รีวิวหนังสือ พูดดีมีกำไร พูดอย่างไรไม่ให้ขาดทุน
.
.
ขอขอบคุณหนังสือจากสำนักพิมพ์ Amarin Howto อีกครั้งนะครับ
.
หนังสือเกี่ยวการพูดอีกเล่มที่ผมชอบมาก เพราะแก่นของหนังสือคือการเลือกใช้ประโยคสนทนา ที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดี รู้สึกบวกกับตัวเรา หรือที่หนังสือเรียกว่า ‘ได้กำไร’ นั่นแหละครับ
.
คำว่าได้ ‘กำไร’ ในที่นี่ก็คือ การที่คู่สนทนาของเรารู้สึกดีกับตัวเราจากการสนทนา และทำให้เขาอยากคบค้าสมาคมกับเราต่อ ความสัมพันธ์ของเรากับอีกฝ่ายก็แน่นแฟ้นมากขึ้นด้วย ในขณะที่พูดแล้ว ‘ขาดทุน’ คือการพูดแล้วทำให้คู่สนทนาของเรารู้สึกแย่กับตัวเรา และไม่อยากจะสานต่อความสัมพันธ์กับเรา
.
เพราะฉะนั้น กำไรกับขาดทุนในที่นี่ ไม่ได้หมายถึงตัวเงินนะครับ แต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องความรู้สึกดีๆ ซึ่งจริงๆแล้วมันก็จะนำมาซึ่งโอกาสต่างๆในชีวิตที่เพิ่มขึ้นอยู่ดีครับ
.
ต้องบอกก่อนนะครับว่าเรื่องการพูดนี่เป็นวิทยาศาสตร์เอามากๆ เพราะคนเรามักจะตัดสินใจเรื่องต่างๆจากความรู้สึกที่เรามีกับคนๆนั้น หรือสิ่งๆนั้นเสมอครับ ถ้าเราทำให้อีกฝ่ายรู้สึกบวก การตัดสินใจของเขาก็จะเป็นบวกกับเรามากขึ้นด้วย เรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะเวลาทำงาน ทำธุรกิจเท่านั้นนะครับ แต่ยังรวมไปถึงการพูดคุยสนทนากับครอบครัว เพื่อนฝูง เรื่องการออกเดทกับครั้งแรกกับเพศตรงข้ามด้วย เพราะแน่นอนว่าเราต้อวมีการใช้คำพูดมาประกอบการพัฒนาความสัมพันธ์ของเราแน่นอน
.
ลืมบอกไปว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือแปลจากญี่ปุ่นนะครับ โดนผู้เขียนเป็นกูรูด้านการสื่อสาร ทำงานเกี่ยวกับการวางแผนโฆษณา และเป็นที่ปรึกษาทางจิตวิทยาด้วย ส่วนเนื้อหาในหนังสือก็เกิดจากการทำแบบสอบถาม สำรวจคนอายุ 20-60 ปีจากทั่วประเทศ ว่าชอบคำพูดแบบไหนเมื่อได้คุยกับฝ่ายตรงข้ามในสถานการณ์ต่างๆ จนคลอดออกมาเป็นเทคนิคการพูดทั้ง 44 ข้อในหนังสือเล่มนี้ครับ
.
ส่วนตัวหลังอ่านจบ ผมชอบนะ ผมว่าเนื้อหาใหม่อยู่ คือไม่ได้เป็นเนื้อหาแบบเกร่อๆที่ถูกเสพอยู่แล้วตามคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดีย ถึงแม้จะเป็นหนังสือแปลญี่ปุ่น แต่ผมว่าหลายๆอันนี่ก็ตรงกับการใช้ชีวิตของคนไทยเหมือนกันนะ คือไม่ได้สื่ออกมาเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นแบบจ๋าๆขนาดนั้น แต่ก็ยังคงกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นอยู่ ด้วยความสุภาพ ความขี้เกรงใจ และความจริงจังที่ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบคำพูด
.
แน่นอนครับว่าเนื่องจากเป็นข้อคิดสั้นๆที่ผู้เขียนตกผลึกมาจากการทำแบบสำรวจ เนื้อหาในแต่ละบทจึงสั้นๆ กระชับ อ่านง่าย อ่านสนุก และมีการเทียบชัดเจนว่า พูดยังไงขาดทุน พูดยังไงได้กำไร อ่านเพลินๆ ไม่นานก็จบแล้วครับ
.
และอีกเช่นเคยครับ ผมขอเลือก 5 ข้อที่ผมชอบมากที่สุดจากหนังสือเล่มนี้มากฝากกันนะครับ
.
1) ขาดทุนเพราะ สรุปสิ่งที่อีกฝ่ายพูดมา กำไรเพราะ รู้สึกร่วมและฟังจนจบ
.
เรื่องนี้น่าจะเจอกันบ่อยในชีวิตประจำวันเลยครับ บางครั้งตัวเราเองนี่แหละที่อยากเล่า อยากระบายเรื่องในใจให้อีกฝ่ายฟัง และก็คงจะคาดหวังให้เขาฟังจนจบและรู้สึกอินไปกับสิ่งที่เราพูด
.
แต่น่าเสียดายที่หลายๆคนชอบตัดตอนบทสนทนา และพยายามสรุปประเด็น พร้อมชี้แนะแนวทางในการแก้ปัญาหา ซึ่งจริงๆแล้วคนพูดอาจรู้อยู่แล้วก็ได้ว่าควรแก้ปัญหายังไง แต่เขาเล่าเพราะอยากให้อีกฝ่ายเห็นใจ อยากให้อีกฝ่ายเข้าใจ และฟังสิ่งที่พูด
.
จากการพยายามสรุปความ จึงควรเปลี่ยนเป็นการขยายความ และคุยต่อเนื่อง และแน่นอนว่าต้องฟังที่อีกฝ่ายพูดให้จบด้วยนะครับ
.
.
2) ขาดทุนเพราะ คุยแต่เรื่องที่สนุกกันเฉพาะกลุ่มตัวเอง กำไรเพราะ คุยเรื่องที่สนุกกันได้ทุกคน
.
เรื่องนี้มักเกิดขึ้นในตอนที่เราอยู่ในวงสนทนาที่มีกันอยู่หลายคน แล้วบางครั้งก็อาจมีคนสองคนที่มาจากโรงเรียนเดียวกัน หรือทำงานที่เดียวกัน ในขณะที่อีกคนไม่ได้มีเรื่องร่วมพวกนี้ ปัญหาคือ สองคนดังกล่าวหลายๆครั้งก็มักจะหลุดคุยแต่เรื่องโรงเรียนเก่า หรือที่ทำงานนั้น จนลืมไปว่าอีกคนที่อยู่ในวงสนทนาไม่ได้รู้เรื่องที่คุยนั้นด้วย
.
เหตุการณ์แบบนี้จึงเป็นเหมือนการกีดกั้นคนที่สามออกจากวงสนทนา หรือจะเรียกว่าเป็นการข้ามหัวเขาไปเลยก็ได้ ซึ่งเราต้องระวังไม่ให้เกิดขึ้นครับ เพราะมันทำให้คนที่สามนั้นไม่อยากคุยด้วย และรู้สึกแย่กับสองคนแรกทีดูเหมือนจะสนุกกันเอง
.
วิธีแก้ก็คือ พยายามเลือกหัวข้อที่เป็นเรื่องกลางๆ คุยกันได้กับทุกคนที่อยู่ในวง หรือถ้าอยากคุยเรื่องในกลุ่มตัวเอง ก็อาจเล่าแบคกราวน์ให้คนที่เหลือฟังเพื่อจะได้เข้าใจเรื่องที่จะคุยมากขึ้น หรือขออนุญาตปลีกมาคุยเรื่องในกลุ่มสักครู่พอหอมปากหอมคอ
.
เรื่องนี้เป็นการแสดงความใส่ใจ และทำให้ทุกคนในวงสนทนารู้สึกดีกับเรามากขึ้นครับ
.
.
3) ขาดทุนเพราะ นินทาคนอื่นด้วยการจิกกัด กำไรเพราะ มองหาข้อดีแล้วพูดในเชิงบวก
.
ข้อนี้ผู้เขียนเปรียบเปรยไว้อย่างเห็นภาพมากว่า การนินทาแบบจิกกัดก็เหมือนการกินอาหารขยะ ถ้ากินชั่วคราวก็คงอร่อยดี แต่ถ้ากินต่อเนื่องทุกวันร่างกายก็จะพัง
.
การนินทาและพูดถึงแต่ข้อเสียของคนอื่นมีแต่จะส่งผลลบทั้งกับคนที่ถูกพูดถึง และกับตัวผู้พูดเองด้วยครับ เพราะอีกฝ่ายคงมองว่า พวกขี้นินทานี่ ไม่รู้วันไหนจะนินทาตัวอีกฝ่ายบ้าง หรือเป็นคนขี้บ่น เป็นคนมองโลกในแง่ลบ เป็นพวกขี้บ่น อารมณ์ร้ายตลอดเวลา
.
กลับกันถ้าเราสามารถมองหาข้อดี และพูดถึงแต่เรื่องดีๆของคนอื่น รวมไปถึงคู่สนทนานั้นจะทำให้มีแต่ความรู้สึกดีๆเกิดขึ้นกับทั้งคู่ แม้อาจดูเหมือนการเยินยอ ชมกันเองก็ตาม แต่ใครๆก็คงชอบที่จะถูกชม หรือพูดเรื่องดีๆกันทั้งนั้นแหละครับ
.
เรื่องดีๆที่ว่านี่อาจเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างทรงผมใหม่ดูดีจัง ชุดดูสวยจัง หรือเรื่องทั่วๆไปที่คุยแล้วสนุกก็ได้เสมอครับ
.
4) ขาดทุนเพราะ เมื่อมีคนชมก็ปฏิเสธว่า ‘ไม่หรอก’ กำไรเพราะ ยอมรับคำชมและขยายคำชมจากบทสนทนานั้น
.
หลายคนอาจกลัวว่าการยอมรับคำชอบดูโอ้อวดและหลงตัวเอง แต่จริงๆแล้วผู้เขียนบอกว่า มันเป็นเพียงเทคนิคในการต่อยอดบทสนทนาเท่านั้น เราสามารถกอดรับคำชมนั่นไว้ กล่าวขอบคุณผู้ชม และหาเรื่องคุยกันต่อ
.
เรื่องนี้จะทำให้เกิดความรู้สึกบวกกับทั้งผู้กล่าวชมและผู้ถูกชมด้วยครับ แต่ถ้าเราปฏิเสธไปเฉยๆ บทสนทนาก็คงจะจบแค่นั้น และอีกฝ่ายก็อาจไม่รู้ว่าควรจะพูดอะไรต่อไปอีกด้วย
.
.
5) ขาดทุนเพราะ โยนความรับผิดชอบให้คนอื่นแล้วยังบ่น กำไรเพราะ คิดด้วยตัวเองก่อน แล้วค่อยไหว้วานคนอื่น
.
เรื่องนี้มักเกิดขึ้นในที่ทำงาน ที่หัวหน้าสั่งงานลูกน้อง แล้วบางทีก็ไม่ชัดเจนกับคำพูดของตัวเอง พอลูกน้องไปทำงาน กลับมาส่งก็ไม่ถูกใจหัวหน้า และเกิดความรู้สึกขุ่นเคืองกับความไม่ชัดเจนดังกล่าว
.
เพราะฉะนั้นแล้ว ก่อนจะไหว้วานอะไรใคร เราต้องชัดเจนในสิ่งที่ตัวเองต้องการก่อน อย่าพูดออกไปพล่อยๆ เพราะจะทำห้อีกฝ่ายเข้าใจผิด และรู้สึกขุ่นเคืองกันได้
.
นอกจากนี้ความชัดเจนในการคำพูด ยังช่วยให้การทำงานออกมาราบรื่นขึ้นด้วย ผลงานที่ได้ก็มักจะดีขึ้นไปด้วยเช่นกัน
.
.
.
………………………………………………………………………….
ผู้เขียน: อิโอตะ ทัตสึนาริ
ผู้แปล: กิษรา รัตนาภิรัต คุโด
สำนักพิมพ์: AmarinHowto
แนวหนังสือ: จิตวิทยา, พัฒนาตัวเอง
…………………………………………………………………………..
.
.
สนใจสั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.
#หลังอ่าน #หนังสือควรอ่านก่อนอายุ30 #พูดดีมีกำไรพูดอย่างไรไม่ให้ขาดทุน
Comments