top of page
Writer's pictureหลังอ่าน: รีวิวหนังสือ

รีวิว วิธีเอาตัวรอดในวงล้อมคนงี่เง่า





รีวิว วิธีเอาตัวรอดในวงล้อมคนงี่เง่า

(Surrounded by Idiots)

.

.

“ทำความรู้จักกับ ‘คน 4 สี’ ตามแบบ DISC แล้วจะไม่มีใครงี่เง่าอีกต่อไป”

.

ขอขอบคุณหนังสือจากสำนักพิมพ์ @Amarinhowto นะครับ

.

เป็นหนึ่งในหนังสือที่ดองรีวิวมาอย่างยาวนาน เพราะอ่านจบมาสักพักแล้ว และชอบมากกกกก ถึงมากกที่สุด

.

เพราะเป็นหนังสือ howto ที่พูดถึงความแตกต่างของคนสี่ประเภทตามแบบ DISC ที่หลายๆคนน่าจะเคยได้ยินกัน แต่ในหนังสือเล่มนี้ใช้ ‘สี 4 สี’ ในการแบ่งประเภทคน 4 แบบแทน

.

ส่วนตัวผมชอบมากที่หนังสือใช้สี 4 สีในการแบ่งเพราะช่วยให้จำคนแต่ละประเภทได้ง่ายขึ้น เพราะแต่ละสีเองก็ยังสะท้อนลักษณะเด่นของคนแต่ละประเภทออกมาได้ตรงสุดๆ

.

.

แล้วคำถามที่ว่าคนงี่เง่าคือใคร

.

หนังสืออธิบายไว้ตั้งแต่ต้นเล่มง่ายๆเลยว่า คือ ‘คนที่มีสีแตกต่างจากเรานั่นเอง’

.

โดยหนังสือกำหนดง่ายๆตั้งแต่ต้นเล่มว่า

D (Dominant) = สีแดง

เป็นกลุ่มคนประเภท ‘ครอบงำ’ คนอื่น

I (Inducement/ Inspiring) = สีเหลือง

เป็นกลุ่มคนประเภทชอบ‘โน้มน้าว’ คนอื่น

.

S (Submission/ Stable) = สีเขียว

เป็นกลุ่มคนประเภทชอบ ‘โอนอ่อนผ่อนตาม’ คนอื่น

.

C (Compliance) หรือ A (Analytic Ability) = สีน้ำเงิน

เป็นกลุ่มคนประเภทชอบการ ‘วิเคราะห์แจกแจง’ ให้คนอื่นฟัง

.

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า สีที่แตกต่างกันทั้ง 4 สีมาจาก ‘รูปแบบพฤติกรรมและวิธีสื่อสารกับคนอื่น’

.

แน่นอนว่าเราไม่มีทางอยู่ในโลกนี้ได้คนเดียว เราเลยต้องมีการติดต่อสื่อสารกับคนอื่นอยู่ตลอดเวลา แต่ ‘รูปแบบ’ ที่เราเลือกสื่อสารจะเป็นตัวกำหนดว่าเราอยู่ในกลุ่มคนสีอะไร

.

อีกเรื่องที่เราต้องรู้ไว้ให้ลึกก่อนก็คือว่า ไม่มีรูปแบบพฤติกรรมหรือการสื่อสารแบบไหนที่สมบูรณ์แบบ 100% ไม่มีพฤติกรรมแบบไหนที่ดีกว่าอีกแบบหนึ่ง ความมีประสิทธิภาพในการสื่อสารล้วนขึ้นอยูกับ ‘สถานการณ์’ โดยเฉพาะ ‘คนฟัง’ ที่เราเลือกสื่อสารด้วย

.

และนี่ยังเป็นเหตุผลหลักที่ว่าทำไมเราถึงควรรู้จัก ‘สี’ของคนที่เราสื่อสารด้วย เพราะว่าเราจะได้เลือกวิธีสื่อสารที่เหมาะสม และเกิดประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการทำงาน หรือเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัว

.

.

คำถามถัดมาคือ แล้วพฤติกรรมของแต่ละสีในตัวเรามีมาจากไหน หนังสืออธิบายคร่าวๆถึง หลักคิดแบบ ‘inside-out’ เรื่อง ‘ค่านิยมหลัก’ หรือ ‘ความเชื่อฝังหัว’ ที่อยู่กับเรามาอย่างยาวนานตั้งแต่ยังเด็ก และส่งผลต่อทัศนคติและแนวคิดของเรา รวมไปถึงพฤติกรรมของเราจริงๆ (เมื่ออยู่ตัวคนเดียว) และพฤติกรรมที่เราแสดงออกมาเมื่ออยู่กับคนอื่น

.

ซึ่งแน่นอนว่าในทางตรงกันข้ามนั้น หลักคิดแบบ ‘outside-in’ หรือการที่สภาพแวดล้อมภายนอกเองก็มีส่วนที่จะปรับพฤติกรรมของเราได้ ก็มีอิทธิพลเช่นกัน เพราะฉะนั้นแล้วโดยสรุปก็คือ

พฤติกรรมของเรา = การทำงานของ (บุคลิกภาพ x สภาพแวดล้อม)

.

.

การแบ่งกลุ่มคนตามแบบพฤติกรรมที่แสดงออกพื้นฐานเป็น 4 กลุ่ม ตามแกน 2 แกนทำให้เกิดมนุษย์ขึ้นมา 4 สี

แกนตั้ง : (บน) เน้นงานและสาระสำคัญ – (ล่าง) เน้นความสัมพันธ์

แกนนอน: (ขวา) ชอบแสดงออก, คิดออะไรทำอะไรด้วยตัวเองม นักปฏิบัติ – (ซ้าย) ไม่แสดงออก,ต้องกระตุ้น, สงวนท่าที

.

พอเอามารวมกันเลยได้เป็น

(บน) (ขวา) – สีแดง

ตอบสนองไว, ทุ่มสุดแรงกับการควบคุม, อยู่กับปัจจุบัน, ทำทันที, ชอบเสี่ยง, ไม่ระวังเรื่องความสัมพันธ์

.

(ล่าง) (ขวา) – สีเหลือง

ตอบสนองไว, ทุ่มสุดแรงกับการมีส่วนร่วม, ไม่สนใจสิ่งซ้ำซากจำเจ, อยู่กับอนาคต, ทำตามอารมณ์, ไม่ชอบอยู่คนเดียว

.

(ล่าง) (ซ้าย) – สีเขียว

ตอบสนองอย่างมีสติ, ทุ่มสุดแรงในการสร้างสายสัมพันธ์, ไม่สนใจการเปลี่ยนแปลง, อยู่กับปัจจุบัน, ทำในแบบแนวร่วม, ปฏิเสธความขัดแย้ง

.

(บน) (ซ้าย) - สีน้ำเงิน

ตอบสนองช้า, ไม่สนใจเรื่องความสัมพันธ์, อยู่กับอดีต, ระมัดระวัง, หลีกเลี่ยงการเข้าไปมีส่วนร่วม

.

.

ลักษณะเด่นของคนแต่ละสีจึงกลายเป็น

1. สีแดง - ไฟแรง, ทะเยอทะยาน, มุ่งมั่น, เน้นเป้าหมาย, กล้าตัดสินใจ, เน้นแก้ปัญหา, เน้นผลลัพธ์, นักริเริ่ม, รักษาเวลา, กล้าตัดสินใจ, เชื่อมั่นในความคิดของตัวเอง, พูดตรงไปตรงมา, เป็นตัวของตัวเอง

.

2. สีเหลือง – ช่างพูด, กระตือรือร้น, โน้มน้าวเก่ง, มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สูง, ชอบเข้าสังคม, มองโลกในแง่ดี, กล้าแสดงออก, มีชีวิตชีวา, สนใจแต่ตัวเอง, สร้างแรงบันดาลใจเก่ง, เข้ากับคนง่าย, เปิดกว้าง, นักสื่อสาร

.

3. สีเขียว - อดทน, สบายๆ, วางตัวดี, ใจเย็น, ซื่อสัตย์, ค่อยๆคิดค่อยๆทำ, ผู้ฟังที่ดี, ใส่ใจผู้อื่น, ชอบช่วยเหลือคนอื่น, เก็บความรู้สึก, ลังเล

.

4. สีน้ำเงิน – มีระบบระเบียบ, ทุ่มเทกับงาน, ตรงไปตรงมา, มีแบบแผน, ช่างคิดวิเคราะห์, ชอบความสมบูรณ์แบบ, เป็นขั้นเป็นตอน, เน้นคุณภาพ, เดินตามกฎ, ใส่ใจรายละเอียด, สงวนท่าที

.

.

พออ่านมาถึงตรงนี้ผมคิดว่าหลายๆคนน่าจะมีภาพในหัวอยู่แล้วว่า คนรอบตัวเรามีใครเป็นสีอะไรกันบ้าง การแบ่งคนตามสีเป็น 4 กลุ่ม และใช้คำบรรยายข้างต้นทำให้เห็นภาพชัดเจนมาก รอบตัวผมเจอมาครบทั้ง 4 แบบ แต่ยอมรับว่าอาจจะเจอคนแต่ละแบบไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับงานที่ทำ หรือคระในมหาลัยที่เรียนมา

.

หนังสือเล่าว่าตามงานวิจัยแล้ว ร้อยละ 80 ของคนเราประกอบไปด้วย 2 สีผสมกัน มีเพียงร้อยละ 5 ที่มีสีเดียวเด่นๆ และที่เหลือคือผสม 3 สี

.

เพราะเอาจริงถ้ามีอยู่แค่สีเดียวโดดๆ นิสัยก็อาจจะสุดโต่งเกินไป การมีสีผสมบ้างก็อาจเป็นเรื่อวดีอยู่แล้ว

.

.

ส่วนที่เหลือในหนังสือก็เป็นการเล่าเรื่องคนในแต่ละสีแบบละเอียดดด ตามประสบการณ์ของคนเขียน ซึ่งยิ่งเล่ายิ่งเห็นภาพชัดมาก เช่นคนสีแดงบ้างานมาก พวกหัวหน้า ชอบตัดสินใจ ชอบสั่ง ชอบการลงมือทำ พวกสีเหลืองช่างพูด พูดเก่ง พูดไม่หยุด และไม่ค่อยฟังคนอื่น พวกสีเขียว ตัดสินใจช้า ทำตัวเฉื่อยๆ รอไหลตามคนอื่นไปเรื่อย ส่วนพวกสีน้ำเงิน ทำงานช้าแต่ละเอียดมาก และเป็นพวกคลั่งความสมบูรณ์แบบ

.

อ่านๆดูเรื่องราวขอแต่ละสีแล้ว จะรู้สึกถึงด้านลบที่รุนแรงมากของคนแต่ละสี ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นที่มาของคำว่าคนงี่เง่า (idiots) ตามชื่อหนังสือนี้ โดยเฉพาะจากมุมมองของคนสีอื่น โดยเฉพาะสีที่อยู่ตรงกันข้ามกันอย่างชัดเจน

.

.

ส่วนที่ผมชอบมากและคิดว่าช่วยให้คนอ่านจดจำคน 4 สีได้ดีขึ้นก็คือ การเล่าว่าในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งนั้น คนทั้ง 4 สีตอบสนองยังไง

.

ทั้งนี้ผมขอยกมาเล่าสัก 3 เหตุการณ์จากในหนังสือให้เห็นภาพนะครับ

.

เหตุการณ์ที่ 1: เมื่อคนๆหนึ่งเดินผ่านคราบน้ำมันที่หกอยู่บนพื้นในโรงงานที่ตัวเองทำงานอยู่

ถ้าคนๆนั้นเป็น...

ก) สีแดง - สั่งให้คนงานแถวนั้นมาเช็ดคราบน้ำมันที่หกนั้นโดยเร็วที่สุด

ข) สีเหลือง – เดินผ่านไปและลืมเรื่องคราบนั้นภายใน 5 นาที เพราะไม่เกี่ยวอะไรกับตัวเอง

ค) สีเขียว - ไม่ทำอะไร แต่รู้สึกผิดที่ตัวเองไม่ได้มีส่วนช่วยในการป้องกันหรือแก้ไขเรื่องนี้

ง) สีน้ำเงิน – วิเคราะห์สาเหตุการเกิดคราบน้ำมันแบบละเอียด อาจหาสาเหตุไปถึงต้นตอจริงๆของปัญหา เขาอาจเริ่มจากเดินไปถามคนงานแถวนั้นว่า ทำไมจึงมีน้ำมันหก ถ้าคนงานตอบว่าเครื่องจักรทำงานผิดปกติ เขาก็จะไล่ถามต่อไปจนได้รู้สาเหตุจริงๆ

.

จากเหตุการณ์นี้ทำให้เราทราบว่า คนทั้ง 4 สีมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไปอย่างชัดเจน

.

.

เหตุการณ์ที่ 2: เมื่อถึงเวลาในการจัดทริปพักผ่อนประจำปีของบริษัท

ในที่ประชุมนั้น...เหตุการณ์นี้มักจะเริ่มลำดับเป็นดังต่อไปนี้

1. คนสีเหลืองเสนอไอเดียขึ้นมากลางที่ประชุมว่า เราทำงานกันมาหนักมากแล้ว ถึงเวลาพักและไปพักผ่อนกันสักที เราลองจัดทริปสั้นๆไปพักที่ภูเก็ตสุดสัปดาห์นี้กันเถอะ

2. คนสีแดงซึ่งมักเป็นหัวหน้างาน ตอบตกลงในทันที เขาตัดสินใจภายใน 5 นาที แล้วชี้นิ้วไปที่ลูกน้องสีเขียว 2 คน ให้หาสถานที่ และป่าวประกาศออกไปให้ทั่วบริษัท

3. คนสีเขียว 2 คนที่นั่งหลบอยู่ตรงด้านหลังของที่ประชุมซึ่งไม่เป็นจุดสนใจ และเป็นที่นั่งประจำดั้งเดิมมาแต่ยาวนาน จะตอบตกลงแบบเฉื่อยๆ ขี้เกียจๆทำ

4. สุดท้ายคนสีน้ำเงินจะพูดขึ้นมาว่า แล้วเราจะไปกันยังไง? ภูเก็ตไกลจะตายไป? บริษัทเรามีงบประมาณพอรึเปล่า?

.

เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า คนสีเหลืองจะเป็นคนริเริ่มไอเดียใหม่ๆ คนสีแดงทำหน้าที่ตัดสินใจ คนสีเขียวคล้อยตาม รอรับคำสั่ง และคนสีน้ำเงิน วิเคราะห์รายละเอียดของไอเดียใหม่ และเก็บตกเรื่องเล็กๆน้อยที่อาจะเป็นอุปสรรค

.

.

แต่ที่น่าสนใจคือ ถ้าคนทั้ง 4 สีได้กินเหล้าแล้ว ทุกอย่างอาจกลับตาลปัตรก็เป็นได้ คนสีเขียวที่หงิมๆ รอรับคำสั่งอย่างเดียว อาจเป็นคนลุกขึ้นมาด่าหัวหน้าสีแดงที่กลายเป็นคนหงอ ส่วนคนสีน้ำเงินจากที่เงียบๆเก็บตัว ก็อาจจะพูดเก่งแล้วลุกขึ้นมาเต้นรำบ้าบอบนเวที ในขณะที่คนสีเหลืองเดินไปดราม่าร้องไห้อยู่ริมระเบียงคนเดียว

.

ฤทธิ์ของเหล้ามันแรงจริงๆ ไม่เชื่อต้องไปพิสูจน์

.

.

เหตุการณ์ที่ 3: เมื่อคนทั้ง 4 กลุ่ม ต้องจับกลุ่มกับสีตัวเองล้วนๆ ในการทำงานกลุ่มที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จภายในเวลา 1 ชั่วโมง

.

a) กลุ่มสีแดงล้วน – ทำเสร็จก่อนเวลา เถียงกันอย่างเมามันมาก ต่างคนต่างทำเมื่อเกิดความเห็นไม่ลงรอย สุดท้ายงานอาจขาดบางมิติที่สำคัญไป

.

b) กลุ่มสีเหลืองล้วน - เป็นกลุ่มที่ทำงานกันอย่างสนุกที่สุด เสนอไอเดียกันอย่างออกรสชาติ มีความคิดสร้างสรรค์มากมายถูกใส่เข้ามา มีการคุยกันอย่างเจี้ยวจ้าว ทุกคนอยากนำเสนอ แย่งกันพูดคนละนิดละหน่อย แต่งานที่ได้มีรูโหว่เยออะมาก

.

c) กลุ่มสีเขียวล้วน – คิดถึงงานที่ได้รับมอบหมายในช่วง 10 นาทีแรก และเริ่มคุยเล่นเรื่องหมาที่บ้านของคนหนึ่งในกลุ่ม และเลยเถิดไปเรื่องอื่นๆ มีคนมาทำงานแบบช้าๆอยู่ 2- 3 คน งานไม่เสร็จภายในเวลาที่กำหนด และทุกคนเกี่ยงกันว่าใครจะเป็นคนพูดนำเสนอ

.

d) กลุ่มสีน้ำเงินล้วน – ใช้เวลาค่อนชั่วโมงในการวิเคราะห์โจทย์ที่ได้รับมา ถกเถียงกันอย่างดุเดือดในรายละเอียดต่างๆ สุดท้ายทำงานไม่เสร็จและบอกว่าต้องการเวลามากกว่านี้

.

เรื่องนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่ากลุ่มที่ประกอบไปด้วยคนสีเดียว ไม่อาจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากลุ่มคนที่รวมตัวกันมาจากคนทั้ง 4 สี

.

.

คีย์เมสเสจที่สำคัญในช่วงหลังของหนังสือคือการจับกลุ่มกันทำงานของคนแต่ละประเภท แน่นอนว่าบางคู่จัดเป็นคู่ที่ทำงานกันได้ลงตัวมาก เช่นคนสีแดง-คนสีเหลือง ที่ทั้งคู่เน้นความเร็ว แต่สีแดงเน้นให้งานเสร็จ ในจณะที่สีเหลืองเน้นความสนุกในการทำงาน

.

อีกคู่ที่พอไปกันได้ คือสีแดง-น้ำเงิน ที่แดงเน้นเร็ว ตัดสินใจไปได้ และสีน้ำเงินคอยเบรคให้เพิ่มเติมความละเอียดรอบคอบ

.

ส่วนคู่ สีเหลือง-เขียว ก็พอไปได้โดยเหลืองสร้างความสนุกให้กับวงสีเขียว โดยทำตัวเป็นจุดเด่น และเล่าเรื่องตลกเพื่อกระชับความสัมพันธ์กันเป็นระยะ ส่วนสีเขียวที่เน้นความสัมพันธ์เหมือนกันก็คอยคล้อยตามไปกับเรื่องบ้าๆของสีเหลือง

.

ส่วนคู่ที่ดูจะไม่ลงรอยที่สุดคือ สีเหลือง-น้ำเงิน โดยที่เหลืองเน้นความสัมพันธ์ เน้นความสนุก เน้นไอเดียใหม่ๆ เน้นความคิดสร้างสรรค์ ความฟุ้งๆลอยไปลอยมาในอากาศ ในทางตรงกันข้ามเกือบทั้งหมด สีน้ำเงิน เน้นความจริงจัง เน้นความรอบคอบ เน้นความเป็นไปได้ของไอเดีย ทั้งคู่จึงมักมีปากเสียงอยู่บ่อยครั้งถ้าโดนจับมาทำงานด้วยกัน

.

.

อีกเรื่องที่อยากแชร์คือ วิธีในการระบายอารมณ์ของทั้ง 4 สี

1) สีแดง – ขนาดความบรรจุอารมณ์โกรธเท่าเป๊กเหล้า โกรธง่ายหายเร็ว ระเบิดบ่อย แต่ก็แค่ช่วงสั้น

2) สีเหลือง – ขนาดบรรจุอารมณ์เท่าแก้วน้ำดื่ม โกรธไม่บ่อยเท่าสีแดง แต่ระเบิดอารมณ์ทีจะรุนแรงกว่า

3) สีเขียว – ขนาดบรรจุอารมณ์เท่าถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ นานๆน้ำจะเต็ม และระเบิดอารมณ์ออกมาที แต่ถ้าระเบิดจะรุนแรงและหายช้ามาก

4) สีน้ำเงิน - ไม่เคยโกรธ ขนาดบรรจุอารมณ์เหมือนถังขนาดใหญ่แบบสีเขียวแต่มีรูให้น้ำไหลออกได้ตลอดเวลา

.

สุดท้ายของสุด้ายจริงหนังสือบอกว่า ถ้าเราอยากทำงานกับใคร หรือสร้างความสัมพันธ์กับใครให้เกิดประสิทธิภาพ ก็คือต้องทำตัวเป็นประเภทเดียวกับคนนั้นๆ เช่นเจอคนสีแดง ก็เน้นความตรงประเด็น เน้นความรวดเร็ว เจอคนสีเหลืองเน้นพูดคุยให้สนุก เจอคนสีเขียวเน้นความอบอุ่นสบายใจ เจอสีน้ำเงิน เน้นข้อมูล เน้นหลักฐานที่หนักแน่น

.

.

อ่านจบแล้วต้องบอกว่า เป็นหนังสือ 300 หน้าที่สนุกมาก อ่านได้ไม่เบื่อเลยย มีเรื่องเล่าน่าสนใจอยู่เต็มเล่ม และอ่านแล้วได้ประโยชน์นำไปใช้ได้กับการทำงานจริงๆในที่ทำงาน

.

ทั้งยังได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ว่าเราเป็นพวกสีอะไร แล้วทำไมเราถึงมักมีปัญหากับสีอื่นๆที่มีนิสัยต่างจากเรา

.

ส่วนตัวผมมีความเป็นสีแดงที่โดดเด่นมาก และรู้สึกได้ว่าอึดอัดถ้าต้องทำตัวเป็นสีอื่นๆ โดยเฉพาะสีตรงกันข้ามอย่างสีเขียว เหมือนกับว่าเราถูกบังคับให้ดึงลักษณะส่วนน้อยของเราออกมา แต่ถ้าได้ทำงานนลักษณะของสีแดงจะลื่นไหลกว่ามาก การเข้าใจและยอมรับในสีที่ตัวเองเป็นจึงเป็นสิ่งสำคัญ

.

นอกจากนี้เรายังเข้าใจธรรมชาติของคนรอบตัวเราคนอื่นๆด้วย แฟนเราเป็นคนสีอะไร ทำไมเขาถึงชอบทำพฤติกรรมแบบนั้น เพื่อนเราทำไมถึงชอบพูด เจ้านายเราทำไมถึงชอบสั่ง หรือลูกน้องเราทำไมสุดจะขี้เกียจ

.

อ่านแล้ว พอเราได้เจอเพื่อน อาจจะเอาป้าย label ไปปักไว้กลางอกเพื่อนว่า

- ไอนี่สีเหลือง พูดเก่ง พูดอยู่คนเดียว พูดไม่หยุด ไม่เคยฟังเลย แต่อยู่ด้วยแล้วสนุกดี

- ไอนี่สีแดง อารมณ์ร้อนตลอด ขี้หงุดหงิดเป็นบ้า แต่ช่วยเราตัดสินใจเรื่องยากๆได้

- ไอนี่สีเขียว โคตรของโคตรเฉื่อยๆแต่อยู่ด้วยแล้วสบายใจดี

- ไอนี่สีน้ำเงิน พวกบ้าความสมบูรณ์แบบ ละเอียดโคตรๆ แต่งานออกมาดีแน่ๆถ้าโดนกระตุ้นหน่อย

.

.

รับประกันได้เลยครับว่า เล่มนี้ควรอ่านก่อน 30 แน่นอนครับ โดยเฉพาะในวัยเริ่มทำงานหาประสบการณ์

.

.

สั่งซื้อหนังสือได้ที่

.

.

.........................................................................................................................................................................

ผู้เขียน: Thomas Erikson

ผู้แปล: ประเวศ หงส์จรรยา

จำนวนหน้า: 328 หน้า

สำนักพิมพ์: อมรินทร์ How To, สนพ.

เดือนปีที่พิมพ์ : 2021

.........................................................................................................................................................................

.

.

#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อน30 #100เล่มควรอ่านก่อน30 #วิธีเอาตัวรอดในวงล้อมคนงี่เง่า #SurroundedbyIdiots #disc #disa #ThomasErikson #amarinhowto


858 views0 comments

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page