รีวิว นิสัยการทำงานที่ไม่ธรรมดาของโตโยต้า
.
.
ถ้าเราเจอลูกน้องทำงานไม่ได้เรื่อง จะทำยังไงครับ
ก) เข้าไปว่ากล่าวตักเตือน และกลับมานั่งโอดครวญว่าทำไมถึงได้มีลูกน้องแบบนี้
ข) เอาโจทย์ยากๆให้ลูกน้องไปกระตุ้นความคิด
.
ถ้าเป็น Toyota เขาจะเลือกทำ ข้อ ข ครับ เพราะว่า Toyota เชื่อมั่นในสติปัญญาของพนักงานทุกๆคน และเชื่อมั่นว่าจริงๆแล้วเราทุกคนมีสติปัญญาเท่ากัน เพียงแต่ว่าเราต้องได้รับการกระตุ้นจากหัวหน้าหรือสภาพแวดล้อมให้เราเอาสติปัญญาเหล่านั้นออกมาใช้ Toyota เลยพยายามโยนโจทย์ยากๆไปให้พนักงานได้เอาไปคิดและหาวิธีแก้ปัญหาครับ
.
ที่พูดมาข้างบนคือ นิสัย (habit) ข้อแรกของ Toyota ที่แตกต่างจากบริษัทอื่นๆทั่วไปครับ แค่ข้อแรกผมก็ชอบแล้ว เพราะผมว่าหลักคิดแบบบริษัทดังๆในญี่ปุ่นนี่ไม่ค่อยจะเหมือนใคร และบางอันผมก็เห็นด้วยว่าอาจจะนำเอามาปรับใช้กับการทำงานในบริษัทที่ไทยได้เช่นกันครับ
.
หนังสือ นิสัยการทำงานที่ไม่ธรรมดาของโตโยต้า ก็เป็นหนังสือที่ผู้เขียน คุณ วะกะมัตสึ โยะชิฮิโตะ รวบรวมหลักการทำงานที่ได้เรียนรู้จาก Toyota เอามาเป็นข้อคิดแบบเข้าใจง่าย 40 กว่าข้อ โดยคุณ วะกะมัตสึ เคยทำงานจริงกับคุณ โอะโนะ ไทจิ (Ohno Taiichi) มาหลายปี และทำงานในหลายแผนกงานในโรงงานผลิตรถยนต์ของ Toyota
.
คุณ Ohno Taiichi เปรียบเหมือนบิดาแห่งศาสตร์ operation management และเป็นผู้คิดค้นและพัฒนาระบบการผลิตต่างๆมากมาย ทั้ง lean production (การผลิตเท่าที่ตลาดต้องการ), Just in Time (JIT), kanaban และระบบอื่นๆที่นำมาใช้กับการบริหารจัดการการผลิตในโรงงานของ Toyota
.
นิสัยส่วนใหญ่ในหนังสือเล่มค่อนข้างเกี่ยวข้องกับ การลดต้นทุนในการผลิต การผลิตให้เกิดประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการคนในทีม ซะส่วนใหญ่ เพราะ Toyota เองก็ขึ้นชื่อระดับโลกในเรื่องของระบบการผลิตที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำอยู่แล้ว
.
.
.
.
สรุป 5 ข้อคิดที่ผมหลักๆที่ผมได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้นะครับ
.
1) การเชื่อมันในศักยภาพของพนักงาน – เรื่องนี้ดูเหมือนจะถูกเน้นมากที่สุดในหนังสือเล่มนี้เพราะว่า Toyota นั้นมีความเชื่อพื้นฐานว่าพนักงานทุกคนมีศักยภาพและสามารถพัฒนาความสามารถของตนได้ เพียงแต่ Toyota ต้องเปิดโอกาสให้พนักงานได้ใช้ความคิด ได้ลองหาไอเดียใหม่ๆมาปรับปรุงพัฒนา Toyota มักจะให้รางวัลตอบแทนกับคนที่กล้าลองไอเดียใหม่ๆ แม้จะยังไม่ได้ผล มากกว่าคนที่แค่ทำตามคำสั่ง และไม่ได้ลองอะไรใหม่ๆเลย
.
นอกจากนี้แล้ว Toyota ยังมีการเน้นย้ำถึงการบริหารลูกน้องในทีมอยู่เสมอว่า หัวหน้าที่ดีคือคนที่สามารถสร้างลูกน้องที่เก่งกว่าตัวเองได้ สอนความรู้ความสามารถที่ลูกน้องนำไปต่อยอด และทำประโยชน์ต่อบริษัท และเวลามีปัญหาก็ช่วยกันแก้ปัญหา ไม่ใช่ปล่อยให้ลูกน้องเป็นคนดำเนินการแก้ปัญหาเพียงฝ่ายเดียว ทั้งหมดทั้งปวงนี้ก็เพื่อการสร้างบุคคลากรที่มีความสามารถที่จะช่วยให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ส่วนตัวผมเองก็คิดว่า บุคลากรนับเป็น competitive advantage อย่างหนึ่งของ Toyota ก็ว่าได้
.
2) การไม่หยุดพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ – Toyota คิดอยู่เสมอว่าจะต้องพัฒนาระบบการผลิต และตัวสินค้าให้ดีขึ้นต่อไปเรื่อยๆ คุณ Ohno Taiichi มักจะชอบตั้งโจทย์ยากๆท้ายทายลูกน้องให้กลับไปคิดวิธีแก้ปัญหาให้จนได้ เพื่อที่จะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น เรื่องของกำลังการผลิตที่มีช่วงหนึ่ง Toyota มีกำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด คุณ Ohno จึงบอกให้หัวหน้าวิศวกรฝ่ายผลิตไปหาวิธีที่จะลดเวลาการผลิตจากการใช้ แรงงานคน 80 คนผลิตรรถยนต์ 8,000 คัน เป็นการใช้แรงงานเพียง 10 คนให้ผลิตรถยนต์ถึง 10,000 คัน นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายหัวหน้าฝ่ายผลิตคนนี้มาก แต่ในทีสุดเขาก็ทำได้ และช่วยสร้างนวัตกรรมการผลิตใหม่ๆให้บริษัทอย่างมาก Toyota เรียกวิธีการนี้ว่า การบริหารด้วยเทคนิคนินจา
.
นอกจากนี้แล้วสิ่งสำคัญอีกอย่างที่ Toyota เน้นย้ำอยู่เสมอคือการพัฒนาแบบต่อเนื่อง ไม่ใช่ว่าพอทำสำเร็จครั้งนึงแล้วก็หยุด หรือไม่มีการนำไปปฏิบัติใช้จริง เพราะนวัตกรรมใหม่ๆจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่องบริษัทจริง ก็ต่อเมื่อมันได้รับการพัฒนาแบบต่อเนื่อง และมีการนำไปใช้จริง
.
3) การตรวจสอบปัญหาอย่างละเอียด – ถ้ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น Toyota จะไม่ได้เข้าไปแก้ปัญหาแค่ผิวเผิน และทำให้จบไป แต่จะถามละเอียดไปจนถึงต้นตอของปัญหา เครื่องมือหนึ่งที่มักใช้กันในขั้นตอนนี้ คือการถาม ‘ทำไม’ 5 ครั้ง คือถามทำไม ทำไม ต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะพบเจอต้นตอที่แท้จริงของปัญหา เพราะ Toyota เชื่อว่าถ้าแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ปัญหานั้นก็ยังคงอยู่ และอาจกลับมาเกิดอีกครั้งได้ในภาพหลัง การแก้ที่ root cause จริงๆจึงมีความสำคัญมาก
.
นอกจากนี้แล้ว Toyota ยังสนับสนุนให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ตัวอย่างเช่น ถ้ามีชิ้นงานที่ผิดพลาดเกิดขึ้นในสายการผลิต หัวหน้าวสายการผลิตจะยังไม่แก้ไขชิ้นงานนั้น แต่จะเริ่มจากการนำชิ้นงานนั้นออกมาวางให้พนักงานทุกคนที่เกี่ยวข้องกับสายการผลิตนั้นได้เห็นถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และถ้ายังไม่รู้วิธีแก้ไขก็จะให้พนักงานเหล่านั้นช่วยกันคิด ระดมสมองจะสามารถแก้ปัญหาได้ หลักการนี้จะทำให้ทุกคนและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงข้อผิดพลาดและความสำคัญของปัญหาทีเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการโปรโมทการทำงานร่วมกันระหว่างพนักงานต่างแผนกอีกด้วย
.
4) การลดความสูญเปล่าให้เหลือศูนย์ – เป็นเรื่องที่อาจพูดได้ว่าเด่นที่สุดของ Toyota เพราะ หลักการลดความสูญเปล่า (waste) ให้เหลือศูนย์นั้นถูกนำไปใช้สอนอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะ สาขา วิศวกรรมศาสตร์ อุตสาหการ (IE) และการบริหารการดำเนินการ (operation management) เพราะกรอบแนวคิดนี้ไม่ใช่ใช้แค่หลักการควบคุมคุณภาพของสินค้า (finished good) หรือ วัตถุดิบ (material) ให้ได้ตามมาตรฐาน แต่ Toyota คิดว่าเราสามารถลดความสูญเปล่าทั้งหลายที่เกิดระหว่างกระบวนการผลิตต่างๆ เช่น การทำกิจกรรมที่ไม่จำเป็น อย่างการรอเฉยๆ หรือ set up time ของเครื่องจักที่มากเกินไป และการเคลื่อนย้ายของคนงาน สินค้า วัตถุดิบที่เกินความจำเป็น ทั้งหมดทั้งปวงเหล่านี้คือความสูญเปล่าที่สามารถลดลงให้เหลือศูนย์ได้
.
ส่วนตัวสินค้าที่มอบให้ลูกค้านั้น Toyota ก็ไม่ประณีประนอมให้มี สินค้า defect หลุดรอดไปหาลูกค้าเลย เพราะแม้จะเป็นเพียง 3 ชิ้นใน 10,000 ชิ้น แต่ลูกค้าสามคนนั้นก็คงจะไม่ประทับใจใน Toyota และอาจทำให้ภาพลักษณ์ของ Toyota เสียหายได้
.
5) การเตรียมการรับมือกับวิกฤต– เรื่องนี้เป็นอีกจุดเด่นของ Toyota ที่แม้กระทั่งในยามที่สภาพเศรษฐกิจดี บริษัทสามารถทำกำไร และดำเนินธุรกิจไปได้อย่างราบรื่น Toyota ก็ยังวางแผนสำรองและมีการเตรียมการรับมือกับการเปลี่ยนของความต้องการของลูกค้าแบบกระทันหัน (demand uncertainty) ซึ่งเรื่องความไม่แน่นอนของความต้องการในตลาด ซึ่งอาจเห็นได้ชัดมากในช่วงวิกฤตนี้ Toyota ได้พัฒนาวิธีการผลิตแบบ lean ที่ช่วยให้ผลิตสินค้าออกมาเท่าที่จำเป็น ไม่มีการเก็บสินค้าคงคลังสำรองไว้ เพราะเป็นการใช้ค่าใช้จ่ายเยอะมาก รวมกับการร่วมมือกับ supplier ต่างๆ ทำให้เมื่อเจอวิกฤตแล้ว Toyota ยังสามารถรับมือไว้ได้
.
โดยสรุปแล้ว หนังสืออ่านง่ายมาก เป็นข้อคิดเตือนใจสไตล์ญี่ปุ่น ที่บางอย่างก็อาจจะนำมาปรับใช้กับการทำงานบริษัทในไทย การทำธุรกิจ หรือแม้กระทั่งกับการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปครับ
.
ช่วงนี้อยู่บ้านกันเบื่อๆ ก็หยิบเล่มนี้มาอ่านกันได้ครับ
.
.
.
.
………………………………………………………………………….
✍🏻ผู้เขียน: วะกะมัตสึ โยะชิฮิโตะ
🏠สำนักพิมพ์: We Learn
📚แนวหนังสือ : บริหารธุรกิจ, จิตวิทยา
…………………………………………………………………………..
.
.
📚สั่งซื้อหนังสือได้ที่
.
.
Comments