง่ายและชัดเจนมาก คือ เวลาทำอะไร ต้องทำอย่างทุ่มสุดตัว ทำสิ่งนั้นออกมาให้ดีที่สุด ไม่ว่างานนั้นจะดูไม่มีอะไรเลยก็ตาม

.

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าการทำงานแบบทุ่มสุดตัวนั้น ดูจะเป็นปัญหาสำหรับเด็กรุ่นใหม่ ที่หลายๆคนได้รับมอบหมายงานที่ไม่อยากทำ หรืองานที่ดูธรรมดาและไม่น่าจะก่อให้เกิด impact อะไรกับองค์กร หลายๆคนจึงทำงานพวกนี้เพียงส่งๆไป

.

แต่สำหรับผู้เขียนนั้น ไม่ว่าจะได้รับงานที่น่าเบื่อขนาดไหน เขาก็จะทำเต็มที่เสมอ แม้กระทั่งงานอย่างการทำความสะอาดห้องน้ำชาย ที่พอผู้เขียนได้มาเปิดบริษัทของตัวเอง ก็กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า พนังานทุกคนต้องมีหน้าที่ในการทำความสะอาดออฟฟิศไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ทุกๆเช้าก่อนเริ่มทำงาน โดยสำหรับตัวเขาเองคือทำความสะอาดห้องน้ำชาย

.

ถามว่าการทำความสะอาดห้องน้ำชาย ช่วยสร้างคุณค่าให่กับบริษัทของเขายังไง เขาก็บอกว่ามันทำให้เขาได้สังเกตเห็นถึงคราบสกปรกที่อยู่ตามซอกต่างๆในห้องน้ำ ทำให้เขากลายเป็นคนช่างสังเกต และช่วยให้เขาเอาทักษะดังกล่าวไปใช้กับการทำงานของตัวเองได้ด้วย

.

ส่วนอื่นๆของหนังสือก็จะเป็นเหตุผลรองรับว่า ทำไมเราถึงควรทุ่มเททำเรื่องธรรมดาทุกเรื่องอย่างดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฝึกสมาธิ การฝึกให้เป็นคนมีระเบียบวินัย และการต่อจุดในอนาคตที่ไม่มีใครคาดการณ์ได้

.

หลังอ่านจบแล้ว ผมก็คิดว่าเป็นหนังสือสไตล์ญี่ปุ่นอีกเล่มหนึ่งที่เน้นเขียนเล่าเคล็ดลับความสำเร็จจากประสบการณ์ของตัวเอง แน่นอนว่า เคล็ดลับของเขาคงไม่ได้เหมาะกับทุกๆคน เพราะมันมาจากประสบการณส่วนตัวมากกว่าที่จะมาจากผลวิจัยและข้อมูลสนับสนุนอย่างแน่นหนา แต่อ่านไว้ก็ไม่เสียหายอะไรครับ

.

คนที่ชอบศึกษาร่องรอยความสำเร็จของคนที่เดินน้ำหน้าอยู่ น่าจะถูกใจไม่น้อยกับหนังสือแนวนี้

.

.

ผมขอสรุปออกมาเป็น 5 ข้อที่ได้หลังอ่าน หนังสือ หลักคิดที่คนญี่ปุ่นพกไปทำงานทุกวัน นะครับ

.

.

1) ท่องคาถา ABC ทุกวัน

.

A คือ เรื่องธรรมดา

B คือ ทุ่มสุดตัว

C คือ ทำให้ดีที่สุด

.

นี่คือคาถาที่ผู้เขียนท่องทุกวันเมื่อไปทำงาน

.

ไม่ว่าเจาจะได้รับงานอะไรมาก็ตาม เขาก็จะทำอย่างสุดตัว มีสมาธิโฟกัสอยู่กับสิง่ที่อยู่ตรงหน้า จดจ่อไปกับมัน และลงมือทำมันอย่างเต็มที่ เพราะไม่มีใครรู้ว่าการที่เราตั้งใจทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าแบบเต็มที่นั้นจะช่วยทำให้ชีวิตของเราออกดอกออกผลเมือ่ไหร่

.

โอกาสอาจเข้ามาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้าเราไม่เตรียมพร้อม ทำงานแบบขอไปทีทุกๆวัน ตัวเราเองก็คงไม่มีความพร้อมที่จะรับโอกาสเหล่านั้น

.

เรื่องนี้ยังนำไปใช้กับการใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วย เรื่องของการทำความสะอาด เรื่องของการมีวินัยในการออกกำลังกาย

.

แน่นอนว่าเราไม่มีทางรู้เลยว่าเรื่องพวกนี้จะออกดอกออกผลเมื่อไหร่ แต่ถ้าวันนั้นมาถึงแล้ว ผู้เขียนเชื่อว่าเราจะต้องขอบคุณการทำอย่างเต็มที่ในทุกๆวันแน่นอน

.

.


2) มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม

.

ผู้เขียนเล่าว่า ชีวิตเป็นเหมือน ดังโงะ 4 ลูกที่เรียงตัวต่อกันอยู่บนไม้เสียบ ดังโงะสี่ลูกดังกล่าว คือ ตัวเราเอง ครอบครัวและเพื่อนผฝูง บริษัทหรือองค์กรที่เราทำงาน และสังคมประเทศชาติและโลกที่เราอยู่

.

สิ่งสำคัญคือ เราต้องบาลานซดังโงะทั้ง 4 ลูกนี้ให้สมดุล ตั้งตรงอยู่บนไม้เสียบ หรือเวลาเราทำงานเราต้องไม่คิดถึงแค่ว่าเราได้ประโยชน์อะไร แต่เราต้องคำนึงถึงครอบครัว คำนึงถึงองค์กร คำนึงถึงสังคมด้วยว่า งานของเราสร้างคุณค่าอะไรให้คนอื่นได้บ้าง

.

การที่เราคิดถึงแต่ตัวเอง และทำงานเพื่อให้ตัวเองได้เงิน เพื่อให้ตัวเองรวยขึ้น มีฐานะ ไม่อาจสร้างความสุขและความอิ่มเอมใจกับใจเราได้ พอทำไปนานๆเข้าเราอาจเกิดคำถามว่า งานที่ทำอยู่นั้นเราจะทำไปทำไมกัน

.

การมีจิตสาธารณะ และการคิดถึงผู้อื่นควบคู่ไปกับการทำงานจึงเข้าช่วยเรื่องนี้ได้

.

.


3) มองรายละเอียดให้เหมือนกล้องจุลทรรศน์ มองภาพรวมให้เหมือนกล้องส่องทางไกล

.

ข้อนี้ผมชอบมาก และผู้เขียนยกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างชัดเจนมาก เพราะเขาทำงานเป็นที่ปรึกษา เขาบอกว่าเวลาวางกลยุท์ให้ลูกค้า เขาจะต้องมองให้เห็นทั้งในรายละเอียดของตัวบริษัทลูกค้า และเศรษฐกิจระดับมหาภาค ก่อนที่จะสร้างกลยุทธ์ที่เหมาะสมไปเสนอบริษัทลูกค้า

.

เรื่องนี้เองที่เหมือนการมองจากมุมมองที่แตกต่างกันสองมุม ที่ให้ประโยชน์ต่างกัน ผมเองก็เห็นด้วยว่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้

.

.


4) ทบทวนตัวเองปีละ 365 ครั้ง

.

เป็นอีกเรื่องที่ผมชอบมากในหนังสือเล่มนี้ เป็นเรื่องที่ผู้เขียนเล่าว่า ตัวเขาเองได้จดบันทึกชีวิตประจำวันต่อเนื่องมาแล้วกว่า 17 ปี โดยเขาเขียนเพียงแค่วันละ 7-8 บรรทัดสั้นๆ เพื่อเป็นการเล่าถึงเหตุการณ์ในวันนั้น ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันดีหรือแย่สำหรับตัวเขา เขาได้บทเรียนอะไร หรือเขาได้รับความสำเร็จอะไรในแต่ละวัน

.

การเขียนบันทึก ทำให้เราได้ทบทวนตัวเอง และทำให้เราได้มองเห็นพัฒนาการของตัวเราว่า เรามีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง เราผ่านช่วงเวลาที่ดี และช่วงเวลาที่เลวร้ายมาได้ยังไง

.

‘ในช่วงเวลาที่ดี เราก็ควรนึกถึงช่วงเวลาที่เราเคยประสบมา เพื่อจะได้ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ในขณะเดียวกัน ในช่วงเวลาที่แย่ เราก็ควรนึกถึงช่วงเวลาที่ดีที่เราเคยประสบมา เพื่อสร้างกำลังใจ และทำให้เราก้าวเดินต่อไปในอนาคต ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ’

.

.


5) เราทำงานเพื่ออิ่มท้อง เพื่ออิ่มใจ หรือเพื่อผ่านไปวันๆ

.

เราควรตั้งคำถามกับตัวเองว่า งานที่เราทำอยู่นั้น เราทำมันเพียงเพื่อแลกกับการเลี้ยงชีพ ทำเพราะเราได้รับความสุขจากการทำ หรือเราแค่ทำเพื่อให้ผ่านพ้นไปอีกวันหนึ่ง

.

ผู้เขียนออกความเห็นว่ามันน่าเสียดายมากถ้าเราทำงานแค่เพื่อให้เราผ่านพ้นไปอีก 1 วัน เพราะเราจะปราศจากความรู้สึกอิ่มเอมใจ ความรู้สึกพึงพอใจในตัวเอง และความรู้สึกดีกับตัวเอง

.

พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ งานที่เราทำอาจมอบหลายสิ่งหลายอย่างให้เราได้มากกว่าที่เราคิด

.

คำถามผู้เขียนทิ้งไว้ เพื่อให้เราใช้ถามตัวเองจะได้รู้ว่า เราทำงานเพื่ออิ่มใจรึยังคือ ‘ถ้าเกิดใหม่ได้ เราจะยังทำงานนี้หรือไม่?’

.

.

.

.

.

.

………………………………………………………………………….

✍🏻ผู้เขียน: Kazuyoshi Komiya (คาสุโยชิ โคมิยะ)

✍🏻ผู้แปล: วีรวรรณ จารุโรจน์จินดา

🏠สำนักพิมพ์: Welearn

📚แนวหนังสือ : พัฒนาตัวเอง, บริการธุรกิจ

…………………………………………………………………………..

.

.

📚สนใจสั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

‪#‎หลังอ่าน ‪#หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #หลักคิดที่คนญี่ปุ่นพกไปทำงานทุกวัน #Welearn

コメント


Post: Blog2_Post

Subscribe Form

Thanks for submitting!

+66865274864

©2018 by Langarnbooksreview.com. Proudly created with Wix.com

bottom of page