เล่มที่ 4: พลังของคนกล้าทำอะไรคนเดียว
.
‘เลิกถามลูกว่า ได้เพื่อนใหม่รึยัง’
.
ประโยคข้างต้นเป็นตัวบ่งบอกเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ได้ดีมาก เนื่องจากในสังคมยุคปัจจุบัน คนเรามักมีความเข้าใจผิดว่า การใช้ชีวิตคนเดียวนั่นน่ากลัว การใช้ชีวิตคนเดียวเป็นเรื่องเลวร้าย ชีวิตเราต้องมีเพื่อน ต้องพึ่งพาสังคม ต้องมีปฏิสัมพันธ์
.
แต่แท้จริงแล้ว เราอาจหลงลืมไปว่า การใช้ชีวิตคนเดียวก็มีเสน่ห์ในแบบของมัน เวลาอยู่คนเดียวอาจเป็นช่วงเวลาที่เราเกิดความรู้สึกดีๆกับตัวเองก็เป็นได้
.
หนังสือเล่มนี้ทั้งเล่มเหตุผลว่า ทำไมการอยู่คนเดียวจึงเป็นช่วงเวลาที่คุณค่า และเราทุกคนควรจะแบ่งเวลาไว้อยู่คนเดียวบ้าง โดยสาเหตุหลักนั้นก็คงจะเป็นเรื่อง ‘การสะท้อนตัวตน (self-reflection)’ หรือการที่เราได้นั่งพูดคุยกับตัวเองจนเป็นนิสัย
.
คำถามคือ เราสะท้อนตัวตนไปทำไม?
.
คำตอบง่ายๆคงจะเป็น มันทำให้เรารู้จักตัวเองดีขึ้น
.
คำตอบยาวกว่านั้นหน่อยคงจะเป็น มันทำให้เรารู้ว่าตัวตนของเราจริงๆเป็นคนยังไง อะไรที่เราชอบทำ อะไรที่เราไม่ชอบ สิ่งที่หัวใจเราเรียกร้องใฝ่หาคืออะไร ค่านิยมที่เรายึดถือคืออะไร สิ่งใดทำให้เราเกิดความสุขในใจเราจริงๆ เราเป็นใคร มาจากไหน และต้องการจะไปที่ไหนต่อ
.
การที่เราอยู่กับคนอื่นตลอดเวลา ทำให้เราไม่ได้ยินเสียงในหัวเหล่านั้น เสียงในหัวอาจถูกบดบังไปโดยเสียงของคนรอบตัว หรือเสียงของสังคม สิ่งที่เราต้องการจริงๆถูกกลืนไปกับค่านิยมการใช้ชีวิตในสังคม เรื่องที่เราอยากทำก็ถูกลบเลือนไปจากคำแนะนำของคนรอบข้าง
.
แต่การสะท้อนตัวตนนั้นเพียงจุดเริ่มต้น เมื่อเรารู้แน่ชัดแล้วว่าอัตลักษณ์ในตัวตนของเราเป็นยังไง เราต้องใช้ความกล้ามาช่วยด้วย เริ่มจากกล้าที่จะยอมรับในแบบที่ตัวเองเป็น กล้าที่จะรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตัวเอง กล้าที่จะใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง โดยไม่สนไม่แคร์ว่าคนอื่นจะมองเรายังไงตรายเท่าที่เราไม่ได้ไปทำความเดือดร้อนให้ใคร
.
การจะใช้ชีวิตในแบบของตัวเองนี้ แน่นอนว่ามันอาจไปขัดกับค่านิยมทางสังคม โดยเฉพาะถ้าไลฟ์สไตล์ของเราไม่เหมือนกับของคนทั่วๆไปในสังคม ความกล้าที่จะลุกขึ้นมาเป็นตัวของตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก และหลายๆครั้งนั่นหมายถึงการลุกขึ้นมาทำอะไรคนเดียวด้วย
.
แต่สุดท้ายแล้วนั้น การใช้ชีวิตแบบมีความกล้าที่จะไรคนเดียวนี้ กลับมีผลดีมากมาย ทั้งต่อการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว หนังสือพูดไว้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ซึ่งหลายๆครั้งมักจะเกิดในตอนที่เราอยู่กับตัวเอง ปล่อยให้ความคิดในหัวได้ตกผลึกและผลิดอกออกผล
.
หรือเรื่องความสัมพันธ์กับคนรอบตัวที่ดีขึ้น เช่น กับแฟน ถ้าเราต้องพึ่งพิงอีกฝ่ายตลอดเวลา เราก็จะเหมือนล่ามโซ่อีกฝ่ายไว้ จนอิสระของทั้งสองคนลดน้อยลง และเกิดการเข้าไปก้าวก่ายอีกฝ่ายหนึ่งจนเป็นปัญหาขึ้นมา ในทางกลับกันถ้าเราเว้นช่องว่างแต่เพียงพอดี แล้วปล่อยให้ทั้งสองคน ได้ดำเนินชีวิตตามแนวทางตัวเองบ้าง ความสัมพันธ์ก็คงจะยั่งยืนกว่าในระยะยาว
.
ยังไม่รวมถึงเรื่องลูก เรื่องการพัฒนาการที่หลายครั้งๆ ต้องอาศัยการทำอะไรคนเดียว การที่ไม่มีเพื่อนไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย เราจึงควรเลิกถามลูกได้แล้วว่า วันนี้ได้เพื่อนใหม่แล้วรึยัง เพราะสุดท้ายแล้วเราต้องปรับทัศนคติของคนที่ชอบทำอะไรคนเดียวใหม่ อย่าไปลงโทษ อย่าไปตีตราว่าคนไม่มีเพื่อนคือคนไร้ค่า และอย่ากดดันลูกว่าชีวิตคนเราต้องมีเพื่อนตลอดเวลา
.
.
โดยรวมแล้วหนังสืออ่านสนุกมาก เป็นเหมือนรวมเล่มบทความสั้นๆ เกี่ยวกับ ‘ความจำเป็นของคนยุคใหม่ในการทำอะไรคนเดียว’ เพราะเข้าใจได้ว่าในสังคมญี่ปุ่นนั้น คนจำนวนมากยังยึดติดกับค่านิยมที่ต้องทำตามสังคมคนหมู่มากอยู่ การกล้าที่จะออกมาทำอะไรคนเดียวจึงดูเป็นเรื่องยาก แม้แต่เรื่องง่ายๆอย่างการกินข้าวกลางวันคนเดียว ยังเป็นสิ่งที่หลายคนกลัวมาก (Lunchmate Syndrome) แต่ความเป็นจริงแล้วถ้าเราปรับทัศคติซะใหม่ เราก็อาจมีมุมมองต่อคนที่ทำอะไรคนเดียวต่างออกไป
.
เพราะโดยสรุปแล้ว คนที่กล้าออกมาทำอะไรคนเดียว ก็คือ ‘คนที่กล้าใช้ชีวิตในแบบที่หัวใจตัวเองเรียกร้อง’ เท่านั้นเองครับ
.
หนังสือแปลจากญี่ปุ่น โดยผู้เขียน เลิกเป็นคนดีแล้วจะมีความสุข แบ่งเป็นบทสั้นๆ ย่อยๆ รวมประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนพร้อมกับข้อคิดดีๆที่เป็นข้อๆจบในตอนสไตล์หนังสือญี่ปุ่น อ่านเพลินครับ มีการปล่อยมุกจิกกัดคนรอบตัวผู้เขียนบ้างเล็กน้อย
.
เหตุผลสั้นๆ 3 ข้อที่ควรอ่านก่อนอายุ 30
.
1) ทุกวันนี้เราติดเพื่อนมากเกินไปรึเปล่า?
2) ทุกวันนี้เรากลัวสายตาของคนรอบข้างมากเกินไปรึเปล่า?
3) ทุกวันนี้เรากลัวการกินข้าวกลางวันคนเดียวรึเปล่า?
ถ้าคำตอบใช่หมดก็ลองหยิบเล่มนี้มาอ่านกันดูได้เลยครับ
73 ข้อควรรู้ก่อนอายุ 30 จากหนังสือ พลังของคนที่กล้าทำอะไรคนเดียว
.
1. วุฒิภาวะอันสมบูรณ์จากการอยู่คนเดียวหรือทำอะไรคนเดียว คือความสุกปลั่งของการเป็นผู้ใหญ่
.
2. การทำอะไรคนเดียวไม่ใช่เรื่องเลวร้าย เราเชื่อไปเองต่างหากว่ามันเลยร้าย
.
3. พลังของคนที่กล้าทำอะไรคนเดียว คือการใช้ชีวิตท่ามกลางความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม โดยที่ยังตั้งมั่นในความคิดของตัวเองและรับผิดชอบต่อชีวิตตัวเองได้
.
4. เราจะเกิดความรู้สึกดีกับตัวเองได้ เมื่อเราพูดคุยกับตัวเอง หรือที่เรียกว่าการสะท้อนตัวตน (self-reflection) จนเป็นนิสัย
.
5. การเรียนรู้เชิงลึกเกี่ยวกับจิตใจตัวเอง (self-deep learning) เป็นการช่วยให้เราได้พัฒนาจิตใจตัวเอง
.
6. การกล้าทำอะไรคนเดียวในความหมายของหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้หมายถึงการพยายามหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์จากผู้อื่น หรือการใช้ชีวิตอย่างอ้างว้างโดยไม่มีใครสนใจ แต่หมายถึงความสันโดษที่จะเดินบนเส้นทางที่ตัวเองเชื่อมั่นด้วยลำแข้งของตัวเอง
.
7. เวลาอยู่กับคนอื่นเราก็สนุก เวลาอยู่คนเดียวเราก็สนุกได้เหมือนกัน นี่คือความหมายของการกล้าทำอะไรคนเดียว
.
8. เลิกกลัวการทำอะไรคนเดียว คนที่เลิกไม่ได้ ไม่ได้ขัดเกลาเอกลักษณ์ของตัวเอง คนที่เลิกได้ ได้ขัดเกลาเอกลักษณ์ของตัวเองและมีเสน่ห์มากขึ้น
.
9. การที่ไม่คุ้นเคยกับการพูดคุยกับตัวเองมักมีปัญหาเมื่อต้องเผชิญหน้ากับตัวเอง หรือที่เรียกว่าการวิเคราะห์ตัวตน
.
10. ถ้าเรามีความเชื่อมั่นในตัวตนของตัวเองแล้ว ต่อให้คนอื่นมีปฏิกริยาในแง่ลบกับเรา แต่เราก็เลือกได้ว่าจะยอมรับหรือปล่อยผ่านไป
.
11. เราต้องรู้จักการยอมรับตัวเองและแสดงตัวตนแบบนั้นออกไป แม้ว่าเราจะเป็นคนอ่อนแอ แต่เราก็จะไม่กังวลอีกต่อไป
.
12. ถ้าเรามีอัตลักษณ์ที่ชัดเจน เราจะมั่นคงทางอารมณ์ เราจะไม่รู้สึกเหงาเวลาอยู่คนเดียว จะมีความสุขด้วยซ้ำไป
.
13. ยิ่งเราพยายามเก็บกดตัวตนและทำตัวกลมกลืนกับคนอื่นมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยว แม้จะมีคนอยู่รอบข้าง
.
14. เลิกอยู่กับใครสักครตลอดเวลา คนที่เลิกไม่ได้ไม่มีเวลาสะท้อนตัวตน คนที่เลิกได้ได้สะท้อนตัวตน มีอำนาจควบคุมชีวิตตัวเอง
.
15. การสะท้อนตัวตนบ่อยๆจะทำให้เราได้ยินเสียงของตัวเองที่อยู่ลึกลงไปภายในได้อย่างรวดเร็ว
.
16. เลิกวิ่งหนีความเจ็บปวด คนที่เลิกไมได้ก็จมอยู่กับความเจ็บปวดนั้น หลอกตัวเอง แต่คนที่เลิกได้จะก้าวข้ามความเจ็บปวดนั้นเป็นคนที่ดีกว่าเดิม
.
17. เราต้องกล้าตรวจสอบตัวเองแบบตรงไปตรงมา ยอมรับในสิ่งที่เป็น อย่าพยายามปฏิเสธตัวตนของเราเอง
.
18. ยอมรับเสียงที่พลั่งพรูออกมาจากตัวเองตามธรรมชาติ แต่อย่าให้กำลังใจตัวเองมากเกินไป
.
19. เลิกจัดตารางแน่นเอี๊ยด คนที่เลิกได้จะมีชีวิตที่สมดุล
.
20. การอยู่คนเดียวมีพลังในการฟื้นฟูตัวเอง
.
21. เมื่อเจอเหตุการณ์ที่สวนทางกับค่านิยมของตัวเอง เราต้องรวบรวมจิตใจของตัวเองเข้าด้วยกัน และหาเหตุผลให้ตัวเองยอมรับสิ่งนั้นให้ได้
.
22. คนที่เจอเพื่อนเยอะ แต่จิตใจไม่สุกปลั่ง เพราะเขาไม่ได้นำสิ่งที่มาจากผู้อื่นมาพัฒนาตัวเอง
.
23. ไม่ว่างานจะยุ่งแค่ไหน เราต้องหาเวลาอยู่กับตัวเองบ้าง ถ้าเราเหนื่อย ถ้าเราอยากพัก ก็ให้ฟังเสียงของตัวเอง และยอมรับแบบตรงไปตรงมา
.
24. เลิกโยนความผิดให้คนอื่น รับผิดชอบชีวิตตัวเอง
.
25. การรับผิดชอบชีวิตตัวเอง คืออิสระ หรืออิสระก็คือการรับผิดชอบชีวิตตัวเอง
.
26. เวลสที่เราอยู่กับคนอื่นอิสระของเราจะถูกจำกัดให้แคบลง
.
27. ไม่ต้องโกหก ไม่ต้องสร้างภาพตัวเองในแบบที่คนอื่นอยากให้เป็น
.
28. คนที่ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไปยังไงก็ไม่รู้สึกเครียด ไม่หวั่นไหว คือคนที่แข็งแกร่งแลละทำได้ทุกสิ่ง
.
29. เลิกคิดว่าเรามีเพื่อนกี่คน ผูกมิตรกับเพื่อนที่สำคัญกับเราจริงๆ
.
30. ลองคิดดีๆว่า ถ้าเราถูกเกลียด หรือถูกให้ออกจากกลุ่มเพื่อน เราจะมีชีวิตอยู่ไม่ได้จริงๆเหรอ
.
31. ความสัมพันธ์แบบเพื่อนที่แท้จริง คือการที่เรายอมรับตัวตนที่แท้จริงของอีกฝ่าย และอีกฝ่ายก็ยอมรับตัวตนที่แท้จริงของเราเช่นกัน
.
32. เพื่อนเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตมีความหมายขึ้น แต่ไม่ใช่ตัวชี้วัดความสุขในชีวิตเรา
.
33. คนที่พยายามทำตามเป้าหมายของตัวเอง จะมีคนติดตาม มีพวกพ้อง หรือคนสนับสนุนเข้าหาเอง
.
34. เลิกฝืนคบ เหลือไว้แต่ความสัมพันธ์ดีๆ กับคนดีๆ ไม่ต้องไปประณีประนอมความสัมพันธ์กับทุกคน
.
35. จงใช้ชีวิตแบบเอาตัวเองและเป้าหมายของตัวเองเป็นศูนย์กลางให้มากกว่านี้
.
36. เลิกปกปิดข้อด้อยของตัวเอง เปิดเผยแบบตรงไปตรงมา และเราจะเจอคนที่ยอมรับในข้อด้อยของเราได้
.
37. การไม่ต้องปกปิดตัวตนคือความรู้สึกอันแสนสบาย
.
38. เราไม่ได้เกลียดนิสัยตัวเอง เราแค่เห็นว่าคนที่มีนิสัยต่างจากเราถูกชื่นชม ยอมรับและเอ็นดูจากคนรอบข้างมากกว่า เราจึงรู้สึกอิจฉานิสัยเหล่านั้น
.
39. หากเราไม่แสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกไป ในทางจิตวิทยาแล้ว อีกฝ่ายจะสัมผัสได้ถึงระยะห่าง
.
40. คนเราเหมือนกระจกเงา ถ้าเราพูดห้วนๆออกไป อีกฝ่ายก็จะพูดห้วนๆกลับมา แต่ถ้าเรายิ้มแบบจริงใจออกไป อีกฝ่ายก็จะยิ้มแบบจริงใจกลับมาเช่นกนั
.
41. ยิ่งเราเข้าใจตัวเองมาก เราก็จะยิ่งเข้าใจคนอื่นมากขึ้นด้วย
.
42. ความสุขของเราขึ้นอยู่กับว่าเราจะตีความในตัวผู้อื่นอย่างไร ลองใช้เทคนิค Profiling เพื่อพยายามทำความเข้าใจคนอื่นให้มากขึ้น จนพูด ‘อ้อ เขาเป็นคนแบบนี้สินะ’
.
43. เลิกทำตามวิถีของคนอื่น คนที่ทำได้จะเคารพวิถีชีวิตของตัวเอง ไม่ต้องไปโอนเอนตามคนอื่น
.
44. ความสำเร็จที่สังคมยอมรับ กับความสำเร็จของเราอาจหน้าตาไม่เหมือนกัน ความสุขของคนอื่นกับความสุขของเราก็อาจไม่เหมือนกัน นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา ไม่ว่าคนอื่นจะคิดยังไง
.
45. เลือกงานที่เข้ากับนิสัยของตัวเอง ถ้าไม่ชอบสุงสิงกับใคร ก็เลือกงานที่ไม่ต้องเจอคนให้วุ่นวายใจนัก เช่นงานออกแบบงานวิจัย คนขับรถ เป็นต้น
.
46. คนที่มัวแต่กังวลกับ ‘จำนวนไลค์’ บน Facebook หรือ ‘จำนวน followers’ บน Instagram คือคนที่ไม่รู้จักเติมเต็มชีวิตตัวเอง
.
47. ตระหนักถึงค่านิยมที่เราให้ความสำคัญ ไม่ใช่ค่านิยมของคนอื่นหรือสังคม
.
48. การถูกผู้อื่นชักจูง ก็เพราะเราไม่ส่งเสียงของตัวเองออกไป
.
49. อย่าใช้ชีวิตในแนวนอน ให้ใช้ชีวิตในแนวตั้ง คืออย่าไปเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น แต่ให้เปรียบเทียบตัวเองกับอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของตัวเอง
.
50. ถ้าเดินถึงทางตัน ให้มองย้อนกลับมาที่จุดเริ่มต้นของตัวเอง และลองมองตัวเองจากมุมคนนอก
.
51. เลิกสนใจการประเมินตามมาตรฐานของคนอื่น แต่ประเมินตัวเองจากมาตรฐานของตัวเอง
.
52. ใช้มาตรฐานของตัวเอง ค่อยๆเติบโตไปจามจังหวะของตัวเอง จนจิตใจมีความสุกปลั่ง
.
53. บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นมือหนึ่งไม่ว่าแขนงใด คือคนที่มีความสามารถในการสะท้อนตัวเองสูง
.
54. เลิกคิดมากจนไม่กล้าลงมือทำ ให้ลองเขียนเรื่องกลุ้มลงกระดาษ แล้วมองปัญหานั้นจากมุมมองของตัวเราอีกคนหนึ่งที่จะช่วยดึงสติของเราให้กลับมาแก้ปัญหาได้
.
55. แม้เราจะได้แรงกระตุ้นที่จุดประกายความคิดจากภายนอก แต่สิ่งสำคัญคือการนำเอาสิ่งนั้นมาปรับแต่งภายในหัวเรา
.
56. จุดเด่นของอัจฉริยภาพคือการไม่เอาความคิดตัวเองไปซ้อนทับบททางเดินที่ใครคนอื่นปูไว้
.
57. การเขียนกราฟชีวิตช่วยให้เราตรวจสอบตัวเองได้ง่ายๆ
.
58. เลิกหนีปัญหา เปลี่ยนตัวเองเป็นประธานของประโยคแล้วคิดวิธีแก้ปัญหาซะ
.
59. ผู้กำหนดความหมายของประสบการณ์คือตัวเราเอง ไม่ใช่คนอื่น มิฉะนั้นประสบการณ์ของเราจะถูกผสมเข้ากับค่านิยมของคนอื่น
.
60. อ่านหนังสือเพื่อเพิ่มมาตรฐานหรือกรอบความคิดในการประเมินสังคมได้
.
61. เลิกปล่อยให้ข้อมูลชักจูง เลือกใช้ข้อมูลที่สำคัญมาสร้างควมสุขให้กับชีวิตตัวเอง
.
62. ยิ่งรู้ศัพท์มาก เราก็จะยิ่งมีความสุขได้ง่าย เพราะเราจะมีขอบเขตความคิดที่กว้างและเชื่อมโยงได้หลากหลายกับคนที่มีศัพท์น้อย
.
63. ยิ่งรู้ศัพท์มาก เราจะยิ่งสื่อสารได้มาก ช่วยให้เห็นถึงสาเหตุของปัญหาได้ง่ายขึ้น
.
64. อ่านหนังสือเพื่อให้เข้าใจความหมายของประสบการณ์ในอดีต เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในอนาคต
.
65. เปิดใจรับมุมมองที่แตกต่างจากตัวเอง ลองอ่านหนังสือที่ไม่ตรงค่านิยมของตัวเองดูบ้าง
.
66. เลิกหวังว่าคนอื่นจะทำให้เรามีความสุข
.
67. การแต่งงานช่วยให้เรามีทางเลือกมากขึ้น เวลาอยากอยู่คนเดียวเราก็เลือกอยู่ได้ เวลาอยากอยู่ด้วยกันเราก็เลือกได้เช่นกัน
.
68. ยิ่งมีพลังในการกล้าทำอะไรคนเดียวสูง ชีวิตแต่งงานยิ่งไปได้ดี
.
69. อย่าเอาค่านิยมของตัวเองไปแทรกแซงพื้นที่ส่วนตัวของอีกฝ่าย
.
70. คนที่แต่งงานแล้วมีรายได้มากกว่าคนโสด เพราะทั้งคู่รู้จักการให้กันและกันนั่นเอง
.
71. เลิกถามลูกว่าเพื่อนใหม่รึยัง คนที่เลิกไม่ได้ขัดขวางการสร้างตัวตนของลูก แต่คนที่เลิกได้ช่วยให้เด็กโตขึ้นโดยนับถือความเป็นตัวของตัวเอง
.
72. การให้เด็กอยู่คนเดียว จะเปิดโอกาสให้เด็กได้เผชิญหน้ากับความรู้สึกภายในจิตใจ และค้นพบตัวเอง พัฒนาการบางอย่างจะเกิดขึ้นได้ในเวลาที่เด็กอยู่คนเดียวเท่านั้น
.
73. พ่อแม่ควรยอมรับและให้ความมั่นใจกับลูกว่า แม้จะไม่มีเพื่อนก็ไม่เป็นไร จำนวนเพื่อนไม่ได้วัดคุณค่าของความเป็นคน
.
สั่งซื้อหนังสือ
.
.
............................................................................................................
ผู้เขียน: โกะโด โทคิโอะ
สำนักพิมพ์: Amarinhowto
แนวหนังสือ: จิตวิทยา, พัฒนาตัวเอง, howto
จำนวนหน้า: 205 หน้า
ราคหลังปก: 225 บาท
ตีพิมพ์ครั้งแรก: มิถุนายน 2020
........................................................................................................................
.
.
#100เล่มควรอ่านก่อนอายุ30 #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #หลังอ่าน#รีวิวหนังสือ#หนังสือ2021#พลังของคนที่กล้าทําอะไรคนเดียว#โทคิโอะโกะโด #AmarinHowto #หนังสือพัฒนาตัวเอง
Comments